SPECIAL ARTICLE

การโพสต์โปรเซส : POST PROCESSING # 2

ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้วที่ผมได้เกริ่นถึงกระบวนการโพสต์โปรเซสภาพที่ผมใช้ในการทำงานซึ่งแบ่งออกเป็นสามขั้นตอนหลักได้แก่

  • Basic Adjustment
  • Retouching และ
  • Seasoning

ในฉบับนี้ผมจะมาลงลึกในส่วนของขั้นตอนแรก (Basic Adjustment) เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีไอเดียและลองนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและปรับเตรียมภาพในเบื้องต้นก่อนที่จะนำภาพไปปรับแต่งอย่างละเอียดมากขึ้นในขั้นตอนต่อไปครับ

BASIC ADJUSTMENT

ในส่วนของโปรแกรมที่ผมใช้สำหรับทำงานในขั้นตอนนี้คือ Adobe Lightroom CC ครับ ปัจจุบันมีโปรแกรมบริหารจัดการและปรับแต่งภาพออกมาให้เลือกใช้กันอย่างหลากหลาย ทั้งที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทผู้ผลิตกล้องเองและ Third Party เจ้าอื่นๆ ท่านนักถ่ายภาพสามารถเลือกใช้งานโปรแกรมให้เหมาะสมกับความถนัดและสไตล์การทำงานของท่านครับ ส่วนตัวผมที่เลือกใช้งาน Adobe Creative Cloud Photography Plan เพราะผมและทีมงานเดินทางออกทำงานนอกสถานที่บ่อย ฟังค์ชั่น Lightroom Mobile ช่วยให้ผมสามารถ Sync ภาพใน Collection บนคอมพิวเตอร์เครื่องหลักที่ออฟฟิศของผมกับ Cintiq Companion, โน้ตบุค, แท๊บเลต, และสมาร์ทโฟน ซึ่งช่วยให้ผมสามารถโหลดภาพมาทำงานปรับแต่งได้อย่างสะดวกถึงแม้ว่าตัวผมและทีมงานจะอยู่นอกออฟฟิศครับในโปรแกรม Adobe Lightroom ก็จะมี module ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไปครับ ส่วน module ที่ผมใช้ทำงานเป็นหลักก็จะเป็น Library สำหรับใช้บริหารจัดการภาพและ Develop สำหรับปรับเตรียมภาพก่อนที่จะนำภาพไปใช้งานในขั้นตอนต่อไปครับ

ผมได้สรุปขั้นตอนการทำ BASIC ADJUSTMENT รวมถึงในส่วนของการบริหารจัดการภาพด้วยโปรแกรม ADOBE LIGHTROOM มาเป็นลำดับดังนี้ครับ

1. IMPORTING : ขั้นตอนแรกของผมในการทำงานหลังการถ่ายทำคือการโอนถ่ายภาพต้นฉบับเข้ามาสู่คลังภาพหรือฮาร์ดดิสหลักครับ หลังจากที่เราเปิดโปรแกรม Adobe Lightroom ขึ้นมาแล้ว ทันทีที่เราเชื่อมต่อกล้องเข้ากับคอมพิวเตอร์หรือเชื่อมต่อเมโมรี่การ์ดเข้ากับการ์ดรีดเดอร์ หน้าต่าง Import จะแสดงขึ้นมาโดยอัตโนมัติครับ

บนมุมซ้ายของหน้าต่าง Import เราจะสามารถมองเห็นกล้องหรือโฟลเดอร์ต้นทางที่เราต้องการคัดลอกหรือถ่ายโอนภาพต้นฉบับลงมาสู่เครื่องหรือฮาร์ดดิสของเราครับ

