เมื่อดูภาพที่ถ่ายจากเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่มีความคมชัด นักถ่ายภาพบางคนอาจคิดว่าหากมีเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงก็สามารถถ่ายภาพในลักษณะนี้ได้ แต่ความจริงอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะนอกจากเทคนิคการถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ต่างๆ ที่นักถ่ายภาพต้องใช้เกี่ยวกับการถ่ายภาพที่ต้องใช้อัตราขยายสูงแล้ว การใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงยังต้องการทักษะและเทคนิคที่แตกต่างจากเลนส์อื่นด้วยเพื่อทำให้ภาพมีความคมชัด
ทำให้แม้แต่นักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์เมื่อใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ถ่ายภาพครั้งแรก ก็ยังอาจประสบปัญหาเรื่องความคมชัดของภาพได้ โดยต่อไปนี้เป็นคำแนะนำในการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงเพื่อที่จะไม่ให้มีปัญหาเรื่องความคมชัดตามมาภายหลัง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจเกี่ยวกับเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ก่อนครับว่า ทางยาวโฟกัสของเลนส์เทเลโฟโต้มีผลต่อระยะการซูมและมุมมองของภาพ เลนส์เทเลโฟโต้ที่มีทางยาวโฟกัสยาวจะให้ระยะการซูมที่มากขึ้น แต่จะมีมุมมองที่แคบลง ในขณะที่เลนส์เทเลโฟโต้ที่มีทางยาวโฟกัสสั้นกว่า จะให้มุมมองที่กว้างขึ้น แต่มีระยะการซูมที่น้อยลง ดังนั้น การเลือกใช้ทางยาวโฟกัสที่เหมาะสมจึงขึ้นอยู่กับประเภทของภาพถ่ายที่คุณต้องการ

ใช้การทำงานลดการสั่นไหวของภาพที่เหมาะสม
เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้มักมีระบบการทำงานลดการสั่นไหวของภาพมากกว่าหนึ่งโหมด ซึ่งการเลือกใช้โหมดที่เหมาะสมสามารถสร้างความแตกต่างในเรื่องความคมชัดของภาพได้ โดยทั่วไปเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้มักมีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพสองโหมดให้เลือกใช้ ซึ่งโหมด 1 ปกติมักเหมาะสำหรับใช้ถ่ายภาพทั่วไป ดังนั้นจึงควรเป็นโหมดที่นักถ่ายภาพตั้งค่าทิ้งไว้เสมอ ส่วนโหมดที่สองมักใช้สำหรับการแพนกล้อง ซึ่งเป็นโหมดที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพโดยการเคลื่อนกล้องหรือแพนกล้องในขณะถ่ายภาพ โดยมักเป็นโหมดที่นักถ่ายภาพนกหรือรถแข่งชอบใช้

การใช้ระบบกันสั่นแบบแพนไปกับวัตถุ

การใช้ระบบกันสั่นในสภาพแสงน้อย จะช่วยลดการสั่นไหวเมื่อลดค่าชัตเตอร์สปีดลงเพื่อเพิ่มแสงให้เข้าเซ็นเซอร์ได้มากขึ้น
เมื่อถ่ายภาพนกหากจะเปลี่ยนโหมดการทำงานลดการสั่นไหวของภาพในขณะที่นกเริ่มบินอาจจะไม่ทัน ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรสังเกตพฤติกรรมของนกเพื่อที่จะปรับตั้งโหมดนี้ล่วงหน้า อย่างไรก็ตามเลนส์จากแต่ละผู้ผลิตอาจมีโหมดการทำงานลดการสั่นไหวของภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้นนักถ่ายภาพควรตรวจสอบเรื่องนี้ให้แน่ใจ
อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ขาตั้งกล้องร่วมด้วยนักถ่ายภาพควรปิดการทำงานลดการสั่นไหวของภาพที่เลนส์ เพราะเมื่อเปิดการทำงานไว้ระบบจะมีการสั่นเล็กๆ ซึ่งส่งผลไปถึงกล้องที่อยู่บนขาตั้งกล้องด้วย
ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม
คำแนะนำที่ดีที่สุดในเรื่องการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์คือใช้ความเร็วชัตเตอร์อย่างน้อย 1ส่วนทางยาวโฟกัสของเลนส์ ซึ่งหมายความว่าหากใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 500 มม. ความเร็วชัตเตอร์ที่ควรใช้คือ 1/500 วินาทีหรือสูงกว่า เพราะหากใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่านี้อาจทำให้เกิดการสั่นของกล้องซึ่งส่งผลต่อความคมชัดของภาพได้

ภาพที่ใช้ชัตเตอร์สปีดที่ต่ำเกินไปกับเลนส์เทเลโฟโต้ในระยะ 500mm
แต่หากเลนส์ที่ใช้มีระบบลดการสั่นไหวของภาพก็จะสามารถช่วยให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ตํ่ากว่าคำแนะนำนี้ อย่างไรก็ตามเพื่อความแน่ใจว่าความเร็วชัตเตอร์ตํ่าที่สุดที่นักถ่ายภาพแต่ละคนสามารถใช้ร่วมกับเลนส์และการทำงานลดการสั่นไหวของภาพได้คือเท่าใด ควรมีการทดลองถ่ายภาพดูก่อนที่จะถ่ายภาพจริง โดยเฉพาะเมื่อซื้อเลนส์มาใหม่

ความเร็วชัตเตอร์ที่มากพอจะช่วยให้ซับเจคท์ชัดขึ้น
อย่างไรก็ตามคำแนะนำเรื่อง 1 ส่วนทางยาวโฟกัสเลนส์ นี้ใช้กับกล้องฟูลเฟรมเท่านั้น ซึ่งหากใช้กล้องที่มีเซ็นเซอร์ภาพ APS-C จะต้องนำครอปแฟกเตอร์ของเซ็นเซอร์มาร่วมด้วย เช่นหากใช้กล้องที่มีครอปแฟกเตอร์ 1.5 กับเลนส์ 500 มม. ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าสุดที่ควรใช้คือ 1/750 วินาที
หรือถ้าหากใช้ร่วมกับกล้องที่มีกันสั่น ซึ่งโดยส่วนมากมักจะเป็นกล้องรุ่นใหม่ๆ ก็สามารถใช้กันสั่นร่วมกันได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการสั่นไหวได้มากขึ้นนั่นเอง

การใช้ระบบกันสั่นในตัวเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้เข้ามาช่วยในช่วงสภาพแสงน้อย ถ่ายด้วยเลนส์ Nikkor Z 180-600mm ที่ระยะ 600mm ในช่วงเวลา 18.30 น.
หรือหากแสงที่ได้ไม่เพียงพอ ในกล้องรุ่นใหม่ๆ มักจะถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถดันค่า ISO ให้สูงขึ้นได้ โดยที่คุณภาพในการจัดการสัญญาณรบกวนทำได้ดีกว่ากล้องรุ่นเก่าๆ เพราะฉะนั้น การดัน ISO เพื่อช่วยเพิ่มความสว่างแทนการลดค่าชัตเตอร์สปีด จึงเป็นอีกหนึ่งข้อที่ควรนำไปพิจารณาเมื่อจำเป็นต้องถ่ายในสภาพแสงน้อย แต่ต้องใช้ชัตเตอร์สปีดสูงๆ ได้ด้วยเช่นกัน
ปรับรูรับแสงมากขึ้นหากเป็นไปได้
เมื่อถ่ายภาพนกระยะชัดมีบทบาทสำคัญในการช่วยทำให้วัตถุโดดเด่นจากฉากหลัง ซึ่งเมื่อถ่ายภาพด้วยรูรับแสงกว้างสุดจะช่วยทำให้นักถ่ายภาพลดระยะชัดลงส่งผลให้นกมีความคมชัดโดยที่ฉากหลังเบลอจากการพ้นระยะโฟกัสได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักถ่ายภาพจะต้องใช้แต่รูรับแสงกว้างสุดเสมอไป เพราะหากเป็นไปได้นักถ่ายภาพควรเลือกใช้รูรับแสงที่มีความคมชัดสูงสุดของเลนส์

