หลังจากเราได้ทำ First Touch ZF ไปเมื่อสองเดือนก่อน ตอนนี้ Nikon Zf ตัวนี้ได้มาอยู่ในมือผมอีกครั้งหนึ่ง และผมก็มีโอกาสนำไปใช้งานภาคสนามหลายๆ ที่ด้วยกัน โดยมีเลนส์ที่นิคอนได้ส่งมาให้ลองใช้หลายตัว มีทั้ง 24-120mm, 50mm f1.8, 100-400mm, 70-200mm และเลนส์ Super wide อีกตัวคือ 14-24mm ในการใช้งานเรามาดูกันทีละเรื่องเลยครับ โดยที่ผมจะไม่พูดถึงสเปค แต่จะพูดถึงการใช้งานและคุณภาพที่ได้จากกล้องรุ่นนี้กันเลย
เรื่องแรก เรามาดูเรื่องการใช้งานก่อนเลยครับ
กล้องตัวนี้เน้นการออกแบบที่เป็นสไตล์ Retro จะเห็นได้ว่ากริปมันเล็กมาก ซึ่งที่เขาไม่ทำกริปใหญ่เพราะว่ามันจะเสียดีไซน์ก็เลยทำกริปเล็ก ถ้าต้องการจับถือให้ถนัดมือกว่านี้ คุณต้องซื้อตัวกริปเสริมที่เป็นของ Smallrig ที่ทำมาใช้กับกล้องนิคอน Zf ครับ ซึ่งจะทำให้การจับถือดีขึ้นเยอะ แต่ผมไม่มี เพราะฉะนั้นในการใช้งานภาคสนามผมก็จะใช้กริปมาตรฐานของ Zf ในการถ่าย ซึ่งวันนั้นได้ไปใช้งานอยู่ทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงเย็นปรากฏว่าเมื่อยมือมากครับ เพราะว่ากริปมันเล็ก เพราะฉะนั้นเวลาจะจับถือ เวลาจะหิ้วกล้องมันไม่ถนัด ทำให้การใช้งานค่อนข้างจะล้า เพราะฉะนั้น ถ้าคุณใช้งานจริงจัง คุณต้องมี Smallrig ที่เป็นกริปเสริม อันนั้นจำเป็นมากๆ
ในส่วนอื่นๆ มาดูที่แป้นปรับชัตเตอร์ ถ้าคนที่ชอบกล้องสไตล์วินเทจก็น่าจะชอบนะครับ เพราะปรับเปลี่ยนชัตเตอร์ด้วยการหมุนแป้นปรับชัตเตอร์ด้านบนได้เลย แต่มันเป็นการเปลี่ยนขั้นละ 1 สตอป ซึ่งไม่สามารถปรับละเอียดได้ ไม่สามารถใช้แป้นด้านหน้ามาไฟน์จูนทีละ 1/3 สตอปได้ การปรับจะเป็น 1 คลิ๊ก 1 สตอป เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะปรับละเอียด เพราะว่าบางครั้งเวลาเราปรับแสง 1 สตอป มันเพิ่มหรือลดแสงมากเกินไป มันไม่ค่อยพอดีสักที การปรับเราก็ต้องหมุนแป้นมาที่ 1/3 STEP แล้วใช้แป้นคอนโทรลด้านหน้าในการควบคุมแบบละเอียดครับ แต่ในการใช้งานส่วนใหญ่ผมก็จะปรับทีละ 1 ส่วน 3 สตอป ครับ นอกจากบางครั้งที่ไม่ได้ค่าแสงอย่างที่ต้องการ ถึงจะเปลี่ยนมาเป็นแบบละเอียด แป้น ISO ก็เหมือนกันครับ แต่ว่าข้อดีของแป้นปรับ ISO คือสามารถปรับได้ทีละ 1/3 สตอป ซึ่งปรับหมุนได้เลย อันนี้ชอบครับ เพราะว่าหมุนได้ราดเร็วมาก แต่ข้อควรระวังคือมันไม่มีปุ่มล็อกครับ แป้นปรับ ISO ถ้ามือไปโดนมันจะเลื่อนทันที แต่ส่วนของ ISO มันไม่ได้อันตรายเท่าไหร่ เวลาใช้ก็ระวังนิดหนึ่งครับ
นิคอน Zf ตัวนี้เป็นสวิชแบบเปลี่ยนครับ โหมดระหว่างการบันทึกวิดีโอ, ภาพนิ่ง และขาวดำ(B&W) แต่ในส่วนการถ่ายภาพขาวดำผมไม่ค่อยได้ใช้ครับ แต่การสวิชระหว่างภาพนิ่งและวิดีโอผมใช้บ่อยมาก ซึ่งเป็นสวิชที่ค่อนข้างลื่นครับ เลื่อนได้ค่อนข้างง่ายไปหน่อย แต่ว่ามันอยู่ในตำแหน่งที่ซ่อนไว้ค่อนข้างจะมิดชิด เพราะฉะนั้นโอกาสที่มือจะเผลอไปโดนนั้นค่อนข้างยากครับ อันนี้เป็นจุดที่ไม่ได้เป็นข้อติอะไร
ในส่วนอื่นๆ แป้นคอนโทรลด้านหลัง ปุ่มปรับต่างๆ สำหรับคนที่ใช้นิคอนมาตลอดก็คงจะปรับได้อย่างคุ้นเคยครับ เมนูของกล้องเข้าง่ายตามสไตล์นิคอน ไม่มีปัญหาอะไร
ในส่วนของระบบกันสั่น Zf ถูกปรับปรุงขึ้นมาจาก Z6 II ครับ ซึ่ง Z6 II ได้ 5 สตอป แต่ตัวนี้ได้ไปถึง 8 สตอปแล้วครับ ถามว่าในการใช้งานจริงเห็นผลไหม ตอบว่าเห็นผลครับ มีประโยชน์จริงๆ เพราะตอนที่ผมใช้ในสภาพแสงน้อย ถ่ายด้วยชัตเตอร์ 1 ส่วน 2 วิ หรือ 1 วิ ภาพที่ได้จากนิคอน Zf คมชัดครับ ขอเพียงว่าซับเจคท์นิ่งพอเท่านั้นเอง กล้องเอาอยู่ครับ ชัตเตอร์สปีด 1 ส่วน 4, 1 ส่วน 2 หรือแม้กระทั่ง 1 วินาที กับเลนส์ 24-120mm เอาอยู่ครับ ซึ่งในจุดนี้มันทำให้เราทำงานในสภาพแสงน้อยได้อย่างมั่นใจครับ
มาดูเรื่องที่สองครับ ความเร็วในการทำงาน แล้วก็ความเร็วของระบบออโต้โฟกัส พอสเปคเคล็มว่ายกระบบออโต้โฟกัสมาจาก Z8, Z9 หลายคนก็คาดหวังตัว Zf จะมีระบบการทำงานของออโต้โฟกัสเทียบเท่า Z8,Z9 ซึ่งในการทดสอบพบว่ายังไม่ขนาดนั้นนะครับ แต่ว่าใกล้เคียง เมื่อเทียบกับ Z6 II หรือ Z7 II สิ่งที่ดีขึ้นของ Zf คือ ระบบตรวจจับใบหน้า ตรวจจับดวงตาทำได้แม่นกว่าชัดเจนครับ และสามารถตรวจจับใบหน้า ตรวจจับดวงตาได้ในระยะที่ไกลกว่า ถ้าตัวแบบอยู่ห่างจากตัวกล้อง ดวงตามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับเฟรมภาพ ในตัว Z6 II หรือ Z7 II มันจะจับไม่ค่อยได้แล้ว แต่ในตัว Zf มันสามารถจับได้ แม้ตัวแบบหันหน้า หรือพลิกหน้ากลับไป ตัว Zf มันยังทำงานได้ดีมาก โดยมันจะเปลี่ยนมาจับศีรษะเปลี่ยนมาจับบอดี้แทน พอตัวแบบพลิกกลับมามันก็จะวิ่งไปจับที่ตาได้อย่างทันทีแล้วก็รวดเร็ว ซึ่งในจุดนี้น่าพอใจมากครับ
ในการตรวจจับใบหน้าสัตว์ทำได้ดีขึ้น แม้ว่าคุณจะถ่ายนก ถ่ายสุนัข ถ่ายแมว ถ่ายสัตว์ ความแม่นยำในการจับดีกว่า Z6 II อย่างแน่นอนครับ และมันยังเพิ่มการตรวจจับยานพาหนะ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือเครื่องบินได้ เพิ่มเติมมาจากตัว Z6 II หรือ Z7 II ครับ เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพในเรื่องของการโฟกัสดีขึ้นครับ แต่สิ่งที่มันยังเป็นรอง Z8 หรือ Z9 ก็คือ ประสิทธิภาพในการ Tracking เมื่อต้องถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูง อย่างเช่นเมื่อผมลองถ่ายด้วยความเร็ว 14 เฟรมต่อวินาที แล้วแพนกล้องตามซับเจคท์ ภาพในช่องมองของมันยังไม่เท่า Z8 หรือ Z9 ครับ มันยังมีการ Black Out ของการแสดงภาพอยู่ มีอาการหน่วงของการแสดงภาพอยู่เล็กน้อย เพราะฉะนั้นในการตามภาพจะยากกว่า Z8 และ Z9 หากถามว่าเทียบกับ Z6 II หรือ Z7 II การถ่ายต่อเนื่องดีกว่าไหม ดีกว่าเล็กน้อย ใช้คำว่าเล็กน้อยนะครับ เพราะว่า Black Out จะน้อยกว่า Z6 II ตัวที่กันหน่วงของภาพก็จะน้อยกว่า ทำให้การตามภาพยังทำได้อย่างไม่ลำบากนัก เพียงแต่ปรับ แล้วก็ทำความคุ้นเคยกับมันนิดหนึ่ง การถ่ายภาพเร็วๆ ก็สามารถทำได้ครับ ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง 14 เฟรมต่อวินาทีก็จะเท่ากับ Z6 II ครับ แต่ตัว Zf มีเพิ่มเติมเข้ามา คือ ถ้าคุณใช้ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์มันสามารถวิ่งได้ถึง 30 เฟรมต่อวินาที ซึ่งผมก็ได้ลองครับ แต่ว่าไม่ได้ใช้บ่อยเพราะว่ามันรองรับไฟล์ Jpeg เท่านั้นครับ ไม่รองรับไฟล์ Raw ซึ่งในการใช้งานจริงๆ ผมจะถ่าย Raw + Jpeg เพราะฉะนั้นก็จะใช้มันแค่ไม่กี่ครั้ง
ในส่วนของออโต้โฟกัสน่าพอใจ สำหรับกล้องที่เป็นสไตล์ Retro แบบนี้ครับ
ในเรื่องของคุณภาพไฟล์ เซ็นเซอร์ 24 ล้านพิกเซลของ Zf หลายคนสงสัยว่ามันดีกว่า Z6 II หรือไม่ ที่มีความละเอียด 24 ล้านพิกเซล เหมือนกัน ผมก็เลยทดสอบถ่ายภาพนางแบบ โดยใช้ชาร์จสีทดสอบ ที่ ISO ไล่ไปตั้งแต่ 400, 800, 1600, 3200, 12800, 25600, แล้วลองดูว่า ISO Performance เป็นอย่างไร ซึ่งจากการลองใช้งาน นำไฟล์ Jpeg มาลองขยายขึ้นมาดูพบว่าความแตกต่างกับ Z6 II ก็น้อยมากครับ ไฟล์ Jpeg จะดูดีกว่า Z6 II เล็กน้อยครับ ISO ที่จะเห็นความแตกต่างคือที่ ISO 1600 ขึ้นไป ซึ่งที่ ISO 1600 ที่ได้จาก Zf ยังเนียนอยู่ รายละเอียดยังดีมาก แล้วก็ Noise ปรากฏน้อยมาก ที่ ISO 3200 เริ่มจะเห็น Noise บ้าง ภาพจะซอร์ฟลงจากการทำงานของระบบลด Noise ในตัวกล้อง ที่ ISO 6400 รายละเอียดภาพจะเริ่มหายไปพอสมควร การจัดการ Noise ค่อนข้างดี แต่ว่ารายละเอียดจะหายไปบ้าง สัญญาณรบกวนจะไม่ค่อยปรากฏชัดเจนเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ISO 6400 ยังหวังผลได้ค่อนข้างดีเลย พอไปถึง 12800 จะเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัด คุณภาพจะลดลงพอสมควร ซึ่งสำหรับผมแล้ว ISO ที่ผมพอใจกับมันอยู่ที่ 3200 แล้วก็ 6400 อยู่ในระดับที่รับได้
ส่วน Raw ไฟล์ ความแตกต่างจาก Z6 II ไม่มีเลยครับ เหมือนกันแทบจะทุกอย่าง จากการลองนะครับ ที่ ISO1600, 3200, 6400, 12800 Noise พอๆ กัน
มาดูเรื่อง Dynamic Range บ้างครับ ผมลองถ่ายนางแบบเหมือนกันครับ ครั้งแรกถ่ายพอดี 1 ภาพ แล้วถ่ายโอเวอร์ 1 สตอป 1 ภาพ โอเวอร์ 2 สตอป 1 ภาพ หลังจากนั้นก็ถ่ายอันเดอร์ 1 สตอป 2 3 4 5 6 สตอป แล้วนำมาดูผล โดยดึงภาพที่มันเคยโอเวอร์หรืออันเดอร์ขึ้นมาให้เป็นแสงพอดีก็พบว่าที่ 2 สตอป 3 สตอป สบายมาก ที่ 4 สตอป ยังดีมากครับ จะปรากฏสัญญาณรบกวนเล็กน้อยจากส่วนมืดที่ดึงรายละเอียดขึ้นมาครับ แต่การให้โทนสี การไล่เฉดสี การเก็บรายละเอียดยังน่าพอใจอยู่ ที่ 5 สตอป คุณภาพจะเริ่มลดลงอย่างสังเกตได้ครับ จะปรากฏ Noise จากส่วนมืดที่ดึงขึ้นมาค่อนข้างจะชัด คอนทราสต์จะเริ่มเสียไปบ้าง รายละเอียดส่วนสว่างก็เสียไปบ้าง ที่ 6 สตอปน่าจะเป็นลิมิตของกล้องรุ่นนี้ครับ คือคุณภาพอยู่ในระดับรับได้ การเก็บรายละเอียดในส่วนสว่างน่าจะทำได้เต็มที่ 2 สตอป มากกว่านี้มันไม่สามารถดึงในส่วนของไฮไลท์กลับมาได้แล้ว สรุปก็คือเท่าๆ กับ Z6 II
ในส่วนของความคมชัดและรายละเอียดที่ได้จาก Zf นี่ ไม่ต้องห่วงเลยครับ ภาพที่ได้มีความคมชัดสูง มีรายละเอียดสูงมากครับ ถ้าคุณใช้ ISO ในระดับ 100 200 400 800 ภาพที่ได้คมกริบครับ ก็ขึ้นอยู่กับเลนส์ที่ใช้ด้วยนะครับ ถ้าใช้เลนส์ Nikon Z อยู่แล้วก็แทบจะไม่มีปัญหา เลนส์ทุกรุ่นให้รายละเอียดดีมากอยู่แล้ว ซึ่งในจุดนี้ต้องบอกว่าน่าพอใจมากๆ ครับ
Nikon Zf มีโหมดถ่ายภาพโหมดใหม่ครับ คือ โหมด Skin softening ซึ่งก็น่าจะเป็นที่ถูกใจของคนที่ชอบถ่ายภาพ Portrait ครับ ซึ่งก็อาจจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของ Nikon Zf อยู่แล้ว ในการทดสอบ ผมลองถ่ายภาพนางแบบด้วยโหมดนี้ครับ โดยลองเปิดใช้งานทั้ง 3 ระดับเลยครับ ตั้งแต่ Low, normal แล้วก็ High ครับ ก็พบว่าที่ตำแหน่ง Low ภาพยังคมชัด รายละเอียดบนผิวหน้ายังค่อนข้างชัดเจน จะดูเนียนกว่าที่ตำแหน่ง Off เล็กน้อยครับ ก็ยังไม่เห็นผลมากนัก แต่ที่ตำแหน่ง Normal เป็นตำแหน่งที่จะเห็นว่าใบหน้าตัวแบบซอฟต์ขึ้น เนียนขึ้น โดยที่ detail ในส่วนอื่นๆ ของภาพยังดูคมชัดดีอยู่ ส่วนที่ตำแหน่ง Hight รายละเอียดบนผิวหน้าจะหายไปค่อนข้างเยอะครับ เพราะฉะนั้นก็แนะนำว่าที่ตำแหน่ง Normal จะเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดในการใช้โหมดนี้ครับ เพราะเห็นความเนียนบนใบหน้าโดยที่ detail ยังดีอยู่
ในส่วนของวิดีโอ Zf ให้มาในระดับกลางๆ ไม่ได้จัดเต็มเหมือนใน Z8 หรือ Z9 ครับ Quality ในระดับ 4K 30p ถ้าคุณใช้เต็มเซ็นเซอร์ แต่ Zf จะมีฟีเจอร์ที่เป็น 4k 6op มาด้วย แต่มันจะครอปเหลือเพียง APS-C และในกล้องรุ่นนี้ไม่มี Slow Motion ถ้าคุณจะถ่ายเป็น Slow Motion คุณจะต้องถ่ายเป็น Full HD 120p หรือ Full HD 100 fps แล้วไปดี Slow ในซอฟต์แวร์ แต่ตอนบันทึกมันจะบันทึกเป็น Full HD 120p ซึ่งในการใช้งานผมก็ลองใช้ที่ Full HD 120 ครับ แล้วมาดึง Slow เอา ซึ่งอาจจะไม่สะดวกสำหรับคนที่ต้องการเอาไฟล์ Slow motion ไปใช้งานเลย
ในส่วนอื่นๆ ถือว่าใช้งานได้ดีครับ การตรวจจับใบหน้า ตรวจจับดวงตาเมื่อบันทึกวิดีโอ อันนี้หายห่วงครับ ดีเพียงพอครับ ข้อดีอีกอย่างคือระบบกันสั่นเมื่อใช้งานวิดีโอค่อนข้างจะดีมาก แตกต่างจาก Z6 II ชัดเจนครับ ในลักษณะการใช้งานแบบ Run & Gun ที่เราต้องเดินถือกล้องถ่ายไปด้วย กันสั่น 8 สตอป ของตัวกล้องทำงานกับภาพวิดีโอได้ค่อนข้างดี ภาพจะดูนิ่งกว่า การตรวจจับแม่นยำกว่า Z6 II อย่างแน่นอนครับ ผมเชื่อว่าคนที่สนใจ Nikon Zf อย่างแรกเลยคือการออกแบบ หน้าตาของมันในสไตล์ Retro ที่สวยมากครับ การจัดวางปุ่มปรับการออกแบบภายนอกแทบไม่มีที่ติเลยครับ หลายคนมองจุดนี้เป็นหลัก แต่จากการใช้งานตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมบอกได้เลยครับว่ามันไม่ได้มีดีแค่หน้าตาครับ ระบบการทำงานต่างๆ ของมันให้มาเต็มที่ และดีเพียงพอ รองรับการใช้งานระดับจริงจังได้เลยครับ ต้องลองไปเล่นดูครับ
Leave feedback about this