ระบบวัดแสงแบบ F-stop กับแบบ EV-step ต่างกันยังไง
ระบบวัดแสงแบบ F-stop จะเป็นระบบวัดแสงที่เราคุ้นเคยกันดี และใช้กันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ก็มีระบบวัดแสงอีกแบบที่อาจจะไม่คุ้นหูกันมากนัก บางคนอาจจะงงๆว่าเอาไปใช้งานอะไร แบบไหน สำหรับการถ่ายภาพที่ซีเรียสเรื่องของรูรับแสง หรือความเร็วชัตเตอร์ อาจจะเลือกใช้งานแบบ F-stop ซึ่งสามารถเลือกตั้งค่า รูรับแสง หรือความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการไว้ก่อน และตั้งอีกค่าตาม หรือถ้าหากว่าวัดค่าแสงจากเครื่องวัดแสง การหาค่ารูรับแสง เราจะต้องตั้งความไวแสงและความเร็วชัตเตอร์ไว้ก่อน
ตัวเลขค่า EV ของกล้อง Konica III ซึ่งจะล็อควงแหวนรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ไว้ด้วยกัน เวลาปรับก็แค่หมุนวงแหวนเดียว ทั้งความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสง จะถูกปรับให้สัมพันธ์กัน
การปรับค่าวัดแสงแบบ F-stop ของกล้องปัจจุบัน ก็เลือกปรับตามวเกลวัดแสงที่โชว์ โดยเลือกค่าใดค่าหนึ่ง (ตามรูปแบบของภาพที่ต้องการ) เช่น ปรับรูรับแสงไว้ก่อน จากนั้นก็ปรับความเร็วชัตเตอร์จนให้ค่าวัดแสงที่พอดี
ส่วนระบบวัดแสงแบบ EV-step ส่วนใหญ่จะใช้กับกล้องฟิล์มรุ่นเก่า และปรับค่าวัดแสงเป็นแบบแมนนวลทั้งหมด ซึ่งที่ตัวเลนส์จะมีสเกลตัวเลข EV ให้เราปรับตั้งค่า เราจะต้องใช้เครื่องวัดแสงในการหาค่าความเข้มแสง โดยตั้งความไวแสงไว้ก่อนเป็นอันดับแรก ว่าจะใช้ที่เท่าไหร่ จากนั้นกดปุ่มแสง หรือวัดค่าความเข้มแสง ซึ่งเครื่องวัดแสงจะแสดงเป็นตัวเลข EV เช่น EV9, EV10 หรือ EV11 เป็นต้น
เครื่องวัดแสงที่ออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลาย สามารถวัดแสงธรรมชาติด้วยค่า F-stop หรือ EV-step ตามรูปแบบการใช้งานได้อย่างสะดวก โดยเลือกปรับได้ที่ปุ่มที่ลูกศรสีแดงชี้
เมื่อได้ค่าวัดแสง EV แล้ว เราก็ปรับค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ที่ตัวเลนส์ ให้ตรงกับตัวเลข EV ที่วัดได้ ซึ่งการปรับตั้งจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น สมมุติว่าวัดแสงได้ EV12 เราสามารถปรับตั้งค่ารูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ไปที่เลขไหนก็ได้ แต่ให้ค่าการแสดงผลยังเป็น EV12 เช่นเดิม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าค่าแสง EV12 ได้ความเร็วชัตเตอร์ 1/125 วินาที รูรับแสง f/5.6 เราจะเปลี่ยนรูรับแสงเป็น f/2.8 เพื่อให้ฉากหลังเบลอมากขึ้น ตัวเลขค่าแสดงผลจะเปลี่ยนเป็น EV10 เราจะต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ค่า EV กลับมาเป็น EV12 ซึ่งจะได้ความเร็วชัตเตอร์เป็น 1/500 วินาที
การปรับค่าวัดแสงแบบ EV-step ของกล้อง Olympus 35-S ออกแบบให้ปรับได้อย่างอิสระ แยกกันระหว่างวงแหวนความเร็วชัตเตอร์ และวงแหวนรูรับแสง ช่วยให้เลือกใช้งานที่สองค่าได้อย่างอิสระมากขึ้น
จะเห็นว่า เป็นการเปลี่ยนโดยที่ยังคงพื้นฐานของค่าความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และความไวแสงที่จะต้องปรับให้สัมพันธ์กันโดยอัตโนมัติตามหลักการพื้นฐานการถ่ายรูปที่ได้เรียนมา สำหรับกล้องบางรุ่น สามารถปรับวงแหวนเดียว เพื่อเปลี่ยนค่า EV โดยกล้องจะปรับรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กันโดยไม่ต้องคอยปรับทีละวงแหวนให้เสียเวลา แต่กล้องทีต้องปรับเองทั้งสองค่า ก็สะดวกกับการชดเชยแสงได้ตามที่ต้องการได้มากกว่านั่นเอง
Leave feedback about this