Memory Card เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญสำหรับกล้องถ่ายรูปที่เป็นดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นกล้อง Mirrorless, DSLR, หรือแม้แต่กล้อง Compact ทั่วไป เพราะทำหน้าที่เป็นหน่วยความจำสำหรับจัดเก็บภาพถ่ายและวิดีโอที่คุณบันทึกไว้ หากเลือกเมมโมรี่การ์ดไม่เหมาะสม อาจทำให้กล้องทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไฟล์ภาพหรือวิดีโอที่ได้อาจมีคุณภาพต่ำ หรือแม้แต่พลาดช็อตสำคัญไปเลยก็ได้ (ช่างภาพสายแอคชั่นจะเข้าใจดีครับ (ฮ่าๆ))
เราจะมาทำความรู้จักกับเมมโมรี่การ์ดให้มากขึ้น พร้อมถอดรหัสตัวเลขและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มักจะระบุอยู่บนตัวการ์ด เพื่อให้คุณเลือกซื้อได้อย่างมั่นใจและเหมาะสมกับการใช้งานของคุณมากที่สุดครับ
อย่างแรกเลยที่ต้องรู้คือ ประเภทของ Memory Card ที่นิยมใช้กับกล้องถ่ายภาพครับ ซึ่งหลักๆ แล้ว Memory Card ที่ใช้กับกล้องถ่ายภาพจะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ
SD Card (Secure Digital Card)
เป็นประเภทที่นิยมและใช้งานแพร่หลายที่สุดในกล้องดิจิทัลเกือบทุกประเภท เนื่องจากว่ามันมีขนาดเล็กและพกพาสะดวก และราคาก็จับต้องได้ มีให้เลือกหลายแบบด้วยครับ และบน SD Card ยังมีสัญลักษณ์ที่บอกประเภทของการ์ดด้วย ซึ่งส่งผลต่อความจุสูงสุดที่รองรับครับ อย่างเช่น

- SD (Standard Capacity) ความจุสูงสุด 2GB
- SDHC (High Capacity) ความจุ 4GB ถึง 32GB
- SDXC (Extended Capacity) ความจุ 64GB ถึง 2TB ในตลาดอุปกรณ์ถ่ายภาพเราจะเห็น SDHC และ SDXC เป็นหลักครับ (ณ ปัจจุบันยังเป็นแบบที่กล่าวมา แต่ในอนาคตเราอาจเห็นการพัฒนาในรูปแบบใหม่ครับ)

CFexpress Card (CompactFlash Express Card)
เป็น Memory Card รุ่นใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการถ่ายภาพความละเอียดสูง เร็ว และงานวิดีโอระดับ 4K, 8K ที่ต้องการความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลสูงมาก มักจะใช้ในกล้องระดับโปรหรือกล้องรุ่นใหม่ๆ ครับ ซึ่งถูกพัฒนาโดย CompactFlash Association (CFA) โดยมีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยี PCIe (Peripheral Component Interconnect Express) และ NVMe (Non-Volatile Memory Express) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับที่ใช้ใน SSD (Solid State Drive) สำหรับคอมพิวเตอร์ ทำให้ CFexpress มีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลที่เหนือกว่า Memory Card ประเภทอื่นๆ อย่าง SD อย่างเห็นได้ชัดครับ ประเภทของ CFexpress Card มี 3 ขนาด (Form Factor) หรือประเภทหลักๆ คือ
- CFexpress Type A มีขนาด เล็ก ใช้ PCIe Lanes 1 Lane
- CFexpress Type B ขนาดใหญ่กว่า Type A ใช้ PCIe Lanes 2 Lanes
- CFexpress Type C ขนาดใหญ่ที่สุด (54.0 x 74.0 x 4.8 มม.) ใช้ PCIe Lanes 4 Lanes
ในส่วนของข้อมูลเพิ่มเติมของ Cfexpress แอดมินขอติดค้างไว้ก่อนครับ ไว้คราวหน้าจะมาอธิบายเพิ่มเติมให้อ่านกันอีกครับ

