Basic

Macro Gears

การถ่ายภาพโคลสอัพที่เรามักเรียกกันว่า ภาพมาโครนั้น มักจะต้องใช้เลนส์หรืออุปกรณ์เสริมที่ออกแบบมาสำหรับเพิ่มัตราขยายให้ภาพมากกว่าที่เลนส์ทั่วๆ ไปทำได้ เพื่อให้สมารถถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดเล็กมากๆ อย่างเช่น แมลง ผึ้ง ผีเสื้อ ดอกไม้ หรือวัตถุขนาดเล็ก ให้ได้ขนาดวัตถุบนภาพใหญ่พอที่จะเห็นรายละเอียด เห็นสีและมีองค์ประกอบภาพที่ลงตัวสวยงาม มีอุปกรณ์ที่จะช่วยให้คุณถ่ายภาพในระยะใกล้มากมายหลายรูปแบบ ไล่เรียงจากตัวที่ให้คุณภาพสูงสุดใช้งานสะดวก คล่องตัวที่สุดไปตามลำดับนะครับ

เลนส์มาโคร

คือเลนส์ที่ออกแบบเพื่อให้สามารถปรับโฟกัสได้ใกล้กว่าเลนส์ทั่วๆ ไปที่มีทางยาวโฟกัสเดียวกัน การปรับโฟกัสได้ใกล้ จะได้อัตราขยายสูงขึ้น การออกแบเลนส์มาโครไม่ใช่แค่ยืดชุดเลนส์ออกมาให้ห่างจากเซ็นเซอร์ภาพ แต่ผู้ผลิตจะต้องออกแบบระบบออฟติคให้ได้คุณภาพสูง แม้จะถ่ายใกล้ เพราะหากยืดชุดเลนส์ออกโดยไม่ชดเชยความคลาด ความคมชัดจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะโฟกัสที่ใกล้ขึ้น

ชิ้นเลนส์ลอยตัว (Floating Element) คือระบบที่เลนส์มาโครแทบทุกรุ่นในปัจจุบันใช้ในการออกแบบโดยขยับชุดเลนส์แต่ละชุด ด้วยระยะทางที่แตกต่างกัน หากขยับชุดเลนส์ 2 ชุด ด้วยระยะต่างกันก็จะเรียก Floating Element หากขยับ 3 ชุด ด้วยระยะต่างกันก็จะเรียกว่า Double Floating Element หากขยับ 4 ชุด ก็จะเรียกว่า Triple Floating Element (หาได้ยากมาก) ระบบนี้จะทำให้ความคมชัดของภาพสูง ไม่ว่าจะถ่ายไกลหรือใกล้ ความคมชัดจะไม่ลดลง

เลนส์มาโครผลิตออกมาหลายช่วงทางยาวโฟกัส หากเทียบกับกล้อง 35 มม. แล้ว จะมีทางยาวโฟกัสหลักๆ อยู่ 3 ช่วงด้วยกัน คือ เลนส์มาโครช่วงเลนส์มาตรฐาน จะมีทางยาวโฟกัสระหว่าง 50-60 มม. เลนส์มาโครช่วงเทเลโฟโต้ระยะสั้น มีทางยาวโฟกัสช่วง 70-105 มม. และเลนส์มาโครช่วงเทเลโฟโต้ระยะกลาง จะมีทางยาวโฟกัสช่วง 150-200มม. เลนส์มาโครช่วง 50-60มม. ออกแบบมาเพื่อใช้งานอเนกประสงค์ ใช้แทนเลนส์นอร์มอลได้ โดยมากจะมีความไวแสง f/2.8 (ปัจจุบันหลายยี่ห้อทำได้ถึง f/2) จึงใช้งานทั่วไปได้ และใช้ถ่ายภาพโคลสอัพกับซับเจกต์ที่อยู่นิ่งๆ ได้ดี เช่น การถ่ายภาพสินค้าชิ้นเล็กๆ การถ่ายภาพดอกไม้ ขนม เครื่องประดับ อาหาร แต่ไม่เหมาะกับการถ่ายภาพสัตว์และแมลงตัวเล็กๆ เพราะที่อัตราขยายสูงๆ หน้าเลนส์จะห่างจากซับเจกต์เพียง 3-5 ซม. เท่านั้น สัตว์และแมลงต่างๆ มักจะตกใจและหนีไปก่อนที่จะถ่ายภาพได้ทัน เลนส์มาโครช่วง 70-105มม. ออกแบบมาให้ใช้งานได้หลากหลาย ใช้ถ่ายภาพบุคคลได้ดีมาก เพราะให้ความคมชัดสูง ดิสทอร์ชั่นน้อย และมีความไวแสงสูงพอควร (f/2.8) จึงใช้งานได้คล่องตัว เบลอฉากหลังได้ดี กับการถ่ายโคลสอัพใช้ได้ดีทั้งการถ่ายวัตถุเล็กๆ ที่อยู่นิ่งๆ และการถ่ายสัตว์เล็กๆ แมลง ผีเสื้อ เนื่องจากหน้าเลนส์ห่างจากซับเจกต์มากกว่าเลนส์ 50 มม. เกือบเท่าตัว ส่วนเลนส์มาโครช่วง 150-200มม. จะเป็นเลนส์ที่มีขนาดใหญ่หนักและราคาสูง เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแมลง สัตว์เล็กๆ ที่มีอันตรายหรือตื่นตกใจง่าย สามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพบุคคลได้ แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ผู้ที่จะใช้เลนส์ช่วงนี้จึงควรเป็นผู้ที่เน้นการถ่ายภาพสัตว์เล็กๆ และ แมลง อย่างแท้จริง เลนส์มาโครจะให้ความคมชัดดีที่สุด เมื่อถ่ายภาพโคลสอัพ ดังนั้นหากเน้นคุณภาพของการถ่ายใกล้ ควรพิจารณามาโครเป็นอันดับแรก และเลนส์มาโครอีกประเภท คือ เลนส์มาโครให้อัตราขยายสูงมาก เช่น 1X-5X เป็นเลนส์มาโครที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายมาโคร เท่านั้น ไม่สามารถใช้งานที่ช่วงปกติได้ เช่น Canon MP-E 65mm f/2.8 1-5X Macro หรือ Laowa 25mm f/2.8 Ultra Macro 2.5-5X เป็นต้น เลนส์รูปแบบนี้ใช้งานยากครับ ต้องเป็นผู้ที่รักการถ่ายภาพมาโครอย่างมากจึงจะน่าใช้

ท่อยืดระยะ (Extension Tube)

เป็นท่อโลหะกลวงๆ ใช้งานโดยต่อเข้ากับท้ายเลนส์ แล้วจึงนำไปสวมเข้ากับบอดี้กล้อง ทำงานโดยยืดระยะห่างระหว่างชิ้นเลนส์กับเซ็นเซอร์ภาพให้มากขึ้น จึงได้อัตราขยายมากขึ้น (ตามความหนาของท่อยืดระยะ) โดยจะทำออกมาด้วยความหนาหลายระดับ เช่น 12 มม. , 24 มม. และ 36 มม. ข้อดีคือราคาไม่สูง ประมาณ 1000-3000 บาทต่อชิ้น ใช้กับเลนส์ได้หลายช่วง ใช้กับเลนส์เทเลโฟโต้อัตราขยายจะลดลงส่วนการใช้กับเลนส์ช่วงมุมกว้าง หน้าเลนส์อาจชิดกับวัตถุจนโฟกัสไม่ได้ หรือบังแสงจนถ่ายภาพไม่ได้ ส่วนข้อเสีย คือ ความคมชัดลดลงแน่นอนจากเลนส์หลักที่นำมาใช้ร่วม และไม่สามารถโฟกัสที่อินฟินิตี้ หรือช่วงใช้งานปกติได้ ต้องใช้ถ่ายใกล้อย่างเดียว เปลี่ยนอัตราขยายได้ค่อนข้างน้อย

แหวนกลับเลนส์ (Reverse Ring)

ออกแบบมาเพื่อใช้ร่วมกับเลนส์ช่วงมุมกว้างจนถึงเลนส์นอร์มอล โดยกลับหน้าเลนส์เข้ายึดกับแหวน หันท้ายเลนส์เข้าหาวัตถุที่ถ่าย ประกอบกับเลนส์เสร็จก็สวมเข้ากับบอดี้ได้เลย ข้อดีคือจะได้อัตราขยายสูงมาก โดยลงทุนน้อยมาก และยังให้คุณภาพดี แต่ข้อเสียคือ ต้องใช้ร่วมกับเลนส์มือหมุนที่ปรับรูรับแสงที่เลนส์ได้ จึงจะสามารถเลือกขนาดรูรับแสงได้ (Novoflex เคยผลิตแหวนกลับเลนส์ที่รองรับการกลับเลนส์ EF เพื่อใช้กับกล้อง EOS ได้ทุกระบบ) และการใช้งานค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะการหาโฟกัส

ฟิลเตอร์โคลสอัพ (Close up Filter)

ฟิลเตอร์โคลสอัพ เคยเป็นอุปกรณ์ยอดนิยมในอดีต เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาถูกที่สุด ใช้กับเลนส์ได้หลายขนาด เพียงแต่ต้องใช้ขนาดฟิลเตอร์เท่ากัน ข้อดีของฟิลเตอร์โคลสอัพ คือ ราคาถูกแต่คุณภาพตํ่าเพราะใช้ชิ้นเลนส์เพียงชิ้นเดียว ปัจจุบันจึงไม่ได้รับความนิยม แต่ยังมีฟิลเตอร์โคลสอัพคุณภาพดีที่ใช้ชิ้นเลนส์ 2 ชิ้น เช่น Nikon 4T , 5Tและ 6T Canon 250D (สำหรับเลนส์ช่วง 35 มม. ถึง 135 มม. ) และ 500D (สำหรับเลนส์ช่วง 70 มม. ถึง 300 มม.) ฟิลเตอร์แบบนี้จะใช้ชิ้นเลนส์ 2 ชิ้น ให้คุณภาพสูงกว่าชัดเจน (แต่ก็ยังห่างจากเลนส์มาโคร) นอกจากนั้นยังมี Close up Lens ที่ใช้ชิ้นเลนส์ 3-5 ชิ้น เช่น Raynox DCR 250 ออกแบบให้ได้ อัตราขยายสูงมาก โดยคลิปตัวอแดปเตอร์ที่ยึดชุดเลนส์เข้ากับเกลียวของฟิลเตอร์ ข้อดีคือใช้ กับเลนส์ที่มีขนาดฟิลเตอร์แตกต่างกันได้ ให้อัตราขยายสูง คุณภาพพอใช้ได้ ใช้งานง่าย ส่วนข้อเสียคือ คุณภาพยังเทียบเลนส์มาโครไม่ได้ เปลี่ยนอัตรขยายได้น้อย

เบลโลว์ (Bellow)

เป็นอุปกรณ์ยืดระยะห่างระหว่างเลนส์กับเซ็นเซอร์ภาพให้ได้มากกว่าท่อยืดระยะ ทำได้โดยจะมี ราง และตัวเบลโลว์เพื่อปรับเลื่อนระยะ ข้อเสียคือ ใช้ยากมาก โฟกัสยากมาก มีเพียง Novoflex รุ่นใหม่ที่ออกแบบมาสำหรับกล้องมิเรอร์เลสของ SONY และ Fujifilm เท่านั้น ที่เชื่อมระบบไฟฟ้าของเลนส์กับกล้องได้

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic