กล้อง DSLR ส่วนใหญ่ล้วนแต่ให้ทางเลือกมากมายแก่นักถ่ายภาพเพื่อปรับตั้งภาพแบบ JPEG เพียงแต่ว่านักถ่ายภาพบางส่วนอาจไม่รู้ถึงสิ่งนี้ หรืออาจไม่เข้าใจการปรับตั้งเหล่านี้อย่างแท้จริงเพื่อให้ภาพ JPEG ออกมาดีที่สุดตามที่ต้องการ
เป็นความจริงที่ว่าการได้ภาพคุณภาพดีที่สุดจะต้องเริ่มด้วยถ่ายภาพแบบ RAW แล้วมีการปรับภาพอย่างละเอียดภายหลังการถ่ายภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้วนักถ่ายภาพอาจพบว่าหลายครั้งที่ไม่มีเวลามานั่งปรับภาพหลังการถ่ายได้ โดยเฉพาะกับภาพจำนวนมากสำหรับการถ่ายภาพบางอย่าง หรือหากคิดว่าจะแชร์ภาพที่ถ่ายทันทีผ่าน WiFi ในตัวกล้องการปรับไฟล์ภาพแบบ RAW อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี การปรับตั้งกล้องเพื่อให้ได้ภาพ JPEG อย่างที่ต้องการเป็นทางเลือกหนึ่งของนักถ่ายภาพ
โชคดีที่กล้องส่วนใหญ่ให้ภาพ JPEG ที่ดี และกล้องรุ่นใหม่ๆ ก็มักจะเปิดโอกาสให้นักถ่ายภาพคควบคุมเพื่อให้ภาพออกมาอย่างที่ต้องการได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากหลายโหมดสีและการปรับรายละเอียดของภาพ ขณะที่กล้องหลายรุ่นยังเพิ่มทางเลือกในการปรับสร้างสรรค์ภาพมาให้ใช้ เช่น เกรนฟิล์มหรือ Toy Camera
ดังนั้นด้วยการปรับตั้งที่เหมาะสมนักถ่ายภาพจะพบว่าสามารถทำให้เกิดภาพ JPEG ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างดีสำหรับหลายๆ สถานการณ์ แต่ก็ยังเป็นความคิดที่ดีกว่าหากจะบันทึกภาพแบบ RAW ควบคู่ไปกับ JPEG เผื่อในกรณีที่กล้องไม่สามารถให้ภาพที่พอใจได้ในบางครั้งก็ตาม ซึ่งกล้อง DSLR หลายรุ่นในปัจจุบันล้วนแต่สามารถปรับภาพ RAW ได้ในตัวกล้องจึงทำให้สามารถแก้ไขภาพในตัวกล้องได้ทันที
สิ่งสำคัญในการถ่ายภาพ JPEG คือทำให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่ม ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงต้องระมัดระวังทั้งในการปรับตั้งค่าบันทึกภาพและไวต์บาลานช์ รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงไฮไลต์ที่สว่างมากจนขาดรายละเอียดและการอมสีในภาพ
ทางเลือกในการปรับตั้ง JPEG
พื้นฐานสำคัญในการปรับตั้งไฟล์ JPEG คือโหมดสีซึ่งแต่ละผู้ผลิตเรียกแตกต่างกัน โดยนอกจากโหมดสีที่เป็นค่า Default ปรับตั้งมาให้จากผู้ผลิตที่ให้ผลลัพธ์น่าพอใจสำหรับสถานการณ์ส่วนใหญ่แล้ว นักถ่ายภาพจะพบว่ามีทางเลือกอื่นที่ให้สีตื่นตากว่า และอิ่มกว่าให้เลือกใช้ ซึ่งอาจเหมาะกับวัตถุประสงค์ถ่ายภาพบางอย่างเช่นทิวทัศน์ รวมทั้งยังมีโหมดสีที่มีความสดและความอิ่มของสีลดลงซึ่งเหมาะกว่าสำหรับการถ่ายภาพบุคคล
อย่างไรก็ตามในการเลือกโหมดสีอาจขึ้นอยู่กับความชอบหรือรสนิยมของนักถ่ายภาพแต่ละคน ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรลองใช้โหมดสีต่างๆ ที่มีมาให้ในกล้องถ่ายภาพเพื่อหาโหมดสีที่ชอบ โดยอย่ายึดติดว่าสีในภาพจะต้องเที่ยงตรงกับวัตถุจริงๆ ไม่ผิดเพี้ยน เพราะวัตถุประสงค์ในการเลือกโหมดสีคือเพื่อให้ได้ภาพอย่างที่ต้องการ
กล้องถ่ายภาพส่วนใหญ่จะสามารถเลือกโหมดสีเพื่อถ่ายภาพขาว-ดำซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถใช้สร้างสรรค์ภาพได้ เพราะนักถ่ายภาพยังสามารถปรับเพื่อให้ได้ผลในภาพเหมือนกับใช้ฟิลเตอร์สีในฟิล์มขาว-ดำเช่นท้องฟ้าสีเข้มขึ้นจากการใช้ฟิลเตอร์สีแดงได้ รวมทั้งกล้องบางรุ่นยังสามารถปรับเลือกโทนสีของภาพจากขาว-ดำปกติเป็นซีเปียหรือโทนสีฟ้าได้
นอกจากนี้ผู้ผลิตกล้องทุกรายยังใส่การควบคุมเพื่อเพิ่มไดนามิกเรนจ์มาให้ในกล้องด้วย เพื่อให้นักถ่ายภาพสามารถจัดการกับสถานการณ์ภาพที่มีคอนทราสต์สูงซึ่งหากถ่ายภาพให้วัตถุหลักได้รับแสงถูกต้องก็อาจทำให้บางส่วนของภาพที่เป็นไฮไลต์สว่างมาก โดยโหมดที่สามารถช่วยขยายไดนามิกเรนจ์ของภาพในกล้อง เช่น Highlight Tone Priority ของ Canon จะช่วยเพิ่มรายละเอียดในส่วนไฮไลต์ของที่สว่าง 1-2 สตอปได้โดยการลดโทนที่สว่างที่สุดในภาพ ขณะที่การปรับตั้งเพื่อเพิ่มรายละเอียดในส่วนเงาอย่าง Active D-Lighting ของ Nikon จะทำงานแตกต่างกันเพราะกล้องจะบันทึกภาพเพื่อปกป้องรายละเอียดในส่วนไฮไลต์พร้อมกับจัดการพื้นที่ในภาพที่เป็นโทนกลางและเงาเพื่อให้ภาพโดยรวมดูเป็นธรรมชาติ
ต่อไปนี้จะเป็นคำแนะนำการปรับตั้งภาพ JPEG ในกล้อง DSLR และ SLT จากผู้ผลิตต่างๆ พร้อมการอธิบายถึงสิ่งที่การปรับตั้งนั้นทำในภาพเพื่อช่วยให้สามารถปรับตั้งให้ภาพ JPEG ออกมาตรงตามต้องการที่สุด
กล้องของ Canon โดยทั่วไปจะให้ภาพ JPEG ที่ดูดีด้วยสีที่เข้มและการทำงานไวต์บาลานช์อัตโนมัติรวมทั้งค่าบันทึกภาพที่ดี ในกล้องมีโหมดสีที่บางโหมดสามารถทำให้นำภาพไปใช้ได้โดยตรง และเพื่อการปรับภาพภายหลังด้วย นอกจากนี้ในกล้องรุ่นใหม่ๆ ยังมีการปรับควบคุมความคมชัดหรือ Sharpening ได้มากขึ้นเพื่อช่วยให้รายละเอียดที่มีคอนทราสต์ตํ่าดีขึ้น
Picture Styles
หัวใจหลักในการปรับสีของ Canon เรียกว่า Picture Style ซึ่งจะมีให้เลือกใช้หลากหลายเพื่อให้ภาพที่แตกต่างกันทั้งด้านสีและการประมวลผลอื่นๆ ของภาพ โดยโหมดสี Standard, Landscape, Portrait และ Monochrome เป็นโหมดสีที่ถูกออกแบบมาให้ผลลัพธ์ที่สามารถนำภาพไปใช้ได้ทันที ขณะที่โหมด Neutral และ Faithful จะลดสีสันลงรวมทั้งระดับความคมชัดด้วย เพื่อให้นักถ่ายภาพนำไปปรับแต่งภาพภายหลังถ่ายภาพก่อนนำไปใช้ โดย Picture Style ทั้งหมดสามารถปรับตั้งค่าอย่างละเอียดได้ทั้ง Sharpness, Contrast, Saturation และ Colour tone โดยเมื่อผู้ใช้ปรับตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงค่าต่างๆ ใน Picture Style จะสามารถบันทึกไว้ในกล้องได้ นอกจากนี้ยังมี Picture Style อื่นๆ นอกจากที่มีให้ในกล้องให้เลือกดาวน์โหลดจากเวบไซต์ Canon แล้วอัพโหลดไว้ในกล้องเพื่อเลือกใช้ได้ เช่น Studio Portrait หรือ Autumn Hue นักถ่ายภาพสามารถกำหนด Picture Style ภาพของตนเองด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ Picture Style Editor ของ Canon ที่มาพร้อมกับกล้อง เพื่อกำหนดสีของภาพที่ออกจากกล้องได้ตามที่ต้องการ รวมทั้งหากใช้กล้อง EOS รุ่นแตกต่างกันยังสามารถโหลด Picture Style ที่ปรับตั้งเองนี้ไปใส่ในกล้องแต่ละตัวได้ด้วย
รายละเอียดในภาพ
หลังจาก EOS 5D Mk III ที่เปิดตัวปี 2012 ภาพ JPEG ที่ออกมาจากกล้อง Canon มีลักษณะที่ถูก Process มากกว่ารุ่นก่อนหน้าด้วยการลดสัญญาณรบกวนที่มากเกินไปจนส่งผลให้รายละเอียดในส่วนเงาไม่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับความคมชัดมากจนเกิด Halo หรือแสงที่สว่างบริเวณขอบวัตถุที่มีคอนทราสต์สูง ซึ่งโชคไม่ดีที่เป็นไปไม่ได้ในการจัดการสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดระดับการทำงานลดสัญญาณรบกวนหรือความคมชัดของภาพก็ตาม อย่างไรก็ตามในกล้องรุ่นใหม่ๆ อย่าง EOS 5DS /5DS R เป็นต้นมา Canon ได้เพิ่มรายละเอียดในการปรับภาพมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงเรื่องความคมชัดของภาพโดยมีการเพิ่ม Fine Detail ใน Picture Style ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการนำภาพไปปรินต์ขนาดใหญ่หรือต้องการรายละเอียดสูงสุดของพิกเซลสำหรับดูบนจอ ขณะที่ในส่วนของสีภาพยังคงยึดตามแบบ Picture Style Standard อยู่ แต่นักถ่ายภาพจะสามารถก็อปปี้ค่าความคมชัดหรือ Sharpening ไปยัง Picture Style อื่นได้
Highlight Tone Priority
Highlight Tone Priority (HTP) เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อขยายไดนามิกเรนจ์ของภาพโดยโดยการเพิ่มรายละเอียดในพื้นที่ไฮไลต์ของภาพ JPEG ก่อนที่จะกลายเป็นสีขาวอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามข้อกำหนดของการปรับตั้งนี้คือความไวแสงตํ่าสุดที่ใช้ได้คือ ISO 200 เนื่องจากดูเหมือนว่ากระบวนการทำงานคือบันทึกภาพให้อันเดอร์ลง 1 สตอป แล้วดึงส่วนที่เป็นโทนกลางและเงาของภาพให้สว่างขึ้นในการประมวลผลภาพ เป็นการปรับตั้งที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีในสถานการณ์ถ่ายภาพที่มีคอนทราสต์สูงซึ่งมีพื้นที่สีขาวขนาดใหญ่ในภาพอย่าง เมฆ, กำแพงสีขาว หรือชุดเจ้าสาว
Auto Lighting Optimiser
