BASIC PHOTO TECHNIQUES

อากาศแย่ๆ จะปรับแก้ยังไงดี??

อากาศแย่ๆ จะปรับแก้ยังไงดี??

อากาศแย่ๆ มีผลกับทั้งจิตใจและภาพถ่ายของเราล่ะครับ เช่น ทำให้หดหู่ ไม่สดชื่น ภาพถ่ายของเราในสภาพอากาศแย่ๆ ก็จะออกมาซอฟท์ๆ ทึมๆ สีสันอาจจะไม่จี๊ดจ๊าดเท่าที่ควร ถึงแม้ว่า ในการออกไปถ่ายภาพแต่ละครั้ง ทุกคนก็คาดหวังว่าจะได้สภาพแสงดีๆ ฟ้าใสๆ เพื่อจะได้ภาพที่มีสีสันอิ่มตัวตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องปรับแต่งอะไรมากมายนัก แต่ฤดูกาล หรือสภาพฝนฟ้าอากาศเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่เราไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูมาสุมเช่นนี้ ซึ่งถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เมื่อต้องเจอกับสภาพอากาศแย่ๆ เราจะมีวิธีแก้ปัญหาในการถ่ายภาพอะไรได้บ้าง ไปดูกันครับ

หาฉากหน้ามาบังไว้หน่อย

สำหรับคอแลนด์สเคป ถ้าต้องเจอกับฟ้าขาวๆ ล่ะก็ ไม่สนุกแน่ๆ วิธีแก้คือ หาฉากหน้ามาช่วยบังฟ้าขาวๆ ไว้หน่อย จริงๆ แล้ว การใช้ฉากหน้าแบบนี้ ใช้ได้ทั้งอากาศดี และไม่ดีนะครับ อากาศดี เราก็สร้างฉากหน้าได้ เพื่อทำให้ภาพดูมีมิติมากขึ้น ดูมีระยะใกล้-ไกล ทำให้ภาพดูไม่แบนอีกด้วย ส่วนเวลาอากาศไม่ดี เราก็เอาฉากหน้านั้น เราเอามาบังในส่วนที่เป็นท้องฟ้า ไม่ให้มีสีขาวๆ ทึมๆ มากจนเกินไปครับ

มองต่ำๆ ดูบ้าง

มองต่ำ ไม่ใช้แนะให้หามด หาแมลงมาเป็นแบบนะครับ แต่ให้มองบึงน้ำ หนองน้ำ แอ่งน้ำขังหลังฝนตก หรือพื้นกระเบื้องมันวาวที่มีเงาสะท้อนของซับเจคต์ที่เราต้องการถ่ายภาพ การ กดกล้องลงต่ำ ก็เพื่อลดพื้นที่ด้านบนที่อาจจะเป็นฟ้าขาวๆ ไปนั่นแหละครับ เวลาวาง องค์ประกอบภาพ จะเลือกเอาทั้งเงาสะท้อน ทั้งซับเจคต์อยู่ในเฟรมเดียวกัน หรือจะเอาเฉพาะเงาสะท้อนก็ได้เช่นกันครับ

ได้แสงนุ่มๆ ออกไปถ่าย Portrait ดีกว่า

แสงซอฟท์ๆ นุ่มๆ เหมาะสำหรับถ่าย ภาพบุคคล เพราะจะให้คอนทราสต์ที่ไม่แรงมาก การไล่โทนระหว่างส่วนมืด และส่วนสว่างไม่แตกต่างกันมาก หรือจัดจ้านมากนัก ดีกว่าแสงแดดแข็งๆ ที่เงาค่อนข้างชัดเจน  ต้องหลบแดด ต้องใช้รีเฟลกซ์ลดเงากันอุตลุด ถ้าหากว่าเจอกับอากาศที่ไม่เป็นใจแบบนี้ จะเลือกถ่ายภาพบุคคลแทนภาพวิวทิวทัศน์จะดีกว่านะครับ หาใครไม่ได้ ก็ข้างๆ หรือคนรู้ใจนี่แหละ เป็นแบบที่ดีเยี่ยมทีเดียวครับ 

ปรับกล้องเพิ่มคอนทราสต์และสีสันอีกหน่อย

บางครั้ง เวลาที่ถ่ายภาพในสภาพอากาศขมุกขมัว มีหมอกบางๆ ภาพที่ได้จะดูไม่สดใสนัก ก็แน่ล่ะครับ หมอกคลุมซะขนาดนั้น มองไปไหนไกลๆ ก็ยังยาก ถ่ายภาพออกมา สีสันก็ดูหม่นหมองไปหมด วิธีแก้ก็ให้ปรับพารามิเตอร์ของกล้อง ก็คือ Picture Style ของแคนนอน, Picture Control ของนิคอน, Film Simulator ของฟูจิฟิล์ม, Creative Style ของโซนี่ และกล้องอื่นๆ ที่ไม่ได้เอ่ยถึง ให้เป็น Landscape ซึ่งปกติแล้ว Landscape จะเน้นโทนสีเขียว และสีฟ้าให้สดใสขึ้น รวมทั้งเพิ่มคอนทราสต์ให้จัดขึ้นด้วย ต่างจากการเร่งสีแบบ Vivid ที่กล้องจะปรับเพิ่มคอนทราสต์ด้วยเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน กล้องก็เร่งสีทุกๆ สีให้สดใสขึ้นจนบางครั้งจัดจ้านเกินไป ดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่ก็เป็นความชอบของแต่ละบุคคลนะครับ จะใช้ Standard แล้วเพิ่มคอนทราสต์เองก็ไม่ว่ากันครับ   

ลองถ่ายแบบขาว-ดำดูบ้าง

ถ้าหากว่าทนไม่ไหวกับสีตุ่นๆ ทึมๆ ของภาพ ก็เลี่ยงไปถ่ายภาพขาว-ดำแทน โดยกล้องบางยี่ห้อ สามารถปรับเลือกฟิลเตอร์สี ที่มีให้เลือกอย่างน้อย 4 สี อาทิ สีส้ม, สีแดง, สีเขียว หรือสีเหลือง เพื่อเพิ่มน้ำหนักของโทนภาพให้แตกต่างกันมากขึ้น ไม่ใช่เป็นขาวตุ่นๆ กับเทาทึมๆ เพียงอย่างเดียว โดยถ้าหากว่าเลือกฟิลเตอร์สีใดๆ โทนสีนั้นๆ ในภาพ จะสว่างใสขึ้น และโทนสีที่เป็นสีตรงข้ามกันจะทึบลง ทำให้มีความแตกต่างของโทนขาวและดำในภาพมากขึ้น ทำให้ภาพดูมีน้ำหนัก มีมิติ ดูไม่แบนด้วยครับ ถ้าหากว่า ยังเสียดายสีอยู่ไม่อยากได้ขาว-ดำทั้งหมด ก็ถ่ายเป็น RAW+JPEG ไว้ก่อน เพราะ ฟล์ RAW ยังสามารถโปรเซสให้เป็นภาพสีได้เช่นเดิมครับ

ออกไปเก็บภาพช่วงหัวค่ำดีกว่า

ในเมื่อช่วงกลางวันไม่มีสีสันอยู่แล้ว งั้นก็ออกไปเก็บแสงไฟช่วงเย็นๆ ดีกว่า ถึงแดดจะไม่มา แต่ใกล้ๆ ค่ำฟ้าเปลี่ยนสีแน่นอน จะได้ภาพแบบท้องฟ้าเป็นโทนสีฟ้า และมีแสงไฟสีสัมๆ แดงๆ ตัดกัน ถ้าสะดวกก็กางขาตั้งกล้อง จะช่วยให้ได้ภาพที่คมชัด เล่นกับเอฟแคบๆ ให้ไฟเป็นแฉก หรือจะลากไฟรถยาวๆ ก็ได้เช่นกันครับ

Tips เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการถ่ายภาพเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตามที่เขียนไปทั้งหมด เพราะสภาพ “อากาศแย่ๆ” ก็ย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ หรือช่วงเวลาอยู่แล้ว และอีกอย่างหนึ่งนั้นคือ ความชื่นชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก็เอาตามที่ชอบเลยครับ

..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ…   

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video