Camera Reviews

Reviews : FUJIFILM X-A10

a10_01

กล้อง Mirrorless ของฟูจิฟิล์ม X-A-series โดยเฉพาะรุ่น X-A2 ถือเป็นกล้องที่ได้รับการความนิยมสูงสุดจากกลุ่มผู้ใช้งาน และสร้างมิติใหม่ของวงการกล้องดิจิตอลในบ้านเรา จนถึงกับผลิตไม่ทัน ลูกค้าจะต้องสั่งจองและชำระเงินไว้ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าได้กล้องแน่ๆ หลังจาก นั้นอีก 2-3 เดือน และกล้อง X-A-series ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งฟุจิฟิล์มเองก็ผลิตกล้องรุ่นใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดอยู่อย่าง ต่อเนื่อง อาทิ Fujifilm X-A3 ที่พัฒนาต่อเนื่องจาก X-A2 โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มความละเอียดมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมี Fujifilm X-A10 ซึ่งเป็นรุ่นที่นิตยสารโฟโต้อินโฟได้นำมาทดลองใช้งานในครั้งนี้ครับ โดยวางตัวเป็นรุ่นรองจาก X-A3 เน้นผู้ใช้มือใหม่หรือผู้ที่ต้องการกล้องถ่ายภาพขนาดกะทัดรัด และราคาย่อมเยา แต่ยังคงอัดแน่นไปด้วยฟังก์ชั่นการทำงานที่มีมาอย่างครบครัน ทั้งโหมดถ่ายภาพที่รองรับการใช้งานในระดับที่ซีเรียสมากขึ้น อย่าง P, A, S และ M สามารถควบคุมการทำงานผ่าน Wi-Fi ด้วยแอพลิเคชั่น FUJIFILM Camera Remote ซึ่งรองรับทั้งการควบคุมการถ่ายภาพ และอัพโหลดภาพมายังสมาร์ทโฟนอีกด้วย

จุดเด่นของ FUJIFILM X-A10

  • เซ็นเซอร์ CMOS ขนาด APS-C
  • ความละเอียด 16.3 ล้านพิกเซล effective
  • มีจุดโฟกัสทั้ง 49 จุด
  • มีฟังก์ชั่น Focus Peaking
  • มี Wi-Fi ในตัว รองรับ Remote Control Shooting
  • มีแป้นหมุนควบคุมการทำงานด้านหลังและด้านบนตัวกล้อง
  • ปรับตั้งค่าการทำงานสะดวกด้วย Q Menu
  • บันทึกวิดีโอ Full HD 1080p
  • จอมอนิเตอร์ 3 นิ้ว 1,040,000 พิกเซล ปรับพลิกกลับมา
  • Selfie ได้ 180 องศา

ประสิทธิภาพและการออกแบบ

a10_02

Fujifilm X-A10 ใช้เซ็นเซอร์ภาพแบบ CMOS ขนาด APS-C มีความละเอียด 16.3 ล้านพิกเซล มีจุดโฟกัส 49 จุด เลือกรูปแบบโฟกัส ได้ทั้งแบบ Manual ปรัลโฟกัสด้วยตนเอง, Multi เลือกอัตโนมัติทุกจุด, Continious โฟกัสอัตโนมัติต่อเนื่อง, Area เลือกจุดโฟกัสด้วยตนเอง และ Tracking โฟกัสต่อเนื่องติดตามซับเจคต์ นอกจากนี้ยังเลือกปรับโฟกัสอัตโนมัติ พร้อมปรับชิฟท์โฟกัสแบบแมนนวลได้ รวมทั้งเลือกรูปแบบโฟกัส Face/Eye Detection เพื่อให้มือใหม่มั่นใจได้ว่ากล้องโฟกัสที่ใบหน้าและดวงตาอย่างแน่นอน ลดความผิดพลาดจากการโฟกัสได้เป็นอย่างดี

Fujifilm X-A10 ถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงสุดถึง 6 ภาพต่อวินาที ช่วยให้เก็บแอ๊คชั่นต่างๆ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว นอกจากนี้ยังมีโหมด ถ่ายภาพคร่อม (BKT) ให้เลือกใช้งานได้อีกหลายรูปแบบ อาทิ AE BKT ถ่ายภาพคร่อมค่าแสง เลือกความแตกต่างระหว่างภาพได้ 1, 1/2 หรือ 1/3 สตอป, ISO BKT ถ่ายภาพคร่อมความไวแสง เลือกความแตกต่างระหว่างภาพได้ 1, 1/2 หรือ 1/3 สตอปเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเลือก ถ่ายภาพคร่อม Film Simulation, White Balance และไดนามิกเรนจ์ได้อีกด้วย ถือเป็นฟังก์ชั่นที่ช่วยลดความผิดพลาด รวมทั้งสร้างสรรค์ภาพ ได้หลากหลายรูปแบบ จากการกดชัตเตอร์เพียงครั้งเดียว และหลังจากกดชัตเตอร์ กล้องจะโชว์ภาพทั้ง 3 ภาพ พร้อมๆ กันบนจอมอนิเตอร์เป็น เวลาสั้นๆ ก่อนที่จะกลับสู่หน้าจอถ่ายภาพปกติ

รูปร่างหน้าตาโดยรวม ยังคงเหมือนกับ X-A2 แต่ไม่มีฮอทชูแฟลชที่ด้านบนตัวกล้อง รวมทั้งมีขนาดที่บางกว่าเล็กน้อย การวางตำแหน่งปุ่ม และแป้นกดต่างๆ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม โดยบนตัวกล้องด้านซ้าย เป็นตำแหน่งของแฟลชที่ซ่อนตัวได้อย่างมิดชิด เช่นเดียวกับ X-A3 เปิดใช้งานได้จากสวิทช์ที่ด้านข้างตัวกล้อง ตรงกลางตัวกล้องที่เคยเป็นตำแหน่งของฮอทชูในรุ่น X-A2 ถูกปล่อยว่างไว้ ข้ามมาทางด้านขวาของตัวกล้อง เป็นตำแหน่งของแป้นปรับโหมดถ่ายภาพ ซึ่งมีให้ใช้งานได้ครบครันเช่นเดียวกับ X-A2 และ X-A3

เยื้องๆ ไปด้านหน้าเล็กน้อย เป็นสวิทช์เปิด-ปิดการทำงาน พร้อมปุ่มชัตเตอร์ ข้างๆ กันเป็นปุ่มฟังก์ชั่น (Fn) ที่ออกแบบให้สามารถตั้งค่าเป็นปุ่มลัด สำหรับปรับตั้งค่าเมนูต่างๆ ที่ใช้งานบ่อยๆ ให้เลือกออกมาใช้งานได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และถัดไปด้านหลังเล็กน้อยเป็นแป้นปรับชดเชยแสง และปรับตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ในโหมดถ่ายภาพแบบแมนนวล

a10_03

ด้านหลังเป็นจอมอนิเตอร์ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียดสูงถึง 1,040,000 พิกเซล ที่สามารถปรับพลิกกลับมาด้านหน้าเพื่อถ่าย selfies ได้ 180 องศา เช่นเดียวกับ X-A3 เนื่องจากปรับ เปลี่ยนฐานแฟลช และสวิทช์เปิดการทำงานให้มาบนตัวกล้องและด้านข้างทั้งหมด ถัดไปด้านขวาจากบนสุดเป็นแป้นปรับควบคุมการทำงานหลัก และเป็นปุ่มรับซูมขยายภาพเพื่อให้ตรวจสอบความคมชัดในขณะถ่ายภาพ ซึ่งใช้งานได้โดยกดแป้นลงไปตรงๆ และกดซํ้าเพื่อกลับสู่หน้าจอปกติ และซูมขยายในโหมดเปิดชมภาพด้วย โดยการหมุนไปด้านขวาเพื่อซูมขยายและหมุน ไปด้านซ้ายเมื่อต้องการย่อภาพ

ถัดลงไปเป็นปุ่มพรีวิวภาพและปุ่มบันทึกวิดีโอ ปุ่มปรับควบคุมแบบ 4 ทิศทาง โดยปุ่มด้านบนยังใช้เป็นปุ่มเลือกจุดโฟกัสด้วยปุ่มด้านขวาใช้สำหรับปรับตั้งไวท์บาลานซ์ ปุ่มด้านล่างใช้ปรับเลือกการถ่ายภาพต่อเนื่องและถ่ายภาพคร่อม ส่วนปุ่มด้านซ้ายใช้สำหรับปรับตั้งเวลาถ่ายภาพ และเลือกรูปแบบการลั่นชัตเตอร์อัตโนมัติในโหมด selfies ด้วยเช่นกัน

a10_04

ซ้าย :  แป้นหมุนปรับควบคุม 2 แป้น ใช้งานได้สะดวกดีทีเดียว
กลาง :  แฟลชเสริมในตัวกล้องที่ออกแบบให้ซ่อนอยู่บนตัวกล้องอย่างแนบเนียน และเปิดใช้งานได้จากสวิทช์ที่ด้านข้างของตัวกล้อง
ขวา :  จอมอนิเตอร์ออกแบบให้ปรับระดับ และพลิกกลับมาถ่ายภาพ selfies ได้ ช่วยให้ถ่ายภาพในมุมมองต่างๆ ได้สะดวกขึ้น

ทางด้านโหมดถ่ายภาพนั้น สำหรับการใช้งานแบบง่ายๆ ผู้ใช้สามารถเลือกโหมด SR+ ซึ่งเป็นโหมดอัตโนมัติอัจฉริยะที่กล้องจะประเมินรูปแบบภาพที่ผู้ใช้ต้องการ และปรับรูปแบบการถ่ายภาพให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ เช่น เมื่อเล็งกล้องเพื่อถ่ายภาพคน เมื่อกล้องตรวจจับใบหน้าได้ด้วยเทคโนโลยี Face Detection ได้ กล้องจะปรับเป็นโหมดถ่ายภาพบุคคลและตั้งค่าการถ่ายภาพต่างๆ ให้เหมาะสมกับการถ่ายภาพบุคคลโดยอัตโนมัติ หรือเมื่อเล็งกล้องถ่ายภาพวัตถุในระยะใกล้ กล้องก็จะปรับเป็นโหมดถ่ายใกล้ หรือมาโคร พร้อมทั้งปรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ ให้อย่างเหมาะสมด้วยเช่นเดียวกัน จุดเด่นของโหมดนี้คือผู้ใช้ยังสามารถปรับชดเชยแสงหรือปรับภาพให้สว่างขึ้น หรือมืดลงจากค่าที่กล้องคำนวณให้ได้ด้วยต่างจากโหมดอัตโนมัติแบบอื่นที่ผู้ใช้ไม่สามารถปรับแก้ไขค่าการรับแสงที่กล้องตั้งให้ได้เลย นอกจากนี้ยังมีโหมดถ่ายภาพอื่นๆ ให้เลือกใช้งาน อาทิ โปรแกรมสำเร็จรูป หรือ Scene Mode ให้เลือกได้ตามรูปแบบการถ่ายภาพ เช่น Portrait, Landscape, Sport หรือ Night เป็นต้น

ส่วนผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการถ่ายภาพอยู่แล้ว ก็สามารถเลือกใช้โหมดถ่ายภาพในกลุ่ม Advance อาทิ โหมดโปรแกรม (P) โดยเมื่อแตะปุ่มชัตเตอร์ กล้องจะคำนวณค่าความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงให้ก่อนในเบื้องต้น ผู้ใช้สามรถกดชัตเตอร์ลงไปจนสุดเพื่อถ่ายภาพได้เลย แต่ถ้าหากว่าต้องการเปลี่ยนค่าที่กล้องตั้งให้ เช่น ต้องการระยะชัดลึกมากกว่าที่กล้องตั้งให้ ก็สามารถปรับหมุนแป้นควบคุมด้านหลังไปทางซ้าย เพื่อปรับรูรับแสงให้แคบลงได้ ส่วนกล้องจะปรับลดความเร็วชัตเตอร์ให้ค่าแสงสัมพันธ์กันโดยอัตโนมัติ, โหมดออโต้ความเร็วชัตเตอร์ (A), โหมดออโต้รูรับแสง (S) และโหมดแมนนวล (M) ที่ผู้ใช้จะต้องหรับรูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ด้วยตนเองทั้งหมด

a10_05

ซ้าย :  ปุ่มถอดเลนส์ อยู่ข้างๆ ฐานเลนส์ด้านขวา
กลาง :  ช่อง USB และ HDMI สำหรับเชื่อมต่อการทำงานต่างๆ
ขวา :  ช่องแบตเตอรี่และเมมโมรี่การ์ดอยู่ใตเตัวกล้อง

สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างสรค์รูปแบบภาพที่พิเศษมากกว่าภาพถ่ายในโหมดปกติ Fujifilm X-A10 ก็มีโหมด Advance Filter ซึ่งมีโหมดย่อยให้เลือกใช้งาน 3 โหมด นั่นคือ Advance Filter, Panorama และ  Multiple Exposure โดยสำหรับ Advance Filter นั้นมีรูปแบบฟิลเตอร์ให้เลือกใช้งานมากมาย อาทิ Toy Camera, MiniaturePop Color, High-Key, Fisfeye, Cross Screen หรือ Partial Color เป็นต้น ส่วนโหมด Panorama นั้น เป็นการถ่ายภาพโดยการกดชัตเตอร์ แล้วหมุนกล้องไปในทิศทางที่ต้องการ โดยมีแถบความยาวของภาพโชว์อยู่ที่ด้านล่างของจอมอนิเตอร์และหลังจากที่ถ่ายภาพเสร็จ กล้องจะรวมภาพให้เป็นพาโนรามาโดยอัตโนมัติ ซึ่งความโดดเด่นของโหมดนี้คือ สามารถเลือกรูปแบบ การหมุนของกล้องได้ถึง 4 ทิศทาง คือ จากขวาไปซ้าย, จากซ้ายไปขวา, จากบนลงล่าง และจากด้านล่างขึ้นด้านบน

การปรับตั้งค่าการทำงานที่สะดวกและมีใช้งานในกล้อง Mirrorless ของฟูจิฟิล์มทุกๆ รุ่นนั่นคือ การตั้งค่าผ่าน Q Menu ที่สามารถเลือกเมนูที่ต้องการและใช้แป้นควบคุมการทำงานหมุนเปลี่ยนเมนูที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าเมนูหลักทุกๆ ครั้ง และนอกจากโหมดถ่ายภาพนิ่งปกติแล้ว FUJIFILM X-A10 ยังบันทึกวิดีโอได้ด้วยคุณภาพ Full High Definition 1080p ปรับเลือกเฟรมเรทได้ 30fps , 25fps และ 24fps สามารถปรับเลือกความไวแสงและรูปแบบโฟกัสตามที่ต้องการได้ นอกจากนี้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนรูรับแสง, ความเร็ว ชัตเตอร์ และชดเชยแสง เพื่อสร้างเอฟเฟคต์ของภาพได้ตามที่ต้องการ รวมทั้งยังสามารถใช้ฟังก์ชั่น Film Simulation สำหรับสร้างสีสันของ ไฟล์วิดีโอได้เช่นเดียวกับภาพนิ่งด้วยเช่นกัน


ฟังก์ชั่นที่น่าสนใจอื่นๆ 

a10_06

โหมด Advanced Filter สำหรับสร้างสรรค์รูปแบบภาพที่พิเศษไปจากการถ่ายภาพแบบปกติ

a10_07

สามารถปรับเลือกขนาดของกรอบโฟกัสได้ 5 ขนาด ตามการใช้งานโดยเมื่อเลือกจุดโฟกัสแล้ว ให้หมุนแป้นควบคุมด้านหลัง เพื่อเลือกขนาดของกรอบโฟกัสที่ต้องการ

Fujifilm X-A10 ปรับตั้ง Film Simulation เพื่อเพิ่มความโดดเด่นของของภาพได้ตามรูปแบบจำลองฟิล์มสไลด์ของฟูจิฟิล์ม นั่นคือ Standard จำลองรูปแบบฟิล์ม Provia สำหรับถ่ายภาพทั่วๆ ไป, Vivid จำลองฟิล์ม Velvia สำหรับภาพวิวทิวทัศน์ที่ต้องการสีสันที่อิ่มตัวมากขึ้น, Soft จำลองฟิล์ม Astia สำหรับภาพที่ต้องการโทนสีที่นุ่มนวล และให้สีผิวที่เป็นธรรมชาติซึ่งเหมาะกับการถ่ายภาพภาพบุคคล, Classic Chrome ให้ภาพที่มีไดนามิกเรนจ์กว้าง เหมาะสำหรับการเก็บรายละเอียดและโทนภาพที่เป็นธรรมชาติ หรือนำมาใช้ตกแต่งเพิ่มเติมในภายหลัง หรือ รูปแบบฟิล์มขาว-ดำ เป็นต้น

และเช่นเดียวกับกล้องฟูจิฟิล์มรุ่นใหม่ๆ ที่มีฟังก์ชั่น Wi-Fi ให้ใช้งานด้วยเช่นเดียวกัน โดยทำงานร่วมกับแอพลิเคชั่น Fujifilm Camera Remote ที่สามารถควบคุมการถ่ายภาพผ่านสมาร์ทโฟนได้ โดยสามารถปรับตั้งค่าการทำงานได้มากมาย และบันทึกได้ทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอด้วย เช่นกัน

a10_08

การควบคุมการถ่ายภาพผ่านแอพลิเคชั่น สามารถปรับตั้งได้ทั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ รวมทั้งตั้งค่าการทำงานอื่นๆ ได้อีกมากมาย


การใช้งาน

a10_09

กล้อง Fujifilm X-A10 เลนส์ XC 16-50mm F3.5-5.6 OIS IIโหมด M ชัตเตอร์ 1/2 วินาที, f/8, ISO200, WB: Fine

ผมได้รับตัวกล้อง Fujifilm X-A10 มาพร้อมกับเลนส์คิท XC 16-50mm F3.5-5.6 OIS II และเลนส์เทเลซูม XF 55-200mm F3.5-4.8R LM OIS ซึ่งทั้ง 2 รุ่น เป็นเลนส์ที่มีระบบป้องกันการสั่นไหว ที่ช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพได้นิ่งขึ้น เมื่อต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ตํ่ากว่าปกติ ตัวกล้องจับได้ถนัดมือดีทีเดียว มีนํ้าหนักที่ค่อนข้างเบาไม่เป็นภาระต่อการพกพาไปใช้งานในสถานที่ต่างๆ มากนัก ตัวบอดี้มีขนาดพอๆ กับ X-A2 แต่มีความบางกว่าเล็กน้อย การออกแบบปรับควบคุมแตกต่างจาก XT-series อยู่พอสมควร โดยสามารถเลือกโหมดถ่ายภาพที่ต้องการจากแป้นปรับโหมดได้เลย

การตอบสนองการใช้งานรวมทั้งการโฟกัสนั้นถือว่ารวดเร็วทันใจทีเดียว ถึงแม้ว่าจะไม่ปุ๊บปั๊บในทันทีที่แตะปุ่มชัตเตอร์ แต่ก็ไม่ถือว่าอืดอาดสำหรับกล้องในระดับนี้ส่วนคุณภาพของไฟล์นั้น ถือว่ามีระบบจัดการที่ดีทีเดียว โดยผมลองภาพที่ความไวแสงสูงๆ ในยามคํ่าคืนซึ่งต้องใช้ความไวแสงสูงถึง ISO 3200 ไฟล์ที่ได้นั้นยังดูใสเคลียร์และมีความคมชัด รวมทั้งสีสันยังคงอิ่มตัวไม่หยาบกระด้าง และจากที่ได้ลองถ่ายภาพที่ความไวแสงต่างๆ ผมสามารถใช้ความไวแสงได้ทุกระดับขั้นตามความเหมาะสมและตามสภาพแสง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของ Noise หรือ สัญญาณรบกวนเลยแม้แต่น้อย ซึ่งนี่ก็ถือเป็นจุดเด่นหนึ่งของกล้องดิจิตอล Fujifilm ในยุคปัจจุบันที่ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากนั่นเอง

a10_13

ระบบจัดการไฟล์ที่ยอดเยี่ยม ทำให้ไม่ต้องกังวลกับเรื่องของ Noise มากนัก ดังนั้นจึงดัน ISO ให้สูงขึ้น เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมากพอที่จะถือกล้องได้นิ่ง เมื่อต้องซูมเลนส์ที่ระยะไกลสุด 200 มม. เทียบเท่าระยะ 300 มม. ของระบบฟิล์ม กล้อง Fujifilm X-A10 เลนส์ XF 55-200mm F3.5-4.8R LM OIS โหมด A ชัตเตอร์ 1/250 วินาที f/5.6, ISO800, WB: Fine

จอมอนิเตอร์พลิกกลับมา Selfies ได้ ยังถือเป็นหนึ่งในจุดขายของ Fujifilm X-A10 เพียงแต่ในโหมดถ่ายภาพบุคคล ซึ่งเลือกได้จาก Scene Mode บนแป้นปรับโหมดถ่ายภาพที่เป็นภาพบุคคล จะเป็นการปรับหน้าเนียนแบบอัตโนมัติจากการคำนวณของกล้อง ส่วนการตั้งค่าให้กล้องลั่นชัตเตอร์เองโดยอัตโนมัตินั้น เลือกได้หลายรูปแบบตามความต้องการ เช่น Smile เมื่อกล้องตรวจจับได้ว่าตัวแบบยิ้ม กล้องจะทำการโฟกัส พร้อมลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพโดยอัตโนมัติ หรือ Buddy เป็นการสั่งให้กล้องถ่ายภาพโดยตัวแบบสองคนจะต้องโยกหัวให้เข้ามาใกล้ชิดกัน ซึ่งเลือกความใกล้ชิดได้ 3 Level นั่นคือ level 1 ใกล้ชิดแบบปกติ, Level 2 ต้องโยกหัวให้เข้ามาเกือบๆ จะติดกัน และ Level 3 จะต้องเอาหัวชิดติดกัน กล้องจึงจะลั่นชัตเตอร์ เป็นต้น

อีกแบบหนึ่งคือ Group ซึ่งเลือกจำนวนคนที่จะให้กล้องตรวจจับในเฟรมภาพได้ตั้งแต่ 1-4 คน โดยเมื่อกล้องจับได้ว่ามีจำนวนคนเท่าที่ตั้งค่าไว้ กล้องก็จะทำการโฟกัสแล้วลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพให้โดยอัตโนมัติ ผมลองเลือกตั้งค่าเพียง 1 คน แล้วตั้งกล้องไว้ พอผมโยกหน้าเข้ามาอยู่ในเฟรมภาพ กล้องก็จับโฟกัสโดยคำนวณจากระบบ Face Detection และ Eye Detection แล้วถ่ายภาพให้เลย ซึ่งกล้องจะโชว์กรอบโฟกัสที่ใบหน้าและดวงตาที่กล้องจับได้ให้เห็นบนจอมอนิเตอร์เลยครับ และตราบใดที่ผมยังคงอยู่หน้ากล้อง กล้องก็จะถ่ายภาพไปเรื่อยๆ จนกว่าผมจะเดินหลบออกไปหรือปิดใบหน้า หรือดวงตาไม่ให้กล้องตรวจจับใบหน้าได้นั่นแหละครับ กล้องจึงจะหยุดทำงาน

a10_11

โหมด Advanced Filter แบบ Miniature กล้อง Fujifilm X-A10 เลนส์ XC 16-50mm F3.5-5.6 OIS II โหมด M ชัตเตอร์ 1/500 วินาที, f/5.6, ISO800, WB: Auto

และเช่นเดียวกับกล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ ของฟูจิฟิล์มที่มีฟังก์ชั่น Wi-Fi ในตัวด้วย ซึ่งผมสามารถโอนไฟล์ภาพถ่ายมายังสมาร์ทโฟน ผ่านแอพลิเคชั่น Fujifilm Camera Remote ได้อย่างสะดวกง่ายดาย และไม่เฉพาะโอนถ่ายไฟล์ภาพไปยังสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ยังเลือกรูปแบบการควบคุมการถ่ายภาพของกล้องผ่านสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการตั้งค่าการทำงานของตัวกล้อง อาทิ ไวท์บาลานซ์, การชดเชยแสง, ความไวแสง, ความเร็วชัตเตอร์ หรือรูรับแสงได้โดยไม่จำเป็นต้องไปปรับเปลี่ยนจากตัวกล้องเลยครับ โดยถ้าหากเลือกโหมด M หรือปรับตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงด้วยตนเอง สามารถแตะเพื่อเปลี่ยนการปรับตั้งที่ปุ่มค่าความเร็วชัตเตอร์หรือรูรับแสงที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างค่าการปรับตั้งซ้าย-ขวา เพื่อเปลี่ยนค่าการปรับตั้งที่ต้องการได้เลยครับ

ส่วนผู้ที่ใช้งานเครื่องปริ้นท์ภาพ Instax ก็สามารถสั่งพิมพ์ภาพได้เลยอย่างง่ายๆ เพียงแค่เข้าเมนู Setting 3 เลือกเมนูย่อย Connection Setting และเลือกเมนูย่อย Instax Printer Connection Setting จากนั้นใส่รหัสประจำตัวเครื่อง และพาสเวิร์ด เพียงเท่านั้น ภาพสุดสวยของคุณก็พร้อมพิมพ์แล้วล่ะครับ  หรือถ้าหากโหลดภาพมายังสมาร์ทโฟนแล้ว ก็สั่งพิมพ์ผ่านแอพลิเคชั่น Instax Share ได้อย่างสะดวก เช่นกันครับ

a10_12

กล้อง Fujifilm X-A10 เลนส์ XF55-200mmF3.5-4.8 R LM OIS โหมด A ชัตเตอร์ 1/750 วินาที, f/16, ISO200, WB: Fine


ผลการใช้งาน

a10_10

ไดนามิกเรนจ์ที่ดีเยี่ยม ช่วยให้เก็บรายละเอียดในส่วนมืดและสว่างได้ดีขึ้นกล้อง Fujifilm X-A10 เลนส์ XC 16-50mm F3.5-5.6 OIS II โหมด M ชัตเตอร์ 1/6 วินาที, f/3.5, ISO200, WB: Fine

ผมได้ลองใช้งานกล้อง Fujifilm X-A10 อยู่กว่าสิบวัน ก็ถือเป็นกล้องที่ตอบสนองการใช้งานได้หลากหลาย รองรับการใช้งานตั้งแต่ระดับมือใหม่ไปจนถึงการใช้งานในระดับมือาชีพที่ใช้เป็นกล้องสำรอง เพราะถึงแม้จะวางตัวให้เป็นกล้อง Mirrorless ระดับเริ่มต้นของ X-A series แต่ก็มีฟังก์ชั่นการใช้งาน โหมดถ่ายภาพ และลูกเล่นต่างๆ ใส่มาในตัวกล้องขนาดกะทัดรัดอย่างครบครัน และแน่นอนว่ายังคงรักษาเอกลักษณ์ ของกล้องสำหรับ Selfies โดยออกแบบให้ปรับพลิกจอกลับมาถ่ายภาพตัวเองได้อย่างง่ายดาย เช่นเดียวกับรุ่นที่ออกมาก่อนหน้านั้นและเป็นจุดที่ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกไปจากคุณภาพของไฟล์ที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม สำหรับผู้ที่กำลังมองหากล้งตัวใหม่ สำหับผู้ที่จะเริ่มจริงจังกับการถ่ายภาพมากขึ้น และต้องการคุณภาพของไฟล์ภาพที่สูงกว่าไฟล์จากสมาร์ทโฟน หรือผู้ที่ต้องการกล้องตัวเล็กกะทัดรัด เอาไว้เป็น กล้องสำรอง Fujifilm X-A10 ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ

ขอบคุณ : บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด  สำหรับความอนุเคราะห์กล้องและเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ :  www.fujifilm.co.th

เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา