ในฉบับที่แล้ว เราได้พูดถึงรายละเอียดและจุดเด่นของ Sony A7R IV กันไปแล้ว ซึ่งโดยหลักๆ แล้วความเปลี่ยนแปลงจาก A7R III ก็คือความละเอียดที่สูงขึ้นเป็น 61 ล้านพิกเซล ปรับการออกแบบกริปใหม่ให้จับถนัดเต็มมือมากขึ้น ปุ่มต่างๆ กดใช้งานได้สะดวกกว่าเดิม ปรับโครงสร้างความแข็งแรงของเมาท์เลนส์ การซีลป้องกันความชื้นและฝุ่น ความละเอียดของช่องมองภาพที่ขยับขึ้นไปเป็น 5.76 ล้านจุด รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ อีกหลายอย่าง ทำให้ A7R IV เป็นกล้องที่รองรับการทำงานได้ทุกรูปแบบ ทั้งช่างภาพที่ต้องการรายละเอียดภาพสูงๆ อย่างเช่น ช่างภาพคอมเมอเชียล ช่างภาพแฟชั่น แลนด์สเคป อินทีเรีย เป็นต้น และยังรองรับช่างภาพที่เน้นความเร็วในการทำงาน ความเร็วในการโฟกัส อย่างเช่น ช่างภาพกีฬา ช่างภาพข่าว ช่างภาพสารคดี และช่างภาพ Wildlife เป็นต้น จึงเป็นกล้องที่พร้อมทำงานได้ทุกรูปแบบอย่างแท้จริง
แต่สเปคเป็นเพียงข้อมูลจากผู้ผลิต สิ่งที่จะรายงานการใช้ว่าทำได้จริงอย่างที่ว่าหรือไม่ก็คือ การนำไปใช้งานภาคสนามในหลายๆ สถานการณ์ โดยในการทดสอบผมใช้ A7R IV กับเลนส์ 5 ตัว คือ FE 16-35mm f/2.8 GM, FE 24-70mm f/2.8 GM , FE 100-400mm f/4.5-5.6 GM OSS FE 85mm f1.4GM และ FE 135mm f/1.8GM
ผลการใช้งาน
การออกแบบกริปใหม่ที่มีความหนามากกว่าเดิม ทำให้การจับถือทำได้ถนัด นิ้วก้อยไม่หลุดลงมาด้านล่าง สิ่งที่ผมชอบคือ ปุ่มปรับต่างๆ แม้จะอยู่ที่ตำแหน่งเดิม แต่ปุ่มนูนขึ้นมาจากผิวตัวกล้องมากกว่าเดิม กดได้ถนัด ทั้งปุ่ม C1, C2, C3 และ C4 รวมทั้งปุ่มบันทึกวิดีโอ แต่ที่ดีกว่าเดิมชัดเจนมากคือ จอยสติ๊กที่นูนกว่าเดิม และด้านบนเซาะร่องไว้ ทำให้ปรับเลื่อนซ้าย-ขวา บน-ล่าง ได้สะดวกขึ้น การควบคุมปุ่มปรับต่างๆ จึงคล่องตัว ด้านบนตัวกล้องวางแป้นชดเชยแสงไว้มุมขวาเช่นเดิม แต่ออกแบบใหม่ให้สามารถล็อกแป้นชดเชยแสงได้ ทำให้ไม่เผลอไปปรับเลื่อนโดยไม่ตั้งใจ ช่องใส่เมมโมรี่การ์ดเป็น 2 ช่องเหมือนเดิม แต่รองรับการ์ด UHS-II ความเร็วสูงทั้ง 2 ช่อง แต่สลับตำแหน่งช่อง 1 ไปอยู่ด้านบน ช่อง 2 อยู่ด้านล่าง
ช่องมองภาพ EVF มีความละเอียดสูงมาก แต่อัตราขยายภาพเท่าๆ เดิม ขนาดภาพในช่องมองจึงแทบไม่ต่างจากเดิม ภาพที่มองเห็นมีความเป็นธรรมชาติดีมาก คมกริบ การไล่โทนสีละเอียดเนียน เมื่อลองแพนกล้องไปซ้าย-ขวา ภาพเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวล ไม่มีกระตุก ไม่มีดีเลย์ ในสภาพแสงน้อย การแสดงภาพก็ยังทำได้ดีมาก ภาพจะมี Noise บ้าง แต่ยังราบเรียบเมื่อแพนกล้อง
ระบบออโตโฟกัสของ A7R IV ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวังไว้ โดยส่วนตัวผมใช้กล้องรุ่น A7R III อยู่ และพอใจกับความเร็วในการโฟกัสอย่างมาก ใน A7R IV ระบบออโตโฟกัสยังคงทำงานได้ดีเยี่ยม ความเร็วในการโฟกัสทำได้ดีมาก แทรคได้เร็ว และแม่นยำ ในการโฟกัสต่อเนื่อง หากมีคนในภาพ แนะนำให้ใช้ระบบโฟกัสแบบพื้นที่กว้าง หรือ Zone แล้วเปิดระบบ Eye AF ไว้ ถ้ากล้องตรวจพบใบหน้าในภาพ จะจับใบหน้าและดวงตาแล้วโฟกัสติดตามทันที การแทรคทำได้ต่อเนื่องแม่นยำ เกาะติดอย่างน่าพอใจ ผมลองถ่ายภาพคนที่กำลังวิ่งเข้าหากล้องอย่างรวดเร็ว ในสภาพแสงที่มีความเปรียบต่างตํ่ามาก กล้องก็ยังโฟกัสติดตามใบหน้าได้อย่างแม่นยำ ระบบนี้สามารถใช้งานกับการถ่ายภาพกีฬาได้ดี โดยไม่ต้องพะวงกับการเคลื่อนกล้องเพื่อให้นักกีฬาอยู่ในพื้นที่โฟกัส เพราะระบบจะทำงานเต็มพื้นที่โฟกัสกว่า 70% ของกล้อง ตัวแบบเคลื่อนไปซ้าย-ขวา ด้านบนหรือด้านล่างของเฟรม การตรวจจับก็ยังทำได้อย่างแม่นยำ
ส่วนการถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่คน เช่น ภาพรถแข่ง มอเตอร์ไซค์ การแทรคกิ้งจะใช้ระบบ Real Time Tracking ระบบจะตรวจจับรูปทรงของวัตถุแล้วแทรคตามได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจากการทดลองพบว่าการทำงานของระบบแทรคกิ้งนับว่าดีมาก แทรคได้แม่นยำน่าพอใจ ประสิทธิภาพในการแทรคกิ้งของ A7R IV ทำได้ดีกว่า A7R III เล็กน้อย ความแตกต่างมีไม่มากนัก แต่ก็นับว่ายอดเยี่ยมที่สุดแล้วในบรรดากล้องฟูลเฟรมความละเอียดสูงในตลาดทุกรุ่น ส่วนระบบ Animal Eye AF ก็ทำงานได้ค่อนข้างดีกับ สุนัข แมว ไม่มีปัญหาในการโฟกัส ระบบตรวจจับได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ อาจจะมีกับสัตว์บางชนิดที่ระบบอาจจะตรวจจับไม่ได้บ้าง แต่เท่าที่มันทำได้ก็นับว่าดีแล้วครับ
ในสภาพแสงน้อยการแทรคกิ้งของระบบออโตโฟกัสยังทำได้ดี ภาพนักแสดงที่กำลังวิ่งเข้าหากล้องบันทึกด้วยระบบโฟกัสแบบ Real time Eye AF ที่ใช้งานง่ายมาก การแทรคทำได้แม่นยำ มีภาพหลุดโฟกัสบ้างแต่น้อยมาก กล้อง SONY A7R IV เลนส์ FE 100-400mm F4.5-5.6GM OSS ; 1/800 Sec f/4.5 Mode : M, ISO 2500
ประสิทธิภาพของระบบออโตโฟกัสนั้นสรุปได้เลยครับ ดีพอสำหรับภาพเคลื่อนไหวทุกประเภท รองรับการถ่ายภาพกีฬาระดับอาชีพได้ กับภาพพอร์เทรต ภาพแฟชั่นที่เคลื่อนไหวก็ทำได้เยี่ยม ส่วนการโฟกัสโหมด AF-S นั้นหายห่วงครับ เร็วและแม่นยำมากแม้ใช้ในสภาพแสงน้อยหรือวัตถุมีคอนทราสต์ตํ่า
ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง คือจุดเด่นของ A7R IV มันเป็นกล้องฟูลเฟรมความละเอียดสูงมากถึง 61 ล้านพิกเซล ที่ยังรักษาความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องระดับ 10 ภาพ/วินาที ได้เช่นเดียวกับ A7R III ดังนั้น กล้องรุ่นนี้จึงใช้ในการถ่ายภาพแอคชั่นได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นภาพกีฬา ภาพแอคชั่นของนางแบบ ภาพแอคชั่นของนก หรือสัตว์ต่างๆ
กับภาพที่ต้องการรายละเอียดสูงๆ กล้องรุ่นนี้ตอบสนองได้เต็มที่ SONY A7R IV เลนส์ FE 85mm F1.4GM ; 1/60 Sec f/4 Mode : M, ISO 320
ในส่วนของคุณภาพไฟล์นั้น สิ่งแรกที่ผมอยากรู้คือ ไฟล์ 61 ล้านพิกเซลของ A7R IV คมแค่ไหน รายละเอียดดีแค่ไหน สัญญาณรบกวนเป็นอย่างไร ในการทดสอบจึงลองกับภาพหลายๆ รูปแบบ โดยเรื่องรายละเอียดนั้น ผมลองถ่ายภาพนางแบบด้วยเลนส์ FE 135mm f/1.8GM พบว่า ภาพที่ได้มีรายละเอียดสูงมาก เก็บรายละเอียดของใบหน้าตัวแบบได้ชัดเจนมากๆ แม้กระทั่งเส้นเลือดในดวงตาของตัวแบบ รายละเอียดของเส้นผม เสื้อผ้า ดึงออกมาได้คมชัดอย่างน่าประทับใจ แม้จะเป็นไฟล์ Jpeg และต้องไม่ลืมว่า นี่คือรายละเอียดจาก 61 ล้านพิกเซล หาก Resize ลงมาเป็น 30-36 ล้านพิกเซล ภาพจะคมกริบสุดๆ
กับเลนส์ FE 135mm F1.8GM รายละเอียดเยี่ยมยอดมาก SONY A7R IV เลนส์ FE 135mm F1.8GM ; 1/640 Sec f/2.8 Mode : M, ISO 200
กล้อง SONY A7R IV เลนส์ FE 85mm F1.4GM ; 1/160 Sec f/1.4 Mode : M, ISO 400
กล้อง SONY A7R IV เลนส์ FE 85mm F1.4GM ; 1/125 Sec f/1.4 Mode : M, ISO 400
กับเลนส์ FE 16-35mm f/2.8 GM และ FE 24-70mm f/2.8 GM ความคมชัดยังทำได้ดีเยี่ยม แสดงให้เห็นว่าเลนส์ G Master ทุกรุ่น รองรับความละเอียดระดับ 61 ล้านพิกเซลได้สบาย กับเลนส์ FE 100-400mm f/4.5-5.6 GM OSS ความคมชัดทำได้น่าพอใจมาก รายละเอียดดีตลอดช่วงซูม และที่ผมชอบเป็นพิเศษคือ เมื่อต้องการทางยาวโฟกัสที่สูงกว่า 400 มม. ผมสามารถใช้ฟังก์ชั่น APS-C Crop ก็จะได้ทางยาวโฟกัสช่วงซูมท้ายยืดออกไปเป็น 600 มม. โดยยังได้ความละเอียดสูงถึง 26.2 ล้านพิกเซล สูงเพียงพอสำหรับการนำภาพไปใช้งานระดับอาชีพ ในการใช้งานผมจะตั้งปุ่ม C3 ให้ทำหน้าครอปเป็น APS-C จึงสะดวกต่อการทำงานอย่างยิ่ง ต้องการใช้ก็กดปุ่ม C3 ต้องการยกเลิกก็กดปุ่ม C3 ซํ้าลงไป
แสงน้อย คอนทราสต์ตํ่า มีสายนํ้าโปรยลงมาอีก ตัวแบบก็วิ่งเข้าหากล้องเร็วมาก แต่กล้องก็ยังโฟกัสได้ SONY A7R IV เลนส์ FE 100-400mm F4.5-5.6GM ; 1/800 Sec f/5.6 Mode : M, ISO 3200
ที่ความไวแสง ISO-800 ความคมชัดยังดีเยี่ยม แม้จะปรากฏสัญญาณรบกวนบ้าง แต่ในส่วนที่อยู่ในโฟกัสรายละเอียดยังดี ที่ ISO-1600 สัญญาณรบกวนปรากฏชัดเจน แต่ภาพยังมีรายละเอียดน่าพอใจ สามารถนำไปใช้งานระดับอาชีพได้ ที่ ISO-3200 รายละเอียดจะลดลงอย่างชัดเจน อยู่ในระดับดี รายละเอียดบนผิวหน้าของตัวแบบลดลง แต่รายละเอียดของเสื้อผ้ายังค่อนข้างดี ที่ ISO-4000 ผมยังพอใจกับไฟล์ของกล้องรุ่นนี้ มันยังให้รายละเอียดดี โดยเฉพาะเมื่อนำไป Resize ให้เหลือ 20-30 ล้านพิกเซล ผมเชื่อว่าหากล้องที่จะมีรายละเอียดได้ระดับนี้..ยาก
เมื่อใช้ความไวแสงสูง จะปรากฏสัญญาณรบกวนพอควรแต่รายละเอียดยังดี กล้อง SONY A7R IV เลนส์ FE 100-400mm F4.5-5.6GM OSS ; 1/400 Sec f/5 Mode : M, ISO 4000
การถ่ายทอดสีเป็นอีกเรื่องที่ประทับใจ เปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้าแล้ว A7R IV ให้สีที่เป็นธรรมชาติกว่าเล็กน้อย กับไฟล์ Jpeg การไล่เฉดสีนุ่มนวล ราบเรียบ ให้สีผิวดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน ภาพจะดูคล้ายๆ กับที่ได้จาก A9 ผมพอใจกับสีที่ได้จากกล้องรุ่นนี้ เพราะมันยังมีความอิ่มสีดี แต่ดูเนียนขึ้น
ให้สีผิวดี ภาพใสเคลียร์ รายละเอียดดีมาก SONY A7R IV เลนส์ FE 100-400mm F4.5-5.6GM ; 1/500 Sec f/5.6 Mode : M, ISO 400
ชัตเตอร์ของ A7R IV เงียบและนุ่มนวลกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจนมาก หากใช้ชัตเตอร์แบบกลไก ความสั่นสะเทือนจะลดลงอย่างรู้สึกได้ ทำให้เมื่อถือกล้องมือด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่า โอกาสได้ภาพชัดจะมีมากกว่า (แต่ในการใช้งาน แนะนำให้เปิดใช้ระบบม่านชัตเตอร์ชุดหน้าเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความสั่นสะเทือนลงเหลือน้อยที่สุด)
ในการถ่ายภาพต่อเนื่อง อาการ LAG ของการแสดงภาพในช่องมองนับว่าน้อยครับ (แต่ยังได้ไม่เท่า A9) จึงสามารถเคลื่อนกล้องตามซับเจกต์ได้ไม่ยาก Black Out ก็นับว่าน้อยมากเช่นกัน จึงใช้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ดี
