ในช่วงที่ Fujifilm X-T20 กำลังทำตลาดได้ดีด้วยประสิทธิภาพที่คุ้มค่า ในราคาที่เหมาะสม ฟูจิฟิล์มก็ได้ส่งกล้องมิลเรอร์เลส X-E3 ออกสู่ตลาด ด้วยกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการกล้องคุณภาพสูง ขนาดค่อนข้างเล็ก และมีรูปทรงในแนวเรโทร ซึ่งเป็นจุดขายของกล้องฟูจิฟิล์มมาตั้งแต่แรก แน่นอนครับว่าตลาดของ X-E3 อาจจะไม่ใหญ่เท่า X-T20 แต่มันก็ช่วยเติมเต็มช่องว่างของกล้องรูปแบบนี้จากรุ่น X-E2S ซึ่งออกสู่ตลาดมานานกว่าปีครึ่ง และเป็นรุ่นที่ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนเซ็นเซอร์รับภาพกับหน่วยประมวลผลภาพเป็น X Tran CMOS III 24.3 ล้านพิกเซล เหมือนรุ่นอื่นๆ ที่ทยอยปรับแปลี่ยนกันหมดแล้ว
และ X-E3 ก็ไม่ได้แค่เปลี่ยนเซ็นเซอร์รับภาพกับหน่วยประมวลผลภาพ แต่ยังเปลี่ยนการออกแบบใหม่หมด เป็นกล้องรุ่นแรกที่ตัดปุ่ม 4 ทิศทางออก แล้วหันมาใช้จอยสติ๊กกับทัชสกรีนมากขึ้น เปลี่ยนการคอนโทรลไปจากเดิมค่อนข้างมาก นอกจากนั้นยังมาพร้อมการเชื่อมต่อแบบบลูทูธที่ออกแบบได้น่าสนใจ โดยทำราคาขายไว้พอๆ กับ X-T20 ทำให้ X-E3 เป็นกล้องมิลเรอร์เลสที่น่าสนใจมากรุ่นหนึ่งในขณะนี้ เมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ การออกแบบ ประสิทธิภาพ และคุณภาพ แต่จะทำได้ดีแค่ไหนเราลองมาดูกันเลยครับ
ออกแบบการปรับและควบคุมกล้องใหม่
เพื่อให้ X-E3 เป็นกล้องที่ใช้งานได้สะดวก คล่องตัวโดยไม่ต้องใช้ปุ่มปรับต่างๆ มากมาย ฟูจิฟิล์มจึงออกแบบการปรับและควบคุมกล้องใหม่ ด้วยการตัดปุ่ม 4 ทิศทางออก แล้วใช้จอยสติ๊กในการควบคุมการทำงานแทน ฟังก์ชั่นบนปุ่ม 4 ทิศทางได้ถูกย้ายไปอยู่บนจอ LCD แบบทัชสกรีนโดยจอ LCD แบบทัชสกรีนของ X-E3 สามารถควบคุมการทำงานของกล้องได้มากกว่าเดิม นอกจากจะใช้ในการเลือกจุดโฟกัส ย้ายจุดโฟกัสด้วย Touch AF และ Touch Area และ Touch shot แล้ว ยังออกแบบให้สามารถเรียกเมนูหลักๆ ที่เคยอยู่บนปุ่ม 4 ทิศทางมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว โดยการใช้นิ้วปัดบนหน้าจอ LCD และแทนการปัดนิ้วไปทิศทางต่างๆ ด้วย T-Fn1,T-Fn2,T-Fn3 และ T-Fn4 โดยค่าที่ตั้งมาจากโรงงาน การปัดขึ้น(T-Fn1) จะเป็นการเข้าระบบเลือกพื้นที่โฟกัส ซึ่งมีให้เลือกใช้ 4 แบบ คือ จุดเดียว, โซน , พื้นที่กว้าง/แทรคกิ้ง และเพิ่มระบบใหม่เข้ามาคือ ใช้ทุกจุด(ALL) การปัดนิ้วไปทางซ้าย (T-Fn2) เป็นการเลือกฟังก์ชั่นจำลองฟิล์ม ปัดนิ้วไปทางขวา (T-Fn3) เป็นการปรับไวท์บาลานซ์ และการปัดนิ้วลง(T-Fn4) เป็นการปรับความไวแสง ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าที่ตั้งมาจากโรงงานนั้นเหมือนกับตำแหน่งของปุ่ม 4 ทิศทาง ที่ใช้ใน X-T20 เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้การปัดนิ้วบนจอทัชสกรีนแทน ซึ่งผู้ใช้สามารถเปลี่ยนฟังก์ชั่นต่างๆ มาไว้แทนฟังก์ชั่นที่เซ็ทมาจากโรงงานได้
ไม่เพียงเท่านั้น X-E3 ยังออกแบบให้สามารถใช้ทัชสกรีนกับ Q Menu ได้ โดยเมื่อกดปุ่ม Q จะสามารถแตะหน้าจอไปยังระบบที่ต้องการ กล้องจะแสดงค่าต่างๆ ในระบบนั้น สามารถลากนิ้วเพื่อเปลี่ยนค่าได้ทันทีโดยไม่ต้องกดจอยสติ๊กเพื่อยืนยันด้วย เพียงแค่แตะปุ่มลั่นชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งกล้องจะกลับมาแสดงภาพตามปกติ และค่าที่ผู้ใช้เลือกจะถูกใช้งานทันที จึงรวดเร็วมาก แต่ X-E3 ยังไม่สามารถ Touch Menu ได้นะครับ เพราะเห็นว่าการใช้จอยสติ๊กควบคุมเลือกเมนูน่าจะคล่องตัวเพียงพอแล้ว และที่เป็นการออกแบบให้ใช้งานได้คล่องตัว ก็คือ เมื่อใช้ช่องมองภาพ EVF ผู้ใช้สามารถย้ายจุดโฟกัสได้ 2 รูปแบบ คือ สามารถใช้จอยสติ๊กย้ายจุดโฟกัสได้ทันที หรือจะใช้ Touch pad ย้ายจุดโฟกัสด้วยการลากนิ้วไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้เลยโดยไม่ต้องละสายตาเมื่อมองภาพจากจอ EVF โดยสามารถเลือกพื้นที่โฟกัสได้ 3 แบบ คือ ซ้าย, ขวา และทั้งหมด ทำให้การใช้งานมีความคล่องตัวสูง
ด้านบนตัวกล้องออกแบบให้ใช้งานได้สะดวก โดยวางแป้นชดเชยแสงไว้มุมขวา ใช้สวิทซ์ปรับเลือกโหมดถ่ายภาพแบบ Advance กับ Auto ด้วยก้านโยกที่ปรับได้รวดเร็ว การตัดปุ่มสี่ทิศทางออกทำให้ X-E3 จับถือได้ถนัด โดยส่วนของนิ้วโป้งจะจับส่วนหลังของกล้องได้เต็มนิ้วโดยไม่ไปโดนปุ่มใดๆ บนตัวกล้อง การควบคุมกล้องจึงสะดวก ช่องมองภาพของ X-E3 เห็นภาพ 100% ขนาดภาพใหญ่ อัตราขยายช่องมอง 0.62X ความละเอียด 2.36 ล้านจุด มี Time Lag ในการแสดงภาพตํ่ามากเพียง 0.005 วินาที และมี Blackout time น้อย การติดตามภาพเมื่อถ่ายภาพเคลื่อนไหวจึงทำได้ดี
กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 10-24mm. f/4R OIS ; 1/15 Sec f/11, Mode : M, WB : Daylight, Film simulation : Velvia, ISO200 ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา
กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 10-24mm. f/4R OIS ; 1/25 Sec f/11, Mode : M, WB : Daylight, Film simulation : Velvia, ISO800 ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา
คุณภาพอันเยี่ยมยอด
X-E3 ใช้เซ็นเซอร์ภาพ X-Tran CMOS III ความละเอียด 24.3 ล้านพิกเซล ขนาด APS-C ที่ใช้ใน X-Pro2, X-T2 และ X-T20 ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าคุณภาพเยี่ยม ทั้งรายละเอียด การจัดการกับสัญญาณรบกวนและการถ่ายทอดสีที่เป็นธรรมชาติ และทำงานได้รวดเร็ว โดยใช้ชิปประมวลผล X-Processor Pro ที่มีพลังในในการประมวลผลสูงมาก รองรับการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากของการบันทึกวิดีโอระดับ 4K ได้และรับรองประสิทธิภาพของระบบโฟกัสและการแสดงภาพที่มี Blackout time น้อยมากได้ดีกว่าเดิม ทำให้ X-E3 เป็นกล้องที่ให้คุณภาพไฟล์เยี่ยมยอดในระดับที่มืออาชีพต้องการ และยังคงให้คุณภาพสูงแม้ใช้ความไวแสงสูง จึงขยายขอบเขตของการบันทึกภาพได้กว้างกับการใช้งานทุกรูปแบบ โดยสามารถตั้งความไวแสงสูงสุดได้ถึง ISO 51200
ระบบออโตโฟกัสชั้นยอด
แม้จะไม่ใช่กล้องระดับโปรแต่ X-E3 ก็ให้ความสำคัญกับระบบออโตโฟกัสอย่างมาก โดยใช้เซ็นเซอร์โฟกัสแบบเฟสดีเทคชั่นบนเซ็นเซอร์ถึง 325 จุด ครอบคลุมพื้นที่โฟกัสกว้าง ทำให้การติดตามโฟกัสทำได้ต่อเนื่องแม่นยำแม้ซับเจกต์ไม่ได้อยู่กลางภาพและสามารถเลือกพื้นที่โฟกัสได้ 4 รูปแบบ ในโหมด Single point และ Zone สามารถปรับความกว้างของพื้นที่โฟกัสได้หลายขนาด ทำให้ยืดหยุ่นต่อการใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ ดีมาก X-E3 ออกแบบให้สามารถถ่ายภาพแอคชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโหมด AF-C Custom settings ที่สามารถเลือกรูปแบบการเคลื่อนไหวได้ 5 แบบ เช่นเดียวกับ X-T20 แต่ที่แตกต่างคือ X-E3 ออกแบบอัลกอริธึมของระบบโฟกัสติดตามวัตถุใหม่ ให้มีความเร็วในการทำงานสูงกว่าเดิมเท่าตัว สามารถโฟกัสติดตามวัตถุที่มีขนาดเล็กได้ดีขึ้น และใช้งานได้คล่องตัวเมื่อใช้ร่วมกับ Touch Pad ในการย้ายพื้นที่โฟกัสขณะกำลังมองภาพในจอ EVF
เร็วพอสำหรับภาพกีฬาและภาพแอคชั่นทุกรูปแบบ
X-E3 ออกแบบให้มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานหลากรูปแบบ แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะออกแนวเรโทร แต่ความเร็วในการทำงานดีเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการถ่ายภาพกีฬา ภาพแอคชั่นต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีความเร็วในการโฟกัส 0.06 วินาที มีความเร็วในการเปิดเครื่องจนพร้อมถ่ายที่ 0.4 วินาที มี TimeLag ของชัตเตอร์ 0.05 วินาที มีระยะห่างของการบันทึกแต่ละเฟรมที่ 0.25 วินาที มีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง 8 ภาพ/วินาที(ชัตเตอร์แมคคานิค) และ 14ภาพ/วินาที(ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์) บันทึกต่อเนื่องได้ 62 ภาพ (ไฟล์JPEG)
การเชื่อมต่อที่พัฒนาใหม่
X-E3 ออกแบบการเชื่อมต่อเพื่อให้การถ่ายโอนภาพทำได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมาพร้อมฟังก์ชั่นบลูทูธที่ประหยัดพลังงานและช่วยให้จับคู่กับสมาร์ทโฟนหรือแทปเล็ตได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้ฟังก์ชั่น Remote control ดูภาพ ปรับตั้งค่า สั่งบันทึกภาพและยังสามารถโอนภาพได้แม้ปิดสวิทซ์กล้องผ่านระบบ Wi-Fi ของตัวกล้องได้อีกด้วย
Film Simulation
กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 10-24mm. f/4R OIS ; 1/250 Sec f/10, Mode : M, WB : Auto, Film simulation : Velvia, ISO400
ภาพนี้บันทึกในแสงที่สีอมมาเจนต้า ปรับแก้ไวท์บาลานซ์ยากก็เลยใช้ Film Simulation เป็น Acros แทน กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 18-55mm. f/2.8-4R LM OIS ; 1/250 Sec f/4, Mode : M, Film simulation : Acros, ISO3200
X-E3 มาพร้อมโหมดจำลองฟิล์มเต็มรูปแบบ 15 ชนิด รวมทั้ง ARCOS ที่นักถ่ายภาพชื่นชอบ ด้วยการถ่ายทอดการไล่โทนขาวดำที่โดดเด่น (สามารถใส่ฟิลเตอร์ได้ 3 แบบ) โหมดจำลองฟิล์มจะช่วยให้ช่างภาพเลือกคาแรคเตอร์ของโทนสีได้อย่างที่ต้องการ เพื่อให้ได้ภาพที่พร้อมสำหรับการนำไปใช้งานทันที โดยแทบไม่ต้องปรับแต่งเพิ่มเติมใดๆ นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชัน Grain Effect เพื่อเพิ่มเกรนลงในภาพให้ดูคล้ายภาพจากกล้องฟิล์ม โดยปรับได้ 2 ระดับคือ Weak กับ Strong
บันทึกวิดีโอคุณภาพสูง
X-E3 นอกจากจะถ่ายภาพนิ่งคุณภาพสูงแล้ว ยังมาพร้อมโหมดวิดีโอคุณภาพสูงด้วย โดยให้คุณภาพวิดีโอระดับ 4K ที่มีบิตเรทสูงถึง 100 Mbps ให้ภาพที่คมชัด รายละเอียดเยี่ยมยอดให้สีสันเจิดจ้าสดใส สามารถใช้ร่วมกับฟังก์ชั่นจำลองฟิล์มได้ ทำให้สามารถเลือกโทนของภาพได้ตามความต้องการ X-E3 มีช่องต่อไมโครโฟนเพื่อใช้กับไมโครโฟนภายนอกในการบันทึกเสียงคุณภาพสูงและยังมีฟังก์ชั่น HDMI Monitor Output เพื่อการบันทึกวิดีโอคุณภาพสูง
ฟังก์ชั่นเพียบพร้อม
X-E3 มาพร้อมระบบการทำงานเพียบพร้อมในระดับที่นักถ่ายภาพระดับจริงจังต้องการ มีระบบถ่ายภาพซ้อน ระบบถ่ายภาพพาโนราม่า ระบบถ่ายคร่อมอัตโนมัติหลายรูปแบบ ทั้งการคร่อมค่าแสง ถ่ายคร่อมไวท์บาลานซ์ ถ่ายคร่อม ISO ถ่ายคร่อมไดนามิคเรนจ์ ถ่ายคร่อมโหมดจำลองฟิล์ม มี Advanced Filter ให้เลือกใช้ 13 แบบ และมีฟังก์ชั่นอื่นๆ อีกมากมาย
เพิ่มสีสันและความน่าสนใจให้ภาพที่ถ่ายด้วยแสงแดดจัดจ้าตอนเที่ยงด้วย Advanced Filter แบบ Pop Color กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 10-24mm. f/4R OIS ; 1/640 Sec f/7.1, Mode : M, ISO200
กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 10-24mm. f/4R OIS ; 1/60 Sec f/10, Mode : M, WB : Auto, Advanced Filter : Pop color, ISO200
ออกแบบและผลิตอย่างประณีต
X-E3 มีการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกสวยงาม สมส่วนลงตัว โครงสร้างแข็งแรง แน่นหนา งานการผลิตประณีตมาก ปุ่มปรับต่างๆ ออกแบบได้ลงตัว ใช้วัสดุคุณภาพสูงและแน่นหนา แข็งแรง ส่งผลให้นอกจากจะสวย มีสไตล์แล้ว X-E3 ยังมีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง รองรับการใช้งานระดับจริงจังได้ ตัวกล้องไม่มีแฟลชในตัวแบบป๊อปอัพ แต่มาพร้อมแฟลชขนาดกะทัดรัดที่มีไกด์นัมเบอร์ GN8 ออกแบบได้ลงตัวกลมกลืน
ผลการใช้งาน
กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 80mm. f/2.8R LM OIS WR Macro ; 1/125 Sec f/3.2, Mode : M, Film simulation : Provia, ISO500
ผมได้รับกล้องรุ่นนี้มาพร้อมเลนส์ 3 ตัว คือ XF 10-24mm. f/4R OIS, XF 18-55mm.f/2.8-4R LM OIS และ XF 50-140mm.f/2.8R LM OIS WR และได้นำไปใช้กับเลนส์ XF90mm.f/2R LM WR ด้วย เพื่อดูคุณภาพในทุกๆ ด้าน ภาพส่วนใหญ่บันทึกด้วยไฟล์ RAW + JPEG ความเปลี่ยนแปลงจากกล้องตระกูล X-E ก็คือการหันมาใช้ทัชสกรีนเต็มรูปแบบ ไม่พึ่งพาปุ่มสี่ทิศทางอีกต่อไป ดังนั้นในการใช้งานผู้ใช้จะต้องปรับตัวใหม่พอควร โดยเฉพาะผู้ที่คุ้นชินกับปุ่ม 4 ทิศทาง สำหรับผมยอมรับเลยครับว่าใช้เวลาเกือบสองวันถึงจะคุ้นกับการคอนโทรลในแบบปัดนิ้วบนหน้าจอ LCD ช่วงแรกๆ นิ้วมักจะเผลอโดนบ่อยๆ บางทีก็สับสนกับการ Touch AF ย้ายจุดโฟกัสบ้างขณะใช้งาน แต่เมื่อคุ้นมือ คุ้นนิ้ว ก็จะพบว่าการใช้นิ้วปัดบนหน้าจอก็ทำให้เข้าระบบที่ต้องการได้เร็วและคล่องตัวและข้อดีคือ แม้จะใช้จอ EVFอยู่ก็สามารถปัดนิ้วขึ้น–ลง ซ้าย–ขวาได้ ทำให้การเข้าระบบสำคัญๆ ทำได้สะดวก คล่องตัวกว่าการดูภาพจากหน้าจอ LCD ด้วยซํ้า
จอยสติ๊กของ X-E3 ก็ต้องทำความคุ้นเคยกับมันสักระยะจึงจะควบคุมได้คล่องตัว แต่เมื่อคุ้นมือก็จะพบว่า การใช้จอยสติ๊กในการควบคุมนั้นสะดวกดีครับ ไม่ใช่แค่ย้ายจุดโฟกัสแต่ใช้ในการเข้าเมนู ยืนยันการปรับค่าต่างๆ หรือใช้ในการเลื่อนภาพ สั่งลบภาพได้อย่างรวดเร็ว
การถ่ายภาพมุมตํ่าก็ไม่ได้ลำบากแต่อย่างใด เพราะยังมองภาพในมุมเฉียงๆ จากด้านบนได้อยู่ และใช้ทัชสกรีนในการเลือกจุดโฟกัสได้ ภาพนี้ถ่ายโดยวางกล้องติดพื้น ใช้ Touch Area เลือกจุดโฟกัสที่หน้าแมว กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 10-24mm. f/4R OIS ; 1/250Sec f/4, Mode : M, WB : Auto, Film simulation : Velvia, ISO640
Touch Pad เป็นฟังก์ชั่นใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้มากในการย้ายจุดโฟกัส มันช่วยให้เราสามารถลากนิ้วย้ายจุดโฟกัสได้รวดเร็วกว่าการใช้จอยสติ๊กประมาณเท่าตัว (เมื่อใช้จนคล่อง) ในการใช้งานจริงผมใช้ทั้งจอยสติ๊กและ Touch Pad หากเป็นการย้ายจุดโฟกัสนิดหน่อยจะใช้จอยสติ๊กแต่ถ้าย้ายห่างก็จะใช้วิธีลากนิ้วบนหน้าจอไปเลย ซึ่งเร็วกว่าการใช้ทัชสกรีนกับปุ่ม Q ก็ทำให้การใช้งานคล่องตัวขึ้น เพราะเมื่อกดปุ่ม Q การแตะหน้าจอที่ฟังก์ชั่นใดๆ ค่าการปรับตั้งในฟังก์ชั่นนั้นจะแสดงเป็นแถบ สามารถลากนิ้วไปยังค่าที่ต้องการได้เลย หรือจะใช้จอยสติ๊กในการเลือกก็ได้ เมื่อได้ค่าที่ต้องการก็ไม่จำเป็นต้องกดปุ่ม SET แต่อย่างใด แตะปุ่มลั่นชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งเมื่อแสดงภาพ Live View ได้เลย
ใช้งานแบบสแนปได้คล่องตัวเพราะโฟกัสเร็ว แม่นยำ ให้สีอิ่มตัวสดใส กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 10-24mm. f/4R OIS ; 1/125Sec f/5.6, Mode : M, WB : Auto, Film simulation : Velvia, ISO400
ช่องมองภาพของ X-E3 มีคุณภาพดีให้ภาพคมชัด แสดงสีได้สดใสเที่ยงตรง สีของจอ EVF ใกล้เคียงกับจอ LCD แต่ความสว่างน้อยกว่า (ภาพใกล้เคียงกับไฟล์จริงมากกว่าหน้าจอ LCD) สีของช่องมองเที่ยงตรงกว่า X-Pro2 ที่ผมใช้อยู่ ทำให้การดูค่าแสงสีสันทำได้แม่นยำส่วนจอ LCD ด้านหลังตัวกล้องนั้น การแสดงสีก็ทำได้ดีมาก ภาพคมชัด จัดองค์ประกอบภาพได้ไม่ยาก ในการใช้งานกลางแสงจัดจ้า แต่จอพับไม่ได้ทำให้การถ่ายภาพมุมสูงหรือมุมตํ่าอาจไม่สะดวกเหมือน X-T20ภาพออโตโฟกัสมีประสิทธิภาพดี ในการถ่ายภาพทั่วๆ ไปด้วยโหมด AF-S ความเร็วและความแม่นยำของระบบโฟกัสไม่ต้องห่วงเลยครับ ทำได้น่าพอใจมาก โดยเฉพาะกับเลนส์ซูมและเลนส์ FIX รุ่นใหม่ๆ การโฟกัสทำได้เร็วและแม่นยำมาก ส่วนระบบโฟกัสต่อเนื่อง AF-C นั้น ประสิทธิภาพก็นับว่าดีมาก อาจจะเป็นรอง X-T2 เล็กน้อย แต่ดีเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชั่นแทบทุกรูปแบบ
เมื่อต้องรีบถ่าย ไม่มีเวลาจัดองค์ประกอบ กล้องรุ่นนี้ยังทำงานได้เร็วสำหรับการสแนป กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 10-24mm. f/4R OIS ; 1/400 Sec f/8, Mode : A, WB : Auto, Film simulation : Velvia, ISO400
การตอบสนองของระบบแทรคกิ้งอยู่ในระดับดี เมื่อเคลื่อนกล้องให้พื้นที่โฟกัสเล็งไปยังซับเจกต์ใกล้บ้างไกลบ้างพบว่า การตอบสนองของระบบโฟกัสในการแทรคเข้าหาซับเจกต์ใหม่เร็วพอควร และล๊อกที่ซับเจกต์ได้แม่นยำดี ในการลองให้ซับเจกต์เคลื่อนเข้าหากล้องพบว่าการแทรคที่ซับเจกต์ทำได้ดี การโฟกัสยังติดตามได้ค่อนข้างแม่นยำและรวดเร็วเมื่อลองถ่ายภาพในสถานการณ์จริงกับภาพเคลื่อนไหว ผมจะปรับเลือกพื้นที่โฟกัสแบบโซน เลือกพื้นที่แบบ 3×3 หรือบางครั้งก็ใช้ที่ 5×5 ตั้งโหมดโฟกัสที่ AF-C ใช้ CUSTOM SEITING แบบที่ 1 และ 2 เป็นหลัก แล้วแต่สถานการณ์ จากการลองพบว่าการโฟกัสติดตามวัตถุทำได้เร็วและแม่นยำน่าพอใจ แต่อาจไม่เห็นความแตกต่างจากX-T20 เท่าใดนัก ภาพที่ได้มีความคมชัดอยู่ในโฟกัสราวๆ 85-90% เมื่อกดรัวเป็นชุด 20-30 ภาพต่อเนื่อง ซึ่งผมพอใจแล้วครับ กับเลนส์ XF 50-140mm. f/2.8R LM OIS WR การโฟกัสทำได้เร็วจากประสิทธิภาพของมอเตอร์แบบลิเนียร์คู่ เสียดายที่ไม่ได้ลองกับเลนส์ XF 100-400mm f/4.5-5.6R LM OIS WR
การโฟกัสต่อเนื่องทำได้ดี กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 18-55mm. f/2.8-4R LM OIS ; 1/1000 Sec f/4, Mode : M, Film simulation : Provia, ISO4000
ความเร็วการถ่ายภาพต่อเนื่อง 8 ภาพ/วินาที พร้อมระบบโฟกัสต่อเนื่อง นับว่าเพียงพอต่อการถ่ายภาพแอคชั่นส่วนใหญ่ แต่ถ้าต้องการความเร็วสูงเพื่อเก็บจังหวะของการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วมาก ก็สามารถใช้ชัตเตอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยจะได้ความเร็ว
ในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงถึง 14 ภาพ/วินาทีคุณภาพไฟล์จาก X-E3 ยังโดดเด่นเช่นเดียวกับ X-T2,X-Pro 2 และ X-T20 มันให้ภาพที่ใสกระจ่าง สีสันสดใส ไฟล์ JPEG ให้สีที่อิ่มตัว แต่ไม่จัดจ้านเกินไป ให้สีผิวดี และการไล่เฉดสีดี อย่างที่คุณเคยเห็นจากกล้องฟูจิฟิล์มนั่นแหละครับ มันยังคงถ่ายทอดคาแรคเตอร์ของโทนสีในแบบเดียวกัน ซึ่งโดยส่วนตัว ผมชอบสีของไฟล์ JPEG จากกล้องฟูจิฟิล์มอยู่แล้ว กับ X-E3 ภาพที่ได้จึงน่าประทับใจเช่นเดิมในเรื่องการถ่ายทอดสี คอนทราสต์ และการไล่โทน รายละเอียดที่ได้จาก X-E3 ยังคงเยี่ยมยอดครับ แม้กับไฟล์ JPEG ภาพยังมีความคมชัดสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อบันทึกด้วยเลนส์ชั้นยอดอย่าง XF90mm f/2 R LM OIS WR ภาพคมกริบ เห็นรายละเอียดเล็กๆ ของวัตถุได้ชัดเจน เมื่อใช้ที่ความไวแสง ISO 100-800 รายละเอียดดีมาก คมแบบมีเนื้อ มีมิติ ที่ ISO 1600 ภาพยังมีคุณภาพดีอยู่ครับ มีสัญญาณรบกวนปรากฏบ้าง รายละเอียดลดลงบ้าง แต่ความคมชัดก็ยังดีเพียงพอสำหรับการใช้งานระดับอาชีพ รองรับการขยายเป็นภาพขนาด 20×30 นิ้ว หรือ 30×40 นิ้วได้สบายๆ ที่ ISO 3200 รายละเอียดจะลดลงอีกเล็กน้อย แต่ภาพยังมีรายละเอียดดีน่าพอใจ และเชื่อว่าดีพอสำหรับการใช้งานของมืออาชีพ ผมยอมรับคุณภาพของกล้องรุ่นนี้จนถึง ISO 6400 เลยครับ เป็นความไวแสงที่ให้ภาพที่นำไปใช้งานได้
ให้รายละเอียดดีมาก คมกริบแม้จะเป็นเลนส์คิท กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 18-55mm. f/2.8-4R LM OIS ; 1/100Sec f/9, Mode : M, WB : 4300K, Film simulation : Velvia, ISO200
กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 10-24mm. f/4R OIS ; 1/100 Sec f/10, Mode : M, WB : Auto, Film simulation : Velvia, ISO200
ต้องยอมรับครับว่าเซ็นเซอร์รับภาพ X-Tran CMOS III 24.3 ล้านพิกเซลรุ่นนี้กับหน่วยประมวลผลภาพ X-Processor Pro ให้ภาพที่มีคุณภาพสูงน่าประทับใจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับกล้องในระดับราคาใกล้เคียงกัน จะเห็นความโดดเด่นของภาพที่ได้จาก X -E3 อย่างชัดจนในส่วนของวิดีโอนั้น X-E3 ให้ไฟล์ที่มีคุณภาพดี เช่นเดียวกับที่ได้จาก X-T2 ไฟล์ 4 K มีรายละเอียดสูงมาก สีสันเจิดจ้า ภาพใสดีมาก และมีมิติดี แม้กระทั้งไฟล์ FULL HD ภาพก็ยังมีรายละเอียดดีเยี่ยม สามารถใช้ทำงานระดับอาชีพได้ ความสะดวกในการใช้งานภาควิดีโอก็นับว่าดีมาก แม้จะยังมีฟีเจอร์วิดีโอไม่มากนัก แต่เท่านี้ก็น่าพอใจแล้วครับ
ความเห็น
กล้อง Fujifilm X-E3 เลนส์ Fujinon XF 50-140mm. f/2.8R LM OIS WR ; 1/125 Sec f/7.1, Mode : M, Film simulation : Astia, ISO200
หลายคนอาจเกิดความลังเลใจว่า ระหว่าง X-E3 กับ X-T20 จะเลือกตัวไหนดี สำหรับผมขอให้ความเห็นดังนี้ครับ หากคุณชอบกล้องสไตล์เรโทร และไม่ซีเรียสเรื่องการพับจอ X-E3 คือกล้องที่น่าใช้มากรุ่นหนึ่ง สิ่งที่โดดเด่นคือ ระบบทัชสกรีนที่ใช้งานสนุก สะดวกและช่วยให้ทำงานได้คล่องตัวขึ้น มันมีระบบออโตโฟกัสที่ดี คุณภาพไฟล์น่าประทับใจ และเป็นกล้องที่มีสเน่ห์ Fujifilm X-E3 คือตัวเลือกที่โดดเด่นอย่างมากในช่วงนี้ แนะนำเลยครับ
ขอบคุณ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องและเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.fujifilm.co.th
เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)
หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews