INTERVIEWS SCOOPS

Fashion PHOTOGRAPHY Interview # 02 : พิสิฐ หวังวิศาล

เมื่อขีดความสามารถไม่ได้วัดกันที่เข็มไมล์
“อะตอม” พิสิฐ หวังวิศาล

Fashion Photographer ฝีมือเผ็ดเกินวัย

กล่าวสำหรับกองบรรณาธิการ FOTOINFO เราไม่ได้สนใจเส้นทางอันน่าประหลาดอารมณ์รู้สึกของช่างภาพรุ่นใหม่มากฝีมือผู้นี้ ในขณะที่บางคนอาจกำลังเลิกคิ้วสงสัย..
บัณฑิตสาขาวิชาการผังเมืองน่ะเหรอจะมาเป็นช่างภาพแฟชั่น?
อายุแค่ 32 ฝีมือแก่กล้าขนาดนั้นเชียว?
ศิลปะ-ถ่ายภาพอะไรก็ไม่ได้เรียน พื้นฐานจะแน่นสักแค่ไหน?
อย่างไม่คิดจะแก้ตัวใดๆ แทนผู้เป็น “ช่างภาพแฟชั่นระดับมืออาชีพ” หากจะมีก็คงเป็นเพียงเรื่องราวและผลงาน 4 หน้ากระดาษ และภาพหลักฐานอันเกลื่อนกลาดเพียงพิมพ์ค้นคำว่า “Pisid Whangvisarn”
หากค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน อย่างน้อยชื่อ “อะตอม” พิสิฐ หวังวิศาล ก็ควรถูกจดจำอยู่ในสารบาญนั้น

การถ่ายภาพกับอะตอม โคจรมาเจอกันได้อย่างไร
“ผมเห็นพ่อชอบถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็กๆ ครับ พ่อทั้งเล่นดนตรีและถ่ายภาพ เพราะฉะนั้นเราก็เหมือนโตมากับเสียงเพลงและการถ่ายภาพ”

ทว่า ความสนใจของอะตอมอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากผู้เป็นพ่อไม่ได้มีท่าทีสนับสนุนเขาในช่วงวัยเด็กอย่างที่ใจปรารถนาสักเท่าไหร่
“เหมือนเขาคงไม่ค่อยอยากให้เรามาทางนี้ เพราะเอาเข้าจริงๆ การถ่ายภาพค่าใช้จ่ายมันก็ไม่ใช่น้อยๆ ยิ่งสมัยยังเป็นฟิล์มก็เปลืองเงินอยู่เหมือนกัน ผู้ใหญ่เขาก็อาจจะมองว่าเออเอาไว้ก่อนนะ..”

จนเมื่อเวลาเปลี่ยน เทคโนโลยีดิจิทัลเริ่มแพร่หลาย สิ่งที่เคยเป็นค่าใช้จ่ายเริ่มหายไปและบางอย่างถูกลง โอกาสที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพของจึงแง้มประตูต้อนรับเขาอีกครั้ง
“กล้องถ่ายภาพตัวแรกของผมเป็นกล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คของ FUJI ที่ญาติ ซื้อให้ ซึ่งผมก็พยายามแสดงให้พวกเขาเห็นมาเรื่อยๆ ว่าเรามีมุมมองและมีความตั้งใจจริงๆ นะ จนช่วงปี 3 ที่เรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงได้พยายามเก็บเงินซื้อกล้องถ่ายภาพด้วยตัวเองเพื่อเอาไปถ่ายพวกงานรับปริญญา พรีเวดดิ้ง (Pre-Wedding) และงานพิธีทั่วๆ ไป”

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เด็กหนุ่มรุ่นใหม่อย่างคุณเกิดความสนใจด้านวิชาการผังเมือง
“ตอนนั้นผมมีแพลนชีวิตหลายอย่าง อันนี้ก็เหมือนเป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งที่เราอยากทำ คือมันได้คิดได้วางแผนอะไรเกี่ยวกับสเกลชุมชนที่มากกว่าแค่คำว่าบ้าน-ที่อยู่อาศัย ผมชอบภูมิทัศน์ ชอบความเป็นเมืองและสิ่งบ่งบอกสถานที่ที่เราอยู่ ก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้น”

จากจุดเริ่มต้นรับงานถ่ายภาพ ได้ส่งภาพเข้าประกวดจนชนะเลิศ เริ่มเขียนเรื่องมุมมองในการถ่ายภาพลงในหนังสือ จนก้าวเข้ามาสู่การเป็นช่างภาพอาชีพเต็มตัว เหล่านี้คือสิ่งที่อะตอมวางเป้าหมายไว้หรือเปล่า
“แรกเริ่มที่มีกล้องถ่ายภาพ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเดินมาบนเส้นทางสายแฟชั่น แค่รู้สึกว่าตัวเองชอบแคปเจอร์ (Capture) อารมณ์ของคน รูปร่างมนุษย์ และสีหน้าท่าทาง ทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นช่างภาพแฟชั่น เพราะยังชอบไฟน์อาร์ต (Fine Art) ชอบภาพถ่ายทุกประเภท แค่รู้สึกว่าพอมีคนเข้ามาเป็นตัวเล่าเรื่องก็เลยค่อนข้างจะกินเข้ามาในส่วนของแฟชั่น เพราะงานแฟชั่นจำเป็นต้องใช้คนในการสื่อสาร”

วิธีเริ่มต้นของคนที่ไม่ได้เรียนทางด้านการถ่ายภาพมาโดยตรงจนสามารถพาตัวเองเดินมาถึงจุดนี้
“ครั้งแรกผมได้ร่วมงานกับโมเดลลิ่งก่อน พี่ที่รู้จักกันเป็นแอคติ้งโค้ช (Acting Coach) ให้กับโมเดลลิ่งแห่งหนึ่ง เขาแนะนำว่าตอนนี้มีแบบเข้ามาใหม่และทางโมเดลลิ่งก็ต้องการอัพเดทพอร์ต (Portfolio) กำลังมองหาช่างภาพอยู่พอดี ซึ่งถ้าหากไปจ้างคนมาถ่าย – เขาก็ต้องเสียเงิน หรือหากเราไปจ้างแบบมาถ่าย – เราก็ต้องเสียเงินเหมือนกัน ก็เลยมาแชร์งานกัน เราได้รูป เขาก็ได้รูป”

งานชิ้นแรกในสายแฟชั่นที่อะตอมทำแล้วได้รับค่าตอบแทน คือ ลุคบุค (Lookbook) เสื้อผ้า แม้ครั้งนั้นความมั่นใจจะยังมีไม่มาก แต่มือใหม่อย่างเขาก็พยายามตั้งสติว่าอย่ากดดันตัวเองจนเกินไป ก็แค่เปลี่ยนออบเจ็ค (Object) จากที่เคยถ่ายเพื่อขายตัวแบบมาเป็นขายเสื้อผ้าแทน ทุกอย่างจึงผ่านมาได้ด้วยดี
“ก็รู้สึกว่ามันใช่ขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ แต่ด้วยความที่พอทำงานกว้างขึ้นก็เป็นปกติที่ต้องเจอทั้งงานที่ชอบและไม่ชอบ แล้วจะทำอย่างไรให้เรามีความเป็นมืออาชีพ อยู่กับงานที่ไม่ชอบให้ได้และต้องทำให้ออกมาดีด้วย”

เชื่อว่ามือสมัครเล่นหลายคนคงอยากรู้วิธีจัดการกับปัญหานี้
“ต้องพยายามอ่านลูกค้าให้ออกว่าเขามาในลักษณะไหน ยิ่งถ้าเป็นคนที่เจอกันใหม่ๆ ต้องศึกษาก่อนว่าเขาเคยทำมาอย่างนี้นะ แล้วทำไมถึงมาหาเรา เขาต้องการอะไรที่เปลี่ยนแปลง จากนั้นก็มาปรับมาจูนกันในรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ และเราควรจะทำอย่างไรให้เป็นในสิ่งที่เขาต้องการ สรุปคือ.. ต้องทำการบ้าน”

มีช่างภาพที่ชื่นชอบหรือเป็นผู้ที่มีอิทธิพลกับงานของอะตอมบ้างไหม
“ถ้าเป็นในส่วนของต่างประเทศ ผมชอบงานของ เฮลมุท นิวตัน (Helmut Newton) ในสมัยที่ยังไม่มีการรีทัช (Retouch) อะไรเลย เขาต้องมองขาดมากในเรื่องของการวางออบเจ็คที่ต้องการจะสื่อ และแน่นอนถ้าเป็นคนไทยก็ต้อง “พี่ณัฐ” ณัฐ ประกอบสันติสุข เป็นไอดอลในเรื่องของความคิด อย่างที่ทุกคนทราบพี่เขาเป็น สไตลิสต์ก่อนที่จะมาเป็นช่างภาพตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีการรีทัชเหมือนกัน ก็ต้องแน่ในสิ่งที่ต้องการจะสื่อถึงกดชัตเตอร์”

แล้วคำจำกัดความสำหรับงานแฟชั่นของอะตอมล่ะเป็นอย่างไร
“เป็นคอนเซ็ปชวล (Conceptual) ที่สัมผัสได้มั้งครับ.. ในทุกๆ งานไม่ว่าจะรายละเอียดมากหรือน้อย เป็นมินิมอล (Minimal) หรือว่าองค์ประกอบเยอะแยะไปหมด ผมพยายามสอดแทรกเรื่องของคอนเซ็ปเข้าไปตลอด แม้กระทั่งลุคบุคเสื้อผ้าก็อยากจะเติมไอเดียหรือที่มาของอินสไปเรชั่น (Inspiration) ของคอลเลกชั่นเขาให้เข้าไปอยู่ในเซ็ทหรือว่าในสีในแสงตลอด ผมพยายามจะสอดแทรกสิ่งเหล่านี้”

คนที่ติดตามผลงานจากพอร์ตบนหน้าเว็บอาจรู้สึกว่าแฟชั่นในสไตล์ของอะตอมมีความเคร่งขรึม จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
“อาจจะไม่ได้ขรึมไปเสียทั้งหมด แต่ถ้าดูโดยรวมๆ ก็จะไม่ค่อยมีรูปในแบบที่ยิ้มร่าเริงสักเท่าไหร่ แค่รู้สึกว่าเราไม่ชอบอารมณ์ที่มันกระโตกกระตากเกินไป ในนั้น (pi8id.foliodrop.com) มันจะไม่มีเศร้า ไม่มีโกรธ ไม่มีหัวเราะ ไม่มีอะไรที่ชัดเจน เป็นรูปที่มองแล้วหลายคนอาจจะคิดว่าทำไมถึงมู้ด (Mood) นี้ หรือทำไมถึงดูไม่มีมู้ด ผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจกว่าการที่เห็นภาพปุ๊บแล้วรู้ปั๊บเลยว่ารู้สึกอะไรอยู่”

เพราะอะตอมเป็นคนอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า
“จริงๆ เป็นคนอย่างนั้น คือหากไม่ใช่คนใกล้ชิดก็จะไม่ค่อยเห็นอารมณ์ต่างๆ สักท่าไหร่”

ขณะที่งานถ่ายแฟชั่นก็ต้องการการสื่อสารกับตัวแบบด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้งานเคลื่อนไปตามโจทย์
“ถ้าเรื่องการสื่อสารกับตัวแบบ เราต้องรู้จักแบบและแบบก็ต้องรู้จักเราก่อน หากเป็นคนใหม่ๆ ที่เพิ่งเคยเจอกัน อย่างน้อยต้องทักทายต้องมีการพูดคุยกันในเบื้องต้น ถ้าหากเรายิ้มไปแล้ว.. เขายิ้มตอบ โอเคอย่างนี้สามารถซิงค์ (Sync) กันได้ในระดับหนึ่งละ กับบางคน เราผู้เป็นช่างภาพสามารถเป็นมิเรอร์ (Mirror) ให้เขาได้ เราอยู่หน้ากล้องแค่ขยับบางอย่าง.. เขาก็ขยับตามได้เลย แต่ก็มีบางเคสที่เราทักไปแล้วเขาปิด อันนั้นก็ต้องใช้วิธีการคุยหรือว่าบรีฟงานกันอีกแบบหนึ่ง ซึ่งวิธีในการทำงานมันก็มีหลายรูปแบบ บางงานช่างภาพอาจเป็นผู้บรีฟเองทั้งหมด บางงานมีสไตลิสต์เข้ามาช่วยตรงนั้นตรงนี้ ขณะที่บางงานมีแอคติ้งโค้ช (Acting Coach) ช่วยดึงให้อารมณ์มันออกมาอย่างที่อยากได้จริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่พวกนั้นเป็นงานโฆษณา”

งานแฟชั่นที่ถ่ายเพื่อลงในนิตยสาร – สื่อสิ่งพิมพ์ กับงานแฟชั่นเพื่อการโฆษณาแตกต่างกันอย่างไร
“งานแฟชั่นที่ถ่ายลงหนังสือจะแบ่งเป็นสำหรับอีดิทอเรียล (Editorail) กับแอดเวอทอเรียล (Advertorial) อีดิทอเรียลจะเป็นงานที่ครีเอท (Create) ขึ้นมาเลย บรรณาธิการอาจจะบรีฟมาว่าเล่มนี้โจทย์อย่างนั้นอย่างนี้ ก็พูดคุยสื่อสารกันว่าจะทำออกมาอย่างไร ส่วนแอดเวอทอเรียลจะมีลูกค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง สมมุติว่ามีลูกค้าแบรนด์เสื้อมาซื้อพื้นที่คอลัมน์ เราก็จะครีเอทงานตามคอนเซ็ปของเขาในเวย์ (Way) ของหนังสือนั้นๆ ส่วนงานโฆษณาจะมีความยากกว่าเพราะต้องทำตามโจทย์ของลูกค้าทั้งหมดแทบ 100% ใส่ความเป็นเราลงไปได้น้อยมาก เวลาถ่ายงานโฆษณาเยอะๆ บางทีก็รู้สึกว่า.. เฮ้ย ขอไปทำงานไม่ได้สตางค์บ้างก็ได้นะ อย่างไปเทสต์ชูต (Test Shoot ) หรือไปถ่ายอะไรประมาณนั้น ให้มันฟื้นความรู้สึกในงานตัวเองขึ้นมาอีก”

อะตอมหาความรู้หาทักษะเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มาจากไหน อย่างไร
“สำหรับเรื่องเทคนิคก็ซื้อหนังสือมาดู หนังสือจะมีสองแบบคือ หนังสือที่มีภาพอย่างเดียว พวกนี้เราก็มาศึกษาเรื่องทางแสงจากรูปแล้วก็มาทดลองเอง อีกแบบเป็นเรื่องทางเทคนิคเกี่ยวกับการถ่ายภาพไปเลย แต่ส่วนใหญ่ผมชอบเสพภาพแล้วก็นำมาตีความเอาว่าเขาจัดแสงอย่างไร”

อุปกรณ์ – เทคนิค – จิตนาการ อะตอมให้นํ้าหนักกับเรื่องพวกนี้อย่างไร
“ส่วนตัวผมอุปกรณ์ก็สำคัญ แต่จะมองมันเป็นข้อสุดท้าย ถ้าให้เรียงตามลำดับ ผมให้ความสำคัญกับมุมมองก่อนแล้วจินตนาการเป็นส่วนที่เสริมเข้าไป จากนั้นค่อยหาอุปกรณ์ที่เหมาะสม จะถ่ายคนผมก็ต้องดูสกินโทน (Skin Tone) ของภาพที่จะออกมา ดูควอลิตี้ (Quality) ของภาพ ส่วนตัวผมชอบถ่ายแสงแอมเบียนซ์ (Ambience) ก็ต้องเลือกอุปกรณ์ที่สามารถเก็บแอมเบียนซ์ได้เยอะๆ ISO ได้สูงๆ ประมาณนั้น”

ปัจจุบันอุปกรณ์ถ่ายภาพชุดหลักที่อะตอมใช้สำหรับสร้างสรรค์ผลงานคือ กล้อง Canon EOS 5D IV ส่วนเลนส์เป็น EF 24-70mm f/2.8L II USM, EF 85mm f/1.4L IS USM และ EF 100mm f/2.8L Macro IS USM สำหรับใช้ในงานบิวตี้ บางกรณี เรื่องไฟอะตอมมักเลือกใช้ตามลักษณะงาน แต่เขาจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟและรูปแบบในการจัดแสงแต่ละงานเอง เคยทราบไหม.. ทำไมลูกค้าถึงเลือกเราให้เป็นผู้ถ่ายทอดสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเขา
“เท่าที่เคยได้ยินเขาจะพูดกันในแง่ที่ว่า เราอาจมีมุมที่จะมองว่าอะไรจะสวยแบบไหนมั้งครับ ก็เลยน่าจะช่วยให้ทำงานง่าย ถ่ายแล้วชุดของเขาออกมาสวยชัวร์ คนสวยชัวร์ อะไรทำนองนั้น”

ปัจจุบันอะตอมเพิ่งอายุ 32 ปี คิดว่าตัวเองมาอยู่ตรงจุดนี้ได้เร็วมากไหม
“ถ้าพูดถึงในความเป็นปัจจุบัน ผมว่าไม่เร็วนะครับ สมัยนี้คนรุ่นใหม่เสพอะไรได้ง่ายมากและทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็ว เด็กยุคนี้โตขึ้นไวมาก ผมคิดว่า 32 ไม่เร็วนะครับ”

บนเส้นทางชีวิตที่ยังเหลืออีกยาวไกล มีแผนอะไรที่วางไว้สำหรับตัวเองบ้างไหม
“คือจริงๆ ตอนนี้ทิศทางอะไรมันก็ยังไม่นิ่ง ผมเลยยังไม่อยากแพลนอะไรไว้ชัดเจน แต่ก็มีคิดๆ ไว้เหมือนกันว่าอยากไปเรียนถ่ายภาพ หรือว่าต่อยอดเรื่องอะไรให้มันลึกเข้าไปอีก”

ทราบว่าคิวถ่ายงานในปัจจุบันแน่นพอสมควร อะตอมเลือกเวลาพักผ่อนหรือวิธีผ่อนคลายให้ตัวเองอย่างไร
“ผมใช้การฟังเพลงเป็นทางออกหลักอยู่แล้วครับ บางทีก็ใช้เพลงสร้างอารมณ์ในการทำงาน จะเปิดไว้ตลอดระหว่างที่ถ่ายหรือเวลารีทัช (Retouch) ภาพ เรียกว่าเพลงเป็นส่วนหนึ่งของผมเลยก็ได้ มันช่วยให้เราผ่อนคลาย เมื่อถ่ายงานเสร็จก็ต้องพยายามควิท (Quit) ตัวเองออกไปจากสิ่งที่คิดในวันนั้น บางทีกลางคืนก็ลืมไปแล้วว่ากลางวันเราทำอะไรมาบ้าง เพื่อที่จะทำให้สมองมันว่างไปคิดงานอย่างอื่นที่จะทำต่อในวันรุ่งขึ้น”

8 ปี กับการทำงานบนเส้นทางสายแฟชั่น แม้จะได้รับคำชื่นชมและการยอมรับในฐานะมืออาชีพคนหนึ่งของวงการ ทว่า อะตอมกลับยังรู้สึกว่าตัวเองควรจะใช้โอกาสที่รับได้มาทำให้ดีกว่านี้
“แค่รู้สึกว่าในมุมของคนที่ไม่ได้จบมาทางด้านนี้โดยตรง ไม่มีคอนเน็คชั่น ไม่ได้ไปฝึกงานกับใคร ยังไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองพอใจ แต่ก็ถือว่ามาได้ไกลกว่าหลายๆ คนแล้ว รู้สึกขอบคุณและดีใจที่เราได้รับโอกาสนั้นมา”

อะตอมมีอะไรที่พอจะเป็นคำแนะสำหรับน้องๆ ที่อาจจะเห็นเราเป็นไอดอลและอยากก้าวขึ้นมายืนตรงจุดนี้
“ถ้าสำหรับคนรุ่นใหม่ ด้วยความที่วันนี้คุณสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน แต่ทุกอย่างมันก็จะผ่านไปไวมาก ฉะนั้นอย่าไปมองว่าอะไรมันจะได้มาง่ายๆ มันอาจจะได้มาง่ายจริงแต่มันก็อาจจะเสียไปง่ายมากด้วยเช่นกัน หากเราทำตัวฉาบฉวยมันก็จะเป็นสิ่งฉาบฉวย โดยเฉพาะงานด้านแฟชั่นคนจะมองว่ามันผ่านไปไว คุณตื่นมาพรุ่งนี้ผู้คนอาจจะไม่สวมใส่ของเหมือนเดิมแล้ว และหลายคนมองว่าสายงานแฟชั่นเป็นงานอาร์ตที่ฉาบฉวย ซึ่งหากคุณมองอย่างนั้น.. มันก็ได้แค่นั้น แต่หากมองให้ลึกลงไป ทำไมภาพถ่ายแฟชั่นเมื่อ 50 ปีก่อน ผู้คนถึงยังชื่นชมกันมาจนถึงทุกวันนี้ มันคือกึ๋น มันคือการแสดงตัวตน มันคือจุดยืนของแต่ละคนที่มากกว่าสิ่งที่ผ่านๆ ไป”

สามารถติดตามผลงานของ “อะตอม” พิสิฐ หวังวิศาล ได้ที่ http://pi8id.foliodrop.com, https://www.instagram.com/pisid


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/