IRIX ผมได้สัมผัสกับชื่อนี้ เมื่อครั้งงานโฟโต้แฟร์สองปีที่แล้ว ตั้งโชว์อยู่ในตู้ที่ผมเองไปเดินเลียบๆ เคียงๆ วนดูอยู่หลายรอบ ด้วยรูปทรงที่ออกแบบได้สวยงาม และโดดเด่นที่หน้าเลนส์ขนาดใหญ่ ยิ่งเมื่อใส่ฮูดรูปกลีบดอกไม้ด้วยแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นผมเองยังคิดว่าคงเป็นเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับการบันทึกวิดีโอด้วยซํ้าไป
จุดเด่นของ IRIX Firefly 15mm F2.4
- รูรับแสงกว้าง f/2.4
- มีชิ้นเลนส์พิเศษ Aspherical, HR และ ED
- เคลือบผิวเลนส์ด้วยเทคโนโลยี Neutrino Coating
- ซีลรอยต่อป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า
- โครงสร้างกระบอกเลนส์แข็งแรง
- ไดอะแฟรม 9 ใบ
ซ้าย : รุ่น Blackstone โครงสร้างเป็นโลหะ มีซีลป้องกันละอองนํ้าที่ด้านหน้าเลนส์
ขวา : รุ่น Firefly โครงสร้างเป็นพลาสติก ABS แต่ไม่มีซีลป้องกันละอองนํ้าที่ด้านหน้าเลนส์
จนครั้งนี้ มีโอกาสได้สัมผัสกับตัวจริง และศึกษาถึงที่มาที่ไปจนได้รับรู้ว่า IRIX เป็นเลนส์สัญชาติสวิส แต่มีถิ่นกำเนิดที่เกาหลี และเป็นเลนส์ที่มีคุณภาพสูง มีโครงสร้างแข็งแรง สำหรับเลนส์ IRIX ช่วงทางยาวโฟกัส 15 มม.นั้น มีให้เลือกใช้งาน 2 รุ่น แตกต่างกันที่โครงสร้างของตัวกระบอกเลนส์ และการซีลที่ด้านหน้า โดยรุ่น Blackstone โครงสร้างเป็นโลหะ และแกะตัวอักษรต่างๆ ลงไปที่กระบอกเลนส์ พร้อมสีเรืองแสงเมื่ออยู่ในที่มืด รวมทั้งซีลป้องกันละอองนํ้าที่ด้านหน้าเลนส์ อีกรุ่นคือ Firefly ที่มีโครงสร้างเป็นพลาสติก ABS ให้ความแข็งแรงทนทาน แต่ไม่มีซีลป้องกันฝุ่นที่ด้านหน้าเลนส์ รวมทั้งตัวอักษรก็เป็นการพิมพ์ลงไปบนกระบอกเลนส์โดยตรง และเป็นรุ่นที่ผมนำมาทดลองใช้งานในครั้งนี้ครับ
ประสิทธิภาพและการออกแบบ
เลนส์ IRIX Firefly 15mm F2.4 มีมุมมอง 110 องศา เหมาะสำหรับถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ หรือภาพสถาปัตยกรรมต่างๆ รวมทั้งเมื่อต้องการเก็บบรรยากาศกว้างๆ โครงสร้างตัวเลนส์ประกอบไปด้วยชิ้นเลนส์ 15 ชิ้น จัดเป็น 11 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์พิเศษอย่างชิ้นเลนส์ Aspherical 2 ชิ้น, ชิ้นเลนส์ ED 2 ชิ้น และชิ้นเลนส์ HR หรือ High Refractive อีก 3 ชิ้น โดยชิ้นเลนส์พิเศษทั้งหมดช่วยให้ได้ภาพที่คมชัด ทั่วทั้งเฟรมภาพ รวมทั้งช่วยปรับแก้ไขความคลาดสี, ให้ภาพที่มีคอนทราสต์ที่ดีเยี่ยมและใสเคลียร์ นอกจากนี้ยังช่วยลดการบิดเบี้ยวของภาพให้น้อยลงอีกด้วย
ชิ้นเลนส์ได้รับการเคลือบผิวเลนส์ด้วยเทคโนโลยี Neutrino Coating ช่วยลดการสะท้อนของแสงในกระบอกเลนส์ ทำให้ได้ภาพที่ปราศจากอาการแฟลร์และภาพหลอน รวมทั้งให้ภาพที่มีสีสันอิ่มตัวอีกด้วยวัสดุของตัวกระบอกเลนส์เป็นพลาสติก ABS ให้ความแข็งแรง ทนทาน และซีลตามรอยต่อต่างๆ ป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า ยกเว้นชิ้นเลนส์ด้านหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดที่แตกต่างจากรุ่น Blackstone ด้วย เช่นกัน
กระบอกเลนส์ออกแบบได้สวยงาม และแข็งแรงแน่นหนาดีทีเดียว ด้านหน้าเลนส์มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่สามารถใส่ฟิลเตอร์ ขนาด 95 มม. ได้ พร้อมเขี้ยวล็อคสำหรับฮูดรูปกลีบดอกไม้ ถัดมาออกแบบให้เรียวคอดเล็กลงมาที่วงแหวนปรับโฟกัส พร้อมวงแหวนล็อคโฟกัสไม่ให้หมุนเปลี่ยนโดยไม่ตั้งใจด้วย
ซ้าย : ก้านช่วยปรับโฟกัสใช้งานได้สะดวกดีทีเดียว
ขวา : คลิ๊กล็อคระยะอินฟินิตี้ ปรับโฟกัสไปที่ระยะอินฟินิตี้ได้โดยไม่ต้องคอยมอง
วงแหวนโฟกัสหุ้มด้วยยางนุ่มมือดีทีเดียว พร้อมออกแบบก้านปรับโฟกัสให้ใช้งานได้สะดวก บนวงแหวนพิมพ์ตัวเลขระยะโฟกัส พร้อมสเกล Hyperfocal เมื่อใช้ขนาดรูรับแสง 8, 11 และ 16 เพื่อให้ควบคุมเรื่องระยะชัดลึกได้สูงสุด นอกจากนี้ จุดเด่นของการปรับโฟกัสของเลนส์ IRIX 15 มม. นั่นคือมีร่องรองรับระยะโฟกัสที่อินฟินิตี้ให้หมุนลงล็อคได้ โดยไม่จำเป็นต้องคอยมอง ซึ่งสะดวกกับการถ่ายภาพในระยะอินฟินิตี้ อย่างถ่ายภาพดวงดาวที่เป็นการปรับตั้งกล้องท่ามกลางความมืดด้วย
ด้านหลังสเกลระยะชัดลึก เซาะเป็นร่องเล็กๆ รอบกระบอกเลนส์ และกระบอกเลนส์เรียวคอดลงไปที่เม้าท์เลนส์อีกหนึ่งสเตป เม้าท์เลนส์ออกแบบเป็นโลหะให้ความแข็งแรงกับการใช้งานเป็นอย่างดี พร้อมขั้วเชื่อมต่อไฟฟ้าสำหรับการปรับควบคุมขนาดรูรับแสง และยื่นยันระยะโฟกัสจากตัวกล้อง นอกจากนี้ยังมีเขี้ยวสำหรับใช้งานกับเจลาตินฟิลเตอร์ที่ด้านท้ายเลนส์ด้วยเช่นกัน
ซ้าย : ช่องหน้าต่างสำหรับปรับฟิลเตอร์โพลาไรซ์ โดยไม่จำเป็นต้องถอดฮูด
ขวา : วงแหวนล็อคโฟกัส ป้องกันการเลื่อนเปลี่ยนโดยไม่ตั้งใจ
ซ้าย : ช่องหน้าต่างสำหรับ calibrate ระยะโฟกัส
ขวา : เม้าท์เลนส์โลหะ ให้ความแข็งแรง ทนทาน พร้อมขั้วเชื่อมต่อไฟฟ้า และเขี้ยวล็อคสำหรับฟิลเตอร์เจลาติน
ด้านล่างของฮูด มีช่องหน้าต่างให้สามารถเปิดออกได้ เมื่อใช้งานกับฟิลเตอร์โพลาไรซ์ หรือฟิลเตอร์ ND Adjustable ที่จะต้องปรับหมุนวงแหวนด้านหน้าฟิลเตอร์ เพื่อสร้างเอฟเฟคต์ตามคุณสมบัติของฟิลเตอร์ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องถอดฮูดออกไป และด้านล่างของเลนส์ส่วนหน้า มีช่องหน้าต่างปิดทับด้วยแผ่นพลาสติกและสกรู ซึ่งเป็นช่องสำหรับปรับ calibrate ระยะโฟกัสที่อาจจะมีความผิดเพี้ยน เมื่อใช้งานกับกล้องบางรุ่น หรือบางตัวนั่นเอง
