Basic Knowledge Photography

6 เหตุผลที่เลือกใช้โหมดถ่ายภาพ P

หนึ่งในโหมดถ่ายภาพที่ช่างภาพทั่วไปมักจะไม่ใช้กันคือ โหมด P หรือโหมดโปรแกรม เพราะรู้สึก (กันไปเอง) ว่าเป็นโหมดที่กล้องปรับให้ทุกอย่าง ดูไม่โปร แต่จริงๆแล้ว โหมด P ทำอะไรได้มากกว่านั้น

โหมดถ่ายภาพในกล้องถ่ายภาพนั้น มีอยู่มากมายหลายรูปแบบ ทั้งโหมดโปรแกรมสำเร็จรูปง่ายๆ ที่ยกกล้องขึ้นมาถ่ายได้เลย ไม่ต้องปรับอะไรให้ยุ่งยาก ไปจนถึงโหมดสำหรับช่างภาพที่ซีเรียสกับคุณภาพของภาพถ่ายมากขึ้น

โดยปกติ ช่างภาพมืออาชีพ มักจะไม่ใช้โหมดถ่ายภาพแบบโปรแกรมสำเร็จรูป หรือแบบออโต้ เพราะไม่สามารถปรับควบคุมค่าอะไรได้เลย ทุกอย่างกล้องตั้งให้ทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามืออาชีพส่วนใหญ่จะใช้โหมด M หรือโหมดแมนนวลเป็นหลัก เพราะต้องการปรับควบคุมการตั้งค่ากล้องด้วยตนเองทั้งหมด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการใช้งาน และรูปแบบของภาพที่ต้องการด้วย

1. ยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ถ่ายภาพได้เลย

เหมือนกับโหมดออโต้อื่นๆ โดยกล้องจะปรับตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ และรูรับแสงให้อัตโนมัติ เหมาะสำหรับการไปพบเจอกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน หรืออยากจะถ่ายภาพแคนดิด ทำให้เราถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องพะวงปรับโน่น ปรับนี่ให้เสียเวลา และกล้องจะตั้งค่าให้ใหม่ทุกครั้งที่เปิดใช้งาน โดยจะเป็นค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ปลอดภัยเสมอ กล้องมักเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงกับรูรับแสงกว้างเป็นหลัก ตามค่าความไวแสงของกล้อง และสภาพแสงในขณะนั้น

2. แล้วโหมด A หรือ AV กับโหมด S หรือ TV ล่ะ

โหมด A หรือ AV หรือโหมดออโต้ความเร็วชัตเตอร์ ช่างภาพจะตั้งค่ารูรับแสงเอง และกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ ซึ่งกล้องจะคงค้างค่าล่าสุดที่ตั้งใช้ไว้ สมมุติว่า ล่าสุดถ่ายภาพใช้รูรับแสง f/11 กล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ตามรูรับแสง f/11 ซึ่งความเร็วชัตเตอร์อาจจะต่ำเกินไปจนทำให้ภาพเบลอได้ เมื่อคุณเปิดสวิทช์กล้องแล้วรีบถ่าย

ส่วนโหมด S หรือ TV หรือโหมดออโต้รูรับแสง ช่างภาพจะปรับตั้งความเร็วชัตเตอร์เอง ส่วนกล้องจะปรับรูรับแสงให้อัตโนมัติ และกล้องจะค้างค่าล่าสุดที่ใช้งานไว้เช่นกัน สมมุติว่า เพิ่งจะถ่ายภาพกีฬากลางแจ้งมา ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/1000 วินาที แต่สภาพแสงภายหลังอาจจะไม่มากเท่ากัน เช่นอยู่ในร่ม หรือในอาคาร หรือในช่วงพลบค่ำ ภาพที่ได้ก็จะติดอันเดอร์ หรือมืดแน่นอน ถึงแม้กล้องจะปรับรูรับแสงให้กว้างสุดแล้วก็ตาม

3. ปรับตั้งค่าความไวแสง หรือค่า ISO เองได้

ถ้าต้องใช้งานในสภาพแสงมากๆ ก็ตั้ง ISO ต่ำๆ (100 หรือ 200) แต่พอสภาพแสงน้อยๆ ก็เพิ่ม ISO ให้สูงขึ้นได้ตามความเหมาะสม เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว โหมดออโต้อื่นๆ มักจะไม่ให้ปรับค่าอะไรเพิ่มเติมได้อีก หรือจะเลือกใช้ Auto ISO ก็ได้

4. ปรับไวท์บาลานซ์เองก็ได้

เพื่อให้สีสันตรงตามสภาพแสง แต่ใช้แบบออโต้ก็แม่นเหลือหลายแล้วล่ะ ตรงนี้ตั้งเป็นแบบออโต้ไว้ได้เลยครับ หรือหากไม่ถูกใจยังสามารถปรับตามที่ต้องการได้

5. ปรับเปลี่ยนค่าก็ได้นะ

ไม่ใช่ว่ากล้องตั้งมายังไง ก็ถ่ายไปแบบนั้น เพราะกล้องจะออกแบบให้ปรับเปลี่ยนค่าที่กล้องตั้งให้ในตอนแรกได้ ภาษาช่างภาพเรียกกันว่า “โปรแกรมชิฟท์” เราสามารถหมุนแป้นควบคุม เพื่อเปลี่ยนรูรับแสงให้แคบลง ถ้าต้องการให้ชัดทั้งภาพ อยากจะละลายฉากหลังก็ปรับไปที่รูรับแสงกว้างได้ เอ๊า!! หยิบกล้องมาลองปรับกันเลยย..

6. ยังปรับชดเชยแสงได้อีกนะ

การชดเชยแสง เป็นการปรับเปลี่ยนค่าการวัดแสงที่กล้องตั้งให้ หรือหลังจากที่เราปรับชิฟท์ค่าใหม่แล้ว อาจจะได้ภาพที่มืด หรือสว่างจนเกินไป ก็สามารถปรับชดเชยแสงไปทางลบ (-) เมื่อภาพสว่างเกินไป และปรับไปทางบวก (+) เมื่อภาพมืดเกินไปครับ รวมถึง แม้จะใช้ Auto ISO ยังสามารถปรับชดเชยแสงได้ ซึ่งกล้องจะปรับค่า ISO ใหม่ให้ตามค่าชดเชยแสงครับ

ใครที่ไม่เคยใช้โหมด P น่าจะพอรู้ประโยชน์ และการใช้งานของโหมดกล้องโหมดนี้กันแล้วนะะครับ ใช้โหมด P ไม่ได้หมายถึงไม่โปร ไม่ได้หมายถึงถ่ายรูปไม่ได้ ใช้กล้องไม่เป็นอีกต่อไป หยิบกล้องขึ้นมาลองเลยครับ

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video