สร้างสรรค์ภาพที่หลากหลายจากความเร็วชัตเตอร์
สำหรับการเรียนถ่ายภาพแบบจริงๆ จังๆ นั้น จำเป็นที่จะต้องรู้ค่าพื้นฐาน ที่จะต้องใช้สำหรับการปรับตั้งกล้อง 3 อย่างด้วยกัน นั่นคือ ความเร็วชัตเตอร์, รูรับแสง และความไวแสง เพราะในการถ่ายภาพนั้น ไม่ว่าจะใช้กล้องแบบไหน ใช้เลนส์ตัวไหน หรือใช้อุปกรณ์เสริมอะไรบ้าง ก็ยังคงหนีไม่พ้นจากการที่จะต้องตั้งค่าทั้ง 3 ค่านี้
การเรียนรู้สเตปถัดไปคือ ความสัมพันธ์กันของค่าทั้งสาม และผลที่เกิดขึ้นจากการตั้งค่าที่แตกต่างกันไปของค่าทั้ง 3 นั้น เพื่อจะได้นำไปใช้งานได้อย่างถูกต้อง หรือเพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการนั่นแหละครับ โดยสำหรับครั้งนี้ จะเป็นการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต่างกัน ซึ่งจะได้ภาพที่แตกต่างกันไปด้วย มาดูกันว่า การตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่แตกต่างกัน นั้น จะให้ภาพแบบไหนกันบ้าง หรือถ้าเราต้องการภาพแบบนี้ เราจะต้องตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่กันบ้างนั่นเอง
ความเร็วชัตเตอร์เป็นค่าที่ใช้ควบคุมแสงที่จะเข้าไปยังเซ็นเซอร์ภาพ ซึ่งจะทำงานสัมพันธ์กับรูรับแสง และความไวแสง ความเร็วชัตเตอร์จะมีผลโดยตรงกับสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวในภาพ ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์ที่แตกต่างกันจึงส่งผลให้ได้ภาพที่มีลักษณะที่ต่างกันไปด้วย
ค่าความเร็วชัตเตอร์จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ นั่นคือ ค่ากลางๆ จะอยู่ที่ 1/60 วินาที อ้างอิงจากเลนส์มาตรฐานของกล้องถ่ายภาพในยุคฟิล์มที่มีระยะ 50 มม. ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สูงกว่า 1/60 วินาที อาทิ 1/125, 1/250 หรือ 1/1000 วินาที จะเรียกเป็นความเร็วชัตเตอร์สูง ค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่า 1/60 วินาที อาทิ 1/30, 1/15 หรือ 1 วินาที จะเรียกว่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
ภาพกีฬา หรือแอ๊คชั่นต่างๆ
ค่าความเร็วชัตเตอร์สูง จะเหมาะสำหรับภาพกีฬา หรือแอ๊คชั่นต่างๆ เป็นการถ่ายภาพกีฬา หรือภาพที่ต้อง การนำเสนอแอ๊คชั่น หรือกิริยาท่าทางต่างๆ ของซับเจคต์ เป็นการหยุดจังหวะของตัวแบบให้ค้างอยู่แบบนั้น ภาพแบบนี้ จำเป็นที่จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เช่น 1/250 วินาที, 1/500 วินาที, 1/1000 วินาที เป็นต้น ขึ้นอยู่กับซับเจคต์ที่ถ่ายภาพ ว่ามีการเคลื่อนที่เร็วมากน้อยแค่ไหนด้วยครับ รวมทั้งต้องตั้งระบบโฟกัสและระบบถ่ายภาพเป็นแบบต่อเนื่องด้วย
ภาพการแสดงบนเวที
