กว่า FOTOINFO ฉบับนี้จะออกวางอยู่บนแผงหนังสือก็คงเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวกันแล้ว หลายๆ ท่านก็คงกำลังเพลิดเพลินกับการเดินทางขึ้นเหนือไปสัมผัสลมหนาวช่วงปลายปีกัน ถือว่าเป็นช่วงโอกาสทองอีกช่วงเวลาหนึ่งของคนถ่ายภาพที่จะคว้ากล้องออกมาบันทึกภาพที่สวยงามและเรื่องราวความทรงจำดีๆ เหล่านี้เอาไว้ เพราะอากาศไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนช่วงอื่นๆ ได้ถ่ายรูปท่ามกลางบรรยากาศเย็นๆ ทิวทัศน์สวยๆ แค่นึกถึงบรรยากาศก็ฟินสุดๆ ละครับจริงมั๊ย
บรรยากาศในหน้าหนาวดีจริงครับ แต่ก็มีจุดนึงที่ผมมักเสียดายอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือแสงช่วงหลังพระอาทิตย์ตกหรือช่วงที่เราเรียกกันว่าแสงทไวไลท์ที่จะหมดไปเร็วมาก โดยปกติแสงทไวไลท์จะเกิดขึ้นหลังจากพระอาทิตย์ตกไปแล้วประมาณ 10-15 นาที ก่อนที่ท้องฟ้าจะมืดสนิท เพราะฉนั้นมันคือช่วงเวลานาทีทองที่เราต้องเตรียมความพร้อมในการถ่ายภาพเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเตรียมอุปกรณ์ หรือการตั้งค่าของกล้องในการถ่ายภาพก็ตาม เพราะถ้าพลาดแล้วก็ต้องรอไปอีกวันนึงเต็มๆ ละครับกว่าจะได้ถ่ายอีกครั้ง
ในการถ่ายงาน Pre-Wedding ผมมักคุยกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวเสมอว่าหากเป็นไปได้ให้อดทนรอเพื่อถ่ายภาพกับแสงทไวไลท์แล้วจะไม่ผิดหวังกับภาพที่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะมันให้ภาพที่มีสีสันสวยงามแปลกตา แต่บางวันแสงทไวไลท์ก็หมดเร็วมากจนใจหาย เพราะฉนั้นผมแนะนำว่าควรไปถึงก่อนเวลาพอสมควรเพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัวหามุมและเซ็ทอุปกรณ์เป็นการดีที่สุดครับ
Canon EOS 6D : Lens 16-35 mm F/4L IS at f/4 , 1/8 Sec ISO 1600
แต่ในบางครั้งมันก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่วางแผนไว้เสมอไป อย่างเช่นในวันที่ไปถ่ายภาพที่เห็นอยู่นี้ เราไปถึงสถานที่ช้ากว่าที่กำหนดไว้ค่อนข้างเยอะ ทำให้ไม่สามารถได้แสงทไวไลท์ที่ดีที่สุดของวันนั้น ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของภาพนี้ ภาพนี้ผมวางมุมแล้ววัดแสงที่ท้องฟ้า ผมจึงเลือกใช้ไฟ LED แทนแฟลชเพื่อประหยัดเวลา โดยส่องไฟ LED ย้อนมาจากด้านหลังตัวแบบ เพื่อให้ตัวแบบไม่จมไปกับความมืดและเป็นการเปิดรายละเอียดของหญ้าบนพื้นด้านล่าง และเฉียงไฟไปยังต้นไม้ด้านขวามือเล็กน้อยเพื่อเปิดรายละเอียดของต้นไม้ขึ้นมา ก็จะได้ภาพออกมาอย่างที่เห็นในภาพเล็ก ซึ่งจะเห็นว่าท้องฟ้าดูทึมๆ ไม่สวยเลย
จากภาพที่ถ่ายมาท้องฟ้าไม่สวย ผมจึงเอาภาพท้องฟ้าสวยๆ มาซ้อนเข้าไปใน Photoshop จากภาพใหญ่ที่เห็นผมปรับระนาบของภาพให้ตรงและตัดต่อภาพเป็นสัดส่วน 16:9 เพิ่มขอบริมทะเลเข้าไปด้านหลังเจ้าสาวเผื่อให้ดูสมดุล จากนั้นผมเลือกภาพท้องฟ้าที่เห็นทางช้างเผือกมาซ้อนลงไปในส่วนของท้องฟ้าด้านบน ก็ทำให้เราได้ภาพที่ดูสวยและแปลกตาไปอีกรูปแบบนึง ก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคง่ายๆ ที่เราเอามาแก้ปัญหาได้เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยไม่ได้แสงในวันนั้นจริงๆ และหากมีเวลาหรือโอกาสก็ลองถ่ายภาพท้องฟ้าสวยๆ เก็บเอาไว้บ้างนะครับ ไม่แน่วันนึงคุณอาจได้ใช้ภาพท้องฟ้าสวยๆ เหล่านั้นมาซ้อนบนภาพของคุณแบบนี้ก็ได้ครับ
เรื่อง/ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หรือสนใจดูเทคนิค How To ที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/how-to