กลางฤดูฝนเมื่อปีที่แล้ว มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นและกลายเป็นข่าวที่เรียกร้องความสนใจสำหรับนักถ่ายภาพพอสมควรนั่นคือ “สะพานมอญสังขละบุรีถูกตัดขาด” จากกระแสนํ้าที่พัดเศษไม้ท่อนซุงมาปะทะกับตอม่อสะพานอย่างรุนแรง หลังข่าวแพร่กระจาย ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าน่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมากพอสมควร ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ว่าก็น่าจะเหมารวมนักถ่ายภาพเข้าไว้ด้วย เพราะสะพานแห่งนี้ คงจะเป็นสะพานที่นักถ่ายภาพเดินทางไปเก็บภาพมากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้(ถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงล่ะครับ)
“สะพานมอญ(ขาด)”นี่คือภาพที่เป็นต้นกำเนิดทริปนี้ เพราะผมอยากเห็นและถ่ายภาพสะพานขาดเก็บไว้เป็นความทรงจำส่วนตัวจริงๆ ซึ่งจะว่าไปมันจบสำเร็จเป็น Plan A ตั้งแต่เย็นวันแรกที่ไปถึงแล้วครับ มุมนี้ถ่ายจากสะพานปูนบนถนนสายหลักที่อยู่เลยจากทางเข้าตัวอำเภอไปหน่อย ขับรถผ่านไปแล้วแสงเย็นสาดเข้าสะพานพอดี เมฆครึ้มเข้ากับบรรยากาศด้วย ขับรถไปจอดเลยสะพานในจุดปลอดภัย แล้วก็รีบวิ่งย้อนกลับมาถ่ายมุมนี้ให้ทันก่อนที่เมฆก้อนใหม่จะเข้ามาบดบังแสงไปก่อนเป็นภาพง่ายๆ แค่นี้จริงๆ ครับ ที่ผมอยากได้ EOS 5D MK II, LENS EF 70-200mm. F/4L IS, 1/200 Sec. f/7.1, ISO 250
ผมเองก็เชื่อว่านักท่องเที่ยวน่าจะลดลงบ้างไม่มากก็น้อย (ในตอนที่ยังไม่มีการสร้างสะพานไม้ไผ่ขึ้นมาทดแทน) ทว่าทันทีที่ได้ยินข่าวนี้ ผมกลับคิดไปในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง คือจะรีบไปถ่ายภาพเก็บไว้ ลองของถึงขั้นตั้งกระทู้เปิดเป็นทริปถ่ายภาพแบบเร่งด่วนเลยทีเดียว เพราะคิดว่ามันน่าจะเป็นภาพที่หาดูไม่ใช่ง่ายนะครับ สะพานดีๆ ใครเขาก็มีภาพกันทั้งนั้น ลองไปถ่ายสะพานขาดเก็บไว้เป็นที่ระลึกบ้าง ได้ภาพไม่โหลดีออก ผลก็คือกินแห้วไปเกือบอิ่ม เพราะแทบไม่มีใครสนใจทริปนี้เอาซะเลย มีที่ยอมไปด้วยกันก็เป็นคนรู้จักเป็นนักท่องเที่ยวอีกต่างหาก ไม่ใช่นักถ่ายภาพโดยตรง ผมจึงต้องลงทุนขับรถไปด้วยตัวเอง ด้วยความอยากถ่ายภาพเองล้วนๆ จริงๆ
นับล่วงหน้าว่าเป็น Plan A ด้วยซํ้าไปครับ ด้วยไม่คิดว่าจะมีอะไรให้ยุ่งยากหรือพลิกโผ เพราะเขาคงไม่ซ่อมเสร็จในเร็ววันเป็นแน่ แล้วผมก็ไม่ได้คิดจะไปปั้นให้ได้ภาพสวย หรือว่ามีมุขเด็ดอะไรเป็นพิเศษ ออกแนวถ่ายเป็นสต๊อกภาพ หรือบันทึกความทรงจำซะมากกว่า สรุปก็คือต้องการเก็บภาพแบบง่ายๆ พื้นๆ ธรรมดามากๆ จึงไม่น่ามีอะไรผิดแผน แต่…ปรากฎว่าแผนแรกของผมคือขับรถออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้ามืดวันเสาร์สายๆ แวะเที่ยวถ่ายภาพกินของอร่อยตามรายทางไปเรื่อยๆ ไม่เร่งร้อน มีวัดถํ้าเสือ ในอ.ท่าม่วง และพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด อ.ไทรโยค เป็นหมายถ่ายภาพหลวมๆ ไว้ ถึงสังขละบ่ายๆ เย็นๆ ไปถ่ายภาพเจดีย์พุทธคยา(จำลอง)ที่วัดวังก์วิเวการามตอนเปิดไฟในช่วงโพล้เพล้เป็นการปิดท้ายวัน
เช้าวันอาทิตย์ตื่นแต่เช้าเพื่อใส่บาตรและถ่ายภาพพระบิณบาตในหมู่บ้าน สายๆ เก็บสะพานขาดตามที่ตั้งใจไว้ให้เรียบร้อย แล้วนั่งเรือไปชมวัดจมนํ้า แล้วก็ออกเดินทางกลับ โดยแวะไปเดินเล่นที่ด่านเจดีย์สามองค์แถมท้าย กะไว้ว่ากลับถึงกรุงเทพฯ แต่หัวคํ่าหน่อย จะได้ไม่ต้องนอนดึกกันมากนัก
วันแรกเกือบๆ จะไม่มีอะไรผิดแผนเลยครับ เรื่อยๆ มาเรียงๆ ช่วงกลางวันระหว่างทางอากาศดีฟ้าสวยอีกต่างหาก ไปมาคุเอาแถวๆ สังขละโน่นเลย จอดรถถ่ายสะพานมอญจากบนสะพานปูนไกลๆ แล้วก็ตีรถเข้าที่พัก จากนั้นรีบออกไปที่วัดให้ทันก่อนฟ้าจะมืด กะจะถ่ายเจดีย์เปิดไฟเหลืองอร่ามกับฟ้าสีนํ้าเงินงามในยามพลบคํ่า ฟ้าเทาๆ กลายเป็นสีนํ้าเงินตามเวลานัดครับ ทว่าไฟส่องสว่างกลับเงียบกริบ!!! หันไปถามคนขายของที่กำลังเร่งมือเก็บร้าน เขาว่าปกติก็เปิดไฟทุกวัน แต่วันนี้ เห็นมีการเดินสายไฟใหม่พอดีและมันคงยังไม่เสร็จมั๊ง ! พระเจ้าจอร์จ พุทโธ ธัมโม สังโฆ !!!
“วัดวังก์ฯยามคํ่าคืน” เจดีย์นี้เป็นสิ่งเดียวที่ “ผิดแผนเล็กๆ” สำหรับทริปนี้ เหตุเพราะทางวัดดันซ่อมไฟส่องสว่างแก่องค์เจดีย์ในวันนั้นพอดี แต่กว่าจะรู้ตัวว่าวันนี้ไม่มีไฟส่องตามปกติ มันก็ได้เวลาถ่ายภาพแล้ว เพราะท้องฟ้ากำลังเป็นสีนํ้าเงินได้ที่ จะเปลี่ยนแผนย้ายไปที่อื่นหรือแม้แต่มุมอื่นก็ไม่ทันการณ์ นับว่าโชคดียังมีอยู่บ้างที่ด้านในยังเปิดไฟ และพอมีแสงไฟจางๆ จากร้านค้าใกล้เคียงส่งมาถึงสิงห์คู่หน้าวัดทำให้ส่วนหลักของภาพไม่ดูมืดทึบจนเกินไป กอรปกับพระจันทร์เกือบเต็มดวงและเมฆที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นริ้ว ช่วยสร้างความน่าสนใจเพิ่มให้กับภาพแทนได้บ้าง ภาพนี้นำมาครอปตัดส่วนล่างด้านหน้าสิงห์คู่ออกไปเล็กน้อย เพราะความจริงผมเผื่อพื้นที่ตรงนั้นไว้สำหรับไฟรถที่กำลังจะผ่านมาเข้าเฟรม กดมา 2-3 ภาพไม่มีจังหวะไฟสวยๆ เลยครับ มีภาพแรกที่กดเร็วไปรถยังไม่ทันเข้ามาถึงนั่นล่ะครับที่ดูดีกว่า แต่ส่วนที่เว้นว่างไว้ก็โล่งเกินไป จึงต้องมาตัดทิ้งออกไปตอนแปลงไฟล์จาก RAW มาเป็น JPEG กล้อง EOS 5D MK II, LENS TS-E 2mm. F/3.5L II, 10 Sec. f/11, ISO 200
จะเปลี่ยนใจหาอย่างอื่นแทนมันก็ไม่ทันแล้วครับ เลยต้องรีบถ่ายรีบจบ โดยถ่ายภาพแบบกึ่งๆ ซิลลูเอทไว้นิดหน่อย ก่อนที่ฟ้าจะมืดมิดจนเกินไป จะมีโชคดีอยู่บ้างก็ตรงที่ฟ้ามีเมฆไหลพริ้วๆ พร้อมดวงจันทร์เกือบๆ เต็มดวงลอยอยู่เหนือเจดีย์พอดี หากมีไฟเปิดก็จะลากยาวไปได้อีกสักสิบกว่านาทีก่อนที่ฟ้าจะดำสนิทนั่นล่ะครับ หรือต่อให้ฟ้ามืดแล้วก็อาจจะถ่ายภาพต่อไปอีกนิดหน่อยด้วยซํ้า ถ้าหามุมที่ไม่ต้องการฉากหลังมากนักได้
เช้าวันอาทิตย์ตื่นขึ้นมาก็เตรียมใส่บาตร ต่อด้วยการถ่ายภาพพระเดินบิณบาตในยามเช้าได้ตามแผน ทว่าหมายสำคัญอันถัดไปนี่เองครับที่มันไม่เป็นไปตามแผนเลยสักนิด ก็คือตัวสะพานมอญขาดกลางที่เป็นต้นกำเนิดของการเดินทางครั้งนี้ ที่แม้ว่ามันจะยังคงขาดหักพัง แต่ด้านล่างข้างๆ สะพาน ดันมีชาวบ้านจำนวนมากกำลังเร่งมือช่วยกันก่อร่างสร้างสะพานไม้ไผ่ชั่วคราวขึ้นมาทดแทน!!!
“ตักบาตร” ภาพแบบนี้ในเมืองไทยเราหาดูได้ยากมากๆ แล้วนะครับ คือไม่ใช่ว่าคนไทยจะเลิกตักบาตรกันไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะยืนรอพระหน้าบ้านใครบ้านมัน แยกกันเป็นจุดๆ ไป ไม่มีมายืนเรียงแถวรอตักบาตรพร้อมเพรียงกันอย่างนี้ แถมแต่งกายด้วยชุดบ้านๆ จริงๆ อย่างนี้ ที่ผมเคยเห็นอีกแห่งก็หลวงพระบางโน่นเลยครับ ซึ่งทุกวันก็จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปนั่งปะปนกับชาวบ้านเต็มไปหมด ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่มันไม่ได้เป็นภาพที่ดูสงบงามตาสักเท่าไร แถมคนถ่ายภาพยังมีมากมายเสียย่ิงกว่าพระหรือคนรอใส่บาตรซะด้วยซํ้า เห็นแล้วผมไม่นึกอยากถ่ายภาพเลย ผิดกับที่สังขละในช่วงปกติมากๆ ที่แทบจะไม่มี “บุคคลภายนอก” เข้าไปเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตอันเป็นปกติเช่นนี้ (ถ้าเป็นช่วงหยุดเทศกาล คนถ่ายภาพและนักท่องเที่ยวก็น่าจะเยอะพอสมควรเหมือนกันล่ะครับ) เพียงเท่านี้มันก็เป็นความสงบงามอย่างที่ผมอยากบันทึกภาพไว้จริงๆ โดยไม่ต้องหามุมพิเศษพิศดาร ไม่ต้องใช้เทคนิกอะไรให้มากความ เห็นอย่างไรถ่ายอย่างนั้นก็พอครับสำหรับผม แต่สำหรับนักถ่ายภาพท่านอื่นๆ ที่อาจจะคิดไม่เหมือนกัน อยากได้ภาพพิเศษใส่ไข่หน่อย ก็แล้วแต่จะหามุมหาเทคนิกกันไปครับ ผมไม่ได้เห็นแย้งอะไร เพียงแค่อยากให้ระวังเรื่องความเหมาะสมให้มากหน่อย ดูกาละเทศะบ้าง อย่าให้ความอยากได้ภาพของเรา ไปทำลายความงดงามในส่วนอื่นๆ ไปเสีย EOS 5D MK II, LENS SMC Takumar 135mm. F/2.5, 1/160 Sec. f/5.6, ISO 640
เป็นแบบนี้แผนที่วางไว้ว่าจะใช้เวลาสัก 10-20 นาที ในการเก็บภาพสะพานขาดจึงเป็นอันเปลี่ยนแปลงแบบไม่ต้องเสียเวลาคิดแม้แต่นิดเดียว ทุกคนมุ่งหน้าเข้าหาชาวบ้านที่กำลังช่วยกันสร้างแพไม้ไผ่อย่างไม่ต้องนัดหมาย แม้คนที่ไม่ได้เป็นนักถ่ายภาพแต่เมื่อเจอเหตุการณ์อย่างนี้เข้าก็อยากเก็บบรรยากาศเก็บไว้ไม่ต่างกัน ทุกคนจึงแยกย้ายกันถ่ายภาพตามอำเภอใจไม่ใช่อำเภอสังขละซะแล้วครับ…555 (แถมยังได้ชิมอาหารพื้นเมืองที่ชาวบ้านเขาทำมาแจกจ่ายแบ่งปันกันกิน…แซ่บเวอร์…ขอบอก)
เวลาจะเป็นกี่โมงกี่ยามก็ไม่ต้องพะวงแล้วครับ เอาที่นี่ ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ ให้อยู่มือ ที่เหลือหลังจากนั้นค่อยหาทางกลับเข้าแผนเดิมอีกที หรือถ้าไม่ได้ก็…ช่างมัน…เอ่อ ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ คือถ้าผมไปเอง รับรองว่าเปลี่ยนแผนแน่ๆ แถมน่าจะถึงขั้นนอนค้างที่นี่เพิ่มอีกคืนด้วย
แต่คนจะมากจะน้อยอย่างไรครั้งนี้ผมก็จัดทริปมา ดังนั้นจะไปเปลี่ยนแผนเอาดื้อๆ ยกเลิกโปรแกรมอื่นๆ ที่เหลือของวันก็น่าเกลียด (และบังเอิญว่าเขาก็ไม่ใช่นักถ่ายภาพอย่างที่ว่า แม้จะสนิทกันพอสมควรก็ตาม) ผมจึงเพียงขออนุญาตใช้เวลาตรงนี้ให้นานหน่อย ก่อนจะนั่งเรือออกไปชมวัดจมนํ้า ต่อด้วยการไปด่านเจดีย์สามองค์ในช่วงบ่ายตามโปรแกรมเดิม แล้วยอมกลับถึงกรุงเทพฯดึกๆ ไปเลย ซึ่งทุกคนก็ไม่มีปัญหาอะไร
“สะพานไม้เก่าVSสะพานไม้ไผ่” ภาพนี้(ภาพที่ 6)จริงๆ คือผมอยากถ่ายให้เห็นสะพานเก่าในส่วนที่ขาดได้ชัดเจน พร้อมไปกับสะพานไม้ไผ่ที่กำลังสร้างขึ้นมาใหม่เป็นการทดแทน(ชั่วคราว) แต่ความจริงคือด้านบนสะพานเขากั้นเขตห้ามเข้าไว้ไกลจากจุดที่ขาดมากๆ จะโมเมเป็นนักข่าวขอเข้าไปใกล้อีกหน่อยก็ใช่ที่ (แต่ถ้าผมเป็นช่างภาพข่าวตัวจริง ผมขอเข้าไปใกล้กว่านี้แน่นอนครับรับรองได้ เพราะภาพที่อยากได้ในหัวมันชัดเจนมาก) จึงทำได้เพียงปีนราวสะพานขึ้นไปให้ได้มุมสูงพอจะเห็นสะพานที่ขาดอยู่ลิบๆ พอเป็นกษัย ซึ่งมันก็เพียงพอสำหรับการเก็บไว้เป็นความทรงจำส่วนตัว แต่ไม่พอและใช้ไม่ได้แน่ๆ สำหรับการเป็น
ภาพข่าว หรือภาพในเชิงสารคดี แต่ไม่ได้สิครับ! ยังไงเราก็เป็นนักถ่ายภาพนี่นะ แบบนี้มันง่ายไปมั๊ย ? ลองพยายามให้มากกว่านี้อีกหน่อยละกัน
คิดได้ดังนั้นผมจึงลองเปลี่ยนมุมถ่ายภาพ เดินไปเก็บภาพจากด้านล่างใกล้ชายนํ้าแทน ซึ่งก็ได้ภาพที่ดีกว่าเดิม ใกล้เคียงกับความคิดขึ้นมาอีกหน่อย เรียกว่าดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ยังไม่ดีที่สุดอย่างที่อยากได้ครับ! แม้ว่าผมจะมีเวลาถ่ายภาพตรงนี้นานขึ้นอีกหน่อย จากแผนเดิม 20 นาที เป็น 2-3 ชั่วโมง แต่มันก็ไม่มากพอจะถ่ายภาพอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราวได้มากนักสำหรับผม (แต่สำหรับช่างภาพข่าว หรือช่างภาพสารคดีขนานแท้ อาจจะพอก็ได้นะครับ เพราะพวกนี้มักมีมุมมองที่เฉียบขาด และต้องทำงานแข่งกับเวลาอยู่เป็นนิจ)
แต่(อีกที) ในอีกมุมหนึ่งนี่คือของแถมที่ไม่คาดคิดมาก่อน การได้เห็นได้พบเจอ ได้นั่งคุยใกล้ชิด ได้กินข้าวร่วมหม้อกับชาวบ้าน ล้วนเป็นบรรยากาศที่หายากยิ่ง เพียงแค่นี้มันก็ได้อะไรมากเกินกว่าสิ่งที่ตั้งใจไว้แต่แรกมากมายแล้ว ผมจึงยกให้การเดินทางคราวนี้เป็นถึง Plan A++ นั่นเองครับ กลับกันถ้าหากว่าผมทราบข่าวมาก่อน และตั้งใจเดินทางมาเพื่อเก็บภาพการสร้างสะพานไม้ไผ่ของชาวบ้านโดยเฉพาะ การได้ภาพเพียงเท่านี้ต้องถึงว่าล้มเหลว และอาจกลายเป็นเพียง Plan C– ไปเลยด้วยซ้ำครับ EOS 5D MK II, LENS EF 70-200 MM. F/4L IS, 1/250 Sec. F/5, ISO 400
ดังนั้นจริงๆ แล้วทริปนี้จึงนับว่าผิดแผนอยู่พอสมควร จนมันน่าจะเป็นแค่ Plan B หรือกระทั่งหลุดไปเป็น Plan C เลยด้วยซํ้าถ้าผมเดินทางมาเองคนเดียว เพราะผมยกเลิกการนั่งเรือไปวัดจมนํ้า รวมถึงด่านเจดีย์สามองค์ก็ไม่ไปแน่นอนครับ แม้ว่าตัวเองจะยังไม่เคยไปมาก่อนก็ตาม เพราะอันนั้นค่อยกลับมาใหม่ในคราวหลังมันก็ยังอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน
บังเอิญว่าสิ่งที่ผิดแผนในครั้งนี้มันกลับกลายเป็นผิดเพี้ยนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น คือได้ถ่ายภาพวิถีชีวิต ภาพแห่งความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน แบบที่ไม่น่าจะมีโอกาสได้เห็นได้ถ่ายภาพกันได้ง่ายๆ (เพราะถ้าสะพานไม่ขาดอีกก็คงไม่มีทางได้เห็นภาพเช่นนี้อีก แน่นอนครับ) การเดินทางมาถ่ายภาพสะพานมอญ(ขาด)สังขละบุรีหนนี้ มันจึงกลายเป็น Plan A++ ด้วยประการฉะนี้นั่นเอง
ไอ้เรื่องผิดแผนนี่ผมเจอประจำล่ะครับ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันจะผิดไปในทางที่แย่กว่าเดิม(อย่างเมืองทิมิโซอาร่าในโรมาเนียคราวก่อน) นานๆ ทีจึงจะมีผิดไปในทางที่ดีขึ้นอย่างนี้ ดังนั้นโดยส่วนตัวผมจึงมักไม่ค่อยวางแผนอะไรล่วงหน้า (พอไม่วางอะไรไว้เป๊ะๆ มันจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ถือว่าผิดแผนให้ต้องเสียอารมณ์ไงครับ) โดยเฉพาะกับการเดินทางถ่ายภาพแบบส่วนตัวที่กินระยะเวลายาวนาน ต้องเดินทางต่อเนื่องกันไปในหลายๆ สถานที่ ผมแทบไม่คิดอะไรล่วงหน้าเลย ไม่กระทั่งหาข้อมูลเลยด้วยซํ้า(อันนี้ออกแนวขี้เกียจครับ)
“ พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด” พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในส่วนของห้องจัดแสดงดูเล็กกระทัดรัด แต่ก็แบ่งสัดส่วนห้องต่างๆ ไว้อย่างดี พื้นที่ว่าง การวางไฟ หรือกระทั่งสีที่ใช้ล้วนผ่านการคิดมาแล้วทั้งสิ้น เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงได้สวยงามน่าชมมากแห่งหนึ่ง และที่สำคัญสำหรับนักถ่ายภาพคือ ถ่ายภาพได้ ใช้ขาตั้งกล้องก็ได้ด้วย ผมก็เลยตั้งใจถ่ายเป็นพิเศษด้วยการใช้ขาตั้งกล้องทุกภาพ เพื่อคุณภาพไฟล์สูงสุด และเพื่อจะได้ใช้ความไวชัตเตอร์ตํ่ามากๆ อย่างภาพนี้ล่ะครับ ผมอยากถ่ายพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิตชีวากว่าการถ่ายสิ่งของที่จัดแสดงมาเฉยๆ ก็เลยอยากให้มีคนประกอบในภาพด้วย แต่เพื่อไม่ให้คนเด่นจนเกินไปจึงจงใจใช้ความไวชัตเตอร์ต่ำๆ เพื่อให้คนที่เดินชมกลายเป็นเพียงภาพเบลอๆ ถ้าใช้ขาตั้งกล้องไม่ได้ ก็ยากที่จะถ่ายภาพในลักษณะนี้ เพราะต้องใช้ความไวชัตเตอร์สูงไว้ก่อน เพื่อให้ภาพส่วนอื่นๆ คมชัด
และภาพนี้คนที่เห็นในภาพนั่นก็คือผมเองครับ! ใช้ระบบหน่วงเวลาตั้งถ่ายตัวเอง กดชัตเตอร์แล้วก็วิ่งไปยืนขยับตัวในตำแหน่งที่ต้องการ เหตุที่เอาตัวเองเป็นแบบก็เพราะ ควบคุมตำแหน่งและความเร็วในการเคลื่อนที่ได้ และที่บังเอิญมากสำหรับครั้งนี้คือ “สีเสื้อ” ที่ผมใส่ มันไปในทางเดียวกับสีของห้องนี้พอดี ทำให้ไม่เด่นจนแย่งเรื่องราวจากสิ่งที่จะนำเสนอEOS 5D MK II, LENS TS-E 24mm. F/3.5L II, 5 Sec. f/8, ISO 200
เวลาเห็นผมเดินทางต่างประเทศเป็นเดือนๆ ส่วนใหญ่จะคิดกันว่าผมน่าจะมีแผนมีข้อมูลดีแล้ว ว่าจะไปตรงไหนอย่างไร ใช้เวลากี่วัน ไม่อย่างนั้นคงไม่ทุ่มเวลาให้นานขนาดนั้น แต่เรื่องจริงคือ…ถ้าเป็นก่อนเดินทางผมแทบไม่ทราบอะไรเลยสักอย่าง จริงๆ ครับ ค่อยไปหาทางวางแผนเอาข้างหน้าโน่น
พอบอกความจริงไปอย่างนี้ ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อสักเท่าไรอีกนั่นล่ะ กระทั่งบางคนอาจคิดว่าผมกั๊กข้อมูลซะด้วยซํ้า แหม! โลกทุกวันนี้จะหาจะเอาอะไร คีย์ลงไปแป๊ปเดี๋ยว เดี๋ยวก็มีข้อมูลล้นทะลักหน้าจอออกมาให้อ่านให้ดูภาพกันไม่หวาดไม่ไหว แล้วจะไปหวงไปกั๊กอะไรได้ล่ะครับคุณ!