อาจจะเป็นการแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ ซึ่งบางครั้งนักร้อง หรือนักดนตรีจะมีอารมณ์ร่วม โดยเฉพาะประเภท Rock หรือ Heavy Metal ที่มักจะมีการเคลื่อนที่ หรือเคลื่อนไหวบ่อยๆ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง เพื่อหยุดจังหวะของนักร้อง และนักดนตรี กรณีนี้ อาจจะต้องปรับความไวแสงให้สูงขึ้น ถ้าหากว่าสภาพแสงน้อยเกินไป หรือได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำเกินกว่าที่จะหยุดการเคลื่อนไหวได้
ภาพนก, สัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่า
เป็นอีกรูปแบบภาพที่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของตัวนกและสัตว์ต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด มีรายละเอียดและสีสันของตัวนกครบถ้วน บางครั้งอาจจะเป็นการถ่ายภาพนกที่กำลังบิน หรือโฉบจับปลา ซึ่งเป็นภาพที่ต้องการความคมชัดอย่างแน่นอน ดังนั้นจะต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สูงๆ เพื่อหยุดจังหวะของตัวนกนั่นเอง
ภาพแพนกล้อง
จะใช้สำหรับการถ่ายภาพกีฬา หรือถ่ายภาพซับเจคต์ที่มีการเคลื่อนที่ด้วยก็ได้ และใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าค่าที่ใช้หยุดการเคลื่อนไหว บางครั้งอาจจะต่ำมากๆ ก็เป็นได้ เช่น 1/125 วินาที ถ้าเป็นการถ่ายภาพกีฬามอเตอร์สปอร์ต หรือ 1/25 วินาที ถ้าเป็นการถ่ายภาพคนปั่นจักรยาน เป็นต้น ซึ่งค่าที่ใช้จะขึ้นอยู่กับความเร็วในการเคลื่อนที่ของซับเจคต์ด้วยเช่นกัน ภาพแบบนี้ จะให้อารมณ์ของภาพ ที่รู้สึกว่ามีการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว ดูมีชีวิตมากกว่าภาพแบบ Stop Action ความคมชัดของภาพจะขึ้นอยู่กับจังหวะในการหมุนกล้อง ให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของซับเจคต์ ประมาณว่า เราใช้ไม้เซลฟี่ติดกล้อง ไม่ว่าเราจะหมุนกล้องไปด้านใหน หน้ากล้องก็จะส่องมาที่ตัวเราตลอดเวลา แกนไม้เซลฟี่ก็จะเหมือนแกนสำหรับหมุนกล้องของเรานั่นแหละครับ เวลาหมุนกล้องก็ให้เลนส์ชี้ตรงไปยังซับเจคต์เป็นแนวเดียวกัน ไม่หมุนเร็วกว่า หรือช้ากว่าซับเจคต์ที่เคลื่อนที่ครับ
ภาพน้ำตก
โดยส่วนใหญ่แล้ว การไปถ่ายภาพน้ำตก ก็มักจะต้องการสายน้ำตกที่ดูอ่อนนุ่ม พลิ้วไหว ซึ่งจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เช่น 1 วินาที หรือมากกว่า ยิ่งใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากๆ สายน้ำก็ยิ่งจะนุ่มนวลชวนฝันมากขึ้น แต่สภาพแสงก็อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่่ำๆ ดังนั้นจึงต้องมีอุปกรณ์เสริมมาช่วย อย่างฟิลเตอร์ C-PL หรือฟิลเตอร์ ND สำหรับลดแสงที่จะเข้าไปในกล้องครับ และเมื่อความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ก็ต้องใช้งานร่วมกับขาตั้งกล้อง เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดนั่นเอง
ภาพพลุ
การถ่ายภาพพลุ นั้น เป็นการบันทึกโดยการตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับการแตกกระจายของพลุ โดยปกติจะตั้งความเป็นชัตเตอร์ B เพราะสามารถควบคุมการเปิดและปิดม่านชัตเตอร์ได้ตามที่ต้องการ และขึ้นอยู่กับจำนวนพลุที่ถูกยิงขึ้นมาด้วย โดยต้องใช้รีโมท หรือสายลั่นชัตเตอร์ และตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องเพื่อความคมชัดของภาพ การบันทึกภาพจะเริ่มกดชัตเตอร์ค้างไว้ตั้งแต่พลุถูกยิงขึ้นมาเป็นสายยาวๆ และแตกตัว จนเส้นสายที่พุ่งกระจายของพลุหายไป ก็ปล่อยปุ่มชัตเตอร์ เป็นอันจบหนึ่งภาพครับ มือโปรหลายๆ ท่านอาจจะใช้ผ้าดำคลุมปิดหน้าเลนส์ เพื่อบันทึกพลุซ้อนๆ กันหลายๆ ลูก โดยไม่ให้แสงโอเวอร์ หรือภาพสว่างเกินไปนั่นเอง การถ่ายภาพพลุปกติจะใช้เวลาที่กดชัตเตอร์ค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที รูรับแสง f/8-f/11 ครับ
ภาพไฟถนนเป็นเส้นยาว
ภาพแบบนี้ หลายๆ คนอาจจะเรียกว่าเป็นการถ่ายภาพแบบ Long Exposure ซึ่งจริงๆ แล้ว การเปิดชัตเตอร์ค้างไว้เป็นเวลานาน ก็เป็นภาพ Long Exposure เช่นเดียวกัน ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ได้ตั้งแต่ 1 วินาทีเป็นต้นไป รูรับแสง f/8-f/11 เพื่อให้ความชัดทั่วทั้งภาพ รวมทั้งให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่นานขึ้นได้ เพราะถ้าหากความเร็วชัตเตอร์สั้นเกินไป เส้นสายของไฟรถจะสั้นๆ ไปด้วย และต้องตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง หรือวางบนวัตถุที่อยู่นิ่งๆ จะช่วยให้ได้ภาพที่คมชัดครับ อ้อ!!..อย่าลืมเลือกกดชัตเตอร์ตอนที่รถวิ่งนะครับ
วาดภาพด้วยแสงและการเหวี่ยงไฟ
เป็นภาพแบบ Long Exposure ที่ต้องใช้ความเร้วชัตเตอร์ต่ำ โดยการเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ตามรูปแบบของการวาด หรือการเหวี่ยงไฟให้เป็นรูปทรงตามที่ต้องการ โดยอาจจะลองวาดดูก่อนว่าใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ จากนั้นก็ตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้พอดีๆ กับระยะเวลาที่วาด หรือนานกว่าเล็กน้อย และควรจะเช็กสภาพแสงในบริเวณที่จะวาดด้วยว่าสว่างเกินไปหรือไม่ โดยอาจจะหาพื้นที่ที่มืดๆ เพื่อให้แสงไฟที่วาดโดดเด่นขึ้น หรือวัดแสงพื้นที่นั้นๆ ให้พอดีด้วย ถ้าหากว่าต้องการบรรยากาศโดยรอบด้วย โดยให้คงค่าความเร็วชัตเตอร์เท่าเดิม และปรับรูรับแสงแทนครับ
ภาพดาวหมุน
ภาพดาวหมุน ถ่ายได้ทั้งการเห็นเส้นสายของดวงดาวเพียงบางส่วน หรือดาวหมุนเป็นวงกลม ซึ่งกรณีนี้ จะต้องหันกล้องไปทิศเหนือเท่านั้น โดยปกติการถ่ายภาพแบบนี้ จะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าการถ่ายภาพ Long Exposure แบบอื่นๆ เช่น ครึ่งชั่วโมง, หนึ่งชั่วโมง หรืออาจจะมากกว่า แต่ปัจจุบันที่เทคโนโลยีของโปรแกรมตกแต่งภาพได้รับการพัฒนามากขึ้น หลายๆ คนจึงเลือกใช้วิธีการถ่ายภาพด้วยระยะเวลาที่สั้นลง เช่น 5 วินาที หรือ 10 วินาทีต่อภาพ และถ่ายมาเป็นร้อยๆ ภาพ จากนั้นก็นำภาพทั้งหมดมารวมในโปรแกรมตกแต่งภาพ เพื่อให้เส้นสายของดวงดาวในแต่ละภาพ เรียงร้อยต่อกันจนเป็นวงกลม การถ่ายภาพแบบนี้ จะลดปัญหาเรื่องความร้อนของเซ็นเซอร์ภาพ เมื่อต้องเปิดรับแสงนานๆ รวมทั้งลดปัญหาเรื่องแบตเตอรี่หมดกลางคันด้วย แต่การโปรเซสภาพ จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีสเปคหรือความเร็วและแรมที่มากกว่าปกติด้วยครับ
ควบคุมฉากหลัง เมื่อถ่ายภาพด้วยแฟลช
สำหรับการถ่ายภาพด้วยแฟลช แสงแฟลชที่ถูกปล่อยออกมาจะเปลี่ยนแปลงไปจากการเปลี่ยนรูรับแสง หรือความไวแสงเท่านั้น แต่การเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์นั้น จะไม่มีผลโดยตรงกับแสงแฟลช แต่จะมีผลโดยตรงกับแสงรอบข้าง หรือ Ambience โดยแสง Ambience จะลดลง ตามความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น หรือภาพจะมืดลง และถ้าไม่เปิดแฟลช ซับเจคต์ก็จะมืดไปด้วย และแสง Ambience จะสว่างขึ้น เมื่อความเร็วชัตเตอร์ต่ำลง ดังนั้นเมื่อถ่ายภาพด้วยแฟลช เราจึงสามารถเลือกสร้างสรรค์บรรยากาศของฉากหลังตามที่ต้องการได้ โดยการเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้น เมื่อต้องการฉากหลังเข้ม หรือดำทึบ และลดความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำลง เมื่อต้องการรายละเอียดของฉากหลัง เพื่อเสริมความสมบูรณ์ของภาพบางรูปแบบนั่นเอง
ภาพ Slow Sync
เป็นการถ่ายภาพด้วยแฟลช โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ซึ่งความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ จะไม่สามารถหยุดซับเจคต์ที่มีการเคลื่อนไหวได้ ดังนั้นจึงจะได้ภาพที่ไหวเบลอเป็นเงาๆ นั่นเอง แต่การเปิดแฟลช จะทำให้ซับเจคต์มีความคมชัดจากแสงแฟลชที่แว๊บออกมา เมื่ออยู่ในภาพเดียวกัน จึงได้ภาพที่มีทั้งภาพที่คมชัดกับเงาเบลอๆ ช่วยสร้างอารมณ์ภาพที่รู้สึกถึงความมีชีวิต มีการเคลื่อนไหวด้วย สำหรับระบบแฟลช อาจจะเลือกได้ทั้งแฟลชสัมพันธ์กับม่านชัตเตอร์ชุดแรก คือแสงแฟลชปล่อยออกมาทันทีที่กดชัตเตอร์ และแฟลชสัมพันธ์กับม่านชัตเตอร์ชุดที่สอง แฟลชจะยังไม่ปล่อยแสงจริงออกมาในตอนกดชัตเตอร์ แต่จะปล่อยออกมา เมื่อม่านชัตเตอร์จะปิดลง รวมทั้งแบบ Multi-flash ที่แฟลชจะปล่อยแสงหลายๆ ครั้ง ตามที่ตั้งไว้ ในช่วงที่ม่านชัตเตอร์เปิดอยู่นั่นเองครับ
โหมด Slow Sync แบบง่ายๆ ในกล้องหลายๆ รุ่นคือ โหมด Night Portrait หรือโหมดออโต้ที่เป็นภาพคนกับแสงดาวนั่นแหละครับ ซึ่งจะช่วยให้ถ่ายภาพบุคคลด้วยแฟลชกับบรรยากาศแสงโดยรอบได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับการปรับตั้งในหัวข้อที่ 9 นั่นเองครับ
การปรับตั้งต่างๆ นี้ เป็นการเลือกควบคุมโดยใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์เป็นหลัก และภาพที่เกิดขึ้นนั้น จะเกิดจากความเร็วชัตเตอร์ที่แตกต่างกัน บางครั้งอาจจะใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริม เช่น แฟลช ซึ่งผู้ใช้จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การใช้งานอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการนั่นเองครับ