BASIC

เคล็ดลับการตั้งค่าถ่ายภาพกลางคืน

ภาพถ่ายของสถานที่ต่างๆในเวลากลางคืน เป็นภาพที่สร้างความน่าสนใจได้มากกว่าภาพที่ถ่ายในเวลากลางวัน ไม่ว่าจะเป็น สะพาน สถานที่ท่องเที่ยวหรืออาคารต่างๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะในเวลากลางคืนสถานที่ต่างๆเหล่านี้จะถูกส่องสว่างด้วยแสงไฟ และหากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม จะมีการประดับไฟสวยงามมากกว่าสถานที่อื่นๆ

การถ่ายภาพในเวลากลางคืนนี้แม้จะมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากการถ่ายภาพในเวลากลางวัน แต่ก็ไม่ต้องพะวงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของแสงเหมือนกับในเวลากลางวัน เพียงแค่คุณตั้งค่าที่ถูกต้อง ใช้เครื่องมือที่จำเป็น บวกกับความขยันในการเดินหามุมและการรอคอย และเคล็ดลับอีก 9 ข้อนี้ที่จะทำให้คุณได้ภาพถ่ายกลางคืนที่ดีได้ไม่ยาก

โหมด Manual เป็นโหมดที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพตอนกลางคืน เพราะคุณสามารถควบคุมการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และค่าความไวแสง ISO ได้ด้วยตัวเอง หากใช้โหมด Auto กล้องอาจเลือกใช้ค่าต่างๆที่ผิดพลาดได้เพราะในภาพมีทั้งส่วนสว่างจากแสงไฟและส่วนมืดที่ไม่มีแสงส่องสว่าง ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ภาพตามที่คุณตั้งใจเอาไว้ อย่าลืมตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องให้มั่นคง และปิดการทำงานระบบกันสั่นด้วย


การเลือกใช้โหมด Manual ในกล้องส่วนใหญ่จะสามารถเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้สูงสุดที่ 30 วินาทีเท่านั้น หากคุณต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่นานกว่าก็สามารถเลือกเปลี่ยนไปใช้โหมด Bulb ที่สามารถเลือกเปิดหน้ากล้องหรือเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้นานเท่าที่คุณต้องการ

ในโหมด Bulb กล้องจะเปิดม่านชัตเตอร์ตลอดเวลาที่กดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ และกล้องจะสั่งปิดม่านชัตเตอร์เมื่คุณจะปล่อยปุ่มชัตเตอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการสั่นสะเทือนของกล้องในขณะกดหรือปล่อยปุ่มชัตเตอร์ จึงแนะนำให้ใช้รีโมทหรือสายลั่นชัตเตอร์แทนการใช้นิ้วกดทีาปุ่มชัตเตอร์โดยตรง และอาจพกนาฬิกาจับเวลาหรือใช้สมาร์ทโฟนช่วยจับเวลาในการถ่ายภาพด้วย


การถ่ายภาพในเวลากลางคืนควรตั้งค่าการบันทึกภาพเป็นไฟล์ Raw ซึ่งเป็นไฟล์ที่มีขนาด 14bit ขณะที่ Jpeg จะมีขนาดเพียง 8 bit เท่านั้น ไฟล์ RAW จะให้ค่าความกว้างของสีที่มากกว่า เก็บรายละเอียดของภาพในส่วนที่มีความต่างกันและสีได้มากกว่า รวมทั้งไล่โทนสีได้สมูทกว่า ซึ่งการถ่ายภาพด้วยไฟล์ Raw เมื่อนำไปแต่งภาพด้วยโปรแกรมต่างๆจะสามารถดึงรายละเอียด แสง และสีของภาพ ออกมาได้มากกว่า


พกไฟฉายขนาดเล็ก เพื่อความสะดวกในการปรับตั้งค่าหรือการปรับแป้น Dial , เมนต่างๆของกล้องในเวลากลางคืน ซึ่งอาจมีแสงสว่างไม่เพียงพอให้มองเห็นแป้นหรือปุ่มต่างๆได้ชัดเจนเหมือนเวลากลางวัน การพกไฟฉายขนาดเล็กติดตัวไปจะเป็นประโยชน์ทั้งการช่วยในการปรับตั้งค่าต่างๆของกล้อง การส่องวัตถุเพื่อช่วยโฟกัส และยังใช้ส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยได้ด้วย หรือหากไม่มีไฟฉายก็ยังสามารถใช้แสงสว่างจากหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือไฟแฟลชกล้องสมาร์ทโฟนที่สามารถใช้งานแทนไฟฉายก็ได้


การเลือกตั้งค่าถ่ายภาพที่เหมาะสม การเลือกใช้ค่าที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสภาพแสงในขณะถ่ายภาพ และความต้องการอยากได้ภาพแบบใด ไม่มีการตั้งค่าที่ตายตัว แต่สามารถเลือกตั้งค่าที่เหมาะสมได้ ทั้ง รูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์และค่าความไวแสง

ค่ารูรับแสง : แนะนำให้ใช้รูรับแสงกว้างกว่าการถ่ายภาพตอนกลางวัน (หรือ F ที่ตัวเลขน้อย) เท่าที่เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของภาพที่ต้องการ ยิ่งเปิดรูรับแสงกว้าง แสงจะผ่านเข้ามาในกล้องได้มากขึ้น และส่วนใหญ่ฉากหลังที่เป็นท้องฟ้าจะมืด ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องใช้รูรับแสงแคบเพื่อให้ระยะชัดลึกไปถึง ค่า

ความไวแสง : ให้เลือกใช้ค่า ISO ต่ำไว้ก่อน เพราะในการถ่ายภาพกลางคืนจะมีส่วนที่เป็นพื้นที่สีดำ ซึ่งการตั้งค่า ISO สูงๆจะทำให้มองเห็น noise ได้ชัดเจนมาก

ความเร็วชัตเตอร์ : การถ่ายภาพกลางคืนโดยใช้ขาตั้งกล้อง คุณสามารถเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ตามที่ต้องการ การเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์นานเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับภาพที่ต้องการถ่าย เช่น หากต้องการถ่ายแสงไฟเป็นเส้น, น้ำพุ หรือสายน้ำไหลให้เป็นเส้นสายที่นุ่มนวล ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากๆ และหากกล้องที่ใช้มีฟังก์ชั่น Long Exposure Noise Reduction ควรเปิดใช้งานฟังก์ชั่นนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การตั้งค่าทั้ง 3 สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว การเลือกใช้รูรับแสงแคบช่วยให้ได้ภาพไฟถนนเป็นแฉกสวยงามกว่าการใช้รูรับแสงกว้าง การใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้นหรือต่ำลงก็จะให้ภาพที่มีความแตกต่างกันด้วยเช่นกัน


ส่วนใหญ่ในการถ่ายภาพกลางวัน ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ อาจให้ผลที่ดีที่สุด แต่อาจจะไม่ใช่กับการถ่ายภาพกลางคืน ซึ่งมีทั้งส่วนสว่างและส่วนมืดที่ต่างกันมากๆที่อาจทำให้ระบบวัดแสงของกล้องวัดค่าผิดพลาด อาจลองเปลี่ยนมาใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด และปรับค่าให้โอเวอร์ขึ้น +1/+2 สตอป ซึ่งจะช่วยทำให้ในส่วน Highlight ของภาพมีความสว่างเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงรักษาส่วนมืดของภาพเอาไว้โดยไม่ทำให้ภาพๆดูสว่างเกินไปอีกด้วย หรืออาจทดลองถ่ายดูหลายๆแบบจะดีที่สุดครับ


ควรทดลองถ่ายภาพจากการตั้งค่าถ่ายจริงโดยการปรับตั้งค่าความไวแสงให้สูงขึ้นกว่าที่เลือกใช้จริงดูก่อน เพื่อเป็นการไม่ให้เสียเวลา เช่น หากเลือกตั้งค่ากล้องเอาไว้ที่ความเร็วชัตเตอร์ 30 วินาที รูรับแสง f5.6 และ ISO 400 อาจทดลองถ่ายโดยการปรับค่า ISO ให้สูงขึ้น 4 สตอป เป็น ISO 6400 ซึ่งจะทำให้สามารถไปลดความเร็วชัตเตอร์ลงได้เหลือเพียง 2 วินาที และทำการทดลองถ่ายดูก่อน หากไม่มีอะไรที่ต้องแก้ไขจึงปรับกลับไปที่ค่าเดิมเพื่อถ่ายจริง


เพื่อหลีกเลี่ยงการได้ภาพที่มีค่าแสงผิดพลาด และต้องการเก็บรายละเอียดต่างๆของภาพให้ครบถ้วนมากที่สุด แนะนำให้ใช้ฟังก์ชั่นการถ่ายคร่อม เข้ามาช่วย เช่น การตั้ง HDR หรืออาจจะถ่ายภาพหลายๆภาพและตั้งค่าแสงต่างกันเพื่อนพไปรวมเป็นภาพเดียวภายหลังก็ได้


เมื่อถ่ายภาพแล้ว คุณสามารถตรวจสอบการตั้งค่าต่างๆอย่างแม่นยำได้จากการดูค่า histogram จากหน้าจอแสดงผล ทางหน้าจอด้านขวาจะหมายถึงค่า Highlight หรือส่วนสว่างของภาพ และด้านซ้ายมือจะเป็นค่าตรงข้าม หลีกเลี่ยงการตั้งค่าที่ให้ภาพที่มีฮิสโตรแกรมเทไปทางด้านขวาสุดของภาพ เพราะภาพที่ได้จะสว่างเกินไป

ไม่มีหลักการตั้งค่าที่ตายตัวสำหรับการถ่ายภาพทุกประเภท การถ่ายภาพกลางคืนก็เช่นกัน การใช้เครื่องมือที่เหมาะสม การตั้งค่าที่ตรงกับความต้องการและการทดลองถ่ายบ่อยๆจะสามารถสร้างความคุ้นเคยและความชำนาญจนสามารถถ่ายได้ภาพที่ดีได้ครับ

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic