Lenses Reviews

Reviews : MITAKON Speedmaster 35mm f/0.95 II

เลนส์ 35 มม. สำหรับกล้องฟอร์แมต APS-C จะมีความยาวโฟกัสเทียบเท่าเลนส์ 50 มม. ของกล้องฟูลเฟรม มันจึงไม่ใช่เลนส์มุมกว้าง แต่จะเป็นเลนส์มาตรฐาน ให้มุมรับภาพประมาณ 43.5 องศา  เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป รวมทั้งใช้ถ่ายภาพบุคคลได้เป็นอย่างดี แต่ภาพจะไม่กว้างพอสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ (นอกจากบางซีนที่ไม่ได้ต้องการเก็บภาพมุมกว้าง)

เลนส์มาตรฐาน เป็นเลนส์ที่มืออาชีพจะมีไว้ใช้งาน เพราะให้ทัศนมิติ (Perspective) ใกล้เคียงกับตาเห็น ให้ความรู้สึกใกล้ไกลของซับเจกต์และสิ่งต่างๆ ในภาพใกล้เคียงกับที่มองด้วยสายตา นอกจากนั้นเลนส์มาตรฐานมักจะสามารถออกแบบให้มีความสว่างสูงเป็นพิเศษได้ โดยขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก จึงเป็นเลนส์ที่สามารถใช้งานได้ดีในทุกสภาพแสง รวมทั้งในสภาพที่แสงน้อยมากก็ยังสามารถถ่ายภาพได้

MITAKON เคยผลิตเลนส์ 35 มม. ความสว่างสูงสำหรับกล้องขนาด APS-C ออกมาแล้วรุ่นหนึ่งในชื่อ Speedmaster 35mm. f/0.95 เป็นเลนส์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีนํ้าหนักถึง 680 กรัม ในส่วนของคุณภาพนั้น หากใช้ที่ f/2.8 ขึ้นไป ภาพก็นับว่ามีความคมชัดดีมาก แต่ถ้าเปิดกว้างกว่า f/2.8 เช่น f/2.5, f/2, f/1.7 หรือ f/1.4 ภาพจะค่อนข้างซอฟท์  โดยเฉพาะที่ขอบภาพ ส่วนที่ f/0.95 นั้น กลางภาพก็ค่อนข้างซอฟท์  ZHONGYI OPTIC ผู้ผลิตเลนส์ MITAKON จึงได้ออกแบบเลนส์ 35 mm f/0.95 ใหม่หมด โดยใช้ชื่อว่า Speedmaster 35mm f/0.95 II โดยมีจุดเด่นคือ ความยาวของเลนส์ลดลงจากเดิมมาก ขนาดเล็กลง นํ้าหนักลดลงจาก 680 กรัม เหลือเพียง 460 กรัม และที่น่าสนใจคือ ผู้ผลิตเคลมว่า ความคมชัดของเลนส์รุ่นใหม่สูงกว่ารุ่นเดิมถึง 30%  ให้ภาพคมชัดมากตั้งแต่ f/0.95 นี่คือจุดสำคัญของการใช้เลนส์ไวแสงครับ เราซื้อเลนส์ไวแสงก็เพราะต้องการใช้รูรับแสงกว้างของเลนส์ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการละลายฉากหลัง หรือ การใช้ในสภาพแสงน้อยมากๆ โดยถือกล้องด้วยมือ

นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมสนใจเลนส์รุ่นนี้ขึ้นมาทันที เพราะความสว่างของเลนส์ระดับ f/0.95 นั้นมันเร้าใจมาก มันจะเบลอฉากหลังได้พอๆ กับเลนส์ f/1.4 ของกล้องฟูลเฟรม แต่ได้ค่าการเปิดรับแสงสูงกว่า 1 สตอปเศษๆ  จึงช่วยขยายขอบเขตการใช้งานให้กว้างขึ้น ลุยกับสภาพแสงน้อยๆ ได้ดีขึ้น


โครงสร้างและการออกแบบ 

Mitakon Speedmaster 35mm f/0.95 II เป็นเลนส์แมนนวลโฟกัส  ออกแบบมาสำหรับกล้องฟอร์แมต APS-C (เมาท์ FUJI X, SONY E และ Canon EF-M) ไม่มีเมาท์ Micro Four Thirds ครับ ขนาดเลนส์เล็กลงกว่ารุ่นแรก ดูกะทัดรัด แต่นํ้าหนักผิดคาดครับ หนักและแน่นหนามาก โครงสร้างจึงแข็งแกร่งอย่างยิ่ง งานการผลิตดีมาก น่าจะดีที่สุดในบรรดาเลนส์ของ Mitakon เท่าที่เคยลองมาเลยครับ การขึ้นรูปชิ้นงาน ตั้งแต่กระบอกเลนส์ วงแหวนโฟกัส วงแหวนปรับรูรับแสง และแปลนเมาท์ ดูดีมาก ประณีต ราวกับเลนส์แมนนวลระดับพรีเมียมอย่าง LEICA หรือ ZEISS

วงแหวนโฟกัสปรับได้นุ่มนวล และราบเรียบมาก ตั้งความหนืดในการปรับหมุนมากำลังดี ไม่หนืดเกินไปและไม่ลื่นเกินไป ระบบโฟกัสเป็นแบบเฮลิคอยด์ ชุนเลนส์จะเคลื่อนพร้อมกันทั้งชุด โดยเมื่อปรับโฟกัสที่ระยะใกล้สุด 0.35 เมตร กระบอกเลนส์จะยืดออกมา 7 มม.แต่หน้าเลนส์ไม่หมุนตามทำให้การใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ยังทำได้สะดวก วงแหวนโฟกัสทำมาจากโลหะ ขึ้นรูปเป็นลายเส้นนูน แสดงระยะเมตรด้วยสีขาว ระยะฟุตสีเหลือง มีสเกลแสดงช่วงความชัดลึกด้วย โดยแสดงที่ f/2, 4, 8 และ 16 ตัวเลข ตัวอักษร ใช้วิธีเซาะร่องแล้วลงสี จึงไม่ต้องพะวงว่าใช้ไปนานๆ แล้วสีจะหลุดลอก

วงแหวนปรับรูรับแสง วางใกล้กับวงแหวนโฟกัสค่อนข้างมาก โดยวางไว้ด้านหน้า การปรับเป็นแบบไม่มีคลิ๊ก หมุนต่อเนื่องได้ตั้งแต่ f/0.95 จนถึง f/16  การปรับทำได้นุ่มนวล ราบเรียบ ไร้เสียงรบกวน ใช้ไดอะแฟรม 9 ใบ ทรงกลม เพื่อโบเก้ที่สวยงาม

โครงสร้างระบบออพติคประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 11 ชิ้น 8 กลุ่ม มีการใช้ชิ้นเลนส์พิเศษ ED 1 ชิ้น ชิ้นเลนส์ที่มีการกระจายแสงสูงเป็นพิเศษ 2 ชิ้น ชิ้นเลนส์กระจายแสงสูง 3 ชิ้น  ออกแบบให้ได้ความคมชัดสูงกว่ารุ่นแรก 30% และให้ความคมชัดดีมากตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด f/0.95  ขนาดรูรับแสงแคบสุดของเลนส์คือ f/16 ระยะโฟกัสใกล้สุด 0.35 เมตร มุมรับภาพ 43.5 องศา ขนาดฟิลเตอร์ 55 มม. ขนาดเลนส์ 63 x 60 มม. (กว้าง x ยาว) นํ้าหนัก 460 กรัม

โครงสร้างของเลนส์แข็งแกร่งมากด้วยการใช้โลหะล้วนๆ ไม่มีพลาสติกแม้แต่ชิ้นเดียว โครงสร้างภายนอก ภายในทำจากโลหะล้วน เลนส์จึงดูแน่นหนามาก เขย่าแรงๆ ก็ยังไม่มีอาการคลอนของกระบอกแม้แต่น้อย ในส่วนของโครงสร้างรับประกันได้ว่าแข็งแรงไม่เป็นรองรุ่นใด แม้แต่เลนส์แบรนด์ดังๆ  เลนส์ชุดกลางและชุดท้ายมีขนาดใหญ่เป็นที่มาของความสว่าง f/0.95  และด้วยการออกแบบเลนส์ให้สั้นกว่าเดิม จึงสามารถลดขนาดเลนส์ชชุดหน้าให้เล็กลงได้โดยความสว่างยังเป็น f/0.95 เท่าเดิม


ผลการใช้งาน

กล้อง Fujifilm X-T20 เลนส์ Mitakon Speedmaster 35mm f/0.95 II ; 1/400 Sec f/0.95, ISO 200

เลนส์ที่ผมได้รับมาเป็นเมาท์ฟูจิ ผมนำไปใช้กับกล้องรุ่น X-Pro2 และ X-T20 โดยบันทึกด้วยไฟล์ RAW+JPEG ภาพส่วนใหญ่จะทดลองใช้ที่รูรับแสงกว้าง คือ f/0.95, f/1.4 และ f/2 มากกว่าที่เอฟอื่นๆ เพราะผมเชื่อว่าผู้ที่สนใจเลนส์ไวแสงขนาดนี้ ก็ต้องสนใจคุณภาพที่รูรับแสงกว้างมากกว่า

ที่ f/0.95 ความชัดลึกบางมาก ต้องโฟกัสอย่างระวัง แต่ภาพคมอย่างไม่น่าเชื่อ และใสเคลียร์มาก นี่คือไฟล์ Jpeg ที่ไม่มีการปรับแต่งใดๆ   กล้อง Fujifilm X-T20 เลนส์ Mitakon Speedmaster 35mm f/0.95 II ; 1/500 Sec f/0.95, ISO 200

เลนส์รุ่นก่อน คุณภาพที่รูรับแสงกว้างสุดน่าผิดหวังอยู่บ้าง ต้องหรี่รับแสงราวๆ f/2 จึงจะให้คุณภาพดี แต่ Mitakon Speedmaster 35mm f/0.95 II ไม่เป็นเช่นนั้น  ที่ f/0.95 มันให้คุณภาพน่าประทับใจมาก ภาพที่ได้มีความคมชัดสูงมากที่กลางภาพ รายละเอียดดีอย่างไม่น่าเชื่อว่า นี่คือภาพจากเลนส์ f/0.95 กับภาพบุคคลมันขุดรายละเอียดของผิวหน้าคนออกมาจนเห็นขุมขน ขอเพียงโฟกัสให้ตรง  รายละเอียดจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ด้วยคอนทราสต์ที่ดีด้วย  ไม่เสียคอนทราสต์จนภาพดูซอฟท์เหมือนเลนส์รุ่นก่อน  มันจึงเป็นเลนส์ไวแสงที่คุณสามารถใช้งานที่ f/0.95 อย่างหวังผลได้ ที่เอฟกว้างสุดมันจะแสดงช่วงความชัดลึกที่น้อยมาก ซับเจกต์จึงโดดเด่นออกจากฉากหลังที่ละลายอย่างที่หลายคนชื่นชอบจากกล้องฟูลเฟรม  ฉากหลังเบลออย่างเนียนตาเป็นธรรมชาติ ความคมชัดที่ส่วนใกล้ขอบภาพจะลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับดี ส่วนขอบสุดๆ ของภาพ จะซอฟท์มาก แต่ผมไม่ซีเรียสเลยครับ เพราะพื้นที่กลางภาพและค่อนมาทางขอบภาพคมชัดมาก เท่านี้ก็พอใจแล้วครับ

ให้ความคมชัดดีมาก รายละเอียดน่าประทับใจ  กล้อง Fujifilm X-T20 เลนส์ Mitakon Speedmaster 35mm f/0.95 II ; 1/500 Sec f/8 , WB : Auto , Mode : M , ISO 200

