ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสได้ไปจัดอบรมถ่ายภาพให้น้องๆ ที่ต่างจังหวัดมา และมีคำถามมากมายจากน้องๆ ที่เข้าร่วมอบรม และมักจะเป็นคำถามแบบ Basic ซะส่วนมาก คำถามเหล่านั้นเลยเป็นที่มาที่ทำให้ผมอยากจะแชร์ความคิดเห็นให้ช่างภาพมือใหม่ได้ลองพิจารณากันครับ
..คำถามที่มักจะถูกถาม เช่น ถ่ายอย่างไรให้สวยด้วยกล้องที่เรามีอยู่ (กล้อง+เลนส์คิทที่ติดมากับกล้องตอนซื้อ ^^) เป็นคำถามที่กว้าง และตอบยากมากครับ และถ้าจะถ่ายให้สวยแบบนี้ (น้องๆ เปิดภาพตัวอย่างจากโซเชียลให้ดู ซึ่งส่วนมากเป็นภาพที่ผ่านการตกแต่งมาแล้ว) หลังจากเจอคำถามเหล่านี้ผมก็เลยอนุมานเอาเองว่าน้องๆ ต้องการภาพแบบไหน และ 4 ข้อต่อไปนี้ คือคำแนะนำที่มือใหม่ควรพิจารณาก่อนการถ่ายภาพเพื่อนำไปตกแต่งในภายหลังครับ
“4 สิ่งที่ควรจบหลังกล้อง (เพื่อความง่ายและสะดวกสบายในขั้นตอนแต่งภาพ)” มีอะไรบ้าง ไปดูกันครับ..
“จุดเด่นหลักของภาพต้องชัดเท่านั้น”
ในกรณีที่ต้องการให้ชัดนะครับ ส่วนกรณีที่ต้องการแบบอาร์ตๆ ชัดบ้างเบลอบ้าง มันเป็นสไตล์ อันนี้ข้ามๆ ไปเลยนะครับ ^^ ในข้อนี้ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญครับ หาก Object หลักที่คุณจะถ่ายไม่ชัดตั้งแต่ต้น การนำไปตกแต่งใดๆ ด้วยโปรแกรมก็ไม่อาจสามารถช่วยให้ตัวแบบชัดขึ้นมาได้ (โปรแกรมที่มี Ai อาจช่วยได้ แต่จะดีกว่า ถ้าหากชัดตั้งแต่แรก) นอกจากคุณตั้งใจจะให้ตัวแบบเบลอ แต่ถ้าไม่ คุณก็ควรตั้งค่ากล้องให้สอดคล้องกับภาพที่คุณจะถ่ายครับ เช่น ใช้ชัตเตอร์สปีดที่สูงพอจะหยุดวัตถุได้ เป็นต้น..
“ฉากหลังกับตัวแบบ”
การทำให้ฉากหลังมีรายละเอียดชัด (f แคบ ชัดลึก) ให้กลายเป็นเบลออาจทำได้ แต่ก็ทำได้ยากพอสมควร หรือทำได้แต่ไม่สมจริงเหมือนกับการถ่ายให้ฉากหลังละลายตั้งแต่ต้น และการจะทำให้ฉากหลังที่ละลายอยู่แล้ว (f กว้าง ชัดตื้น) ให้มีรายละเอียดขึ้นมานั้นทำได้ยากมากกกก หรืออาจทำไม่ได้เลย ดังนั้นคุณควรเลือกตั้งแต่แรกว่าต้องการให้ฉากหลังเป็นอย่างไร นอกจากนี้แล้ว เรื่องของแสงระหว่างตัวแบบกับฉากหลังก็ทำให้เกิดข้อสงสัยสำหรับมือใหม่ได้ เช่น ถ่ายภาพคน หน้าสว่างพอดี แต่ฉากหลังสว่างจนขาดรายละเอียด เมื่อแสงจากฉากหลังแรงกว่า หรือ ถ่ายฉากหลังสวย แสงพอดี แต่หน้าตัวแบบมืด นี่ก็เป็นปัญหาสำหรับมือใหม่เช่นกันครับ ข้อแนะนำคือ หากคุณไม่มีแหล่งกำเนิดแสงเพื่อเพิ่มความสว่างอย่างแฟลช หรือรีเฟล็กซ์เพื่อเปิดเงาบริเวณตัวแบบ คุณก็ควรจะเลือกอย่างใดอย่าหนึ่งให้พอดี แล้วค่อยไปปรับในโปรแกรม ซึ่งในยุคนี้สามารถทำได้ง่ายมากขึ้นครับ..
“จัดวาง Composition ให้ถูกต้องตามที่เราต้องการตั้งแต่แรก”
พื้นที่ฉากหลังกับตัวแบบ เป็นอีกอย่างหนึ่งที่แก้ไขภายหลังได้ยากเช่นกัน เพราะฉะนั้นการวางคอมโพสให้ดีตามต้องการตั้งแต่แรกจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง หรือหากจะให้ปลอดภัยหน่อย ก็ควรถ่ายภาพมุมกว้าง (ในกรณีที่ต้องการเก็บฉากหลังด้วย) เพื่อ Crop หรือตัดออกทีหลังได้ ยิ่งเป็นกล้องที่มีเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่ หรือพิกเซลเยอะๆ ก็ยิ่งดีครับ เพราะสามารถ Crop ได้อีกโดยที่คุณภาพของภาพยังพอใช้ได้นั่นเอง..
“สีสันตรง”
สีสันตรง เป็นสิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งครับ เพราะเราสามารถนำไปปรับแก้ในโปรแกรมทีหลังได้มากกว่าที่เราจบหลังกล้องครับ หากจบหลังกล้องด้วยสีสันที่เกินจริงแล้ว การนำไปปรับในภายหลังจะทำได้ยากกว่าครับ โดยเฉพาะภาพที่ถ่ายเป็น Jpeg ไฟล์นั่นเองครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรถ่ายเป็น Raw ไฟล์ก็จะดีมากครับ ไม่ต้องกลัวเปลืองพื้นที่เมโมรี่ครับ เพราะหลังๆ มานี่ ราคาเมโมรี่ถูกลงมาก และเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม ควรฝึกและทำความเข้าใจกับอุปกรณ์ที่เรามีก็จะดีมากครับ .. ขอให้ถ่ายภาพให้สนุกและมีความสุขนะครับ..
แชร์ประสบการณ์โดย แอดมิน โย ครับ
Leave feedback about this