เลนส์มือหมุน จะหมุนยังไงให้แม่น
เลนส์มือหมุน หรือเลนส์ Manual Focus เป็นเลนส์ที่ใช้งานมาในยุคกล้องฟิล์มและได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มช่างภาพที่ใช้งานกล้องดิจิตอล โดยเฉพาะในยุคของกล้อง Mirrorless และต้องการปรับโฟกัสด้วยตัวเองแทนระบบโฟกัสอัตโนมัติ รวมทั้งมีราคาที่ไม่แพงและเลือกใช้ได้หลากหลายขนาด ซึ่งเป็นการย้อนกลับไปสู่ฟีลลิ่งของการถ่ายภาพแบบกล้องฟิล์มได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ เลนส์มือหมุนแต่ละตัว ยังมีเอกลักษณ์ รวมทั้งโบเก้ที่ดูแปลกตา สามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่สวยงามได้หลายรูปแบบเช่นกัน
การใช้งานเลนส์มือหมุน ส่วนใหญ่จะต้องใช้กับอะแดปเตอร์ ถ้าใช้กับกล้อง Mirrorless หรือกับกล้องต่างค่าย ซึ่งก็มีเทคนิคที่ต้องอาศัยการฝึกฝน เพื่อให้สามารถหมุนโฟกัสได้อย่างแม่นยำ ซึ่ง Fotoinfo.online ได้รวบรวมเคล็ดลับ รวมทั้งการเลือกใช้ฟีเจอร์พิเศษของกล้องมาช่วยในการหมุนเลนส์มือหมุนให้แม่นยำด้วย
รู้จักระยะโฟกัส หรือ Focus Distance
การเข้าใจระยะโฟกัสของเลนส์มือหมุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อซื้อเลนส์มือหมุนมาซักตัว จะต้องรู้ว่าเลนส์ตัวนั้น มีระยะโฟกัสใกล้สุดเท่าไหร่ หมุนโฟกัสจากระยะใกล้สุดไปที่อินฟินิตี้ จะต้องหมุนวงแหวนโฟกัสไปมากแค่ไหนของกระบอกเลนส์ เช่น ¼ รอบ หรือครึ่งรอบ เป็นต้น
บนกระบอกเลนส์มือหมุนจะมีตัวเลขบอกระยะโฟกัส ถ้าหากว่าต้องการหมุนโฟกัสให้รวดเร็ว จะต้องประเมินระยะโฟกัสไว้ก่อน เช่น 0.5m, 1m, 3m, หรือ ∞ (อินฟินิตี้) และถ้าหากว่าใช้เลนส์มือหมุนหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อ ก็จะมีทิศทางการหมุนที่อาจจะเหมือน หรือแตกต่างกัน ก็ต้องจำให้ได้ว่าเลนส์ตัวนั้นหมุนโฟกัสตามเข็ม หรือทวนเข็มนาฬิกา จะช่วยให้ใช้งานเลนส์มือหมุนได้รวดเร็วขึ้น
มองภาพผ่านช่องมองภาพ หรือ Viewfinder (ถ้าเป็นไปได้)
การมองผ่านช่องมองภาพ หรือ Viewfinder จะช่วยลดการสะท้อนจากแสงรอบด้านที่เข้ามารบกวนการมอง ช่วยให้มองภาพได้ชัดเจน และหมุนโฟกัสได้แม่นยำขึ้น แต่ถ้าเป็นกล้องที่ไม่มีช่องมองภาพ ก็จะต้องใช้ความละเอียดและพิถีพิถันที่มากขึ้น ในการมองภาพผ่านจอมอนิเตอร์ อาจจะทำให้การหมุนโฟกัสช้าลง รวมทั้งมีการสะท้อนแสงที่จอมอนิเตอร์ ทำให้รบกวนการมองด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การมองภาพผ่านจอมอนิเตอร์ ช่างภาพจะต้องยื่นแขนออกไปด้านหน้า เพื่อให้มองจอมอนิเตอร์ได้ชัด อาจจะทำให้เกิดการสั่นไหวของกล้องได้ เพราะกล้องบางรุ่น จะมีระบบป้องกันการสั่นไหวที่ตัวเลนส์ พอใช้เลนส์มือหมุน ระบบป้องกันการสั่นไหวจะใช้งานไม่ได้ ดังนั้น การมองภาพผ่านช่องมองภาพ จะช่วยให้ถือกล้องได้แนบชิดลำตัว ซึ่งช่วยลดการสั่นไหวได้ในระดับหนึ่งด้วยนั่นเอง
เปิดฟังก์ชั่น Peaking
สำหรับกล้อง Mirrorless จะมีฟังก์ชั่น Peaking มาให้ใช้งาน โดยจะแสดงแถบสีวาวขึ้นมาในจุดที่โฟกัส ซึ่งแถบสีนี้จะกว้างมากขึ้น เมื่อใช้รูรับแสงแคบลง ให้ดูได้ง่ายๆ ว่าระยะชัดครอบคลุมไปถึงตรงไหน นอกจากนี้ ยังเลือกสีของแถบสีได้ตามลักษณะและโทนสีของการใช้งาน รวมทั้งเลือกระดับของความเข้มได้ 3 ระดับ
แถบสีแดงๆ ที่ดวงตาของตุ๊กตาคือแถบ Peaking ที่วาวขึ้นมาให้เห็นได้ง่ายๆ ว่าเราหมุนโฟกัสเข้าในจุดที่ต้องการหรือยัง
