Basic

9 วิธีแก้ปัญหาตากล้องมือใหม่

ช่างภาพมือใหม่จำนวนมากมักละเลยที่จะทำความรู้จักและเรียนรู้การใช้งานอุปกรณ์ถ่ายภาพ โดยเฉพาะการใช้งานพื้นฐาน ส่วนใหญ่เมื่อได้กล้องมาแล้วมักจะนำออกไปถ่ายภาพทันที โดยไม่สนใจแม้แต่จะเปิดคู่มือหรือหาความรู้เรื่องพื้นฐานการถ่ายภาพ คิดเพียงแค่ว่ากล้องรุ่นใหม่ๆที่ซื้อมานั้นจะช่วยให้ถ่ายภาพได้ดี  ในความเป็นจริง มีสิ่งต่างๆที่เป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับช่างภาพทุกระดับ และควรเรียนรู้เพื่อนำไปปรับปรุงการถ่ายภาพให้ดีขึ้นอยู่หลายประการ 

ข้อผิดพลาดดังกล่าวนี้ อาจจะไม่ส่งผลให้ได้ภาพถ่ายที่ไม่ดีทุกข้อ แต่การเตรียมความพร้อม เรียนรู้การใช้งานอุปกรณ์ การฝึกฝน และระมัดระวัง ช่วยให้ข้อผิดพลาดต่างๆลดลง และสร้างความมั่นใจได้มากที่สุดว่าคุณจะได้ภาพถ่ายที่คมชัด สวยงาม และมีคุณภาพสูงสุดตามที่ต้องการ

1. ภาพไม่คมชัดจากการปรับโฟกัสผิด

     หนึ่งในข้อผิดพลาดอันดับต้นๆคือเรื่องของการโฟกัสภาพ เป็นข้อผิดพลาดใหญ่และไม่สามารถแก้ไขในขั้นตอนการแต่งภาพ ในการถ่ายภาพต้องโฟกัสให้วัตถุหลักในภาพมีความคมชัด ซึ่งสามารถทำได้โดยการเช็คโฟกัส (auto-focus indicator) หรือจากเสียงสัญญาณเตือนเมื่อกล้องโฟกัสได้

การเลือกจุด/กรอบโฟกัสก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ แนะนำให้เลือกจุดโฟกัสแบบ single-point หรือจุดเดียว แทนการเลือกใช้แบบ multi-point เพราะสามารถเปลี่ยนตำแหน่งจุดโฟกัสให้ไปตรงกับตำแหน่งที่ต้องการและเลือกปรับโฟกัสได้แม่นยำกว่า แบบ multi-point ส่วนใหญ่กล้องจะเลือกโฟกัสวัตถุที่อยู่ใกล้กับกล้องมากที่สุดซึ่งอาจจะไม่ใช่ตำแหน่งที่ต้องการ

2. ภาพมืดหรือสว่างเกินไป

     ภาพถ่ายที่อันเดอร์ หรือ โอเวอร์ หรือได้รับค่าแสงไม่พอดี เป็นสิ่งที่ช่างภาพทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น ให้ใช้ความระมัดระวังในการตั้งค่าต่างๆเพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุหลักในภาพจะได้รับแสงพอดี หากมีแสงที่ฉากหลังแรง (Backlight) กล้องจะวัดแสงที่ฉากหลังที่มีความสว่างมากกว่าทำให้วัตถุหลักมืด การเรียนรู้เรื่องแสง ทิศทางของแสง และการปรับตั้งค่ากล้องให้ถูกต้องกับสภาพแสงในขณะถ่ายภาพ จะช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่ได้รับค่าแสงพอดีได้ไม่ยาก

3. เลือกใช้ไวท์บาลานซ์ผิด

     การเลือกใช้ WB ผิดประเภท จะทำให้สีสันของภาพถ่ายผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง หรือดูไม่เป็นธรรมชาติ กล้องรุ่นใหม่ๆในปัจจุบันมีค่าไวบาลานซ์ที่แม่นยำสูงมาก การตั้งค่า auto white balance (AWB) เป็นการตั้งค่าที่มั่นใจได้ว่าจะให้ภาพที่มีสีสันถูกต้องตรงจริง สำหรับมือใหม่ อาจจะยังไม่มีความชำนาญในการปรับค่าไวบาลานซ์เอง สภาพแสงที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยอาจจะส่งผลโดยตรงต่อภาพถ่าย การใช้ AWB จะช่วยลดความผิดพลาดในจุดนี้ได้

4. ภาพเบลอของวัตถุที่เคลื่อนไหว

     เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุในภาพ จะให้ภาพที่คมชัด การเรียนรู้เรื่องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ สัมพันธ์กับวัตถุเคลื่อนไหวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับช่างภาพมือใหม่ การถ่ายภาพคนเดินหรือวัตถุที่เคลื่อนที่ช้าจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่างจากวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วกว่า หากต้องการจับภาพวัตถุเคลื่อนที่เร็วให้หยุดนิ่งยิ่งต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นตามไปด้วย แต่หากมีความชำนาญมากขึ้นอาจเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อสร้างเอฟเฟคให้ภาพถ่ายมีความน่าสนใจมากขึ้น

5. กล้องสั่นจากการจับกล้องไม่นิ่ง

     การถือกล้องให้นิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่คมชัด ช่างภาพจำนวนไม่น้อยที่คุ้นเคยและมีความชำนาญ สามารถถือกล้องด้วยมือเปล่าถ่ายภาพโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้ แต่อีกหลายคนไม่สามารถทำได้ หากไม่ต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น ยังมีทางเลือกอื่นเช่น ใช้ขาตั้งกล้อง หรือใช้ระบบกันสั่นในตัวกล้อง/กันสั่นที่เลนส์ ช่วยได้

6. ใช้ความไวแสงสูงเกินไป

     การใช้ค่าความไวแสงสูงเกินไปนอกจากจะทำให้เกิด noise ในภาพแล้ว ยังทำให้ภาพมีคอนทราสต์ต่ำ ขาดรายละเอียด และมีสีสันที่ไม่สดใสอีกด้วย ควรเลือกใช้ค่าความไวแสงต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ไว้ก่อนเสมอ แม้ปัจจุบันกล้องรุ่นใหม่ๆจะให้คุณภาพของภาพที่ค่าความไวแสงสูงๆได้ดีมากขึ้นก็ตาม แต่การเลือกความไวแสงต่ำกว่าก็จะให้สีสัน คอนทราสต์และรายละเอียดภาพที่ดีที่สุด และมีสัญญาณรบกวนน้อยที่สุดเสมอ

7. แบตเตอรี่ไม่พร้อมใช้งาน

     กล้องดิจิตอลในปัจจุบันทั้งกล้องดีเอสแอลอาร์และกล้องมิลเลอร์เลส ทุกระบบทำงานได้ด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ จำไว้เสมอว่าต้องชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มทุกครั้งก่อนนำไปใช้งาน และแนะนำให้ซื้อแบตเตอรี่เพิ่มอีกหนึ่งหรือสองก้อนสำรองไว้ใช้งาน และเมื่อเสร็จจากการใช้งานให้ชาร์จไฟให้เต็มทุกครั้ง

8. เมมโมรี่การ์ดเต็ม

     การ์ดเต็มหรือแม้แต่การลืมการ์ด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ไม่เว้นแม้แต้กับช่างภาพมืออาชีพ หลังการถ่ายภาพทุกครั้งควรโอนไฟล์ภาพทั้งหมดไปจัดเก็บไว้ใน HDD หรือ SSD และทำการ format การ์ดใหม่เพื่อเตรียมไว้ใช้งานในครั้งต่อไปเสมอ และควรมีการ์ดสำรองอีกสองสามอันติดไว้เผื่อในกระเป๋ากล้องทุกครั้งที่ออกไปถ่ายภาพ

9. เลือกใช้แค่โหมด Auto

     ช่างภาพมือใหม่จำนวนมากซื้อกล้องมาแล้วใช้งานแค่โหมดอัตโนมัติ และ scene mode เพราะสะดวกต่อการใช้งาน แต่ก็ไม่ช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่ดีได้เสมอไปทุกครั้ง และยังเป็นการปิดโอกาสตัวเองในการเรียนรู้การทำงานโหมดอื่นๆของกล้องอีกด้วย การใช้งานโหมดถ่ายภาพอื่นๆ โดยเฉพาะโหมดแมนนวล จะช่วยให้ช่างภาพได้มีการเรียนรู้ และเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ค่าความไวแสง ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการถ่ายภาพให้ดีขึ้นได้

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video