Auto Lighting Optimiser (ALO) มีจุดประสงค์การทำงานเช่นเดียวกับ Highlight Tone Priority คือเพื่อช่วยให้ภาพที่ถ่ายในสถานการณ์ที่มีคอนทราสต์สูงมีความสมดุลย์ของแสงมากขึ้น แต่ว่าจะใช้การทำงานวิเคราะห์เพื่อบาลานช์ส่วนที่มืดกับส่วนที่สว่างกว่าในภาพโดยไม่ทำให้คอนทราสต์ของโทนภาพโดยรวมเสีย เช่น ใช้การทำงาน Face detection เพื่อแยกแยะวัตถุและปรับให้สว่างขึ้นหากได้รับแสงอันเดอร์ ในการประมวลผลภาพโดยไม่ทำให้รายละเอียดในส่วนของไฮไลต์สูญเสียไป ในกล้องบางรุ่นจะสามารถปรับระดับการทำงานได้ถึง 3 ระดับ แต่หากปรับที่ระดับการทำงานสูงสุดจะทำให้ภาพที่ออกมาดูหลอกตาไม่เป็นธรรมชาติ นักถ่ายภาพสามารถเลือกตั้งไม่ให้ Auto Lighting Optimiser ทำงานเฉพาะเมื่อใช้โหมดบันทึกภาพแมนนวลแต่ทำงานในโหมดอื่นได้ เพราะไม่อย่างนั้นภาพที่ออกมาอาจมีความสว่างที่ไม่อาจคาดเดาได้
ตามอย่างที่นักถ่ายภาพคาดหวัง ด้วยค่า Default กล้อง Nikon ให้ภาพ JPEG คุณภาพดี สีเข้มและอิ่มตัว การลดสัญญาณรบกวนที่ความไวแสงสูงมีผลลัพทธ์ที่ดีในการกำจัดสัญญาณรบกวนแบบ Chroma แต่ยังคงเหลือสัญญาณรบกวนแบบ Luminance ไว้เล็กน้อย
อย่างไรก็ตามจุดที่ผู้ใช้กล้อง Nikon ต้องระวังเมื่อถ่ายภาพ JPEG คือ การทำงานไวต์บาลานช์อัตโนมัติมักจะให้ภาพที่ดูเป็นธรรมชาติมากเกินไปซึ่งทำให้ภาพดูทึมในสภาพแสงดวงอาทิตย์ตอนกลางวัน โดยสิ่งนี้ยังมีอยู่แม้จะเลือก Warm Colour ที่มีให้ในกล้องบางรุ่นสำหรับใช้ในสถานการณ์ที่ถ่ายภาพกับแสงไฟที่มีอุณภูมิสีตํ่า ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการปรับ Amber ในการปรับตั้งไวต์บาลานช์อัตโนมัติ
Picture Control
เหมือนกับ Canon ที่ Nikon มีโหมดสีหลากหลายแบบที่เรียกว่า Picture Control มาให้ใช้ โดยนอกจากแบบ Standard ที่ให้สีทั่วไปสว่างและสดแล้ว ยังมีโหมดที่เหมาะกับบางสถานการณ์ถ่ายภาพที่เฉพาะอย่างโหมด Landscape และ Portrait ด้วย ขณะที่โหมด Vivid และ Neutral เป็นทางเลือกที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สีที่เที่ยงตรง ในกล้องรุ่นใหม่ๆ ยังมีโหมด Flat มาเป็นทางเลือกด้วยซึ่งเหมาะสำหรับการนำภาพไปปรับแต่งต่อภายหลังด้วยการที่ภาพมี Tone-curve คอนทราสต์ตํ่าเพื่อให้มีรายละเอียดทั้งส่วนไฮไลต์และเงามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
โหมดใน Picture Control ทั้งหมดสามารถปรับตั้งค่าแยกจากกันได้ง่าย และด้วย Quick Adjust จะให้ความสะดวกในการเพิ่มหรือลดความคมชัด คอนทราสต์ และความอิ่มตัวของสีไปพร้อมกัน ขณะที่กล้องรุ่นใหม่มีการปรับ Clarity ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการเพิ่มคอนทราสต์ในส่วนที่ดูทึมหรือไม่ชัดเจน