สำหรับกล้อง DSLR ที่ไม่มีฟังก์ชั่นนี้ ก็อาจจะเลือกการยืนยันโฟกัสแทน ซึ่งต้องเลือกอะแดปเตอร์ที่มีขั้วไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นอะแดปเตอร์ที่ไม่มีขั้วไฟฟ้า จะต้องใช้การฝึกฝนให้ชำนาญครับ เพราะโฟกัสซิ่งสกรีนของกล้องยุคใหม่ จะแตกต่างจากล้องยุคฟิล์มพอสมควร
เปิดฟังก์ชั่นซูมขยายภาพ
เป็นอีกหนึ่งในฟังก์ชั่น ที่ช่วยให้การหมุนโฟกัสสะดวกมากขึ้น การซูมขยายพื้นที่โฟกัส จะช่วยให้เราดูจุดที่ต้องการโฟกัสให้ชัดเจนมากขึ้น โดยปกติ ผมจะใช้งานร่วมกับฟังก์ชั่น Peaking ซึ่งจะช่วยให้การหมุนโฟกัสแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้งานที่ต้องเปิดรูรับแสงกว้างๆ
เลนส์มือหมุน นิยมนำมาใช้งานกับกล้อง Mirrorless โดยการต่อผ่านอะแดปเตอร์ ซึ่งสามารถใช้งานกับกล้อง Mirrorless ได้ทุกยี่ห้อ และกล้องรุ่นต่างๆ ก็จะมีฟังก์ชั่นช่วยในการโฟกัส ทำให้ผู้ใช้งานสะดวกกับการหมุนโฟกัสมากขึ้น
ใช้แสงส่องสว่างช่วยโฟกัส
การถ่ายภาพด้วยเลนส์มือหมุนจะมีความยากในการใช้งานในที่แสงน้อย ยิ่งเป็นเลนส์ที่มีเอฟไม่กว้างมาก จะดูโฟกัสค่อนข้างยากทีเดียว ดังนั้น อาจจะต้องใช้ไฟ LED, ไฟฉาย หรือไฟฉายจากกล้องมือถือมาช่วยส่องไปยังตัวแบบ ให้มีความสว่างขึ้น ให้มีโทน มีคอนทราสต์เพิ่มขึ้น จะช่วยให้โฟกัสได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
คุมเรื่อง Depth of Field (DOF)
การหรี่รูรับแสงให้แคบลง จะเป็นการเพิ่ม Depth of Field หรือเพิ่ม ระยะชัดลึก ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การหมุนโฟกัสง่ายขึ้นตามไปด้วย บางครั้งอาจจะไม่เข้าจุดเป๊ะๆ แต่เอฟเฟคต์ของรูรับแสง ก็ช่วยคลุมระยะชัดให้ได้ตามที่ต้องการ ส่วนถ้าเป็นภาพที่ต้องการชัดตื้น หรือใช้เลนส์มือหมุนสำหรับถ่ายภาพบุคคล ซึ่งต้องใช้รูรับแสงกว้างๆ เช่น f/1.2, f/1.4 หรือ f/1.8 จะต้องใช้ฟังก์ชั่นตัวช่วยข้างต้นมาช่วย และต้องใช้ความพิถีพิถันเพิ่มขึ้น เพื่อให้การหมุนโฟกัสเข้าเป้าตามที่ต้องการ
จับความรู้สึกและสัมผัสในการหมุน
สำหรับผู้ที่ใช้ กล้องฟิล์ม ซึ่งส่วนใหญ่โฟกัสซิ่งสกรีนจะเป็นแบบ Split Image ตรงกลาง โดยเมื่อมองเข้าไปยังวิวไฟน์เดอร์ ในขณะที่ยังไม่โฟกัส จะเห็นภาพถูกแยกออกจากกันเป็นสองส่วน และเมื่อหมุนโฟกัสเข้าเป้าแล้ว ภาพจะซ้อนทับกันเป็นภาพเดียว ซึ่งจะมีความยากในระดับหนึ่ง แต่เมื่อลองฝึกหมุน ลองจับความรู้สึกในการหมุน ก็จะหมุนโฟกัสได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
ถึงจะเป็นเลนส์เม้าท์ M42 เหมือนกัน แต่ก็เป็นคนละแบรนด์ ซึ่งออกแบบการปรับหมุนโฟกัสไม่เหมือนกัน ช่างภาพจึงต้องใช้การฝึกฝนให้คุ้นชินกับเลนส์ที่นำมาใช้งานให้ดี เพืื่อกาารปรับหมุนที่รวดเร็วและแม่นยำ
สรุป
การใช้งานเลนส์มือหมุนให้แม่นยำนั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ถ้ามีการฝึกฝนและเข้าใจถึงเทคนิคต่างๆ รวมไปถึงการเลือกใช้ฟังก์ชั่น หรือตัวช่วยที่เหมาะสม เช่น การซูมขยายภาพ หรือการเปิด Peaking จะช่วยให้การหมุนปรับโฟกัสทำได้ดียิ่งขึ้น อย่าลืมว่า การฝึกฝนบ่อยๆ จะช่วยสามารถหมุนโฟกัสเร็วและอย่างแม่นยำได้ในที่สุดครับ
..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ…
Leave feedback about this