ถัดมาตรงกลางจะเป็นส่วนของการสั่งการว่าเราต้องการให้ Lightroom นั้นทำอย่างไรกับภาพต้นฉบับทั้งหมดของเราครับ หากเลือก Copy as DNG โปรแกรมจะทำการคัดลอกไฟล์Rawของเราพร้อมกับแปลงไฟลให้เป็น Adobe DNG ซึ่งเป็น Raw Format ของทาง Adobe ครับ ทางบริษัท Adobe เคลมไว้ว่าไฟล์ฟอร์แมตนี้สามารถลดขนาดในการจัดเก็บได้ถึง10%อีกทั้งยังสามารถเพิ่มความเร็วในการอ่านและเขียนไฟล์ด้วยครับ หากเราเลือก Copy โปรแกรมจะทำการคัดลอกภาพต้นฉบับทั้งหมดไปยังโฟลเดอร์ปลายทางครับ หากเลือก Move โปรแกรมจะทำเคลื่อย้ายภาพต้นฉบับพร้อมกับลบภาพต้นฉบับในโฟลเดอร์ต้นทางออกไปด้วยครับ ตัวเลือกสุดท้ายในเมนูนี้คือ Add ซึ่งหากเราเลือกตัวเลือกนี้โปรแกรมจะทำการสร้าง Preview และนำเข้ามาที่ Catalog ของโปรแกรม โดยที่ไม่ทำการเคลื่อนย้ายไฟล์ต้นฉบับที่อยู่ในโฟลเดอร์ต้นทางครับ

ถัดลงมาทางด้านล่างก็จะเป็น Panel ต่างๆครับ Panel แรกที่พบคือ File Handling ครับ ใน Panel นี้มีคำสั่งที่ผมมักจะเลือกใช้งานดังนี้ครับ Build Smart Preview โปรแกรมจะทำการสังเคราะห์ตัวอย่างภาพเสมือนภาพต้นฉบับซึ่งช่วยให้เรายังสามารถปรับแต่งค่า Adjustment ต่างๆได้แม้เราจะไม่ได้เชื่อมต่อกับโฟลเดอร์ต้นฉบับครับ ในกรณีที่เราเลือก Don’t Import Suspected Duplicates โปรแกรมจะไม่นำเข้าภาพกับที่เราเคยนำเข้ามาก่อนหน้านี้เพื่อป้องกันการคัดลอกต้นฉบับซํ้าซ้อนครับ

ถัดลงมาอีกจะเป็น Apply During Import Panel ครับ ใน Panel นี้เราสามารถสั่งให้โปรแกรมเพิ่มเติมMetadata แนบไปกับไฟล์ภาพได้ครับ และยังสามารถแนบ Keywords ไว้สำหรับค้นหาภาพในภายหลังได้อีกด้วยครับ

หลังจากเราคลิ๊ก Import เพื่อนำภาพต้นฉบับเข้าสู่โฟลเดอร์ปลายทางที่เราต้องการเรียบร้อยแล้ว ในขั้นตอนถัดไปเราจะทำการคัดกรองและเลือกภาพครับ

2. MAKiING PICKS : หลังจากที่โปรแกรมได้นำเข้าภาพและสร้างพรีวิวเสร็จแล้ว โปรแกรมจะแสดง Thumbnail ของพรีวิวทั้งหมด เมื่อเราดับเบิ้ลคลิ๊กที่ภาพแรกโปรแกรมจะแสดงภาพเดี่ยวขนาดใหญ่ เราสามารถใช้ Arrow Keys ซ้ายขวาเพื่อ Browse ดูรูปภาพถัดไปและก่อนหน้าได้ครับ เมื่อเราพบภาพที่ถูกใจแล้ว ให้คลิ๊กที่ไอคอนรูปธง (Flag as Pick) ที่มุมซ้ายบนของภาพหรือกดปุ่ม P บนคีย์บอร์ดเพื่อทำการเลือกภาพครับ และเรายังสามารถใส่เรตติ้งให้กับภาพผ่านจำนวนดาวเพื่อจัดลำดับความสำคัญได้ด้วยครับ

3. FILTERING PHOTOS : หลังจากที่เราได้ดูภาพทั้งหมดและได้ทำการเลือกพร้อมจัดเรตติ้งแบบคร่าวๆไปแล้ว ในขั้นตอนนี้จะเป็นการคัดกรองอย่างละเอียดมากขึ้นครับ ให้เรากลับเข้าสู่ thumbnail โดยการกด G บนคีย์บอร์ดครับ จากนั้นกด F6 เพื่อเรียก Filmstrip ที่ด้านล่างของหน้าต่างขึ้นมาครับ เราจะสามารถมองเห็น Filter Bar ขนาดเล็กอยู่ที่บริเวณฝั่งขวามือเหนือ Filmstrip เล็กน้อย ให้เราคลิกที่ไอคอนธงบน Filter Bar เพื่อคัดกรองเฉพาะภาพที่เราใส่ธงไว้ นอกจากนี้เรายังสามารถคัดกรองภาพตามเรตติ้งที่เราจัดไว้ให้กับภาพในขั้นตอนก่อนหน้านี้ด้วยครับ

