BASIC

Pictorial Photography ภาพแนวพิศเจริญ

พิคทอเรียล หรือ Pictorial เป็นแนวการถ่ายภาพที่ได้รับความนิยม ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นแนวการถ่ายภาพที่ไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่ความหมายโดยทั่วไปหมายถึงการถ่ายภาพที่คำนึงถึงความงดงามเป็นสำคัญ คล้ายกับภาพวาดหรืองานศิลปะ งดงามโดยเนื้อหาของภาพถ่าย งดงามโดยการใช้องค์ประกอบต่างๆ เช่น แสง เงา สี มิติ

ในบ้านเรา Pictorial หรือ พิศเจริญ เป็นคำที่นิยามขึ้นโดยอาจารย์เชาว์ จงมั่นคง ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2512 ในความหมายคือ “คล้ายกับภาพวาด มีเรื่องราวเด่นชัด สามารถถ่ายทอดความรู้สึกทางอารมณ์และบรรยากาศได้อย่างซาบซึ้ง เป็นภาพถ่ายที่อุดมด้วยคุณค่าทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Value) ดูแล้วเกิดความเพลิดเพลิน ยิ่งพิศยิ่งเพลิน ดูแล้วอยากดูอีก”

ภาพ : ธนิสร เพ็ชรถนอม

หนึ่งในหลักการจัดองค์ประกอบของภาพถ่าย Pictorial คือเรื่องของความกลมกลืนของสีในภาพถ่าย เป็นบทความที่แปลจาก : Color Harmonies-4-Cool, Warm, Split, Tetradic and Square โดยผู้เขียน : Alain Briot ช่างภาพผู้เชี่ยวชาญด้าน fine art เป็นทั้งครูสอนถ่ายภาพและมีผลงานต่างๆ มากมายทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเลคทรอนิคส์และออนไลน์ ติดตามกันได้เลยครับ

Color Harmonies-4 Cool, Warm, Split, Tetradic and Square

ความกลมกลืนของสีในภาพถ่าย Color Harmonies-4 โทนเย็น, โทนอุ่น, คู่สีตรงข้ามแบบสามเหลี่ยม และ คู่สีตรงข้ามแบบสี่เหลี่ยม (2 รูปแบบ)

1. ความกลมกลืนของสีโทนเย็น Cool Colors Dominance harmony

สีที่อยู่ในกลุ่มโทนเย็นนี้ประกอบด้วยสีที่ไล่โทน 6 จาก 12 สี ตั้งแต่สีนํ้าเงิน สีม่วง ไปถึงสีเขียว เป็นสีที่ให้ความรู้สึกถึงความเย็น ความห่างไกล ซึ่งมักจะนำมาใช้ในภาพถ่ายที่ต้องการแสดงถึงองค์ประกอบของวัตถุที่มีระยะใกล้ ไกล รวมไปถึงการสื่ออารมณ์ของภาพที่แสดงถึงความคิดถึง ความหดหู่ ความเศร้า ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การใช้สีโทนเย็นในภาพถ่าย ไม่ได้หมายความว่าจะใส่หรือให้มีสีโทนอุ่นปรากฎในภาพไม่ได้เลย ยังคงใช้สีโทนเย็นร่วมกับโทนอุ่นได้ โดยผู้ถ่ายภาพต้องรักษาการใช้สีโทนเย็นให้มีมากกว่าสีโทนอุ่น และพึงระลึกเสมอว่าการใช้สีโทนใดเป็นหลัก ต้องพยายามให้มีโทนสีนั้นครบจำนวนครึ่งหนึ่งของวงล้อสี สามารถปล่อยให้โทนที่ไม่ใช่สีหลักเข้ามาในภาพได้โดยไม่ให้อารมณ์และการสื่อความหมายของภาพเปลี่ยนไป

2. ความกลมกลืนของสีโทนอุ่น Warm Colors Dominanceharmony

เช่นเดียวกับการเลือกใช้สีโทนเย็น คือมีการเลือกใช้สีโทนอุ่นที่อยู่ในวงล้อสีในกลุ่มตรงข้ามกับโทนเย็น ซึ่งมีด้วยกัน 6 จาก 12 สี ตั้งแต่สีแดง สีส้ม ไล่ไปจนถึงสีเหลือง และเหลือง-เขียว การใช้สีโทนอุ่นมักจะนำมาใช้ในภาพถ่ายที่ต้องการแสดงถึงองค์ประกอบของวัตถุที่มีระยะใกล้กับผู้ชม รวมทั้งจะให้ความรู้สึกและอารมณ์ของภาพที่สื่อไปในลักษณะของความอบอุ่น ความสบาย หรืออาจจะรวมไปถึงความรู้สึกปลอดภัยได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้สีโทนอุ่นในภาพถ่าย ไม่ได้หมายความว่าจะใส่หรือให้มีสีโทนเย็นปรากฎในภาพไม่ได้เลย ผู้ถ่ายภาพยังคงใช้สีโทนอุ่นร่วมกับโทนเย็นได้ โดยสิ่งที่ต้องระวังคือรักษาการใช้สีโทนอุ่นให้มีมากกว่าสีโทนเย็น และพึงระลึกเสมอว่าการใช้สีโทนใดเป็นหลัก ต้องพยายามให้มีโทนสีนั้นครบจำนวนครึ่งหนึ่งของวงล้อสี สามารถปล่อยให้โทนที่ไม่ใช่สีหลักเข้ามาในภาพได้โดยไม่ให้อารมณ์และการสื่อความหมายของภาพเปลี่ยนไป

3. ความกลมกลืนของคู่สีตรงข้ามแบบสามเหลี่ยม Split Complementary color harmony หรือ Compound Harmony

เป็นความกลมกลืนของสีสองสีและสีที่อยู่ตรงข้ามในวงกลมสี เมื่อลากเส้นสมมติขึ้นจะปรากฎเป็นสีตรงข้ามที่อยู่ภายในรูปสามเหลี่ยม ตัวอย่าง เช่น สีคู่ทั้งสองคือสีนํ้าเงินและสีม่วง เมื่อลากเส้นสามเหลี่ยมจะได้สีตรงข้ามในวงกลมสีคือสีเหลือง ความกลมกลืนของการใช้สีประเภทนี้จะให้ค่าภาพที่มีคอนทราสต์ที่ค่อนข้างสูง แต่ดูมีความกลมกลืนในภาพ เพราะการให้ความสำคัญหรือพื้นที่ของสีสองสีที่มากกว่าสีตรงข้าม (โดยอาจใช้สัดส่วนในพื้นที่ของภาพแบบไม่เท่ากันหรือบางครั้งอาจจะใช้ในสัดส่วนของการวางภาพแบบ 50:50 ก็ได้) การเลือกใช้ความกลมกลืนของสีประเภทนี้เหมาะสำหรับการเริ่มต้นเรียนรู้การใช้สี และฝึกหัดถ่ายภาพการใช้สีกลมกลืน

ภาพที่ 1 เป็นภาพถ่ายดอกไม้ในระยะใกล้ (close up) ซึ่งเป็นการใช้โทนสีม่วง และสีเขียว ซึ่งเป็นสีตัดกันแต่ด้วยสัดส่วนของพื้นที่สีในภาพ ก็ยังสร้างความกลมกลืนให้กับโทนสีของภาพถ่ายได้

ภาพที่ 2 ความกลมกลืนของคู่สีตรงข้ามแบบสามเหลี่ยม เป็นภาพที่มีส่วนของท้องฟ้าสีฟ้าเข้ามาในภาพ แม้จะเป็นสีนํ้าเงิน-แดง ที่มีโทนตรงข้าม แต่ภาพถ่ายก็ยังมีความกลมกลืนของโทนสี หากเปรียบเทียบกับความกลมกลืนของคู่สีตรงข้ามแบบสี่เหลี่ยม จะมีความใกล้เคียงกันค่อนข้างมาก ยกเว้นสีที่อยู่ตรงข้ามของสีคู่จะมีเพียงสีเดียว ทำให้การจำกัดของการกระจายของสีทำได้น้อยกว่า แต่การใช้หลักความกลมกลืนของสีแบบสามเหลี่ยมนี้จะได้รับความนิยมสูงและนำไปใช้งานได้ง่ายกว่า

4. ความกลมกลืนของคู่สีตรงข้ามแบบสี่เหลี่ยม รูปแบบแรกแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า Tetradic color harmony

