SCOOPS TRAVELS

Plan B กับภารกิจพิชิตเขานมสาว & พายคายัคล่องแม่น้ำน้อย

หลังกลับจากอิสตันบูลเพียงไม่กี่วัน พี่โอ๊ตหัวหน้าใหญ่ประจำก๊วนและมิสเตอร์ชวลิต เอ่ยชวนผมไปร่วมภารกิจพิชิตเขานมสาว ซึ่งเป็นยอดเขาเตี้ยๆ ตรงข้ามฟากฝั่งแม่น้ำแควน้อยหลังบ้านพี่โอ๊ตที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นยอดเขาที่เห็นมาหลายปีดีดัก และตัวเองก็เคยคิดเล่นๆ ตามประสาคนเดินป่า ว่าถ้าให้เดินขึ้นไปเองแบบมั่วๆ ใช้เวลาหนึ่งหรือไม่เกินสองชั่วโมงก็น่าจะบรรลุถึงยอดเขาได้ ทว่าก็ได้แต่คิดเล่นๆ มาเรื่อยจนกระทั่งพี่โอ๊ตและมิสเตอร์ชวลิตหาคนนำทางได้ (เพื่อความปลอดภัย ยังไงมีคนพื้นที่นำไปก็ดีกว่าไปกันเอง แม้จะทำได้ก็ตาม) โดยมีผู้ร่วมขบวนการ 6 คน ที่หาวันว่างตรงกันได้ ซึ่งถือว่ากำลังดีไม่มากจนวุ่นวาย และไม่น้อยจนเงียบเหงาหงอยเกินไป และด้วยความที่ระยะทางมันไม่ไกลอะไรนัก พี่โอ๊ตจึงขอเพิ่มเติมดีกรีความมันส์ของการเดินทางด้วยโปรแกรมเสริม(ที่น่า จะเหนื่อยหนักกว่าโปรแกรมหลัก) การพายคายัคทัวร์ริ่ง แบบนอนค้างกลางทางหนึ่งคืน โดยเลือกเอาแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำแควน้อย มีจุดเริ่มต้นคือหน่วยแม่น้ำน้อยในอช.ไทรโยคใหญ่แล้วพายตามน้ำกลับมาถึงบ้าน ในบ่ายแก่ๆ ของวันถัดมา

ซึ่งก็แน่นอนว่าโปรแกรมอันน่าสนุกสนานเช่นนี้ ย่อมมีแต่ผู้เป่านกหวีดทั้งชูมือสนับสนุนกันสุดซอย แผนการเดินทางคราวนี้จึงสรุปออกมาได้ว่าค่ำๆ วันศุกร์เริ่มออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงบ้านเมืองกาญฯ ดึกดื่นหน่อยไม่เป็นไร เช้าวันเสาร์ตื่นสายๆ นอนพักเอาแรงให้เต็มที่ หลังมื้อเที่ยงเตรียมข้าวของสำหรับเดินป่าและค้างแรมบนยอดเขาหนึ่งคืน สายของวันอาทิตย์เดินลงจากเขา กินมื้อกลางวันเสร็จก็จัดเตรียมอุปกรณ์ใหม่อีกครั้งแบบกันน้ำเต็มพิกัด ให้เหมาะกับการขนของขึ้นเรือคายัค จ้างชาวบ้านขนเรือไปส่งยังต้นทางแล้วก็เริ่มพายเรือกลับบ้านกันเอง ซึ่งต้องมีการแวะพักค้างริมแม่น้ำอีกหนึ่งคืนด้วย


ภาพ บน สุด :  “Big Oat” นี่คือภาพดีที่สุดตรงใจผมที่สุดของการเดินป่าครั้งนี้ แน่นอนว่าด้วยภาพเดี่ยวๆ มันไม่อาจบ่งบอกอะไรได้ แต่เมื่อนำไปเข้าชุดกับภาพอื่นๆ มันก็ทำให้เนื้อหาของการเดินทางที่บอกเล่าด้วยภาพล้วนๆ (แบบไม่มีงานเขียนประกอบ) มันดูหวือหวาสนุกสนานเร้าใจขึ้นมาได้ง่ายๆ เหมือนกันนะครับ EOS 5D MK II, LENS EF 17-40 MM. F/4L, 0.4 Sec. F/9, ISO 50

สายๆ ของวันจันทร์ จึงเริ่มพายล่องแม่น้ำน้อย ต่อเนื่องด้วยแม่น้ำแควน้อยจนถึงบ้านพี่โอ๊ตในเวลาเย็น ขนเรือเก็บเข้าที่ อาบน้ำอาบท่าให้สดชื่น ค่ำๆ เดินทางกลับกรุงเทพฯ (เพราะผมกับพี่โอ๊ตยังมีภารกิจตีแบตฯกันในเย็นวันอังคารด้วย) ทั้งหมดใช้เวลา 4 คืน 3 วัน ถือเป็นทริปที่ไม่สั้นไม่ยาว ด้วยระยะเวลาเท่านี้ หากเป็นทริปปกติ ผมคงจะขนอุปกรณ์ถ่ายภาพไปแบบชุดใหญ่จัดเต็ม แต่ด้วยวิธีการเดินทางที่มีทั้งต้องเดินขึ้นเขาที่แม้จะไม่ไกลแต่ก็ไม่มี ลูกหาบ แถมยังมีการล่องแม่น้ำด้วยเรือคายัคที่แม้ว่ามันจะไม่จมน้ำ แต่หากประมาทพลาดพลั้งไปเรือก็คว่ำได้ง่ายๆ เหมือนกัน ดังนั้นการจัดชุดอุปกรณ์ถ่ายภาพจึงต้องพินิจพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จริงๆ ครับ

plan106_03

“โฉมหน้าผู้ร่วมภาระกิจพิชิตยอดเขานมสาว”  ภาพง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนแต่ยังไงในภาพหนึ่งชุดก็ต้องมีถ่ายเก็บไว้ครับ ซึ่งช่วงเริ่มเดิน เราผ่านไปเจอบ้านที่มีผนังเก๋ไก๋น่าสนใจ ผมจึงเลือกถ่ายไว้สำหรับทำภาพ Before&After กับอีกจุดหนึ่งซึ่งพลาดไม่ได้เช่นกัน คือภาพรวมหมู่ในห้วงเวลาที่บรรลุถึงยอดเขาอันเป็นจุดหมายปลายทาง EOS 5D MK II, LENS EF 17-40 MM. F/4L, 1/200 Sec. F/5.6, ISO 800

จะมีโชคดีอยู่บ้างก็ตรงที่รอยต่อระหว่างการเดินเขาและล่องเรือนั้น มีบ้านพี่โอ๊ตเป็นจุดเชื่อม ซึ่งหมายความว่าผมสามารถจัดชุดอุปกรณ์ใหม่ได้หนึ่งครั้งสำหรับสองสถานการณ์ที่แตกต่าง ไม่จำเป็นต้องนำไปพร้อมกันในคราวครั้งเดียว ดังนั้นผมจึงออกจากกรุงเทพฯด้วยอุปกรณ์ชุดใหญ่ได้เหมือนเดิม แถมยังเพิ่มเติมด้วยกระเป๋ากันน้ำและซองกันกระแทกหลายชิ้น

สายๆ ของวันเสาร์ผมนั่งมองยอดเขานมสาวอีกครั้ง สลับไปกับกองสัมภาระที่ต้องขนขึ้นไปด้วย ซึ่งหมายถึงของส่วนตัวสำหรับการนอนกลางป่าหนึ่งคืนคือเปลและถุงนอน รวมทั้งของส่วนกลางที่ต้องช่วยกันแบกขึ้นไปด้วย ซึ่งก็มีทั้งชุดแก๊สกระป๋อง หม้อกระทะจานชามสำหรับทำกับข้าว มีทั้งข้าวสารอาหารแห้ง และน้ำเปล่าที่ต้องขนขึ้นไปให้พอกินพอใช้ อะแฮ่ม! แล้วยังมีหม้อต้มกาแฟสดแบบโมก้าพอดสำหรับการสร้างบรรยาศแคมป์ปิ้งให้สมบูรณ์แบบอีกด้วย เพราะทุกคนในทริปล้วนชอบดื่มกาแฟกันถ้วนหน้า

plan106_02

บนซ้าย : “ดอกไม้ริมทาง” เป็นความบังเอิญอันโชคดีที่ระหว่างทางมีดอกไม้ป่าสีสวยผุดพรายขึ้นมาให้ได้ชม เป็นความรื่นรมณ์และงดงามระหว่างการเดินป่า อีกทั้งเป็นยาแก้เหนื่อยชั้นดีของนักเดินทาง เพราะได้พบเห็นเมื่อไรก็เกิดความแช่มชื่นใจได้เมื่อนั้น และแน่นอนว่ามันควรจะถูกบันทึกภาพเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำ ด้วยทริกการถ่ายภาพแบบง่ายๆ แต่ได้ผลดี คือการเอาเลนส์มุมกว้างจ่อเข้าไปให้สุดระยะโฟกัสของเลนส์ เลือกกอที่มีดอกสมบูรณ์สวยงามที่สุด มีเพื่อนร่วมทางเป็นส่วนประกอบเลอๆ เพื่อเสริมเนื้อหาในฉากหลังเสียหน่อย EOS 5D MK II, LENS EF 17-40 MM. F/4L, 1/40 Sec. F/5.6, ISO 800
บนขวา :  “ ไต่ทางชัน” ตลอดการผจญภัยในทริปนี้ ผมจงใจเลือกเล่นกับความไวชัตเตอร์ต่ำๆ เป็นส่วนใหญ่ เพราะผมชอบอารมณ์ของภาพในลักษณะนี้มากกว่าภาพที่คมชัด แม้ในทางทฤษฎีแล้ว ภาพลักษณะนี้ควรเสริมแสงแฟลชเพิ่มเข้าไปเพื่อให้วัตถุมีส่วนที่คมชัดด้วย ตามเทคนิค “Slow Sync.” แต่เนื่องจากผมไม่อยากติดแฟลชให้มันเกะกะ เพราะมันอาจจะไปเกี่ยวกับเถาวัลย์พรรณไม้ต่างๆ จนทำให้หักพังได้ง่ายๆ ทั้งยังเป็นอุปสรรคระหว่างการเดินอีกต่างหาก ดังนั้นสิ่งที่ผมต้องทำนอกเหนือไปจากการเลือกความไวชัตเตอร์ที่เหมาะสมแล้ว คือการขยับกล้องให้สัมพันธ์กับทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนที่ของคนบุคคลที่กำลังเดินอยู่เบื้องหน้า โอกาสจะได้ภาพดีๆ ด้วยวิธีการแบบนี้ค่อนข้างยากพอสมควรครับ อย่างทริปนี้ผมได้ภาพลักษณะนี้ที่ถูกใจเพียง 3-4 ภาพเท่านั้น แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าเป็นการถ่ายภาพเพื่อความพอใจส่วนตัวล้วนๆ ถ้าไม่ได้ภาพผมก็ไม่เสียหายอะไร หากได้ภาพดีๆ ที่ถูกใจก็ถือว่ากำไรล้วนๆ เช่นกันครับ  EOS 5D MK II, LENS EF 17-40 MM. F/4L, 1/2 Sec. F/11, ISO 50

ยอดเขานมสาวอยู่ไม่ไกลจากสายตา แต่ก็มีความชันพอประมาณและเผลอๆ อาจจะต้องมีการปีนการไต่ก้อนหินกันเล็กน้อยด้วย ดังนั้นการจัดข้าวของจึงต้องไม่ให้มันพะรุงพะรัง อันจะเป็นอุปสรรคและอันตรายเวลาเดิน เป้กล้องของผมจึงถูกตัดทิ้งเป็นลำดับแรก เพราะผมต้องมีเป้หลังสำหรับของใช้จำเป็นอื่นๆ ก่อน ซึ่งได้แก่ เปลมุ้ง ถุงนอน น้ำดื่มทั้งส่วนตัวและกองกลาง ชุดแก๊สกระป๋องและชุดกาแฟ กับอาหารสดแห้งที่แบ่งกันตามสัดส่วน รวมๆ แล้วน้ำหนักประมาณ 7-8 กิโลกรัม ซึ่งไม่เป็นปัญหา ร่างกายผมยังรับได้อีก 7-8 กิโลกรัมสบายๆ

แต่ด้วยความที่ต้องไม่ให้มันพะรุงพะรังนี่ล่ะครับ การจัดอุปกรณ์ถ่ายภาพจึงยุ่งยากนิดหน่อย จะเอากระเป๋าสะพายไหล่ มันก็จะแกว่งไปแกว่งมาอยู่ดี ผมจึงเลือกการเอาไปให้น้อยชิ้นที่สุดคัดเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ คือกล้อง 5D MK II ติดเลนส์ 17-40 mm. F/4L เอาคล้องคอไปเลย สำหรับการถ่ายบรรยากาศระหว่างเดิน อีกสองตัวที่ผมเอาไปด้วยคือเลนส์ 70-200 mm. F/4L IS สำหรับถ่ายวิวทิวทัศน์จากยอดเขา และเลนส์ 50 mm. F/1.2L ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องมีก็ได้ แต่มันเป็นช่วงเลนส์ที่ผมถนัดเป็นการส่วนตัวและก็คิดว่ายังพอแบกไหว จึงเอาขึ้นไปด้วย

โดยเลือกเอาเลนส์นอร์มอลใส่กระเป๋าคาดเอว(Pouch)ไว้ ส่วน เทเลซูม เอาใส่ซองกันกระแทกแล้วใส่รวมไปกับของอื่นๆ ในเป้หลังไว้เพราะคิดว่าระหว่างการเดินไม่น่าจะได้ใช้  แฟลชและฟิลเตอร์ต่างๆ ไม่เอาไปเลย มีขาตั้งกล้องที่สองจิตสองใจอยู่ว่าจะเอาไปด้วยดีไหม ลองใส่สายรัดกับข้างเป้ดูแล้วเห็นว่าไม่เกะกะอะไร จึงแบกขึ้นไปอีกตัว ทั้งหมดนี้ผมคิดว่ามันน่าจะพอสำหรับการตอบโจทย์สั้นๆ ง่ายๆ ของการถ่ายภาพในครั้งนี้ คือการ “เก็บบรรยากาศการเดินป่าแคมป์ปิ้ง และวิวทิวทัศน์ของหมู่บ้านวังเขมรจากยอดเขานมสาว” เพื่อเอาไว้ดูเล่นเป็นความทรงจำส่วนตัว ไม่ได้คิดจะเอามาเขียนเรื่องขายหรือใช้งาน เจออะไรก็ถ่ายไปตามนั้น ตามสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยไม่มีการเซ็ทถ่ายใดๆ ทั้งสิ้น (ถ้าเป็นการรับจ้างเขามาถ่ายเพื่อประกอบคอลัมน์ท่องเที่ยว ผมคงจะเอาแฟลชกับฟิลเตอร์ติดมาด้วย และพวกเสื้อผ้าอุปกรณ์ต่างๆ คงต้องเลือกใช้ที่ให้ภาพลักษณ์ดูดี และตอบสนองสินค้าที่เป็นสปอนเซอร์ของหนังสือ – แต่ที่เอามาใช้ในคอลัมน์นี้มันเป็นเรื่องของความบังเอิญมากกว่าตั้งใจครับ)

plan106_04

“บ้านวังเขมรในสายหมอก” : การเดินทางครั้งนี้ถือว่าพระเจ้าท่านมีเมตตาให้ไม่ใช่น้อยๆ เพราะฝนฟ้าครึ้มๆ ทำท่าเหมือนจะตกลงมาเป็นอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา ทว่าจนแล้วจนรอดก็ไม่กระเซ็นลงมาสักเม็ด พลอยให้อากาศเย็นสบายไม่ร้อนอบอ้าวระหว่างการเดิน แถมในยามเช้ายังส่งทะเลหมอกเป็นของแถมอันสุดประทับใจมาให้อีกด้วย เพราะจะว่าไปจุดที่ยืนกันอยู่นี้ไม่ใช่ที่สูงอะไรนัก หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยจริงๆ คงไม่ได้เห็นภาพหมอกหนาทาบทาทั่วทั้งหุบเขาเช่นนี้  ในส่วนของการถ่ายภาพ ผมได้ใช้ขาตั้งกล้องอย่างคุ้มค่ากับที่สู้อุตส่าห์ลงทุนแบกขึ้นมาก็ชั่วโมงนี้ล่ะครับ ได้ใช้ ISO ต่ำร่วมกับการล๊อกกระจกสะท้อนภาพอีกต่างหาก เพื่อคุณภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นได้ (ผมเปิดระบบ Highlight tone Priority เพื่อเก็บรายละเอียดในส่วนหมอกขาวให้ครบ ISO จึงตั้งได้ต่ำสุดที่ 200 เท่านั้นครับ) EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/200 Sec. F/8, ISO 200

ทางเดินขึ้นเขาไม่มีอะไรบ่งบอกชัดเจนครับ อาศัยเดินตาม “พี่ยาว” คนนำทางตัวเล็กหัวใจใหญ่ ซึ่งแกก็อาศัยดูทิศทางคร่าวๆ แล้วก็เดินไปเรื่อยๆ ทางเดินใต้ดงไม้ ไม่รกเรื้ออย่างที่คิด เป็นป่าโปร่งๆ กระนั้นก็มีความชันไม่น้อย จนหลายครั้งต้องศัยการเหนี่ยวลำไผ่รั้งตัวขึ้นไป พอให้หลายคนได้เหงื่อชุ่มแผ่นหลังกันบ้าง เดินๆ พักๆ อยู่ 3-4 ครั้ง ในเวลาเกือบสองชั่วโมงก็ใกล้ถึงจุดหมายปลายทางที่ยอดเขาจนได้

ในระหว่างการเดินนี้ผมบันทึกภาพไปเรื่อยๆ แบบไม่มีการเซ็ทหรือขอให้ทำซ้ำ เพราะถึงแม้ตัวเองจะยังเดินชิลชิลผิวปากไปด้วยได้ แต่คนอื่นๆ ก็ออกอาการเหนื่อยล้าพอสมควร ตามวัยวารที่ผ่านมามากกว่าผม (ฮา) ผมเลือกเอาเทคนิคการถ่ายภาพด้วยความไวชัตเตอร์ต่ำๆ ร่วมกับการแพนกล้องมาใช้เป็นหลัก เพราะชอบลักษณะภาพที่มันดูตื่นเต้นเร้าใจกว่าภาพแบบคมชัด แต่ก็ไม่ทุกภาพทุกครั้งนะครับ เพราะยังไงก็ต้องมีภาพที่เห็นสิ่งแวดล้อมรายรอบสลับไปบ้าง ซึ่งมันก็ควรต้องถ่ายภาพให้ชัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง

การถ่ายภาพด้วยความไวชัตเตอร์ต่ำๆ แบบไม่ใช้แฟลชร่วมด้วย โอกาสได้ภาพดีมีน้อยครับ แต่ผมก็ไม่ลังเลที่จะใช้ เพราะอย่างที่บอกไปว่า ถ่ายเพื่อเก็บไว้ดูส่วนตัวจริงๆ จึงไม่ต้องกังวลกับการนำไปใช้งานใดๆ ได้ภาพที่ถูกใจก็ดีไป ถ้าไม่ได้ ก็ไม่เสียหายอะไรเลย เป็นการถ่ายภาพที่เอาสนุกและความถูกใจเป็นที่ตั้งล้วนๆ ครับ

ช่วงสุดท้ายใกล้ยอด ภูเขาเปลี่ยนจากพื้นดินเป็นหน้าผาหินล้วนๆ จึงต้องมีการปีนป่ายตะกายผากันบ้าง แต่ไม่ถึงกับยากเกินไป ปีนขึ้นไปดูวิวทิวทัศน์ถ่ายภาพกันพอหอมปากหอมคอ แล้วก็ต้องรีบไต่ลงมาด้านล่างเพื่อหาทำเลที่พักให้ได้ก่อนมืดค่ำเพราะข้างบนมีแต่แท่งหินคมๆ และไม่มีต้นไม้ใหญ่พอจะให้แขวนเปลสำหรับ 6 คนได้ และบังคับว่าต้องไม่ลงไปต่ำเกินไป เพื่อความสะดวกง่ายดายในการขึ้นมาถ่ายวิวทิวทัศน์ในยามเช้าอีกรอบ ภาพแสงสุดท้ายของวันจึงทำได้เพียงการเก็บไว้ในลิ้นชักความทรงจำ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าในชั่วโมงนี้คือการเตรียมผูกเปล และจัดแคมป์ให้เสร็จก่อนความมืดมิดอนธการจะมาเยือน!

พื้นที่พักแรมยังคงลาดชันและคับแคบ ไม่สะดวกกับการทำกิจกรรมใดๆ นอกเหนือไปจากนั่งสนทนาอยู่บนเปลใครเปลมันกับเครื่องดื่มส่วนตัว ใต้แสงริบหรี่จากกองไฟ ยังไม่ทันดึกดื่นคืนค่ำจึงต้องเข้านอนเปลใครเปลมันอย่างไม่มีทางเลี่ยง

เช้าวันใหม่เมื่อความสว่างได้ที่ เราปีนกลับขึ้นไปยังหน้าผาด้านบนเพื่อเก็บวิวทิวทัศน์บ้านวังเขมรอย่างที่ตั้งใจ ผมได้ใช้ขาตั้งกล้องจนคุ้มค่าที่ลงทุนแบกขึ้นมาด้วยก็ในชั่วโมงนี้เองครับ เพราะใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้กับช่องรับแสงกลางๆ เป็นส่วนใหญ่ ร่วมกับการตั้งค่า ISO ต่ำได้อย่างต้องการ ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่มีขาตั้งก็ต้องดัน ISO ให้สูงขึ้นกันไปตามระเบียบ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรหรอกครับ พ.ศ.นี้แล้ว ถ้าไม่ตั้งสูงเวอร์จนเกินไปคุณภาพก็ไม่ได้สูญเสียจนน่าเกลียด นำไปใช้ได้สบายๆ ไม่ว่าจะในสื่อชนิดใดก็ตาม แต่ในเมื่อผมแบกมันขึ้นมาแล้วก็ต้องนำมาใช้ให้คุ้มพอให้เป็นที่น่าหมั่นไส้กับคนอื่นๆ สักเล็กน้อยครับ…อิอิอิ

plan106_05

บนซ้าย :  “วินาทีที่รอคอย”
นาทีที่ขึ้นถึงยอดเขา แม้แสงแดดจะซบเซาอยู่หลังกลีบเมฆ ทว่ายังไงก็ควรเก็บภาพในช่วงเวลาและอารมณ์ขณะนั้นไว้  เพราะแม้ว่าจะให้มาเซ็ทถ่ายใหม่ในภายหลังที่แสงดีๆ มันก็อาจทำได้ แต่การจะให้ทุกคนปั้นอารมณ์ขึ้นมาใหม่ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก และทริปนี้ผมไม่มีความตั้งใจจะทำภาพประกอบเรื่องท่องเที่ยวส่งให้นิตยสารใดๆ ทั้งสิ้น ถ่ายภาพเก็บเป็นความทรงจำส่วนตัวจริงๆ และผมให้ความสำคัญกับอารมณ์ของผู้คนในภาพมากกว่าความสวยงามทางองค์ประกอบศิลป์ จึงเลือกฉกฉวยเก็บภาพจังหวะแบบนี้มา และคัดมาไว้เป็นหนึ่งในภาพชุดนี้ครับ EOS 5D MK II, LENS EF 17-40 MM. F/4L, 1/40 Sec. F/5.6, ISO 800
บนขวา :  “พี่ยาว กับการหุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่”
สิ่งนี้สำหรับพวกเราแล้วถือเป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งของทริปเลยก็ว่าได้ครับ เพราะทุกคนอยากกินและอยากเห็นวิธีการหุงข้าวจากกระบอกไม้ไผ่กันให้เห็นกับตา ประสาคนเมืองผู้กินข้าวจากหม้อไฟฟ้ามาเกือบทั้งชีวิต จัดเป็นสิ่งหาดูได้ยากยิ่ง เมื่อพี่ยาวจัดแจงแสดงการหุงโชว์ให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งเต็มตา จึงพลาดไม่ได้สำหรับการเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกนึกถึง และเติมเต็มให้ภาพชุดนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

กลับลงมาจากหน้าผาชมวิว เจอพี่ยาวกำลังหุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ส่งกลิ่นหอมยั่วน้ำลาย สภาพแสงก็พอใช้ได้เลยได้โอกาสเก็บภาพไว้สักหน่อย เพราะเมื่อเย็นวานไม่ได้เก็บภาพการทำอาหารไว้เลย แล้วจะมามัวพิรี้พิไรมากก็ไม่ได้นะครับ เพราะข้าวที่ส่งกลิ่นหอมขนาดนี้ทุกคนล้วนอยากส่งมันลงกระเพาะให้เร็วที่สุดเป็นธรรมดา ทั้งยังต้องเก็บข้าวของทำความสะอาดบริเวณที่พักแรมให้เรียบร้อยก่อนเดินลงอีกด้วย

ขาลงผมยังคงเอากล้องคล้องคอไว้เหมือนเคย และยังคงใช้ความไวชัตเตอร์ต่ำๆ เป็นหลักแต่วันนี้ เลือกถ่ายเน้นๆ กับมุมภาพที่เห็นว่าขาดตกบกพร่องไปจากขาขึ้นเมื่อวันวาน แล้วปิดการเดินด้วยภาพหมู่ครั้งสุดท้ายเพื่อเอาไว้ดูเปรียบเทียบกับอีกภาพที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ก่อนเดินขึ้น ถือว่าได้ภาพชุดที่นำมาเรียงร้อยเรื่องราวได้อย่างน่าพอใจอีกชุดหนึ่งครับ เนื้อที่มีน้อย ขอยกยอดแผนการเก็บภาพล่องเรือเหนือผืนน้ำไว้ต่อในฉบับหน้าครับ

ปล. ภาพชุดที่เอามาลงให้ชมนี้เนื้อหาโดยรวมอาจจะดูไม่ครบถ้วนเท่าไรนักนะครับ เพราะไม่ได้ตั้งใจจะนำเสนอเรื่องราวของการเดินทางเป็นหลัก แค่เพียงชี้ให้เห็นวิธีการคิดการวางแผนสำหรับการถ่ายภาพในสถานการณ์แบบนี้เท่านั้น และด้วยหน้ากระดาษอันจำกัดหากเอาลงให้ครบชุด มันจะกลายเป็นภาพเล็กๆ ไปเสียหมด จึงเลือกภาพเด่นๆ มาพอให้เห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้นครับ

เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง


  • บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
    Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
    Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
    Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