การใช้งาน
มุมมอง 110 องศา ช่วยให้เก็บบรรยากาศกว้างๆ ได้เป็นอย่างดี Sony A7II เลนส์ IRIX Firefly 15mm F2.4 โหมด M ชัตเตอร์ 20 วินาที f/2.8, ISO3200, WB: 3200K ภาพโดย : อรัญญา เนติ
ผมได้เลนส์ IRIX Firefly 15mm F2.4 ที่เป็นเม้าท์ EF สำหรับใช้งานกับกล้องแคนนอน จากการซื้อมาใช้งานส่วนตัวของน้องในกลุ่มถ่ายภาพด้วยกัน แต่ผมนำมาใช้งานกับกล้อง Sony A7 II ผ่านอะแดปเตอร์ Viltrox ซึ่งมีปัญหากับความผิดเพี้ยนของระยะโฟกัสเล็กน้อย แต่ยังคงสามารถปรับโฟกัสจากระยะใกล้สุด ไปจนถึงอินฟินิตี้ได้เป็นปกติ แต่ระยะจริงกับการแสดงผลระยะโฟกัสบนกระบอกเลนส์ ไม่ตรงกันเท่านั้นเอง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นปัญหากับการใช้งานปกติแต่อย่างใด แต่จะมีปัญหาเมื่อเป็นการถ่ายภาพดวงดาว ที่ตัวเลนส์ออกแบบให้ปรับไฟที่ระยะอินฟินิตี้ได้ง่ายๆ แต่พอระยะโฟกัสผิดเพี้ยนไปจะต้องเล็งโฟกัสเอง ซึ่งการใช้งานแบบนี้ อาจจะยุ่งยากนิดหน่อยครับ
สเกลบนกระบอกเลนส์ ช่วยให้คุมระยะชัดลึกได้อย่างสะดวกSony A7II เลนส์ IRIX Firefly 15mm F2.4 โหมด M ชัตเตอร์ 1/125 วินาที f/8, ISO100, WB: Daylight
เนื่องจากทีขนาดหน้าเลนส์ที่ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อติดฮูดเข้าไปด้วย จึงทำให้รู้สึกว่าตัวเลนส์มีขนาดใหญ่ไปด้วย แต่เมื่อติดเข้ากับ Sony A7 II ก็ดูลงตัวดีทีเดียวครับ โครงสร้างตัวเลนส์แน่นหนา ให้ความแข็งแรงดี ไม่มีโยกคลอน วงแหวนโฟกัสมีความหนืดกำลังดี ไม่ทำให้เมื่อยนิ้วเวลาโฟกัส และไม่ลื่นจนปรับโฟกัสได้ยาก เวลาที่ผมถ่ายภาพตามปกติในช่วงกลางวัน ผมปรับโฟกัสไปที่ระยะประมาณ 2 เมตร ปรับรูรับแสงที่ f/11 และล็อควงแหวนโฟกัสไม่ให้เคลื่อน เท่านี้ผมก็สามารถยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ได้เลย โดยไม่ต้องปรับโฟกัสใหม่ ช่วยให้ถ่ายภาพได้สนุกขึ้นด้วย
การเก็บรายละเอียดส่วนมืดและสว่าง ทำได้ดีทีเดียว Sony A7II เลนส์ IRIX Firefly 15mm F2.4 โหมด M ชัตเตอร์ 5 วินาที f/9, ISO200, WB: Daylight ภาพโดย : อรัญญา เนติ
คุณภาพและความคมของเลนส์ IRIX Firefly 15mm F2.4 ถือว่ายอดเยี่ยมทีเดียว คมและเก็บรายละเอียดได้ดีตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด f/2.4 (ปรับได้ f/2.5 เมื่อใช้กับอแดปเตอร์ Viltrox) กลางภาพคมชัดมากแต่ตามขอบๆ ภาพจะดูซอฟท์ๆ อยู่บ้าง และมีอาการขอบภาพมืดอยู่พอสมควร พอปรับลดขนาดรูรับแสงลงมาเป็น f/2.8 ขอบๆ ภาพคมชัดขึ้น อาการขอบภาพมืดหายไปพอสมควร ที่ f/4 ภาพคมชัดทั่วทั้งภาพ และอาการขอบภาพมืดหายไปครับ และอยู่ในระดับที่ดีเยี่ยมทั้งกลางและขอบภาพที่ f/5.6-f/16 ส่วนที่รูรับแสงแคบสุด f/22 ที่เลนส์ส่วนมากมักจะมีปัญหาเรื่องความคมที่ลดลงทั้งกลางภาพและขอบภาพ ซึ่งเลนส์ตัวนี้ก็เช่นเดียวกันครับ แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้น น้อยมาก ผมมีความรู้สึกว่าภาพที่ได้จากรูรับแสงแคบสุด f/22 ยังคงคมชัดในระดับที่ดี และขอบภาพก็ยังคมชัดมากกว่าที่รูรับแสงกว้างสุด นั่นหมายถึง ถ้าหากว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้รูรับแสงแคบสุด เพื่อคุมระยะชัดลึกตามที่ต้องการ ผมก็สามารถเลือกใช้ได้โดยไม่ต้องลังเลครับ
ความบิดเบี้ยว มีให้เห็นน้อยมาก Sony A7II เลนส์ IRIX Firefly 15mm F2.4 โหมด M ชัตเตอร์ 1 วินาที f/11, ISO100, WB: Auto
การเคลือบผิวแบบ Neutrino ช่วยลดอาการแสงแฟลร์และภาพหลอนได้เป็นอย่างดี Sony A7II เลนส์ IRIX Firefly 15mm F2.4 โหมด M ชัตเตอร์ 1/200 วินาที f/22, ISO100, WB: Daylight
อาการแฟลร์มีให้เห็นน้อยมาก ถึงแม้หลายๆ ครั้งผมจะถ่ายภาพแบบย้อนแสงตรงๆ ก็ตาม ส่วนอาการ CA ไม่มีให้เห็นครับ ซึ่งต้องชมเทคโนโลยีการเคลือบผิวเลนส์แบบ Neutrino Coating ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้การผสมผสานการเคลือบผิวเลนส์แบบปกติ กับการเคลือบผิวแบบ NANO Coating นั่นเอง ส่วนอาการบิดเบี้ยวหรือ Distortion มีให้เห็นบ้างเช่นกัน เป็นแบบบวมโค้งออกเล็กน้อย ซึ่งจะรูสึกได้ เมื่อวางองค์ประกอบแบบเส้นตรงชิดที่ขอบๆ ภาพครับ
ผลการใช้งาน
ภาพที่ได้มีความคมชัด สีสันสดใส และมีคอนทราสต์ที่ดีเยี่ยม Sony A7II เลนส์ IRIX Firefly 15mm F2.4 โหมด M ชัตเตอร์ 1/160 วินาที f/8, ISO100, WB: Auto
เลนส์ IRIX Firefly 15mm F2.4 เป็นเลนส์มุมกว้างพิเศษที่ออกแบบได้สวยงาม และประกอบไปด้วยชิ้นเลนส์พิเศษ ที่ช่วยให้ ได้ภาพคุณภาพสูง มีฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ได้งานได้สะดวก ออกแบบได้แข็งแรง มีความบิดเบือนของชิ้นเลนส์ตํ่าทำให้ได้ภาพที่ตรงตามความ เป็นจริง เหมาะทั้งช่างภาพแนวแลนด์สเคป และงานสถาปัตยกรรม ถือเป็นเลนส์อีกตัวหนึ่งที่ผมใช้แล้วถูกใจ ใช้งานได้สนุก และเป็นเลนส์ที่ต้องขอบอกว่า Highly Recoommended ครับ
เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^