หากนักถ่ายภาพปรับตั้งค่าต่างๆ ใน Picture Control ที่แตกต่างไปจากค่า Default เพื่อให้ได้ค่าที่ต้องการจะสามารถบันทึกไว้ในความจำของกล้องได้ รวมไปถึงสามารถตั้งชื่อค่าที่ปรับตั้งได้ และยังสามารถก็อปปี้ Picture Control ที่ปรับตั้งเองนี้ลงในการ์ดบันทึกภาพเพื่อนำไปใส่ในกล้อง Nikon ตัวอื่นได้อีกด้วย
Active D-Lighting
Nikon เป็นผู้ผลิตกล้องรายแรกๆ ที่ใส่เครื่องมือในการขยายไดนามิกเรนจ์ไว้ในกล้องของตน โดยการทำงาน Active D-Lighting จะมีลักษระเหมือนกับ Dynamic Range Optimisation ของโซนี่คือบันทึกภาพโดยป้องกันรายละเอียดในส่วนไฮไลต์ และเลือกทำให้โทนกลางและไฮไลต์บางส่วนของภาพสว่างขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยให้ภาพ JPEG มีไดนามิกเรนจ์กว้างขึ้นโดยที่ไม่ทำลายคอนทราสต์ในส่วนต่างๆ ของภาพActive D-Lighting มีให้เลือกปรับระดับการทำงานได้เอง 4 ระดับตั้งแต่ระดับตํ่าไปจนถึงสูงเป็นพิเศษ พร้อมกับมีการปรับตั้งให้ทำงานอัตโนมัติเป็นทางเลือกซึ่งกล้องจะเลือกระดับการทำงานจากที่มีอยู่ให้จากการวิเคราะห์ภาพ โดยทั่วไปแล้วสามารถเลือกการทำงานนี้ได้ง่ายด้วยกดปุ่ม I เพื่อเข้าสู่การปรับตั้งในเมนูบนจอ LCD ในการถ่ายภาพนี่เป็นวิธีที่ดีในการจัดการกับภาพที่มีคอนทราสต์สูงซึ่งมีทั้งไฮไลต์ที่สว่างและเงาที่ดำ แต่สิ่งสำคัญที่ควรระวังคือไม่ควรเลือกปรับตั้งการทำงาน Active D-Lighting ในระดับที่มากเกินไป สำหรับการถ่ายภาพทั่วไปเป็นความคิดที่ดีหากจะตั้งไว้ที่ปรับการทำงานอัตโนมัติหรือ Auto
กล้อง DLSR ของ Pentax มีจุดเด่นมากมาย แต่โชคไม่ดีที่ภาพ JPEG จากการปรับตั้งมาตรฐานจากกล้องกลับไม่โดดเด่นนัก ไม่ใช่ภาพที่ออกมาไม่ดี แต่เป็นเพราะภาพจากการปรับตั้งโหมดสีมาตรฐานของกล้อง รวมทั้งการมีความอิ่มของสีที่มากเข้ากับภาพที่ดูเหมือนอันเดอร์และไวต์บาลานช์อัตโนมัติที่อมฟ้าเล็กน้อย จึงทำให้เห็นช่องว่างระหว่าง JPEG และสิ่งที่ภาพ RAW สามารถทำได้เมื่อเทียบกับกล้องจากผู้ผลิตอื่น
แต่หากนักถ่ายภาพให้ความสำคัญกับการปรับตั้งในกล้องและสิ่งที่การปรับตั้งนั้นทำได้ก็เป็นไปได้ที่จะได้ภาพสมบูรณ์แบบออกมาจากกล้อง และเป็นข่าวดีที่กล้อง DSLR ของ Pentax มีการปรับตั้งมากมายที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการประมวลภาพ JPEG และในกล้องรุ่นใหม่ๆ การปรับตั้งทั้งหมดนี้ถูกรวมไว้ด้วยกันให้ควบคุมในหน้าจอเดียวซึ่งเข้าถึงได้ง่ายก้วยการใช้ปุ่ม Info เพียงแต่ว่าผู้ใช้จะต้องเข้าไปในเมนูเพื่อปรับตั้งบางอย่างก่อน
Custom Image
โหมดที่เป็นค่ามาตรฐานในการปรับสีหรือ Custom Image ของกล้อง Pentax คือ Bright ซึ่งจัดว่าเป็นชื่อที่เหมาะสมเพราะไม่ให้สีที่เข้มตามปกติ ซึ่งเป็นผลลัพทธ์ที่ดีเมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงทึมๆ แต่ในสาพแสงจากดวงอาทิตย์ที่สว่างอาจทำให้ภาพดูสว่างเกินไป และโชคไม่ดีที่มักจะเกิด Clip หรือไฮไลต์ในแต่ละช่วงสีจนทำให้เหมือนภาพถ่ายจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ดังนั้นการเลือกใช้โหมดสี Natural เพื่อลดค่าต่างๆ ลงจึงเป็นทางเลือกที่ดี
นอกจาก 2 โหมดนี้ยังโหมดสีอื่นๆ ให้เป็นทางเลือกซึ่งกล้องจะแสดงให้เห็นบนจอว่าโหมดสีมีผลอย่างไร เช่น โหมด Lanscape จะให้สีที่อิ่มตัวขึ้นกว่าโหมด Bright โดยเฉพาะสีฟ้า โหมด Radiant จะเพิ่มสีฟ้าและเหลือง ขณะที่โหมด Vibrant เพิ่มสีเขียวและ Margenta สำหรับนักถ่ายภาพที่ต้องการสร้างสรรค์สีแตกต่างจากกล้องมีมาให้ก็มีทางเลือกสามารถทำได้แต่ไม่ง่ายนัก
ทุกค่าการปรับตั้งใน Custom Image ผู้ใช้สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ในช่วงที่กว้างกว่ากล้องจากผู้ผลิตอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกล้องรุ่นใหม่ๆ นอกจากคอนทราสต์และความอิ่มของสีแล้วนักถ่ายภาพยังสามารถปรับ Hue หรือลักษณะของภาพ Low-key หรือ High-key ได้ รวมทั้งยังมี 3 รูปแบบของความคมชัดให้ปรับได้ 9 ระดับ ดังนั้นหากนักถ่ายภาพพบว่าค่ามาตรฐานทำให้รายละเอียดของภาพค่อนข้างซอฟต์ก็สามารถเปลี่ยนการปรับความคมชัดเป็น Fine Sharpness หรือ Extra Sharpness แทนได้
การลดสัญญาณรบกวน
เช่นเดียวผู้ผลิตรายอื่น กล้อง Pentax จะให้มีระดับการลดสัญญาณรบกวนให้ผู้ใช้เลือก 3 ระดับซึ่งมีความแตกต่างกันในด้านการปรับความเรียบเนียนของภาพและการให้รายละเอียด แต่นักถ่ายภาพจะสามารถกำหนดระดับการลดสัญญาณแยกกันในแต่ละระดับความไวแสงที่ใช้ได้ ดังนั้นหากต้องการปิดการทำงานอย่างสิ้นเชิงที่ความไวแสงตํ่า ก็ไล่ระดับการทำงานมากที่สุดไว้ที่การปรับตั้งด้านบนสุด
Clarity
เช่นเดียว Nikon ที่ตอนนี้กล้อง Pentax มีการปรับ Clarity เพิ่มขึ้นมาเพื่อเพิ่มคอนทราสต์ในบางพื้นที่ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการปรับเพิ่มคอนทราสต์ภาพที่ถ่ายในสภาพแสงที่ทึมหรือวันที่สภาพแสงครึ้ม โดยเป็นการปรับตั้งที่แยกต่างหากซึ่งสามารถเข้าสู่การปรับโดยตรงจากหน้าจอ Info และสามารถใช้ได้กับโหมดสี Custom Image ที่เลือกใช้อยู่ได้
Highlight and Shadow Corrections
ในกล้อง DSLR ของ Pentax ส่วนใหญ่จะมีการปรับ Highlight และ Shadow Correction มาให้ปรับแยกจากกัน ซึ่งสามารถเข้าสู่การปรับตั้งทั้งสองได้จากหน้าจอ Info เมื่อปรับ Highlight Correction จะมีการเพิ่มรายละเอียดในส่วนไฮไลต์ของภาพ JPEG รวมทั้งไฟล์ RAW ด้วย แต่ว่าจะต้องใช้ความไวแสงตั้งแต่ ISO 200 ขึ้นไป ขณะที่การปรับ Shadow Correction จะเป็นเพิ่มรายละเอียดในส่วนมืดของภาพขณะที่มีการประมวลผลภาพ JPEG เพื่อให้แสงในภาพมีความสมดุลย์มากขึ้น โดยมี 3 ระดับให้ปรับ พร้อมกับการทำงานอัตโนมัติ Auto ให้เลือกใช้ซึ่งจะปรับระดับการทำงานจากการวิเคราะห์ภาพของกล้อง
Sony ไม่ได้เริ่มต้นกับการโปรเซสไฟล์ JPEG ที่ดีนักด้วยปรับลดสัญญาณรบกวนมากเกินไปจนทำให้รายละเอียดในภาพค่อนข้างซอฟต์ แต่ก็ได้มีการยกระดับขึ้นมาไม่นานนี้ และกล้องรุ่นใหม่ๆ ก็ทำได้ดีขึ้นมากด้วยเซ็นเซอร์ความละเอียดสูงของตนเอง อย่างไรก็ตามในขณะที่การทำงานเพื่อลดสัญญารรบกวนและปรับความคมชัดได้ถูกปรับปรุงขึ้นอย่างมาก แต่กล้อง Sony จะยังมีมักมีปัญหาจากการทำงานปรับไวต์บาลานช์อัตโนมัติที่มักอมสีที่คาดเดาไม่ได้ แต่ยังมีข่าวดีที่สิ่งนี้สามารถแก้ไขได้เพียงคลิกเดียวด้วยซอฟต์แวร์ปรับภาพง่ายๆ
อย่างไรก็ตามทั้ง Creative Style และ Dynamic Range Optimisation (DRO) ซึ่งเป็นการปรับตั้งที่สำคัญสำหรับภาพ JPEG ของ Sony สามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วยเมนู Fn บนหน้าจอรวมไปถึงการปรับไวต์บาลานช์ด้วย
Creative Style
โหมดการปรับสีพื้นฐานของ Sony เรียกว่า Creative Style ซึ่งเป็นการบอกเป็นนัยถึงเป้าหมายของผู้ผลิต โดยนอกจากมีโหมด Standard, Vivid และ Neutral ให้ปรับตั้งตามปกติแล้ว กล้องยังเต็มไปด้วยหลากหลายทางเลือกสำหรับวัตถุและสถานการณ์ถ่ายภาพต่างๆ โดยหลายโหมดบ่งบอกถึงความเหมาะสมกับวัตถุในการถ่ายภาพที่ชัดเจนเช่น Portrait, Landscape, Sunset, Night Scene และ Autumn ขณะที่หลายโหมดจะดูคลุมเครือว่าเหมาะสำหรับการถ่ายภาพลักษณะใด เช่น Deep ที่จะให้ภาพเหมือน Low key ขณะที่ Light ให้ภาพลักษณะ High key และ Clear ซึ่งให้ผลเหมือนฟิลเตอร์ Dehaze ที่มีทำให้คอนทราสต์สูงขึ้นซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนเมื่อถ่ายภาพสิ่งที่อยู่ระยะไกลซึ่งมีหมอกปกคลุม นอกจากนี้ยังมีโหมด Monochrome และ Sepia มาให้ใช้ด้วยโดยในแต่ละ Creative Style จะสามารถปรับคอนทราสต์ ความอิ่มของสี และความคมชัดแยกจากกันได้ 7 ระดับ และเนื่องจากกล้อง Sony ในปัจจุบันใช้ช่องมองภาพอีเล็กทรอนิกจึงทำให้ดูผลลัพธ์จาการปรับตั้งในช่องมองภาพรวมทั้งจอ LCD ได้ทันที
Picture Effect
โหมด Filter Effect เป็นการประมวลผลภาพของ Sony เพื่อให้ภาพมีลักษณะเหมือนกับใช้ฟิลเตอร์เอฟเฟกต์พิเศษ ซึ่งทางเลือกที่มีให้ใช้มักจะคุ้นๆ หูกันอยู่และพบในกล้องจากผู้ผลิตอื่นด้วยเช่น Toy Camera, Miniature และ Patial Colour แต่ก็จะมีบางโหมดที่มีเฉพาะในกล้องของ Sony เท่านั้นอย่าง Soft Focus และ HDR Painting อย่างไรก็ตาม Picture Effect เหล่านี้จะใช้ได้เมื่อต่อเมื่อไม่บันทึกภาพแบบ RAW และนักถ่ายภาพไม่สามารถเซฟภาพแบบที่ไม่ใช้ฟิลเตอร์ไว้พร้อมกันได้ ในกล้องรุ่นสูงๆ ของ Sony โหมดนี้มักจะฝังอยู่ในเมนูที่เข้าถึงไม่ง่ายนัก ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นนัก
Dynamic Range Optimisation
โหมด Dynamic Range Optimisation (DRO) ของ Sony เป็นการทำงานที่ปรับไดนามิกเรนจ์ของภาพซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เหมือนกับ Active D-Lighting ของ Nikon ส่วนผลลัพธ์ในภาพจะมีการแบ่งภาพเป็นส่วนต่างๆ และใช้การปรับ Tone Curve ที่แตกต่างกันในแต่ละส่วนของภาพ จึงทำให้ทั้งส่วนไฮไลต์ โทนกลาง และเงาในภาพมีความสมดุลย์กว่าการเสียคอนทราสต์ไปกับการเน้นส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพ นักถ่ายภาพสามารถเลือกปรับการทำงานได้ 5 ระดับและมีการทำงานปรับระดับอัตโนมัติเป็นทางเลือกมาให้ด้วย
สิ่งสำคัญในการใช้ Dynamic Range Optimisation คือเลือกปรับระดับการทำงานที่เหมาะสมกับภาพ โดยหากเลือกระดับ DRO ที่ตํ่าเกินไปก็จะไม่มีผลต่อภาพ แต่หากปรับระดับสูงมากเกินไปก็จะส่งผลให้ภาพดูแบนแปลกตา
นอกจากนี้ Sony ยังมีโหมด Auto High Dynamic Range มาให้ใช้ซึ่งจะทำงานได้เมื่อไม่ได้ถ่ายภาพ RAW เช่นเดียวกับ DRO โดยจะรวม 3 ภาพที่บันทึกต่อเนื่องอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มไดนามิกเรนจ์ในภาพ และแน่นอนว่าผู้ใช้สามารถเลือกระดับการทำงานได้ ซึ่งให้ผลที่ค่อนข้างดีในสถานการณ์ที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามปกติแล้วควรใช้โหมด DRO แทนดีกว่า
Picture Profile
หนึ่งในการทำงานที่เป็นประโยชน์เมื่อถ่ายภาพ JPEG ของ Sony คือ Picture Profile ซึ่งมักจะพบในกล้องรุ่นสูงที่เน้นการถ่ายวิดีดอ โดยการทำงานนี้จะให้ผู้ใช้สามารถกำหนดลักษณะสีและโทนของกล้องที่ออกมาได้เอง แม้จะถูกออกแบบมาเพื่อการถ่ายภาพยนตร์ แต่ก็เป็นประโยชน์สำหรับภาพ JPEG ด้วย แม้ชื่อที่แปลกในการปรับควบคุมอาจจะทำให้นักถ่ายภาพไม่อยากยุ่งเกี่ยวนักอย่าง Black Gamma แลพ Knee แต่เมื่อเทำความเข้าใจจะช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถสร้างการโปรเซสไฟล์ที่มีไดนามิกเรนจ์สูงเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งการเพิ่มรายละเอียดในส่วนไฮไลต์และเงาภายหลังการถ่ายภาพด้วย นอกเหนือไปจากการกำหนดค่าสำหรับภาพ JPEG ที่นำไปใช้ได้ทันทีสิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นการทำงานที่เหมาะจะใช้กับภาพ JPEG เพื่อให้ภาพจบจากกล้องโดยที่มีความวุ่นวายน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ไม่ดึงดูดให้นักถ่ายภาพใช้นัก แต่ก็ไม่ผิดอะไรที่จะใช้การทำงานนี้
แปล/เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