คุณสมบัติของเลนส์เทเลโฟโต้ยังสามารถช่วยให้ได้ภาพที่วัตถุดูเด่นจากฉากหลัง ทำให้สามารถเปิดค่า F ให้แคบลงกว่าค่า F กว้างสุดของเลนส์นั้นๆ ได้
ซึ่งโดยปกติแล้วมักเป็นรูรับแสงที่แคบกว่ารูรับแสงกว้างสุด 2-3 สตอป จึงหมายความว่าหากใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด F4 ที่รูรับแสง F8 หรือ F11 มักเป็นรูรับแสงที่เลนส์ให้ความคมชัดสูงสุด ซึ่งกับเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้แล้ว ที่รูรับแสงเหล่านี้ยังให้ภาพวัตถุที่เด่นจากฉากหลังอยู่ ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกที่ดีหากจะใช้เลนส์ 500 มม. โดยหรี่รูรับแสงที่ F8 หากไปเป็นได้
เลี่ยงทางยาวโฟกัสสูงสุดของเลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้
เลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้ส่วนใหญ่มักไม่ให้ความคมชัดที่สุดที่ทางยาวโฟกัสสูงสุด เช่นเลนส์ซูมที่มีระยะไกลสุดที่ 600 มม. โดยทั่วไปความคมชัดที่ 600 มม. จะลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงซูม 500 มม.

ที่ระยะ 600mm ทำให้ภาพลดความคมชัดลง
ดังนั้น หากนักถ่ายภาพสามารถเข้าใกล้นกได้ด้วยตนเองเพื่อเลี่ยงการซูมไปที่ทางยาวโฟกัสสูงสุดก็จะทำให้ได้ความคมชัดมากขึ้น โดยนักถ่ายภาพสามารถค้นหาทางยาวโฟกัสที่มีความคมชัดสูงสุดและความคมชัดที่ลดลงของเลนส์ที่ใช้ได้ด้วยการทดสอบถ่ายภาพที่ทางยาวโฟกัสต่างๆ ของเลนส์
จำกัดระยะโฟกัสหากสามารถคาดการณ์การเคลื่อนที่ได้
หากนักถ่ายภาพพบว่าการหมุนวงแหวนโฟกัสของเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ยากเนื่องจากมีความหนืด การทำงานของมอเตอร์สำหรับออโตโฟกัสก็ยากไม่แพ้กัน และโดยทั่วไปเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้มักโฟกัสช้ากว่าเลนส์ทางยาวโฟกัสที่สั้นกว่า โดยแม้แต่เลนส์ที่โฟกัสได้เร็วยังอาจใช้เวลาเกือบหนึ่งวินาทีเพื่อโฟกัสจากระยะใกล้สุดไปยังระยะไกลสุดของเลนส์

แต่นักถ่ายภาพจะมีตัวช่วยเพื่อให้สามารถโฟกัสได้เร็วขึ้นคือ Focus Limiter ของเลนส์หรือการทำงานจำกัดระยะโฟกัสเพื่อให้เลนส์ไม่ต้องโฟกัสในระยะใกล้ โดยทั่วไป Focus Limiter จะแสดงระยะการโฟกัสอย่างชัดเจนที่ด้านข้างกระบอกเลนส์ซึ่งมีสองระยะให้เลือกคือโฟกัสจากระยะใกล้สุดจนถึงอินฟินิตี้ และไกลออกไปเช่น 10 เมตรถึงอินฟินิตี้ ซึ่งหากถ่ายภาพนกที่กำลังบินอยู่โดยแน่ใจว่าจะไม่ต้องถ่ายภาพในระยะที่ใกล้กว่า 10 เมตร ควรเลื่อนสวิตช์ Focus Limiter มาที่ช่วงโฟกัสนี้ซึ่งจะทำให้กล้องหาโฟกัสตั้งแต่ระยะ 10 เมตรขึ้นไป

การรีโฟกัสที่เร็วทำให้เรามีโอกาสได้ภาพเพิ่มมากขึ้น
อีกกรณีหนึ่ง หากการโฟกัสไม่สามารถจับโฟกัสได้ อาจเนื่องจากคอนทราสต์ของซับเจ็คมีไม่เพียงพอ หรือ การค้นหาของระบบโฟกัสแบบ animal eyes Af หาไม่เจอ การรีโฟกัสก็จะทำงานในระยะที่สั้นกว่าการ Focus แบบไม่ลิมิตนั่นเอง
การใช้ปุ่ม Custom Function บนตัวเลนส์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ใหม่ๆ มักจะมีปุ่มนี้เพิ่มเติมมาให้ นั่นก็เพื่อให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกในการตั้งค่าการใช้งานเพิ่มมากขึ้น เช่น การเซ็ทปุ่มบางปุ่มให้ทำงานในบางสถานการณ์ที่เราต้องการความเร็วในการเรียกฟังก์ชั่นต่างๆ มาใช้งาน เช่น การเซ็ทค่าสำหรับถ่ายนกบิน การเซ็ทค่าสำหรับถ่ายนกที่อยู่นิ่งๆ ซึ่งหลายสถานการ์ก็ต่างต้องการการตั้งค่ากล้องที่ต่างกันนั่นเอง เมื่อมีมาให้ใช้เราก็ควรใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดครับ

ใช้ขาตั้งกล้อง
โดยทั่วไปนักถ่ายภาพสัตว์ป่ารวมทั้งนกมักจะใช้ขาตั้งกล้องร่วมด้วย ไม่ใช่ด้วยเหตุผลในเรื่องความคมชัดเท่านั้นแต่เพื่อการรองรับนํ้าหนักของเลนส์ด้วยจากนํ้าหนักที่มากของเลนส์ และโดยทั่วไปเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้มักจะมีวงแหวนติดขาตั้งกล้องที่เลนส์ซึ่งควรใช้จุดนี้ เพื่อติดเลนส์กับขาตั้งกล้องแทนการติดกล้องกับขาตั้งกล้อง นอกจากนี้โดยการใช้ขาตั้งกล้องจะทำให้นักถ่ายภาพสามารถให้ความสนใจไปกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนที่ของนกแทนการกังวลกับเรื่องนํ้าหนักเลนส์
ใช้เวลาสองถึงสามวันเพื่อฝึกใช้
แม้จะเป็นนักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์ แต่หากเพิ่งเริ่มใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ ควรที่จะใช้เวลาสองสามวันก่อนออกไปถ่ายภาพจริงเพื่อฝึกใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ถ่ายภาพนกในพื้นที่ใกล้ๆ เพื่อดูว่าความเร็วชัตเตอร์ตํ่าสุดเท่าใดที่ยังสามารถถ่ายภาพให้มีความคมชัดได้เมื่อใช้มือถือกล้องถ่ายภาพหรือเมื่อใช้ขาตั้งกล้อง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากมีโอกาสได้ทดลองอุปกรณ์ใหม่ๆ หรือการหาข้อมูลอยู่บ่อยๆ ก็จะช่วยพัฒนาตัวช่างภาพเองได้ และหมั่นทดลองใช้งานบ่อยๆ ทบทวนบ่อยๆ ก็จะทำให้การถ่ายภาพด้วยเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ครับ
ขอให้มีความสุขและสนุกกับการถ่ายภาพครับ
Leave feedback about this