BASIC PHOTO TECHNIQUES

เลนส์ Ultra Wide ถ่ายง่ายกว่าที่คิด

เลนส์ Ultra Wide ถ่ายง่ายกว่าที่คิด

เลนส์ Ultra Wide คือ เลนส์มุมกว้าง พิเศษ ซึ่งผมจะขอรวมไปถึงเลนส์ Fisheye ด้วยเลย กว้างพิเศษนี่ประมาณไหน ก็ตั้งแต่ 12 มม. ลงมาล่ะครับ 14 มม. ยังจัดว่าเป็นมุมกว้างปกติอยู่ แต่ 12 มม., 11 มม., 10 มม. นี่จัดเป็นมุมกว้างพิเศษ นี่คือเทียบกับกล้อง Fullframe นะครับ APS-C กับ Micro Four-Thirds อาจจะมีตัวเลขน้อยลงไปอีก เช่น 8 มม., 7.5 มม.. หรือ 7 มม. ซึ่งระยะจริง ก็ต้องคูณกับ crop factor อีกทีครับ ส่วนเลนส์ Fisheye ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของผู้ผลิต ซึ่งมีตั้งแต่ 15 มม. ลงมา

โครงสร้างและการออกแบบเลนส์ที่ดี จะช่วยลดอาการ Distortion ได้ เหมาะสำหรับถ่ายภาพแนวสถาปัตยกรรมเป็นอย่างดี

เลนส์ Ultra Wide รวมถึง Fisheye 

จะเป็นเลนส์ที่ค่อนข้างใช้เฉพาะกิจ เนื่องจากมีมุมรับภาพกว้างมากๆ และมีความบิดเบี้ยว หรือ Distortion ของภาพมากด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องใช้งานด้วยความระมัดระวัง จึงจะให้ภาพที่ถ่ายมาแล้ว ดูน่าสนใจ ไม่ใช่มีความเอียงของเส้นขอบ มีความเบี้ยวแบบดูแล้วไม่เหมือนได้ตั้งใจถ่ายแบบนั้น แต่เกิดความผิดพลาดในการใช้งาน และที่สำคัญ จะต้องมีจุดเด่นในภาพ ที่คนดูภาพแล้ว รู้ว่าเราจะสื่อถึงอะไร ไม่ใช่ดูภาพแล้ว เกิดคำถามว่า ถ่ายอะไรมา..

ใช้ถ่ายภาพแนวสตรีทก็ยังได้ กะระยะโฟกัสประมาณ 1-1.5 เมตร คุมเอฟไว้ที่ f/8 ที่เหลือก็แค่วางองค์ประกอบแล้วกดชัตเตอร์ได้เลย

มีลูกศิษย์ที่เคยมาเรียนถ่ายภาพด้วย ซื้อเลนส์ Fisheyeมาใช้ เป็นของกล้อง APS-C ระยะ 10.5 มม. แต่ไม่เคยหยิบออกมาใช้ถ่ายภาพ บอกว่าเคยลองแค่ครั้งเดียว แล้วมันกว้างเวิ้งว้างมาก ทุกสิ่งอย่างดูเล็กๆ ไกลๆ ไปหมด แล้วภาพมันเอียงๆ เบี้ยวๆ รูปก็เลยไม่น่าสนใจ เลยไม่ค่อยใช้

มุมรับภาพของเลนส์ Fisheye ช่วยเก็บบรรยากาศที่น่าตื่นใจได้ดี

เลนส์ Ultra Wide และเลนส์ Fisheye เป็นเลนส์เฉพาะกิจที่ต้องการใช้เก็บบรรยากาศกว้างๆ ในสถานที่ที่ไม่ได้กว้างมากนัก ไม่มีระยะให้ถอยออกไปถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างปกติ หรือถ้าเป็นเลนส์ Fisheye ที่มีความเบี้ยวตามขอบภาพ ก็เอาไว้เล่นสนุกกับเส้นสายต่างๆ เช่น เสาหรือกรอบประตูหน้าต่าง ซึ่งจะได้เป็นเส้นโค้งๆ ถ้าถ่ายในระยะใกล้มากๆ ก็ให้ภาพที่หัวโต จมูกโต มีความป่องๆ ดูแปลกตาดี

การเลือกโทนภาพที่มีความโดดเด่นของสี จะช่วยให้ภาพมีจุดเด่นดีขึ้น

เลนส์ Ultra Wide และเลนส์ Fisheye มีเคล็ดลับในการใช้งานคือ ต้องขยับเข้าไปถ่ายให้ใกล้กว่าเลนส์มุมกว้างปกติ ดึงซับเจคต์บางอย่างในภาพ ออกมาเป็นจุดหลัก ให้อยู่ใกล้กล้อง ซึ่งจะช่วยให้ได้มิติของภาพ ทำให้ภาพดูมีระยะใกล้ไกลนั่นเอง มือใหม่หลายๆ คนที่ใช้เลนส์ช่วงนี้มักจะเคยชินกับการถ่ายในระยะปกติ ซึ่งซับเจคต์ต่างๆ ในภาพจะอยู่ไกลกล้อง ทำให้ภาพดูแบน ดูไม่มีระยะ เพราะทุกอย่างดูเล็กๆ ไปหมดนั่นเอง

เมื่อเข้าไปถ่ายใกล้ๆ ส่วนที่อยู่ใกล้เลนส์มากที่สุด จะมีขนาดบวมโตผิดรูป ส่วนที่ห่างออกไปจะดูเรียวเล็กลง ให้ภาพดูแปลกตาดีทีเดียว

เลนส์ Ultra Wide รวมถึง Fisheye  มีข้อที่ต้องระวังการใช้งานคือ พยายามวางเฟรมภาพให้บาลานซ์ และอย่าให้ระนาบของภาพเอียงหรือเบี้ยว โดยดูจากเส้นตัดกลางภาพ ถ้าเปิดใช้งานเส้นกริด เส้นตรงกลางภาพ ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ควรจะอยู่ในระนาบและตั้งตรง ถึงแม้ว่าเส้นอื่นๆ รอบนอกจะมีความเอียง ความโค้งเบี้ยวก็ตาม

เส้นด้านข้าง หรือตามขอบภาพทั้งสี่ด้าน จะบิดโค้งไปตามการออกแบบของเลนส์ฟิชอาย เวลาจัดองค์ประกอบภาพก็พยายามรักษาระนาบของแนวนอนกับแนวตั้งไว้

ใช้เลนส์กลุ่มนี้ต้องใช้ความละเอียดในการวางเฟรมเพิ่มขึ้น ดูระนาบ ดูความเอียงของภาพ ถ้าถ่ายวิวรวมๆ ก็มองหาจุดสนใจหลัก ขยับเข้าไปถ่ายให้ใกล้ขึ้น แค่นี้ ภาพของเราก็จะแตกต่างจากการถ่ายด้วย เลนส์ Ultra Wide รวมถึง Fisheye  แบบเดิมๆ แล้วล่ะครับ

ภาพจากเลนส์ฟิชอายที่ให้ภาพแบบวงกลม กับเลนส์ฟิชอายที่ให้ภาพแบบเต็มเฟรม

..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ…   

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video