เราสามารถทำการคัดกรองอย่างละเอียดขึ้นโดยกดปุ่ม Backslash( \ ) บนคีย์บอร์ดเพื่อเรียกใช้งาน Library Filter Bar ซึ่งจะถูกแสดงขึ้นในส่วนบนของหน้าต่างเหนือ Thumbnail Preview เล็กน้อยครับ ตัวช่วยคัดครองนี้จะมีด้วยกันสามโหมดให้เลือกใช้งาน ได้แก่

  • Text – โปรแกรมจะทำการคัดกรองอย่างละเอียดให้สอดคล้องกับคำดัชนีที่เราป้อนเข้าไปไม่ว่าจะเป็น ชื่อไฟล์, Keywords, EXIF และ IPTC Metadata ครับ
  • Attribute – โปรแกรมจะทำการคัดกรอง ตามสถานะของธง, จำนวนดาวและแถบสี(ซึ่งผมจะกล่าวถึงในขั้นตอนต่อๆ ไปครับ)
  • Metadata – โปรแกรมจะคัดกรองอย่างละเอียดจากข้อมูล Metadata ของไฟล์ภาพต้นฉบับ ไม่ว่าจะเป็น กล้อง เลนส์ ทางยาวโฟกัสของเลนส์ ISO ความเร็วชัตเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมายครับ เรียกได้ว่าคัดกรองแบบละเอียดแบบสุดๆ ไม่มีตกหล่นครับ

4. ADJUSTING IN DEVELOP MODULE : หลังจากที่เราได้คัดกรองภาพทั้งหมดอย่างละเอียดแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะนำภาพเหล่านั้นมาทำการปรับเตรียมความสมดุลย์ให้พร้อมสำหรับการปรับแต่งที่ละเอียดมากขึ้นครับ สำหรับ module ที่เราจะใช้งานในการปรับสมดุลย์นี้คือ DEVELOP MODULE ครับ วิธีการเข้าสู่ module นี้คือคลิ๊กที่แถบ Develop ที่ด้านขวาบนของหน้าต่างหรือกด D บนคีย์บอร์ดนะครับ เมื่อเราเข้าสู่ module นี้แล้วโปรแกรมจะแสดงภาพที่เราเลือกที่จะปรับแต่งในรูปแบบภาพเดี่ยวขนาดใหญ่พร้อม panel ต่างๆ ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะส่วนที่ผมใช้ทำงานในขั้นตอนนี้เป็นหลักนะครับ หากท่านผู้อ่านมีความสนใจต้องการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ panel ต่างๆ และการใช้งาน ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่นะครับ https://helpx.adobe.com/lightroom/help/develop-module-tools.html

  • Navigator – เราสามารถเรียกใช้เครื่องมือนี้ได้จาก Panel บนสุดฝั่งซ้ายมือของหน้าต่างนะครับ เครื่องมือนี้ใช้งานคล้ายๆ กับแผนที่ในเกมส์วางแผนการรบครับ ช่วยให้เราแพนและขยายดูภาพได้สะดวกมากครับ
  • History – เช่นเดียวกับโปรแกรม Adobe Photoshop ครับ โปรแกรม Adobe Lightroom มีเครื่องมือย้อนอดีตที่ช่วยให้เราสามารถกลับไปแก้ไขการปรับตั้งค่าต่างๆ ของเราได้ครับ เมื่อเราคลิ๊กเปิด panel นี้ขึ้นมาจากทางฝั่งซ้ายมือของหน้าต่าง เราจะพบกับประวัติทุกการปรับแต่งที่เราได้ทำไว้กับภาพพร้อมทังปริมาณและค่าสุดท้ายที่เราได้ทำการปรับแต่งไว้ครับ การเรียงลำดับจะไล่จากล่างขึ้นบนนะครับ
  • Histogram – ข้ามมาใช้งาน panel ทางฝั่งขวามือของหน้าต่างกันบ้างนะครับ Histogram คือการแสดงค่าแบบกราฟฟิคของปริมาณข้อมูลในส่วนเงา,ส่วนสว่าง, และสีที่บรรจุอยู่ในไฟล์ภาพของเราครับ ปริมาณข้อมูลในส่วนเงาจะถูกแสดงทางฝั่งซ้ายมือของกราฟและส่วนสว่างทางฝั่งขวามือครับ ปกติแล้วผมจะใช้เครื่องมือนี้ในการอ้างอิงค่าความสว่างของภาพควบคู่กับ Clipping Warning ครับ เมื่อเราเรียกใช้เครื่องมือนี้(กดปุ่ม J บนคีย์บอร์ด)โปรแกรมจะทำการแจ้งเตือนและแสดงพื้นที่บนภาพที่สูญเสียรายละเอียดจากการได้รับแสงน้อยเกินไปและมากเกินไป (สีนํ้าเงิน=Underexposed และสีแดง=Overexposed) ครับ
  • Camera Calibration – เราสามารถเรียกใช้เครื่องมือนี้ได้ที่ panel ล่างสุดของทางฝังขวามือนะครับ ในการทำงานของผมนั้นผมจะปรับตั้งค่าที่ panel นี้ก่อนจะทำการปรับแต่งในส่วนอื่นครับ เรียกได้ว่าเป็น adjustment แรกที่ผมทำกับภาพก็ได้นะครับ โดยปกติแล้วโปรแกรม Lightroom จะ render ไฟล์ raw ของเราและแสดงผลด้วยโปรไฟล์มาตรฐานที่มาจากโรงงานซึ่งก็คือ Adobe Standard ครับ ส่วนตัวผมพบว่าการปรับตั้งค่าในส่วนนี้ทำให้โปรแกรมสามารถแสดงลักษณะเด่นของไฟล์ภาพของกล้องแต่ละค่ายแต่ละรุ่นได้ใกล้เคียงกับการ render ของซอฟท์แวร์ของทางผู้ผลิตกล้องมากที่สุดครับ

ในภาพที่ผมหยิบมานำเสนอเป็นตัวอย่างนี้ ผมได้เลือกใช้โปรไฟล์ Camera Portrait V2 ซึงจำลองการ render มาจากโปรไฟล์ PortraitV2 ของทางค่ายกล้องที่ผมใช้ถ่ายทำครับ ผมพบว่าการให้นํ้าหนักสีและสกินโทนของโปรไฟล์นี้ราบเรียบและให้ความเปรียบต่างที่นุ่มนวลเหมาะกับการใช้งานพอเทรตกว่าโปรไฟล์เริ่มต้นที่ติดมากับโปรแกรมครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมและปัจจัยอื่นๆด้วยนะครับ ท่านผู้อ่านอาจทดลองเลือกใช้โปรไฟล์ต่างๆ กันและลองสังเกตดูความแตกต่างเพื่อเลือกใช้อันที่โดนใจท่านมากที่สุดครับ

  • Basic – ใน panel นี้จะประกอบด้วย slider ทั้งหมด 11 ตัวนะครับ แต่ละตัวก็จะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ส่วนตัวผมจะใช้ panel นี้เป็นหลักเพื่อปรับเตรียมความสมดุลย์ให้ภาพในเบื้องต้นก่อนที่จะส่งออกภาพไปปรับแต่งอย่างละเอียดขึ้นในขั้นตอน Retouching และ Seasoning ครับ ในฉบับนี้ผมขอกล่าวถึงเฉพาะ slider ที่ผมใช้ทำงานเป็นหลักนะครับ หากท่านผู้อ่านสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานของ slider แต่ละตัวอย่างละเอียดท่านสามรถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ https://helpx.adobe.com/lightroom/help/image-tone-color.html

ส่วนแรกของ panel ที่ผมทำการปรับแต่งคือในส่วนของ White Balanceค รับ ท่านผู้อ่านจะสามารถสังเกตเห็นได้จากภาพตัวอย่างที่ผมนำเสนอนะครับ ในภาพต้นฉบับนั้นโทนของภาพค่อนไปทางอุ่น การปรับแก้ของผมคือการลดอุณหภูมสีของภาพลงด้วยการเลื่อนสไลเดอร์Tempมาทางซ้าย เป้าหมายคือเพื่อลด color cast สีเหลืองออกจากภาพครับ ในภาพตัวอย่างนี้ผมได้ลดอุณหภูมิสีของภาพลงมา 650 เคลวินนะครับ จาก 4,850 มาอยู่ที่4,200ครับ จากนั้นทำการเลื่อนสไลเดอร์Tintมาทางขวาครับ จาก-1มาที่+5 เพื่อเพิ่มเติมความ Blush ให้กับผิวของนางแบบครับ

หลังจากที่เราได้ค่าความสมคุลย์สีขาวที่เหมาะสมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการคืนรายละเอียดให้ส่วนมืดและส่วนสว่างของภาพครับ ท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นได้ในภาพตัวอย่างว่าภาพต้นฉบับของเรานั้นสูญเสียรายละเอียดบางส่วนในส่วนสว่างไป การปรับแก้ของผมคือการเลื่อนสไลเดอร์ Highlight มาทางซ้าย65จุดเพื่อดึงรายละเอียดในส่วนสว่างกลับมาและเลื่อน White มาทางซ้าย13จุดเพื่อกดส่วนที่สว่างที่สุดของภาพไม่ให้ขาวจนเกินไปครับ อย่างไรก็ตามการปรับแก้ที่ดีควรทำในปริมาณที่เหมาะสมนะครับ หากเราเพิ่มหรือลดค่าต่างๆเหล่านี้มากเกินไป อาจทำให้รายละเอียดของภาพดูกระด้างไปได้ครับ

  • Lens Corrections – เลนส์ที่เราใช้ถ่ายภาพแต่ละตัวนั้นล้วนมีจุดเด่นจุดด้อยและเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป Lens Corrections เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถปรับแก้จุดด้อยต่างๆของเลนส์ได้ เช่น อาการขอบมืด อาการภาพบิดโค้ง และอาการคลาดสีี เป็นต้น โดยปกติแล้วโปรแกรม Adobe Lightroom จะมีโปรไฟล์ปรับแก้จุดด้อยของเลนส์แทบจะทุกรุ่นที่มีจำหน่ายครับ เราสามรถเลือกโปรไฟล์ปรับแก้อัตโนมัติ
    เพื่อให้โปรแกรมเลือกแก้ไขจุดด้อยของเลนส์ให้สอดคล้องกับฐานข้อมูลที่ทางบริษัทผู้ผลิตได้พัฒนามา หรือเราสามารถเลือกปรับแก้ด้วยตัวเองได้ในกรณีที่เราต้องการรักษาเอกลักษณ์ของเลนส์ที่เราใช้ถ่ายทำไว้ครับ

ในภาพตัวอย่างผมถ่ายทำด้วยเลนส์ Nikkor 85mm f/1.4 AF-D ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของปี 1990s ส่งผลให้ภาพที่ได้เมื่อขยายเข้าไปดูแบบ 100% จะมองเห็นจุดอ่อนของเลนส์ได้อย่างชัดเจนคือมีอาการเหลื่อมสีม่วงที่บริเวณขอบของตัวแบบที่ย้อนแสง (หากถ่ายที่ f/1.4 จะยิ่งชัดเจนมากกว่านี้) ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของเลนส์ในยุคนั้นครับ ผมได้เลือกปรับแก้ด้วยตัวเองโดยสั่งให้ Lens Correction ทำการกำจัดอาการเหลื่อมสี (Remove Chromatic Aberration) จากนั้นปรับ Purple Defringe เพียงเล็กน้อยเพื่อลดอาการขอบม่วงลง ข้อควรระวังนะครับ การปรับ Defringe ควรทำปริมาณที่น้อยมากๆ นะครับ เพราะหากมือหนักปรับค่าในปริมาณที่มากเกินไป แทนที่จะลดขอบม่วงเราจะได้ขอบภาพที่มีอาการเหลื่อมสีเทาแทนครับ

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการเหล่านี้แล้ว เราควรได้ภาพตั้งต้นที่มีความสมดุลย์และพร้อมสำหรับการส่งออกเพื่อนำไปปรับแต่งด้วยเครื่องมือและขั้นตอนที่ละเอียดมากขึ้นซึ่งผมจะมานำเสนอในฉบับต่อไปนะครับ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการถ่ายภาพครับ

เรื่อง/ภาพ : วศิน ทรงกัลยาณวัตร


ภาพประกอบสื่อโฆษณาของแบรนด์ CHUAN PISAMAI
ขอขอบพระคุณนางแบบ คุณ TANYA KULYK จาก SUMON AGENCY และทีมงาน MOODFACTORY STUDIO ทุกท่านครับ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^

(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)

 


หรือสนใจเทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/shoot-and-edit/