ช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ
วิศรุต อังคทะวานิช อายุ 48 ปี เกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ เรียนจบ สาขาโฆษณา-ประชาสัมพันธ์ ที่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แต่งงานแล้ว มีบุตรี 1 คน
คุณชอบถ่ายภาพแนวใด
ปัจจุบันถ่ายภาพโฆษณาเป็นอาชีพหลัก ถ่าย photo stock เป็นอาชีพเสริม และ ถ่ายแนว fine art ด้วยครับ จริงๆ ก็ชอบถ่ายสัตว์ ถ่ายวิว ถ่าย still life ถ่ายภาพประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ชอบคือ การออกไปถ่ายภาพกลางแจ้งที่อากาศร้อน
ในการถ่ายภาพเป็นอาชีพของคุณเริ่มจากจุดไหน เป็นภาพประเภทใดครับ
ผมเริ่มถ่ายภาพจริงจังตั้งแต่ตอนเรียน ม.ต้น (ประมาณปี 1985) เพราะที่บ้านมีหนังสือถ่ายภาพ และคุณพ่อก็ถ่ายอยู่แล้ว ก็ค่อยๆ เรียนรู้จนสมัยเรียน ป.ตรี ก็รับ จ๊อบถ่ายรับปริญญา ถ่ายงานแต่งงานบ้าง แต่ถ่ายภาพเป็นอาชีพจริงๆ ตอนทำงานเป็น graphic designer แล้วออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ราวๆ ยี่สิบกว่าปีก่อน ยุคนั้นยังใช้ฟิล์ม ช่างภาพโฆษณาน้อยกว่าสมัยนี้มากและค่าตัวสูง ทำให้มีปัญหาเรื่องการหาช่างภาพมาก ก็เลยคิดว่า ลองถ่ายเองดู แต่ยุคนั้นอุปกรณ์สำหรับงานอาชีพกับสมัครเล่นมีเส้นแบ่งชัดเจนมาก ก็ต้องไปเรียนรู้การใช้กล้องฟิล์มใหญ่ เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดแสง การจัดการเซทติ้งของถ่าย ฯลฯ เหมือนเริ่มต้นใหม่อีกรอบ ซึ่งก็อาศัยอ่านจากตำราต่างประเทศ (สมัยนั้นยังไม่มี internet แพร่หลาย) พอถ่ายงานไปได้ราวๆ 10 ปี กระแสดิจิตอลก็เริ่มเข้ามา ก็ต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติมใหม่อีกรอบ
งานของช่างภาพโฆษณาในช่วงนั้นต้องทำอะไรแค่ไหน โปรแกรมตกแต่งภาพมาช่วยการทำงานมากหรือไม่
งานที่ทำก็เริ่มจากไปรับบรีฟจากลูกค้าว่าเค้าต้องการให้เราถ่ายอะไร เราก็ต้องไปคิดเพิ่มว่า จริงๆ ลูกค้าต้องการงานเพื่อไปทำอะไร จะถ่ายแบบไหนถึงเหมาะ จากนั้นก็เอาบอร์ดไปขายว่าจะถ่ายอะไรยังไง ต้องมีทีมงานอะไรบ้าง แล้วก็ถ่ายภาพ งานจะจบตรงนั้น เพราะยังไม่มีการทำ file ส่วนมากงานจะใช้ฟิล์มสไลด์ขนาด 120 เป็นหลัก จริงๆ ขั้นตอนที่เป็นหลักก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แค่ว่ายุคนี้มีเรื่องของเทคนิคดิจิตอลเข้ามา ก็ช่วยให้สะดวกขึ้น แต่ความต้องการของลูกค้าก็จะซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย อย่างสมัยก่อนเวลาถ่าย จะค่อนข้างมีเลย์เอาท์มาชัดเจน รู้สัดส่วนภาพที่จะนำไปใช้ค่อนข้างแน่นอนว่าลงสื่อขนาดแค่ไหน ซึ่งก็ไม่พ้น นสพ.หรือแมกกาซีน แต่ปัจจุบัน format ของสื่อเพิ่มขึ้นมาก อาจจะมีตั้งแต่สัดส่วนที่สูงมากไปจนถึงยาวมาก ลักษณะการเตรียมงานก่อนถ่ายก็จะต่างไป แล้วการถ่ายก็จะมีการเผื่ออะไรไว้เยอะขึ้น
เรื่องการทำรีทัช จริงๆ ยุคก่อนก็มีการรีทัช แต่เป็นงานที่ทำด้วยมือ อาจจะต้องพิมพ์ออกมาแล้วแต่งภาพในกระดาษ หรือแต่งที่ฟิล์ม แล้วเอามาถ่ายซ้อน ขั้นตอนจะซับซ้อนมาก แต่ก็ไม่ค่อยมีการทำในงานปกติเพราะราคาสูงมาก และคนที่ทำได้น้อยมาก ช่วงที่มีดิจิตอลเข้ามา แรกๆ ก็ยังไม่ได้ทำกันในวงกว้างๆ เพราะอุปกรณ์คอมฯ ช้ามาก ตัวซอฟท์แวร์ก็ยังมีความยากในการทำงาน เช่น ยุคแรกๆ photoshop ไม่มี layer และ undo ได้หนเดียว ถ้าไม่มีการ์ดจอพิเศษ แทบจะทำไฟล์ใหญ่ๆ ไม่ได้เลย สั่งคำสั่งนึง สามารถเดินไปทำอย่างอื่นได้ อีกสิบนาทีค่อยกลับมาดู และสื่อที่บันทึกก็ยังมีขนาดเล็กและราคาแพง จะต้องเอาฟิล์มไปดรัมสแกนเป็นไฟล์ แล้วมาแต่งในโปรแกรม ตอน output ยังต้องพิมพ์กลับมาเป็นฟิล์มสไลด์เพื่อเอาไปแยกสีอีกที เพราะตอนนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยว ไม่ใช่ทุกโรงพิมพ์จะรับงานจากดิจิตอลไฟล์ได้เลย อย่างพวก artwork งานกราฟิค ถึงจะออกแบบ ทำในคอมฯ แต่ก็ยังต้องพิมพ์ออกมาตัดแปะในกระดาษ ขั้นตอนการทำงานช่วงนั้นจะวุ่นวาย ไม่สะดวกเหมือนยุคนี้ที่เป็นดิจิตอลทั้งระบบ
หัวใจของการถ่ายภาพคอมเมอร์เชียลคืออะไร และภาพที่ดีในความเห็นของคุณเป็นอย่างไร
หัวใจของการถ่ายภาพคอมเมอร์เชียลคือการสื่อสาร ทุกอย่างที่อยู่ในภาพต้องมีเหตุผล มีความหมายในเชิงการตลาดที่ชัดเจน เพราะทุกภาพมันจะไปปรากฏอยู่ในสื่อทางการตลาด ช่างภาพโฆษณาที่เก่ง ต้องไม่ได้มองแค่เรื่องความสวยงาม แต่ต้องเข้าใจที่มาที่ไปของการมีอยู่ของสิ่งต่างๆ ในภาพด้วย เช่น จะถ่ายเครื่องดื่มนํ้าหวานโซดา ควรอยู่ในขวดหรือในแก้ว ฝาควรเปิดหรือปิด การวางเฟรมให้ภาชนะตรงหรือเอียง นํ้าแข็งควรเป็นแบบไหน มีหยดนํ้าแบบไหนเกาะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่มีถูกผิด แต่ขึ้นกับเหตุผลในการใช้ภาพ การถ่ายภาพแนวนี้ ตัวช่างภาพเองจำเป็นต้องเข้าใจภาษาภาพดีพอๆ กับความรู้ในทางการสื่อสารการตลาด ภาพแนวคอมเมอร์เชียลที่ดี คือ ตอบโจทย์ลูกค้า มีความน่าสนใจ มีความแปลกใหม่ในทาง visual
จริงๆ แล้ว ทุกอย่างที่ใส่ไปในภาพนั้น ทั้งสิ่งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ มีความหมายทั้งหมด ต้องสื่อสารได้ทั้งสิ่งที่เป็นเนื้อหา และสิ่งที่เป็นความรู้สึก อย่างเช่น ถ้าโจทย์คือถ่ายนํ้าหอมที่ทำจากดอกกล้วยไม้ สิ่งที่ใส่ไปในภาพที่จับต้องได้ก็คือ ขวดนํ้าหอม prop ที่เป็นดอกกล้วยไม้ แต่สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น space การทำให้ภาพมีความนิ่ง หรือมี dynamic ความรู้สึกหรูหรา การให้แสง การเลือกสี จังหวะการเซทของ สิ่งที่จับต้องไม่ได้พวกนี้ อาจจะมีอิทธิพลกับคนดูมากกว่าตัวสินค้าและ prop ด้วยซํ้าไป
คุณก้าวเข้ามาสู่การขายภาพออนไลน์ตั้งแต่เมื่อไรครับ และถ่ายภาพประเภทไหนส่งขาย
เริ่มถ่ายภาพออนไลน์ประมาณ 8 ปีก่อน ช่วงนั้น เป็นช่วงที่คนไทยพึ่งรู้จักการทำงานประเภทนี้ ผมรู้จักจากเพื่อนในเน็ทที่มาชวนทำสองสามคน ก็คิดว่าน่าสนใจดี เพราะเรามีภาพเยอะที่เก็บไว้เฉยๆ ใน HD ส่วนภาพที่เอาไปขาย ส่วนมากจะเป็นภาพที่ถ่ายตอนไปเที่ยว หรือภาพแนว background ต่างๆ
ภาพชุดปลากัดของคุณเป็นภาพที่คุณส่งขายทางออนไลน์ด้วยใช่หรือไม่ ช่วยเล่าเรื่องภาพชุดนี้หน่อยครับ
เป็นคนที่ชอบปลาตั้งแต่เด็กๆ มีวันนึงไปเดินตลาดเจเจแล้วเจอปลาทองสีขาวดำแพนด้า ที่ไม่เคยเห็น เป็นพวกที่เพาะพันธ์ุใหม่ไม่นานมานี้ ก็เลยซื้อมาเลี้ยง หลังจากนั้นก็ลองถ่ายภาพดู ก็เห็นว่าสวยดี ได้เห็นภาพที่ไม่เคยเห็นจากเน็ทหรือที่อื่นๆ เพราะสมัยนั้นคนยังไม่นิยมถ่ายปลากัน หลังจากนั้นก็ได้ไปเห็นปลากัดในงานประกวดปลา ก็ตื่นเต้นตกใจเหมือนกันเพราะไม่ได้ใกล้ชิดกับวงการปลามานาน พอได้เห็นสีใหม่ๆ รูปร่างใหม่ๆ ก็เลยซื้อมาเลี้ยง เอามาถ่ายภาพ ก็ส่งขายออนไลน์ด้วย แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ขายได้ดีอะไรมากเพราะมันใหม่มากๆ ภาพปลากัดใน shutterstock ตอนนั้นยังมีแค่หลักสิบภาพ แต่ก็ถ่ายต่อไปเพราะรู้สึกชอบ รู้สึกสนุก เอามาลงเฟสบุคให้เพื่อนดูบ้าง แต่ก็ไม่ได้ feedback อะไรนัก เพราะคนไทยเราก็จะกด like กันหมด บางทีภาพไม่ได้สวยแต่ก็กดทักทายกันไปตามประสา วันนึงก็เลยคิดว่า ลองเอาไปไว้ใน 500px.com น่าจะได้ feedback บ้างว่างานเราเป็นยังไง เพราะที่นั่นไม่รู้จักใคร ถ้างานดีไม่ดี คนคงไม่ได้มาชมเล่นๆ สักพักใหญ่ๆ ก็มี blog ที่รวมงานศิลป์เอามาลง อย่าง www.thisiscollossal.com แล้วหลังจากนั้น blog ต่างๆ ก็เอาไปลง เว็บข่าวต่างประเทศ อย่าง abc, dalimail, yahoo, wired ฯลฯ ก็ทยอยลงข่าว ได้ลงในเว็บถ่ายภาพอย่าง dpreview, Petapixel จนหลังๆ ก็กลายเป็น viral ใน internet ลงกันจนนับไม่ไหว มีทั้งภาษา อังกฤษ อิตาลี เยอรมัน รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน อาราบิค ฯลฯ จนกลายเป็น visual ที่รู้จักไปทั่วโลก สุดท้ายค่อยมาเป็นที่รู้จักในไทย
เทคนิคในการถ่ายภาพปลากัดของคุณ มีเรื่องใดต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษบ้าง
เทคนิคจริงๆ แล้วไม่ได้ยาก หรือซับซ้อน สิ่งที่ให้ความสำคัญมากๆ คือ idea ในการคิดภาพว่าเราอยากได้ภาพอะไร จริงๆ ก็เหมือนการถ่ายภาพประเภทอื่นๆ ถ้าเราให้ความสำคัญกับ idea มากพอ เทคนิคพื้นๆ ก็สร้างอะไรให้คนตื่นตะลึงได้แล้ว ผมคิดว่า การถ่ายภาพมันคือการสื่อสาร เหมือนเรากำลังเขียนหนังสือ ถ้าเรื่องที่เขียนน่าสนใจ ใช้ฟอนท์ปกติๆ จัดเลย์เอาท์เรียบๆ คนก็ยังไปหาอ่านกันอยู่ดี แต่ถ้าเราเขียนเรื่องที่มันน่าเบื่อมาก จะจัดเลย์เอาท์สวยๆ ฟอนท์สวยๆ พิมพ์สี่สี คนอ่านก็ไม่ได้อยากอ่านมันมาก
ดังนั้นผมจะให้ความสำคัญกับภาพในหัว เราสนใจอะไร เราอยากได้อะไร ถ้ามันชัด มันจะกำหนดสิ่งที่ตามมาต่อๆ ไปได้ อย่างถ่ายปลา ตอนแรกๆ ที่เห็นคือเห็นปลาว่ายนํ้า ความรู้สึกเราสำหรับปลาคือ การเคลื่อนไหว ดังนั้นเราก็จะถ่ายให้มันมีการเคลื่อนไหว ค่อยไปดูเรื่องเทคนิคว่า จะจับภาพตอนเคลื่อนไหวยังไง จะจัดการกับแสงสะท้อนยังไง ไม่ใช่เอาเทคนิคมาก่อน หลังจากนั้นถ่ายไปหลายๆ ปี ภาพในหัวเริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากการถ่ายปลา เป็นเราอยากถ่ายให้ปลาเป็น subject อื่นๆ กลายเป็นภาพที่เป็นแนวนามธรรม เทคนิคก็เหมือนเดิมทุกอย่าง แค่ภาพในหัวเปลี่ยน จังหวะที่ถ่ายก็เปลี่ยน ภาพที่ออกมาก็เปลี่ยน อย่าไปให้ความสำคัญกับเทคนิคจนมันกินไอเดียไปหมด สำหรับผม สิ่งที่เป็นการถ่ายภาพเป็นเพียงแค่การสั่ง print จากความคิด ถ้าเราคิดดีแล้ว การถ่ายภาพที่เหลือไม่ได้มีอะไรยาก สิ่งที่ยากสุดคือตอนคิด
คุณหาไอเดียในการถ่ายภาพใหม่ๆ จากที่ใด
อ่านหนังสือ ดูหนัง ทานอาหาร ฟังเพลง เดินเล่น ไปเที่ยว โดยเฉพาะการไปเที่ยว เวลาเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยไป จะกระตุ้นให้เราคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่านั่งคิดงานบนโต๊ะ
แนวคิดในการทำงานของคุณคืออะไร
ทุกงานที่ทำ คือ portfoilo ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด การวางแผนการถ่ายล่วงหน้า เป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องทำทุกครั้ง ถ้าอะไรไม่มั่นใจ ต้อง test ให้ได้ก่อน การทำงานอาชีพ ไม่ควรมีปัญหาเฉพาะหน้า เพราะบางอย่างถ้าเกิด มันจะแก้ไม่ได้ หรือแก้ได้ ก็ไม่ดี ทุกอย่างที่จะทำในวันถ่าย ต้องผ่านการทำมาแล้วก่อนให้มั่นใจ อย่างถ้าสตูฯที่ไม่เคยใช้ จะต้องไปดูขนาด ดูการสะท้อนแสงก่อนทุกครั้ง
คุณรุตทำไฟล์ด้วยตนเองใช่หรือไม่ คุณตกแต่งภาพ แก้ไขภาพมากน้อยเพียงใดกับงานของคุณ
แล้วแต่ทางลูกค้าบรีฟ ถ้าเค้ามีทีมทำไฟล์อยู่ เค้าก็ให้เราถ่ายอย่างเดียว แต่ถ้าไม่มีก็ทำงานรีทัชด้วยครับ ส่วนการแก้ไขมากน้อยขึ้นกับงาน สิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องรู้ก่อนถ่ายว่าจะแก้ไขอะไร บางอย่างต้องถ่ายเผื่อตั้งแต่แรก เช่น ถ้ารู้ว่าเอาไปใช้งานกับสื่อหลายสัดส่วน คนต้องถ่ายแยกกับฉาก ต้องถ่ายเก็บฉากเปล่าๆ ไว้ด้วย เพราะเวลาเอาไปวางจะได้ขยับตำแหน่งคนได้ ถ้าเรื่องพวกนี้ถ่ายเผื่อไว้ ทำงานก็ง่าย ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่วางแผน ถ่ายไปก่อนแล้วค่อยมารีทัช จะมีปัญหาตามมาได้เยอะมาก
ในการทำไฟล์ภาพจอมอนิเตอร์ที่ใช้แต่งภาพมีความสำคัญเพียงใดต่องาน
สำคัญมาก เพราะงานอาชีพ ความเที่ยงตรงแม่นยำของสีสำคัญมากครับ ถ้าจอแสดงสีได้น้อย หรือเพี้ยน เวลาเอางานไปพิมพ์มันก็เพี้ยน อย่างถ้าจอแสดงสีน้อย เวลาทำงานที่มีการไล่สีที่ต่างกันไม่มาก โอกาสเกิดแถบสี banding จากการปรับสีไปมาๆ ก็มีสูง จอที่ใช้จำเป็นต้องแสดงสี Adobe RGB ได้ เพราะงานอาชีพ จะทำที่ 16 bits เก็บไว้ก่อน แล้วค่อยแปลงไปเป็นประเภทอื่นๆ ภายหลัง
ทราบมาว่าคุณใช้จอมอนิเตอร์แต่งภาพ BenQ SW271 ในการทำงานด้วย ใช้งานแล้วเป็นอย่างไรครับ
BenQ SW271 สามารถแสดงสีได้ละเอียดเพียงพอกับการทำงาน โดยเฉพาะโหมด Adobe RGB ซึ่งจะให้ขอบเขตสีที่กว้างกว่า SRGB
คุณชอบจอมอนิเตอร์แต่งภาพ BenQ SW271 ในเรื่องใดบ้างครับ
อย่างแรกคือ จอสามารถหมุนเป็นแนวตั้งได้ด้วย เวลาทำงานที่เป็นแนวตั้ง เราสามารถเห็นภาพรวมๆ ขนาดใหญ่ได้ ผิวจอที่ด้านจะสะท้อนแสงน้อยมาก สบายตาเวลาทำงาน การแสดงสีระบบ Adobe RGB 99% แสดงได้ครบ สามารถเห็นสีที่ต่างกันเล็กน้อยได้ (ถ้าจอที่สเปคตํ่า บางทีแยกสีดำกับเทาเข้มไม่ออก หรือขาวกับเทาอ่อนไม่ได้ เวลาพิมพ์งานแล้วถึงเห็น ก็ทำให้เสียเงินเสียเวลา) นอกนั้นยังมีโหมดการแสดงสีหลากหลายแบบ เช่น sRGB, เช่น sRGB, AdobeRGB, B&W ที่ช่วยให้สะดวกยิ่งขึ้นในการทำงาน
ช่วยให้คำแนะนำสำหรับช่างภาพที่สนใจจะถ่ายภาพเพื่อขายทางออนไลน์หน่อยครับ
การขายภาพออนไลน์ เป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจสำหรับยุคนี้ เราสามารถเอาภาพที่เก็บไว้ใน HD มาเปลี่ยนเป็นเงินได้ แต่จะประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องมีความอดทนสูง มีระเบียบวินัยในตัวเองสูง และมีความดิดสร้างสรรค์สูง เพราะสมัยนี้คนเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น มืออาชีพก็เยอะมากจากทั่วโลก ถ้าจะทำงานนี้จริงๆ จังๆ ก็ต้องฝึกฝนตัวเองให้พร้อมกับการแข่งขันได้
ติดตามผลงานคุณวิศรุตได้ที่ไหนบ้างครับ
www.500px.com/bluehand / IG : rute.angkata
FB : www.facebook.com/visarute.angkatavanich
รู้จักกับจอเแต่งภาพ BenQ SW Series เพิ่มเติมได้ที่
BenQ Website : http://bit.ly/2LtH3a3
BenQ Official Store : https://s.tenmax.io/1jAlX
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
ขอบคุณครับ
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่