Sony A6300 ขีดสุดของความเร็ว กับขีดสุดของคุณภาพวิดีโอ 4K ในกล้องมิลเรอร์เลส ขนาดกะทัดรัดกว่าฝ่ามือ
Sony A6300 เป็นรุ่นที่สานต่อความสำเร็จของกล้อง Mirrorless ที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C อย่าง Sony NEX-7 หรือ A6000 ที่มีความโดดเด่นและครองใจผู้ใช้กล้อง Mirrorless แบบตัวคูณ โดยได้รับออกแบบให้ควบคุมการใช้งานได้สะดวก และตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดี ซึ่ง Sony A6300 ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้สูงมากขึ้น และอัดแน่นไปด้วยฟังก์ชั่นการทำงานที่ก้าวหน้ามากมาย อาทิ ระบบโฟกัสแบบ 4D Focus ที่ตอบสนองทั้งในการโฟกัสที่รวดเร็วฉับไว และระบบโฟกัสต่อเนื่องที่ช่วยให้จับภาพได้ไม่มีผิดพลาดในทุกการเคลื่อนไหว
จุดเด่นของ Sony A6300
- เซ็นเซอร์ภาพ Exmor CMOS ขนาด APS-C
- ความละเอียด 24.2 ล้านพิกเซล
- หน่วยประมวลผล BIONZ X
- ช่องมองภาพ OLED Tru-Finder 2.36 ล้านพิกเซล
- ระบบออโตโฟกัสแบบ 4D Focus
- จุดโฟกัส 425 จุด
- ความไวแสงสูงถึง ISO 51200
- ถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุด 11 ภาพต่อวินาที
- บันทึกวิดีโอ 4K 30fps และ 24 fps
- Full HD Slow Motion 5X
- บอดี้แมกนีเซี่ยมอัลลอยด์
- ซีลรอยต่อกันฝุ่นและละอองนํ้า
- มี Wi-Fi และ NFC ในตัว
Exmor CMOS และ BIONZ X Sony A6300 ยังคงใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C แต่เป็นแบบ Exmor CMOS ความละเอียด 24.2 ล้านพิกเซล ออกแบบใหม่โดยลดช่องว่างระหว่างพิกเซล และลดระยะห่างระหว่างเลนส์กับโฟโต้ไดโอดให้สั้นลง ประสิทธิภาพในการรับแสงจึงสูงกว่าเดิม และยังเปลี่ยนการเดินสัญญาณในวงจรเป็นทองแดงแทนอลูมิเนียม ทำให้ถ่ายโอนข้อมูลได้เร็วขึ้น ให้ไฟล์ภาพคุณภาพสูง ถ่ายทอดรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน คมชัด และมีสีสันอิ่มตัว รวมทั้งมีการตอบสนองการทำงานที่รวดเร็ว ฉับไว จากหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูง BIONZ X และมีการจัดการ Noise ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ภาพที่ใสเคลียร์ สัญญาณรบกวนตํ่าแม้จะถ่ายภาพด้วยความไวแสงสูง
Hybrid AF & 4D Focus Sony A6300 ตอบสนองการโฟกัสได้อย่างรวดเร็วฉับไว จากระบบโฟกัสแบบ Hybrid AF โดยสามารถจับโฟกัสได้ในเวลาสั้นๆ เพียง 0.05 วินาที จากจุดโฟกัสแบบ Phase Detection 425 จุด รวมทั้งแบบ Contrast Detection 169 จุดด้วย ถือเป็นกล้องที่มีจุดโฟกัสมากที่สุดในตลาดกล้องในปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุมการใช้งานได้ทั่วทั้งเฟรมภาพ ไม่ว่าจะถ่ายภาพแนวนอน หรือแนวตั้งนอกจากนี้ ยังโดดเด่นด้วยเทคโนโลยี 4D Focus โดยนอกจากกล้องจะจับโฟกัสได้อย่างรวดเร็วเมื่อซับเจกต์เคลื่อนที่ในพื้นที่แนวกว้าง และการขยับเข้าหา หรือถอยออกจากกล้องแล้ว กล้องยังประเมินการเคลื่อนที่ล่วงหน้า และปรับโฟกัสตามได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าซับเจกต์จะเคลื่อนที่ไปในแนวใดก็ตาม ซึ่งระบบโฟกัสแบบ 4D Focus นี้ เหมาะกับการถ่ายภาพกีฬาที่มีการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วด้วย
ระบบโฟกัสที่รวดเร็วช่วยให้ถ่ายภาพได้อย่างฉับไว Sony A6300 เลนส์ FE 70-200mm F4G OSS, โหมด M ชัตเตอร์ 1/160 วินาที f/5.6, ISO100, WB: Daylight
4K Video เป็นมาตรฐานใหม่สำหรับกล้อง Mirrorless ตระกูล Alpha ที่สามารถบันทึกวิดีโอคุณภาพ 4K ซึ่งแตกต่างจากกล้องที่สามารถบันทึกวิดีโอ 4K อื่นๆ ที่จะเป็นการบันทึกด้วยขนาดไฟล์ 20 ล้านพิกเซล หรือ 6000 x 3376 พิกเซล จากนั้นจึงนำมาย่อขนาดให้เป็น 4K (8 ล้านพิกเซล) ซึ่งข้อดี คือ สามารถถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ของภาพได้ดีขึ้นกว่าการบันทึกที่คุณภาพ 4K ปกติ นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกด้วยโหมด High Frame Rate ซึ่งสามารถปรับเฟรมเรทได้สูงถึง 120 fps สำหรับการบันทึกในระบบ NTSC และ 100fps สำหรับการบันทึกด้วยระบบ PAL โดยได้ความละเอียดระดับ Full HD 1080p ให้ภาพแบบ Slow Motion 4X คุณภาพสูง เมื่อเปิดชมด้วยความเร็วปกติ ซึ่งน่าจะถูกใจช่างภาพวิดีโอที่ถ่ายงาน พรีเวดดิ้ง เวดดิ้ง งานโฆษณา และการถ่ายภาพ Wildlife นอกจากนี้ที่ตัวกล้องยังออกแบบให้มีช่องสำหรับต่อเชื่อมกับไมโครโฟนเสริมภายนอกสำหรับการใช้งานในระดับที่จริงจังแบบมืออาชีพได้ด้วย
Fast Continuous นอกจากระบบโฟกัสที่รวดเร็วและแม่นยำแล้ว A6300 ยังถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูงถึง 11 ภาพต่อวินาทีที่ความละเอียดสูงสุด และ 8 ภาพต่อวินาที เมื่อใช้ระบบโฟกัสต่อเนื่องในการแทรคกิ้งตามวัตถุ ช่วยให้เก็บแอคชั่นต่างๆ ของซับเจกต์ได้อย่างครบถ้วนในทุกอิริยาบถ
XGA OLED Tru-Finder A6300 ใช้ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics ViewFinder) แบบ XGA OLED Tru-Finder ที่มีความละเอียดสูงถึง 2,360,000 พิกเซล ช่วยให้มองภาพได้อย่างสบายตา และครอบคลุมการมองเห็นได้ 100% ช่วยให้จัดองค์ประกอบภาพได้ตามที่ต้องการจริงๆ ไม่ต้องเผื่อเหลือ เผื่อขาด และให้ภาพที่ดูสวยงามสมจริง นอกจากนี้ยังมีเฟรมเรทสูง สามารถเเลือกเฟรมเรทได้ 50 fps หรือ 100 fps ทำให้การหมุนกล้อง หรือการแพนกล้องตามซับเจกต์ ไม่มีปัญหาเรื่องภาพล้ม และยังช่วยให้มองภาพผ่านช่องมองภาพได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งใช้การแสดงผลที่ช่องมองภาพเช่นเดียวกับการแสดงผลที่จอมอนิเตอร์ ดังนั้นจึงช่วยให้ผู้ใช้สามารถมองภาพจริงก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ช่วยลดความผิดพลาดลงไปได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะปรับตั้งกล้องแบบไหน วัดแสงโอเวอร์ หรืออันเดอร์ ตั้งไวท์บาลานซ์ถูกหรือผิด สีสันตรงตามจริงหรือเพี้ยน ก็สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ตอนปรับตั้งกล้อง และถ้าหากเกิดข้อผิดพลาด ก็สามารถปรับแก้ไขได้ทันที
Silent Shooting เป็นฟังก์ชั่นใหม่ที่มีมาในรุ่นนี้ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพในบรรยากาศที่เงียบสงบ อาทิ ภายในโบสถ์ที่กำลังทำพิธี หรือถ่ายภาพกีฬาที่ไม่ต้องการเสียงรบกวน อย่างการแข่งสนุกเกอร์ หรือถ่ายภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งสามารถเลือกการทำงานได้แบบเปิดหรือปิดการใช้งาน รวมทั้งยังสามารถปรับตั้งให้เป็นปุ่มลัดจากปุ่มการทำงานแบบ Custom ได้อีกด้วย
Magnesium Alloy Body โครงสร้างตัว บอดี้กล้อง Sony A6300 ชิ้นหน้า ด้านบน และด้านหลัง ทำมาจากโลหะแมกนีเซียมอัลลอย ทั้งหมด แตกต่างรุ่น A600 ที่จะใช้เฉพาะฝาครอบบนกับแชสซีส์โดยให้ความแข็งแรง ช่วยปกป้องชิ้นส่วนภายในจากการกระทบกระแทกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีนํ้าหนักเบา ไม่เป็นภาระในการพกพาไปใช้งาน ตามรอยต่อต่างๆ ของตัวบอดี้ยังซีลป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า เพื่อให้ช่างภาพใช้งานได้ในทุกสภาพอากาศ
Peaking Focus เป็นจุดเด่นหนึ่งของกล้อง Mirrorless ทั้งตระกูล NEX และ Alpha ซึ่งช้วยให้สามารถเช็กระยะโฟกัสได้อย่างง่ายดาย โดยเลือกระดับความวาวของแถบสีได้ 3 ระดับคือ High, Medium, Low หรือปิดการทำงานไปเลยก็ได้ และเลือกแถบสีได้ 3 สีคือ สีขาว, สีเหลือง และสีแดง ฟังก์ชั่น Peaking Focus มีประโยชน์เป็นอย่างมากเมื่อใช้งานกับเลนส์แมนนวลโฟกัส ช่วยให้ดูระยะโฟกัสหรือการครอบคลุมระยะชัดลึกได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเหมาะสำหรับการบันทึกวิดีโอด้วยเช่นเดียวกัน
Wi-Fi and NFC เป็นฟังก์ชั่นมาตรฐานของกล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันที่จะต้องมี Wi-Fi ในตัว สำหรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต สำหรับการโอนภาพถ่ายไปใช้งาน หรืออัพโหลดไปยังโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมี NFC หรือ Near Field Communication ที่สามารถต่อเชื่อมระหว่างสมาร์ทโฟนกับกล้อง A6300 อย่าง่ายดายเพียงแค่แตะกล้องกับสมาร์ทโฟน ให้สัญลักษณ์ตัว N ตรงกันเท่านั้นเอง การเชื่อมต่อนั้นทำได้โดยผ่านแอพลิเคชั่น PlayMemories Mobile ที่สามารถโหลดมาใช้งานได้ฟรี จาก App Store ของระบบปฏิบัติการ iOS และ Play Store ของระบบปฏิบัติการ Android และนอกจากจะเชื่อมต่อเพื่อโอนไฟล์ภาพถ่ายแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อเพื่อควบคุมการถ่ายภาพจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ด้วย เช่นกัน
A : Sony A6300 เลนส์ FE 70-200mm F4G OSS, โหมด M ชัตเตอร์ 1/1600 วินาที f/5.6, ISO100, WB: Daylight
B : Sony A6300 เลนส์ FE 70-200mm F4G OSS, โหมด M ชัตเตอร์ 1/60 วินาที f/10, ISO100, WB: Daylight
ฟังก์ชั่นที่น่าสนใจอื่นๆ
A6300 มีโหมดถ่ายภาพที่สำคัญให้เลือกใช้งานได้ครบครัน รองรับการใช้งานได้ทั้งมือใหม่ มือสมัครเล่น ไปจนถึงระดับที่ซีเรียสอย่างมืออาชีพ ทั้งโหมดอัตโนมัติต่างๆ อาทิ Auto, Scene Mode, Sweep Panorama รวมทั้งโหมดถ่ายภาพในกลุ่ม Advanced สำหรับผู้ที่เน้นคุณภาพของไฟล์ภาพที่มากขึ้น มีความเข้าใจในการใช้งานกล้อง และจริงจังกับการใช้งานกล้องที่มากขึ้น รวมทั้งต้องการควบคุมกล้องด้วยตนเอง เพื่อให้ได้คุณภาพไฟล์ที่มากขึ้นด้วย อาทิ โหมดโปรแกรม (P), โหมดออโต้รูรับแสง (S), โหมดออโต้ความเร็วชัตเตอร์ (A) และโหมดแมนนวล (M) ซึ่งโหมดถ่ายภาพต่างๆ ในกลุ่มนี้ สามารถปรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ ของตัวกล้องได้ทั้งหมด เช่น ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ไวท์บาลานซ์ หรือการปรับชดเชยแสงเพื่อควบคุมการเปิดรับแสงตามความต้องการของผู้ใช้เองอีกด้วย
Sony A6300 มีฟังก์ชั่นที่ช่วยปรับขยายไดนามิกเรนจ์ให้เลือกใช้ได้ 2 รูปแบบเช่นเดียวกับกล้องโซนี่รุ่นอื่นๆ ด้วย นั่นคือฟังก์ชั่น Dynamic Range Optimizer หรือ DRO และอีกหนึ่งฟังก์ชั่นคือ High Dynamic Range หรือ HDR ซึ่งใช้งานได้เฉพาะกับโหมดถ่ายภาพในกลุ่ม Advance (P, A, S และ M) รวมทั้ง ต้องถ่ายภาพด้วยฟอร์แมท JPEG เท่านั้น โดยฟังก์ชั่น DRO ผู้ใช้สามารถเลือกระดับของการปรับขยายไดนามิกเรนจ์ได้ 5 ระดับจาก Level 1-5 ตามความเหมาะสมกับสภาพแสงเงา หรือการใช้งานในแต่ละรูปแบบ และบันทึกภาพที่ได้รับการปรับขยายไดนามิกเรนจ์แล้วเพียงภาพเดียว
ส่วนฟังก์ชั่น HDR นั้น กล้องจะบันทึกภาพ 3 ภาพ และเก็บรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละภาพ โดยบันทึกรายละเอียดในส่วนที่เป็นเงามืด บันทึกรายละเอียดในส่วนที่สว่าง และบันทึกรายละเอียดในส่วนที่เป็นโทนกลางๆ จากนั้นกล้องจะนำภาพทั้ง 3 ภาพมาประมวลผลอีกครั้ง ก่อนที่จะรวมเป็นภาพเดียว และบันทึกลงในเมมโมรี่การ์ด ฟังก์ชั่น HDR นี้ กล้องจะบันทึกภาพลงในเมมโมรี่การ์ดทั้งภาพที่ปรับขยายไดนามิกเรนจ์แล้ว และบันทึกภาพต้นฉบับ ที่ไม่มีการปรับแก้ด้วยเป็น 2 ภาพ
และ A6300 ยังมีระบบ MultiFrame NR ซึ่งจะช่วยลดสัญญาณรบกวนเมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย โดยกล้องจะบันทึกภาพต่อเนื่อง 4 ภาพด้วยความเร็วสูง แล้วนำมารวมเป็นภาพๆ เดียวที่มีสัญญาณรบกวนตํ่า
นอกจากโหมดถ่ายภาพแบบต่างๆ แล้ว A6300 ยังมีฟังก์ชั่นที่ใช้สร้างสรรค์ภาพพิเศษแบบต่างๆ ได้หลายจากฟังก์ชั่น Picture Effect ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นมาตรฐานของกล้องโซนี่หลายๆ ซีรีส์ ทั้งคอมแพคและกล้อง Alpha ด้วย โดย Picture Effect มีให้เลือกสร้างสรรค์ภาพในรูปแบบที่แตกต่างได้หลากหลาย อาทิ Toy Camera, Pop Color, Posterization, Retro, Soft High Key, Partial Color หรือ High Contrast Monochrome เป็นต้น ทำให้สนุกสนานกับการใช้กล้องได้มากขึ้นอีกด้วย สำหรับ Picture Effect บางรูปแบบ สามารถปรับเอฟเฟกต์เพิ่มเติมได้ด้วย อาทิ Toy Camera สามารถเลือกโทนภาพแบบ Warm ให้โทนภาพที่อุ่นขึ้น หรือ Cool ให้โทนภาพสบายตา หรือ Partial Color เลือกรูปแบบย่อยได้เป็นสีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว เป็นต้น โดยเมื่อเลือก Picture Effect แบบต่างๆ แล้ว ก็ให้กดปุ่มควบคุมแบบ 4 ทิศทางด้านขวา เพื่อเลือกฟังก์ชั่นย่อยต่างๆ ได้ นอกจากนั้น A6300 ยังเพิ่มเติมฟีเจอร์ที่น่าสนใจได้อีกมากกว่า 20 อย่างด้วยการดาว์นโหลดและติดตั้ง PlayMemory Camera Apps ซึ่งจะทำให้คุณสามารถสร้างสรรค์ภาพได้อย่างไร้ขีดจํากัด
อีกจุดเด่นหนึ่งของกล้อง Sony A6300 นั่นคือใช้จอมอนิเตอร์ที่สามารถปรับระดับได้ ซึ่งช่วยให้ถ่ายภาพในมุมมองต่างๆ ทั้งมุมสูงเหนือหัว หรือมุมตํ่าติดพื้นได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยจอมอนิเตอร์ที่ใช้มีขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 921,600 พิกเซล สามารถปรับเงยและปรับก้มได้จากระนาบจอปกติ และสลับการแสดงผลการทำงานระหว่างจอมอนิเตอร์กับช่องมองภาพแบบอัตโนมัติ เมื่อแนบตาเข้ากับช่องมอง
การใช้งาน
ผมมีโอกาสได้สัมผัสกับ Sony A6300 เป็นครั้งแรกในงาน CP+ 2016 ที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีโอกาสได้ลองเล่นฟังก์ชั่นต่างๆ เพียงแค่ชั่วครู่ เพราะมีผู้ให้ความสนใจกันมากมายทีเดียว จนกลับมาถึงเมืองไทยจึงได้สัมผัสกับ A6300 อีกครั้งแบบเต็มไม้เต็มมือมากกว่าเดิม ซึ่งผมเองใช้งานกล้อง Sony NEX-7 อยู่แล้ว ความรู้สึกในการจับถือและการควบคุมการทำงานจึงไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใด ถือว่าจับได้กระชับมือดีทีเดียว
ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะไม่ได้แตกต่างจากรุ่น A6000 แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง อาทิ แป้นปรับโหมดถ่ายภาพ ถูกตัดโหมด Superior Auto และ Intelligent Auto ถูกตัดออก เหลือเพียงโหมดออโต้ที่รวมเอาการทำงานแบบ Intelligent Auto และ Superior Auto ไว้ด้วยกัน และที่เพิ่มขึ้นมาคือ โหมด Custom 1 และ 2 หรือตัวเลข 1 และ 2 บนแป้นปรับโหมดถ่ายภาพนั่นเอง โดยทั้งสองโหมดนี้ เป็นการบันทึกการปรับตั้งกล้องให้คงค่าที่ตั้งไว้ในรูปแบบที่ใช้งานอยู่เป็นประจำนั่นเอง อย่างเช่น ผมปรับตั้งกล้องสำหรับถ่ายภาพบุคคล โดยตั้งค่าโหมดที่ใช้เป็นโหมด A หรือตั้งค่า Creative Style เป็นแบบถ่ายภาพบุคคล, ปรับตั้งค่าพื้นที่โฟกัสเป็นแบบ Center และเซ็ตค่าให้เป็นโหมด Custom 1 ในขณะที่ปรับตั้งกล้องถ่ายภาพทั่วๆ ไป หรือถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ผมเลือกใช้โหมด M และปรับตั้ง Creative Style เป็น Landscape , ปรับพื้นที่โฟกัสเป็นแบบ Flexible Spot แล้วผมต้องการถ่ายภาพบุคคล เมื่อปรับเลือกโหมดถ่ายภาพมาที่โหมด Custom 1 กล้องจะปรับเปลี่ยนค่าที่ตั้งอยู่ให้เป็นค่าสำหรับถ่ายภาพบุคคลตามที่ได้บันทึกไว้โดยอัตโนมัติ โดยที่ผมไม่ต้องมาปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ ใหม่ทั้งหมด ซึ่งสะดวกสำหรับการใช้งานมากทีเดียวครับ
ผมมีโอกาสได้ลองระบบ Continuous Focus และ Tracking Focus กับกีฬา Wake Board ซึ่งเป็นกีฬาทางนํ้าที่มีการเคลื่อนที่หลายๆ ทิศทางอยู่พอสมควร การโฟกัสติดตามซับเจกต์แม่นยำมากทีเดียว การ Tracking ถือว่าทำดี ถึงแม้ว่า หลายๆ ครั้งนักกีฬาจะเปลี่ยนทิศทางการเล่นไปมา หรือมีการกระโดดลอยตัวก็ตาม
ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงถึง 11 ภาพต่อวินาที ช่วยให้เก็บแอคชั่นต่างๆ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์และต่อเนื่อง ผมกดชัตเตอร์ค้างไว้ พร้อมแพนกล้องตามนักกีฬา สามารถกดชัตเตอร์รัวต่อเนื่องได้ถึง 47 ภาพกับเมมโมรี่การ์ด Sony U3 94mb/s ก็ช่วยให้ผมสามารถเก็บแอคชั่นของนักกีฬาได้อย่างครบถ้วนและต่อเนื่องด้วยครับ
สำหรับการเลือกรูปแบบ Tracking Focus นั้น จะต้องเลือกใช้งานคู่ไปกับโหมดโฟกัสแบบต่อเนื่อง หรือ Continuous Focus และเลือกพื้นที่โฟกัสแบบ Lock-on AF ซึ่งมีโหมดย่อยให้เลือกใช้อีกหลายรูปแบบ เช่น Lock-on AF: Flexible Spot S, M หรือ L, Lock-on AF: Expand Flexible Spot, Lock-on AF: Center, Lock-on AF: Zone หรือ Lock-on AF: Wide โดยโหมดที่ผมเลือกใช้คือ Lock-on AF: Zone เพื่อควบคุมพื้นที่ในการโฟกัสให้กว้างขึ้น แต่ยังคงเน้นไปที่ตัวซับเจกต์หลักครับ การเลือกใช้ทำได้โดย กดปุ่มฟังก์ชั่น (Fn) เพื่อเลือกการแสดงผลที่จอมอนิเตอร์ ใช้แป้นควบคุมด้านหลัง เลือกมาที่พื้นที่โฟกัส จากนั้นกดปุ่ม set เพื่อเข้าสู่เมนูปรับตั้งหมุนแป้นควบคุมด้านหลัง เพื่อเลือกพื้นที่โฟกัสที่ต้องการ และใช้แป้นควบคุมด้านบน เลือกพื้นที่โฟกัสย่อย และกดปุ่ม Set เพื่อยืนยันค่าที่ต้องการนั้นๆ ครับ
ระบบ Lock on AF ทำงานได้แม่นยำน่าพอใจ ทำให้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวเร็วๆ ได้ดี Sony A6300 เลนส์ FE 70-200mm F4G OSS, โหมด M ชัตเตอร์ 1/2500 วินาที f/5.6, ISO400, WB: Daylight
ไฟล์ภาพของ Sony A6300 มีความละเอียดที่สูงมากถึง 24.2 ล้านพิกเซล ซึ่งก็ตอบสนองความต้องการของช่างภาพมืออาชีพ ที่ตองการไฟล์ภาพขนาดใหญ่ หรืองานที่ต้องการความละเอียดสูง ซึ่งข้อดีของไฟล์ภาพความละเอียดสูงคือถึงแม้ว่าบางครั้งต้องการครอบตัดส่วนของภาพไฟบ้าง แต่ก็ยังได้ไฟล์ที่มีความละเอียดมากๆ อยู่เช่นเดิม ซึ่งคุณภาพของไฟล์ที่ได้ก็ถือว่าดีทีเดียว สีสัน ความคมชัด รวมทั้งการถ่ายทอดรายละเอียดส่วนต่างๆ ทำได้อย่างยอดเยี่ยม
ช่องมองภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ แบบ OLED Tru-Finder และมีความละเอียดสูงถึง 2,360,000 พิกเซล และเลือกเฟรมเรทได้ 50 fps และ 100 fps ช่วยให้มองภาพอย่างเป็นธรรมชาติและสบายตามากขึ้น ไม่ออกอาการหน่วง หรือภาพล้มให้มึนหัวอีกต่อไป และความโดดเด่นของช่องมองภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเหนือช่องมองภาพแบบ OVF นั่นคือสามารถมองเห็นภาพจริงจากการตั้งค่าการทำงานต่างๆ ก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ซึ่งช่วยให้ปรับตั้งกล้องได้แม่นยำมากขึ้น ลดข้อผิดพลาดลงไปได้เป็นอย่างดีทีเดียว ผมมองเห็นในช่องมองภาพอย่างไร ผมก็สามารถถ่ายภาพออกมาแบบนั้นได้เลย ผมต้องการภาพแบบไหน ผมก็สามารถปรับตั้งค่าแล้วมองผ่านช่องมองภาพจนได้ค่าที่ต้องการแล้วก็กดชัตเตอร์ถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องได้เลย ไม่ต้องมาคอยเช็กภาพจากหลังจออยู่บ่อยๆ
ผมชอบความสะดวกในการปรับตั้งค่าการทำงานด้วยปุ่มฟังก์ชั่น (Fn) ที่โซนี่ออกแบบให้เป็นคีย์ลัดที่สามารถปรับตั้งค่าต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการถ่ายภาพ ซึ่งมักจะมีการเปลี่ยนแปลงค่าต่างๆ อยู่ตลอด เช่น พื้นที่โฟกัส, ความไวแสง, ไวท์บาลานซ์, ระบบวัดแสง, การชดเชยแสง, Creative Style, Picture Effect หรือเลือกใช้ฟังก์ชั่นขยาย ไดนามิกเรนจ์ เป็นต้น ซึ่งผมเองก็ค่อนข้างถูกอกถูกใจกับการออกแบบในลักษณะนี้อยู่มากทีเดียว เพราะไม่ต้องไปกดหาจากปุ่มเมนู ซึ่งหลายๆ ครั้ง ต้องกดไล่ๆ ไปทีละเมนู เสียเวลามากทีเดียว โดยเฉพาะในยามที่ติดพันกับการถ่ายภาพอยู่ด้วย รวมทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนเมนูต่างๆ ได้ตามรูปแบบการใช้งานของแต่ละคนได้อีกด้วย
Sony A6300 ปรับตั้งความไวแสงได้สูงถึง ISO 51200 ซึ่งช่วยให้ถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี และต้องชมว่ามีการจัดการ Noise ที่ดีมาก ไฟล์ภาพที่ใด้ใสเคลียร์มากทีเดียว ซึ่งถ้าหากว่าเป็นการใช้งานทั่วๆ ไป ถ่ายภาพท่องเที่ยว ถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก สามารถใช้ความไวแสงได้ทุกช่วง ตั้งแต่ ISO100 ไปจนถึง ISO12800 ส่วนที่ ISO 25600 เห็น Noise ได้ชัดเจนขึ้น
สำหรับถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ และจำเป็นต้องใช้ความไวแสงสูงๆ รวมทั้งไม่มีขาตั้งกล้อง ผมจะเลือกใช้ฟังก์ชั่น Multi Frame NR มากกว่าการดัน ISO ขึ้นไป ตรงๆ โดย Multi Frame NR สามารถเลือกค่าความไวแสงสูง เพื่อถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งความไวแสงให้สูงเกินความจำเป็น และเลือกเอฟเฟกต์ของ Noise Reduction ได้ 2 ระดับ คือ Standard และ High โดยกล้องจะถ่ายภาพต่อเนื่อง 4 ภาพ ก่อนที่จะนำภาพทั้งหมดมาประมวลผลใหม่ แล้วบันทึกเป็นภาพเดียวที่มีความคมชัด ใสเคลียร์ และมี Noise ตํ่า
C : Sony A6300 เลนส์ FE 70-200mm F4G OSS, โหมด M ชัตเตอร์ 1/640 วินาที f/5.6, ISO100, WB: Daylight
D : Sony A6300 เลนส์ FE 70-200mm F4G OSS, โหมด M ชัตเตอร์ 1/1600 วินาที f/5.6, ISO200, WB: Auto
ความเห็น
ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมได้ลองใช้งานระบบโฟกัสของ Sony A6300 แต่ก็สร้างความประทับใจได้เป็นอย่างมาก ผมใช้เวลาในการถ่ายภาพอยู่ประมาณ 3 ชั่วโมง ลั่นชัตเตอร์ไปกว่า 2,000 ครั้ง เป็นการใช้งานกล้องที่สนุกครั้งนึงเลยทีเดียว การบันทึกภาพต่อเนื่องไม่มีสะดุดหรือติดขัด ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากเมมโมรี่การ์ดที่มีความเร็วในการเขียนสูง กับบัฟเฟอร์ที่ค่อนข้างใหญ่ของกล้อง ไฟล์ภาพที่ได้มีความคมชัด สีสัน รายละเอียดต่างๆ ที่ตัวกล้องถ่ายทอดออกมา ตอบสนองความต้องการของผมได้เป็นอย่างดีครับ สำหรับผู้ที่ต้องการกล้องตัวเล็กๆ ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานครบครัน มีความละเอียดสูง รองรับการใช้งานได้ตั้งแต่มือเริ่มต้นที่ต้องการกล้องที่ใช้งานได้ง่ายมือใหม่ที่จริงจังกับคุณภาพของภาพมากขึ้นไปจนถึงมือโปรที่ต้องการไฟล์ภาพคุณภาพสูง การตอบสนองการทำงานที่รวดเร็ว และระบบออโตโฟกัสที่เร็ว และแม่นยำ Sony A6300 จัดเป็นกล้อง Highly Reccommended เลยครับ
เรื่อง : ภาพ / พีร วงษ์ปัญญา
ขอบคุณ : บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องและเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.sony.co.th