กล้องมิเรอร์เลสมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างหนึ่งคือ จะมีระยะห่างระหว่างท้ายเลนส์กับเซ็นเซอร์รับภาพ (Flange back) น้อยกว่ากล้อง DSLR ราวๆ 20-25 มม. โดยจะมีระยะห่างเพียง 15-19 มม. เท่านั้น ดังนั้นเมื่อนำเลนส์ของกล้อง DSLR หรือเลนส์มือหมุนเก่าๆที่ใช้กับกล้อง DSLR มาใช้กับกล้องมิเรอร์เลสจึงต้องผ่านอแดปเตอร์ที่มีความหนา 20-25 มม. (แล้วแต่ยี่ห้อของกล้องมิเรอร์เลส) เพื่อให้เลนส์สามารถปรับโฟกัสที่อินฟินิตี้ได้ และระยะโฟกัสที่แสดงบนกระบอกเลนส์ตรงกับระยะจริง
การนำเลนส์แมนนวลโฟกัสมาใช้กับกล้องมิเรอร์เลสมักจะใช้ร่วมกับอแดปเตอร์ธรรมดาๆ เพราะเลนส์แมนนวลโฟกัสจะไม่มีการส่งข้อมูลกับตัวกล้องด้วยขั้วสัมผัสไฟฟ้าอยู่แล้ว การหรี่รูรับแสงจะเป็นแบบ Stop Down คือ ปรับรูรับแสงแล้ว ไดอะแฟรมของเลนส์จะหรี่ลงมาตามขนาดรูรับแสงที่ปรับทันที ความชัดลึกที่แสดงบนหน้าจอ LCD หรือในช่องมอง EVF ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย แต่ช่องมองจะไม่มืดลง (หากใช้โหมด A ) กล้องจะแสดงค่าการวัดแสงใหม่ แล้วปรับภาพที่เห็นสว่างนั้นเป็นปกติ ผู้ใช้ก็ต้องปรับโฟกัส แล้วบันทึกภาพ (การโฟกัสจะค่อนข้างยากถ้าใช้รูรับแสงแคบ เพราะความชัดลึกสูง) ผู้ใช้บางคนใช้วิธีเปิดรูรับแสงกว้างสุดเพื่อโฟกัส แล้วจึงค่อยหรี่รูรับแสงลงมายังรูรับแสงที่ต้องการ แล้วจึงบันทึกภาพ หรือไม่ก็ใช้ตัวช่วย เช่น กดปุ่มซูมขยายภาพเพื่อให้โฟกัสได้ง่ายขึ้น หรือใช้ฟังก์ชั่น Peaking ให้กล้องแสดงเส้นสีที่วัตถุซึ่งอยู่ในระยะชัด หลายๆ คนจึงรู้สึกว่าการนำเลนส์มือหมุนมาใช้กับกล้องมิเรอร์เลสเป็นเรื่องยุ่งยาก ช้าและทำให้พลาดจังหวะดีๆ และโฟกัสมักจะหลุดบ่อย
ภาพจาก TECHART PRO / ภาพแสดงโครงสร้างภายในของ TECHART PRO
TECHART PRO เป็นอแดปเตอร์ Leica E–Sony E ที่ทำงานด้วยระบบออโตโฟกัส โดยนำเลนส์ Leica M หรือ Voigtlander (เมาท์ Leica M) หรือเลนส์อิสระแบรนด์อื่นที่เป็นเมาท์ Leica M มาสวมเข้ากับด้านหน้าของอแดปเตอร์ แล้วนําอแดปเตอร์ไปสวมกับบอดี้กล้อง SONY A Series ที่เป็น E mount โดยการปรับโฟกัสของเลนส์จะเปลี่ยนเป็นออโตโฟกัสในทันที และ TECHART PRO ก็เคลมว่าเป็นอแดปเตอร์รุ่นแรกของโลกที่เปลี่ยนเลนส์แมนนวลโฟกัสให้ทำงานแบบออโตโฟกัสได้
โดยเฉพาะกับเลนส์ Leica M มันใช้ประโยชน์ได้ยิ่งกว่านั้น เพราะปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของเลนส์ Leica M ก็คือ ระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์ Leica M นั้นจะห่างกว่าเลนส์ทั่วๆ ไป ทำให้ไม่สามารถโฟกัสได้ใกล้เท่าๆ กับเลนส์ช่วงเดียวกัน แต่เมื่อใช้กับ TECHART PRO เลนส์ Leica M จะโฟกัสได้ใกล้ขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะเลนส์ช่วงมุมกว้าง จะโฟกัสได้ใกล้มาก
TECHART PRO ทำงานอย่างไร อแดปเตอร์ของ TECHART PRO ออกแบบให้ทำงานร่วมกับระบบออโตโฟกัสของกล้อง SONY ตระกูล A ทั้งฟูลเฟรมและ APS-C เพียงแต่ต้องเป็นกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์รับภาพที่ติดตั้งระบบเฟสดีเทคชั่นบนเซ็นเซอร์ เช่น A7II,A7RII,A9 หรือ A6300,A6500 เป็นต้น โดยกล้องจะตรวจจับการโฟกัสแล้วสั่งให้อแดปเตอร์ขยับชุดเลนส์เพื่อโฟกัส เมื่อภาพชัดกล้องก็จะสั่งหยุดการโฟกัส การทำงานจะแตกต่างจากการใช้อแดปเตอร์ LA-EA4 ของโซนี่ เพราะ LA-EA4 ใช้ระบบโฟกัสของอแดปเตอร์ในการทำงาน แต่ TECHART PRO ใช้ระบบเฟสดีเทคชั่นของกล้อง ที่ตัวอแดปเตอร์มีมอเตอร์ในตัวเพื่อขับชุดเฮลิคอยด์ ซึ่งเป็นกระบอกชุดเกลียวโฟกัส ซึ่งด้านหน้าจะยึดกับเลนส์ สามารถขยับชุดยึดเลนส์ทั้งชุดเคลื่อนเข้าออกได้เป็นระยะทาง 4.5 มม. ทำให้ภาพปรับจนเข้าจุดโฟกัสได้ (คล้ายกับการทำงานของกล้อง CONTAX AX ระบบฟิล์มในอดีตที่ใช้การขยับแผงหลังที่ยึดกับฟิล์มทั้งชุดเพื่อโฟกัส)
เร็วและแม่นยำ การโฟกัสของ TECHART PRO มีความเร็วในระดับดีและมีความเที่ยงตรงด้วยการใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง สามารถหยุดได้ทันทีที่กล้องสั่ง โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที ในการโฟกัส
รองรับระบบโฟกัส AF-S, AF-C อแดปเตอร์รุ่นนี้ไม่ได้รองรับการทำงานเฉพาะโหมด AF-S แต่ยังรองรับระบบโฟกัสต่อเนื่อง AF-C ด้วย ทำให้สามารถใช้เลนส์มือหมุนด้วยระบบ AF Tracking ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ LEICA M นี่คือฟังก์ชั่นชั้นเยี่ยม
กล้อง Sony A7R II เลนส์ NIKKOR AIS 50mm. f/1.2 ; 1/60 Sec f/2.8, Mode : M, WB : Auto, ISO 800
เข้าได้ใกล้ยิ่งขึ้น ระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์แต่ละรุ่นจะถูกทำให้เข้าได้ใกล้ยิ่งขึ้น โดยเมื่อปรับโฟกัสของเลนส์ที่ใกล้สุด อแดปเตอร์จะขยับเข้าใกล้ได้อีก 4.5 มม. อัตราขยายของภาพจึงสูงขึ้นเช่นเดียวกับการใช้ Extension tube โดยจะขึ้นอยู่กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ หากเป็นเลนส์มุมกว้าง อัตราขยายก็จะเพิ่มมากกว่าเลนส์เทเลโฟโต้ แต่ที่เหนือกว่าการใช้ Extension tube ก็คือ มันปรับได้ละเอียดตั้งแต่ 0-4.5 มม. ดังนั้นจึงไม่จำกัดเลนส์ที่ใช้ แม้จะเป็นเลนส์ Ultra Wide หรือ Fisheye ในขณะที่ Extension tube แม้จะเป็นขนาดบาง(10-12มม.) จะใช้ไม่ได้ มันจึงช่วยทำให้เลนส์ซุปเปอร์ไวด์ และฟิชอายโฟกัสได้ใกล้อย่างยิ่ง
ใช้กับเลนส์แมนนวลโฟกัสได้แทบทุกรุ่น ด้วยการใช้เมาท์เขี้ยว LEICA M ทำให้อแดปเตอร์ของ TECHART PRO สามารถนำไปใช้กับเลนส์มือหมุนได้เพียบ เช่น Canon EF, FD / Nikon F / Contax CY/ LEICA R / Olympus OM / Pentax PK เป็นต้น ทำให้สามารถนำเลนส์รุ่นเก่าๆ เหล่านี้มาเป็นเลนส์ออโตโฟกัสได้
เบาแต่เปี่ยมพลัง เพื่อออกแบบให้ลงตัว กลมกลืนกับเลนส์ LEICA M อแดปเตอร์ TECHART PRO จึงออกแบบให้เล็กและเบา นํ้าหนักเพียง 133 กรัม แต่โครงสร้างแกร่งและมีมอเตอร์ที่ทรงพลัง สามารถรับเลนส์ที่มีนํ้าหนักถึง 700 กรัมได้
รองรับระบบกันสั่น 3 แกน อแดปเตอร์ TECHART PRO มีการส่งผ่านข้อมูลกับกล้อง 10 จุด เมื่อใช้งานร่วมกับ A7II หรือ A7RII จะรองรับระบบลดการสั่นไหวแบบ 3 แกน ทำให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าแบบหวังผลได้
ผลการใช้งาน
กล้อง Sony A7R II เลนส์ NIKKOR AIS 105mm. f/2.5 ; 1/500 Sec f/5.6, Mode : M, WB : Auto, ISO 400
ผมใช้ TECHART PRO กับกล้อง SONY A7R II โดยใช้อแดปเตอร์แปลงเมาท์ LEICAM-NIKON F และได้ลองใช้ร่วมกับเลนส์และรุ่นด้วยกันคือ NIKKOR AIS 28 mm.f/2.8 NIKKOR AIS 50 mm. f/1.2 , NIKKOR AIS 105 mm f/2.5, NIKKOR AIS 55 mm. f/2.8 MICRO นอกจากนั้นยังลองกับ SAMYANG 14mm. f/2.8 UMC และ SAMYANG 35 mm. f/1.4 UMC
ผมมีเลนส์มือหมุนเยอะมาก ตอนแรกก็คิดว่าเมื่อเข้าสู่ยุคกล้องมิเรอร์เลส เลนส์มือหมุนเหล่านี้จะได้ถูกนำออกมาใช้งานซักที แต่เอาเข้าจริง มีโอกาสได้ใช้น้อยมาก เพราะเมื่อต้องปรับโฟกัสแบบมือหมุน ผมรู้สึกว่ามันช้า แม้กล้องจะมีฟังก์ชัน MF Assit และ Peaking Focus ก็ตาม แต่เมื่อได้ลองใช้ TECHART PRO ความรู้สึกสนุกได้กลับมาอีกครั้ง มันช่วยให้เลนส์ยุคเก่าๆ เหล่านี้ใช้งานกับ A7R II ได้อย่างน่าประทับใจ
ความเร็วในการโฟกัสอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ได้เร็วเท่าใดนัก แต่ก็ไม่ช้า ผมไม่หงุดหงิดกับระบบโฟกัสเลยครับ มันอาจจะช้ากว่าเลนส์ค่ายที่เป็นระบบ AF ราวๆ 1-2 เท่าตัว แต่ก็โฟกัสได้แม่นยำ น่าพอใจ กับเลนส์ NIKKOR AFS 28mm. f/2.8 โฟกัสเข้าตลอดไม่ว่าจะวางจุดโฟกัสไว้ตำแหน่งใด (กล้องจะแสดงกรอบของพื้นที่เฟสดีเทคชั่นที่เราเลือก ให้เห็นบนหน้าจอ) กับเลนส์รุ่นนี้มันทำให้ผมทึ่งกับคุณภาพที่ได้ แม้จะเป็นเลนส์ที่มีอายุกว่า 30 ปี แต่ภาพคมกริบตั้งแต่ f/2.8 ใสเคลียร์ สีสันดีมาก นี่ถ้าไม่ได้อแดปเตอร์ TECHART PRO เลนส์ตัวนี้ก็คงยังนอนอยู่ในตู้กันความชื้นแน่นอน กับเลนส์ NIKKOR AFS 50mm. f/1.2 ภาพจะฟุ้งที่เอฟกว้าง โฟกัสหลุดมาด้านหน้าเล็กน้อย แต่เมื่อใช้ที่ f/2 หรือแคบกว่า โฟกัสเข้าตรงจุด กับเลนส์เทเลโฟโต้ NIKKOR AIS 105mm. f/2.5 มันก็ได้เผยคุณภาพที่ดีมากของเลนส์ยุคสามทศวรรษที่แล้วได้อย่างน่าพอใจมาก การโฟกัสก็แม่นยำและเร็วพอควร
สิ่งที่น่าประทับใจคือ สามารถใช้ระบบ AF-C ได้ ภาพนี้ผมตั้งระบบโฟกัสแบบ Wide แล้วถ่ายรัวเป็นชุดตามนักเต้น และกล้องโฟกัสทันซะด้วย กล้อง Sony A7R II เลนส์ NIKKOR AIS 50mm. f/1.2 ; 1/250 Sec f/2.8, Mode : M, WB : Auto, ISO 640
แต่ที่ประทับใจผมสุดๆ คือการใช้ร่วมกับ SAMYANG 14mm. f/2.8 UMC มันช่วยให้เลนส์ที่โฟกัสแมนนวลค่อนข้างยากรุ่นนี้ กลายเป็นเลนส์ออโตโฟกัส จึงใช้งานได้สนุกมาก และที่เด็ดคือปรับโฟกัสใกล้มาก โดยผมปรับโฟกัสที่เลนส์ไปใกล้สุด จากนั้นก็ปล่อยให้กล้องโฟกัสระยะใกล้โดยขยับกล้องเข้าใกล้ซับเจกต์ไปเรื่อยๆ พบว่ามันโฟกัสได้ใกล้ จนหน้าเลนส์ ห่างจากซับเจกต์เพียง 3-4 ชม. ได้อัตราขยายสูง โดยได้มุมรับภาพกว้าง จึงได้ภาพโคลสอัพที่ดูแปลกตากว่า
ในการใช้งานผมจะตั้งระบบลดการสั่นไหวแบบแมนนวล ตั้งตามทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้พบว่าใช้งานได้ดีมาก ช่วยลดความสั่นไหวได้ประมาณ 2-3 สตอป ส่วนระบบโฟกัสจะใช้วิธีโฟกัสที่เลนส์ คร่าว ๆ แล้วให้กล้องปรับแบบละเอียดอีกที วิธีนี้จะช่วยให้โฟกัสเร็วและคุณภาพจะลดลงน้อย เมื่อใช้เลนส์มุมกว้างที่มีระบบชิ้นเลนส์ลอยตัว (Floating Element)
ความเห็น
กล้อง Sony A7R II เลนส์ NIKKOR AIS 50mm. f/1.2 ; 1/125 Sec f/4, Mode : M, WB : Auto, ISO 400
ประทับใจอย่างยิ่งครับ สำหรับผู้ที่มีเลนส์ LEICA M หรือเลนส์มือหมุน หลายๆ รุ่นหากจะนำไปใช้กับ SONY A7II หรือ A7R II แนะนำ TECHART PRO เลยครับ รับรองคุณจะไม่อยากกลับไปหมุนมืออีกเลย Highly Reccommended ครับ
ขอบคุณ : บริษัท คาเมร่า เมคเกอร์ จำกัด ผู้แทนจำหน่าย TECHART PRO สำหรับความอนุเคราะห์อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.cameramaker.co.th
เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews