Photography Planner

Take a cat PLAN B

เมื่อปีก่อนตอนที่ได้ไปตุรกีอีกครั้ง มีเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ผมหมายมั่นปั้นมือไว้อย่างแน่วแน่ ว่าจะต้องหาโอกาสกลับไปเยี่ยมเยือนให้จงได้ เป็นเมืองที่อาจไม่มีความหมายสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยทั่วไป หรือแม้แต่คนตุรกีเองก็อาจไม่รู้จักเมืองนี้ซะด้วยซ้ำ เพราะมันก็แทบไม่มีจุดท่องเที่ยวใดๆ ให้สนใจ นอกเหนือไปจากอัฒจันทร์หินครึ่งวงกลม หรือโรงละครกรีกโบราณริมทะเล ที่จุคนได้ราวๆ สามสี่พันคน ซึ่งโรงละครลักษณะนี้มีที่ใหญ่ สวยงาม อลังการกว่าให้ดูหลายแห่งครับ

เหตุที่ทำให้ผมกลับมาเยี่ยมเมือง Kas อีกครั้ง มีเพียงประการเดียวเท่านั้น มันคือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “แมว” นั่นเองครับ

ในประเทศตุรกีจะว่าไป เมืองไหนๆ ก็มีแมวทั้งนั้นล่ะครับ เขานิยมเลี้ยงกันมากกว่าหมาหลายเท่า แต่ในเมืองแคสแมวเยอะจริงครับ ประกอบกับเป็นเมืองชายทะเลที่บ้านเรือนนิยมฉาบปูนหยาบๆ สไตล์แคริบเบียน มีซอกซอยเล็กๆ น้อยๆ มีเนินเขาสูงๆ ต่ำๆ เข้าตำรา(ส่วนตัว)ว่าเป็นเมืองที่น่าถ่ายภาพ ผมก็เลยหลงรักเมืองนี้เข้าอย่างจัง จึงพยายามหาเรื่องกลับมาเที่ยวโดยยกการถ่ายภาพ “แมว” มาเป็นข้ออ้างชั้นดีให้ตัวเอง

โจทย์สำหรับการถ่ายภาพ “แมว” ในครั้งนี้ ก็ไม่ยาก ไม่ง่าย เพียงแค่พยายามเก็บภาพแมมวทุกตัวที่พบเจอเท่านั้นเอง !

ผมพยายามจะถ่ายภาพแมวใน 2-3 ลักษณะครับ

อย่างแรกคือ การถ่ายแบบพอเทรต เน้นน้องเหมียวแบบเต็มตัวเต็มหน้าเต็มตา ซึ่งอันนี้ก็ต้องมีคัดเลือกตัวที่ขนฟูๆ สะอาดสะอ้าน หน้าตาดูสุขภาพดี มีสีสันลวดลายน่าสนใจเป็นพิเศษ หรือไม่ก็ต้องเป็นตัวที่มองหน้ากันแล้วมันใช่ !

ผมใช้เลนส์ 2 ตัว สำหรับการเก็บภาพคือ 50 mm. กับ 70-200 mm. แต่มักจะเลือกใช้เลนส์นอร์มอลก่อนเป็นลำดับแรก เพราะมันค่อนข้างเบามือกว่า และยังเปิดช่องรับแสงกว้างๆ เป็นตัวช่วยได้เมื่อต้องถ่ายภาพในที่แสงน้อย

ส่วนเลนส์เทเลซูมจะถูกเปลี่ยนออกมาใช้ก็ต่อเมื่อ มีสิ่งกีดขวางบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเข้าไปถ่ายน้องเหมียวในระยะประชิดติดตัวได้ หรือในกรณีที่ต้องการจำกัดฉากหลังให้แคบๆ เพื่อกำจัดสิ่งรกเรื้อต่างๆ นานาออกไปจากฉากหลังของภาพ

cat-01

“CAT # 1”
ภาพแมวในแบบพอเทรตนี้ถึงจะถ่ายภาพได้ไม่ยากนัก แต่จะว่าง่ายก็ไม่ใช่เสียทีเดียว มันขึ้นอยู่กับว่าน้องเหมียวจะให้ความร่วมมือกับเรามากแค่ไหนครับ เพราะบางตัวนี่ก็ไม่สนใจกล้องเลยแม้แต่น้อย นิ่งลูกเดียว เรียกเท่าไรก็ไม่ยอมหันมามอง หรือถ้าจะมองก็เพียงแว่บเดียวครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าน้องเหมียวเห็นว่าไม่มีอะไรน่าสนใจสำหรับมัน มันก็มักจะไม่หันมามองเราอีกเลย โดยเฉพาะเวลาที่มันกำลังนอนหลับเพลินๆ เป็นอะไรที่ยากมาก ที่จะทำให้มันโงหัวขึ้นมาให้เราถ่ายภาพ  ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือปรับกล้องให้พร้อมที่สุดก่อน แนบตากับช่องเล็ง นิ้วแตะที่ปุ่มชัตเตอร์พร้อมสำหรับการลั่นไก จากนั้นค่อยส่งเสียงเรียกน้องเหมียวให้หันมา แล้วก็กดชัตเตอร์ให้ทันท่วงที เพราะโอกาสดีๆ อาจไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีกเลย
ภาพนี้ผมตั้งใจใช้เลนส์ 70-200 mm. เพราะต้องการทำฉากหน้าและฉากหลังให้เบลอๆ เอาท์ๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากมันเป็นกอหญ้าและพุ่มไม้ที่ค่อนข้างรก หากมันชัดขึ้นมาก็จะทำให้ภาพน้องเหมียวดูไม่โดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็น EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/320 Sec. F/5, ISO 400

ภาพในอีกลักษณะหนึ่งคือ ภาพของน้องเหมียวกับฉากหลังที่เป็นผนัง เป็นประตู หน้าต่าง พื้นทางเดินสวยๆ ฯลฯ พูดง่ายๆ คือเก็บภาพแมวให้มีขนาดตัวเล็กลงและเพิ่มพื้นที่ให้กับฉากหลังที่สวยงามมากขึ้น

ซึ่งก็แน่นอนว่ามันเหมาะกับเลนส์มุมกว้างเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผมก็ดันมีเลนส์มุมกว้างติดไปถึง 3 ตัว ตั้งแต่ 8-15 mm. F/4L Fish-eye, 17-40 mm. F/4L แถมด้วยเลนส์ TS-E 24 mm. F/3.5L ซึ่งเป็นเลนส์สำหรับถ่ายภาพสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ

ในความเป็นจริง ผมได้ใช้เลนส์มุมกว้างทุกตัวเท่าที่มีนั่นล่ะครับ แต่หลักๆ แล้วผมมักจะหยิบ TS-E 24 mm. F/3.5L ออกมาใช้ก่อนเพื่อน เพราะถึงแม้ว่าจะถ่ายแมวเป็นหลัก แต่ถ้ามันมีส่วนต่างๆ ของอาคารบ้านเรือนเข้ามาประกอบในภาพด้วย ผมก็ไม่อยากให้สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นมันดูเอียงโล้ แบบเดียวกับการถ่ายสถาปัตยกรรมนั่นล่ะครับ (ข้อนี้เป็นความโรคจิตหน่อยๆ ของผมเองครับ ที่ตั้งแต่ได้เลนส์ตัวนี้มาใช้ ก็แทบจะถ่ายอาคารบ้านเรือนแบบเอียงๆ โล้ๆ ไม่ได้เอาซะเลย)

cat-02

 “CAT # 2”
ผมเดินไปเห็นภาพนี้ปุ๊ปก็อมยิ้มในทันที มันจะบังเอิญอะไรได้ขนาดนี้ก็ไม่ทราบจริงๆ ครับ แต่ที่แน่ๆ ผมไม่ได้บังเอิญถ่ายภาพได้อย่างแน่นอน เพราะผมตั้งใจไม่ปลุกน้องเหมียวที่กำลังนอนเพลินในยามบ่าย และเลือกถ่ายแน่นๆ เน้นๆ ให้เห็นท่าทางของเจ้าเหมียวล้อเลียนกับภาพวาดที่มันนอนทับอยู่ EOS 5D MK II, LENS EF 50 MM. F/1.2L, 1/200 Sec. F/4.5, ISO 500

cat-03

 “ CAT # 3”
ถ้าไปเจอฉากหลังที่สวยงาม ผมก็มักจะเลือกถ่ายภาพแบบกว้างๆ ลดขนาดแมวให้ตัวเล็กลง เพิ่มพื้นที่ให้กับฉากหลังเหล่านั้นตามความเหมาะสม เพราะถ้าเลือกจะถ่ายแบบเน้นๆ ก็ทำได้ แต่มันจะทำให้ภาพรวมดูซ้ำๆ น่าเบื่อเกินไป แถมเป็นแมวที่ไหนก็ไม่รู้อีกต่างหาก ถ่ายแมวแถวบ้านก็ได้ครับ การมีฉากหลังเข้ามาบ้างบางทีมันก็ช่วยบอกเล่าอะไรได้มากขึ้นดวยครับ EOS 5D MK II, LENS EF 50 MM. F/1.2L, 1/250 Sec. F/5, ISO 400

ยังมีภาพแมวอีกลักษณะหนึ่งที่ผมเพียรพยายามจะถ่ายให้ได้ในครั้งนี้ด้วย นั่นคือภาพแอ๊คชั่นต่างๆ เท่าที่แมวจะพึงกระทำได้ เป็นต้นว่า กำลังไล่จับหนู กระโดดตะครุบปลาที่มีใครสักคนโยนให้ กระโดดข้ามหลังคาบ้าน วิ่งเล่นกัน ฯลฯ

นั่นคือสิ่งที่ผมจินตนาการเอาเองนะครับ ส่วนของจริง ก็แล้วแต่โชควาสนาจะอำนวยว่าจะไปเจอน้องเหมียวในทีท่าแบบไหน ยังไงบ้าง เพราะผมก็มีเวลาจำกัดที่จะเดินหาตามล่าภาพน้องเหมียวในครั้งนี้เพียง 3-4 วันเท่านั้น ได้เท่าไรก็เท่านั้นจริงๆ ไม่สามารถขอเวลานอก ทดเวลาบาดเจ็บใดๆ ทั้งสิ้น

ภาพในส่วนนี้ผมไม่ได้เจาะจงกับเลนส์ตัวไหนหรือช่วงใดเป็นพิเศษ ว่ากันไปตามสถานการ์เฉพาะหน้าล้วนๆ ครับ

อุปกรณ์อีกชิ้นที่ปกติมักจะติดตัวเป็นประจำ แต่คราวนี้ผมต้องวางทิ้งมันไว้ในห้องพัก เพราะโอกาสใช้แทบไม่มี และไม่ค่อยเหมาะที่จะใช้ซะมากกว่า มันคือ “ขาตั้งกล้อง” นั่นเองครับ

ผมเลือกใช้การตั้ง ISO ในตัวกล้องให้เหมาะสมกับสภาพแสงและความไวชัตเตอร์ที่ต้องการ (ซึ่งต้องสัมพันธ์กับช่วงทางยาวโฟกัสที่ใช้ในขณะนั้นด้วย) โดยพยายามตั้งให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ไว้ก่อน เพื่อให้ได้คุณภาพไฟล์ดีที่สุดเสมอ

ส่วนอุปกรณ์ชิ้นที่จำเป็นมากๆ ชนิดที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับงานนี้คือ กระเป๋าคาดเอวสำหรับใส่เลนส์ หรือที่เรานิยมเรียกทับศัพท์ว่า “เพาช์” (Pounch) เพราะผมใช้เลนส์หลายช่วงและต้องเปลี่ยนเลนส์ค่อนข้างบ่อย การที่จะปลดเป้กล้องลงจากหลัง เปิดซิป หยิบเลนส์ออกมาเปลี่ยน ปิดซิป แล้วยกเป้ขึ้นหลังอีก มันเป็นการเสียเวลามากๆ ดีไม่ดีทำให้แมวตื่น พลอยเสียโอกาสในการถ่ายภาพอีกต่างหาก การหยิบเลนส์เปลี่ยนจากกระเป๋าคาดเอวจึงเป็นอะไรที่สะดวกรวดเร็วกว่าเยอะครับ

ผมมีกระเป๋าคาดเอวอย่างที่ว่านี้สามใบ รวมกับเลนส์ที่ติดกล้องอยู่แล้วอีกตัว เท่ากับว่ามีเลนส์ให้ใช้ได้ด่วนๆ 4 ตัว ซึ่งเพียงพอ จะมีเลนส์ที่นานๆ ใช้ทีอยู่ตัวสองตัว ก็เอาใส่เป้หลังแบกไปด้วยครับ เผื่ออยากใช้เมื่อไรก็ค่อยปลดเป้ลงมาก็ได้ (ถ้าบ่อยๆ ก็ไม่ไหวอย่างว่านั่นล่ะครับ)

เมื่อเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว ผมก็เริ่มเดินตามล่า(ภาพ)บรรดาน้องเหมียวในทันที โดยที่ไม่ได้มีจุดหมายใดๆ เป็นพิเศษ เพราะเมืองนี้ค่อนข้างเล็กมากๆ มีโซนหลักๆ คือส่วนที่เป็นเวิ้งอ่าวเล็กๆ ที่เป็นท่าจอดเรือยอร์ช

ด้านในถัดเข้าเข้ามานิดเป็นโซนร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก จากนั้นก็จะเป็นโซนที่พักอาศัยซึ่งมีทั้งที่เป็นบ้านและคอนโด รวมถึงโรงแรมเกสท์เฮาส์ต่างๆ ด้วย

ทั้งหมดที่ว่านี้รวมๆ แล้ว ใช้เวลาเดินไม่เกิน 1 ชั่วโมงก็แทบจะเดินทะลุได้ทุกตรอกซอกซอยแล้วล่ะครับ ผมจึงไม่ได้มีแผนการเดินแต่อย่างใด เดินไปสอดส่ายสายตาหาแมวมาเข้าเฟรมไปเรื่อยๆ ไม่ช้าไม่นานดี๋ยวก็วนมาที่เดิมอีกจนได้

อาจจะมีหยุดรอแมวผ่านมาเข้าฉากบ้างในบางจุด ที่เจอฉากหลังถูกใจจริงๆ ซึ่งบางครั้งก็ได้ แต่หลายครั้งก็ไม่ รอครึ่งชั่วโมงก็แล้ว ชั่วโมงก็แล้ว จนแสงเงาเปลี่ยนไปเยอะ แต่แมวก็ดันไม่ผ่านมาซะที

กับอีกส่วนที่อยากได้อยากมี(ภาพ)จริงๆ คือภาพแนวแอ๊คชั่นมันส์ๆ ของน้องเหมียว ซึ่งผมก็ลงทุนนั่งเฝ้าหรือเดินตามแมวบางตัวนานนับชั่วโมงเหมือนกัน ทว่าจนแล้วจนรอดก็แทบไม่ได้ภาพในทำนองนี้เลยครับ

cat-04

 “ CAT # 4”
นี่เป็นแอ๊คชั่นไม่กี่ท่าที่ผมถ่ายมาได้ในครั้งนี้ จริงๆ ก็ไม่ได้คิดจะถ่ายภาพแบบแอ๊คชั่นด้วยซ้ำครับ ตั้งใจจะเอาฟิชอายเข้าไปจ่อใกล้ๆ ให้ได้มุมภาพแปลกๆ มากกว่า แต่พอทำอย่างนั้น แมวน้อยจอมซนเกิดเมามันคันกรงเล็บขึ้นมาเฉย เลยตะปปเข้าให้

วูบแรกที่ยังไม่ทันตั้งตัวผมไม่ได้กดชัตเตอร์หรอกนะครับ รีบชักกล้องหลบแทบไม่ทัน เพราะกลัวเล็บมันจะข่วนที่หน้าเลนส์เต็มๆ และมันคงไม่ใช่แค่เป็น “รอยขนแมว” แน่ๆ ล่ะครับ แต่พอตั้งสติได้ ผมก็ใจกล้ามากขึ้น เอากล้องแย็บเข้าแย็บออกเล่นกับน้องเหมียวอยู่พักใหญ่ๆ จนได้ภาพที่คิดว่าพอใช้ได้แล้ว จึงหันมาถ่ายภาพในลักษณะอื่นต่อไป


เรื่องนี้จริงๆ ก็ไม่แนะนำให้ใครทำตามนะครับ เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่หน้าเลนส์จะเป็นรอยขูดขีดจากเล็บแมว(ไม่ใช่แค่รอยขนแมว) หากจะถ่ายจริงๆ ใช้เลนส์มุมกว้างที่ยังสามารถใส่ฟิลเตอร์ได้จะดีกว่าครับ ส่วนผมนั้นออกแนวบ้าบิ่นทำเป็น “ใจดีสู้แมว” ไปยังงั้น เกิดหน้าเลนส์เป็นรอยขึ้นมาก็คงจ๋อย งานกร่อยไปนาน เพราะภาพนี้จริงๆ น้องเหมียวก็ตบโดนนะครับ โชคดีที่มันเป็นด้านข้างของเลนส์ ไม่ใช่ผิวหน้า เลนส์ฟิชอายของผมจึงยังรอดไม่เกิดรอย “เล็บแมว” ประทับเอาไว้
EOS 5D MK II, LENS EF 8-15  MM. Fish-eye F/4L, 1/160 Sec. F/8, ISO 800

ส่วนใหญ่มักจะได้แค่ตอนมันแยกเขี้ยวอ้าปากหาว หรืออย่างดีก็ตอนมันยกแข้งยกขาเพื่อเลียทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไอ้ที่มันจะออกลีลาท่าทางกางกรงเล็บ หรือกระโดดกระโจนอะไรนั่นแทบไม่มีให้เห็นเลย

กับเวลา 3-4 วัน กดมาประมาณ 1,000 ภาพ กับแมว100 ตัวเห็นจะได้ ผมได้ภาพที่ถูกใจราวๆ 60-70% จากที่คาดหวังไว้เท่านั้น  ซึ่งส่วนมากจะเป็นภาพแนวพอเทรตเห็นแมวเต็มหน้าเต็มตัวซะเยอะ  กับโลเคชั่นสวยๆ ก็พอได้บ้าง แต่แนวแอ๊คชั่นน้อยมากๆ  อย่างที่ว่า มันก็เลยได้แค่ Plan B เท่านั้นครับ และผมก็ไม่รู้จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรซะด้วย เพราะหลักๆ มันขึ้นกับน้องเหมียวมากกว่าตัวผม

cat-05

 “ CAT # 5”
ผมเห็นเจ้าเหมียวตัวนี้นอนเล่นกับลูกกรงสีฟ้าอยู่แต่ไกล คิดว่าน่าจะพอได้ภาพอิริยาบทแมวที่แปลกหูแปลกตากว่าการนอนนิ่งๆ บ้าง เลยรีบเปลี่ยนเลนส์เทเลซูมแทนเลนส์นอร์มอลที่ติดกล้องอยู่ก่อน แล้วก็ค่อยๆ ย่องเข้าไปถ่าย สลับกับการกดชัตเตอร์ไปเรื่อยๆ
เพราะพฤติกรรมของแมวแต่ละตัวนี่คาดเดาได้ยากนะครับ โดยเฉพาะกับแมวที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน บางตัวถ้าปุ๊ปปั๊ปเห็นคนแปลกหน้า มันอาจหันหลังโกยอ้าวหนีไปเลย บางตัวก็หยุดสิ่งที่กำลังทำอยู่แล้วจ้องหน้าเราแบบไม่วางตา ในขณะที่บางตัวก็อาจหันมามองสักแว่บแล้วก็เล่นของมันไปเรื่อยไม่สนใจเราอีกต่อไป
ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือ เตรียมตัวเตรียมกล้องให้พร้อมถ่ายภาพได้ตลอดเวลา ถ่ายจากระยะไกลด้วยเลนส์เทเลฯไปก่อน ได้ภาพแล้วค่อยขยับเข้าใกล้มากขึ้น แล้วค่อยเปลี่ยนเอาเลนส์นอร์มอลหรือมุมกว้างมาใช้ ถ้าหากต้องการเก็บฉากหลังให้มากขึ้น ถ้าผลีผลามรีบร้อนเข้าไปใกล้แต่แรก อาจไม่มีโอกาสกระทั่งกดชัตเตอร์เลยก็เป็นได้ครับ EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/200 Sec. F/5.6, ISO 500

หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าผมยังศึกษาพฤติกรรมน้องเหมียวได้ไม่ลึกซึ้งพอ เลยคาดเดาไม่ถูกว่าควรจะไปดักรอ หรือติดตามในช่วงเวลาใดจึงจะมีโอกาสเห็นลีลาท่าทางของแมวได้ง่ายหน่อย

อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นทริปพิเศษเฉพาะกิจนอกเหนือไปจากการเดินทางถ่ายภาพปกติทั่วๆ ไป ได้ภาพมาเท่านี้ก็ถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่งแล้วครับ

cat-06

 “ CAT # 6”
เรื่องของการถ่ายภาพแมวหรือการถ่ายภาพอื่นใดก็ตาม ในบางครั้งมันเป็นเรื่องของจังหวะและโอกาส มากกว่าความยุ่งยากทางด้านเทคนิค หรือความจำกัดของอุปกรณ์ รวมไปถึงวิธีการต่างๆ ในการถ่ายภาพ  การ “สร้างโอกาส” ในการถ่ายภาพให้กับตัวเองจึงเป็นความจำเป็น หรืออาจตีค่าถึงขั้นเป็นความสามารถอย่างหนึ่งของนักถ่ายภาพคนนั้นๆ ก็ยังได้ เพราะต่อให้มีฝีมือเพียงไร มีอุปกรณ์มากแค่ไหน ถ้าไม่มีเวลาออกไปถ่ายภาพเลย ยังไงก็ไม่มีทางได้ภาพแน่ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโอกาสมาถึงตรงหน้าแล้ว หากมองไม่เห็นหรือไม่มีความรู้ทางการถ่ายภาพมากพอ โอกาสที่ผ่านเข้ามาก็อาจหลุดลอยไปได้ง่ายๆ เช่นกันครับ ภาพนี้ผมเองก็ไม่เคยมีอยู่ในหัวมาก่อนเลย แต่พอมองเห็น ก็รู้ว่าควรจะจัดการกับมันอย่างไรได้ทันเวลาก่อนที่แมวจะขยับตัวหนีไปหรือก่อนท้องฟ้าจะมืดดำไปเสีย นั่นคือผมไม่ลังเลเลยที่จะเอาการถ่ายภาพแบบซิลลูเอทมาใช้ แมวอาจจะตัวไม่ใหญ่นัก แต่ถ้ามันหันตัวหันหน้าได้ถูกทิศทาง รูปร่างของมันก็ชัดเจนพอจะทำให้ผู้ชมรู้ว่าสิ่งที่จะถ่ายภาพคืออะไร ที่จริงผมจะถ่ายแมวให้ตัวใหญ่ขึ้นกว่านี้อีกก็ยังได้ครับ แต่ผมก็เลือกที่จะเก็บรูปทรงของเหล็กดัด โครงหลังคา เถาวัลย์ และปล่องไฟเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภาพด้วย เพื่อให้ภาพมันดูมีชีวิตชีวามากขึ้น EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/640 Sec. F/5.6, ISO 400

Kas เป็นเมืองเล็กๆ ติดชายทะเลทางตอนใต้ค่อนไปทางตะวันตกของประเทศตุรกี  เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวท้องถิ่นมีจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งชาวตุรกีนิยมไปออกเรือตกปลา หรือไปเล่นน้ำ ดำน้ำตื้นในทะเลใสๆ สีเขียวมรกตกันเป็นส่วนมาก แม้ว่าจะไม่มีหาดทรายให้นั่งนอนอาบแดดเลยก็ตาม ที่พักมีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ห้องเล็กๆ ราคาไม่กี่ร้อย ไปจนถึงห้องหรูหราราคาหลายพันบาท

การเดินทางไปแคสทำได้ไม่ยาก แต่มีวิธีการเดียวเท่านั้น คือการนั่งรถโดยสารประจำทาง หากขึ้นตรงมาจากอิสตันบูล จะมีบริษัทเดินรถ 2-3 แห่ง ที่มีรถต่อเดียวถึงเมืองแคสได้เลย ในเวลาราวๆ 12-15 ชั่วโมง กับระยะทาง 1,100 กิโลเมตร แต่ถ้าเดินทางมาจากเมืองอื่นๆ อาจต้องขึ้นรถมาลงที่เมืองใหญ่ใกล้แคส แล้วค่อยต่อรถตู้เข้าแคสอีกที เมืองใหญ่ที่ว่าคือเมือง เฟติเย่ (Fethiye) กับเมือง แอนตัลยา (Antalya)

cat-07

เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง


  • บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
    Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
    Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
    Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