ADVANCE

Center Of Macro

“องค์ประกอบภาพ” จัดเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของคนถ่ายภาพ แต่มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากต่อความเข้าใจของหลายคน และไม่ว่าเหตุผลจะเป็นไปด้วยอะไรก็ตามที ไม่แน่ว่ามันนั่นแหละคือปัจจัยอันอาจจะทำให้เราตกม้าตายตั้งแต่เริ่มต้นเลยก็เป็นได้..

ถ้าจะนับกันจริงจังละก็ ผมผ่านการแนะนำต่อนักถ่ายภาพมือใหม่มาเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ค่อนข้างมีความตั้งอกตั้งใจในการถ่ายภาพแนวนี้แทบทั้งสิ้น และผมก็มั่นใจว่าคุณเองที่แวะอ่านเนื้อเรื่องของผมในขณะนี้ก็ต้องสนใจการถ่ายภาพโลกใบจิ๋วไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่ๆ

..แล้วใครบ้างละครับที่ไม่อยากจะถ่ายภาพมาโครให้มันสวยเด่นสะดุดตา มาโครออกมาให้เด็ดขาดสะดุดใจ?

ก็เพราะว่าการถ่ายภาพแบบมาโครมันไม่ใช่แค่การยกกล้องขึ้นเล็งแล้วก็กดแบบการถ่ายภาพทั่วไปที่เราเห็นกันอยู่ดาษดื่น คุณต้องเล็งแล้วเล็งอีก ก้มๆ เงยๆ (หาตัวแบบจิ๋ว) หรือแม้กระทั่งนอบราบไปกับพื้นจนเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ซึ่งถ้าถึงขั้นนั้นคุณคงไม่สามารถทำได้ในยามที่ออกท่องเที่ยวกับครอบครัวหรือคนรัก เพราะพฤติกรรมแบบนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทายสายตาและคำวิจารณ์จากชาวโลกเป็นอย่างมากโดยรวมแล้วก็คือ ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว

ภาพบน : Canon EOS 100D, Tamron 60mm f/2 Di II LD MACRO, 1/125 sec., f/8, ISO-400


เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอครับว่า “การจัดองค์ประกอบ” คือเรื่องสำคัญของการถ่ายภาพและงานศิลปะทั้งหลาย ซึ่งผมก็ยืนยันถึงเรื่องนี้อีกหนึ่งเสียงครับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากจริงๆ เพราะการจัดองค์ประกอบภาพนี่แหละคือสิ่งที่จะช่วยทำให้ภาพถ่ายของเรามีเรื่องราวและเนื้อหาที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

แต่ข้อแนะนำของผมสำหรับมาโครมือใหม่ก็คือ.. อย่าเพิ่งเน้นที่การวางจัดองค์ประกอบภาพครับ เพราะในระยะเริ่มต้นนี้สิ่งที่คุณควรฝึกฝนให้เชี่ยวชาญชำนาญกลยุทธ์เสียก่อนก็คือ “ความแม่นยำ” ในการโฟกัสต่อเป้าหมาย

อย่างที่ผมได้บอกไปเมื่อสักครู่ครับว่า การถ่ายภาพมาโครนั้นค่อนข้างจะยากลำบากกว่าการถ่ายภาพประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่ถ่ายภาพมาโครแบบมือเปล่าโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องนั้นยิ่งไปกันใหญ่เลย เพราะเพียงการขยับแค่เศษเสี้ยวของมิลลิ-เมตรก็ทำให้คุณพลาดต่อโฟกัสเป้าหมายได้แล้ว และมันก็จะง่ายต่อการมอบความท้อแท้ให้กับเราในเมื่ออะไรๆ มันก็ไม่ได้ดั่งใจ ซ้ำร้ายตัวแบบหลายชนิดก็ไม่สามารถสั่งการหันซ้ายหันขวาได้เสียด้วย

