TRAVELS

ไปสูดโอโซน ไปกระโจนลงนํ้าใสใน “ป่าละอู”

เนื่องจากเป็นทริปต่อเนื่องกัน ดังนั้นพาหนะในการเดินทางของผมและทีมงานจึงยังคงเป็นรถยนต์ Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT รถปิกอัพ 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อคันเก่งคันเดิม ซึ่งผมเองก็ไว้วางใจกับพาหนะของเราในครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะหลายๆ ครั้งในเส้นทางการถ่ายภาพของผมและทีมงานนั้น ไม่ได้ราบเรียบเสมอไปครับ หลายๆ ครั้งที่เราจะต้องลัดเลาะไปตามเส้นทางดินโคลนเละๆ หลายๆ ครั้งที่ต้องลุยผ่านธารนํ้าที่ไหลเอื่อยๆ อยู่บนพื้นที่ของถนน หลายๆ ครั้งที่ต้องปีนป่ายเส้นทางสูงชันและขรุขระ ดังนั้นรถยนต์ที่มีสมรรถนะดีเยี่ยม และลุยได้ทุกสภาพเส้นทางจึงถูกจริตในการใช้งานของผมและทีมงานมากทีเดียวครับ

สำหรับ Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT มาพร้อมเครื่องยนต์ 1GD FTV (High) ความจุ 2800 ซีซี ให้พละกำลังสูงถึง 177 แรงม้า และแรงบิดสูงถึง 450 นิวตันเมตรต่อ 1600-2400 รอบต่อนาที ซึ่งมั่นใจได้แน่นอนว่าในทุกสภาพเส้นทาง ผมและทีมงาน “ไปถึงและกลับได้” อย่างแน่นอนครับ โดยเครื่องยนต์รหัสรุ่นใหม่นี้ ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพการเผาไหม้ที่ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนครับ ผลดีก็คือช่วยให้ประหยัดนํ้ามันมากขึ้นด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการปล่อยไอเสียที่ตํ่าตามมาตรฐาน Euro4 อีกด้วย

จุดเด่นหนึ่งที่ผมชื่นชอบ นั่นคือ Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อม เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ซึ่งในการใช้งานบนถนนปกตินั้น จะใช้การขับเคลื่อน 2 ล้อหลังเป็นหลัก แต่ถ้าหากว่าต้องการความมั่นใจในการขับขี่ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเจอกับถนนเปียกลื่นในยามฝนตก หรือในสภาพเส้นทางขรุขระ และต้องการแรงบิดที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติ ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาแบบ H4 ส่วนในเส้นทางวิบากหรือเส้นทางแบบออฟโรด ที่ต้องดึงเอาประสิทธิภาพสูงสุดของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อมาใช้ ก็เลือกเป็นแบบ L4 ครับ ซึ่งการเปลี่ยนจากระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ H4 สามารถบิดหมุนแป้นควบคุมที่อยู่ตรงคอนโซลกลางไปที่ตำแหน่ง H4 ได้เลย ที่ระดับความเร็วรถไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนการใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ L4 จะต้องหยุดรถ พร้อมกดแป้นหมุนลงเล็กน้อยก่อนที่จะบิดครับ ซึ่งปกติการใช้งานแบบ L4 มักจะเป็นการใช้งานที่ต้องการแรงบิดสูงๆ อย่างเช่น การขึ้นเนินสูงชัน การขึ้นจากหล่มโคลน หรือการขับขี่บนเส้นทางออฟโรดที่ขรุขระ ซึ่งไม่ได้ต้องการความเร็วสูงๆ อยู่แล้ว การขับเคลื่อนก็เพียงแค่แตะคันเร่งเลี้ยงรอบเครื่องยนต์ให้อยู่ที่ประมาณ 1600-2400 รอบต่อวินาที แล้วก็ให้พลังของเครื่องยนต์ค่อยๆ เคลื่อนตัวรถให้ขึ้นไปตามเส้นทางที่เราต้องการครับ

dsc01633

สำหรับเส้นทางเข้าไปยังนํ้าตกป่าละอูนั้น เป็นถนนลาดยางราบเรียบไปตลอด ซึ่งช่วงล่างใหม่ของ Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT ได้รับการออกแบบระบบกันสะเทือนและแชสซีส์ใหม่ที่ถูกปรับตั้งมาได้นุ่มหนึบดีทีเดียว ขับไปเพลินๆ หันมามองคนข้างกายอีกที หลับไปตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้ และถึงแม้ว่าจะเป็นถนนลาดยางตลอดทั้งสาย แต่ก็เป็นเส้นทางวิ่งสวนกัน การแซงทำได้ค่อนข้างลำบาก เพราะมีรถที่ใช้เส้นทางค่อนข้างเยอะ และวิ่งสวนทางมาอยู่ไม่ขาด ดังนั้นบางช่วงจึงต้องขับตามรถบรรทุกไปเรื่อยๆ พอมีจังหวะที่รถว่าง ก็ค่อยเร่งแซงและต้องใช้เวลาให้น้อยที่สุด ซึ่งพละกำลังของ Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT ก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ ดึงแรงม้าออกมาให้ใช้ได้อย่างฉับไวทันใจทีเดียว ช่วยให้การเร่งแซงปลอดภัยมากขึ้นครับ

โดยโหมดในการขับขี่มีให้เลือกใช้งานเพิ่มเติมจากโหมดปกติ 2 โหมดคือ โหมด ECO ที่เน้นในเรื่องของความ ประหยัดเชื้อเพลิงเป็นหลัก กับโหมด Power สำหรับการขับขี่ที่ต้องการการตอบสนองของเครื่องยนต์ที่รวดเร็วฉับไวมากขึ้น และเร่งแซงได้ฉับไวมากขึ้นด้วย ซึ่งผมเองมักจะใช้โหมดนี้บ่อยครั้งเมื่อต้องการเร่งแซงอย่างฉับไวครับ โดยทั้งสองโหมดเลือกได้จากปุ่มที่อยู่ข้างๆ กับคันเกียร์ตรงคอนโซลกลางนั่นเองครับ และถ้าหากว่าต้องการอารมณ์การขับขี่ที่สนุกมากขึ้น สามารถปรับชิฟท์เกียร์เองแบบแมนนวล โดยโยกคันเกียร์จากตำแหน่ง D ที่เป็นการเปลี่ยนเกียร์ในระบบอัตโนมัติปกติมาที่ตำแหน่ง S และปรับโยกคันเกียร์มาด้านหลัง เพื่อลดเกียร์ให้ตํ่าลง หรือโยกไปด้านหน้าเพื่อปรับเกียร์ให้สูงขึ้น ซึ่งให้ความสนุกในการขับขี่มากขึ้นด้วยครับ

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ผมชื่นชอบ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้งานในครั้งนี้ เนื่องจากไม่ค่อยมีเส้นทางขึ้น-ลงเขาสูงชันมากนักนั่นเองครับ เทคโนโลยีที่ว่านี้คือ DAC หรือ Downhill Assist Control ซึ่งการทำงานของ DAC นั้นจะเป็นการปรับหน่วงรอบ เครื่องยนต์และกระจายแรงขับเคลื่อนทั้งหมดไปยังล้อทั้งสี่ล้อ ช่วยให้การขับรถลงเขาที่มีความลาดชันได้อย่างปลอดภัย ซึ่งโหมด DAC จะทำการชะลอความเร็วของรถ โดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องคอยเหยียบเบรกเพื่อลดความเร็วของรถอยู่ตลอดเวลาอีกด้วยครับ

และไม่เพียงแค่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อให้เลือกใช้เท่านั้น แต่ Toyota Hilux Revo Double Cab 4×4 2.8G AT ยังมีระบบความปลอดภัยอื่นๆ ที่ออกแบบให้ใช้งานร่วมกันเพื่อความปลอดภัยสูงสุด อย่างระบบ A-TRC หรือ Active Traction Control ที่ทำงานประสานกันกับระบบ VSC หรือ Vehicle Stability Control ในการสั่งให้ปั๊มเบรก ABS ส่งแรงดันนํ้ามันที่เหมาะสมไปยังล้อที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่ามีการหมุนฟรีหรือหมุนเร็วกว่าล้ออื่นๆ พร้อมๆ กับลดรอบเครื่องยนต์เพื่อลดการลื่นไถล รวมทั้งให้ตัวรถกลับมาอยู่ในภาวะการขับขี่แบบปกตินั่นเองครับ

dsc04401

จากถํ้าพระยานคร ผมใช้เส้นทางกลับออกมายังตัวอำเภอปราณบุรี ก่อนที่จะวิ่งมาตามถนนเพชรเกษมและเลี้ยวซ้ายออกสายเลี่ยงเมือง วิ่งย้อนกลับเข้ามายังตัวเมืองเพชร และเลี้ยวซ้ายอีกครั้งที่เส้นทางหมายเลข 3218 ซึ่งก็เป็นเส้นทางเดียวกับที่จะไปวัดห้วยมงคล หลวงพ่อทวดนั่นแหละครับ เพื่อไปยังนํ้าตกป่าละอู แต่วัดห้วยมงคลจะต้องเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 3219 อีกที แต่ผมกับทีมงานขับตรงตาม 3218 ไปตลอดจนถึงชุมชนฟ้าประทานละครับ ที่นี่มีเสบียงอาหารพอที่จะให้เรามีพลังสำหรับการเข้าไปสำรวจเส้นทางกันก่อนที่จะเดินทางเข้านํ้าตกในวันพรุ่งนี้ครับ

หลังจากที่อิ่มหนำสำราญกับมื้อเที่ยงในยามบ่ายแก่ๆ แล้ว เราเดินทางตรงเข้าไปยังนํ้าตก แต่ยังไม่ถึงด่านเก็บเงิน เสียงพี่โป้งนักเขียนสารคดีประจำนิตยสารโฟโต้อินโฟร้องบอกมา “ซ้ายๆ” พร้อมชี้มือไปที่อ่างเก็บนํ้าป่าเลา ไวเท่าความคิด ผมหักพวงมาลัยเลี้ยวซ้ายลงไปยังถนนดินลูกรังด้านหน้าอ่างเก็บนํ้า ซึ่งก็เปรียบเสมือนเขื่อนนั่นแหละครับ เพราะมีประตูระบายนํ้าลงสู่พื้นที่ด้านล่างด้วย เพียงแต่มีขนาดไม่ใหญ่มากนั่นเอง

ภายในอ่างเก็บนํ้าป่าเลา มีสายหมอกลอยระเรื่อๆ อยู่บนผิวนํ้า มีแนวเขาด้านหลังสลับซับซ้อนกันหลายๆ ลูกเป็นฉากหลัง ริมประตูระบายนํ้ามีป้าชาวบ้านคนหนึ่งกำลังนั่งตกปลาด้วยเบ็ดคันไม้ไผ่ และกระชังปลาผูกไว้ตรงเสาที่ประเมินดูแล้วก็น่าจะร่วมสิบตัว

dsc01265

อ่างเก็บน้ำห้วยเลาในยามเย็น มีสายหมอกลอยเอื่อยๆ อยู่บนผิวน้ำ

“ได้นิดหน่อย” เสียงป้าตอบกลับมาเมื่อเราถามถึงผลงาน “เพิ่งมาไม่นาน” ป้าออกตัวเมื่อถามถึงระยะเวลาที่นั่งตกปลาอยู่ที่นี่ ผมและทีมงานแยกย้ายกันเดินถ่ายภาพกันตามมุมมอง ริมชายเขาด้านหลังมีเรือไฟเบอร์ติดเครื่องยนต์ลอยลำตกปลา ด้วยอุปกรณ์สมัยใหม่ ผมเปลี่ยนเลนส์เป็นเทเลซูม 70-300 มม. เพื่อดึงรายละเอียดของเรือและชีวิตบนเรือให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น แต่ไม่ได้ซูมในระยะไกลที่สุด เพราะยังคงต้องการสื่อถึงบรรยากาศโดยรวมของอ่างเก็บนํ้าเอาไว้ด้วยครับ

เราถ่ายภาพกันอยู่ค่อนข้างนาน จนพระอาทิตย์คล้อยตํ่าลงใกล้จะลับเหลี่ยมเขา ป้าเริ่มเก็บของ “จะกลับแล้วเหรอครับ” เราถาม “กลับแล้ว จะมืดแล้ว เดี๋ยวช้างลงมา” เราหูผึ่งขึ้นมาทันที “ช้างลงมาที่ไหนครับ” ถามกลับไปทันที “ลงมากินนํ้าที่ อ่างนี่แหละ เย็นๆ ลงมาทุกวัน” ป้าตอบกลับมา พร้อมๆ กับตาของผมและทีมงานลุกวาว ภาพในจินตนาการสว่างวาบขึ้นมาทันที

ช้างเดินลงมากินนํ้าริมอ่างเก็บนํ้า เป็นภาพที่ใช่ว่าจะถ่ายภาพกันได้บ่อยๆ ในสภาพธรรมชาติแบบนี้ นอกจากจะเป็นปางช้าง ดังนั้นเมื่อป้าเก็บของกลับไปแล้ว เราก็เปลี่ยนเลนส์ ติดกล้องบนขาตั้งกล้องรออย่างใจจดใจจ่อ พร้อมๆ กับประเมินกันว่าน่าจะลงมาตรงไหน

คนที่ตกปลากันบนเรือก็ค่อยๆ ลงเรือลัดเลาะริมตลิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เรารอกันอยู่อีกครึ่งค่อนชั่วโมงก็ยังไม่มีวี่แววของช้าง แสงเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ คนตกปลาก็ยังลอยลำเรือกันอยู่ริมตลิ่งใกล้ๆ จุดที่เราประเมินกันว่าน่าจะลงมาแถวๆ นั้น “ไม่มาแล้วมั๊ง” เสียงพี่โป้งพูดขึ้น เราจึงตกลงกันว่าจะกลับเข้าไปในชุมชนเพื่อหาที่พักกันก่อน

ระหว่างขับรถกลับมานั้น เราสังเกตเห็นชาวบ้านถือคันเบ็ดจอดรถมอเตอร์ไซค์อยู่ตรงหัวโค้งถนน ซึ่งเป็นเชิงเขา ไม่มีบ่อนํ้าหรืออ่างนํ้า ดูท่าทางเหมือนไม่ได้นั่งรอใคร แต่ก็ไม่ได้ไปไหน ผมเกิดความสงสัยขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้เอ่ยถามกับใครในรถ แต่พอรถพ้นโค้งมาเท่านั้นแหละ คำตอบก็ชัดเจนขึ้นมาทันที ช้างพังตัวใหญ่กำลังทึ้งใบไม้กินเป็นอาหารอย่างสบายใจอยู่ริมถนนห่างออกไปประมาณ 100 เมตร ผมแตะเบรกหยุดรถ จากนั้นเสียงชัตเตอร์จากกล้องสามตัวก็ดังระรัวลั่นรถกันเลยทีเดียว

ผมถอยรถโยกไปยังอีกด้านของถนนเพื่อเปลี่ยนมุม และกลับรถตั้งหลัก เมื่อเห็นว่าเค้าเริ่มเดินใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังเลาะเล็มใบไม้อยู่อย่างสบายใจ ซึ่งสังเกตได้จากหูที่โบกสะบัดไปมา และหางที่ยังแกว่งไกว แต่ก็ไม่รู้ว่าพี่บิ๊กเบิ้มจะอารมณ์เสียหงุดหงิดขึ้นมาเมื่อไหร ฉะนั้นปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าครับ แล้วก็ไม่อยากเสี่ยงที่จะขับเลาะผ่านเค้าไป

หลังจากที่ถ่ายภาพกันอย่างจุใจ ผมขับรถย้อนกลับมาทางอ่างเก็บนํ้าอีกครั้ง ด้วยความหวังลึกๆ ว่าจะเจอช้างอีก ..มั๊ย?? ผมขับมาจนถึงอ่างเก็บนํ้าป่าเลา ก็ไม่มี ทั้งๆ ที่เปิดกระจกเพื่อฟังเสียงหักกิ่งไม้ ถ้าหากว่ามีช้างอยู่แถวนั้น แต่ก็ไร้วี่แวว ผมเลยกลับรถ แล้วขับกลับมายังตำแหน่งของช้างตัวเดิม

ตรงหัวโค้ง ชาวบ้านหายไปแล้ว แสดงว่าช้างอาจจะหลบลงข้างทางไปแล้ว แต่ผมก็ยังไม่วางใจ ค่อยๆ ปล่อยให้รถเคลื่อนตัวช้าๆ มาตามโค้งจนพ้นโค้ง เห็นถนนโล่งๆ จึงค่อยขับตามปกติ แต่ก็ไม่ได้เร็วมากนัก เพราะยังคงอยู่ในพื้นที่ของช้างอยู่นั่นเองครับ บางครั้งเราขับมาเร็วๆ อาจจะเจอช้างตามโค้งต่างๆ ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนทางตรงๆ อาจจะทำให้เค้าตกใจ และทำร้ายเอาได้ตามข่าวที่มีให้เห็นกันบ่อยๆ ครับ

สำหรับสรรพนามเรียกช้างนั้น จะเห็นว่าผมใช้คำว่า “ตัว” แทนที่จะใช้คำว่า “เชือก” ก็เนื่องจากว่า ช้างป่านั้นถือเป็นสัตว์ป่าที่ปกติจะใช้สรรพนามเรียกเป็นกันตัวอยู่แล้ว ต่างจากช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง ที่มีการใช้เชือกหรือโซ่ล่ามไว้ จึงเรียกกันเป็น เชือก ส่วนถ้าหากเป็นช้างป่าที่มีลักษณะถูกต้องตามหลักคชลักษณ์ 7 อย่าง ซึ่งถือเป็น “ช้างสำคัญ” และขึ้นระวางเป็นช้างหลวง จะเรียกสรรพนามว่า “ช้าง” ครับ

ตามตำราคชลักษณ์นั้น ช้างที่เข้าลักษณะตามตำราเป็น “ช้างสำคัญ” จะต้องมีครบ 7 อย่างคือ ตาขาว, เพดานขาว, ขนขาว, เล็บขาว, ผิวหนังขาว, ขนหางขาว และอัณฑะโกศขาว ซึ่งนั่นก็คือ “ช้างเผือก” นั่นเอง แต่ช้างเผือกที่เห็นทั่วๆ ไป อาจจะ เป็นเพียงช้างที่สีผิวสีขาว แต่ไม่เข้าลักษณะทั้งหมดของตำราคชลักษณ์ก็เป็นได้ครับ

มีเรื่องสารภาพกันเล็กน้อยระหว่างที่ถ่ายภาพช้างอยู่ที่ทางโค้งนั่นแหละครับ พี่โป้งบอกว่า “ล้างกระจกให้หน่อย ฝุ่นเยอะ” เพราะว่าเราถ่ายภาพกันจากในรถครับ ด้วยความที่สับสนหรือเคยชิน หรือสมาธิไปอยู่ที่ช้าง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ตอนนี้ไม่สามารถอธิบายได้ ผมไปดึงเอาก้านปรับไฟสูงแทนก้านฉีดนํ้าล้างกระจก ทั้งๆ ที่อยู่กันคนละด้านของพวงมาลัย นั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พี่บิ๊กเบิ้มเดินเข้ามาหา ประมาณจะถามว่า “มีปัญหาอะไรกับพี่มั๊ยน้อง…” ฮาาา

dsc01341

ซ้าย : น้ำตกป่าละอูชั้นที่ 1  
บนขวา : ช้างป่าออกมาหากินในยามเย็นๆ ที่พบเจอได้บ่อยๆ บนเส้นทางนี้
ล่างขวา : ระหว่างทางเดินขึ้นไปน้ำตกชั้นที่ 1 จะมีบรรยากาศอย่างนี้ตลอดเส้นทาง

เรากลับเข้ามาถึงตัวเมืองโดยที่ไม่เจอช้างป่าอีกเลย และเข้าพักที่ป่าละอูการ์เด้นรีสอร์ท และก่อนที่จะเข้าห้องพัก เจ้าหน้าที่ของรีสอร์ทบอกมาว่า “ถ้าจะออกมาเดินเล่นตอนดึกๆ ก็ดูช้างป่าด้วยนะคะ บางทีเค้าก็ออกมาเดินอยู่ริมบ่อนํ้าทางโน้น” พร้อมกับชี้มือนำทาง และประกายแวววาวที่แว่บขึ้นมาในดวงตาของเราอีกครั้ง เช้าวันใหม่ มีเสียงคุยกันด้านนอก “ผมว่าเค้ามาตรงนั้นนะ เห็นเป็นเงาตะคุ่มๆ” พี่โป้งหันมาถามผมว่าเจอบ้างมั๊ย ผมตอบไปสั้นๆ “ผมหลับครับ ..แฮ่!!”

ออกจากรีสอร์ท เราแวะทานอาหารเช้ากันก่อนที่จะมุ่งตรงเข้าไปที่ด่านเก็บเงิน และจ่ายค่าธรรมเนียมคนละ 100 บาท ค่ารถคันละ 40 บาท ซึ่งจะเห็นว่าอัตราค่าธรรมเนียมเข้าไปยังนํ้าตกป่าละอูนั้น จะสูงกว่าที่อื่นหลายๆ ที่ และเป็นอัตราใหม่ตามประกาศปรับอัตราบริการค่าเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 31 แห่งของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2557 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป โดยมี 6 พื้นที่ที่ถูกปรับราคาขึ้นมาเป็น 100 บาท

นํ้าตกป่าละอู เป็นนํ้าตกขนาดใหญ่ที่มีถึง 15 ชั้นด้วยกัน แต่ชั้นที่สามารถเดินเที่ยวเองได้นั้น จะไปได้เพียงชั้นที่ 1 ถึง ชั้น 7 เท่านั้น เกินกว่านั้นจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง เพราะชั้นที่สูงขึ้นไปอีกนั้นจะติดแนวเขตชายแดนไทย-เมียนมาร์ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงพอสมควร และต้องใช้เวลาเดินเป็นวันๆ รวมทั้งต้องค้างอ้างแรมกันกลางป่าด้วย แต่แค่ถึงชั้นที่ 7 ก็หอบกับแฮ่กๆ แล้วละครับ

dsc07903

สะพานข้ามไปยังเกาะที่เขื่อนแก่งกระจาน

อุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพนํ้าตกที่ขาดไม่ได้เลยคือ ขาตั้งกล้อง เนื่องจากผมต้องการสายนํ้าตกที่พลิ้วไหวนุ่มนวล ดังนั้นจึงต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์ตํ่าๆ ถ้าไม่มีขาตั้งกล้องแล้วละก็ มีโอกาสที่ภาพจะไหวเบลอมากทีเดียวครับ อุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่ต้อง ใช้ควบคู่กันเลยคือ สายลั่นชัตเตอร์ หรือจะใช้เป็นแบบรีโมทก็ได้เช่นกันครับ เพราะเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าๆ แล้ว ก็ต้องหลีกเลี่ยงการกดชัตเตอร์ถ่ายภาพที่ตัวกล้องตรงๆ ครับ แต่ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ Self Timer ใช้ตั้งเวลาถ่ายภาพก็ได้ครับ โดยเลือกใช้เพียง 2 วินาทีก็พอ อุปกรณ์อื่นที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันนั่นคือ ฟิลเตอร์ C-PL ซึ่งช่วยตัดแสงสะท้อนที่ผิวนํ้า รวมทั้งที่หินหรือพื้นผิวอย่างอื่นที่มีความมัน หรือมีการสะท้อนแสงได้ รวมทั้งยังลดแสงที่จะเข้าไปยังกล้องได้อีก นอกจากจะได้สายนํ้าตกที่พลิ้วๆ แล้ว ยังได้สีสันของภาพที่อิ่มตัวมากขึ้นด้วยครับ

ที่นํ้าตกชั้นที่ 4 ผมเดินหามุมอยู่เป็นเวลาพอสมควร เล็งๆ กิ่งไม้ขนาดย่อมๆ ที่วางขวางอยู่กลางนํ้าตกไว้แล้วช็อตหนึ่ง แต่ต้องถอดรองเท้าเดินลุยนํ้าตกลงไปนั่นเอง จึงทำให้ผมหามุมถ่ายภาพมุมอื่นไปก่อน แล้วค่อยลุยลงไปในนํ้าทีหลัง ซึ่ง หลังจากที่ถ่ายภาพมุมอื่นจนพอใจแล้ว ผมก็ถอดรองเท้าแล้วลุยลงในนํ้า กางขาตั้งลงไปในสายนํ้าที่เย็นเฉียบ จนนึกอยากเอาตัวลงไปแช่ด้วย

dsc01490

น้ำตกป่าละอูชั้นที่ 4

สำหรับการถ่ายภาพที่ติดกล้องไว้บนขาตั้งกล้องนั้น โดยปกติแล้วจะต้องปิดระบบป้องกันการสั่นไหว เพราะเมื่อกล้องติดอยู่บนขาตั้งกล้องที่ตั้งนิ่งๆ ไม่มีการสั่นไหวอยู่แล้ว ถ้าหากเปิดระบบป้องกันการสั่นไหวไว้ ระบบก็จะพยายามที่จะทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้อาจจะเกิดความผิดพลาดและได้ภาพที่สั่นเบลอมาแทน ดังนั้นจึงต้องปิดระบบไปซะ แต่กรณีนี้ไม่ใช่ครับ เพราะผมตั้งกล้องบนสายนํ้าที่ไหลอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงทำให้ขาตั้งกล้องผมมีโอกาสที่จะสั่นไปด้วย และก็ได้ภาพที่สั่น เบลอไปด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นกรณีนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องปิดระบบป้องกันการสั่นไหวครับ

ผมและทีมงานถ่ายภาพกันอยู่ถึงช่วงบ่ายเล็กน้อย จึงกลับออกมา แล้วเดินทางต่อไปยังเขื่อนแก่งกระจาน โดยมีจุดหมายอยู่ที่สมานเบิร์ดแคมป์ ที่พักก่อนถึงทางขึ้นพะเนินทุ่ง ซึ่งเป็นของช่างภาพรุ่นเก๋าที่รู้จักมักจี่กันเป็นอย่างดีกับพี่โป้ง นัก เขียนสารคดีของนิตยสารโฟโต้อินโฟนั่นเอง

dsc07824

กระรอกป่าที่วนเวียนหากินอยู่ใกล้ๆ แค้มป์

จุดประสงค์ที่เดินทางมาที่นี่ เพราะว่าเป็นแหล่งดูนกชั้นดีที่ช่างภาพและนักดูนกสามารถเข้านั่งในบังไพรเพื่อรอถ่ายภาพนก โดยไม่จำเป็นต้องเดินตะลอนๆ หาให้ลำบาก เพราะสมานเบิร์ดแคมป์มีพื้นที่ติดแนวชายป่า และมีนกโบกโบยบินมาทัก ทายอยู่เป็นประจำนั่นเองครับ

“ช่วงนี้ฝนเยอะ ไม่ค่อยมีนกมา ในบังไพรมีแต่ยุง” พี่สมานบอกข่าวร้าย “แต่หน้าบ้านตอนเช้าๆ มีเขียวก้านตองแวะมาอยู่เรื่อยๆ นะ” พี่สมานเสริมมาอีกหน่อย เมื่อเห็นเราเริ่มทำหน้าเสีย “งั้นเย็นนี้ผมฝากท้องกับพี่ด้วยนะครับ” พี่โป้งส่งเสียงออก ไป จากนั้นเราก็ขนสัมภาระเข้าที่พัก เอนหลังพักผ่อนกันก่อนอาหารมื้อเย็น

ช่วงเช้า เราจัดการกับขนมปังปิ้งทาแยม และกาแฟร้อนๆ พร้อมๆ กับตั้งกล้องเล็งไปยังพุ่มไม้ด้านหน้าที่พี่สมานเอากล้วยนํ้าว้าสุกงอมไปเสียบรอนกบินมาจิกกิน จิบกาแฟยังไม่ทันหมดแก้วดี ปรอดหัวสีเขม่าสองตัวก็บินโฉบลงมาจิกล้วยกิน เสียงชัตเตอร์ดังระงมเกือบจะพร้อมๆ กัน หลังจากนั้นก็มีปรอดคอลายบินสลับสับเปลี่ยนกันมาจิกกินกล้วยอยู่เป็นระยะให้เราได้ลั่นชัตเตอร์กันอยู่ตลอด แต่ไร้วี่แววของเขียวก้านตอง

dsc07852

เขียวก้านตองที่ตั้งตารอจนเกือบถอดใจ

dsc07792

ปรอดหัวสีเขม่าที่แวะเวียนมาหลายๆ รอบ

“เราไปกันดีกว่า” ผมพูดขึ้นมา เมื่อเห็นว่าเวลาล่วงเลยไปพอประมาณแล้ว ขณะที่เรากำลังเก็บของกันโดยที่ยังคงตั้งกล้องไว้ที่จุดเดิม “มาแล้วๆ” พี่สมานร้องบอกมา ไม่ทันสิ้นเสียง เราก็พร้อมประจำการที่กล้องของตัวเอง พร้อมลั่นชัตเตอร์กันอีกชุดใหญ่ ก่อนที่จะรํ่าลาพี่สมานและพี่อ้อยเพื่อเดินทางกลับ

dsc07891

สำหรับทริปนี้ เป็นทริปสุดท้ายของปี ส่วนปีหน้าผมและทีมงาน พร้อมรถยนต์โตโยต้า จะพาไปเยือนที่ไหน และเป็นรถยนต์รุ่นไหนนั้น ต้องติดตามกันในฉบับหน้านะครับ
………………….
..สวัสดีครับ..

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทาง นํ้าตกป่าละอู อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

จากตัวเมืองหัวหินใช้ทางหลวงหมายเลข 3218 ตรงไปตามทาง และตัดกับถนนบายพาส (หมายเลข 37) จนผ่านแยกวัดห้วยมงคล ขับตามเส้นทางมาเรื่อยๆ จนถึงสี่แยกหนองพลับ ผ่านแยกบ้านห้วยผึ้ง และชุมชนห้วยสัตว์ใหญ่ ขับตามเส้นทางไปจนถึงชุมชนบ้านฟ้าประทาน จะเจอสามแยกตัวที (T) ให้เลี้ยวขวา แล้วขับไปตามเส้นทางหลักซึ่งจะผ่านอ่างเก็บนํ้าห้วยเลา และด่านเก็บค่าธรรมเนียม จากด่านฯ ขับตามเส้นทางไปอีกประมาณ 4 กม. ก็จะถึงลานจอดรถ เส้นทางเป็นถนนลาดยางทั้งหมด รวมระยะทางประมาณ 63 กิโลเมตร