ผมใช้วิธีวางแผนระยะสั้นๆ แบบเมืองต่อเมือง หรือวางแผนเป็นจุดเล็กๆ ไปเรื่อยๆ เท่านั้นเองครับ ขอให้ได้ผ่านไปเห็น ไปสัมผัสบรรยากาศของสถานที่นั้นๆ สักนิดก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มวางแผนการถ่ายภาพ ว่าจะเช้าตรงไหน สายไปไหนยังไง เย็นจบที่ไหน ใช้เวลาสักกี่วันดี เพราะการวางแผนล่วงหน้าเพียงแค่การดูภาพสวยๆจากคนอื่นๆ ทำผมพลาดมาเยอะครับ
“ วัดถํ้าเสือ” นับเป็นวัดยอดนิยมอีกแห่งสำหรับนักถ่ายภาพก็ว่าได้ครับ ด้วยพระพุทธรูปกลางแจ้งขนาดใหญ่บนเนินเขา มองเห็นเด่นสะดุดตามาแต่ไกล และที่พิเศษกว่าวัดอื่นคือ ด้านข้างพระพุทธรูปองค์นี้ มีเจดีย์สูงที่มีบันไดเวียนอยู่ภายใน สามารถเดินขึ้นไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่ชั้นบนสุดได้ และสำหรับนักถ่ายภาพแล้ว ในแต่ละชั้นที่ขึ้นไปจะเป็นโถงกว้าง โดยรอบมีบานกระจกที่สามารถ เปิด-ปิด ได้ นั่นล่ะครับที่หมายของเรา ลองเดินไปดูฝั่งที่เห็นองค์พระได้ชัดเจน ก็จะได้ภาพประมาณตัวอย่างที่นำมาให้ชม คือเห็นทั้งองค์พระและวิวทิวทัศน์โดยรอบที่สวยงาม
แนะนำว่าไม่ควรขึ้นไปถ่ายที่ชั้นสูงมากเกินไปนะครับ เพราะจะทำให้ต้องถ่ายเป็นมุมกด ซึ่งทำให้องค์พระลดความสง่าลงแลดูไม่สวยงามเท่ากับที่ถ่ายจากชั้นกลางๆ (ส่วนชั้นล่างจะติดพุ่มไม้ใบบังมากไปหน่อย) เลนส์ที่ใช้ควรมีมุมกว้างอย่างน้อยๆ ก็ 28 MM. หรือกว้างกว่า เพื่อจะได้เห็นวิวทิวทัศน์โดยรอบได้มากหน่อย อย่างภาพนนี้ผมเช็ค Exif File ดูแล้ว ใช้ที่ 19 MM. ครับ และควรจะถ่ายภาพในช่วงเช้านะครับ แสงเข้าหน้าองค์พระและท้องฟ้ายังได้มุมโพลาไรซ์อยู่ EOS 5D MK II, LENS EF 17-40 MM. F/4L + PL, 1/250 Sec. F/8, ISO 200
ไม่ใช่ว่าเขารีทัชลวงโลกอะไรหรอกนะครับ เพียงแต่คนเรานั้นชอบไม่เหมือนกัน คิดแตกต่างกัน ผมจึงไม่ชอบตัดสินอะไรจากมุมมองของคนอื่น จนกว่าจะได้ไปเห็นด้วยตาตัวเองจริงๆ ที่ว่าพลาดมาเยอะนั้น ผมหมายถึงพลาดในสิ่งดีๆ สถานที่ดีๆ ที่ตัวเองชอบ แต่คนอื่นๆ เขาอาจไม่แม้แต่จะหยุดมองซะด้วยซํ้า พวกเมืองเล็กๆ บ้านเก่าๆ ตึกโทรมๆ ไร้ประวัติ ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีความสำคัญ ไม่ใช่จุดท่องเที่ยว อะไรประมาณนี้ล่ะครับ ที่ไม่ใคร่จะมีใครสนใจถ่ายภาพสักเท่าไร แต่ผมนี่เห็นเป็นไม่ได้เลยครับ ต้องเดินเข้าไปหา ซ่อกแซกไปทุกซอกทุกมุม บางทีมุดเข้าไปดูถึงข้างในอีกต่างหากถ้ามันมีช่องให้เข้าไปได้
เมืองอย่างนี้ ของพวกนี้ต่อให้คีย์กันจนนิ้วกุดจนแป้นพิมพ์แตก มันก็คงไม่มีข้อมูลหรือภาพใดๆ ผุดโผล่มาให้เห็นเป็นแน่ครับ หรือจริงๆ คือไม่รู้จะหาข้อมูลยังไงมากกว่า เพราะเป็นการถ่ายภาพแบบเหตุการณ์เฉพาะหน้า ถ้าเป็นกลอนก็เรียกว่า “ด้นสด” ซึ่งก็ใช่ว่ามันจะตลอดรอดฝั่งจน “ด้นจบ” ไปได้ทุกครั้ง ที่ผิดพลาดก็มีบ่อย เพียงแต่ผมเป็นคนไม่ซีเรียส ไม่คาดหวังอะไรสูง แล้วผมก็สนุกกับการถ่ายภาพในลักษณะนี้ อาจจะมากกว่าการไปถ่ายที่สวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ เมืองนั้นๆ ซะด้วยซํ้า
………………………………………………………………………………………………………….
เนื่องจากสะพานมอญแห่งสังขละบุรี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมติดอันดับต้นๆ แห่งหนึ่ง ดังนั้นเรื่องข้อมูลไม่ว่าจะที่พัก อาหาร หรือการเดินทาง รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบจึงสามารถหาได้มากมายมหาศาลกันอยู่แล้ว สิ่งที่ผมพอจะแนะนำเพิ่มเติมให้ได้สำหรับนักถ่ายภาพคือ ควรเลือกทำเลที่พักให้อยู่ใกล้สะพานฝั่งหมู่บ้านมอญ(ฝั่งวัดวังก์วิเวการาม)เข้าไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากชื่นชอบถ่ายภาพแนววิถีชีวิตเป็นพิเศษ
นอกจากจะเดินไปถ่ายภาพตัวสะพานได้ใกล้ๆ แล้ว ยามเช้าในหมู่บ้านย่านนี้ ชาวบ้านจะออกมารอตักบาตรเป็นแถวยาวทุกวัน แล้วพอสายหน่อยก็ต่อด้วยการไปเดินเก็บภาพ และหาขนมพื้นบ้านมาชิมในตลาดเช้า และขับรถต่อไปอีกไม่ไกลนักก็ถึงวัดวังก์ฯ เรียกได้ว่าเกือบครบทุกไฮไลท์ของสังขละเลยทีเดียว ถ้าเลือกพักทางฝั่งตัวอำเภอ หรือเลือกนอนแพ ก็จะได้บรรยากาศอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่ไม่ดีนะครับ แต่อาจไม่สะดวกกับการถ่ายภาพมากนัก เพราะอาจต้องขับรถย้อนไปย้อนมาให้เปลืองนํ้ามันนิดหน่อย และเสียเวลาถ่ายภาพไปเปล่าๆ เท่านั้นเอง และถ้าอยากได้บรรยากาศที่เงียบสงบหน่อย ควรหลีกเลี่ยงวันหยุดที่เป็นเทศกาลต่างๆ เข้าไว้นะครับ
เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง
- บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/travels/photography-planner