หลายครั้งที่จัดอบรมถ่ายภาพ แล้วมีผู้เข้าอบรมถามว่า จะปิดหน้าจอที่แสดงรูปกราฟ Histogram อย่างไร ดูเหมือนมันรกๆ จอ และไม่รู้ใช้งานอย่างไร วันนี้ผมก็เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังว่ามันมีประโยชน์อะไร อ่านค่าและปรับแก้ให้ภาพเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องไปทำความรู้จักก่อนครับว่ากราฟ Histogram ที่โชว์หลังจอ LCD ของกล้อง กับกราฟ Histogram ที่โชว์ในโปรแกรมตกแต่งภาพต่างๆ เมื่อเรานำภาพเข้าไปปรับแต่งในโปรแกรม หน้าตามันจะคล้ายๆ กัน แต่รูปแบบการอ่านค่าเหมือนกันครับ
Histogram คือ กราฟที่วัดค่าแสง ที่แสดงจำนวนพิกเซลของค่าความมืดและสว่างแต่ละค่าที่พบในภาพถ่าย โดยที่แกนแนวนอนแสดงถึงโทนสี โดยมีค่าตั้งแต่ 0 – 255 โดยเปลี่ยนจากสีดำทางด้านซ้าย (0 มืดสุด)และสีขาวทางด้านขวา (255 สว่างสุด) จุดศูนย์กลางของแกนแนวนอนแสดงถึงโทนสีกลางของรูปภาพ หรือเป็นค่าแสงที่พอดี (เทากลาง) โดยมีรายละเอียดของเงาอยู่ทางด้านซ้ายของโทนสีกลาง และรายละเอียดของไฮไลต์ทางด้านขวาของแนวนอน ซึ่งความถี่ของแต่ละโทนจะถูกพล็อตลงบนกราฟ ซึ่งจะช่วยให้คุณทราบว่าภาพถ่ายมีค่าสว่างหรือมืดมากเกินไปหรือไม่นั่นเอง
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ลองเปลี่ยนภาพสีเป็นขาวดำ จะเห็นการไล่โทนได้ชัดเจนขึ้น กราฟแสดงค่าแสงที่อยู่ในโทนมืด, พอดี (เทา), สว่าง ของภาพถ่ายในหนึ่งภาพ
* หากจำไม่ได้ มันจะมี Trick การจำเล็กๆ น้อยๆ ครับ คือ ให้จำคำพ้องเสียง “Light” ที่แปลว่า “แสง” กับคำว่า “Right” ที่แปลว่า “ขวา” หมายความว่า ฝั่งขวาของกราฟคือฝั่งที่บอกค่าแสงสว่างมากนั่นเอง
ตัวอย่างของ Histogram ที่แสดงค่าแสงพอดี เก็บรายละเอียดครบถ้วน และสามารถนำไปปรับแต่งในภายหลังได้ง่าย
ภาพที่มีค่าแสงที่พอดี กราฟที่ความสูงของแกน Y จะอยู่ตรงกลาง (เทากลางในแกนแนวนอน (X)) หรือที่ชอบเรียกกันว่าทรงระฆังคว่ำนั่นเอง ซึ่งขอดีของภาพที่มีค่าแสงแบบนี้คือ เราสามารถนำภาพไปปรับแต่งได้ง่าย เพราะยังคงรายละเอียดไว้อย่างครบถ้วน ไม่เหมือนกับกราฟที่เทไปทางด้านใดด้านหนึ่ง (จนชิดของ 0 หรือ 255) เพราะนั่นหมายถึงว่ารายละเอียดบางอย่างไม่ครบถ้วนหรือหายไปนั่นเอง
กราฟใน Histogram ของภาพไม่ไปชิดขอบซ้ายสุด ทำให้เรายังสามารถดึงรายละเอียดในภาพกลับมาได้ แม้ภาพจะออกโทนมืดเป็นส่วนมาก
กราฟใน Histogram ของภาพเทไปจนชิดขอบขวาสุด ทำให้รายละเอียดในส่วนที่เป็นสีขาวบริสุทธิ์หายไป การดึงรายละเอียดกลับมาจึงทำได้ยาก หรือไม่ได้เลย (จะเห็นได้จากส่วนที่เป็นส่วนเบลอสีขาวของฉากหลัง)
กราฟใน Histogram ที่แสดงค่าแสงพอดี รายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างสามารถดึงกลับมาได้
การอ่าน และการใช้งาน Histogram ในกล้องและโปรแกรมตกแต่งภาพ
Histogram ในกล้องถ่ายภาพ
ไปเริ่มกันที่ Histogram ในกล้องก่อนเลยครับ หลายคนบอกว่า ยุคสมัยนี้เป็นยุคของ Mirrorless แล้ว สามารถเห็นความสว่าง, มืด ของภาพที่จะถ่ายก่อนแล้ว การวัดแสงหรือการอ่าน Histogram คงไม่จำเป็นแล้ว แต่ในบางสถานการณ์ เช่น เกิดการสะท้อนที่หน้าจอ LCD ของกล้อง ทำให้เรามองภาพไม่ถนัดและไม่รู้ว่าแสงพอดีหรือไม่ หรือ การตั้งค่าของจอ LCD พอดีหรือไม่ นั่นก็เป็นปัญหาในการได้ภาพที่มีแสงพอดีได้เช่นกัน และปัญหาจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อนำภาพ Jpeg ไปปรับแต่งในโปรแกรม โดยที่เรา Preview ภาพ หลังกล้องแล้วคิดว่าแสงพอดีแล้ว แต่อันที่จริง จอ LCD หลอกตาด้วยแสงสะท้อนรอบข้าง
บน : กราฟเทไปด้านซ้าย คือส่วนที่เป็นด้านมืด หรือ เงา, กลาง : ส่วนตรงกลาง คือ ส่วนสีเทาที่มีค่าแสงพอดี, ล่าง : กราฟเทไปด้านขวา คือ ส่วนสว่างของภาพ หรือส่วนที่เป็นสีขาว
กราฟ Histogram ในตัวกล้องมีทั้งเลือกว่าจะโชว์ค่าแสงก่อนถ่าย (ในกล้อง Mirrorless บางรุ่น หรือกล้องที่มี Live view บางรุ่น) หรือโชว์ค่าแสงของภาพที่ถ่ายแล้ว แล้วมา Preview ภาพดู (ในกล้อง DSLR) ข้อดีของการโชว์กราฟ Histogram ให้เห็นก่อนคือเรารู้ค่าแสงก่อนถ่าย ทำให้เราสะดวกในการปรับค่ากล้องก่อนถ่าย และถึงแม้จะ Preview ภาพดูแล้วค่อยเห็นกราฟ สิ่งนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ เพราะเราสามารถแก้ไขให้ภาพถ่ายของเราให้มีค่าแสงที่พอดีที่หน้างานได้เลย
ซ้าย : ตัวอย่างการเปิด Histogram ก่อนถ่ายของกล้อง Mirrorless (Panasonic Lumix G100), ขวา ตัวอย่างการเปิด Histogram ในกล้อง Dsl-r (Nikon D7200) หลังจากถ่ายภาพแล้ว แล้ว Preview ภาพดู
เมื่อเราอ่านค่า Histogram ได้แล้ว ต่อไปคือการแก้ไขโดยการปรับค่าต่างๆ ของกล้อง หากเห็นว่ากราฟในแกนแนวนอนเทไปทางด้านขวามากเกินไปแสดงว่าภาพมีความสว่างมากเกินไป การปรับค่ากล้องก็ควรเพิ่มชัตเตอร์สปีดให้เร็วขึ้น หรือ ปรับค่า F stop ให้แคบลง หรือ ลดค่า ISO ลง เพื่อให้ค่าแสงกลับมาสมดุล (แล้วแต่สถานการณ์และเว้นแต่ว่าคุณต้องการภาพแนวศิลปะที่ไม่ต้องการค่าแสงที่พอดีในผลงานภาพถ่ายของคุณ) ในทางกลับกัน หากกราฟเทไปทางซ้ายมากเกินไปนั่นหมายความว่าในภาพถ่ายนั้นมืดมากเกินไป การปรับค่ากล้องก็ต้องปรับในทางตรงกันข้ามที่กล่าวมานั่นเอง
เมื่อเราอ่านค่า Histogram ในกล้องได้แล้ว เรามาดูการอ่านค่าและการใช้งาน Histogram ในเครื่องมือแต่งภาพบ้าง
ในการปรับแต่งภาพด้วย Raw ไฟล์ นับว่าแทบไม่มีปัญหาในการดึงรายละเอียดกลับมา ซึ่งแตกต่างจากไฟล์ Jpeg อย่างมาก หากคุณใช้โปรแกรมแต่งภาพ เช่น Adobe Lightroom,Photoshop หรือซอฟต์แวร์ที่คล้ายกัน คุณจะสังเกตเห็น Histogram ในโมดูลการแก้ไข และเช่นเดียวกับ Histogram ที่อยู่ในกล้องของคุณ คอมพิวเตอร์มักจะมีปัญหาเดียวกันกับหน้าจอ LCD ของกล้อง ซึ่งก็คือ หน้าจอคอมพิวเตอร์อาจมีความสว่างแตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะด้วยการเซ็ทความสว่างที่หน้าจอผิดเพี้ยน หรือในขณะทำงานเกิดการสะท้อนรบกวนที่หน้าจอ ก็ทำให้เกิดปัญหาในการแต่งภาพได้ ดังนั้น การใช้งาน Histogram จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณเห็นสภาพแสงในภาพถ่ายของคุณได้อย่างแม่นยำ
ตัวอย่างการแสดงกราฟ Histogram บนโปรแกรมตกแต่งภาพอย่าง Photoshop ที่สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของ Histogram เมื่อเราเปลี่ยนค่าบางอย่างในภาพ เช่น Exposure, Shadowa, Whites, Blacks
ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้โปรแกรม Lightroom ในการจัดการกับไฟล์ RAW การใช้งาน Histogram ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจาก ใน Lightroom คุณสามารถปรับแต่ง Histogram นั้นเอง การลาก Histogram ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจว่าแต่ละพื้นที่ของ Histogram สอดคล้องกันอย่างไร Histogram ของ Lightroom เป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับใช้กับภาพทดสอบในขณะที่เรียนรู้วิธีอ่าน Histogram ครับ
หรือในกรณีที่ต้องปรับแต่งด้วยไฟล์ Jpeg หากต้องการปรับแต่งภาพแบบง่ายๆ ผมแนะนำให้ใช้เครื่องมือ Level หรือ Curves ในโปรแกรม Photoshop ได้เลยครับ เมื่อคุณเปิดภาพเข้าไปในโปรแกรม แล้วเลือกเครื่องมือการใช้งานดังกล่าว คุณก็สามารถทำการปรับแต่งโดยดู Histogram ควบคู่ไปกับการดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนภาพของคุณได้เลย
ตัวอย่างการปรับแต่งภาพไฟล์ Jpeg ด้วยเครื่องมือ Level ในโปรแกรม Photoshop
ตัวอย่างการปรับแต่งภาพด้วยการใช้เครื่องมือ Level ในโปรแกรม Photoshop จะเห็นได้ว่ากราฟเทมาทางซ้าย ซึ่งเป็นการแสดงถึงว่าในภาพมีค่าแสงที่มืด และมีส่วนที่เทไปจนชิดขอบซ้ายสุด (0) นั่นหมายความว่ารายละเอียดภาพบริเวณที่เป็นสีดำไม่ครบถ้วน หรือหายไป การปรับแต่งภาพด้วยเครื่องมือนี้บนไฟล์ Jpeg จึงแก้ไขได้เพียงแค่ให้ดีขึ้นเท่านั้น โดยการเลือนสเกลตรงกลาง หรือเทากลาง (1.00) ไปทางด้านซ้าย เพื่อเปิดแสงสว่างในส่วนที่มืดขึ้นมาเท่าที่จะทำได้นั่นเอง
Leave feedback about this