Knowledge

INTERVIEW : พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ภาพที่ดีต้องมาจากอุปกรณ์ที่ดี และการเซ็ทอัพที่ถูกต้อง

ช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ
ผมทันตแพทย์พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์ ชื่อเล่นว่า เอก คนทั่วไปเรียกกันว่าหมอเอก ตอนนี้ทำงานเป็นทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และคลินิกทันตกรรมอุดรธานี จบการศึกษาปริญญาตรีทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปริญญาโทวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต(ทันตกรรมประดิษฐ์)จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดพะเยาครับ แต่หลังจากแต่งงานแล้วก็เลยต้องย้ายมาตั้งหลักปักฐานที่บ้านของภรรยาในจังหวัดอุดรธานีแทน งานประจำก็อย่างที่ทราบก็คือทำฟัน ส่วนงานอดิเรกก็มีหลายอย่างครับแล้วแต่ช่วงเวลาว่าจะเอื้ออำนวยให้ทำอะไร เมื่อก่อนก็เล่นกีตาร์ ฟังเพลง เล่นแบดมินตัน ออกไปถ่ายรูปบ้างก็สนุกไปเรื่อยๆ จนมาถึงตอนนี้งานอดิเรกคือเล่นเครื่องเสียง Home theater ครับ

ถ่ายคู่กับ Bob McCarthy ขณะมาบรรยายที่กรุงเทพโดยคุณหมอเป็นผู้แปล

กับสายงานที่เป็นทันตแพทย์ ดูแล้วไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกับระบบภาพและเสียงได้เลย มีที่มาอย่างไรครับ
เริ่มจากเป็นงานอดิเรกแหละครับ ก็คงเหมือนนักเล่นทั่วๆ ไปที่เล่นไปเรื่อยๆ ก็อยากจะทำให้ชุดเครื่องเสียงของตัวเองแสดงศักยภาพออกมาให้เต็มที่ ผมก็เลยเริ่มจ้างนักปรับภาพ นักปรับเสียงในห้อง Home theater มาปรับ ตอนนั้นน่าจะร่วมสิบปีมาแล้ว เรียกได้ว่าใครรับจ้างปรับผมจ้างมาหมด พอจ้างมาหลายๆ คน ทำให้เกิดความสับสนว่า อันไหนคือจริงอันไหนคือหลอกกัน เพราะที่ปรับออกมาแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย บางคนจ้างมาหลายพันไม่ทำอะไร มากดรีโมทเครื่องไม่กี่ทีแล้วพูดโม้อย่างเดียว แล้วอีกอย่างบ้านผมอยู่อุดรธานี การที่จะจ้างช่างมาจากกรุงเทพนั้นยากมาก ทั้งต้องเสียค่าเดินทางให้เขา ต้องเสียค่าที่พักให้อีก จึงทำให้คิดว่าทำไมไม่ไปเรียนแบบจริงๆจังๆ ให้รู้ไปเลยจริงๆ เลยดีกว่า ว่าที่เขาปรับหรือคาลิเบทภาพและเสียงแบบมาตรฐานสากลนั้นเขาทำแบบไหนกัน จะได้เอามาปรับในชุดของตัวเองได้ แต่ปัญหาคือในสมัยก่อนการที่จะหาคอร์สเรียนพวกนี้นั้นมีแต่ในต่างประเทศ และส่วนมากอยู่ในอเมริกาและฝั่งยุโรปเป็นหลัก นานๆ ทีถึงจะมาเปิดในเอเชีย และไม่มีมาเปิดสอนในไทยเหมือนในปัจจุบันนี้ จำได้ว่าคอร์สแรกที่เรียนก็คือเรียนการปรับแบบ THX โดย John Dahl ซึ่งในสมัยนั้นแกเป็น Director of education THX โดยไปเรียนที่เมืองจีน ซึ่งพอไปเรียนแล้วทำให้เราได้เรียนรู้ในหลายสิ่ง หลายอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน บางสิ่งบางอย่างเมืองไทยสมัยนั้นไม่มีใครพูดถึงหรือไม่ให้ความสำคัญเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพื้นฐานวิทยาศาสตร์ของเสียงและของภาพ หลังจากนั้นก็เริ่มติดใจในการเรียนรู้ มีคอร์สอบรมที่ไหนที่น่าสนใจไม่ว่าใกล้ไกล ถ้าเวลาเอื้ออำนวยไม่กระทบกับงานหลักและกิจกรรมในครอบครัวก็จะปลีกตัวไปเรียนอยู่เสมอจนถึงปัจจุบันที่ก็ยังไปหาเรียนเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ ถ้ามีโอกาส

คุณหมอหาความรู้เรื่องระบบภาพโฮมเธียร์เตอร์ที่ไหนบ้าง
เริ่มต้นจากไปเรียนการปรับภาพ Certification Training จากสถาบัน ISF (Imaging Science Foudation. Inc) โดยมี Joel Silver เจ้าพ่อด้านการปรับภาพระดับโลกมาสอนเอง ตามมาด้วยเรียน THX Certified Video Professional Level I, II, III(HDR) โดย Gregg Loewen อดีตอาจารย์สอนปรับภาพของ THX ที่ตอนนี้มาตั้งสถาบันสอนปรับภาพเองชื่อ PVA Certified Video Professional หรือบางครั้งก็เข้าเรียนชั้นเรียนของ CEDIA และ PVA (Professtional Video Alliance) ส่วนถ้านอกห้องเรียนผมก็จะหาความรู้จากนิตยสารเกี่ยวกับ Home Theater ของต่างประเทศ เท่าที่ดูๆ อยู่ผมก็เป็นสมาชิกนิตยสารเหล่านี้แบบออนไลน์เกือบทุกหัวของต่างประเทศ รวมถึงการเข้าไปอ่าน Forum การเข้าไปดู Youtube เกี่ยวกับเทคนิคการปรับภาพและเสียงของต่างประเทศอยู่เป็นประจำเกือบทุกวัน ที่ต้องติดตามบ่อยขนาดนี้เพราะอย่างที่เราทราบว่าเทคโนโลยีในด้านนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะในเรื่องของจอภาพเรียกได้ว่าเผลอแป๊ปเดียวนี่อาจจะตกยุคไปเลยได้

คุณหมอรับงานคาลิเบเตอร์เป็นอาชีพด้วยหรือไม่
ไม่ได้รับเป็นอาชีพครับ เพราะแค่งานประจำและงานที่บ้านก็แทบจะไม่มีเวลาเหลือแล้ว แต่ส่วนมากก็จะอาศัยถ้าว่างๆ และการเดินทางสะดวกก็จะไปนั่งเล่น นั่งคุย นั่งปรับบ้านเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน หรือบ้านพี่ๆน้องๆ ที่รู้จักนับถือกันเสียมากกว่า ก็มีคนโทรเข้ามาหรือส่งข้อความมาประจำว่าขอจ้างให้ผมไปปรับให้ ซึ่งก็คงต้องขอบคุณหลายๆ ท่านที่ให้โอกาสและเชื่อมั่นในหลักการวิธีการปรับแบบของผม ใจจริงแล้วก็อยากไปปรับให้กับทุกท่านที่ติดต่อเข้ามาเพราะถือว่าก็จะได้เรียนรู้ไปด้วย แต่บางทีด้วยเหตุผลเรื่องเวลาและการเดินทางอาจจะไม่สามารถไปปรับให้กับทุกๆ ท่านได้

การปรับภาพต้องอาศัยเครื่องมือวัดค่าเป็นหลักเลยหรือไม่ ต้องใช้ตาของเราวิเคราะห์ผลด้วยมั๊ยครับ
ต้องใช้ร่วมกันครับ จะไปเชื่อเครื่องมืออย่างเดียวหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Objective measurement ก็ไม่ได้ หรือจะเชื่อตาตัวเองอย่างเดียวอย่างที่เรียกว่า Subjective measurement ก็ไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรผมเชื่อว่า Meter ที่ดีที่สุดก็คือประสาทสัมผัสของคนเรานี่แหละที่สามารถจับความผิดปกติได้ดีกว่าเครื่องมือใดๆ ในโลก อาจจะเนื่องจากเป็นสัญชาติญาณการอยู่รอดที่ฝังอยู่ในสิ่งมีชีวิต ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อสัตว์ได้ยินเสียงผิดปกติ หรือมีแสงมีสีผิดปกติเพียงเล็กน้อย สัญชาติญาณก็จะทำให้มันหันไปเพ่งมองสิ่งผิดปกตินั้นทันทีเพื่อที่จะดูว่าเป็นภัยอันตรายที่คุกคามความอยู่รอดหรือไม่ มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเรามองเห็นสิ่งที่ผิดปกติเราก็จะรู้สึกได้ทันทีว่ามีอะไรเพี้ยนแน่เลย เพียงแต่ประสาทสัมผัสมันไม่ละเอียดว่าผิดพลาดตรงไหน ดังนั้นเมื่อปรับภาพด้วยเครื่องมือเสร็จ ผมก็จะดูภาพจริงๆ แล้วถ้ารู้สึกพบความผิดปกติหรือมีอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าภาพมันเพี้ยนไป ก็ต้องกลับไปใช้เครื่องมือช่วยเพื่อหาว่าสิ่งที่ผิดปกติ หรือความผิดพลาดนั้นเกิดจากอะไรอีกที

ในส่วนของโฮมเธียร์เตอร์ ระบบภาพต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นพิเศษ รายละเอียด ความเที่ยงตรงของสี คอนทราสต์ ความสว่าง ฯลฯ คุณหมอช่วยอธิบายหน่อยครับ
ที่ผมเรียนมาจากหลายๆ สถาบันการปรับภาพสิ่งสำคัญที่ทำให้ได้ภาพที่ดีมีมาตรฐานจะคล้ายๆ กัน โดยมีสี่อย่างหลักที่เรียงตามลำดับความสำคัญคือ

1.Dynamic Range หรือช่วงความกว้างและการไล่ของสีเทาจากขาวสุดถึงดำสุด ถ้าจอภาพมี High Dynamic Range และมีการไล่ Grayscale ที่ดีสังเกตบริเวณที่เป็นเงา จะทำให้เรารู้สึกถึงความลึกของภาพ เหมือนกับดูภาพสามมิติ

2. Color Saturation คือความอิ่มตัวของสี เช่น ถ้าให้เราเลือกระหว่างหนังที่มีรายละเอียดระดับ High Definition แต่ไม่มีสี กับหนังรายละเอียดระดับ Standard Definition แต่เป็นภาพสี แน่นอนว่าเราอยากดูภาพที่มีสีสันมากกว่า

3. Colorimetry ความถูกต้องของสี แน่นอนว่าเราคงไม่อยากดูภาพที่มีสีที่เพี้ยนไม่ถูกต้อง เราอยากดูภาพเดียวกับที่ Producer หรือ Broadcast เขาเห็นตอนเขาสร้างมันขึ้นมา

4. Resolution รายละเอียดของภาพ ซึ่งในปัจจุบันพัฒนากันไปเรื่อยๆ จนถึงระดับ 8K แล้ว เสียแต่ว่าหนังหรือรายการที่มีรายละเอียดสูงขนาดนี้ยังมีอยู่น้อย คงต้องรอให้พัฒนาเรื่องการเก็บข้อมูล การส่งข้อมูลขนาดใหญ่มีการพัฒนาต่อไปมากกว่านี้อีกหน่อย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทุกสถาบันจะให้ความสำคัญกับ Dynamic Range มากที่สุด ซึ่งก็คือความดำความขาว และการไล่ Grayscale ของภาพ ทั้งยังให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องของความเข้มของสี ความถูกต้องของสี ส่วนความละเอียดของภาพยังถือว่ามีความสำคัญน้อยกว่าสามอย่างข้างบน เราลองนึกถึงภาพที่มีความละเอียดมากขึ้น แต่มีช่วงห่างระหว่างสีดำขาวไม่มาก การไล่สีเทาทำได้ไม่สมดุล สีดูจางๆ ดูเพี้ยนๆ ยังไงภาพที่ได้ก็ยังไม่สู้ภาพที่ละเอียดน้อยกว่าแต่ให้ Dynamic Range สีดำขาวได้ดี มีสีสันที่เข้มและถูกต้อง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าความละเอียดไม่สำคัญเลย สำคัญอยู่ครับแต่น้อยกว่าอีกสองสามอย่างที่กล่าวมา ซึ่งในตอนนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่านอกจากจอทีวีจะโฆษณาว่าจอมีความละเอียดระดับ 4K แล้วบริษัทก็จะบอกว่าเป็นจอ HDR หรือ High Dynamic Range ด้วย เพราะเขารู้ว่าภาพที่มี High Dynamic Range ที่ดีกว่าจะให้ภาพที่ดีกว่านั่นเอง

ในการเซ็ทอัพระบบภาพของโฮมเธียร์เตอร์มีหลักการอย่างไร เซ็ทตามหลักการเสมอหรือไม่ หรือปรับตามความชอบของเจ้าของห้องด้วย
การปรับภาพแบบมาตรฐานนั้นจะมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอนคือเพื่อให้ภาพที่ออกมาเป็นไปตามความต้องการของผู้กำกับหรือ director ที่ต้องการสื่อออกมา เหมือนกับให้ผู้กำกับมานั่งดูแล้วบอกว่านี่แหละคือหนังของฉันที่อยากจะสื่อให้คนทั่วไปได้ดู ไม่ใช่นั่งดูแล้วและบอกว่า ทำไมภาพและเสียงมันเพี้ยนขนาดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการสื่อให้คนได้ดูได้ชมแต่อย่างไร ซึ่งมันก็คือปัญหาที่ George Lucas เจอหลังจากสร้างหนัง Star Wars ออกมาแล้วได้ไปนั่งดูที่โรงภาพยนตร์ทั่วไป เขาตกใจมากกับภาพและเสียงที่ได้รับในโรงภาพยนตร์เหล่านี้ เพราะทั้ง Acoustics และระบบเสียงของโรงเหล่านี้ทำให้ไม่ได้ยินเสียงที่ชัดเจนและถูกต้องตามความต้องการของเขา ภาพที่ได้ก็มีความบิดเบี้ยว มืดมัว(รู้สึกว่าโรงภาพยนตร์ที่ George Lucas ไปดูจะสว่างแค่ 8fl แทนที่จะเป็น 16fl ตามมาตรฐาน) เขาเลยได้คุยกับ Tomilson Holman ที่เป็น Audio Scientist เพื่อพัฒนาระบบภาพและเสียงในโรงภาพยนต์ให้แน่ใจว่าสามารถถ่ายทอดเสียงที่ผู้กำกับทำมาจาก studio ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่มีความเพี้ยน มันจึงเป็นที่มาของมาตรฐาน THX® อย่างที่บางคนอาจจะเคยได้ยิน สำหรับการปรับภาพในห้อง Home Theater ก็เช่นเดียวกัน ไม่สามารถใช้ความชอบส่วนตัวมาเป็นข้อแม้ได้ แต่ต้องเป็นการปรับเพื่อให้ภาพออกมาตรงตามต้นฉบับที่บันทึกมา ไม่สามารถใส่ความชอบส่วนตัว ความคิดส่วนตัวเข้าไปว่าภาพควรจะต้องมีสีตามธรรมชาติแบบนี้นะถึงจะถูกหรือถึงจะสวย ยกตัวอย่างง่ายๆ จากหนังเรื่อง Matrix ที่ผู้กำกับทำหนังออกมาเป็นโทนสีเขียวทั้งเรื่อง ซึ่งไม่ใช่โทนสีที่จะพบในชีวิตจริง ดังนั้นการปรับภาพที่ถูกต้องไม่ได้หมายถึงต้องปรับให้สีของหนังเรื่อง Matrix ออกมาเป็นโทนสีธรรมชาติแต่อย่างใด แต่เป็นการปรับภาพให้มีสีออกมาเขียวตามที่ผู้กำกับหรือตามที่ Director ต้องการ

ทราบมาว่าคุณหมอได้เคยลองใช้โปรเจคเตอร์ BenQ W11000H ภาพที่ได้เป็นอย่างไรครับ คุณหมอชอบอะไรในโปรเจคเตอร์รุ่นนี้
ภาพที่ออกมาจากโปรเจคเตอร์ BenQ W11000H ตัวนี้ยังคงจุดเด่นของชิป DMD ที่ใช้กำเนิดภาพคือสีสันที่ออกมามีความสดใส เป็นธรรมชาติ ไม่เข้มจนเกินไป ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึงแนวสีของภาพในโรงภาพยนตร์ดิจิตัลหรือโรงภาพยนตร์ IMAX ได้เลย เพราะในปัจจุบันโรงภาพยนตร์เหล่านี้ส่วนมากก็จะใช้ชิป DMD อยู่ ส่วนจุดเด่นที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือในเรื่องความคมชัด เพราะว่าชิป DMD ที่โดยพื้นฐานจะให้ความคมชัดของภาพดีอยู่แล้วเนื่องจากใช้หลักการการสะท้อนของกระจกขนาดเล็ก มาเจอกับเลนส์แก้วที่มีคุณภาพออกแบบสำหรับภาพ 4K โดยเฉพาะเข้าไปอีก ทำให้ภาพออกมามีความคมชัด รายละเอียดดีมาก ส่วนในเรื่องความสว่างไม่ต้องพูดถึง ชิป DMD ให้ภาพออกมามีความสว่างสดใสโดดเด่นอยู่แล้ว เท่าที่ผมทดสอบจากตาดูพบว่าถึงแม้โปรเจคเตอร์ให้ค่าความสว่างของภาพออกมาใกล้เคียงกัน แต่เวลาดูชิป DMD ก็จะให้ความรู้สึกว่าภาพมันสว่างสดใสกว่า รวมถึงให้ความเป็นธรรมชาติของสีได้ดี โดยเฉพาะสีของเนื้อของคนที่เป็นสีที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการปรับภาพ เนื่องจากในธรรมชาติมนุษย์เราจะให้ความสำคัญและจดจำสีเหล่านี้ได้ดีกว่าสีอื่นๆ โปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็สามารถไล่สีเนื้อคนได้ละเอียดและแม่นยำดูเป็นธรรมชาติได้ดี

เห็นว่าคุณหมอได้ลองใช้จอมอนิเตอร์ของ BenQ รุ่น SW271 มันไปเกี่ยวข้องกับงานเซ็ทอัพโฮมเธียร์เตอร์ตรงไหนครับ
ภาพและสีสันของจอนี้มีความถูกต้องเที่ยงตรง ผมจึงใช้จอภาพนี้เอาไว้เป็นตัวอ้างอิงความถูกต้องของภาพและความถูกต้องสีจากเครื่องโปรเจคเตอร์ หรือทีวีที่เซ็ทอัพ

การฝัง LUT ไว้ที่จอมีข้อดีอย่างไร และการทำ 3D LUT สำคัญอย่างไร
ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่าการปรับภาพแบบ 3D LUT คืออะไร การปรับภาพแบบ 3D LUT นี้ถือว่าเป็น Gold Standard สำหรับการคาลิเบทภาพใน Pro world เลยทีเดียว(ณ.ตอนนี้) จอภาพที่ใช้ในงาน Mastering mornitor ส่วนมากจะต้องมี LUT ฝังอยู่ในเครื่อง หรือใช้เครื่อง External LUT generation อยู่ เพราะนอกจากจะใช้ประโยชน์ในการคาลิเบทชั่นแล้วก็ยังใช้ในการเปลี่ยนโทนสีของภาพให้เป็นไปตามต้องการ เช่น การถ่ายทำมาเป็นฟิล์มภาพยนตร์ แต่ Colorists ต้องการเปลี่ยนโทนสีของภาพไม่ให้เป็นเหมือนฟิล์ม ต้องการโทนสีที่ต่างออกไปตามที่ต้องการ Colorists ก็สามารถใส่ LUT เข้าไปในภาพก่อน ให้โปรดิวเซอร์พิจารณาดูก่อนว่าดีไหม ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย อีกประโยชน์หนึ่งก็คือ Gamut Matching ที่เวลาถ่ายหนังต้นฉบับมา ไม่ว่าจะเป็นฟิล์ม เครื่องถ่าย Digital ที่มี color space อยู่ในระดับ DCI-P3 หรือกว้างกว่า (Rec.2020) แต่ต้องการนำมาลงใส่ในแผ่นหรือ content ที่มี color space ตํ่ากว่าเช่น Rec.709 ก็จะต้องใส่ LUT เข้าไปในภาพทำให้ภาพย่อ color space ลงมาให้พอดีกับที่ต้องการ โดยตำแหน่งสีต่างๆ ยังดีอยู่ไม่ผิดเพี้ยน ต่อมาการใช้ LUT ก็ได้เข้ามาสู่ในบ้านโดยวัตถุประสงค์หลักของการใช้ LUT ภายในบ้านก็เพื่อใช้ในขั้นตอนการคาลิเบทชั่นเพื่อให้จอภาพมีภาพที่ถูกต้อง ใกล้เคียงภาพจากต้นฉบับที่ Director หรือ Colorists เห็น ส่วนคำว่า LUT(ลัท)นั้น ย่อมาจากคำว่า Look Up Table เป็นการนำเอาข้อมูลสีของภาพแต่ละจุดมาแก้ไขให้ค่าสีที่ออกมาเปลี่ยนแปลงไปตามต้องการ โดยที่ข้อมูลรายละเอียดของสีภาพที่จุดต่างๆ ก็จะเก็บอยู่ในลักษณะเป็นแบบตารางหรือเป็นแบบเมตริกเพื่อความง่ายและรวดเร็วในการคำนวณของคอมพิวเตอร์ ดังนั้นจึงเรียกวิธีนี้ว่า Look Up Table พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ ถ้า R(result) เป็นผลลัพธ์ที่ต้องการ S(source) เป็นสิ่งที่เริ่มต้น L(LUT) จะเป็นการคำนวณผลต่างของ R และ S ดังนั้นก็จะพูดได้ว่า R=S+L โดย LUT จะมีอยู่สองแบบคือ 1D LUT ที่จะเป็นการ re-map ง่ายๆ อยู่ในมิติเดียวเช่นค่าความสว่าง ความมืดของแม่สีแดง เขียว นํ้าเงินแต่ละสี แต่ 3D LUT จะเป็นการ re-mapในลักษณะสามมิติคือนอกจากจะมีการคำนวณของ เฉพาะสีแต่ละสีเองแล้วก็จะมีการคำนวณความสัมพันธ์ของแม่สีแดง เขียว นํ้าเงินที่มีต่อกันเป็นแบบแนวแกนสามแกน ลักษณะเป็นลูกบาศก์ทำให้บางทีก็เรียกว่าเป็น 3D cube ซึ่ง 3D LUT แบบนี้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะมีความถูกต้องแม่นยำและละเอียดกว่าแบบ 1D LUT ดังนั้นก็อาจเรียก 3D LUT ว่าเป็นการปรับภาพแบบสามมิติเลยก็น่าจะได้ ส่วนการฝัง LUT ไว้ที่จอหรือบางทีเรียกว่า Hardware LUT นั้นทำให้ข้อมูลของ LUT อยู่ในชิปของจอภาพเลย ไม่ได้เป็น Software LUT ที่เวลาจะนำเอาจอภาพไปใช้งานแต่ละทีก็ต้องเปิดระบบปฏิบัติการแล้ว run โปรแกรม แต่แบบนี้คือเอาจอภาพไปต่ออุปกรณ์เครื่องเล่นแบบไหนไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่น Blu-ray, กล่อง Adroid, apple TV, เกมส์ ฯลฯ ก็สามารถใช้ LUT ที่ฝังอยู่ในจอภาพได้เลย ไม่จำเป็นต้องเปิดระบบปฏิบัติการเพื่อ run โปรแกรมก่อน

จุดเด่นของจอมอนิเตอร์ BenQ SW271 ที่คุณหมอชอบมีอะไรบ้างครับ
ที่ผมชอบที่สุดคือเรื่องความถูกต้องของสีภาพ เพราะเท่าที่ผมได้ลองดูภาพจาก content ต่างๆ เพื่อดูความถูกต้องของภาพและสีสัน ต้องบอกว่ามีความแม่นยำมาก สามารถใช้เป็นภาพอ้างอิงได้เลย เพราะบางทีดูภาพจากโปรเจคเตอร์ก็ไม่รู้ว่าใน post-production ภาพออกมาจะประมาณไหน ครั้นจะเอาจอ Sony BVM-X300 หรือ Dolby Pulsar ที่ใช้ใน Post Production Facility ราคาเป็นล้านมาเทียบก็คงไม่มีปัญญา แต่มี BenQ SW271 วางอยู่ที่โต๊ะทำงานนี่ดูได้เลย แถมคลิกเลือกง่ายๆ เลยว่าจะเอา Color Mode แบบไหน

จอมอนิเตอร์รุ่นนี้เมื่อใช้ในการดูภาพยนตร์เป็นอย่างไรครับ
จอมอนิเตอร์ตัวนี้ฝัง 3D LUT เข้าไว้ในเครื่องเพิ่มความมั่นใจในความถูกต้องแม่นยำของสี ผมว่าจอภาพ BenQ SW271 ตัวนี้นอกจากจะเหมาะสมกับช่างภาพ ช่างวิดีโอมืออาชีพแล้ว ก็ยังเหมาะสมอย่างยิ่งกับนักเล่น Home Theater ที่ซีเรียสเรื่องภาพและต้องการจอภาพที่เอาไว้เป็นตัวอ้างอิงความถูกต้องของสี หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปที่ต้องการให้จอคอมพิวเตอร์ที่ทำงานมีภาพคมชัด สีสวย ที่บางทีมีอารมณ์อยากจะดูหนังขึ้นมาตอนนั่งทำงานอยู่และอยากให้ภาพออกมาสวยถูกต้องตามที่ผู้กำกับต้องการ ก็สามารถดูภาพจากจอนี้ได้

คุณหมอชอบถ่ายภาพด้วยใช่มั๊ยครับ จอมอนิเตอร์ BenQ SW271 จะช่วยการทำงานของช่างภาพได้อย่างไรบ้างครับ
ใช่ครับ งานอดิเรกอีกอย่างของผมคือถ่ายรูป ความจริงชอบการถ่ายรูปมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ในปัจจุบันผมหาเวลาเพื่อที่ออกไปถ่ายภาพอย่างเดียวนั้นยาก ก็มีโอกาสได้ถ่ายภาพเมื่อเวลาไปเที่ยวกับครอบครัวบ้าง เจอวิวสวยๆ หรือมุมภาพสวยๆ ก็ถ่ายเก็บเอามาเป็นความทรงจำไว้บ้าง เอาไปลงในสื่อ Social Media อวดเพื่อนๆ บ้าง ซึ่งปัจจุบันภาพที่ผมถ่ายทั้งหมดผมก็จะถ่ายไว้ในไฟล์ Raw เพื่อใช้โปรแกรม Lightroom ช่วยในการจัดเก็บ หรือบางภาพที่อาจจะต้องการการแก้ไข หรือแต่งภาพก็จะไปทำใน Photoshop ซึ่งหลังจากใช้จอมอนิเตอร์ของ BenQ SW271 แล้วสิ่งหนึ่งที่ชอบมากคือจอสามารถแสดงความกว้างของเฉดสีในภาพถึง 99% Adobe RGB โดยเฉพาะในส่วนของโทนสีเขียวและสีฟ้าที่กว้างขึ้น ทำให้สีสันของภาพกลางแจ้งหรือภาพธรรมชาติมีความสมจริง นอกจากนั้นก็ยังให้สีถูกต้องกว่าจอภาพเดิมที่ผมเคยใช้อยู่มาก

ช่างภาพหลายท่านสงสัยว่ามีความจำเป็นมากแค่ไหนที่จะต้องซื้อจอมอนิเตอร์สำหรับแต่งภาพคุณภาพสูง มันคุ้มค่าที่จะจ่ายหรือไม่ในความเห็นของคุณหมอ
ในมุมมองของผมที่ไม่ได้เป็นช่างภาพมืออาชีพ ตอนแรกก็ไม่ได้ใส่ใจมากในเรื่องจอภาพที่เอามาแต่งภาพ ก็ใช้จอคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไปที่เขาใช้กัน แต่บางทีก็พบกับปัญหาภาพที่เคยดูจากจอที่ใช้งานอยู่พอส่งขึ้นไปใน Social Media หรือเปิดกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นทำไมสีออกมาไม่เหมือนกับที่เห็นในจอคอมพิวเตอร์ของเราเลย แต่พอได้ลองใช้จอมอนิเตอร์คุณภาพสูงที่ใช้แต่งภาพโดยเฉพาะ ปัญหานี่เรียกได้ว่าแทบจะหมดไปเลย ทั้งเวลาดูภาพถ่ายที่ช่างภาพเก่งๆ ถ่ายแล้วเอามาโชว์ในสื่อต่างๆ ก็ยังให้สีที่สวยกว่าจอภาพทั่วไปทำให้เราได้เสพงานศิลป์ที่เขาตั้งใจทำขึ้นมาได้เที่ยงตรงมากขึ้น ซึ่งสำหรับผมแล้วการที่ลงทุนกับจอคุณภาพสูงนี่ถือว่าคุ้มค่าเลยครับ

คุณหมอใช้ความรู้ที่ศึกษามาถ่ายทอดให้ผู้สนใจด้านนี้ที่ใดบ้างครับ
ตอนนี้ผมก็ทำหน้าที่เป็นคอลัมนิสต์ประจำให้กับนิตยสาร Audiophile/Videophile และก็มี Webpage ที่ทำร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง รวมถึง update ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเกี่ยวกับโฮมเธียเตอร์ ชื่อว่า Home Theater Pro Thailand ใครสนใจก็สามารถติดตามอ่านได้ นอกเหนือจากนี้ก็จะมีงานเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับภาพและเสียงของโฮมเธียเตอร์ บ้างเป็นบางครั้งบางคราว ใครที่เริ่มสนใจในเรื่องของโฮมเธียเตอร์ ก็แวะเข้าไปอ่าน พูดคุยตามช่องทางต่างๆ ที่แจ้งไว้ได้เลยนะครับ

รู้จักกับจอเแต่งภาพ BenQ SW Series เพิ่มเติมได้ที่ : http://bit.ly/2Lwz7ET


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/