กล้องสมาร์ทโฟน หรือมือถือ มีส่วนประกอบหลายอย่างที่มีส่วนช่วยให้คุณภาพไฟล์ออกมาดี ได้รูปออกมาชัด สวย หลายคนยังคงเข้าใจผิดว่าการเน้นที่ความละเอียดสูงๆจะช่วยให้ภาพที่ออกมาดีที่สุด ซึ่งจริงๆแล้วนั่นเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น มาดูกันดีกว่าครับว่า กล้องมือถือมีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ทำให้ได้ภาพดี ภาพสวย
1. ความละเอียดของเซ็นเซอร์
จะแสดงค่าเป็นตัวเลข เช่น 8 ล้านพิกเซล 12 ล้านพิกเซล 20 ล้านพิกเซล เป็นตัวเลขที่ผู้คนจำนวนมากเข้าใจว่ายิ่งตัวเลขมากยิ่งได้ภาพที่มีความคมชัดมากตามไปด้วย เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด จริงๆ ประโยชน์ของตัวเลขความละเอียดนี้มีส่วนสำคัญหลักๆ 2 ประการคือ หนึ่ง ช่วยให้กล้องเก็บรายละเอียดของภาพได้มากกว่า เซ็นเซอร์ความละเอียดสูงก็จะมีความสามารถในการเก็บรายละเอียดของภาพได้ดีกว่าเซ็นเซอร์ความละเอียดตํ่า และสองหากนำรูปที่ได้จากกล้องเซ็นเซอร์ความละเอียดสูงไปขยายเป็นภาพขนาดใหญ่ จะสามารถขยายได้ขนาดใหญ่กว่าเซ็นเซอร์ความละเอียดตํ่าโดยที่ภาพยังมีความคมชัดอยู่ หรือหากขยายในขนาดเท่ากัน จะสังเกตได้ว่าภาพจากกล้องเซ็นเซอร์ความละเอียดสูง จะมีรายละเอียด สีสันที่ดีกว่า ตรงนี้หลายๆ คนเรียกเหมารวมว่าเซ็นเซอร์ความละเอียดสูงๆ จะได้ภาพชัดกว่า เวลาจะซื้อจึงมักจะเน้นไปที่ความละเอียดสูงๆ ไว้ก่อน
2. ขนาดของเซ็นเซอร์
ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 3 –4 ปีก่อน กล้องสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่นั้นจะใช้เซ็นเซอร์ขนาด 1/3.2” บางรุ่นอาจจะขยับมาใช้เซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น 1/2.8” ปัจจุบันกล้องสมาร์ทโฟนหันมาให้ความสำคัญกับขนาดเซ็นเซอร์มากขึ้น บางรุ่นใช้เซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่เช่น 1/1.7” หรือ 1/ 1.5” ซึ่งขนาดเซ็นเซอร์ของกล้องสมาร์ทโฟนนี้มีขนาดเล็กกว่ากล้องคอมแพค และยิ่งเล็กมากเมื่อนำไปเทียบกับกล้อง DSLR หรือ Mirrorless เซ็นเซอร์จะเป็นตัวรับสัญญาณแสงเพื่อนำมาแปลงให้เป็นสัญญาณดิจิตอล และจะส่งข้อมูลไปยังซิปประมวลผลเพื่อประมวลผลออกมาเป็นไฟล์ภาพ เซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่จะมีพื้นที่ในการรับแสงมากกว่า เกิดความร้อนน้อยกว่า และสามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า และยังมีสัญญาณรบกวนหรือ noise น้อยกว่าด้วย (noise จะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ในภาพ จะเห็นได้ชัดโดยเฉพาะเมื่อถ่ายภาพในที่แสงน้อยหรือถ่ายภาพเวลากลางคืน) ปัจจุบันกล้องสมาร์ทโฟนหลายมีการรุ่นระบุขนาดของเซ็นเซอร์ให้ผู้ซื้อได้ทราบ แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ระบุสเปคนี้ให้ทราบ
3. ขนาดของพิกเซล Pixel
คือส่วนรับแสงที่มีขนาดเล็กที่เป็นองค์ประกอบหลักและวางรวมตัวกันอยู่ในเซ็นเซอร์ จะทำหน้าที่รับแสงสะท้อนที่ส่งมาจากเลนส์ถ่ายภาพนำมารวมกันเพื่อสร้างภาพ ขนาดของพิกเซลนี้มีผลโดยตรงทั้งต่อความคมชัด รายละเอียด สีสันของภาพ ยิ่งขนาดของพิกเซลใหญ่มากเท่าใดก็สามารถรับแสงได้มากกว่า ทั้งในการถ่ายภาพเวลาปรกติ หรือถ่ายภาพในที่แสงน้อย ทำให้ภาพที่ได้สว่าง สดใสและคมชัดมากขึ้น ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น โดยที่ยังเก็บรายละเอียดทั้งในส่วนสว่างและส่วนมืดเอาไว้ได้ดีกว่าเซ็นเซอร์ที่มีขนาดของพิกเซลเล็ก
ปัจจุบัน กล้องสมาร์ทโฟนหลายรุ่นโดยเฉพาะรุ่นระดับกลางขึ้นไป ไม่ได้เน้นที่การใช้เซ็นเซอร์ความละเอียดสูงๆ แต่หันมาแข่งขันกันเรื่องขนาดของเซ็นเซอร์ และขนาดของพิกเซล ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของภาพ แต่ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ช่วยให้ได้ภาพที่ดีนอกเหนือจากองค์ประกอบของเซ็นเซอร์ทั้งสามข้อที่กล่าวมาแล้ว
ซ้าย : Hasselblad True Zoom เลนส์ซูมที่นำมาติดกับสมาร์โฟน Moto ใช้เซ็นเซอร์ขนาด 1/2.3 นิ้ว f/3.5-6.5 ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ขนาดพิกเซล 1.55 ไมครอน
ขวา : Asus Zen Fone Zoom และเลนส์ Optical Zoom
4. เลนส์ถ่ายภาพและขนาดรูรับแสง
สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะมาพร้อมเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสคงที่ และส่วนมากจะเป็นเลนส์มุมกว้างที่มีทางยาวโฟกัสประมาณช่วงระยะที่ 20-35 มม. โดยเฉพาะกล้องหน้าสำหรับถ่ายเซลฟี่จะใช้เลนส์มุมกว้างที่มีทางยาวโฟกัสน้อยกว่ากล้องหลัง ข้อดีของเลนส์มุมกว้างคือสามารถถ่ายภาพต่างๆได้หลากหลาย ครอบคลุมการถ่ายภาพแทบทุกประเภท แต่สิ่งที่ตามมาคือความบิดเบี้ยวของภาพที่เกิดจากเลนส์มุมกว้าง โดยเฉพาะหากถ่ายภาพในระยะใกล้ความบิดเบือนของภาพจะยิ่งมากตาม สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ หลายรุ่น ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เลนส์ มีการใช้ชิ้นเลนส์คุณภาพสูงจากบริษัทผลิตกล้องและเลนส์ชั้นนำที่มีชื่อเสียง เช่น Leica, Carl Zeiss, Hasselblad, Sony G, Schneider-Kreuznach เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานว่าจะได้ภาพที่คมชัด มีรายละเอียดสูงและโทนสีที่เป็นธรรมชาติ ไม่แพ้ภาพที่ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพอย่าง DSLR หรือ Mirrorless มีสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มาพร้อมเลนส์ซูมแบบ Optical Zoom ที่สามารถซูมภาพได้ด้วยการใช้เลนส์ซูมโดยไม่สูญเสียรายละเอียดเหมือนกับการใช้ Digital Zoom เช่น Samsung Galaxy K-Zoom , Asus ZenFone Zoom
ปัจจุบันยังมีการนำเทคโนโลยีกล้องคู่ Dual Camera เพื่อใช้ถ่ายภาพ 3 มิติ และดูภาพได้โดยตรงที่จอสมาร์ทโฟน (ที่ใช้ใน LG Optimus 3D) หรือเลนส์ชุดแรกเป็นเลนส์มุมกว้างและชุดที่สองเป็นเลนส์เทเลโฟโต้เพื่อเก็บภาพให้มีระยะความชัดลึกที่ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นใน iPhone 7 หรือ Huawei P9, P10 ที่ใช้เลนส์ชุดที่สองเก็บภาพแบบ Monochrome หรือภาพขาวดำ หรือถ่ายภาพจากทั้งสองเลนส์แล้วนำภาพที่ได้ไปรวมกันจะทำให้โทนสีของภาพมีการไล่โทนที่สวยงาม เป็นธรรมชาติมากขึ้น
ขนาดรูรับแสงของเลนส์ จะแสดงเป็นค่า f เช่น f1.7 f2.0 f2.2 ตัวเลขนี้จะเป็นตัวกำหนดปริมาณแสงที่สามารถผ่านเข้าไปในเลนส์ได้ ตัวเลขน้อยหมายถึงเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง แสงจะสามารถผ่านเข้าไปได้มากกว่าตัวเลขมาก จะได้เปรียบทั้งการถ่ายภาพในสภาพแสงทั่วไปและสภาพแสงน้อย ดังนั้นควรเลือกเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างเอาไว้ก่อน ตัวเลขค่ารูรับแสงนี้จะมีระบุไว้ที่สเปคกล้องทุกตัวครับ
ซ้าย : กล้องคู่ของ Huawei P9
ขวา : ระบบกันสั่นแบบ 5 แกน ที่ใช้ใน Sony Xperia XZ
5. ระบบโฟกัส
กล้องหลังของสมาร์ทโฟนตั้งแต่ยุคหลังปี 2005 เป็นต้นมา ระบบโฟกัสที่ใช้จะเป็นแบบออโต้โฟกัสทั้งหมด ปัจจุบันระบบออโต้โฟกัสในกล้องสมาร์ทโฟนได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง มีระบบการทำงานเช่นเดียวกับที่ใช้ในกล้อง DSLR หรือ Mirrorless สามารถโฟกัสได้รวดเร็วและแม่นยำ และยังโฟกัสตามวัตถุเคลื่อนที่ได้ด้วย ทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดสูง มีทั้งระบบโฟกัสด้วยเลเซอร์ ระบบ Phase Detection ระบบ Contrast Detection หรือเป็นแบบไฮบริดจ์ที่รวมเอาการทำงานของระบบโฟกัสหลายชนิดให้กล้องเลือกใช้งานให้เหมาะกับสถานการณ์การถ่ายภาพที่ใช้งานอยู่ ปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนหลายรุ่นเริ่มมีการนำเอาระบบออโต้โฟกัสมาใช้กับกล้องหน้ามากขึ้น
6. ฟีเจอร์อื่นๆ
เช่น ระบบกันสั่น ช่วยให้การถ่ายภาพโดยการถือถ่ายด้วยมือ หรือถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย กล้องยังคงรักษาคมคมชัดไว้ได้มากที่สุด ระบบกันสั่นที่ทำงานแบบหวังผลได้คือระบบกันสั่นที่เลนส์ หรือ OIS – Optical Image Stabilizer ที่จะใช้การขยับชิ้นเลนส์เพื่อไปชดเชยการสั่นของมือที่จับกล้อง เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดมากที่สุด ระบบกันสั่นในสมาร์ทโฟนอาจจะเห็นผลไม่ชัดเจนมากกับการถ่ายภาพนิ่ง แต่ทำงานได้ดีมากกับการถ่ายวีดีโอ การเลือกเปิดหรือปิดระบบนี้กับการถ่ายวีดีโอให้ผลภาพที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดครับ
อุปกรณ์เสริมแฟลชขนาดเล็ก และเลนส์
7. Application
หรือ โปรแกรมสำหรับแต่งภาพ ที่มีให้เลือกใช้มากมาย ทั้งแต่งหน้าเนียน ปรับรูปใบหน้า แต่งหน้าให้ขาว ใส่ตัวอักษรหรือสติ๊กเกอร์ลงในรูป และอื่นๆอีกมาก App. ส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมจะเป็นการดาวน์โหลดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้งานง่าย ได้รูปสวยตรงตามที่ต้องการ ปัจจุบันสมาร์ทโฟนจำนวนไม่น้อยที่ได้นำเอาคุณสมบัติการแต่งภาพหลากหลายแบบมาไว้ในตัวกล้อง เมื่อถ่ายภาพเสร็จสามารถเรียกดูภาพและแต่งภาพได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัย App. ใดๆ นอกจากนี้แล้วยังมีอุปกรณ์เสริมต่างๆอีกมากมายที่นำมาใช้งานกับกล้องสมาร์ทโฟน เช่น ไฟแฟลช LED ขนาดเล็ก เลนส์ขนาดต่างๆ ทั้งเลนส์ซูม เลนส์มุมกว้าง เลนส์ตาปลา และเลนส์ถ่ายใกล้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นเลนส์พลาสติค ที่ให้ภาพแปลกตาแต่จะลดคุณภาพของภาพลงพอสมควร หากซีเรียสในเรื่องคุณภาพ ควรคำนึงถึงข้อนี้ก่อนการซื้อมาใช้งาน
8. แฟลช
มีทั้งแฟลชแบบ 1 ดวง / 2 ดวง และแบบสีเดียว สองสี ใช้หลอดไฟหลายชนิดเพื่อให้ความสว่าง เช่น LED, Xenon มีข้อควรระวังคือ ไฟแฟลชจะให้แสงที่แรงและแสงจะแข็งทำให้ภาพดูไม่เป็นธรรมชาติ และแฟลชของสมาร์ทโฟนมีระยะการทำงานที่น้อยมาก ที่สำคัญคือการใช้แฟลชจะใช้พลังงานมาก ทำให้แบตเตอรี่สมาร์ทโฟนหมดเร็วขึ้น
ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้สมาร์ทโฟนที่ใช้กล้องคุณสมบัติดีๆ ใช้เซ็นเซอร์ และเลนส์คุณภาพสูง มีโหมดการทำงานให้เลือกใช้หลากหลาย มีราคาถูกลง แม้แต่สมาร์ทโฟนที่มีราคาหลักพันก็ยังมีกล้องที่ดีๆ ให้เลือกใช้มากมายหลายรุ่น อย่างไรก็ตามมีข้อพึงระลึกไว้เสมอว่าการจะได้ภาพถ่ายที่ดี ไม่ได้เกิดจากอุปกรณ์เป็นหลัก ภาพที่ดี เกิดจากมุมมอง การคิดและรู้จักใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ การถ่ายภาพด้วยกล้องสมาร์ทโฟนก็เช่นเดียวกัน หากเราคิดและพัฒนามุมมองใหม่ๆ เรียนรู้ถึงความสามารถ และข้อจำกัดของอุปกรณ์ที่มีอยู่เป็นอย่างดี และออกไปถ่ายภาพบ่อยๆ สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้เราได้ภาพถ่ายที่ดีเช่นกันครับ
เรื่อง / ภาพ : สมศักดิ์ ทัศนเศรษฐ
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หรือสนใจดูเรื่องราวเกี่ยวกับ Smart Phone ที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/mirrorless-smart-phone/smart-phone-corner/