ความกลมกลืนของการใช้สีในรูปแบบนี้จะเป็นการใช้สี 2 ชุดรวม 4 สี ซึ่งเป็นสีเสริมหรือที่นิยมเรียกว่าสีตรงกันข้าม ยกตัวอย่างเช่น สีม่วง ตรงข้ามกับ นํ้าเงินเขียว สีเหลืองเขียว ตรงข้ามกับสีแดง เมื่อลากเส้นสมมติของสีทั้งสี่สีจะพบว่าคู่สีแต่ละเซ็ทจะเป็นสีที่อยู่ห่างกัน 1 สีในวงกลมสี และเมื่อลากเส้นไปยังสีตรงข้ามจะได้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามภาพ

การใช้โทนสีชนิดนี้มีรูปแบบในการนำไปใช้ได้กับงานถ่ายภาพหลากหลายประเภท โดยเฉพาะภาพที่ต้องการถ่ายทอดสีสัน สร้างความสะดุดตา ชวนมอง ให้กับภาพถ่ายได้ดี ข้อพึงระวังของการเลือกใช้สีในรูปแบบนี้คือให้ดูที่ความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งาน หรือสีที่สามารถจัดวางร่วมกันได้ เพราะสีคู่ตรงข้ามของรูปแบบนี้จะเป็นสีของโทนที่ต่างกันจากโทนเย็นและโทนอุ่น ภาพตัวอย่างของการนำความกลมกลืนของคู่สีตรงข้ามแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า

5. ความกลมกลืนของคู่สีตรงข้ามแบบสี่เหลี่ยม ประเภทที่สองสี่เหลี่ยมจัตุรัส Square color harmony

เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการใช้โทนสีแบบสี่เหลี่ยม เป็นการใช้สีหลักตรงกันข้าม 2 เซ็ท 4 สี เช่นเดียวกับแบบแรก แต่เมื่อลากเส้นสมมุติในวงกลมสีจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวอย่างเช่น สีส้ม สีเหลืองเขียว สีนํ้าเงิน และสีม่วง ซึ่งทั้งสี่สี
นี้จะวางเรียงตัวตรงกันข้ามกันเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสในวงกลมสีทั้ง 12 สีโดยจะมีลักษณะเฉพาะคือแต่ละสีจะมีสีคั่นอยู่ 2 สีเท่ากันทั้งหมด

การใช้ความกลมกลืนของโทนสีรูปแบบนี้จะมีตัวเลือกของสีให้ใช้งานได้มากกว่า หรือที่เรียกว่าเฉดสีที่กว้างกว่ารูปแบบแรก มีข้อควรระวังที่สำคัญเช่นเดียวกันคือการเข้ากันหรือกลมกลืนกันระหว่างโทนสีเย็นและโทนสีอุ่น และมีข้อแนะนำคือให้เลือกใช้สีหลักของภาพเพียงหนึ่งจากสี่สี อีกสามสีที่เหลือให้เป็นองค์ประกอบรอง หรือให้ปรากฎในภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ยกตัวอย่างภาพสวนสนุกจะมีสีหลักในภาพคือสีนํ้าเงินของส่วนที่เป็นท้องฟ้า ส่วนสีอื่นๆ อีกสามสีคือ เขียว ม่วง เหลือง มีแทรกพอให้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การใช้ความกลมกลืนของสี เป็นอีกหนึ่งในหลักการจัดองค์ประกอบการถ่ายภาพที่สามารถสร้างและบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของช่างภาพแต่ละคนได้เป็นอย่างดี มีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น ค่อนข้างแตกต่างจากการจัดองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนจากการสังเกตุ จดจำ และการถ่ายภาพบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยให้ช่างภาพทุกคนสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่ดี เป็นเอกลักษณ์และมีความแตกต่างจากช่างภาพคนอื่นๆ ได้ครับ

ภาพ : ธนิสร เพ็ชรถนอม

แปลและเรียบเรียง : สมศักดิ์ ทัศนเศรษฐ
#fotoinfo​ #Fotoinfomag​ #FotoinfoPlus​ #FotoinfoLearningCenter​ ​ #FLC​ #โฟโต้อินโฟ #FotoinfoLive​ #PictorialPhotography #Pictorial #ColorHarmonies-4 #Cool #Warm #Split #TetradicandSquare

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic