จุดเด่น
- หน้าจอขนาดใหญ่ 31.5 นิ้ว
- ความละเอียด 4K (3840 x 2160 พิกเซล)
- แสดงสี AdobeRGB ได้ถึง 99%
- แสดงสีได้มากถึง 1.07 พันล้านสี
- เลือกโหมดแสดงสีได้ 3 รูปแบบ (sRGB, AdobeRGB และ B/W)
- มุมมองกว้าง 178 องศา มองจากด้านข้างได้ชัดเจน
- Contrast Ratio 1,000:1
- รองรับการใช้งานได้ทั้ง Window และ Mac OS
- มีฮูดบังแสง ป้องกันแสงรบกวนจากภายนอก
การจัดการเรื่องสีสันของช่างภาพในยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ทั้งมือสมัครเล่นไปจนถึงมืออาชีพให้ความสำคัญกันอย่างมาก เพราะหลังจากที่ถ่ายภาพมาแล้ว ก็มักจะนำภาพๆ มาตกแต่งเพิ่มเติมในภายหลังกันแทบทั้งนั้น จะปรับแต่งมากน้อยแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าในขณะที่ถ่ายภาพนั้นช่างภาพมีความพิถีพิถันในการถ่ายภาพมากแค่ไหน มือใหม่ อาจจะมีภาพให้ปรับแก้ไขมากหน่อย ส่วนมืออาชีพก็มักจะได้ภาพที่ค่อนข้างดีมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว การปรับแต่งเพิ่มเติมก็เพียงนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น นอกจากว่าจะเป็นภาพที่ตั้งใจจะนำมาปรับแต่งเพิ่มทีหลังอยู่แล้ว
ช่างภาพมืออาชีพมักจะเลือกใช้อุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกล้อง เลนส์ รวมทั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ และแน่นอนรวมไปถึงอุปกรณ์สำหรับจัดการไฟล์ภาพด้วยนั่นเอง ส่วนมือใหม่อาจจะไม่ซีเรียสกับเรื่องนี้มากเท่าไรนัก แต่การได้ภาพที่มีสีสันที่ถูกต้องย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่าอยู่แล้ว ซึ่งมือสมัครเล่นหลายๆ คนที่มุ่งมั่นและจริงจังกับการ ถ่ายภาพมากขึ้น ก็มักจะมองหาอุปกรณ์เสริมที่ตอบสนองการใช้งานที่สูงขึ้นจากปกติด้วยนั่นเอง
สำหรับช่างภาพมืออาชีพหรือช่างภาพในระดับที่ซีเรียสกับการจัดการไฟล์ภาพ ในยุคที่กล้องดิจิตอลมีความละเอียดสูงขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์สเปคแรงรวมทั้งจอมอนิเตอร์ที่แสดงสีสันได้เที่ยงตรงตามจริง จึงมีความจำเป็นสำหรับการ จัดการไฟล์ภาพเป็นอย่างยิ่ง และ BenQ เองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ ดังนั้นจึงได้ผลิตจอมอนิเตอร์สำหรับการใช้งานของช่างภาพมืออาชีพอย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้ผมเองได้มีโอกาสทดลองใช้งานจอมอนิเตอร์ที่ออกแบบมาสำหรับช่างภาพโดยตรง ซึ่งมีความโดดเด่นคือ ครอบคลุมการแสดงสีแบบ AdobeRGB ได้ถึง 99% ในรุ่น BenQ SW2700PT ซึ่งก็ตอบสนองการใช้งานได้ยอดเยี่ยม และในครั้งนี้ BenQ ได้ส่งจอมอนิเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุดออกมารองรับการใช้งานของช่างภาพมืออาชีพได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยขนาดจอที่ใหญ่ถึง 31.5 นิ้ว และแสดงผลด้วยความละเอียดถึงระดับ 4K เลยทีเดียว
Port เชื่อมต่อต่างๆ อยู่ด้านหลังตัวเครื่อง
ผมได้รับตัวเครื่องมาในกล่องขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งก็เพราะมีหน้าจอใหญ่ถึง 31.5 นิ้วด้วยนั่นเอง แยกชิ้นบรรจุมา อย่างเป็นระเบียบ การประกอบตัวเครื่องก่อนใช้งานก็สะดวกดี เริ่มจากนำขาตั้งประกอบเข้ากับฐานวาง โดยมีเขี้ยวล็อคพร้อมสกรูล็อคให้แน่นอีกที จากนั้นนำจอมอนิเตอร์มาประกอบเข้ากับขาตั้งโดยสอดเขี้ยวล็อคสองเขี้ยวที่แป้นขาตั้งให้ตรงกับช่องด้านหลังจอแล้วกดให้จอแนบไปกับแป้น จะได้ยินเสียงคลิ๊กเมื่อจอมอนิเตอร์อยู่ในตำแหน่งล็อคที่มั่นคงแล้ว
จากนั้นนำฮูดที่แยกชิ้นส่วนออกเป็น 5 ชิ้น นั่นคือ แผ่นด้านข้าง 2 แผ่น และด้านบน 3 แผ่น (แผ่นใหญ่ 1 แผ่นและแผ่นเล็ก 2 แผ่น ซ้าย-ขวา) มาประกอบเข้ากับจอ โดยผมเริ่มจากแผ่นด้านข้างซ้ายของจอก่อนเป็นอันดับแรก ประกอบเข้ากับแผ่นเล็กด้านบน (จะเริ่มจากด้านซ้ายหรือขวาก่อนก็ได้) และติดเข้ากับด้านข้างของจอซึ่งมีร่องรองรับอยู่แล้ว ประกอบชุดด้าน ขวาให้เหมือนด้านซ้ายอีกครั้ง แต่ก่อนที่จะติดเข้ากับร่องด้านข้างของจอเช่นเดียวกัน
ซ้าย : ด้านข้างของจอมีช่อง SD Card Reader และช่อง USB
ขวา : ขาประกอบติดกับตัวจอ ออกแบบให้ประกอบ หรือถอดได้อย่างสะดวก
จากนั้นประกอบแผ่นใหญ่ด้านบน โดยวางเยื้องมาทางด้านหน้าเครื่องเล็กน้อย เลื่อนแผ่นใหญ่มาทางด้านหลัง โดยให้ขอบด้านหน้าของแผ่นเล็กสอดเข้าไปในร่องของแผ่นใหญ่ จากนั้นกดด้านหลังของแผ่นใหญ่ให้ลงช่องล็อคของแผ่นเล็ก เป็นอันเสร็จสิ้นขบวนการประกอบฮูดบังแสง ซึ่งร่องและตะขอเกี่ยวต่างๆ ที่เบนคิวออกแบบไว้นั้น จะช่วยยึดฮูดบังแสง ให้แนบสนิทกับจอได้เป็นอย่างดี รวมทั้งด้านในของฮูดบังแสงที่หุ้มด้วยกำมะหยี่จะช่วยลดแสงสะท้อนเพื่อให้การปรับแต่งภาพมีความเที่ยงตรงมากที่สุดนั่นเอง ซึ่งฮูดบังแสงนั้นมีมาให้สองชุดสำหรับการใช้งานจอมอนิเตอร์แบบแนวนอนและแนวตั้ง และการประ กอบทั้งหมดตั้งแต่แกะเอาตัวเครื่องออกมาจากกล่องนั้นไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือใดๆ ให้ยุ่งยากเลยครับ
สามารถปรับระดับความสูงของจอ รวมทั้งปรับก้มเงยได้ตามลักษณะการใช้งาน
Hotkey Puck สำหรับปรับตั้งค่าการทำงานอย่างรวดเร็ว
ปุ่มเมนูการทำงานหลักบนขอบจอมอนิเตอร์
จอมอนิเตอร์ BenQ SW320 เป็นจอมอนิเตอร์ที่ออกแบบสำหรับการใช้งานปรับแต่งภาพ งานกราฟฟิกและการออกแบบ ซึ่งเป็นงานที่ต้องการความเที่ยงตรงของสีสูง โดยสามารถถ่ายทอดสีของโหมดสี Adobe RGB ได้สูงถึง 99% และมีค่า Delta Eror หรือ Delta E ซึ่งเป็นค่าความแตกต่างของสีที่นำมาอ้างอิง โดยคำนวณจากความแตกต่างของแกนสี 3 แกน หรือ 3 มิติ ต่ำกว่า 2 หรือเป็นจอที่มีความความเที่ยงตรงของสีสูงนั่นเอง
แสดงสีโหมด Adobe RGB ได้ถึง 99% ทำให้การปรับแก้ไขภาพทำได้ละเอียด และให้สีที่แม่นยำเป็นธรรมชาติ
การปรับควบคุมการทำงานของจอมอนิเตอร์ BenQ SW320 สามารถปรับตั้งค่าการทำงานได้หลายแบบ โดยปรับตั้ง จากปุ่มที่ขอบจอมุมล่างขวา โดยมีปุ่มควบคุมจะวางเรียงกันอยู่ 6 ปุ่ม สำหรับปรับเลือกเมนูการทำงานต่างๆ ทั้งการเลือก Port การเชื่อมต่อ การปรับตั้งค่าโหมดสี และการตั้งค่าการแสดงผลอีกหลายแบบ
เมนูเลือกการทำงานต่างๆ
โหมดสีขาว-ดำ
นอกจากนี้ จะเลือกใช้การปรับตั้งจากเครื่องมือ Hotkey Puck ก็ได้เช่นกัน โดยสำหรับ Hotkey Puck นั้น เลือกการ ทำงานได้ 3 รูปแบบคือ Controller Key 1 เลือกโหมดสี Adobe RGB, Controller Key 2 เลือกโหมดสี sRGB และ Controller Key 3 เลือกโหมด B/W การปรับเลือกเมนูย่อยทำได้โดย กดปุ่ม Controller Key ค้างไว้สักครู่ จะมีเมนูย่อยโชว์ขึ้นมา จากนั้นใช้ปุ่มปรับ 4 ทิศทางเลือกเมนูที่ต้องการและกดปุ่ม OK เพื่อยืนยันค่านั้นๆ
ซ้าย : Hotkey Puck เลือกรูปแบบการแสดงผลอย่างรวดเร็วได้ 3 แบบคือ sRGB, AdobeRGB และ Black and White
ขวา : ฮูดบังแสงช่วยป้องกันแสงรบกวนได้เป็นอย่างดี มีให้เลือกได้ทั้งการปรับจอแนวนอน และแนวตั้ง
ผมเองต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการปรับแต่งแก้ไขภาพอยู่เป็นประจำ สำหรับงานที่จะต้องนำไปตีพิมพ์ในหนังสือที่เป็นสี่สีทั้งเล่ม ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องการสีสันและโทนของภาพที่ถูกต้องตามจริง รวมทั้งการทำแบนเนอร์ต่างๆ ที่มีทั้งภาพประกอบ และลวดลายกราฟฟิกต่างๆ รวมทั้งโลโก้ของสปอนเซอร์ด้วย ซึ่งสีสันจะต้องไม่มีผิดพลาดอยู่แล้ว และจอมอนิเตอร์ BenQ SW320 ก็ตอบสนองการใช้งานในจุดนี้ได้ดีมากครับ สามารถแสดงความแตกต่างของเฉดสีที่ใกล้เคียงกันให้เห็นความแตกต่างได้ การไล่โทนสีต่างๆ ละเอียด เนียน และสมจริงดั่งตาเห็น
ความละเอียดจอระดับ 4K (3840 x 2160 พิกเซล) ช่วยให้ดูรายละเอียดของภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
จุดหนึ่งที่โดดเด่นเลยคือ การเลือกโหมดสีได้หลากหลาย และขนาดจอที่ใหญ่ถึง 31.5 นิ้ว รวมทั้งแสดงรายละเอียดได้คมชัดระดับ 4K และแสดงสีได้ลึกถึง 14 bit ทำให้ดูภาพได้เต็มตา สามารถซูมขยายตรวจสอบรายละเอียดในส่วนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งให้ภาพที่ดูเป็นธรรมชาติอีกด้วย ผมลองปรับโหมดสี เป็นแบบ HDR เพื่อตรวจสอบรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่าง ซึ่งก็ช่วยให้ผมปรับภาพโดยที่ยังคงรักษาโทนภาพทั้งสองส่วนได้ตามที่ต้องการครับ
ซ้าย : โหมดการแสดงผล HDR ตรวจสอบรายละเอียดในส่วนมืด และส่วนสว่าง
ขวา : หน้าจอแสดงผลแบบ GamutDuo
GamutDuo เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นเด่นของ BenQ SW320 ที่ช่วยให้เปรียบเทียบการแสดงสีของภาพที่นำมาตกแต่งแก้ไขได้ในโหมด Adobe RGB และ sRGB ภายในจอมอนิเตอร์เดียวกัน เพื่อให้การเลือกการปรับแต่งหรือการนำไปใช้งานได้ แม่นยำมากขึ้น สำหรับฟังก์ชั่นนี้จะต้องเลือกใช้งานจากเมนู PIP/PBP ครับ
สรุปผลการใช้งาน
สำหรับช่างภาพมืออาชีพที่ซีเรียสกับการปรับแต่งแก้ไขสีสันของภาพให้ตรงตามจริง เพื่องานการพิมพ์ภาพระดับอาชีพ หรือเพื่อนำไฟล์ไปใช้งานทางธุรกิจ โดยเฉพาะภาพที่มีโทนสีต่างๆ ที่ละเอียดอ่อน เช่น ภาพเครื่องสำอาง เสื้อผ้า เป็นต้น การเลือกจอมอนิเตอร์ที่สามารถแสดงสีสันได้ละเอียด ถูกต้องและสมจริงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คงจะไม่ดีนักถ้าหากว่าคุณนั่งตาแข็งปรับแต่งภาพมาทั้งคืน แต่สุดท้ายแล้วสีก็ยังเพี้ยน หรือต้องคอยเพ่งจ้องมองจอขนาดเล็กทำให้ดวงตาต้องทำงานหนัก และสำหรับการบอกลาปัญหาต่างๆ เหล่านั้นจะหมดไป เมื่อเลือกงานจอมอนิเตอร์
BenQ SW320 รุ่นนี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับช่างภาพระดับมืออาชีพไม่ว่าจะเป็นช่างภาพโฆษณาที่ต้องถ่ายภาพสินค้า ช่างภาพ Stock ช่างภาพแฟชั่น พอร์ตเทรต และเวดดิ้ง รวมทั้งช่างภาพแลนด์สเคปที่ต้องการดูรายละเอียดที่ชัดเจน จอมอนิเตอร์รุ่นนี้จะรองรับการทำงานได้อย่างน่าพอใจมาก ซึ่งต้องขอบอกว่า Highly Recommended ครับ
เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews