PANASONIC LUMIX REVIEWS

Reviews : Panasonic Lumix DMC-LX10

lx10__01

หลังจากที่ขยายขนาดเซ็นเซอร์ภาพให้แก่กล้องซีรี่ส์ LX เป็นขนาด FourThirds ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ภาพขนาดเดียวกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ของตนในรุ่น LX100 เมื่อปี 2014 และว่างเว้นการส่งกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูงออกมาทำตลาด 1 ปี ดูเหมือนว่าในปี 2016 ทาง Panasonic ได้ตกลงใจแล้วว่าจะหันแนวทางกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูงของตนมาเป็นการใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด 1 นิ้ว เพราะมีกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลจาก Panasonic ถึง 3 รุ่นที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด 1 นิ้วออกมาทำตลาดในปี 2016 เรียกได้ว่าครบทุกรูปแบบของกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลโดยเริ่มตั้งแต่ TZ110 ซึ่งเป็นกล้องซูเปอร์ซูมขนาดกะทัดรัดหรือ Travel Zoom ตามมาด้วย FZ1000 กล้องซูเปอร์ซูมในลักษณะ DSLR-Like และปิดท้ายด้วยกล้องล่าสุดในซีรี่ส์ LX คือ LX10 ซึ่งยังคงคุณสมบัติของกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูงที่เรียกว่าโปรซูเมอร์อันโดดเด่นของซีรี่ส์นี้เอาไว้เช่นเดิม เพราะไม่เพียงใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีเลนส์ซูมไวแสงในช่วงสำหรับการถ่ายภาพทั่วไปด้วย และยังเพิ่มเติ่มด้วยหลากหลายการทำงานใหม่ๆ ที่ถูกใส่ไว้ในกล้องจึงเรียกได้ว่าเป็นการอัพเดตกล้องซีรี่ส์ LX ทั้งขนาดเซ็นเซอร์และการทำงาน

จุดเด่นของ Panasonic Lumix DMC-LX10

  • เซ็นเซอร์ CMOS ขนาด 1 นิ้ว ความละเอียด 20.1 ล้านพิกเซล
  • หน่วประมวลผลภาพ Venus Engine
  • เลนส์ Leica DC Vario-Summilux 24-72 มม. F1.4-2.8
  • การทำงานลดการสั่นไหวของภาพแบบออฟติคัล
  • ถ่ายภาพแบบ RAW, JPEG, RAW+JPEG แปลงไฟล์ RAW ได้ในตัวกล้อง
  • ปรับความไวแสงได้ตั้งแต่ ISO 125-12800 ขยายได้ตั้งแต่ 80-25600
  • โหมดบันทึกภาพ P/A/S/M
  • Scene Mode 24 โหมด
  • ระบบออโตโฟกัส 49 จุด
  • การทำงาน Post Focus เลือกจุดโฟกัสหลังถ่ายภาพ
  • ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงสุด 10 ภาพ/วินาที
  • ถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุด 4K
  • ถ่ายวิดีโอ Full HD 120 ภาพ/วินาที
  • จอ LCD ทัชสกรีนขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 1,040,000 จุด
  • มี WiFi ในตัวกล้อง

ลักษณะทั่วไป
lx10__02

นอกจากจะมีขนาด 1 นิ้วเหมือนกับ TZ110 และ Z1000 แล้ว เซ็นเซอร์ภาพ CMOS ใน LX10 ยังมีความละเอียด 20.1 ล้านพิกเซลเหมือนกันด้วย และแน่นอนว่าหน่วยประมวลผลภาพที่ทำงานร่วมกับกล้องคือ Venus Engine โดยที่เป็นรุ่นใหม่ใช้ CPU แบบ Quad-core เพื่อการประมวลผลความเร็วสูง การปรับความไวแสงสามารถทำได้ตั้งแต่ ISO 125-12800 โดยสามารถขยายได้ตั้งแต่ ISO 80-25600 ส่วนเลนส์ของ LX10 ยังคงเป็นเลนส์ซูมจาก Leica เช่นเดียวกับกล้องซีรี่ส์ LX ก่อนหน้านี้รวมไปถึงกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลหลายๆ รุ่นของ Panasonic ด้วย เป็นเลนส์ Leica DC Vario-Summilux ช่วงซูมเทียบเท่ากับ 24-72 มม. F1.4-2.8 ในโครงสร้างใช้เลนส์ 11 ชิ้นใน 9 กลุ่ม โดยมีเลนส์แอสเฟอริคัล 4 ชิ้น เลนส์แอสเฟอริคัล ED 2 ชิ้น และเลนส์ UHR หรือชิ้นเลนส์ Ultra-high Refractive Index อีกหนึ่งชิ้น โดยชิ้นเลนส์แอสเฟอริคัลทั้งหมดเป็นแบบ Dual-side -ขณะที่ไดอะแฟรมควบคุมรูรับแสงเลนส์มี 9 ใบ สามารถขยายภาพให้มากขึ้นกว่าช่วงซูมออฟติคัลด้วยการทำงาน Intelligent Zoom โดยที่คุณภาพของภาพลดลงเล็กน้อย และดิจิตอลซูมสูงสุด 4 เท่าของซูมออฟติคัล การทำงานลดการสั่นไหวของภาพใน LX10 เป็นแบบออฟติคัล โดยเมื่อถ่ายวิดีโอจะเป็นแบบไฮบริด 5-axis ที่ชดเชยการสั่นไหวของกล้องได้จาก 5 ลักษณะการขยับของกล้องยกเว้นเมื่อถ่ายวิดีโอ 4K

lx10__04

เนื่องจากเซ็นเซอร์ภาพขนาด 1 นิ้วใน LX10 มีขนาด 13.2 x 8.8 มม. จึงทำให้อัตราส่วนภาพมาตรฐานที่ให้ความละเอียดสูงสุด 20.1 ล้านพิกเซลคือ 3:2 แต่ก็ยังมีอัตราส่วนภาพอื่นให้เลือกใช้อีก 3 อัตราส่วนคือ 4:3, 16:9 และ 1:1 ซึ่งจะมีความละเอียดของภาพที่ลดลงตามลำดับคือ 17.5 ล้านพิกเซล, 17 ล้านพิกเซล และ 13.5 ล้านพิกเซล สามารถเลือกฟอร์แมตภาพที่จะถ่ายได้ทั้งแบบ RAW, JPEG และ RAW+JPEG โดยสามารถแปลงไฟล์ RAW ได้ในตัวกล้อง

สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงสุด 10 ภาพ/วินาที และหากเป็นการโฟกัสติดตามวัตถุความเร็วสูงสุดในการถ่ายภาพต่อเนื่องจะเหลือ 6 ภาพ/วินาที การถ่ายวิดีโอมีความละเอียดสูงสุด 4K 3840 x 2160 พิกเซล 30p โดยมีการอ่านข้อมูล 100 Mbps และยังสามารถถ่ายวิดีโอ Full HD 50p ได้ รวมไปถึงวิดีโอ Full HD ความเร็วสูง 120 ภาพ/วินาที

lx10__08

จอ LCD ของกล้องมีขนาด 3 นิ้วความละเอียด 1,040,000 จุดเป็นแบบทัชสกรีน และสามารถปรับพลิกหน้าจอขึ้นได้ 180 องศาเพื่อความสะดวกในการถ่ายภาพมุมตํ่าและถ่ายเซลฟี่

ในเมื่อ LX10 เป็นกล้องที่เปิดตัวออกมาใหม่ดังนั้นจึงย่อมมี WiFi อยู่ในตัวกล้องด้วย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแชร์ภาพสู่โซเชียลมีเดียได้สะดวกและสามารถปรับควบคุมกล้องจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ตามแนวทางของกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลในยุคปัจจุบัน ขณะที่การเชื่อมต่อแบบสายทำได้ผ่านช่องต่อ HDMI และ USB Micro-B


ระบบการทำงาน

ตามลักษณะของกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูง LX10 มีโหมดบันทึกภาพมาให้ใช้ครบทั้งแบบปรับตั้งค่าบันทึกภาพได้ และอัตโมัติเพื่อรองรับทั้งผู้ที่ต้องการควบคุมค่าในการบันทึกภาพหรือจริงจังกับการถ่ายภาพ และผู้ใช้ทั่วไปที่ต้องการกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูงไว้ถ่ายภาพแต่ต้องการทำเพียงแค่ยกกล้องขึ้นเล็งแล้วถ่ายภาพ ดังนั้น LX10 จึงมีโหมดบันทึกภาพปรับตั้งค่าได้มาให้ทั้ง P/A/S/M โดยที่สามารถปรับรูรับแสงได้ตั้งแต่กว้างสุดถึง F11 ขณะที่ความเร็วชัตเตอร์ปรับได้ตั้งแต่ 60-1/4000 วินาทีหากใช้ชัตเตอร์แบบเมคนิก แต่จะปรับได้สูงสุดถึง 1/16000 วินาทีหากเป็นชัตเตอร์อีเล็กทรอนิก และยังมีชัตเตอร์ T ที่สามารถถ่ายภาพได้นาน 120 นาที

นอกจากโหมด A/S/M ที่ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนค่าบันทึกภาพอย่างความเร็วชัตเตอร์หรือรูรับแสงได้แล้ว ในโหมด P ผู้ใช้ยังสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์จากที่กล้องกำหนดมาให้ด้วย โดยที่กล้องจะเปลี่ยนรูรับแสงตามทำให้สามารถเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์หรือรูรับแสงที่ต้องการเพื่อการหยุดความเคลื่อนไหวหรือระยะชัดในภาพได้

โหมดบันทึกภาพอัตโนมัติซึ่ง Panasonic เรียกว่า Intelligent Auto มีให้เลือกระหว่าง Intelligent Auto และ Intelligent Auto+ ซึ่งโหมดหลังผู้ใช้สามารถเลือกสี ความสว่าง และระยะชัดของภาพได้ ซึ่งเหมือนเป็นการปรับไวต์บาลานช์, ชดเชยแสง และรูรับแสง โหมดบนทึกภาพอัตโนมัติทั้ง 2 โหมดมีการทำงาน iHandheld Night Shot มาให้ใช้เมื่อถ่ายภาพตอนกลางคืนหรือสภาพแสงน้อย และ iHDR สำหรับสถานการณ์ที่มีคอนทราสต์มากในภาพให้เลือก

Scene Mode ใน LX10 มีให้เลือกใช้ 24 โหมดครอบคลุมหลากหลายสถานการณ์ถ่ายภาพ และยังมีโหมด Creative control มาให้ใช้เพื่อถ่ายภาพเอฟเฟกต์พิเศษอีก 8 โหมด

ระบบออโตโฟกัสของ LX10 ใช้เทคโนโลยี Depth from Defocus ซึ่งลดระยะเวลาการโฟกัสลงโดยการคำนวนระยะถึงวัตถุจากการประเมินภาพ 2 ภาพที่มีความชัดต่างกันด้วยสัญญาณความเร็วสูง 240 ภาพ/วินาทีทำให้การโฟกัสมีทั้งความเร็วและความแม่นยำ โดยมี 49 พื้นที่โฟกัสทั่วทั้งภาพพร้อมกับมีการทำงาน Face/Eye Detection และโฟกัสติดตามวัตถุ  รวมทั้งยังมีการทำงาน Post Focus ที่ผู้ใช้สามารถเลือกจุดโฟกัสในภาพใหม่ภายหลังได้จากการที่กล้องใช้การทำงาน Focus Stacking หากต้องการถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็กสามารถโฟกัสได้ใกล้สุด 3 ซม. ในโหมดมาโคร

lx10__07

ระบบวัดแสงในกล้องยังคงมีให้เลือกใช้ 3 แบบทั้งแบ่งพื้นที่, เฉลี่ยหนักกลาง และเฉพาะจุดตามแบบของกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูง

การปรับลักษณะของภาพซึ่ง Panasonic เรียกว่า Photo Style มีให้เลือก 6 แบบ ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับค่าต่างๆ ทั้งคอนทราสต์, ความคมชัด, ความอิ่มของสี และระดับการลดสัญญาณรบกวนแตกต่างจากที่กล้องปรับมาให้ได้ รวมทั้งยังสามารถปรับแต่ง Photo Style แบบคัสตอมเองแล้วเซฟไว้ใช้ได้ ในส่วนของลักษณะของภาพนอกจาก Photo Style แล้ว LX10 มีโหมด Creative Control หรือฟิลเตอร์เอฟเฟกต์พิเศษ 22 แบบมาให้เลือกใช้กับโหมดบันทึกภาพที่ปรับตั้งค่าเอง ขณะที่หากเลือกใช้โหมดบันทึกภาพ Creative Control เลยจะมีเอฟเฟกต์พิเศษให้ใช้แค่ 8 แบบ ส่วนไวต์บาลานช์มีแบบ Preset ให้เลือกปรับ 5 แบบ รวมทั้งการทำงานปรับไวต์บาลานช์อัตโนมัติและแมนนวล หรือเลือกปรับไวต์บาลานช์เป็น K ได้ตั้งแต่ 2500-10000 K โดยทุกการปรับตั้งไวต์บาลานช์สามารถปรับชดเชยได้

lx10_13

Panasonic Lumix DMC-LX10 : P Mode, F2.8, 1/125s, ISO 1600, Filter Effect – Impressive Art

เพื่อเพิ่มรายละเอียดของภาพทั้งในด้านความคมชัดและในสถานการณ์ที่มีคอนทราสต์สูงในภาพ LX10 จะมีการทำงานต่างๆ มาให้เลือกใช้ทั้ง iDynamic Range, iResolution และ HDR รวมถึงการทำงาน Highlight Shadow ที่สามารถปรับส่วนส่วางและมืดของภาพให้ออกมาตามที่ต้องการโดยที่มีทั้งค่า Preset มาให้เลือกปรับซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนค่าให้แตกต่างจากเดิม้ และสามารถปรับ Highlight Shadow แบบคัสตอมเองโดยผู้ใช้แล้วเซฟไว้ในกล้อง เพื่อช่วยนักถ่ายภาพที่ไม่มั่นใจการปรับตั้งของกล้องว่าจะให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจหรือไม่หรือเมื่อถ่ายภาพในสถานการณ์ที่ยาก กล้องจึงมีการทำงานถ่ายคร่อมอัตโนมัติมาให้ใช้หลากหลายแบบทั้งถ่ายคร่อมค่าบันทึกภาพ, ถ่ายคร่อมรูรับแสง และถ่ายคร่อมไวต์บาลานช์

เมื่อถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวรวดเร็วหรือการแข่งขันกีฬา LX10 มีทางเลือกให้ด้วยการทำงาน 4K Photo ซึ่งจะถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็ว 30 ภาพ/วินาทีด้วยความละเอียด 4K หรือประมาณ 8 ล้านพิกเซลเพื่อที่จะเลือกภาพในจังหวะที่ต้องการภายหลังได้

LX10 มีการทำงาน Time Lapse Shot ซึ่งสามารถตั้งเวลาถ่ายภาพได้สูงสุด 99 นาที 59 วินาที จำนวนภาพ 9999 ภาพ และ Stop Motion Animation ที่ตั้งเวลาได้สูงสุด 60 วินาที

แฟลชในตัวของ LX10 สามารถเลือกการทำงานได้ระหว่างสัมพันธ์กับชัตเตอร์ชุดแรกหรือชุดที่ 2 รวมไปถึงสามารถเลือกการทำงานสัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์ตํ่าได้ และสามารถปรับชดเชยแสงแฟลชได้เนื่องจาก LX10 มีจอ LCD แบบทัชสกรีนดึงนั้นจึงมีการทำงานต่างๆ ที่สามารถทำด้วยการแตะที่หน้าจอได้นอกเหนือจากการแตะหน้าจอเพื่อปรับตั้งค่าต่างๆ เช่น การแตะหน้าจอเพื่อเลือกพื้นที่โฟกัส หรือการแตะหน้าจอเพื่อโฟกัสภาพและวัดแสง


ตัวกล้องและการปรับควบคุม

lx10__05

แม้จะใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด 1 นิ้วซึ่งใหญ่กว่าเซ็นเซอร์ภาพขนาด 1/1.7 นิ้วในรุ่น LX7 ถึง 3 เท่าแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับขนาดตัวกล้อง LX10 คือเล็กกว่า LX7 ในทุกมิติด้วยขนาด 105.5 x 60 x 42 มม. หรือมีความกว้างและความสูงพอๆ กับ LF1 ซึ่งเป็นกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูงขนาดกะทัดรัดที่ออกมาในปี 2013 ยกเว้นด้านความหนาของตัวกล้องที่มีมากกว่า

ในส่วนของการปรับควบคุมกล้องนอกจากการปรับตั้งต่างๆ ด้วยการแตะหน้าจอได้โดยตรง Panasonic ยังได้มีการใส่ 1 แป้นควบคุมและ 2 วงแหวนควบคุมมาไว้ในกล้องเพื่อให้ความสะดวกในการปรับตั้งค่าระหว่างถ่ายภาพ โดยวงแหวนควบคุมที่เลนส์ซึ่งมี 2 วงแหวนซ้อนอยู่นั้นวงแหวนหนึ่งจะใช้เพื่อปรับรูรับแสงซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนการปรับรูรับแสงของกล้องแมนนวลในยุคก่อนโดยจะปรับเป็นคลิกที่ละ 1/3 สตอป ขณะที่อีกวงแหวนการทำงานที่ถูกปรับมาจากผู้ผลิตใช้เพื่อปรับซูมนอกเหนือไปจากก้านปรับซูมที่ปุ่มชัตเตอร์ เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ที่จะใช้วงแหวนที่เลนส์ปรับซูมภาพ แต่ก็สามารถเปลี่ยนหน้าที่ของวงแหวนที่ใช้ปรับซูมนี้เพื่อทำหน้าที่อื่นได้จาก 14 การทำงาน เช่น ปรับชดเชยแสง, ปรับ Highlight Shadow, Photo Style หรือเลือกที่จะไม่ใช้แป้นนี้ก็ได้ ส่วนแป้นควบคุมบนตัวกล้องก็เช่นเดียวกันที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นการตั้งค่าต่างๆ ขณะถ่ายภาพได้จาก 14 การทำงานหากคิดว่าการตั้งค่าปกติของแป้นนี้คือการปรับความเร็วชัตเตอร์ในโหมดแมนนวลไม่จำเป็นหรือไม่ใช้โหมดแมนนวล

การปรับตั้งค่าต่างๆ นอกจากใช้เมนูหลักแล้ว ยังมี Q menu เป็นอีกทางเลือกให้ปรับตั้ง ขณะกำลังถ่ายภาพโดยกล้องจะแสดงการปรับตั้งต่างๆ ขึ้นมาบนจอ LCD เมื่อกดปุ่ม Q menu และผู้ใช้สามารถปรับคัสตอม
Q menu เพื่อเลือกการทำงานที่ใช้บ่อยให้อยู่ใน Q menu เพื่อเข้าถึงอย่างรวดเร็วได้ ไม่ต้องค้นหาในเมนูหลัก และนอกจากนี้ยังมีปุ่มที่สามารถใช้เพื่อเข้าสู่การปรับบางการทำงานได้โดยตรงเช่น ไวต์บาลานช์, Post Focus, หน่วงเวลาภ่ายภาพและถ่ายภาพต่อเนื่อง, 4K Photo โดยจะมี 3 ปุ่มที่เป็นปุ่ม Fn ด้วยหมายความว่าผู้ใช้สามารถกำหนดการทำงานของ 3 ปุ่มนี้ใหม่เพื่อให้เป็นการเข้าสู่การทำงานที่ต้องการได้จาก 44 การทำงาน และเพื่อความรวดเร็วในการปรับตั้งนอกจากปุ่ม Fn แบบเมคคานิกแล้ว ในจอ LCD ยังมีปุ่ม Fn ให้ใช้อีก 5 ปุ่มที่สามารถกำหนดหน้าที่ได้จาก 44 การทำงาน


การใช้งาน

lx10_10

Panasonic Lumix DMC-LX10 : A Mode, F8, 1/800, ISO 125, +2/3EV, WB Auto

ดูเหมือนว่าแนวทางของกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูงที่เกิดขึ้นแล้วและจะมีต่อไปคือกล้องขนาดกะทัดรัดที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด 1 นิ้วแทนกล้องโปรซูเมอร์ที่คุ้นตากันกับตัวกล้องขนาดใหญ่กว่ากล้องคอมแพกต์ดิจิตอลทั่วไปอย่างชัดเจนและใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด 1/1.7 นิ้ว เพราะผู้ผลิตกล้องหลายรายได้ส่งกล้องขนาดกะทัดรัดใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด 1 นิ้วออกมาทำตลาดรวมถึง Panasonic ที่เป็นรายล่าสุดซึ่งได้ใส่เซ็นเซอร์ภาพขนาดนี้ไว้ในกล้องซีรี่ส์ LX ที่เป็นกล้องโปรซูเมอร์ของตน

แน่นอนว่าด้วยการใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด 1 นิ้วจึงส่งผลต่อคุณภาพของภาพโดยตรง เพราะทำให้ภาพจาก LX10 มีความคมชัดและใสเคลียร์มากแม้จะใช้ความไวแสงสูงถึง ISO 1600  และเมื่อขยับความไวแสงขึ้นไปที่ISO 3200 ถึงคุณภาพของภาพจะลดลงค่อนข้างชัดแต่ก็ยังให้ภาพที่มีคุณภาพสูงอยู่จากสัญญาณรบกวนที่ไม่มากนักและรายละเอียดต่างๆ ในภาพที่สูง ขณะที่การทำงานลดการสั่นไหวของภาพยังคงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เพราะเมื่อรวมกับความประสิทธิภาพที่ความไวแสงสูงของกล้องแล้วจึงช่วยให้สามารถถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยง่ายขึ้น

lx10__06

แม้เลนส์ซูม 24-70 มม. ของ LX10 จะมีช่วงซูมที่สั้นกว่ากล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาดเดียวกันจากผู้ผลิตรายอื่น แต่สิ่งที่ชดเชยมาให้ก็คือรูรับแสงที่ช่วงซูมสั้นสุดที่กว้างกว่ากล้องคอมแพกต์ดิจิตอลใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด 1 นิ้วจากผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งให้ประโยชน์ทั้งด้านการลดระยะชัดของภาพและการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย รวมทั้งจริงๆ แล้วถึงเลนส์ซูมของ LX10 จะมีช่วงทางยาวโฟกัสแค่ 24-70 มม. แต่ก็เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทั่วไป ซึ่งเป็นช่วงซูมเดียวกับที่ผู้ผลิตกล้องมักทำเลนส์เกรดโปร F2.8 ออกมา แต่หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเข้าใกล้วัตถุได้ขณะที่ต้องการภาพวัตถุขนาดใหญ่ การทำงาน  iZoom จะสามารถช่วยได้โดยที่คุณภาพของภาพลดลงเล็กน้อย

ในส่วนของโหมดบันทึกภาพหากต้องการความสะดวกจากโหมดอัตโนมัติโหมด Intelligent Auto+ เป็นทางเลือกที่ดีเพราะแม้กล้องจะปรับการทำงานต่างๆ ให้อัตโนมัติ แต่หากสิ่งที่กล้องปรับมาให้ไม่ถูกใจผู้ใช้ก็ยังสามารถปรับความสว่าง, สี และระยะชัดของภาพซึ่งเป็นเหมือนการปรับชดเชยแสง, ไวต์บาลานช์ และรูรับแสงในภาพได้ รวมทั้งยังมีการทำงาน iHanheld Night Shot มาให้ใช้ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยด้วย

ระบบออโตโฟกัสของ LX10 ทำได้รวดเร็วและแม่นยำ ยกเว้นเมื่อถ่ายภาพวัตถุที่มีคอนทราสต์ตํ่าหรือไม่ค่อยมีรายละเอียดในระยะใกล้ ซึ่งระบบออโตโฟกัสอาจโฟกัสที่จุดอื่นทำให้ต้องพยายามโฟกัสใหม่ ขณะที่การเลือกจุดโฟกัสเองสามารถทำได้สะดวกด้วยการแตะเลือกพื้นที่โฟกัสบนจอ LCD ซึ่งสามารถเลือกจุดโฟกัสได้ถึงขอบภาพทุกด้านของจอ นอกจากนี้การทำงาน Post Focus เป็นอีกทางเลือกที่ดีเมื่อถ่ายภาพในระยะใกล้หรือเมื่อใช้รูรับแสงกว้าง เพราะสามารถเลือกจุดโฟกัสใหม่ภายหลังถ่ายภาพได้ โดยสามารถแตะหน้าจอเพื่อเลือกจุดโฟกัสต่างๆ ในภาพและเซฟแต่ละภาพออกมาเพื่อดูบนจอคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจนภายหลังได้ ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้ใช้เลือกวัตถุหรือจุดโฟกัสที่อาจน่าสนใจขึ้น ใน LX10 ไม่เพียงแต่สามารถถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุด 4K ที่มีความละเอียดสูงกว่า Full HD 4 เท่าเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ความสามารถในการถ่ายวิดีโอให้เป็นประโยชน์ในการถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนไหวด้วยในโหมด 4K Photo เพราะทำให้ถ่ายภาพความเร็ว 30 ภาพ/วินาทีด้วยความละเอียด 4K แล้วเลือกภาพในจังหวะที่ต้องการภายหลังได้

lx10_09

ภาพที่ใช้การทำงาน Post Focus เพื่อเลือกจุดโฟกัสภายหลัง

แม้ LX10 จะเต็มไปด้วยการทำงานต่างๆ สำหรับการถ่ายภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้ไม่ได้ใส่มาให้เมื่อเทียบกับกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูงหลายรุ่นคือ ฟิลเตอร์ ND ในตัวซึ่งมีประโยชน์ในการถ่ายภาพในสภาพแสงที่มาก เพราะแม้ว่าจะสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/16000 วินาที เพื่อช่วยให้สามารถใช้รูรับแสงกว้างสุดถ่ายภาพในสภาพแสงที่มากได้ซึ่งไม่ต่างกับกล้องที่มีความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/4000 วินาทีแล้วใช้ฟิลเตอร์ ND ลดแสงลง 2  สตอป แต่ในสถานการณ์ที่ต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าเพื่อเอฟเฟกต์บางอย่างในภาพเช่น สายนํ้าที่นุ่มนวล หรือเพื่อถ่ายภาพลักษณะ Motion Blur อาจจำเป็นต้องใช้ฟิลเตอร์ ND เพื่อช่วยลดค่าแสง ซึ่ง LX10 ไม่สามารถทำได้

lx10_11

Panasonic Lumix DMC-LX10 : Auto Intelligent+ : F4, 1/1600s, ISO 125

การปรับตั้งการทำงานของกล้อง LX10 ให้ความสะดวกด้วยการมี Q Menu ที่ปรับคัสตอมเลือกการทำงานที่ปรับบ่อยให้อยู่ใน Q Menu ได้ รวมทั้งยังมีปุ่มที่เข้าสู่การปรับตั้งการทำงานต่างๆ โดยตรงหลายปุ่ม และมีปุ่ม Fn ให้เลือกกำหนดเป็นการเข้าสู่การทำงานที่ต้องการได้อีก 5 ปุ่มทั้งแบบเมคานิกและทัชสกรีน

อย่างไรก็ตามจุดหนึ่งไม่สะดวกในการปรับตั้งคือวงแหวนควบคุมที่เลนส์ซึ่งอยู่ติดกับวงแหวนรูรับแสง เพราะด้วยการที่อยู่ติดกันทำให้เมื่อปรับรูรับแสงแล้วนิ้วมือมักจะไปเลื่อนวงแหวนนี้ด้วยทำให้มีการเปลี่ยนค่าจากวงแหวนควบคุมที่ตั้งไว้ ซึ่งหากไม่สังเกตแล้วปรับตั้งค่าใหม่ก็อาจจะส่งผลต่อภาพได้ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่เป็นทางออกที่ดีคือเลือกปิดการทำงานของวงแหวนนี้แล้วใช้แต่วงแหวนรูรับแสง

แม้จอ LCD ของกล้องจะสามารถปรับได้ แแต่ก็ปรับได้เพียงมุมเดียวคือปรับพลิกขึ้น ซึ่งจะให้ความสะดวกเฉพาะถ่ายภาพในมุมตํ่าเท่านั้น เนื่องจากจริงๆ ทางผู้ผลิตคงตั้งใจให้จอที่พลิกได้สำหรับใช้ถ่ายภาพเซลฟี่มากกว่าการเพิ่มมุมมองในการถ่ายภาพอื่น

lx10_12

Panasonic Lumix DMC-LX10 : A Mode, F2.8, 1/1000s, ISO 125, WB – Daylight

แน่นอนว่าในปัจจุบันมีกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูงที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพ 1 นิ้วหลายรุ่นเป็นทางเลือก แต่ Panasonic Lumix DMC-LX10 เป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีการทำงานต่างๆ อัพเดตมากที่สุด แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องของเลนส์ซูมที่สั้นกว่ากล้องอื่น แต่ก็แทนที่ด้วยรูรับแสงกว้างกว่ากล้องอื่นในระดับเดียวกัน ดังนั้นหากคิดว่ากล้องที่มองหาคือกล้องดิจิตอลประสิทธิภาพสูงขนาดกะทัดรัด และยอมที่จะสูญเสียการซูมในช่วงเทเลไปบ้างเพื่อแลกกับรูรับแสงที่กว้างขึ้น Panasonic Lumix DMC-LX10 จะเป็นทางเลือกแรกที่ควรพิจารณา

ขอขอบคุณ : บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.panasonic.com/th/

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