Micro SD ที่ใช้กับตัวอะแดปเตอร์ แล้วนำไปใช้กับกล้องอีกที อันนี้ จากประสบการณ์ที่พบเจอผมไม่แนะนำให้ใช้งานในลักษณะนี้ครับ หากจะใช้งานก็ควรใช้ในแบบที่มันเป็น คือ ใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้ Mocro SD แบบไม่ต้องใช้อะแดปเตอร์อย่างพวกกล้อง Actioncam ต่างๆ จะดีกว่าครับ
การเลือกซื้อเมมโมรี่การ์ด
ก่อนอื่นเลยคุณควรตรวจสอบคู่มือกล้องของคุณก่อนเลยครับว่า กล้องของคุณรองรับ Memory Card ประเภทใดและ Class Speed เท่าไหร่ เพื่อให้มั่นใจว่าการ์ดที่คุณซื้อจะสามารถใช้งานร่วมกับกล้องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น กล้องบางตัวใช้ SD Card บางตัวใช้ Cfexpress หรือบางตัวก็ใช้ทั้งสองแบบเลยครับ

พิจารณาประเภทของการถ่ายภาพ ถ่ายภาพนิ่งทั่วไปใช้ Class 10 หรือ U1 ก็เรียกได้ว่าน่าจะเพียงพอแล้วครับ แต่ถ้าหากเน้นถ่ายภาพต่อเนื่อง (Burst Mode) การเลือกการ์ดที่มีความเร็วในการเขียนสูงๆ (V30 ขึ้นไป หรือความเร็ว MB/s สูงๆ) ก็จะดีกว่าครับ และหากเป็นการใช้กล้องกับงานถ่ายวิดีโอ ถ้าเป็น Full HD แนะนำ Class 10 หรือ U1 เป็นอย่างน้อย หรือหากถ่ายที่ 4K ก็อยากจะแนะนำ U3 หรือ V30 ขึ้นไป หรือถ่ายวิดีโอที่ 8K หรือ Slow Motion คุณภาพสูง ก็แนะนำ V60 หรือ V90 ไปเลยครับ

ข้อต่อมาที่สำคัญเลยคือ “ความจุของเมมโมรี่การ์ด” ที่ต้องการ ซื้อที่ความจุเยอะๆ เพื่อจะไม่ให้การ์ดเต็มบ่อยๆ เมื่อต้องถ่ายภาพต่อเนื่อง หรือเลือกเมมโมรี่การ์ดที่มีความเร็วในการเขียนสูงๆ เพราะชอบถ่ายภาพต่อเนื่อง หรือต้องบันทึกวิดีโออยู่เป็นประจำ กรณีนี้จะต้องมองหาเมมโมรี่การ์ดที่รองรับการบันทึกวิดีโอที่รวดเร็วครับ

และ ที่ต้องพิจารณาร่วมการซื้ออีกอย่างคือ ขนาดความละเอียดภาพของกล้องที่คุณใช้ หากเป็นกล้องที่เน้น Resolution ก็ควรนำไปพิจารณาด้วยเช่นกัน เช่น 45 ล้านพิกเซล ก็จะใช้พื้นที่ความจุมากขึ้นด้วยเช่นกันครับ และความเร็วในการเขียน/อ่าน ก็พิจารณาตามความเหมาะสมหรือกำลังทรัพย์ได้เลยครับ


ขอบคุณภาพจาก Pixabay โดย ZT_OSCAR
ข้อต่อมา คือ ตัวเลขต่างๆ ที่อยู่บนเมมโมรี่การ์ด หลายๆ คนจะเลือกซื้อเพราะเห็นตัวเลข XXMB/s สูงๆ ที่หลายๆ รุ่น มักจะโชว์อยู่ค่าเดียว ซึ่งมันคือ “ตัวเลขที่บอกค่าการอ่านข้อมูลที่เมมโมรี่การ์ดทำได้ครับ” ค่าการอ่านที่สูงมีผลโดยตรงต่อความสะดวกและรวดเร็วในการทำงานหลังจากการถ่ายภาพเสร็จสิ้นไปแล้ว เช่น การโอนไฟล์ภาพและวิดีโอไปยังคอมพิวเตอร์ที่รวดเร็วขึ้น การเรียกดูภาพและวิดีโอในกล้องที่เร็วขึ้น (ในบางกรณี) การทำงานร่วมกับโปรแกรมตัดต่อวิดีโอ (เมื่อใช้การ์ดโดยตรง) ครับ ส่วนข้อมูลในการเขียนจะต้องดูจากสเปคด้านหลังกล่องครับ

แต่ก็มีบางยี่ห้อโดยเฉพาะยุคใหม่ๆ ที่จะระบุมาให้ทั้งข้อมูลการ เขียน/อ่าน ให้เลยครับ ค่าการเขียนข้อมูลก็อย่างที่หลายๆ ท่านคงพอเข้าใจอยู่บ้างแล้วคือ ความเร็วที่ Memory Card สามารถบันทึกหรือเขียนข้อมูลจากกล้องลงบนตัวการ์ดได้นั่นเองครับ ซึ่งค่าการเขียนที่สูงมีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของกล้องในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การถ่ายภาพต่อเนื่อง (Burst Mode) ที่ราบรื่นและยาวนานขึ้น การบันทึกวิดีโอความละเอียดสูง (4K, 8K) และ Slow Motion ที่ไม่สะดุด ลดเวลาการประมวลผลภายในกล้อง การบันทึกไฟล์ RAW ที่มีขนาดใหญ่ครับ
และถัดมาคือ ดูความเร็วพื้นฐานของ UHS ว่าเป็น I, II หรือ III เพราะรุ่น II หรือ III ก็จะมีความเร็วของเมมโมรี่การ์ดที่มากขึ้น และตอบสนองการทำงานได้ดีกว่ารุ่นต่ำกว่า เป็นต้น

เลือกแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ การเลือกซื้อ Memory Card จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเชื่อถือได้ เช่น SanDisk, Sony, Lexar, Prograde จะช่วยให้คุณมั่นใจในคุณภาพและความทนทานของการ์ดได้ เรียกได้ว่า อุ่นใจทำงานอะไรก็ออกมาดีครับ
ทั้งนี้ ทั้งนั้น ที่กล่าวมาทั้งหมดก็ต้องดูความสามารถของกล้องถ่ายภาพ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ด้วยครับว่า รองรับเมมโมรี่การ์ดได้สเปคสูงแค่ไหน เพราะถึงแม้ว่าจะซื้อเมมโมรี่การ์ดความเร็วสูงๆ มา แต่กล้องไม่รองรับ ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเมโมรี่การ์ดได้อยู่ดีครับ (ในความหมายคือ ซื้อมาแพงแต่เสียดายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถของการ์ดได้เต็มที่นั่นแหละครับ แต่ถ้ากำลังทรัพย์ถึงก็ เร็วไว้เป็นดีครับ เผื่อไว้ใช้ตอนที่ซื้อกล้องรุ่นใหม่ครับ ฮ่าๆๆ)

ผมได้แนะนำการเลือกเมมโมรี่การ์ดไปแล้ว คราวนี้มาดูกันครับว่า ตัวเลยที่เอ่ยมาทั้งหมดที่แนะนำให้คุณพิจารณานั้น มันหมายถึง และบอกอะไรกับพวกเราที่จะซื้อเมมโมรี่การ์ดมาใช้บ้าง ไปดูครับ
แกะรหัสบน Memory Card ตัวเลขและสัญลักษณ์บอกอะไรเราบ้าง
เมื่อคุณหยิบ Memory Card ขึ้นมาดู จะพบกับตัวเลขและสัญลักษณ์ต่างๆ มากมายที่อาจทำให้สับสนได้ แต่ไม่ต้องกังวลไปครับ เราจะมาอธิบายความหมายของแต่ละส่วนให้เข้าใจง่ายๆ ครับ

(ดูหมายเลขตามภาพประกอบด้านบน)
1. ความจุ (Capacity) เป็นสิ่งแรกที่ทุกคนจะมองหาและเข้าใจง่ายที่สุด บอกถึงปริมาณข้อมูลที่สามารถจัดเก็บได้มีหน่วยเป็น GB (Gigabyte) หรือ TB (Terabyte) ยิ่งตัวเลขมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเก็บภาพและวิดีโอได้มากขึ้นเท่านั้น เช่น 32GB, 64GB, 128GB, 256GB ครับ
2. สัญลักษณ์ความเร็วสูงสุด (Maximum Read/Write Speed) ตัวเลขเหล่านี้มักจะแสดงเป็นตัวเลขขนาดใหญ่บน Memory Card พร้อมระบุหน่วยเป็น MB/s (Megabytes per second) โดยจะบอกถึงความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลสูงสุดที่การ์ดสามารถทำได้ เช่น 170MB/s, 300MB/s เป็นต้น ยิ่งตัวเลขสูงเท่าไหร่ การ์ดก็ยิ่งถ่ายโอนข้อมูลได้เร็วเท่านั้น ซึ่งมีผลต่อการถ่ายภาพต่อเนื่อง (Burst Mode) และการโอนไฟล์ภาพจากกล้องลงคอมพิวเตอร์
2* ถ้ามีตัวเลขเดียว จะแสดงถึงความเร็วในการอ่านเท่านั้น
3. Video Speed Class (V Class) เป็นมาตรฐานความเร็วล่าสุดที่ออกแบบมาเพื่อการถ่ายวิดีโอโดยเฉพาะ โดยระบุความเร็วในการเขียนข้อมูลขั้นต่ำที่รับประกันได้ เหมาะสำหรับกล้องที่สามารถถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงมากๆ เช่น 4K, 8K มักจะแสดงเป็นตัวอักษร “V” ตามด้วยตัวเลข
- V6: ความเร็วขั้นต่ำ 6 MB/s
- V10: ความเร็วขั้นต่ำ 10 MB/s
- V30: ความเร็วขั้นต่ำ 30 MB/s (แนะนำสำหรับการถ่ายวิดีโอ 4K)
- V60: ความเร็วขั้นต่ำ 60 MB/s
- V90: ความเร็วขั้นต่ำ 90 MB/s (แนะนำสำหรับการถ่ายวิดีโอ 8K หรือวิดีโอ Slow Motion คุณภาพสูง)
4. ชื่อรุ่นของเมมโมรี่การ์ด ซึ่งแต่ละยี่ห่อก็จะมีชื่อรุ่นเป็นของตัวเอง
5. UHS Speed Class (Ultra High Speed) เป็นมาตรฐานความเร็วที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Class Speed Rating เพื่อรองรับการถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงและภาพนิ่งต่อเนื่อง มักจะแสดงเป็นตัวเลขในสัญลักษณ์ “U” (เหมือนตัว U ที่มีเลขอยู่ตรงกลาง)
- UHS Speed Class 1 (U1) : ความเร็วขั้นต่ำ 10 MB/s
- UHS Speed Class 3 (U3) : ความเร็วขั้นต่ำ 30 MB/s (แนะนำสำหรับการถ่ายวิดีโอ 4K)
6. รูปแบบของเมมโมรี่การ์ด เช่น SD มีความจุไม่เกิน 2GB, SDHC มีความจุตั้งแต่ 4-32GB และ SDXC มีความจุ 64GB ขึ้นไป เป็นต้น
7. แสดงถึงพื้นฐานความเร็วของเมมโมรี่การ์ด UHS เช่น I เป็นรุ่นแรก ความเร็วประมาณ 100MB/s, II รุ่นสอง ความเร็วประมาณ 300MB/s และ III ความเร็วประมาณ 600MB/s เป็นต้น
8. Class Speed Rating (Speed Class) เป็นสัญลักษณ์ที่บอกความเร็วในการเขียนข้อมูลขั้นต่ำของ Memory Card ซึ่งสำคัญมากสำหรับการถ่ายวิดีโอ มักจะแสดงเป็นตัวเลขในวงกลมหรือตัวอักษร “C” ตามด้วยตัวเลข
- Class 2 (C2) : ความเร็วขั้นต่ำ 2 MB/s
- Class 4 (C4) : ความเร็วขั้นต่ำ 4 MB/s
- Class 6 (C6) : ความเร็วขั้นต่ำ 6 MB/s
- Class 10 (C10) : ความเร็วขั้นต่ำ 10 MB/s (นิยมใช้ทั่วไปสำหรับการถ่ายวิดีโอ Full HD)
แอดมินก็ได้แต่หวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับช่างภาพมือใหม่บ้างนะครับ และหวังว่าผู้อ่านจะเลือกซื้อได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าครับ ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ
Leave feedback about this