เพื่อไม่ให้เสียเวลามาต่อจากคราวที่แล้วกันเลยครับ หลังจากเดินลงเขาเข้าถึงบ้านพี่โอ๊ตริมแม่น้ำแควน้อย ทุกคนอาบน้ำอาบท่าและจัดข้าวของกันอีกรอบเพื่อให้พร้อมสำหรับการพายคายัคแบบทัวร์ริ่งเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ซึ่งคราวนี้เราไปกันเองได้โดยไม่ต้องมีใครนำทาง(แต่ให้พี่อีกคนขนเรือไปส่งในจุดที่ต้องการให้) ด้วยเป็นแม่น้ำที่คุ้นเคยกันดีพอสมควร สมาชิกจึงเหลือเพียงแค่ 5 คน ทว่าข้าวของกลับมากมายก่ายกองกว่าเมื่อวานหลายเท่า
ภาพบน : “เข้าโค้ง” นี่คือจุดที่ผมคิดว่าจะได้ภาพแอ๊คชั่นการพายที่ดีที่สุดในทริป จึงใช้เวลาค่อนข้างนานในการเตรียมตัว จนถึงกับต้องเอ่ยปากร้องขอให้เพื่อนร่วมทางหยุดรอเหนือแก่งจนกว่าผมจะพร้อม เป็นการถ่ายภาพแบบเน้นๆ ที่สุดของทริปก็ว่าได้ครับ ซึ่งก็ได้ภาพที่ถูกใจพอสมควร ภาพลักษณะนี้ในทางเทคนิคแล้วไม่ยากหรอกครับ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการเลือกโลเคชั่นที่เหมาะสมเข้ากันได้ ทั้งจุดที่จะยืนถ่าย ระยะห่างที่เหมาะสมกับวัตถุ รวมถึงทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุด้วย ประสบการณ์เท่านั้นครับ ที่สามารถบอกเราได้ดีที่สุดว่าจุดนั้นมันคือตรงไหน Canon EOS 5D MK II, LENS EF 17-40 MM. F/4L, 1/13 Sec. F/16, ISO 200
เพราะถึงแม้ว่าจะต้องนำติดตัวกันไปเองตลอด แต่ก็มีที่ว่างบนเรือ(แบบ 1 ลำ 1 คน พายด้วยตัวเอง) เหลือเฟือ แพ๊คใส่ถุงกันน้ำให้ดียึดกับเรือให้แน่นๆ ด้วยเชือกและยางยืดก็สบายใจหายห่วงว่าต่อให้เรือคว่ำข้าวของก็ไม่เสียหายหรือสูญหายไปกับสายน้ำแต่อย่างใด (ถ้าเรือคว่ำก็ช่วยกันพลิกเรือขึ้นให้เร็วที่สุดแค่นั้นเองครับ)
เส้นทางล่องช่วงแรกในแม่น้ำน้อย แม่น้ำมีขนาดเล็กและไม่ลึก แต่ก็มีโขดหินและเกาะแก่งเล็กๆ ที่สามารถคว่ำเรือลงได้ง่ายๆ หากพายผิดร่องผิดรอย ส่วนครึ่งทางช่วงหลังในแม่น้ำแควน้อย ต่างออกไปคนละแบบกันเลย เพราะแม่น้ำกว้างและลึกมาก แทบไม่มีเกาะแก่งอะไรทั้งสิ้น แถมน้ำก็ไหลเอื่อยๆ พายเหนื่อยอิ๊บอ๊าย!
“Mr. Oat Man” ภาพนี้ในทางเทคนิคไม่มีอะไรซับซ้อนครับ แพนกล้องกับความไวชัตเตอร์ต่ำๆ ธรรมดา แต่เน้นเลือกถ่ายตรงจุดนี้เพราะเป็นจุดเปิดโล่งที่ให้ผมยืนถ่ายภาพจากริมตลิ่งได้ง่ายๆ แสงดี และฉากหลังเป็นพุ่มไม้ทึบๆ ซึ่งส่งผลให้วัตถุที่จะถ่ายดูเด่นชัดขึ้น EOS 5D MK II, LENS EF 70-200 MM. F/4L IS, 1/20 Sec. F/22, ISO 200
ผมจัดเต็มอุปกรณ์แคมป์ปิ้งพร้อมชุดดริปกาแฟวางไว้ท้ายเรือ ส่วนอุปกรณ์ถ่ายภาพตอนแรกก็ว่าจะเอาไปเป็นบางชิ้น ด้วยการหาผ้าหนาๆ พันแยกชิ้นไว้แล้วยัดใส่ในถุงกันน้ำใบเล็ก จะถ่ายภาพเมื่อไรค่อยเปิดออกมาใช้ แต่สุดท้ายแล้วผมก็ขนมันไปทั้งหมดจนได้ ด้วยการแบ่งเป็นสองกระเป๋า เลนส์และอุปกรณ์ที่ไม่ค่อยได้ใช้ใส่รวมไว้กับเป้กล้อง ใส่ไว้ในถุงกันน้ำใบใหญ่อีกใบ รัดยางยืดกันตกวางไว้บริเวณหัวเรือ
จุดเริ่มต้นการพายคายัคในแม่น้ำน้อย อยู่ในพื้นที่หน่วยแม่น้ำน้อย อุทยานแห่งชาติไทรโยคใหญ่ จ.กาญจนบุรี มีระยะทางจากจุดเริ่มพายจนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำแควน้อยประมาณ 8 กิโลเมตร (ชาวออฟโรดจะเรียกกันว่าห้วย 1 – ถ้าไปต่อจนถึงห้วย 2-3-4… ก็สามารถพายได้เช่นกันแต่ระยะทางก็จะไกลขึ้นตามลำดับ) ถือว่าเป็นระยะทางพายที่ไม่ไกลเกินไป ใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงก็จบการพายได้ ระหว่างเส้นทางมีแก่งขนาดเล็กถึงปานกลาง ให้เล่นเป็นระยะๆ มีทิวทัศน์สองข้างทางเป็นผืนป่าที่ร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ และมีหาดทรายกว้างเหมาะสำหรับใช้เป็นจุดกางเต็นท์พักแรม 2-3 จุด เนื่องจากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ การเข้าใช้พื้นที่จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯตามปกติ และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯทราบก่อน ส่วนเรือคายัคสามารถหาเช่าได้จากรีสอร์ทหลายแห่งริมแม่น้ำแควน้อยในเขตอำเภอไทรโยค นัดจุดที่ให้ไปส่งและรอรับกลับให้แน่นอน หรือจ้างไกด์ท้องถิ่นพายนำทางเพื่อความปลอดภัย
ส่วนกล้องกับเลนส์ 2-3 ตัว ที่คาดว่าจะได้ใช้บ่อยๆ ซึ่งประกอบไปด้วยเลนส์ 17-40 mm. F/4L, 70-200 mm. F/4L IS และ Fish-eye 8-15 mm. F/4L เอาผ้าขาวม้าพันไว้เพื่อกันกระแทก แล้วก็ใส่ไว้ในถุงกันน้ำใบเล็กเอาวางไว้หว่างขาเพื่อให้หยิบใช้ได้ตลอดเวลา ในระหว่างการพาย
ในกรณีนี้ต้องขอบอกไว้ก่อนเลยครับว่า มันค่อนข้างเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงใกล้เคียงกับการทิ้งรักลงแม่น้ำ ทิ้งอุปกรณ์ลงไปบูชาพระแม่คงคาอยู่ไม่น้อย เป็นการกระทำที่ขออนุญาตเขียนคำเตือนเป็นตัวแดงเถือกว่า “ไม่ควรลอกเลียนแบบอย่างยิ่ง”
ที่ทำให้ผมและเพื่อนร่วมทาง(คุณชวลิตและคุณฤทัยรัตน์) หาญกล้ากระทำการอันอุกอาจเช่นนี้ได้ เพราะเป็นเส้นทางคุ้นเคย ที่เรารู้ร่องน้ำรู้จักเกาะแก่งต่างๆ ดีอยู่แล้ว รู้ว่าตรงไหนควรเก็บอุปกรณ์ให้ดีเพราะเรือมีสิทธิ์คว่ำสูง หรือตรงไหนสบายๆ ชิล ชิล เอากล้องออกมาถ่ายภาพได้อย่างสบายใจ กับทั้งมั่นใจว่าควบคุมเรือได้ตามความต้องการจริงๆ จะเบี่ยงซ้าย จะพายขวา หรือว่าจะวกเรือกลับ ก็ทำได้ทันที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกการวาดพายยังต้องตั้งอยู่ในความมีสติห้ามประมาทตลอดเวลา เพราะเพียงแค่ผิดจังหวะไปนิดเดียว หรือเผลอไผลไปนิดหน่อย ก็อาจทำให้เรือคว่ำได้ง่ายๆ เหมือนกัน
แม้ว่ามันจะไม่มีอันตรายอะไรถึงชีวิต แต่ถ้ากล้องวางอยู่บนเรือโดยไม่เก็บให้ดี ก็เทกระจาดลงไปนอนใต้ท้องน้ำได้ง่ายๆ ดังว่านั่นล่ะครับ
ดังนั้นถ้าคุณเป็นมือใหม่หัดพาย หรือไปพายในเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่รู้ร่องน้ำมาก่อน เก็บกล้องให้มิดชิดที่สุดครับ เอาออกมาเฉพาะเมื่อเทียบเรือเข้าฝั่ง ยืนถ่ายคนอื่นๆ เวลาเข้าแก่งเป็นจุดๆ ไป อย่าได้เอามาวางไว้บนเรือลอยๆ อย่างที่ผมทำเป็นตัวอย่าง(ไม่ดี)ให้เห็นในคราวนี้
“Yes!” ตอนแรกผมจอดเรือถ่ายน้ำตกแบบโล่งๆไว้ก่อน แต่อยู่ดีๆ หัวหน้าโจก็ปีนขึ้นไปเล่นน้ำซะยังงั้น! ผมจึงรีบกดชัตเตอร์ถ่ายภาพซ้ำใหม่ทันที เพราะมันให้บรรยากาศที่ดูมีชีวิตชีวากว่าน้ำตกเปล่าๆ เป็นไหนๆ EOS 5D MK II, LENS EF 70-200 MM. F/4L IS, 1/1000 Sec. F/5.6, ISO 320
ถุงกันน้ำที่ใช้ใส่กระเป๋ากล้อง ถ้าจะไปซื้อหามาใช้ แนะนำว่าควรเอากระเป๋ากล้องติดไปลองใส่ดูจริงๆ ด้วยเลย ซื้อที่ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยให้ดึงเข้าดึงออกได้ง่ายๆ แต่ไม่ควรใช้ใบใหญ่กว่ามากๆ จนหลวมโพรก เพราะมันจะทำให้ประสิทธิภาพในการกันน้ำลดลงได้ครับ แต่ถ้าคุณจะหันมาเอาดีทางนี้จริงๆ ก็แนะนำว่าให้ซื้อกระเป๋ากล้องแบบกันน้ำให้เด็ดขาดไปเลย อย่างที่เป็นเคสแข็งของพิลิแกน(และยี่ห้ออื่นๆ) อะไรพวกนั้นครับ หรือไม่ก็ต้องเป็นกระเป๋ากล้องที่ออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ที่ใช้เนื้อผ้าเป็นยางแบบถุงกันน้ำ มีซิปกันน้ำ หรือมีระบบล๊อกกันน้ำแน่นหนา ซึ่งเท่าที่เห็นก็มีของ Lowepro ในซีรีย์ DryZone หรือยี่ห้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับพวกเรือคายัคหรือแพยาง ก็เคยเห็นมีผลิตกระเป๋ากล้องกันน้ำออกมาบ้างเหมือนกันครับ
นอกจากกระเป๋ากล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพแล้ว ภายในถุงกันน้ำควรมีผ้าแห้งสำหรับเช็ดมือทิ้งไว้ด้วยหนึ่งผืนครับ วางแปะไว้ด้านบนสุด เปิดถุงกันน้ำออกมาก็เอาเช็ดมือให้แห้งก่อนจะหยิบจับอุปกรณ์อื่นๆ ต่อไป
โจทย์การถ่ายภาพของผมในครั้งนี้ยังคงยึดฐานความคิดเดียวกันกับการพิชิตยอดเขานมสาวนั่นคือเพื่อเอาไว้ดูเล่นเป็นความทรงจำส่วนตัว ไม่ได้คิดจะเอามาเขียนเรื่องขายหรือใช้งาน เจออะไรก็ถ่ายไปตามนั้น ตามสถานการณ์เฉพาะหน้า “เน้นเก็บแอ๊คชั่นและบรรยากาศการพายเรือคายัค รวมถึงวิวทิวทัศน์ตามสองฝั่งลำน้ำ” แต่ก็อย่างที่คุณเห็นนั่นล่ะครับ ว่าผมและเพื่อนๆ จัดเป็นพวกบ้าถ่ายภาพเข้าขั้น ถึงแม้จะไม่มีใครว่าจ้างอะไร ก็จัดเต็มเรื่องการถ่ายภาพแบบไม่เสียดายอุปกรณ์กันเลย
จุดพักแรมกลางทางในคราวนี้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้วยระยะพายเพียงชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้นก็จะถึงจุดกางเต็นท์ ดังนั้นผมจึงพอจะมีเวลาในการหยุดถ่ายภาพตามแก่งต่างๆ ได้โดยไม่กระทบกระเทือนโปรแกรมส่วนรวม
ผมเร่งฝีพายออกนำหน้าไปก่อนใคร เพื่อหาจุดเหมาะๆ ในการดักรอเก็บลีลาการเข้าแก่งของแต่ละคน ด้วยการยืนถ่ายจากริมตลิ่งผ่านเลนส์เทเลฯบ้าง หรือเอาเลนส์มุมกว้างลุยน้ำลงไปจ่อถ่ายใกล้ๆ ในตำแหน่งที่เรือจะเฉียดใกล้บ้าง ก่อนถึงจุดพักไม่ไกล มีแก่งหินที่ไม่ใหญ่โตนักแต่เหมาะกับการถ่ายภาพมากๆ และต้องมีการเตรียมตัวพอสมควร ผมจึงขอให้ทุกคนหยุดรอจนกว่าผมจะให้สัญญาณ (เพราะถ้าพายผ่านไปแล้วก็ผ่านเลย ไม่มีใครอยากพายทวนน้ำหรือลากเรือย้อนกลับมาให้ผมถ่ายใหม่แน่ๆ ครับ) หลังจากผ่านแก่งเป็นลำแรก ผมรีบหักเรือชิดฝั่งทันที หยิบเลนส์ 17-40 mm. ติดกล้อง แล้วปีนขึ้นไปบนก้อนหินที่เรือทุกลำจะต้องล่องเฉียดผ่าน เพื่อถ่ายภาพเป็นมุมกดลงมา
จุดนี้ผมเลือกถ่ายภาพด้วยความไวชัตเตอร์ต่ำร่วมกับการแพนกล้องโค้งตามไลน์ร่องน้ำที่เรือจะผ่าน แสงคงที่ ตำแหน่งของวัตถุก็คงที่ ผมจึงใช้ระบบบันทึกภาพแบบแมนนวล ตั้งความไวชัตเตอร์ให้ต่ำเท่าที่ต้องการ ปรับช่องรับแสงและค่า ISO ให้พอดี ระบบโฟกัสก็ปรับเป็นแมนนวลเช่นกันครับเพราะระยะห่างมันตายตัวแน่นอน สิ่งที่เปลี่ยนคือระบบถ่ายภาพจากแบบถ่ายทีละภาพ เป็นถ่ายภาพต่อเนื่อง
เมื่อปรับระบบทุกอย่างเรียบร้อย ผมลองถ่ายยิงเปล่าไปครั้งหนึ่งก่อนเพื่อความแน่นอน ทั้งในเรื่องของสภาพแสงและความไวชัตเตอร์ เมื่อพร้อมดีแล้วจึงให้สัญญาณกับเพื่อนให้ทยอยเข้าแก่งมาทีละลำ กดไปลำละ 4-5 ภาพ ครบคนแล้วผมก็เก็บของเข้ากระเป๋ากันน้ำแล้วเร่งฝีพายตามไป เมื่อถึงจุดพักแรมเราก็ช่วยกันยกเรือขึ้นไปจอดบนตลิ่ง แยกย้ายกันทำหน้าที่ กางเต็นท์ เก็บฟืน ทำกับข้าว ดริปกาแฟ ฯลฯ ก็พอจะมีจังหวะแว่บๆ เก็บบรรยากาในแคมป์ได้บ้างนิดหน่อย จนตกกลางคืนที่ดาวพราวฟ้า หัวหน้าโจของเราเลยเอากล้องออกมาเก็บแสงดาวซับไอหนาวสักหน่อย
ส่วนผมใจนึงก็อยากถ่ายภาพ แต่ใจนึงก็เพียงอยากนั่งเก็บเกี่ยวความงดงามด้วยตาบ้างก็เท่านั้น สุดท้ายก็นั่งจิบกาแฟคุยกันไปโดยไม่ได้เอากล้องออกมาจริงๆ ครับ ในบางช่วงเวลาการมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ชมกลับสร้างความสุขใจให้ผมได้มากกว่าการถ่ายภาพเสียอีกครับ (แต่ถ้าหากเป็นการรับงานถ่ายภาพมา ยังไงก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาไว้หลายมุมแน่ๆ)
“เล่นน้ำ” ทริปพายเรือนี่มิสเตอร์ชวลิตเขากินขาดคนอื่นๆ แทบจะทุกกระบวนท่า ทั้งการแต่งตัว ทั้งแอ๊คชั่นต่างๆ ที่มีมาให้เห็นให้ถ่ายภาพเป็นระยะๆ แค่แกจะวักน้ำขึ้นมาดับร้อนยังมีลีลาไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ผมติดเลนส์เทเลฯอยู่พอดีครับ รีบปรับกล้องให้ได้ความไวชัตเตอร์สูงขึ้นอีกหน่อย แล้วก็กดมาหนึ่งชุดก่อนที่ลูกพี่เขาจะเย็นตัวเย็นใจไปซะก่อน EOS 5D MK II, LENS EF 70-200 MM. F/4L IS, 1/640 Sec. F/5.6, ISO 200
สายๆ ของอีกวัน หลังมื้อเช้าแกล้มกาแฟดริปลงกระเพาะกันเรียบร้อย เราก็เก็บเต็นท์ทำความสะอาดบริเวณให้เหมือนกับก่อนที่เราจะเข้ามา อะไรเผาได้ก็โยนเข้ากองไฟไป อะไรไม่ได้ก็เก็บใส่ถุงดำกลับขึ้นเรือเอาไปทิ้งที่บ้านครับ
ช่วงแรกของการพายในวันนี้ยังอยู่ในแม่น้ำน้อย ที่มีแก่งเล็กๆ พอให้เล่นสนุกกันได้บ้าง แล้วยังมีน้ำตกสายย่อมๆ ให้เก็บภาพอีกหน่อยด้วย ผมเอากล้องออกมาถ่ายภาพเป็นระยะๆ ตามโอกาสจะอำนวย พอช่วงเที่ยงก็เข้าถึงแม่น้ำแควน้อยพอดี จอดเรือแล้วขึ้นไปหาก๋วยเตี๋ยวกินบนฝั่ง นั่งเอ้อระเหยกันเล็กน้อย แล้วก็เริ่มล่องกลับบ้านพี่โอ๊ตกันต่อ
“แควน้อย” ภาพนี้เป็นอีกภาพที่ตั้งใจพอสมควร เพราะเห็นแสงกับทิวทัศน์โดยรวมแล้วมันใช่เลย ผมจึงเลี้ยงเรือของตัวเองให้ช้าเข้าไว้ ปล่อยคนอื่นๆ พายนำหน้าไปก่อน เตรียมเลนส์เทเลฯ วัดแสงล่วงหน้ารอไว้เสร็จสรรพ เพื่อจะได้กดชัตเตอร์ให้ทัน เมื่อทุกคนพายไปถึงในจุดที่ผมเล็งไว้ ก็คือจุดที่มีแสงสาดผ่านช่องว่างของหมู่ไม้ริมน้ำเข้ามาพอดี เป็นโชคดีที่ทั้งสามคนนั้นเขาพายเป็นหน้ากระดานในจัหวะนั้นพอดีอีกต่างหาก เพราะผมก็ไม่ได้บอกอะไรกับเขาไว้ก่อนหรอกครับ รอจังหวะการกดชัตเตอร์ด้วยตัวเอง จริงๆ เพราะมันเป็นการพายเล่น ไม่ใช่การทำงาน หากไปขอให้คนอื่น พายโน่นนี่นั่นตามความต้องการของเราตลอดเวลา แม้เขาจะยอมทำตามเพราะเป็นเพื่อนพี่น้องกัน แต่ผมคิดว่าเขาน่าจะพายด้วยความเซ็ง มากกว่าที่จะสนุกสนานไปกับการเดินทาง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการครับ ภาพสวยๆ ใครก็อยากได้ แต่ความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน มันน่าจะสำคัญกว่าจริงไหมล่ะครับ ? EOS 5D MK II, LENS EF 70-200 MM. F/4L IS, 1/400 Sec. F/8, ISO 200
เทียบกับแม่น้ำน้อยแล้ว แม่น้ำแควถือว่ากว้างใหญ่และลึกมาก แต่น้ำจะไหลเอื่อยๆ เป็นส่วนมาก เรื่องอันตรายจากเรือคว่ำจึงแทบไม่ต้องกังวลนัก ข้อเสียเพียงอย่างเดียวคือมันกินแรงโคตรๆ ถึงจะพายกันอยู่เหนือสายน้ำที่เย็นฉ่ำ แต่ก็ทำเอาทุกคนเหงื่อตกกันไม่ใช่น้อยๆ
ในช่วงนี้ผมไม่ปิดปากถุงกันน้ำแล้วครับ กล้องก็วางไว้กลางลำเรือโดยเอาผ้าคลุมไว้เท่านั้น เพื่อจะได้หยิบฉวยขึ้นมาใช้ถ่ายภาพได้สะดวกง่ายดายขึ้น แต่ก็ยังต้องระวังเมื่อพายใกล้ตลิ่งที่เถาวัลย์หรือกิ่งไผ่ย้อยลงมา เพราะมันอาจจะไปเกี่ยวกับเชือกบนเรือและรั้งให้เรือคว่ำได้เช่นกัน รวมไปถึงต้องระวังคลื่นลูกโตๆ ที่เกิดจากเรือหางยาวไว้ให้ดี เพราะถ้าเรือมาเร็วแรง ลูกคลื่นก็จะใหญ่ถึงขั้นพลิกเรือได้เช่นกันครับ ต้องคอยหันหัวเรือในมุมฉากกับคลื่นเอาไว้เสมอจึงจะปลอดภัย
“แก่งประลอม” นี่คือจุดพักผ่อนชมลำน้ำแควน้อยจุดสุดท้ายก่อนถึงบ้านพี่โอ๊ต เป็นแก่งเล็กๆ ที่มีหาดหินกว้างกลางแม่น้ำเป็นจุดเด่น ผ่านมาทีไรเราก็จะจอดเรือกันด้วยความสบายใจ ไม่เร่งร้อน เพราะหมายความว่าภาระกิจใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ผมก็เลยพยายามถ่ายภาพให้มันออกมาดูสบายๆ ตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ EOS 5D MK II, LENS EF 17-40 MM. F/4L, 1/250 Sec. F/8, ISO 200
การเก็บภาพในแควน้อย จึงเน้นภาพรวมๆ และวิวทิวทัศน์ริมฝั่ง ที่เป็นหน้าผาหินปูน เป็นทิวเขา หาดหิน เรือนแพ ฯลฯ ซึ่งก็ไม่มีอะไรยุ่งยากนัก แถมด้วยแดดดีเหลือหลายจึงได้ความไวชัตเตอร์สูงเกินพอให้ได้ภาพคมชัด แม้จะถือกล้องถ่ายภาพอยู่บนเรือซึ่งเคลื่อนที่ไปตลอดเวลาก็ตาม ถือเป็นส่วนเสริมกับภาพแอ๊คชั่นที่ ส่วนใหญ่จะถ่ายระหว่างการล่องในแม่น้ำน้อยได้เป็นอย่างดี โดยรวมๆ ก็ถือว่าได้ภาพครบชุดมาร้อยเรียงเรื่องราวเป็นแบบ Photo Essay ได้ มีที่อาจจะขาดไปบ้างก็คือภาพเรือล่มกลางน้ำ เพื่อทำให้ภาพรวมมันดูตื่นเต้นเร้าใจยิ่งขึ้นนั่นเอง
นั่นก็เพราะของจริงไม่มีใครคนไหนตั้งใจจะล่มนั่นล่ะครับ ผมจึงไม่มีภาพ ถ้าจะให้เซ็ทถ่าย ให้คนพายแกล้งล่มก็ย่อมได้ครับ ถ้ามันจำเป็นจริงๆ แต่ก็อย่างที่ย้ำให้ฟังว่า ครั้งนี้ผมถ่ายภาพตามใจ และตามความเป็นจริง ถ่ายเป็นความทรงจำส่วนตัว จึงไม่มีความจำเป็นต้องเซ็ทแสร้งขึ้นมาอย่างนั้น
เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง
- บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