BASIC PHOTO TECHNIQUES

Custom White Balance เอาไว้ใช้งานแบบไหน

Custom White Balance เอาไว้ใช้งานแบบไหน

เมนูของกล้องดิจิตอลที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากกล้องฟิล์ม หนึ่งในนั้นคือ White Balance หรือสมดุลแสงขาว ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในยุคฟิล์มนั้น การเลือกฟิล์มถ่ายภาพมาใช้งาน จะต้องเลือกให้ตรงกับสภาพแสงที่ใช้ เช่น ถ่ายภาพกลางแจ้ง ก็เลือกใช้ฟิล์ม Daylight ถ่ายภาพในห้องที่ตกแต่งด้วยไฟหลอดใส้ หรือไฟทังสเตน

ถ้าอยากให้สีสันของภาพออกโทนเหลือง ก็เลือกใช้ฟิล์ม Daylight แต่ถ้าอยากให้สีของห้องเป็นโทนสีปกติ ไม่ติดเหลือง ก็เลือกใช้ฟิล์ม Tungsten ซึ่งฟิล์มหลักๆ ก็จะมีให้เลือกใช้ไม่มากนัก ส่วนถ้าหากว่า ยังได้สีสันไม่ตรงตามที่ต้องการ ก็เลือกฟิลเตอร์โทนสีต่างๆ มาปรับแก้สีให้ได้โทนภาพตามที่ต้องการ แน่นอนว่า ช่างภาพในยุคฟิล์ม จะมีอุปกรณ์เสริมอย่างเช่นฟิลเตอร์สี ค่อนข้างเยอะทีเดียว

ภาพถ่ายเพื่อโฆษณา หรือภาพเพื่อการขายของออนไลน์ มักจะต้องการความเที่ยงตรงของสีสูง เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการสั่งซื้อของลูกค้า การถ่ายภาพแบบนี้สามารถควบคุมสภาพแสง หรือสามารถจัดไฟได้ตามต้องการ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิสี สามารถใช้ Custom White Balance เพื่อให้โทนสีออกมาเที่ยงตรงได้

พอมาถึงยุคกล้องดิจิตอล ผู้ผลิตกล้องทุกแบรนด์ ก็จะมีเมนู White Balance มาให้ใช้งาน ซึ่ง White Balance นี้ จะเป็นการอ้างถึงอุณหภูมิสีที่มีโทนสีขาว และยึดเอาสีขาวเป็นหลักในการปรับโทนสีของภาพ ถ้าหากว่าถ่ายภาพออกมาแล้ว สิ่งที่มีสีขาวในภาพ ไม่ขาวตามจริง ก็แสดงว่าสีเพี้ยน จะต้องปรับแก้ไข โดยโทนสีขาว จะเป็นโทนที่ดูได้ง่ายสุดว่าตรงหรือไม่ตรงตามจริง

การถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติ อุณหภูมิสี มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทำให้ไม่เหมาะสำหรับการใช้งาน Custom White Balance

เมนู White Balance มีให้เลือกใช้อยู่หลายรูปแบบ เช่น Auto กล้องจะปรับโทนให้ตามค่าที่ผู้ผลิตโปรแกรมเอาไว้, Daylight ถ่ายด้วยแสงอาทิตย์, Tungsten แหล่งกำเนิดแสงเป็นหลอดใส้, Fluorescent แหล่งกำเนิดแสงเป็นไฟ Fluorescent หรือไฟนีออน ตามภาษาบ้านๆ ที่เรียกกัน

รวมทั้ง K หรือ Kelvin ซึ่งเป็นการปรับตั้งตามค่าอุณหภูมิสี ณ ขณะนั้นจริงๆ ซึ่งจะต้องมีมิเตอร์สำหรับวัดค่าอุณหภูมิสี ถึงจะได้ค่าที่แม่นยำ แต่ช่างภาพมืออาชีพหลายๆ คนที่มีความชำนาญในการถ่ายภาพแล้ว ก็จะใช้การประเมินจากประสพการณ์แทน White Balance ส่วนใหญ่ จะให้โทนสีที่ถูกต้อง แม่นยำ และใช้งานได้สะดวกมาก

Custom White Balance คืออะไร

Custom White Balance คือการปรับตั้ง White Balance โดยอ้างอิงจากสภาพแสง หรืออุณหภูมิสี ณ ขณะนั้น แล้วส่งข้อมูลให้กล้องบันทึกเป็นค่า White Balance สำหรับถ่ายภาพเฉพาะสถานที่นั้นๆ เท่านั้น เหมาะสำหรับใช้งานถ่ายภาพที่แสง หรืออุณหภูมิสีไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ่ายภาพในสตูดิโอ เป็นต้น ช่างภาพสามารถเซ็ต Custom White Balance ครั้งเดียว แล้วก็ถ่ายภาพไปได้จนจบงาน

นอกจากจะใช้ในสภาพแสงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังใช้กับสภาพแสงที่มีแสงผสมหลายๆ รูปแบบ ซึ่งช่างภาพเองก็ไม่มั่นใจว่าจะตั้ง White Balance แบบไหน รวมทั้งใช้กับแสงกลางแจ้งได้ แต่จะมีความยุ่งยากมากกว่า และต้องคอย Custom ใหม่อยู่ตลอดเวลาที่สภาพแสงเปลี่ยนไป

ในสตูดิโอถ่ายภาพที่สภาพแสงไม่ได้เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ สามารถตั้ง Custom White Balance ได้ทั้งการถ่ายภาพด้วยไฟแฟลช และไฟแสงนิ่ง

การปรับ Custom White Balance ของกล้องแต่ละแบรนด์

แอดมินรวบรวมมาเฉพาะ 5 กล้องแบรนด์หลักๆ ซึ่งจะมีชื่อเรียกและการปรับตั้ง Custom White Balance ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ตามนี้ครับ

Canon

แคนนอนใช้ชื่อเมนูนี้ว่า Custom WB เริ่มต้นการปรับตั้งโดยการถ่ายภาพตัวอย่างในสภาพแสงที่ต้องการปรับ Custom White Balance มาหนึ่งภาพ จากนั้นให้เข้าเมนู Custom WB แล้วกดปุ่ม set แล้วเลือกรูปที่ต้องการอ้างอิง จากนั้นกดปุ่ม set อีกครั้ง หน้าจอจะขึ้นข้อความให้ยืนยันว่าจะใช้รูปนี้ใช่มั๊ย ก็กด ok 

จากนั้นกล้องจะแจ้งให้เปลี่ยน White Balance ไปที่ตำแหน่ง Custom ก็กด ok อีกครั้ง แล้วก็ไปที่หน้าจอหลัก เปลี่ยน White Balance ไปที่ตำแหน่ง Custom แล้วถ่ายภาพได้เลย 

Fujifilm

ฟูจิฟิล์มเรียกเมนูนี้ว่า Custom เลือกปรับตั้งได้ 3 ตำแหน่ง คือ Custom 1, Custom 2 และ Custom 3 วิธีการปรับตั้งก็ให้เริ่มจากเมนู White Balance จากนั้นเลือกตำแหน่งที่จะปรับตั้ง custom 1, 2 หรือ 3 ที่หน้าจอมอนิเตอร์จะโชว์กรอบสี่เหลี่ยม ลักษณะเหมือนกรอบโฟกัสในเฟรมภาพ ก็ให้เล็งกรอบสี่เหลี่ยมนั้นไปยังพื้นที่ที่ต้องการปรับตั้ง ซึ่งควรเลือกพื้นที่เป็นโทนขาวหรือเทา เพื่อความแม่นยำในการคำนวณ

จากนั้นกดปุ่มชัตเตอร์ เพื่อให้กล้องคำนวณ Custom White Balance ถ้าหากว่าการคำนวณสมบูรณ์ กล้องจะโชว์คำว่า Completed ก็ให้กด OK เพื่อบันทึกค่านั้น แล้วกลับหน้าจอปกติเพื่อถ่ายภาพได้เลย มีข้อแนะนำในการคำนวณ Custom White Balance จะต้องปรับค่าวัดแสงให้พอดีก่อน ถ้าหากว่าค่าวัดแสงโอเวอร์ หรืออันเดอร์ กล้องจะไม่คำนวณให้

Nikon

นิคอนเรียกเมนูนี้ว่า Preset ซึ่งเลือกปรับตั้งได้จากเมนู White Balance แล้วเลือกมาที่ตำแหน่ง Preset จากนั้นกดปุ่มด้านล่างของแป้นควบคุมสี่ทิศทาง เพื่อเลือกตำแหน่งในการปรับตั้ง ซึ่งมีให้เลือกได้ทั้งหมด 6 ตำแหน่ง ตั้งแต่ d1-d6 เมื่อเลือกตำแหน่งแล้ว กล้องจะย้อนเมนูกลับมาที่ตำแหน่ง Preset ก็ให้กดปุ่ม OK ตรงกลางแป้นควบคุมสี่ทิศทางค้างไว้ประมาณ 3 วินาที

ที่หน้าจอมอนิเตอร์จะโชว์กรอบสี่เหลี่ยมตรงกลางจอ พร้อมคำว่า PRE กะพริบ ให้เล็งกรอบสี่เหลี่ยมไปยังพื้นผิวสีขาว หรือสีเทา ขยับพื้นผิวให้เต็มเฟรมที่สุดเท่าที่จะทำได้ (กล้องจะไม่ปรับโฟกัส) แล้วกดปุ่ม OK ถ้าคำนวณได้สมบูรณ์ กล้องจะโชว์คำว่า data acquired ก็ให้กดเมนูย้อนกลับมาหน้าจอปกติ แล้วถ่ายภาพไปได้เลย

Panasonic

พานาโซนิคเรียกการปรับตั้งว่า White Set (อ้างอิงจากกล้อง Lumix GM1) เริ่มจากการเข้าเมนู  White Balance จากนั้นเลือกไปที่ตำแหน่ง Custom แล้วกดแป้นสี่ทิศทางด้านบนเพื่อปรับ White Set ซึ่งหน้าจอมอนิเตอร์จะโชว์กรอบสี่เหลี่ยม ก็ให้เล็งกรอบนั้นไปยังซับเจคต์ที่จะใช้ปรับตั้ง แล้วกดปุ่มตรงกลางแป้นสี่ทิศทาง

ที่หน้าจอจะโชว์คำว่า Completed ถ้าการคำนวณเสร็จสมบูรณ์ หรือให้ทำใหม่อีกครั้ง ถ้ายังคำนวณไม่ได้ ข้อควรระวังคือ พยายามเลือกพื้นที่ในการคำนวณเป็นโทนสีขาว หรือสีเทา จะทำให้โทนสีที่แม่นยำ ตรงตามความเป็นจริงครับ

Sony

โซนี่ใช้ชื่อเมนูนี้ว่า Custom Setup มีขั้นตอนการปรับตั้งค่าดังนี้ เริ่มแรกเข้าไปที่เมนู White Balance จากนั้นเลือกไปที่  Custom Setup กดปุ่มควบคุมด้านหลังตรงกลาง หน้าจอจะโชว์วงกลมเล็กๆ กลางภาพ ให้ใช้วงกลมนั้น เล็งไปที่ซับเจคต์ที่มีโทนสีขาว หรือสีเทาในภาพ แล้วกดปุ่มตรงกลางแป้นควบคุมด้านหลังอีกครั้ง

หน้าจอจะโชว์ค่าการปรับตั้งที่คำนวณได้ จากนั้นก็กดเซฟไปที่ Custom 1, 2 หรือ 3 ก็ได้ตามการใช้งาน ข้อควรระวังคือ พยายามเลือกพื้นที่ในการคำนวณเป็นโทนสีขาว หรือสีเทา จะทำให้โทนสีตรงตามความเป็นจริงครับ

ยังไงก็ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะครับ ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ..

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video