Sigma 500mm f5.6 DG DN OS Sport เห็นขนาดแล้วไม่อยากจะเชื่อว่ามันคือเลนส์ 500mm ดูด้วยสายตาคิดว่าน่าจะเป็น 300mm F4 มากกว่า Sigma เคลมว่าใช้ระบบการออกแบบออฟติกใหม่ ลดขนาดของตัวบอดี้ลง เพื่อให้มันเล็กและเบาเกินกว่าที่เลนส์ 500mm อื่นจะทำได้ ซึ่งเลนส์ตัวนี้มีนำ้หนักเพียง 1,365 กรัม เมื่อประกอบกับกล้องโซนี่ และ 1,370 เมื่ออยู่บน L Mount Sigma ทำได้อย่าง?
ซิกมาบอกว่าเขาไม่ออกแบบเลนส์แบบ Diffractive ซึ่งเป็นเลนส์ที่จะมีวงชั้นของชิ้นเลนส์หลายสเต็ปเพื่อย่อขนาดให้มันสั้นลง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเลนส์ Diffractive ก็คือจะเกิด flare & ghost image เมื่อถ่ายย้อนแสง ซิกม่าจึงใช้ชิ้นเลนส์ Diffractive ธรรมดา แต่ออกแบบออฟติกใหม่ด้วยการใช้ชิ้นเลนส์ 20 ชิ้น จัดเป็น 14 กลุ่ม มีการใช้ชิ้นเลนส์ FLD 3 ชิ้น ชิ้นเลนส์ SLD 2 ชิ้น เพื่อจัดการแสงให้มีความคลาดน้อยที่สุด ให้ชัดที่สุดตั้งแต่กลางภาพไปจนถึงขอบภาพ ซึ่งซิกม่าเคลมไว้แบบนั้น
การออกแบบภายนอกจะเห็นว่ากระบอกเลนส์เล็กกระทัดลัดมาก กระบอกเลนส์ด้านท้ายซิกม่าทำให้มีขนาดเล็กมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้ Magnesium ส่วนกระบอกเลนส์ตั้งแต่กลางไปจนถึงหน้าเลนส์และรวมถึงฮูดจะใช้เป็นพลาสติกประเภท Tcs ซึ่งซิกม่าเคลมว่า เบา แต่แข็งแกร่ง ระบบการล็อคฮูดใช้ระบบล็อคแบบเลนส์โปรฯ คือแบบขันล็อก ซึ่งฮูดแบบนี้จะแข็งแรงกว่า เมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ จะไม่มีปัญหาเรื่องเขี้ยวล็อกหลวม และด้านหน้าแปะทับด้วยแผ่นยางกันกระแทก เมื่อถอดฮูดออกจะเห็นว่าขนาดด้านหน้ามีขนาดเล็ก ฟิลเตอร์ด้านหน้าจะมีขนาด 95mm และมีวงแหวนปรับ F-stop ที่ด้านหน้า ซึ่งสามารถปรับการหมุนของวงแหวนได้ทั้งแบบมีคลิก หรือแบบไม่มีคลิก โดยปรับที่สวืทช์ที่ด้านหน้าได้ ด้านหน้าจะมีปุ่มกดสำหรับ assign ฟังก์ชั่นต่างๆ มาไว้ที่ปุ่มนี้ได้ เช่น อาจจะเป็นปุ่ม AF Stop ก็ได้ และมีสวิทช์ Lock มาให้ด้วย
มาดูส่วนบนของกระบอกเลนส์กันบ้าง ไล่จากด้านบนมาเลย จะเป็นสวิทช์ปรับโหมด Focus จะเป็น Auto หรือ Manual Focus ถัดลงมาก็จะเป็นสวิทช์ล็อกช่วง Focus (Focus Limite) ปรับได้ 3 Step คือ Full วิ่งได้ตลอดช่วงตั้งแต่ 3.2 เมตร ไปจนถึง Infinity ตรงกลางจะล็อกตั้งแต่ช่วงไกล วิ่งได้ตั้งแต่ 10 เมตร ถึง Infinity และขวาสุดวิ่งที่ช่วงใกล้คือ 3.2 เมตร ถึง 10 เมตร ให้เราปรับเลือกใช้ตามสถานการณ์หรือลักษณะงานที่เราทำอยู่
ถัดลงมาเป็นระบบกันสั่น (OS) ปรับเลือกได้สองโหมด คือ โหมด 1 คือการใช้งานทั่วไป และโหมด 2 สำหรับการแพนกล้อง ซึ่งระบบกันสั่นของเลนส์รุ่นนี้ ซิกม่าออกแบบระบบคำนวณการชดชเชยการสั่นไหวด้วยเทคโนโลยีล่าสุดที่เคยใช้กับเลนส์ 70-200mm ตัว F2.8 ซึ่งกับเลนส์ตัวนี้ลดการสั่นไหวได้ 5 สตอป ในตัวเลนส์ ถ้าไปรวมกับกันสั่นในตัวกล้องด้วยประสิทธิภาพก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ส่วนด้านล่างสุดก็จะเป็วสวิทช์ Custom การทำงานของเลนส์ ปรับได้ทั้ง C1 และ C2 มาดูที่ Tripod Collar ยังคงสไตล์ของ Tripod ที่มาจากเลนส์ซิกม่าระดับ OS Sport โดยเพลทจะเป็นแบบ Arca ซึ่งสามารถใส่กับหัว Ballheard ได้เลย โดยไม่ต้องใช้เพลทจากขาตั้งกล้อง สามารถยิดเข้ากับหัวบอลที่เป็นแบบ Arca สวิทช์ได้เลย การถอดเพลทสามารถทำได้โดยการถอดสกรู (4 ตัว) แต่น่าจะถอดยากเพราะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการถอด
คอลล่ามีการออกแบบมาแน่นหนาแข็งแรงมาก ซึ่งข้อดีที่ซิกม่าออกแบบมาให้คือมันมีคลิกที่ 90 องศารอบตัว และปรับได้ลื่นไหลและแน่นหนามาก เมื่อถึงตำแหน่ง 90 องศาจะมีมาร์คและมีคลิกให้ด้วย ทำให้เราไม่ต้องคอยมามองว่ามันจะตรงที่ 90 องศาหรือยัง จุดนี้ออกแบบได้ดีมาก
ส่วนท้ายเลนส์เป็นสแตนเลส เป็นเมาท์ที่เป็นทองเหลืองเคลือบผลิตมาได้อย่างแน่นหนาแข็งแรงทีเดียว ชิ้นเลนส์ด้านท้ายไม่ได้ใหญ่มากและอยู่ลึกลงไปพอสมควร สามารถใช้กับคอนเวอร์เตอร์ 1.4X ของซิกม่าเองได้ (ซับพอร์ตเฉพาะ L Mount เท่านั้น) แต่ในส่วนของเมาท์โซนี่ ซิกม่าไม่ได้ทำตัว 1.4 มาเพราะว่าติดในเรื่องของลิขสิทธิ์ แล้วถ้าคุณเอาเลนส์ตัวนี้ไปใช้กับกล้องโซนี่ คุณก็ไม่สามารถใช้คอนเวอร์เตอร์ของโซนี่ที่เป็น 1.4X หรือ 2X ได้ เพราะเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ที่ทางโซนี่ Protect ไว้ ก็จะใช้ได้แค่ช่วง 500mm เท่านั้น
มอเตอร์ที่ใช้กับเลนส์รุ่นนี้เป็นมอเตอร์แบบ HLA (High Response Linear Actuator) ซิกม่าเคลมว่าทำงานได้รวดเร็วตอบสนองฉับไว ทำให้การ Tracking วัตถุที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว ไม่ว่าคุณจะเอาไปถ่ายกีฬา ถ่ายนกบิน มันเร็วพอที่จะตอบสนองการทำงานของกล้องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
โครงสร้างภายนอก งานการผลิตทำได้เรียบร้อยปราณีตดีมากในทุกๆ จุด รายละเอียดดีมาก ไม่มีความแตกต่างจากเลนส์ค่ายกล้องเลย ที่สำคัญ เลนส์ตัวนี้ผลิตในประเทศญี่ปุ่น ทุกส่วนทำมาอย่างปราณีตแข็งแรง ซิลป้องกันละอองน้ำ ความชื้น และฝุ่นละอองมาเต็มที่ เพราะฉะนั้นจึงสามารถรองรับการใช้งานได้ทุกสถานการณ์ ผมมีโอกาสได้นำเลนส์รุ่นนี้ไปลองภาคสนามเล็กน้อยครับ เพราะมีเวลาค่อนน้อยมาก
เมื่อลองประกอบเข้ากับบอดี้ A7R4 ก็พบว่าบาลานซ์ของเลนส์ทำได้ดีมาก การถ่ายเทน้ำหนักตกมาที่ตำแหน่งฝ่ามือพอดี ทำให้การควบคุมตัวกล้องทำได้สะดวก น้ำหนักของเลนส์ 1,365 กรัมก็ถือว่ากำลังดีครับ ค่อนข้างจะเบามากแล้วเมื่อเทียบกับเลนส์ช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงซูม 150-600mm, 200-500mm ส่วนใหญ่จะหนักกว่านี้ประมาณเกือบๆ กิโลทั้งนั้น เลนส์ตัวนี้จึงทำงานได้สะดวก คล่องตัว ซึ่งผมได้ลองนำไปใช้งานภาคสนามเล็กน้อย มีตัวอย่างภาพให้ดู แต่ยังไม่ใช่การรีวิวครับ ในส่วนของการรีวิวรออีกสักพักครับ ไปดูภาพตัวอย่างกันครับ
Leave feedback about this