ดังนั้นสำหรับในระยะเริ่มต้นฝึกฝน ผมจะขอแนะนำให้คุณวางเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพเอาไว้สักครู่ก่อนครับ รอให้ชำนาญต่อการควบคุมโฟกัสเสียก่อนแล้วค่อยหยิบขึ้นมาใส่เข้าไปในประเด็นของเรา แต่ที่ผมพูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าให้คุณถ่ายภาพไปสะเปะสะปะยังไงก็ได้ ขอให้โฟกัสเข้าเป้าก็พออย่างนั้นนะครับ ผมจะบอกเคล็ดลับวิธีคิดต่อเรื่องนี้เอาไว้ให้ และเมื่อถึงเวลาที่คุณจะหยิบยกเอาเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพขึ้นมาร่วมด้วยก็สามารถนำมาใช้ได้ด้วยเช่นกัน

pt112_02

Canon EOS 100D, Tamron 60mm f/2 Di II LD MACRO, 1/125 sec., f/8, ISO-200

pt112_03

Canon EOS 6D, EF 40mm f/2.8 STM + Macro Extension Tube 34mm, 1/180 sec., f/16, ISO-50

pt112_04

Canon EOS 6D, EF 40mm f/2.8 STM + Macro Extension Tube 34mm, 1/180 sec., f/16, ISO-200


Center of Macro

pt112_05

Canon EOS 100D, Tamron SP 90mm f/2.8 Macro Di VC USD, 1/160 sec., f/18, ISO-100

รู้ไหมครับว่าการจัดวางองค์ประกอบภาพแบบพื้นฐานที่สุดแต่ทรงพลังมากที่สุดคืออะไร? คำตอบก็คือสิ่งง่ายๆ ที่เรามักจะมองข้ามครับ นั่นก็คือ “การวางตัวแบบเอาไว้ตรงกึ่งกลางของพื้นที่ภาพ” หรือเรียกอีกอย่างว่า “สมมาตร” นั่นเอง

..โธ่เอ๋ย นึกว่าจะเป็นเรื่องอะไร แค่นี้ใครๆ ก็ทำได้.. ใช่แล้วครับ เรื่องพื้นๆ แบบนี้นี่แหละ แต่เมื่อเป็นภาพมาโครแล้วก็ใช่ว่าใครๆ ก็จะทำกันได้อย่างง่ายดายเสมอไปหรอกนะ ก็เพราะอย่างที่บอกครับว่ามาโครน่ะไม่ใช่แค่ยกกล้องขึ้นแล้วกดแบบชิวๆ เหมือนตอนเดินเล่นอยู่ชายหาดนี่นะ

โดยธรรมชาติของภาพมาโครแล้วจะเรียกร้องความสนใจได้ค่อนข้างสูงมาก เพราะมันเป็นภาพที่ต่างออกไปจากที่สายตาเห็นในชีวิตประจำวันปกติ ดังนั้นจึงดูน่าสนใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

การวางตัวแบบเอาไว้กึ่งกลางภาพคือสิ่งที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดในเมื่อเราเป็นมือใหม่ เพราะผมเห็นผ่านตามาไม่น้อยครับกับกรณีการพยายามจัดวางองค์ประกอบภาพมาโครในหลากหลายรูปแบบ แต่มันกลับทำให้ภาพถูกลดความน่าสนใจลงไปอย่างน่าเสียดาย บางภาพนั้นก็กลายเป็นเหมือนไม่ใช่ภาพมาโครไปเลยทีเดียว

ในขณะที่ถ่ายภาพผมขอให้คุณใส่ใจและตั้งสมาธิกับการจับโฟกัสให้มากเข้าไว้ หรือถ้าจะมีอีกอย่างหนึ่งก็คือใส่ใจในเรื่องของ “แสง” เข้าไว้ด้วย ขอแค่สองอย่างนี้ก่อนในระยะเริ่มต้นแรก ตัดเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพแบบพิสดารพันลึกท่ายากออกไป แล้ววางตัวแบบไว้ตรงกลางภาพเลย เชื่อไหมล่ะครับว่าในขณะที่คุณกำลังเล็งโฟกัสด้วยมือเปล่านั้นเมื่อต้องคำนึงถึงเรื่องจัดองค์ประกอบเข้าไปอีกอย่างหนึ่งแล้วมันก็จะทำให้การถ่ายภาพมาโครยากขึ้นไปอีกหลายเท่า

สำหรับในมุมมองของผมแล้ว ภาพที่จัดองค์ประกอบภาพโดยให้ตัวแบบอยู่ตรงกลางภาพแล้วโฟกัสเข้า จะดูดีมากกว่าภาพที่จัดองค์ประกอบภาพแบบจัดแสดงมุมอิทธิฤทธิ์แต่โฟกัสไม่เข้า ซึ่งผมคงจะตัดสินใจซื้อภาพแรกแน่ๆ ต่อให้องค์ประกอบสุดยอดแค่ไหนแต่โฟกัสไม่เข้าก็ถือว่า..จบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกภาพแมลงตัวเล็กตัวน้อยทั้งหลายแหล่ซึ่งเราต้องวางตำแหน่งโฟกัสเอาไว้ที่ “ดวงตา” เป็นหลัก ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะถือว่าโฟกัสพลาด เว้นเสียแต่ว่าคุณมีความตั้งใจที่จะนำเสนอส่วนอื่นซึ่งสามารถเห็นความตั้งใจได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่ว่าโฟกัสพลาดแล้วจะมาบอกว่าต้องการนำเสนอส่วนท้ายทอยมันต่างหาก อันนั้นก็จะแถไปนิดนึง

ซึ่งก็อีกแหละครับ การจัดวางตัวแบบเอาไว้ตรงกลางก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องถ่ายภาพหน้าตรงติดบัตรเสมอไป จะถ่ายด้านข้าง ด้านบน ด้านล่าง หรือยังไงก็ตาม ก็เพียงพยายามจัดมันเอาไว้ตรงกลางภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพแนวตั้งหรือแนวนอนก็อยู่ตรงกลางได้ทั้งนั้น

ดังนั้นพยายามให้ความสำคัญกับโฟกัสและจัดแจงเรื่องแสงเป็นอันดับแรกครับ เมื่อเชี่ยวชาญแล้วค่อยหยิบเอาการจัดองค์ประกอบภาพขึ้นมาเสริมเข้าไป

ในช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นนี้คุณจะต้องการข้อมูลอันหลากหลายเพื่อเข้ามาต่อเติมประสบการณ์เป็นอย่างมากเชียวครับ ไหนจะยังมีเรื่องของอุปกรณ์อันเยอะแยะและวิธีการใช้งานมันอีก ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายเลย

เพียงแค่วิธีการจับถือกล้องและอุปกรณ์ก็ต้องใช้เวลาสำหรับการฝึกฝนแล้ว ต่อให้ใช้ขาตั้งกล้องก็เถอะ คุณก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้อยู่ดี

pt112_06

Canon EOS 6D, Tamron SP 90mm f/2.8 Macro Di VC USD, 1/125 sec., f/16, ISO-160

pt112_07

Canon EOS 6D, Tamron SP 90mm f/2.8 Macro Di VC USD, 1/180 sec., f/13, ISO-200

pt112_08

Pentax K-30, SMC Pentax-D FA 100mm f/2.8 Macro WR, 1/100 sec., f/13, ISO-400


วิธีการในแบบของผม

pt112_09

Nikon D7000, Tamron 60mm f/2 Di II LD Macro, 1/160 sec., f/16, ISO-100

ส่วนใหญ่แล้วผมก็จะถ่ายมาโครโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง และก็ต้องใช้อีกมือจับถือแฟลชแยกอีกต่างหาก ถ้ามองโดยผิวเผินแล้วก็เหมือนกับจะต้องถือกล้องด้วยมือเดียว.. ถูกต้องแล้วครับ ต้องถือกล้องด้วยมือเดียวในกรณีที่ไม่ได้เข้าใกล้ตัวแบบมากนัก (ซึ่งไม่เข้าใกล้ในที่นี้หมายถึงระยะห่างประมาณหนึ่งไม้บรรทัด) แต่ถ้าต้องเข้าไปจ่อใกล้ๆ แบบแทบโดนหายใจรดหน้าเลนส์อยู่แล้วละก็ แบบนั้น DOF (Depth of Field) หรือระยะครอบคลุมของโฟกัสมันจะบางเฉียบและยากเย็นยิ่งนัก ผมก็จะกางนิ้วบางส่วนที่แบ่งออกมาจากการจับยึดแฟลชมาประคองใต้เลนส์ แล้วแนบหน้าแฟลชเอาไว้ที่ส่วนปลายด้านบนของหน้าเลนส์อีกที ซึ่งก็จะช่วยในเรื่องของทั้งการประคองกล้อง (ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความนิ่งในการจับโฟกัส) และระยะห่างของแฟลช

และบางโอกาส “นิ้วก้อย” ก็ต้องแบ่งมาทำหน้าที่ในการยันพื้นช่วยอีกต่างหาก

ความลำบากในวิธีการของผมก็มาจากการที่ไม่ได้ใช้แฟลชสำหรับงานมาโครโดยเฉพาะนี่แหละครับ เราก็เลยต้องพยายามฝึกฝนพัฒนาท่าทางในการจับประคองมันขึ้นมา ซึ่งผมแน่ใจว่าเร่ืองนี้ไม่ได้ยากเย็นเกินความสามารถจากการฝึกฝนของทุกท่านแต่อย่างใด

ถามว่าทำขนาดนี้แล้วแสดงว่าไม่มีการผิดพลาดในทุกช็อตที่สาดชัตเตอร์ออกไปแน่ๆ? ..เปล่าเลยครับ ใช่ว่าจะได้ดั่งใจในทุกช็อต ขึ้นชื่อว่าภาพมาโครแล้วละก็ไม่มีวันได้ดั่งใจสั่งมาทุกช็อตแน่ๆ บางครั้งจังหวะได้แต่โฟกัสพลาด บางครั้งโฟกัสไม่พลาดแต่จังหวะไม่ดีก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ลม” ที่พัดแผ่วไปแผ่วมานี่แหละตัวดีนักเชียว

..บอกแล้วว่ามันไม่ง่าย

ก็ขนาดนี้แล้วยังไม่ได้ดั่งใจ แล้วมือใหม่จะเหลือหรือ? ผมจึงต้องมาแนะนำนี่ล่ะครับว่าในช่วงแรกของมือใหม่ต้องพยายามลดสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อโฟกัสออกไปก่อน ซึ่งนั่นก็คือการจัดองค์ประกอบภาพแบบพิสดารฝ่าด่านอรหันต์นั่นแหละครับ ใช้เพียงแค่การอยู่กึ่งกลางนี่แหละ ซึ่งผมเชื่อว่าคือสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้มือใหม่เรียน
รู้ได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินและไม่ล้มเลิกกลางคันเสียก่อน แถมยังได้ภาพสวยงามเป็นที่ยอมรับได้อีกด้วย

จะจัดองค์ประกอบภาพมาโครของเราอย่างไรดี? แค่คุณมีคำถามนี้มันก็จะทำให้สมาธิกระเจิดกระเจิงได้ในระดับหนึ่งเลยล่ะ หลังจากนั้นความเกร็งก็จะตามมา และในที่สุดก็จะถึงขั้นเครียดได้เลยทีเดียว และสุดท้ายก็จบลงตรงที่ไม่ประสบความสำเร็จและลาโรงไปด้วยความรู้สึกว่าถ่ายภาพมาโครไม่เห็นจะสนุกตรงไหน.. น่าเสียดาย

หรือในอีกกรณีหนึ่งก็คือ ไม่คิดเรื่องจัดองค์ประกอบภาพเลยเพราะมันยากและไม่เข้าใจ ขอแค่โฟกัสได้ก็พอ อันนั้นก็ดูจะคิดน้อยไปสักนิด เพียงแค่จับมาไว้กลางภาพโดยไม่ต้องคิดอะไรเยอะแยะ รับประกันซ่อมฟรีว่าได้ภาพดีและห่างไกลจากข้อครหาแน่นอน

ดังนั้นแล้วก็จัดเอาไว้ตรงกลางเลยครับ ง่ายๆ ไม่คิดมาก แต่ได้ผลมากมายมหาศาล เพราะบอกแล้วว่าลำพังแค่ตัวแบบและลักษณะภาพมาโครก็เรียกร้องความสนใจได้มากมายเป็นล้นพ้นอยู่แล้ว จับวางตรงกลางภาพซะ.. จบเลย

pt112_10

Canon EOS 6D, Tamron SP 90mm f/2.8 Macro Di VC USD, 1/125 sec., f/13, ISO-100

เรื่อง/ภาพ : ปิยะฉัตร แกหลง