สนุกกับความเร็วชัตเตอร์ Long Exposure
การใช้ความเร็วชัตเตอร์ในการสร้างสรรภาพแบบต่างๆ สามารถทำได้มากมาย โดย ความเร็วชัตเตอร์ คือหนึ่งในสามปัจจัยหลักของการถ่ายภาพ ที่คนชอบการถ่ายภาพจะต้องเรียนรู้ในเบื้องต้น ซึ่งความเร็วชัตเตอร์จะมีผลกับสิ่งต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวในเฟรมภาพ
ดังนั้นค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต่างกัน จึงทำให้ได้ภาพที่แตกต่างกันไปด้วยนั่นเอง การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงๆ ก็จะให้ภาพแบบหนึ่ง การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ก็เหมาะสำหรับการถ่ายภาพอีกแบบหนึ่ง หรือภาพแบบเดียวกัน แต่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ต่างกัน ก็จะให้อารมณ์ของภาพที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน
เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง จะสามารถหยุดจังหวะของสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวได้ เหมาะสำหรับ การถ่ายภาพแอ็คชั่น ต่างๆ หรือภาพกีฬา เป็นต้น และการใช้ความความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เหมาะสำหรับถ่ายภาพที่เน้นความรู้สึกที่มีการเคลื่อนไหว เพื่อแสดงถึงความมีชีวิตชีวา
ส่วนการเปิดชัตเตอร์นานๆ กว่านั้น หรือกว่า 1 วินาทีลงไป เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแบบไหน Fotoinfo.online มีคำแนะนำ พร้อมภาพตัวอย่างมาให้ชมครับ
การถ่ายภาพไฟกลางคืน
การถ่ายภาพไฟกลางคืน จะเน้นไปที่ไฟถนนทที่มีรถราวิ่งอยู่ตลอด เมื่อเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้ามากๆ หรือถ่ายภาพแบบ Long Exposure กล้องจะบันทึกไฟรถที่กำลังวิ่งอยู่ได้แบบเป็นเส้นยาวๆ ซึ่งช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้ภาพมากกว่าการถ่ายแค่ตึกรามบ้านช่องเพียงอย่างเดียว
การเลือกสถานที่ ก็ควรจะเป็นแหล่งชุมชน ที่มีรถใช้งานเยอะๆ เลือกเส้นถนนที่มีรูปทรง หรือมีเส้นทางที่สวยงาม และเลือกวันที่มีรถใช้งานค่อนข้างเยอะ รวมทั้งเลือกกดชัตเตอร์ในจังหวะที่รถวิ่ง ไม่ติดไฟแดง หรือการจราจรไม่ได้หนาแน่นมาก จะได้เส้นของไฟที่ลากยาวตามเวลาที่เปิดชัตเตอร์ค้างไว้
การถ่ายภาพน้ำตก
ในกรณีที่ต้องการสายน้ำพลิ้วไหวเป็นปุยนุ่น ถ้าการถ่ายน้ำตก เป็นช่วงแสงกลางวัน ซึ่งไม่สามารถลากสปีดยาวๆ ได้ จะต้องหาอุปกรณ์เสริม เช่น ฟิลเตอร์ C-PL หรือถ้าแสงจ้ามากๆ จะต้องใช้ฟิลเตอร์ ND เบอร์สูงๆ เช่น ND1000 ลดแสงไปได้ 10 stop เป็นต้น การมองวิวไฟน์เดอร์หรือจอมอนิเตอร์ผ่าน ND1000 อาจจะดูยากหน่อย ต้องใช้วิธีปรับโฟกัส และตั้งค่าแสงเอาไว้ก่อน (อย่าลืมเผื่อตอนใส่ฟิลเตอร์ด้วย) จากนั้นก็ค่อยใส่ฟิลเตอร์เข้าไปก่อนกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ
การถ่ายภาพดาวหมุน
เป็นการลากสปีดยาวๆ เพื่อให้ดวงดาวที่เคลื่อนที่อยู่ตลอด (จริงๆ ต้องบอกว่าโลกหมุนอยู่ตลอด) ยืดเป็นเส้นยาวๆ วิธีนี้จะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม เพราะอาจจะต้องตั้งกล้องนานเป็นชั่วโมง ดังนั้นแบตเตอรี่จะต้องชาร์จเต็มไว้ก่อนถ่ายภาพ
ในยุคกล้องดิจิตอล การลากสปีดยาวๆ อาจจะเป็นการทรมานเซ็นเซอร์ ซึ่งจะมีความร้อนสะสม รวมทั้งทำให้ภาพมี noise เยอะตามไปด้วย เลยใช้วิธีถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำมาก เช่น 30 วินาทีต่อภาพ แต่ถ่ายหลายๆ ภาพ อาจจะเป็นหลักร้อยภาพ จากนั้นก็ค่อยเอาไฟล์ภาพไปรวมกันในโปรแกรมตกแต่งภาพ ซึ่งจะได้ภาพดวงดาวหมุนเช่นเดียวกัน แต่จะสังเกตได้ว่า เส้นของดวงดาวจะเป็นเส้นสั้นๆ มาต่อๆ กัน จนเป็นเส้นยาว ต่างจากการลากสปีดยาวๆ จริงๆ ซึ่งก็จะได้เส้นของดวงดาวเป็นเส้นยาวด้วยเช่นเดียวกัน
ถ้าหากว่า ต้องการดาวหมุนเป็นวงกลม จะต้องหันกล้องไปทางด้านทิศเหนือ ถ้าไม่มีเข็มทิศ ก็อาจจะเล็งดาวเหนือเป็นหลัก หรือถ้าหากสภาพพื้นที่ไม่อำนวย หรือมุมไม่สวย ก็อาจจะหันไปทิศใต้แทนก็ได้
การถ่ายภาพพลุ
ถ่ายภาพพลุ เป็นการถ่ายแบบ Long Exposure ที่ช่างภาพจะกำหนดระยะเวลาเปิดชัตเตอร์ตามการจุดของพลุ อาจจะมีเปิดชัตเตอร์สั้นบ้าง หรือยาวๆ บ้าง ขึ้นอยู่กับจำนวนพลุที่จุดต่อเนื่อง ตามความสว่างของพลุแต่ละลูก หรือแต่ละชุด ซึ่งจะใช้เวลาสั้นยาวไม่เท่ากัน พลุชุดเดียวกัน ตั้งกล้องถ่ายภาพอยู่ข้างๆ กัน อาจจะได้รูปพลุที่แตกต่างกันก็เป็นได้
การถ่ายพลุ ตามปกติ จะต้องเลือกใช้ชัตเตอร์ B ซึ่งควบคุมการเปิดและปิดม่านชัตเตอร์ได้ตามที่ต้องการ และต้องตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง รวมทั้งใช้สายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมทคอนโทรล หรือจะใช้แอพลิเคชั่นของกล้องแบรนด์นั้นๆ ควบคุมการลั่นชัตเตอร์ ก็ได้ จะช่วยให้ได้ภาพที่คมชัด เส้นสายของพลุเป็นเส้นยาวสวยงาม แต่รีโมทและแอพลิเคชั่น กล้อง อาจจะมีความ lag ของจังหวะการกดอยู่บ้าง ต้องลองใช้ให้ชินก่อนครับ
การถ่ายภาพแบบ Light Painting และเหวี่ยงไฟ Steel Wool
การถ่ายเหวี่ยงไฟ หรือตั้งกล้องถ่ายภาพแบบ Light Painting จะคล้ายๆ กับการถ่ายภาพพลุ โดยช่างภาพจะตั้งชัตเตอร์ไว้ที B เมื่อคนหวี่ยงไฟพร้อมแล้ว ก็กดชัตเตอร์ค้างไว้ จนไฟถูกเหวี่ยงและดับไปจนหมด ก็ปลดล็อกชัตเตอร์ B ปิดม่านชัตเตอร์ ส่วนการถ่าย Light Painting ก็ล็อกชัตเตอร์ B ค้างไว้ จนคนวาดไฟ วาดรูปร่าง หรือเขียนตัวอักษรครบหมดแล้ว ก็ปิดม่านชัตเตอร์เช่นเดียวกัน
การถ่ายภาพน้ำพุ
น้ำพุที่จัดแสดงในบางสถานที่ จะมีเพลงประกอบ ซึ่งเราจะเรียกภาาาชาวบ้านว่าน้ำพุเต้นระบำ ซึ่งการถ่ายน้ำพุแบบนี้ จะคล้ายๆ กับการถ่ายภาพน้ำตก เพียงแต่ข้อแตกต่างของน้ำพุเต้นระบำนี้ มักจะแสดงตอนกลางคืน หรือตอนหัวค่ำ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีไฟประดับด้วย แต่ก็ไม่ได้สว่างมากมาย ส่วนมากจะเป็นไฟย้อมสีสันต่างๆ ให้ดูสวยงาม ถือเป็นการถ่ายแบบ Long Exposure อีกแบบหนึ่งที่ต้องใช้ขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์ด้วย เพื่อให้เกิดควาามสวยงามและคมชัด
การตั้งค่ากล้อง จะต้องหรี่รูรับแสงให้แคบลง เพื่อคุมระยะชัดลึกด้วยส่วนหนึ่ง และเพื่อให้ลากสปีดชัตเตอร์ได้นานขึ้น การปล่อยน้ำพุในแต่ละส่วนอาจจะไม่เท่ากัน หรือปล่อยทีละด้าน ดังนั้น ถ้าสปีดชัตเตอร์ไม่นานมากพอ ก็อาจจะได้น้ำพุแค่เสี้ยวเดียว ไม่เต็มการแสดงทั้งหมดนั่นเอง
การถ่ายภาพที่ต้องการให้สิ่งเคลื่อนไหวหายไป
บางครั้ง การถ่ายภาพอาคารสถานที่ต่างๆ อาจจะมีคนเดินไปมา อาจจะมีรถราวิ่งผ่านเข้ามา ซึ่งถ้าหากว่าไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้นอยู่ในเฟรมภาพจริงๆ การตั้งกล้องถ่ายภาพแบบ Long Exposure จะช่วยขจัดสิ่งเหล่านั้นให้หายไปได้ ซึ่งตามคุณสมบัติของความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ จะไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของสิ่งใดก็ตามที่กำลังเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนที่อยู่ในเฟรมภาพได้ ถ้าเปิดชัตเตอร์ได้ไม่นานมาก อาจจะได้เป็นเงาลางๆ แต่ถ้าเปิดชัตเตอร์ได้นานๆ เช่น 30 วินาที หรือ 1 นาที สิ่งเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนที่อยู่ในเฟรมภาพจะหายไป ซึ่งจริงๆ ก็คือ ถ้าสิ่งนั้นยังอยู่ในเฟรมภาพ ก็จะเบลอจนไม่เหลือรูปร่าง หรือรูปทรงให้เห็น วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาในการขจัดสิ่งรกๆ ในเฟรมภาพให้หายไปได้นั่นเอง
ส่วนการเปิดชัตเตอร์นานๆ แบบนั้น ถ้าเป็นช่วงกลางวัน จะต้องใช้ฟิลเตอร์ ND เบอร์เข้มๆ เช่น ND1000 หรือ ND2000 มาช่วยลดแสง และแน่นอนว่าจะต้องตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง รวมทั้งใช้สายลั่นชัตเตอร์ด้วย เพื่อให้ได้ภาพคมชัดครับ
นี่เป็นการสร้างสรรค์ภาพแบบต่างๆ ด้วยการเปิดชัตเตอร์นานๆ แบบ Long Exposure เมื่อรู้วิธีแล้ว ก็นำไปลองฝึกฝนให้ชำนาญ แล้วจะสนุกกับการถ่ายภาพขึ้นอีกเยอะเลย รวมทั้ง เมื่อสร้างสรรค์ภาพ Long Exposure แล้วใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริมอย่างอื่น เช่น แฟลชเฉพาะกิจ ก็ยิ่งจะสร้างสรรค์ภาพพิเศษๆ ได้อีกมากมายล่ะครับ
..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ…
Leave feedback about this