แสงแฟลร์ และแสงหลอก หรือ Ghost flare เป็นอีกหนึ่งปัญหาในการถ่ายภาพที่ต้องการคอนทราสต์สูง แต่ถ้าหารู้หลักการของการเกิดแสงแฟลร์แล้ว เราสามารถนำแสงแฟลร์มาใช้เพื่อการสร้างสรรค์ภาพถ่ายได้ จะเป็นอย่างไรลองไปดูกันครับ..
Flare & Ghost flare
…..คุณเคยประสบปัญหาในการถ่ายภาพที่เกิดขึ้นโดยเราไม่ได้ตั้งใจให้เกิด หรือ เกิดขึ้นเองตามปัจจัยพื้นฐานของอุปกรณ์ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นอาการ Spherical Aberration, Coma, Chromatic Aberration, Distortion, Vignetting, Diffraction หรือแม้กระทั่ง อาการ Flare หรือ Ghost เอง ที่อาจเป็นปัญหาในการถ่ายภาพได้เช่นกันไปทำความรู้จักกับการเกิด Flare และ Ghost กันครับ
“Flare”
..แสงแฟลร์ของเลนส์เกิดขึ้นเมื่อแหล่งกำเนิดแสง เช่น ดวงอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งหลอดไฟที่สว่างมากๆ มีความสว่างกว่าแสงในพื้นที่อื่นของภาพมาก และแสงเหล่านั้นเกิดการสะท้อนไปมาในชิ้นเลนส์ หรือส่วนอื่นๆ ของเลนส์ เช่น ท่อของกระบอกเลนส์, กล่องกระจก หรือแม้กระทั่งการสะท้อนจากเซ็นเซอร์กับชิ้นเลนส์แล้วสะท้อนกลับมาบันทึกในเซ็นเซอร์อีกที ซึ่งทำให้ภาพบางส่วนหรือทั้งหมดพร่ามัว หรือขาดความคมชัดนั่นเอง ทั้งนี้ การเกิดแฟลร์มากหรือน้อย หรือเกิดขึ้นพื้นที่ใดของเฟรมภาพก็อาจขึ้นอยู่กับตำแหน่งของแหล่งกำเนิดแสงด้วย และด้วยเหตุนี้เอง แฟลร์จึงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างเดียว แต่แฟลร์ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถนำมาสร้างสรรค์ภาพถ่ายของเราได้ด้วยเช่นกัน หากเราเข้าใจ และใช้เป็นครับ
“Ghost flare หรือ แสงหลอก”
..แสงหลอกจะต่างจากแสงแฟลร์คือ แสงหลอกจะเป็นเพียงแสงซ้อน หรือภาพซ้อน ซึ่งเกิดจากการสะท้อนของแหล่งกำเนิดแสง อาจมีรูปร่างทรงกลม หรือมีเหลี่ยมคล้ายไดอะแฟรมของเลนส์ และมักจะปรากฏเป็นเส้นตรงจากแหล่งกำเนิดแสง และอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับแหล่งกำเนิดแสงด้วย
“ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแสงแฟลร์ (Flare) และแสงหลอก (Ghost flare)”
- จำนวนชิ้นเลนส์ : ยิ่งมีชิ้นเลนส์มาก แสงที่ผ่านเข้าไปก็ยิ่งมีโอกาสสะท้อนได้มากขึ้น
- ทางยาวโฟกัส : เลนส์มุมกว้างที่มีทางยาวโฟกัสสั้นๆ จะทำให้แหล่งกำเนิดแสงมีขนาดเล็กกว่า ซึ่งอาจจะทำให้มองเห็นแสงแฟลร์ และแสงหลอกได้น้อยกว่าเลนส์เทเลฯ หรือเลนส์ทางยาวโฟกัสยาว
- การออกแบบเลนส์ หากใช้เลนส์ที่ยังไม่มีการพัฒนาเรื่องชิ้นเลนส์ที่เพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยแก้ปัญหาแสงแฟลร์ และแสงหลอก คุณก็อาจได้ภาพที่มีปัญหาแบบนี้ไปเรื่อยๆ และในปัจจุบันเลนส์บางค่ายสามารถออกแบบเพื่อแก้ปัญหาแสงแฟลร์และแสงหลอกได้ดีขึ้น เช่น การเพิ่มชิ้นเลนส์บางตัวเข้าไปแก้ปัญหาโดยที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีการเคลือบผิวที่มีราคาแพง เป็นต้น
- การเคลือบแบบป้องกันการสะท้อน เลนส์บางตัวยังไม่ได้รับการพัฒนาโดยวิธีการเคลือบเพื่อแก้ปัญหาการสะท้อนของแสงก็อาจทำให้ปัญหานี้ยังคงมีอยู่เช่นเดิม
- การใช้ฟิลเตอร์ที่มีคุณภาพต่ำก็อาจทำให้เกิดการสะท้อนของแสงที่ทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน
- ฝุ่น และคราบสกปรกบนหน้าเลนส์ก็สามารถทำให้แสงที่ผ่านเข้าไปเกิดการฟุ้ง และทำให้สูญเสียความคมของแสงได้เช่นกัน
นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากเช่นกัน คือ ตำแหน่งของแหล่งกำเนิดแสงในเฟรม และมุมที่แสงส่องถึงเลนส์ (จะเห็นได้ชัดเมื่อถ่ายภาพย้อนแสง) ความเข้มของแสง ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการที่แสงแฟลร์จะปรากฏขึ้นในภาพ แม้ปัจจุบันจะมีการออกแบบเลนส์มาดีมากแล้ว แต่ปัจจัยนี้ก็อาจทำให้เกิดแฟลร์และแสงหลอกได้ครับ
“วิธีหลีกเลี่ยงแสงแฟลร์ของเลนส์”
..ถ้าหากเราไม่ต้องการให้มีแสงแฟลร์รบกวนในภาพ เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
- ใช้ฮูด เพื่อกันแสงที่กระทบหน้าเลนส์ในองศาที่ทำให้เกิดแสงแฟลร์นั่นเอง หรือหากไม่มีฮูด คุณก็สามารถใช้มือ หรือ วัสดุบางอย่างมาบังได้ เช่น สมุด หรือกระดาษทึบ เป็นต้น
- ใช้เลนส์ที่มีคุณภาพสูง เช่น เลนส์ที่มีการเคลือบผิวชนิดพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาแฟลร์และแสงหลอก หรือเลนส์ที่มีการออกแบบโดยการเพิ่มชิ้นเลนส์เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะครับ
- ใช้เลนส์ไวด์แองเกิ้ล (เลนส์มุมกว้าง) หรือเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้น เพื่อให้แสงแฟลร์ลดน้อยลง
- เปลี่ยนมุมมอง/กรอบ บางครั้งแค่เปลี่ยนตำแหน่งของแหล่งกำเนิดแสงในภาพก็สามารถสร้างความแตกต่างได้ครับ และข้อนี้เองที่ทำให้เราสามารถกำหนดตำแหน่ง ทิศทางของแสงแฟลร์เพื่อช่วยในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายได้ครับ
ขอให้ถ่ายภาพอย่างมีความสุข และสนุกกับการสร้างสรรค์ภาพถ่ายนะครับ..
Leave feedback about this