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวทำงานได้น่าพอใจมาก แม้กับเลนส์เทเลโฟโต้ โดยเมื่อลองใช้กับเลนส์ FE 100-400mm f/4.5-5.6 GM OSS ที่ช่วง 400 มม. จะสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/60-1/30 วินาที อย่างหวังผลได้ กับเลนส์ช่วง 16-24 มม. สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ระดับ 1/4-1/2 วินาที ได้
ระบบ Pixel Shift เป็นอีกฟังก์ชั่นที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะช่างภาพ Commercial ช่างภาพสถาปัตยกรรม อินทีเรีย ช่างภาพแลนด์สเคป เพราะสามารถบันทึกภาพ 4 หรือ 16 ภาพด้วยโหมด Pixel Shift แล้วให้ซอฟต์แวร์รวมเป็นภาพๆ เดียวที่มีความละเอียดสูงถึง 240 ล้านพิกเซลได้ ซึ่งจากการทดลองพบว่ารายละเอียดยังน่าพอใจ แต่จะยอดเยี่ยมเมื่อ Resize จาก 240 ล้านพิกเซล ให้เหลือ 100-120 ล้านพิกเซล จึงเป็นฟังก์ชั่นที่โดดเด่นอย่างยิ่ง
SONY A7R IV เลนส์ FE 100-400mm F4.5-5.6GM ; 1/500 Sec f/5.6 Mode : M, ISO 400
ในส่วนของระบบวิดีโอนั้น A7R IV ทำได้ดี ให้ภาพ 4K ที่มีรายละเอียดสูงมาก ให้สีสันเจิดจ้า สดใส ระบบกันสั่นก็ทำงานกับภาควิดีโอได้ดี ลดความสั่นไหวเมื่อถือกล้องด้วยมือได้ดีพอสมควร ทำให้ภาพค่อนข้างนิ่ง ระบบออโตโฟกัสทำงานกับวิดีโอได้อย่างน่าประทับใจ โฟกัสได้แม่นยำ ราบเรียบ นุ่มนวล สามารถตั้งความเร็วในการแทรคโฟกัส ตั้งการตอบสนองของระบบแทรคกิ้งได้ และสามารถใช้ระบบ Touch AF เพื่อย้ายจุดโฟกัสจากหน้าจอ LCD ได้ การบันทึกเสียงก็ทำได้ชัดเจนเมื่อใช้ไมโครโฟนในตัวกล้อง เสียดายที่ไม่ได้ลองกับไมโครโฟนดิจิตอลรุ่นใหม่ครับ
ในส่วนของการใช้งาน ต้องบอกว่าคล้ายๆ กับ A7R III นั่นละครับ คือ ใช้สนุก คล่องตัว และด้วยช่องมองภาพที่ดีขึ้น กริปที่ดีขึ้น ปุ่มต่างๆ กดได้สะดวกขึ้น ทำให้ A7R IV ใช้สนุกขึ้นไปอีกสเต็ป เป็นกล้องที่ใช้แล้วจะหลงรักอย่างแน่นอนครับ..
ความเห็น : ราคาขาย 114,990 บาท แม้อาจดูว่าสูง แต่ผมตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า นี่คือกล้อง High-Res ที่ครบเครื่องที่สุด รองรับการใช้งานทุกรูปแบบอย่างไร้ข้อจำกัดอย่างแท้จริง หากคุณมีงบพอ
นี่คือกล้องที่ต้องใช้คำว่า “แนะนำเป็นพิเศษ” ครับ
เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์
ขอบคุณ : บ.โซนี่ ไทย จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.sony.co.th
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews