ช่วงปลายๆปีแบบนี้ มักจะมีการเฉลิมฉลองกันอยู่หลายๆงาน อาทิ คริสต์มาส หรือเค้าท์ดาวน์ปีใหม่ ซึ่งก็มักจะมีการจุดพลุเฉลิมฉลองอยู่เป็นประจำ ยาวไปจนถึงช่วงต้นๆปี นอกจากนี้ยังมีงานที่มีความโดดเด่นของพลุ อย่างเช่น งานพระนครคีรี หรือที่เราเรียกันสั้นๆ ว่า งานพลุเขาวัง และงานเทศกาลพลุนานาชาติพัทยา ที่มีการจุดพลุกันอย่างยิ่งใหญ่
ช่างภาพหลายๆคนที่ถ่ายภาพมานาน อาจจะมีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในการถ่ายภาพพลุอยู่แล้ว แต่หลายๆคนอาจจะยังใหม่กับเรื่องนี้ เพราะเพิ่งจะมาเล่นกล้องกันอย่างจริงๆจังๆ ซึ่งความจริง การตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายพลุไม่ได้ยากนัก แต่ต้องมีอุปกรณ์เสริมสำหรับถ่ายภาพ มาดูกันว่าการตั้งค่าต่างๆ นั้น มีอะไรบ้าง
มือใหม่หลายๆ คนที่เริ่มมาจริงจังกับการถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายภาพดิจิตอล จำเป็นต้องศึกษาเรื่องของการตั้งค่ากล้อง สำหรับการถ่ายภาพแบบต่างๆ เพราะแตกต่างจากการใช้กล้องมือถือที่สะดวกและคุ้นเคยกันอยู่พอสมควร แต่ภาพที่ได้นั้น ให้คุณภาพที่สูงกว่าแน่นอน ทั้งขนาดของไฟล์ การไล่โทนภาพ หรือไดนามิกเรนจ์ รวมทั้งการถ่ายภาพแบบชัดลึก ชัดตื้นอีกด้วย
ภาพพลุ ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบภาพที่ชวนให้หลงใหลในเรื่องของการถ่ายภาพเช่นกัน มือใหม่หลายๆ คนอาจจะยังไม่เข้าใจมากนัก เพราะไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนกันบ่อยๆ เหมือนการถ่ายภาพแบบอื่นๆ แต่จริงๆการตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายภาพพลุ ไม่ได้ยากมากนัก ไปดูว่ามีเทคนิคในการตั้งค่ากล้องถ่ายภาพพลุอย่างไรบ้าง
1. กล้องและเลนส์
สามารถใช้ได้ทั้งกล้อง DSLR และกล้อง Mirrorless รวมทั้งกล้องคอมแพคที่สามารถใช้โหมดถ่ายภาพแบบแมนนวล หรือโหมด M ได้ ส่วนเลนส์นั้น เลือกใช้ได้ทั้งมุมกว้าง และช่วงเทเลโฟโต้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างจุดตั้งกล้อง กับสถานที่จุดพลุด้วยเช่นกัน โดยเลนส์ซูมจะสะดวกกับการถ่ายภาพมากกว่าเลนส์เดี่ยว เนื่องจากสามารถปรับซูมเข้า หรือออก เมื่อพลุมีขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างกันด้วย
2. อุปกรณ์เสริม
ขาตั้งกล้อง และสายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมท ถือเป็นอุปกรณ์เสริมที่ขาดไม่ได้ สำหรับการถ่ายพลุ เนื่องจากเป็นการถ่ายภาพแบบ Long Exposure แล้ว การตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง จะช่วยให้ได้ภาพคมชัดตามที่ต้องการ ถึงแม้ว่าจะเปิดชัตเตอร์นาน 5-10 วินาทีก็ตาม ส่วนสายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมท จะช่วยให้เราไม่ต้องสัมผัสกับตัวกล้อง เมื่อเปิดชัตเตอร์รับแสง ซึ่งอาจจะทำให้กล้องสั่นไหวได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมี ผ้าสีดำ หรือกระดาษดำด้วย สำหรับถ่ายภาพพลุหลายๆ ระดับชั้น ที่ไม่ได้จุดขึ้นมาพร้อมๆ กัน ให้อยู่ในเฟรมเดียวกัน โดยล็อกชัตเตอร์ค้างไว้ เมื่อรับแสงพลุในระดับชั้นที่ต้องการได้แล้ว ก็ใช้ผ้าดำหรือกระดาษดำปิดหน้าเลนส์ไว้ โดยไม่ต้องปิดม่านชัตเตอร์ เมื่อพลุชุดใหม่จุดขึ้นมาก็เปิดผ้าหน้าเลนส์ เพื่อรับแสงอีกครั้ง วิธีนี้ต้องปรับรูรับแสงให้แคบลงกว่าปกติด้วย
3. ใช้ชัตเตอร์ B
สำหรับกล้องทั่วๆ ไป ชัตเตอร์ B จะอยู่ถัดจากความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดในโหมด M โดยหมุนปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำลงเรื่อยๆ ก็จะเจอกับชัตเตอร์ B หรือ Bulb โดยชัตเตอร์ B จะทำให้เราสามารถเปิดหรือปิดม่านชัตเตอร์ได้ด้วยเวลาตามที่เราต้องการ เมื่อเปิดรับแสงพลุได้พอดีแล้วนั่นเอง ส่วนกล้องบางรุ่น จะแยกชัตเตอร์ B ออกมาให้เลือกใช้งานได้เลย
4. ปรับโฟกัส MF ที่ระยะไกลสุด
ปรับโฟกัสไปที่ตำแหน่งอินฟินิตี้ หรือตำแหน่งของจุดสว่างๆ ที่อยู่ไกลๆ หรือใกล้เคียงกับตำแหน่งจุดพลุ แล้วปรับให้เป็นแมนนวล (MF) เพื่อกล้องจะได้ไม่ต้องโฟกัสใหม่ในขณะที่กดชัตเตอร์ถ่ายภาพ
5. ปรับรูรับแสง f/8-f/16
รูรับแสงที่ใช้ จะอยู่ประมาณ f/8 ถึง f/11 เพื่อให้เส้นของพลุคม แต่บางครั้งอาจจะต้องหรี่ไปถึง f/16 ถ้าพลุมีโทนสีที่สว่างมากๆ หรือจุดขึ้นมาซ้อนๆ กันหลายๆ ลูก มีข้อห้ามอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพพลุ คือ “อย่าโลภ” ไม่ใช่ว่าเจอพลุสวยๆ จุดไล่ๆ กันขึ้นมา แล้วต้องเปิดรับแสงทั้งหมด ภาพที่ได้สว่างโอเวอร์ สีสันหายหมดแน่นอนครับ
6. ISO 50-100
ส่วนมากแล้ว พลุจะมีความสว่างมากพอสมควร ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องตั้งความไวแสงให้สูงเกินไป ซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่มีสีสันอิ่มตัว มีหลายๆ ครั้ง ที่ถ่ายภาพในระยะใกล้ พลุลูกใหญ่และสว่างมาก จนต้องปรับความไวแสงไปที่ ISO50
7. ไวท์บาลานซ์
จะใช้แบบ K หรือเลือกตั้งตัวเลขเองที่ประมาณ 5100-5300 K สำหรับกล้องรุ่นใหม่ๆ ที่มีระบบ Auto WB ที่แม่นยำมากขึ้น จะเลือกใช้ไว้ท์บาลานซ์แบบ Auto ก็ได้เช่นกัน และแนะนำให้บันทึกเป็น RAW +JPEG เพื่อที่จะได้นำมาปรับแต่งสีสันตามที่ต้องการในภายหลังได้สะดวกขึ้นอีกด้วย
8. ปิดระบบป้องกันการสั่นไหว
เมื่อตั้งกล้องอยู่บนขาตั้งกล้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดระบบป้องกันการสั่นไหว เพราะเราไม่ได้ไปแตะต้องกล้องตอนถ่ายภาพ รวมทั้งถ้าเปิดระบบป้องกันการสั่นไหวไว้ ระบบจะพยายามทำงานอยู่ตลอดเวลา และอาจจะทำงานผิดพลาด เผลอๆ ภาพที่ได้อาจจะเบลอด้วยซ้ำไป รวมทั้งเปลืองแบตเตอรี่โดยใช่เหตุด้วย
9. ปิดระบบ Noise Reduction
ระบบ Noise Reduction จะทำงานด้วยระยะเวลาเท่าๆ กับตอนที่เปิดม่านชัตเตอร์ และต้องทำงานจนเสร็จ จึงจะถ่ายภาพต่อไปได้ ถ้าหากว่าลืมปิดระบบ Noise Reduction และกดชัตเตอร์ถ่ายภาพไป 8 วินาที ระบบก็จะทำการลด Noise ด้วยเวลา 8 วินาทีเช่นกัน ซึ่งระหว่างที่ระบบกำลังทำงาน เราจะไม่สามารถถ่ายภาพต่อได้เลย ทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ ดังนั้นอย่าลืมปิดระบบ Noise Reduction ทุกครั้ง เมื่อถ่ายภาพพลุครับ
10. เริ่มถ่ายภาพ
เมื่อเริ่มจุดพลุ ให้เล็งดูจากวิวไฟน์เดอร์ หรือจอมอนิเตอร์ว่า พลุขึ้นมาสูงระดับไหน ใหญ่หรือเล็กเกินไปหรือไม่ ถ้าเล็กเกินไป ก็ปรับซูมเลนส์เพิ่มขึ้น ถ้าใหญ่เกินไป ก็ใช้ช่วงมุมกว้างมากขึ้น ซึ่งโดยส่วนมากพลุจะมีหลายๆ ขนาด ปะปนกันไป เลนส์ซูมช่วงมาตรฐาน จะสะดวกกับการใช้งานมากกว่าเลนส์ฟิกซ์ หรือเลนส์ที่ปรับซูมไม่ได้ครับ
การถ่ายภาพพลุจะเริ่มกดชัตเตอร์ตั้งแต่พลุเริ่มพุ่งขึ้นมาเป็นเส้นๆ ก่อนที่จะแตกกระจาย ซึ่งจะได้เส้นของต้นพลุยาวๆ ด้วย หรือกดตอนที่พลุเริ่มแตกกระจาย โดยไม่เอาเส้นที่พุ่งขึ้นมาก็ได้ เมื่อพลุกระจายทั้งหมดแล้ว ก็ปล่อยปุ่มชัตเตอร์ เป็นอันจบหนึ่งภาพ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5-15 วินาที ต่อพลุหนึ่งชุด บางครั้ง พลุอาจจะจุดต่อๆ เนื่องกันหลายๆ ลูก ก็ต้องเลือกดูว่าจะถ่ายภาพพลุกี่ลูก ไม่ควรโลภมากเลือกหลายๆ ลูก เพราะพลุจะซ้อนกันมากเกินไปจนดูรก หรือภาพที่ได้จะโอเวอร์จนขาวโพลนได้ครับ
(ข้อมูลการถ่ายภาพ) กล้อง Canon EOS 6D เลนส์ EF 70-200mm F2.8L USM ชัตเตอร์ B (9 วินาที) f/8, ISO100, WB: 5100K
ภาพนี้กดชัตเตอร์ถ่ายภาพตั้งแต่พลุเริ่มจุด ซึ่งจะเห็นว่ามีลูกไฟวิ่งเป็นสายยาวจากเรือที่ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำ และปิดม่านชัตเตอร์ ตอนพลุแตกกระจายจนแสงหายไป โดยไม่รอลูกใหม่ที่กำลังขึ้นมา (เส้นไฟสีขาวที่กำลังพุ่งขึ้น) ซึ่งถ้ารอพลุชุดใหม่ อาจจะทำให้ภาพสว่างจนเกินไปได้
(ข้อมูลการถ่ายภาพ) กล้อง Sony A7 II เลนส์ Olympus OM 24mm F2 ชัตเตอร์ B (8 วินาที) f/11, ISO100 W: Auto
(ข้อมูลการถ่ายภาพ) กล้อง Canon EOS 6D เลนส์ EF 70-200mm F2.8L USM ชัตเตอร์ B (6 วินาที) f/11, ISO100, WB: 5100K
Leave feedback about this