ต้องยอมรับฝีมือการออกแบบระบบออพติคเลย ว่าทำได้ดีจริงตามที่เคลมไว้ ทำให้เลนส์รุ่นนี้แตกต่างจากเลนส์ซูมและเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวทั่วไปอย่างชัดเจน  ด้วยประสิทธิภาพในการทำงานกับสภาพแสงน้อยที่ f/0.95  และการละลายฉากหลังที่ทำได้มากกว่า เมื่อหรี่รูรับแสงลงเป็น f/1.4 ความคมชัดที่ได้จะอยู่ในระดับดีมากที่กลางภาพ ค่อนข้างดีที่ใกล้ขอบภาพ  และพอใช้ที่ขอบภาพ ความคมชัดที่ f/1.4 นั้นน่าประทับใจมากครับ  หวังผลได้เต็มที่กับเซ็นเซอร์ X-Tran CMOS III 24.2 ล้านพิกเซลของ X-Pro2 กับภาพพอร์ทเทรต แสดงรายละเอียดของขุมขนบนใบหน้าได้ชัดเจน  ที่ f/2 ภาพที่ได้คมกริบครับ รายละเอียดทำได้น่าประทับใจอย่างยิ่งที่กลางภาพ และขอบภาพก็ทำได้ค่อนข้างดี  ที่ f/2.8 และ f/4 จะได้ความคมชัดสูงสุดของเลนส์ คมพอจะกล่าวได้ว่าไม่เป็นรองเลนส์ค่าย ภาพมีรายละเอียดดีในระดับ Inner Detail คอนทราสต์ของภาพก็สูงเต็มที่ ทำให้ความอิ่มสีสูง ภาพใสเคลียร์  ที่ f/5.6 ความคมชัดดีเยี่ยม แต่ลดลงจาก f/4 เล็กน้อย  ที่ f/8 ความคมชัดลดลงจากเรื่อง Diffraction แต่ความคมชัดยังน่าพอใจมาก  ที่ f/11 ความคมชัดก็ยังน่าพอใจครับ แต่ที่ f/16 ความคมชัดจะลดลงค่อนข้างมาก

กล้อง Fujifilm X-T20 เลนส์ Mitakon Speedmaster 35 mm f/0.95 II ; 1/500 Sec f/8, WB : Auto, Mode : M, ISO 200

ในส่วนของการถ่ายทอดสีนั้น ต้องบอกว่าทำได้ดีครับ เป็นเลนส์ที่ให้สีอิ่มแน่น สดใส คอนทราสต์สูง อาการขอบภาพมืดปรากฏให้เห็นเมื่อเปิดรูรับแสงกว้าง ที่ f/0.95 ขอบภาพจะมืดกว่ากลางภาพประมาณ 1.5 สตอป ที่ f/1.4 อาการขอบภาพมืดลดลงเหลือประมาณ 1 สตอป และที่ f/2 จะเหลือประมาณ 0.7 สตอป

เมื่อถ่ายภาพย้อนแสง ปรากฏแสงฟุ้งและภาพหลอนบ้าง ที่ f/0.95 จะมีแสงฟุ้งพอสมควร  การเลือกตำแหน่งการวางจุดสว่าง เช่น ดวงอาทิตย์ หลอดไฟ จะช่วยลดแสงฟุ้งได้พอสมควร  ที่ f/1.4 ถึง f/ 2.8 แสงฟุ้งจะลดลง แต่จะมีภาพหลอนเป็นดวงๆ แทน  แต่ก็ไม่ได้มากมายจนเป็นผลเสียกับภาพหรอกครับ  การใช้ฮูดหรือใช้มือป้องแสงจะช่วยลดแสงฟุ้งและภาพหลอนลงได้บ้าง

ได้ประโยชน์อะไรจาก f/0.95

ในสภาพแสงน้อยมากๆ คือจุดที่เลนส์รุ่นนี้จะแสดงประสิทธิภาพให้เห็นโดยไม่ต้องดัน ISO มากเกิน  กล้อง Fujifilm X-Pro2 เลนส์ Mitakon Speedmaster 35mm f/0.95 II ; 1/200 Sec f/0.95, ISO 1600

สำหรับผม  ความไวแสงของเลนส์รุ่นนี้จะสูงกว่า f/1.4 อยู่ราวๆ  1 สตอป และสูงกว่าเลนส์ซูมที่มีรูรับแสงกว้างสุด f/2.8 อยู่ถึง 3 สตอป ดังนั้นสิ่งที่ได้จากเลนส์รุ่นนี้จึงมีความพิเศษในเรื่องการใช้ในสภาพแสงน้อย เพราะได้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้นกว่าเลนส์ซูม 3-4 สตอป และเบลอฉากหลังได้มากกว่าเลนส์ซูมอย่างมาก ภาพจะโดดเด่นแตกต่าง เพราะซับเจกต์จะลอยออกมาจากฉากหลังได้แม้ถ่ายภาพคนเต็มตัว

เลนส์แมนนวลใช้ยากหรือไม่ 

หลายท่านอาจสงสัย แน่นอนครับว่าอย่างไรซะมันก็ต้องช้ากว่าเลนส์ออโตโฟกัส 2-3 เท่า แต่ถ้าเราใช้จนชำนาญจะพบว่าการโฟกัสด้วยมือไม่ใช่ปัญหา ง่ายที่สุดคือเปิดใช้ฟังก์ชั่น Peaking Focus แต่แนะนำให้ใช้ที่ LOW เพื่อให้การโฟกัสเจาะจงแม่นยำยิ่งขึ้น เพียงหมุนวงแหวนโฟกัสให้ซับเจกต์มีเส้นขอบสี (ตามที่เราเลือก) ขึ้น ก็แสดงว่าภาพอยู่ในโฟกัส แต่สำหรับผม  ผมจะไม่ชอบ Peaking เพราะรำคาญสีที่จุดโฟกัส มันทำให้สุนทรียะในการมองภาพขาดหายไป โดยผมจะใช้การขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น แล้วจึงปรับโฟกัส จากนั้นจึงกดชัตเตอร์ อาจจะช้ากว่า Peaking เล็กน้อย แต่ชัวร์กว่า  โอกาสที่จะโฟกัสผิดพลาดมีน้อยมาก

กับเลนส์รุ่นนี้นุ่มนวลดีครับ ปรับได้ละเอียด แต่ข้อติเล็กน้อยคือ การวางวงแหวนปรับรูรับแสงไว้ด้านหน้า ทำให้นิ้วเผลอไปโดนเอฟสตอปเปลี่ยนโดยไม่ตั้งใจอยู่หลายครั้ง  น่าจะวางวงแหวนโฟกัสแยกห่างจากวงแหวนโฟกัสมากกว่านี้  และวงแหวนปรับ
รูรับแสงเป็นแบบไม่มีคลิ๊ก ปรับแล้วต้องคอยดูบนกระบอกเลนส์ว่าอยู่ที่เอฟอะไร นับจำนวนคลิ๊กไม่ได้ (แต่จะดีมากกับการถ่ายวิดีโอ เพราะแสงจะเปลี่ยนแบบต่อเนื่องและเงียบ)

เลนส์ไม่มีการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าใดๆ กับกล้อง  ดังนั้นการทำงานจะเป็นแบบ Stop Down ปรับแสงรูรับแสงหรี่ทันที  ภาพที่เห็นจากช่องมอง EVF หรือจอ LCD ก็จะเป็นภาพที่แสดงความชัดลึกจริง


ความเห็น 

ให้ภาพใสเคลียร์ โบเก้สวย  กล้อง Fujifilm X-T20 เลนส์ Mitakon Speedmaster 35mm f/0.95 II ; 1/250 Sec f/1.4, ISO 200

ราคาขาย 27,990 บาท อาจทำให้บางท่านลังเล แต่นี่คือเลนส์มาตรฐานที่มีความไวแสงสูงมากๆ  มันจะเป็นเลนส์ที่เปลี่ยนความรู้สึกของคุณที่มีกล้อง APS-C  เพราะมันจะทำให้กล้อง APS-C สามารถละลายฉากหลังได้เหมือนกล้องฟูลเฟรม แต่ได้ความเร็วชัตเตอร์สูงกว่า ด้วย FO.95  และที่โดดเด่นคือ FO.95 เป็นรูรับแสงที่ใช้งานได้จริง หวังผลได้จริง เมื่อประกอบกับโครงสร้างที่แข็งแกร่งราวรถถัง  Mitakon Speedmaster 35mm f/0.95 II จึงเป็นเลนส์แมนนวลโฟกัสที่ไม่ควรมองข้ามเลยครับ หากคุณใช้กล้อง SONY E หรือ FUJIFILM X Series   แนะนำเป็นพิเศษครับ

ขอบคุณ : บริษัท คาเมร่า เมคเกอร์ จำกัด ผู้แทนจำหน่าย สำหรับความอนุเคราะห์เลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.cameramaker.co.th

เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews