Camera Reviews

Reviews : Fujifilm GFX 50s

นักถ่ายภาพจำนวนไม่น้อยที่มักจะมีคำถามกับกล้องฟูจิฟิล์มมาตลอด 2-3 ปีนี้คือ ฟูจิฟิล์มไม่ทำกล้องฟูลเฟรมออกมาบ้างหรือ จะทำเฉพาะกล้อง x-series ขนาด APS-C ใช่หรือไม่ และคำตอบก็ออกมาแล้ว คือ ไม่มีกล้องฟูลเฟรม แต่ขยับไปเป็นกล้องขนาดมีเดียมฟอร์แมตเลย เพื่อรองรับการใช้งานของมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพแฟชั่น พอร์ตเทรต เวดดิ้ง ช่างภาพแลนด์สเคป สถาปัตยกรรม และช่างภาพโฆษณาที่ถ่ายภาพ Still Life  รวมทั้งรองรับการใช้งานของช่างภาพสมัครเล่นจริงจังที่คาดหวังกับคุณภาพที่สูงเกินกว่าฟอร์แมต APS-C จะให้ได้

จุดเด่นของ FUJIFILM GFX 50S

  • ออกแบบให้ใช้ได้คล่องตัวเหมือนกล้อง X-Series
  • สุดยอด EVF และจอ LCD
  • คุณภาพอันเยี่ยมยอด
  • โครงสร้างแข็งแกร่ง รองรับการใช้งานหนัก
  • ระบบโฟกัสที่เหนือชั้นกว่ากล้องมีเดียมฟอร์แมตทั่วไป
  • มาพร้อมระบบการทำงานเพียบพร้อม

ทำไมต้องมีเดียมฟอร์แมต 

ในความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่าฟูจิฟิล์มต้องการสร้างกล้องที่ให้คุณภาพแตกต่างจากกล้อง x-series อย่างชัดเจน ดังนั้นการขยับขึ้นไปเป็นฟูลเฟรม อาจไม่เห็นความแตกต่างเท่าใดนัก ทั้งนี้เพราะกล้อง x-series โดยเฉพาะ X-Pro2, X-T2 หรือ X-T20 นั้น เป็นกล้องความละเอียดสูง 24 ล้านพิกเซลที่ให้คุณภาพได้ใกล้เคียงกล้องฟูลเฟรม 24 ล้านพิกเซลอย่างมาก หากทำกล้องฟูลเฟรมออกมา กลุ่มผู้ใช้จะยังคงเป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อสินค้า  ดังนั้นหากจะวางภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูโปรอย่างชัดเจนและรวดเร็ว การขยับขึ้นไปเป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมตน่าจะดีกว่า  และฟูจิฟิล์มก็มีประสบการณ์ในการผลิตกล้องมีเดียมฟอร์แมตมายาวนานในยุคฟิล์ม ประกอบกับการผลิตเลนส์มีเดียมฟอร์แมตก็เป็นสิ่งที่ฟูจิฟิล์มถนัดอยู่แล้ว เพราะทำเลนส์ให้กล้องมีเดียมฟอร์แมตแบรนด์ดังมาตลอดกว่าทศวรรษ  ดังนั้นฟูจิฟิล์มจึงมีความพร้อมสูงมาก

กล้องมีเดียมฟอร์แมต คือ กล้องขนาดกลางที่ในยุคฟิล์มจะแบ่งออกเป็น 6×4.5 , 6×6, 6×7 และ 6×8 หน่วยคือของขนาดของฟิล์มที่เป็นเซนติเมตร แต่พอมาถึงยุคดิจิตอล การจะทำเซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่ถึง 6×7 และ 6×8 ซม. นั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะกล้องจะมีราคาสูงมาก ขนาดใหญ่มาก และปัญหาจะอยู่ที่การออกแบบเลนส์ที่จะให้คุณภาพดีพอสำหรับเซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่มากๆ  ฟูจิฟิล์มจึงเลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพขนาด 44×33 มม. ซึ่งมีพื้นที่ภาพมากกว่ากล้องฟูลเฟรม 1.7 เท่า  สิ่งที่ได้คือ คุณภาพจะสูงกว่ากล้องฟูลเฟรมอย่างชัดเจนในเรื่องของการถ่ายทอดรายละเอียด การไล่เฉดสี  ไดนามิคเรนจ์ และสัญญาณรบกวน (เมื่อเทียบกับกล้องฟูลเฟรมความละเอียดใกล้เคียงกัน)  นอกจากนั้นยังให้ความชัดลึกน้อยกว่า

และ FUJIFILM GFX 50S ก็เป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมตในรูปแบบมิเรอร์เลสรุ่นแรกจากฟูจิฟิล์ม โดยใช้ประโยชน์จากรูปแบบของกล้องมิเรอร์เลสที่ไม่มีกระจกสะท้อนภาพ ทำให้สามารถออกแบบให้ GFX 50S มีขนาดเล็กและนํ้าหนักเบาได้ โดยขนาดตัวกล้องใกล้เคียงกับกล้องฟูลเฟรมระดับเซมิโปร คือ 920 กรัม (รวมแบตเตอรี่ เมมโมรี่การ์ดและช่องมอง EVF)  และ 825 กรัม (รวมแบตเตอรี่และเมมโมรี่การ์ด แต่ไม่รวม EVF) ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมต แต่ไม่เป็นภาระต่อการนำพาและการใช้งานแต่อย่างใด


ออกแบบให้ใช้ได้คล่องตัวเหมือนกล้อง X-Series  

แม้จะเป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมต แต่ GFX 50S ออกแบบให้เป็นกล้องที่ใช้งานได้สะดวก คล่องตัว เช่นเดียวกับกล้องในตระกูล X-Series อย่างเช่น X-T2 โดยวางแป้นปรับด้านบนตัวกล้องคล้ายกับ X-T2 โดยแป้นปรับความเร็วชัตเตอร์วางด้านขวาบนตัวกล้อง มีปุ่มล็อกและปลดล็อกตรงกลางแป้น สามารถล็อกหรือไม่ล็อกก็ได้ แป้นปรับความไวแสงวางบนตัวกล้องซีกซ้าย ปรับแบบกลไกได้ตั้งแต่ ISO 100 ถึง ISO 12800 มีตำแหน่ง A (Auto ISO) และตำแหน่ง C (ปรับเลือก ISO จากแป้นควบคุมด้านหน้าได้ตั้งแต่ ISO 50 ถึง ISO 102400)  การปรับโหมดบันทึกภาพทำได้คล่องตัวกว่า X-T2 ด้วยซํ้าเพราะบนวงแหวนปรับรูรับแสง  นอกจากตำแหน่ง A แล้ว ยังมีตำแหน่ง C ด้วย ทำให้สามารถควบคุมรูรับแสงจากตัวกล้องด้วยแป้นควบคุมด้านหน้าในโหมด M และโหมด A ได้  ทำให้ช่างภาพที่คุ้นเคยกับการใช้แป้นควบคุมด้านหน้าและด้านหลังใช้งานได้คล่องตัว  ปุ่ม DRIVE ย้ายมาอยู่ด้านบนตัวกล้อง หน้าแป้นปรับความเร็วชัตเตอร์  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใช้สะดวก ส่วนระบบชดเชยแสงไม่ใช้แป้นหมุนแบบกลไก แต่ใช้ปุ่มกดที่วางไว้ด้านข้างปุ่มลั่นชัตเตอร์ ร่วมกับแป้นควบคุมด้านหลังตัวกล้อง การปรับชดเชยแสงอาจไม่เร็วเท่า X-T2 แต่ก็สะดวกต่อการใช้งานดีพอควร  เหตุที่ GFX 50S ไม่มีแป้นชดเชยแสง  เพราะใช้วางจอ LCD ขนาดใหญ่ 1.28 นิ้ว ด้านบนแสดงข้อมูลที่สำคัญ คือ ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ชดเชยแสง ความไวแสง โหมดบันทึกภาพ ไวท์บาลานซ์ กำลังแบตเตอรีและช่องการ์ดที่ใช้งานอยู่  ฟูจิฟิล์มเรียกจอนี้ว่า Sub monitor  จุดเด่นคือมันเห็นข้อมูลได้ชัดเจนมากในทุกสภาพแสง มีไฟดูข้อมูลในที่มืด และแม้จะปิดสวิทซ์การทำงาน กล้องก็ยังสามารถแสดงข้อมูลเรื่องจำนวนภาพที่บันทึกได้ แสดงช่องใส่เมมโมรี่การ์ดที่ใช้งานอยู่และกำลังแบตเตอรี่ได้

ด้านหลังตัวกล้องออกแบบแตกต่างจากกล้อง X-Series เพราะความหนาของแผงหลังที่นูนออกมา  GFX 50S จึงวางสวิทซ์ปรับเลือกโหมดโฟกัสไว้ส่วนบนของจอ LCD ปุ่มลบภาพและปุ่มดูภาพวางไว้ด้านบนจอ LCD ซีกขวา ปุ่มปรับด้านหลังไม่ฟิกซ์ตำแหน่งระบบอะไรไว้ ออกแบบให้ผู้ใช้เลือกระบบที่ต้องการมาวางไว้ได้ถึง 9 ตำแหน่ง (Fn 1 ถึง Fn9) โดยค่าที่ตั้งมาจากโรงงาน  ปุ่ม 4 ทิศทางด้านบนใช้ปรับเลือกพื้นที่โฟกัส ด้านขวาปรับไวท์บาลานซ์ ด้านซ้ายปรับ Film Simulation  ด้านล่างปรับระบบ Rapid AF โดยวางปุ่ม Display ไว้ด้านล่าง แต่ที่แปลกคือวางปุ่ม Q ไว้บนสันนูนด้านหลังตัวกล้อง โดยยังคงมีจอยสติ๊ก อยู่ส่วนบนสามารถใช้นิ้วโป้งย้ายจุดโฟกัสได้สะดวก

ช่องใส่แบตเตอรีย้ายมาวางด้านข้าง  ดังนั้นแม้จะใช้ขาตั้งกล้องก็ยังสามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรีได้สะดวก  แบตเตอรีที่ใช้เป็นรุ่น NP-T125 ขนาดใหญ่กว่าแบตเตอรีของ X-Series มาก (ประมาณเท่ากับ 2 ก้อนประกบกัน) กำลังไฟ 12.6 โวลท์ ความจุ 1,250 มิลลิแอมป์  ช่องใส่เมมโมรี่การ์ดด้านขวา ใส่ SD Card ได้ 2 ช่อง  ด้านล่างตัวกล้องมีขั้วสัมผัสไฟฟ้า เพื่อใช้กับกริปแนวตั้งรุ่น VG-GFX1

สุดยอด EVF และจอ LCD 

หากคุณมองเข้าไปในช่องมองภาพ EVF ของ GFX 50S สิ่งที่คุณจะได้เห็นก็คือ ภาพที่มีขนาดใหญ่โต เต็มตา มองภาพได้ชัดเจน และคมชัดเยี่ยมยอดด้วยความละเอียดที่สูงถึง 3.69 ล้านจุด  จึงมองภาพได้สบายตาใกล้เคียงกับช่องมองออพติคัลของกล้องระดับโปร แต่โดดเด่นกว่าด้วยการเห็นภาพตรงกับภาพที่ได้จริงทั้งค่าแสงและสีสัน ช่องมองภาพมีอัตราขยายสูงถึง 0.85X เห็นภาพ 100%  ใช้เลนส์ตาคุณภาพสูงที่เคลือบผิวแบบหลายชิ้น ปรับแก้สายตาได้ช่วงกว้างมากตั้งแต่ -4 ถึง +2 ไดออฟเตอร์

นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์เสริมเป็นช่องมองภาพ EVF รุ่น EVF–TL1 ที่มีคุณสมบัติเด่นคือสามารถปรับเงยได้ 90 องศา ปรับหมุนแนวนอนได้ 45 องศา ทั้งด้านซ้ายและขวา ช่วยให้ช่างภาพสามารถมองภาพมุมสูง มุมตํ่า หรือใช้ในลักษณะของ Waist level ที่นิยมกันในกล้องมีเดียมฟอร์แมต

จอ LCD ด้านหลังตัวกล้องมีขนาดถึง 3.2  นิ้ว และมีความละเอียดสูงมากคือ 2.36 ล้านจุด ให้ภาพคมกริบ สามารถตรวจสอบความคมชัดได้อย่างดีเยี่ยม เห็นภาพ 100% ปรับมุมเงยได้ 90 องศา และก้มได้ 45 องศา  ทำให้ถ่ายภาพมุมสูงและมุมตํ่าได้สะดวก และเมื่อถือกล้องแนวตั้ง สามารถปรับจอออกด้านขวาขึ้นได้ถึง 60 องศา ทำให้ยังถ่ายภาพมุมสูงและมุมตํ่าได้อย่างสะดวก

ความโดดเด่นของจอ LCD ที่ใช้ใน GFX 50S คือ มีระบบทัชสกรีนเช่นเดียวกับที่ใช้ใน X-T20 สามารถเลือกจุดโฟกัสได้ด้วยการแตะหน้าจอ ปรับเลือกได้ทั้ง Touch AF และ Touch Area (กล้องจะย้ายจุดโฟกัสแต่ยังไม่โฟกัสจนกว่าจะแตะนิ้วลงบนปุ่มลั่นชัตเตอร์ครึ่งหนึ่ง) และสามารถปิดทัชสกรีนได้  ในโหมดดูภาพสามารถเลื่อนภาพด้วยการปัดนิ้ว ขยายภาพ 100% ด้วยการแตะหน้าจอ 2 ครั้ง (Double Tab)  และถ่างนิ้วเพื่อซูมขยายภาพได้ เลื่อนดูแต่ละส่วนของภาพได้ตามการเลื่อนนิ้วบนหน้าจอ และที่เด่นกว่ากล้อง X-Series คือสามารถลากนิ้วเพื่อให้จุดโฟกัสย้ายตามนิ้ว (Drag) ได้

คุณภาพอันเยี่ยมยอด 

จุดเด่นของกล้องมีเดียมฟอร์แมตก็คือการใช้เซ็นเซอร์รับภาพที่มีขนาดใหญ่กว่ากล้องฟูลเฟรม ทำให้ขนาดของพิกเซลใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับกล้องที่มีความละเอียดใกล้เคียงกัน  ประสิทธิภาพในการรับแสงของแต่ละพิกเซลจึงสูงกว่า ผลที่ได้คือ สัญญาณรบกวนตํ่ากว่า ไดนามิคเรนจ์กว้างกว่าและความคมชัดที่สูงมาก  โดย GFX 50S ใช้เซ็นเซอร์รับภาพ CMOS ขนาด 44×33 มม. ที่ใช้เทคโนโลยีลํ้าหน้าในการผลิต ให้ความละเอียด 51.4 ล้านพิกเซล  ให้ภาพที่มีรายละเอียดเยี่ยมยอดโดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับเลนส์ GF (ที่ออกแบบรองรับความละเอียดของภาพที่สูงถึง 100 ล้านพิกเซล)  ภาพที่ได้จะมีการไล่โทนสีที่ละเอียดนุ่มนวลเป็นธรรมชาติให้ภาพที่สมจริงดูมีมิติ  และด้วยการให้ไดนามิคเรนจ์ที่กว้างมากถึง 14 สตอป จึงเก็บรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างได้ดีเป็นพิเศษ (กับไฟล์ RAW 14 บิต)  และด้วยการใช้หน่วยประมวลผล X-Processor Pro ที่มีความเร็วในการทำงานสูงและมีประสิทธิภาพในการจัดการไฟล์ที่เยี่ยมยอด  ทำให้ภาพมีคุณภาพสูง และช่วยให้กล้องมีความเร็วในการทำงานสูงเกินกว่ากล้องมีเดียมฟอร์แมตทั่วไปจะทำได้  และความโดดเด่นด้านคุณภาพส่วนสำคัญอย่างหนึ่งมาจากคุณภาพเลนส์  ฟูจิฟิล์มออกแบบเลนส์ G Mount ใหม่ ที่มีความกว้างของเมาท์เลนส์ 65 มม. และมีระยะห่างจากแปลนเมาท์ถึงเซ็นเซอร์รับภาพ (Flange back) 26.7มม. โดยมีระยะห่างจากเลนส์ชิ้นสุดท้ายน้อยที่สุดได้ถึง 16.7 มม. ด้วยระบบ Flange back ที่น้อย ทำให้สามารถออกแบบเลนส์ให้มีขนาดไม่ใหญ่ นํ้าหนักไม่มาก และมีความสว่างสูงได้  นอกจากนั้นยังสามารถใช้ร่วมกับเลนส์มีเดียมฟอร์แมตค่ายอื่นๆ รวมทั้งเลนส์ของกล้อง 35 มม. ได้ โดยผ่านอแดปเตอร์ รวมทั้งสามารถใช้กับ กล้อง Large format ได้โดยใช้อแดปเตอร์ เลนส์ชุดแรกผลิตออกมา  3 รุ่น คือ GF 63mm. f/2.8R WR , GF 32-64mm. f/4R LM WR และ GF 120mm. f/4R LM OIS WR Macro  และเปิดตัวใหม่อีก 2 รุ่น คือ GF 23mm.f/4R LM WR , GF110mm. f/2R LM WR  โดยเลนส์ทุกรุ่นฟูจิฟิล์มเคลมว่า ออกแบบอย่างพิถีพิถัน กำลังแยกขยายสูงเพียงพอที่จะรองรับเซ็นเซอร์รับภาพความละเอียด 100 ล้านพิกเซล และมีการซีลป้องกันละอองนํ้าและฝุ่นทุกรุ่น

GF 63mm. f/2.8R WR  เป็นเลนส์มาตรฐาน (ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าเลนส์ 50 มม.) ออกแบบให้มีขนาดเล็ก ความสว่างสูง ให้ความคมชัดเยี่ยมยอดตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด  โครงสร้างชิ้นเลนส์ 10 ชิ้น 8 กลุ่ม (ชิ้นเลนส์ ED 1 ชิ้น) โฟกัสใกล้สุด 0.5 เมตร นํ้าหนัก 405 กรัม ขนาดฟิลเตอร์ 62 มม.

GF 32-64mm.f/4R LM WR เลนส์ซูมมาตรฐาน (ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าเลนส์ 25-50 มม. ของกล้อง 35 มม.)  ออกแบบสำหรับใช้งานทั่วไป ทั้งการถ่ายภาพแลนด์สเคป ภาพสถาปัตยกรรม ใช้มอเตอร์แบบลิเนียร์ที่เงียบและเร็ว ให้คุณภาพเยี่ยมยอดตลอดช่วงซูม และแม้เปิดรูรับแสงกว้างสุดภาพก็ยังคมกริบ  ใช้ชิ้นเลนส์ 14 ชิ้น 11 กลุ่ม (ชิ้นเลนส์แอสเฟอริคัล 3 ชิ้น , ชิ้นเลนส์ ED 1 ชิ้น และ SUPER ED 1 ชิ้น)  ขนาดฟิลเตอร์ 77 มม. นํ้าหนัก 875 กรัม

GF 120mm.f/4R LM OIS WR Macro  เลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลางที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายมาโครด้วยอัตราขยาย 1:2  ออกแบบให้ได้คุณภาพเยี่ยมยอดตั้งแต่ระยะไกลจนถึงใกล้สุด ให้ภาพคมกริบตั้งแต่ f/4  ใช้ชิ้นเลนส์ 14 ชิ้น 9 กลุ่ม (ชิ้นเลนส์ ED 3 ชิ้น) ปรับโฟกัสให้สุด 0.45 เมตร ขนาดฟิลเตอร์ 72 มม. นํ้าหนัก 980 กรัม

โครงสร้างแข็งแกร่ง รองรับการใช้งานหนัก 

GFX 50S ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับมืออาชีพกับโจทย์ที่ต้องการทั้งความแข็งแรงและนํ้าหนักเบา  บอดี้จึงใช้วัสดุแมกนีเซียมอัลลอย เพื่อความแข็งแกร่งสูงแต่เบา หากได้จับถือคุณจะรู้สึกได้ถึงความแน่นหนา  ตัวกล้องซีลรอบตัว 58 จุด เพื่อป้องกันละอองนํ้าและฝุ่น ดังนั้นจึงสามารถใช้งานได้ในทุกสภาพอากาศ เพราะมีการซีลทั้งบอดี้ เลนส์ กริป  GFX 50S จึงเป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมตที่ใช้งานได้ยอดเยี่ยมทั้งในสตูดิโอและการใช้ภาคสนาม ชัตเตอร์ของ GFX 50S เป็นชัตเตอร์แบบหน้าระนาบเซ็นเซอร์รับภาพรุ่นแรกของโลกที่ออกแบบมาสำหรับกล้องมิเรอร์เลสขนาดมีเดียมฟอร์แมตโดยเฉพาะ โดยเป็นชัตเตอร์ที่มีระบบกลไกการทำงานที่มีความสั่นสะเทือนน้อย ใช้งานได้ถึง 150,000 ครั้ง มีความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/4000 วินาที  นอกจากนั้นยังมีชัตเตอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความสั่นสะเทือนของการทำงานชัตเตอร์ (ที่เป็นสาเหตุทำให้ภาพเบลอได้)   โดยชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์จะมีความเร็วตั้งแต่ 4 วินาที ถึงสูงสุด 1/16000 วินาที  หรือจะเลือกใช้ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานเฉพาะชัตเตอร์ชุดหน้า ส่วนชุดหลังที่ปิดการรับแสงใช้ชัตเตอร์แบบแมคคานิคก็ได้ ความเร็วชัตเตอร์ที่สัมพันธ์กับแฟลชคือ 1/125 วินาที

ระบบโฟกัสที่เหนือชั้นกว่ากล้องมีเดียมฟอร์แมตทั่วไป

GFX 50S ใช้ระบบโฟกัสตรวจจับคอนทราสต์ (TTL Contrast AF) ในการทำงาน ไม่ได้ติดตั้งระบบเฟสดีเทคชั่นเหมือนกล้อง X-T2 หรือ X-Pro2 แต่ระบบตรวจจับคอนทราสต์จะโดดเด่นในเรื่องความแม่นยำของการโฟกัส โดยมีจุดโฟกัสมากถึง 425 จุด (17×25จุด) สามารถปรับเลือกแบบ 117 จุด (9×13) ได้ และปรับเลือกขนาดพื้นที่โฟกัสได้อีก 6 แบบ โดยสามารถปรับการทำงานได้ 3 แบบ คือ wide tracking , zone และ single point นอกจากจะย้ายจุดโฟกัสด้วยการแตะหน้าจอ (Touch AF) แล้ว  GFX 50S ยังมีจอยสติ๊กที่ด้านหลังตัวกล้อง  ออกแบบให้สามารถปรับโยกเพื่อย้ายจุดโฟกัสได้ทันที  ซึ่งมีประโยชน์มากเมื่อมองภาพจากช่องมอง EVF ทำให้การย้ายจุดโฟกัสทำได้รวดเร็ว และสำหรับการถ่ายภาพพอร์เทรต ยังมีระบบ Face Detection และ Eye Detection AF ตรวจจับใบหน้า และโฟกัสที่ดวงตาให้ ทำให้การโฟกัสมีความแม่นยำสูง โดยสามารถปรับตั้งได้ว่า จะให้โฟกัสที่ตาขวาหรือตาซ้ายเป็นหลัก นอกจากนั้นในช่องภาพและจอ LCD ยังสามารถแสดงสเกลช่วงความชัดลึก และระยะโฟกัสให้ผู้ใช้ทราบ ในการโฟกัสแบบแมนนวลก็มีตัวช่วยโฟกัส ทั้งแบบการขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นและแบบ Peaking Focus (แสดงสีที่ขอบวัตถุซึ่งอยู่ในจุดโฟกัส)

มาพร้อมระบบการทำงานเพียบพร้อม

GFX 50S มีฟังก์ชันการทำงานมากมายเช่นเดียวกับกล้อง X-Seriesโดยมีโหมด Film Simulation ให้เลือกคาแลคเตอร์ของภาพหลากรูปแบบรวมทั้ง Classic Chrome และ Acros  นอกจากนั้นยังมีโหมด Color Chome Effect เพื่อเพิ่มความลึกและความสดของสีทำให้ภาพดูมีมิติ GFX 50S มีโหมด 3D Electronic Level สามารถแสดงมาตรวัดระดับนํ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ความเที่ยงตรงสูง  สามารถแสดง Histogram แบบ RGB ได้

GFX 50S มีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง 3 ภาพ / วินาที บันทึกต่อเนื่องได้ 8 ภาพ (RAW) และ 13 ภาพ (RAW บีบอัดข้อมูล)

ระบบแฟลชโดดเด่น โดยเมื่อใช้กับแฟลชรุ่น EF-X500 จะรองรับโหมด FP สามารถสัมพันธ์กับแฟลชได้สูงสุด 1/4000 วินาที (ชัตเตอร์แบบแมคคานิค)  มีระบบถ่ายคร่อมอัตโนมัติหลายรูปแบบ มีระบบตั้งถ่ายเว้นช่วงเวลา ระบบถ่ายภาพซ้อน แสดงกำลังแบตเตอรีได้ 5 ระดับตั้งแต่ 0-4  มีระบบบันทึกเสียงพูดได้ 30 วินาที เพื่อใช้เป็นข้อมูลภาพ หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับภาพนั้นๆ  โดยข้อมูลเสียงจะแนบไปกับไฟล์ภาพ  สามารถบันทึกข้อมูลลิขสิทธิ์ภาพลงใน EXIF DATA ได้  GFX 50S มีระบบทำความสะอาดเซ็นเซอร์รับภาพอัตโนมัติ

ระบบวิดีโอของ GFX 50S ให้คุณภาพระดับ FULL HD 30p สามารถใช้งานร่วมกับ Film Simulation ได้

และ GFX 50S มีฟังก์ชัน Wi-Fi ในตัว เมื่อใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่ติดตั้งแอพ FUJIFILM Camera Remote จะสามารถควบคุมสั่งการบันทึกภาพจากสมาร์ทโฟนได้ ถ่ายโอนภาพจากกล้องได้สะดวก

GFX 50S มีฟังก์ชันแปลงไฟล์ RAW ในตัวกล้อง จึงสามารถปรับแก้ไขภาพได้จากตัวกล้องโดยตรง และสำหรับมืออาชีพยังสามารถใช้กับซอฟต์แวร์ Lightroom ด้วยปลั๊กอิน ทำให้สามารถควบคุมการทำงานของกล้องจากคอมพิวเตอร์ได้   รองรับการทำงานในสตูดิโอได้ และยังมีซอฟต์แวร์ HS-V5 สำหรับระบบปฏิบัติการ Window เพื่อดูภาพและสั่งการทำงานจากคอมพิวเตอร์ได้


ผลการทดสอบ

กล้อง FUJIFILM GFX 50S  เลนส์ Fujinon GF 120mm. f/4R LM WR OIS Macro ; 1/100 Sec f/5.6 , Mode : M , WB : Auto , Film Simulation : Velvia , ISO 200

ผมได้รับกล้องรุ่นนี้มาพร้อมเลนส์ครบ 3 ตัว คือ GF 63 mm.f/2.8 R WR,GF 32-64mm.f/4R WR และ GF 120mm.f/4R LM OIS WR Macro  โดยภาพทั้งหมดบันทึกด้วยไฟล์ RAW+JPEG (Super Fine)  ขนาดไฟล์จึงค่อนข้างใหญ่มาก (ไฟล์ RAW 110-130 MB เพราะไฟล์ RAW ผมเลือกแบบไม่มีการบีบอัดข้อมูล

ในส่วนของการจับถือและควบคุม ต้องบอกว่าดีมากครับ เป็นกล้องที่ไม่จำเป็นต้องมีกริปแนวตั้งก็จับถือได้ถนัด เต็มมือ กระชับและมั่นคงดีน่าประทับใจ  GFX 50S ออกแบบกริปได้ดีมาก กริปหนา ด้านในตัดชัน เซาะร่องนิ้วได้ลงตัว ทำให้จับถือได้ถนัดมือมาก ด้านหลังตัวกล้องบริเวณมุมขวาบนทำเป็นสันนูน เพื่อให้นิ้วโป้งเกี่ยวไว้ได้ ทำให้การจับถือถนัด เช่น การหิ้วกล้องไปมา จะช่วยผ่อนแรงได้ดี แป้นปรับความเร็วชัตเตอร์ออกแบบได้ดี สามารถล็อกกันการหมุนเลื่อนโดยไม่ตั้งใจได้ เช่นเดียวกับแป้นปรับความไวแสงที่ปรับความไวแสงที่ปรับได้เร็วมาก และเป็นการปรับขั้นละ 1/3 สตอปด้วย  การล็อกแป้นก็ทำได้ง่าย

ปุ่ม Drive นำมาวางด้านบนทำให้การปรับสะดวกคล่องตัวขึ้น  เพราะเป็นปุ่มที่ใช้งานบ่อย ส่วนปุ่มชดเชยแสงก็อยู่ในตำแหน่งที่ใช้สะดวก เพียงแต่ยังไม่เร็วเท่าแป้นแบบหมุนที่ใช้ใน X-T2 แป้นควบคุมด้านหน้าใช้งานสะดวก ส่วนแป้นด้านหลังการปรับหมุนนิ้วจะติดกับสันนูนด้านหลังอยู่บ้าง

ปุ่ม Fn มีให้เยอะมากครับ แต่ไม่มีการพิมพ์บนปุ่มแต่ละปุ่มว่าเป็น Fn1,Fn2 หรือ Fn3  ต้องอาศัยความคุ้นเคยกันเอง  ซึ่งในการใช้งานก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรครับ ทำความคุ้นเคยสักครึ่งวันก็จะใช้งานได้อย่างคล่องตัวแล้ว สำหรับผมจะปรับให้ปุ่มข้างแปลนเมาท์ด้านหน้าตัวกล้องใช้เลือกชนิดของชัตเตอร์ ปุ่มบนสันนูนด้านหลังใช้เปิดมาตรวัดระดับนํ้า  ปุ่มข้างแป้นควบคุมด้านหลังใช้ปรับไวท์บาลานซ์  ปุ่มใต้จอยสติ๊ก ใช้เป็นปุ่ม Focus Check (ตรวจสอบโฟกัสโดยกล้องจะขยายภาพให้เห็นชัดว่าโฟกัสตรงหรือไม่)  ส่วนปุ่ม 4 ทิศทาง ผมใช้ปุ่มบนเลือกพื้นที่โฟกัส ปุ่มซ้ายปรับ Film Simulation ปุ่มขวา เปิด–ปิดการแสดงค่าแสงจริงในโหมด M  ปุ่มล่างเปิด Face / Eye Detection

การเซ็ทปุ่มเหล่านี้สำคัญมากครับ  เพราะจะช่วยให้ใช้กล้องรุ่นนี้ได้สนุกและคล่องตัว แต่ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ว่าปุ่มใดควรใช้ทำอะไร เลือกตามความชอบและความถนัดส่วนตัวได้เลย  เมื่อปรับตั้งปุ่ม Fn เรียบร้อยและทำความคุ้นเคยกับตำแหน่งของระบบต่างๆ บนปุ่มสักครึ่งวัน  คุณจะพบว่า GFX 50S เป็นกล้องที่ใช้งานได้คล่องตัวอย่างยิ่ง ดีที่สุดในบรรดากล้องมีเดียมฟอร์แมตแล้วครับ และใช้ได้คล่องตัวแทบไม่แตกต่างจากกล้องฟูลเฟลมหรือกล้อง APS-C แต่อย่างใด ในการใช้งานผมไม่รู้สึกว่ามันเป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมตเลยครับ เพราะขนาดก็ไม่ใหญ่ นํ้าหนักไม่มาก และใช้งานคล่องตัวใกล้เคียงกับ X-T2

สิ่งที่ผมชอบมากคือ จอยสติ๊กครับ เพราะในการใช้งาน ผมมักจะใช้ช่องมอง EVF และการย้ายจุดโฟกัสด้วยจอยสติ๊กนั้นง่ายและเร็วมาก ดีกว่าการ Touch AF บนหน้าจอ LCD ด้วยซํ้า เพราะไม่ต้องละสายตาจากช่องมอง

และช่องมองภาพของ GFX 50S นั้น ต้องบอกว่าให้ภาพใหญ่มากและคมชัดมาก มองภาพได้เต็มตา จัดองค์ประกอบภาพสะดวก ให้ภาพที่ดูเป็นธรรมชาติ ไม่ปวดตาเมื่อต้องมองนานๆ  การแสดงสีของช่องมองทำได้ดี สีใกล้เคียงกับจอ LCD ด้านหลังตัวกล้องมาก ความสว่างก็ใกล้เคียงกัน  ในการใช้งานผมจะปรับขนาดภาพในช่องมองให้ใหญ่ที่สุด แล้วให้ข้อมูลอยู่บนภาพ ซึ่งก็ไม่ได้รบกวนการมองภาพเท่าใด และเมื่อเปิดการแสดงเอฟเฟกต์และค่าแสงจริงที่ ON  ก็จะใช้โหมดแมนนวล (M) ได้คล่องตัว โดยดูค่าแสงจากช่องมองแล้วปรับความเร็วชัตเตอร์กับรูรับแสงจนได้ค่าแสงที่ต้องการ เร็วและชัวร์โดยไม่ต้องสนใจระบบวัดแสงว่าเป็นระบบใด  ไม่ต้องสนใจตำแหน่งการวัดแสงแต่อย่างใด จอ LCD ด้านหลังตัวกล้องก็ใช้งานได้คล่องตัวดีมาก ให้ภาพคมชัดเยี่ยมยอด สีสันดี

สุดยอดความคมชัด ขุดทุกรายละเอียด  กล้อง FUJIFILM GFX 50S  เลนส์ Fujinon GF 63mm. f/2.8R WR  ; 1/30 Sec f/4.5 , Mode : M , WB : Auto , Film Simulation : Provia , ISO 800

ในส่วนคุณภาพไฟล์นั้น GFX 50S ทำได้ดีเยี่ยมสมกับความเป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมต  ความละเอียด 51.4 ล้านพิกเซลอาจจะไม่ได้มากกว่ากล้องฟูลเฟรม แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างค่อนข้างชัดเจน คือ รายละเอียดภาพในระดับ Inner Detail ซึ่งหากเป็นภาษาของโปรก็ต้องบอกว่า ภาพดูมีเนื้อกว่า  สิ่งนี้ทำให้ภาพมีความคมชัดสูงแม้ที่อัตราขยาย 100% จึงไม่ต้องใส่ Sharpen มาก ภาพจึงดูเป็นธรรมชาติ มีมิติกว่า มันเหมาะสำหรับช่างภาพแฟชั่น ที่ต้องการรายละเอียดของผิวสูงสุด กับเลนส์ GF 120mm.f/4R LM WR OIS Macro มันขุดรายละเอียดของผิวหน้าออกมาถึงขุมขน แม้กับไฟล์ JPEG แน่นอนว่าสำหรับงานระดับมืออาชีพ คมไว้ก่อนดีกว่า เพราะการทำให้เนียนไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะทำให้ภาพที่รายละเอียดน้อยมีคมชัดสูงขึ้นนั้นยากกว่ามาก และอาจถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซํ้า  กับการถ่ายภาพแลนด์สเคป GFX 50S จะถ่ายทอดรายละเอียดของใบไม้ ใบหญ้า ผิวดิน ก้อนหิน ออกมาให้เห็นราวกับสัมผัสได้  จึงน่าจะถูกใจผู้ที่ชอบภาพ Landscape , Cityscape หรือ Seascape อย่างมากเช่นกัน  ความโดดเด่นที่เหนือกว่ากล้องมีเดียมฟอร์แมตในยุค 3-4 ปี ก่อนที่ชัดเจนคือ แม้ใช้ที่ ISO 800 ความคมชัดก็ยังเยี่ยมยอด ในขณะที่กล้องกล้องมีเดียมฟอร์แมตยุคก่อนหน้า ที่ ISO เกิน 400 คุณภาพจะลดลงอย่างมาก ทำให้ GFX 50S สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น  ที่ ISO 1600 รายละเอียดยังทำได้ดีมาก ความคมชัดยังดี น่าพอใจ เพียงแต่ในส่วนมืดหรือส่วนรอยต่อของจุดชัดกับเบลอ รายละเอียดจะลดน้อยลงบ้าง  ที่ ISO 3200 ผมยังพอใจกับรายละเอียดของกล้องรุ่นนี้ สามารถใช้งานแบบหวังผลได้เลย ต้องยอมรับว่า ถ้ารายละเอียดคือสิ่งที่คุณต้องการ  GFX 50S กับเลนส์ชั้นยอดในตระกูล GF น่าจะตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างดีเลิศ การถ่ายทอดสีทำได้น่าประทับใจ ทั้งความอิ่มสี การไล่นํ้าหนักสีที่ลดหลั่นเป็นธรรมชาติ  ไล่เฉดสีที่ใกล้เคียงกันได้เนียนตา และมาพร้อมรายละเอียดในทุกๆ สี  แม้แต่สีแดงของกลีบดอกไม้ที่มักจะดูเป็นปื้นๆ กับกล้องดิจิตอลทั่วไป แต่กับ GFX 50S ยังมีรายละเอียดและการไล่โทนสีที่ดีมาก

กล้อง FUJIFILM GFX 50S  เลนส์ Fujinon GF 63mm. f/2.8R WR  ; 1/60 Sec f/4.5 , Mode : M , WB : Auto , Film Simulation : Velvia , ISO 320

การควบคุมสัญญาณรบกวนทำได้น่าพอใจ เป็นกล้องมีเดียมฟอร์แมตที่ไม่ต้องพะวงกับเรื่อง Noise  มันใช้งานได้ไม่แตกต่างจากกล้อง 35 มม. เลยครับในเรื่องนี้ การทำงานกับสภาพ Low Light ด้วยความไวแสงสูงเพื่อเก็บบรรยากาศของภาพ สัญญาณรบกวนนับว่าน้อยมากแม้ใช้ความไวแสง ISO 1600 ส่วนที่ ISO 3200 แม้จะมีสัญญาณรบกวนบ้างแต่ก็ทำได้ในระดับน่าพอใจมากแล้วครับ

ประสิทธิภาพของระบบออโตโฟกัสอยู่ในระดับดี ในการถ่ายภาพทั่วไป การโฟกัสทำได้แม่นยำ ความเร็วอยู่ในระดับปานกลาง (ขึ้นอยู่กับเลนส์ที่ใช้ด้วย)  ส่วนการโฟกัสต่อเนื่องทำได้ในระดับพอใช้  ยังไม่โดดเด่นเหมือน X-T2 หรือ X-Pro2  เพราะใช้ระบบโฟกัสแบบ Contrast AF อย่างเดียว  แต่กับมาตรฐานของกล้องมีเดียมฟอร์แมตแล้ว ระบบออโตโฟกัสของ GFX 50S อยู่ในระดับแนวหน้าแล้วครับ

กล้อง FUJIFILM GFX 50S  เลนส์ Fujinon GF 63mm. f/2.8R WR  ; 1/80 Sec f/2.8 , Mode : M , WB : Auto , Film Simulation : Provia , ISO 1600

ในส่วนของการบันทึกวิดีโอนั้น GFX 50S ทำได้ในระดับโอเคครับ แต่ไม่ได้โดดเด่นในส่วนนี้  เพราะผู้ที่ซื้อ GFX 50S ไปใช้งานคงเน้นภาพนิ่งมากกว่าวิดีโอแน่ครับ ไฟล์วิดีโอให้คุณภาพระดับ Full HD ที่มีรายละเอียดดี และสีสันเจิดจ้าสดใส

3 สัปดาห์ที่ได้ลองใช้งาน ผมประทับใจ GFX 50S มาก นี่คือกล้องมีเดียมฟอร์แมตที่ใช้งานเหมือนกับกล้อง 35 มม. แต่โดดเด่นด้วยคุณภาพเลนส์ คุณภาพไฟล์ และความง่ายในการใช้งาน

เหมาะกับใคร

รายละเอียดยังดีมากแม้ใช้ที่ ISO 800  กล้อง FUJIFILM GFX 50S  เลนส์ Fujinon GF 32-64mm. f/4R LM WR ; 1/15 Sec f/4 , Mode : M , WB : Auto , Film Simulation : Provia , ISO 800

GFX 50S เหมาะสำหรับช่างภาพมืออาชีพที่ต้องการกล้องความละเอียดสูง ความคมชัดสูง เช่น ช่างภาพแฟชั่น ช่างภาพเวดดิ้ง ช่างภาพโฆษณาที่ถ่ายสินค้า ช่างภาพสถาปัตยกรรม และช่างภาพแลนด์สเคป ด้วยรายละเอียดที่สูงมาก ไดนามิคเรนจ์ที่กว้างมากทำให้ การนำไฟล์ไปรีทัชทำได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น และ GFX 50S ยังเหมาะกับนักถ่ายภาพระดับจริงจัง ที่ต้องการไฟล์คุณภาพสูง กับกล้องที่ใช้งานคล่องตัว ขนาดและนํ้าหนักไม่มาก  ไม่เป็นภาระต่อการเดินทาง

กล้อง FUJIFILM GFX 50S  เลนส์ Fujinon GF 32-64mm. f/4R LM WR ; 1/25 Sec f/4 , Mode : M , WB : Auto , Film Simulation : Velvia , ISO 800


ความเห็น

กล้อง FUJIFILM GFX 50S  เลนส์ Fujinon GF 120mm. f/4R LM WR OIS Macro  ; 1/15 Sec f/4 , Mode : M , WB : Auto , Film Simulation : Velvia , ISO 1600

กับราคาขาย 289,990 บาท พร้อมเลนส์ GF 63mm. f/2.8R WR อาจดูว่าสูง แต่จริงๆแล้ว ราคานี้นับว่าถูกมากเมื่อเทียบกับราคาของกล้องมีเดียมฟอร์แมตรุ่นอื่นๆ ในตลาด และเมื่อพิจารณาจากคุณภาพไฟล์  บอกได้เต็มปากเต็มคำว่า คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปอย่างแน่นอน มันจะนำคุณสู่โลกของรายละเอียดที่คุณอาจไม่เคยได้จากกล้องดิจิตอลที่ใช้อยู่ แนะนำเป็นพิเศษ สำหรับการทำงานในระดับอาชีพ หรือกับการใช้งานทั่วไปของมือสมัครเล่นแต่ต้องการคุณภาพระดับมืออาชีพ

ขอบคุณ บริษัท ฟูจิฟิล์ม ประเทศไทย จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องและเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.fujifilm.co.th

เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews