สำหรับผู้ที่เริ่มต้นถ่ายภาพกีฬาหากไม่ใช่เป็นการทำงานให้สื่ออย่างหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร มักมาจากการถ่ายภาพสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่เล่นกีฬา ซึ่งหากรู้สึกสนุกและอยากลองถ่ายภาพกีฬาที่จริงจังมากขึ้นกว่ากีฬาสีของลูกหรือเพื่อนที่นัดเตะฟุตบอลกัน จะต้องการสิ่งที่มากขึ้นกว่าการถ่ายภาพกันเล่นๆ เพื่อให้ภาพที่ออกมาน่าพอใจ เพราะเมื่อถ่ายภาพกีฬาในสถานการณ์แข่งขันกีฬาที่มีความจริงจังจะมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มถ่ายภาพกีฬา รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้เมื่อถ่ายภาพสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่เล่นกีฬาได้ด้วย
อุปกรณ์ถ่ายภาพ
สิ่งที่มักเห็นคู่กับนักถ่ายภาพในการแข่งขันต่างๆ ที่ดูทางทีวีหรือดูในสนามก็คืออุปกรณ์ถ่ายภาพในระดับโปรทั้งกล้องและเลนส์ ซึ่งแน่นอนว่าอุปกรณ์ถ่ายภาพคุณภาพสูงเหล่านั้นสามารถช่วยให้ถ่ายภาพกีฬาได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าระบบออโตโฟกัสที่แม่นยำและรวดเร็ว หรือการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงของ รวมทั้งเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงเพื่อขยายภาพนักกีฬาที่อยู่ระยะไกลให้ใหญ่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ไม่ใช่สิ่งที่สร้างภาพถ่าย แต่เป็นตัวนักถ่ายภาพที่ถ่ายภาพนั้น ดังนั้นภาพกีฬาที่ดีย่อมสามารถเกิดขึ้นได้จากกล้องถ่ายภาพระดับต่างๆ ดังนั้นนักถ่ายภาพที่เริ่มต้นถ่ายภาพกีฬาที่ใช้กล้อง DSLR ระดับ Entry-Level พร้อมเลนส์ซูมเทเลโฟโตราคาประหยัดก็มีโอกาสถ่ายภาพให้ออกกมาน่าสนใจได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงเป็นสิ่งจำเป็นในการถ่ายภาพกีฬา ดังนั้นสิ่งที่นักถ่ายภาพควรต้องมีเมื่อถ่ายภาพกีฬาคือกล้อง DSLR หรือกล้อง Mirrorless พร้อมกับเลนส์ซูมที่มีทางยาวโฟกัสสูงถึง 200 มม. เป็นอย่างน้อยสำหรับการแข่งขันกีฬาทั่วไป
หากเป็นไปได้การมีเลนส์ทางยาวโฟกัสช่วงซูเปอร์เทเลเทเลโฟโตอย่าง 300 มม. ขึ้นไปจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพกีฬาที่ต้องถ่ายภาพในระยะไกลอย่างฟุตบอล หรือหากไม่มีเลนส์ในทางยาวโฟกัสช่วงนี้ แต่มีเลนส์ 70-200 มม. F2.8 อาจเลือกใช้เทเลคอนเวอร์เตอร์ขนาด 2X ร่วมกับเลนส์เพื่อเพิ่มทางยาวโฟกัสเลนส์ให้สูงขึ้นสำหรับสิ่งที่อยู่ในระยะไกล
แต่นอกจากเลนส์เทเลโฟโตแล้วเลนส์มุมกว้างและเลนส์ช่วงมาตรฐานก็ยังเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับถ่ายภาพกีฬา เพราะในการแข่งขันกีฬาบางประเภทนักถ่ายภาพจะสามารถอยู่ในระยะใกล้กับนักกีฬาได้อย่างบาสเก็ตบอลซึ่งจะทำให้มีโอกาสใช้เลนส์มุมกว้างและเลนส์ช่วงมาตรฐาน ซึ่งแน่นอนว่าเลนส์เกรดโปรไวแสงอย่าง 24-70 มม.F2.8 คือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกล้องฟูลเฟรม แต่หากไม่มีก็สามารถใช้เลนส์ในช่วงทางยาวโฟกัสเดียวกันหรือใกล้เคียงกันที่มีความไวแสงน้อยกว่าได้ หรือเลนส์คิตที่ติดมากับกล้องอย่าง 18-55 มม. หากใช้กล้อง APS-C นอกจากนี้นักถ่ายภาพยังอาจต้องการอุปกรณ์ถ่ายภาพอื่นอีกอย่างโมโนพอดเพื่อช่วยเพิ่มความนิ่งและลดความเหนื่อยล้าจากการถือกล้องและเลนส์นานๆ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ให้ความสบายเมื่อถ่ายภาพอย่างเก้าอี้พับได้ และหมวกบังแดดเมื่อถ่ายภาพตอนกลางวัน
ปรับภาพหลังถ่าย
อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ภาพที่ถ่ายมีความโดดเด่นคือการปรับภาพด้วยซอฟต์แวร์หลังถ่ายง่ายๆ ซึ่งไม่ได้ต้องการความสามารถในการปรับภาพมากเพียงแค่ครอปและปรับแสงของภาพก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีได้โดยต่อไปนี้เป็นคำแนะนำในเรื่องการปรับภาพสำหรับการนำภาพไปใช้ไม่ว่าจะโพสลงโซเชี่ยลมีเดียหรือส่งให้คนอื่น
- เลือกภาพที่ดีที่สุดจากที่ถ่ายมาจำนวนหนึ่ง
- ครอปและปรับภาพให้มีเส้นแนวนอนที่ตรงหากภาพที่ถ่ายมาเอียง ซึ่งการครอปจะเป็นการช่วยขยับองค์ประกอบภาพได้
- ปรับความสว่างและไวต์บาลานช์หากจำเป็นนอกจากนี้อาจเพิ่มรายละเอียดในส่วนเงา ลดความสว่างในช่วงไฮไลต์ลงและปรับสีภาพให้ดูเป็นธรรมชาติ
- สิ่งสุดท้ายในการปรับภาพคือการเพิ่ม Sharpnessหรือความคมชัด เนื่องจากกล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จะมีฟิลเตอร์ Anti-Aliasing เพื่อป้องกัน Moire ในภาพซึ่งส่งผลให้ความคมชัดของภาพลดลงเล็กน้อยการปรับความคมชัดจึงทำให้ภาพดูคมยิ่งขึ้นและวัตถุในภาพดูเด่นยิ่งขึ้น
องค์ประกอบภาพ
นอกจากแอ็คชั่นที่น่าสนใจแล้ว องค์ประกอบภาพก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาพกีฬาน่าสนใจ ซึ่งมีวิธีง่ายๆ เบื้องต้นในการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อทำให้ทั้งนักกีฬาในภาพดูเด่นและน่าสนใจ
- สร้างความสมดุลย์ในภาพ : วิธีง่ายที่สุดในการสร้างความสมดุลย์ในภาพคือวางวัตถุไว้กลางภาพ แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามหลักการจัดองค์ประกอบภาพอย่างกฏสามส่วน แต่อย่างไรก็ตามภาพกีฬามีความแตกต่างจากภาพลักษณะอื่นอย่างภาพทิวทัศน์หรือสถาปัตยกรรม เนื่องจากวัตถุเหรือเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกมีสิ่งเดียว ดังนั้นผู้ดูจึงมองเข้าไปยังภาพจากกลางภาพ และเพื่อให้มีความโดดเด่นวัตถุในภาพควรมีขนาดใหญ่ไม่ใช่วัตถุขนาดเล็กกลางภาพ
- สิ่งที่ดึงความสนใจ : ภาพกีฬาที่ดีควรดึงความสนใจจากผู้ดูในทันทีและดึงให้ความสนใจอยู่ตรงนั้น ซึ่งการที่จะรักษาความสนใจไว้ตรงส่วนนั้นได้ย่อมต้องลดสิ่งที่ดึงดูดความสนใจออกไปจากกภาพ อย่างเช่นจุดที่สว่างในฉากหลัง สิ่งที่กลมกลืนกับวัตถุหลักในภาพ โดยวิธีง่ายที่สุดในการลดสิ่งที่จะดึงความสนใจไปจากวัตถุก็คือทำให้เบลอด้วยการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงไวแสง แต่นอกจากการใช้เลนส์และการปรับรูรับแสงกว้างแล้วยังมีวิธีอื่นอีกที่ควรใช้ร่วมด้วยอย่างตำแหน่งถ่ายภาพที่จะตัดสิ่งรบกวนออกไปจากภาพ โดยอาจลองถ่ายภาพในมุมสูงหรือมุมตํ่าเพื่อหาสิ่งนี้
- เล่าเรื่องราว : ภาพที่มีความสมดุลย์อยู่ตรงกลาง และตัดสิ่งที่รบกวนออกไปอาจทำให้ดูน่าเบื่อได้ เนื่องจากขาดความน่าสนใจของวัตถุ ดังนั้นอีกกุญแจสำคัญในการจัดองค์ประกอบภาพคือนักกีฬาในภาพไม่ว่าจะคนเดียวหรือหลายคนมีแอ็คชั่นที่มีความหมาย ซึ่งตัวอย่างของภาพในลักษณะนี้ที่เป็นการเล่าเรื่องราวในภาพเบื้องต้นง่ายๆ เช่น นักฟุตบอลสองคนกำลังพยายามเข้าแย่งบอลกันอย่างชัดเจน แทนภาพนักกีฬาหลายคนพยายามวิ่งเข้าหาบอลซึ่งความน่าสนใจของภาพจะดูน้อยกว่า
ใช้การแฟลชกับชัตเตอร์ชุดที่สอง
นอกจากการถ่ายภาพในลักษณะหยุดการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงแล้ว การถ่ายภาพโดยแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ของวัตถุเมื่อถ่ายภาพกีฬาหรือแอ็คชั่นในระยะใกล้โดยที่สามารถใช้แฟลชร่วมด้วยได้ และการใช้เแฟลชสัมพันธ์กับชัตเตอร์ชุดที่สองจะช่วยให้ทั้งความคมชัดแก่วัตถุพร้อมกับที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ได้
วิธีง่ายที่สุดในการทำให้เห็นว่าวัตถุมีการเคลื่อนที่คือการใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าและแพนกล้องตามทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุ แต่นอกจากการถ่ายภาพโดยแพนกล้องตามวัตถุพร้อมกับใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าเพื่อให้ฉากหลังดูเบลอแล้ว การใช้แฟลชร่วมด้วยเมื่อแพนกล้องจะเป็นทั้งการหยุดการเคลื่อนที่ของวัตถุโดยที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีการเคลื่อนที่ได้ พร้อมกับเพิ่มแสงเพื่อให้วัตถุในภาพดูเด่นขึ้น
ตามปกติแฟลชจะยิงแสงออกไปทันทีที่กดชัตเตอร์ ซึ่งเมื่อใช้แฟลชในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการหยุดวัตถุด้วยแสงแฟลชทันทีที่กดชัตเตอร์และเห็นเงาการเคลื่อนที่ด้านหน้าวัตถุซึ่งดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่หากเปลี่ยนมาใช้การทำงานแฟลชสัมพันธ์กับชัตเตอร์ชุดที่สองหรือชุดหลังร่วมกับการใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าและแพนกล้องตามวัตถุ แฟลชจะยิงแสงออกไปก่อนที่จะจบการบันทึกภาพทำให้หยุดการเคลื่อนที่ของวัตถุในช่วงจังหวะนั้นโดยที่มีเงาการเคลื่อนที่ด้านหลังวัตถุ ซึ่งทำให้รู้สึกถึงการเคลื่อนที่ไปด้านหน้า
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
? ขอบคุณครับ
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่