BASIC PHOTO TECHNIQUES

คู่มือเริ่มต้น สำหรับมือใหม่อยากใช้กล้องฟิล์ม

คู่มือเริ่มต้น สำหรับมือใหม่อยากใช้กล้องฟิล์ม

ถึงแม้ว่าราคาฟิล์ม รวมไปถึงค่าล้างฟิล์มยังมีราคาสูงอยู่ แต่การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นยุคที่เทคโนโลยีกล้องดิจิตอล รวมทั้งสมาร์ทโฟนมีการพัฒนาไปเยอะมากแล้ว สำหรับมือใหม่ที่อยากลองใช้กล้องฟิล์ม อาจจะมีข้อสงสัยในเรื่องกล้องฟิล์มหลายๆ อย่าง เช่น ต้องเริ่มจากอะไรดี? มีกล้องฟิล์มแบบไหนบ้าง? ต้องใช้ฟิล์มอะไรดี? หรือจะตั้งกล้องแบบไหนดี 

Fotoinfo.online จะพามือใหม่ไปทำความรู้จักกับกล้องฟิล์ม และการเริ่มต้นการถ่ายภาพ เพื่อให้สนุกกับการใช้กล้องฟิล์มนั่นเอง

ทำความรู้จักกับกล้องฟิล์ม

กล้องฟิล์ม คือ กล้องที่ใช้ฟิล์มถ่ายภาพในการบันทึกภาพ ซึ่งจะแตกต่างจากกล้องดิจิตอลที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพในการบันทึกภาพ โดยภาพที่ได้จากกล้องฟิล์มจะมีความโดดเด่นในเรื่องของสีสันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มากกว่าภาพจากกล้องดิจิตอลที่ยังไม่ได้ปรับแต่งอะไรเลย รวมทั้งยังมีความสนุกและท้าทายในกระบวนการถ่ายภาพ เนื่องจากไม่เห็นภาพที่ถ่าย จนกว่าจะล้างและอัด-ขยาย หรือสแกนเป็นไฟล์ภาพออกมาก่อนนั่นเอง 

การเลือกกล้องฟิล์มสำหรับมือใหม่

มือใหม่ที่อยากลองใช้กล้องฟิล์ม ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นกับกล้องฟิล์มราคาแพงๆ หรือกล้องที่มีฟังก์ชั่นการทำงานที่ซับซ้อนมากมาย ซึ่งกล้องฟิล์มในตลาดกล้อง รวมทั้งตลาดกล้องมือสอง มีหลายระดับ หลายราคาให้เลือกและหลายประเภท โดยจะแนะนำกล้องที่ใช้ฟิล์ม 35 มม. ก่อนในเบื้องต้น เช่น 

กล้องแบบ Point and Shoot 

กล้องประเภทนี้ออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่ต้องตั้งค่า หรือกดปุ่มอะไรให้วุ่นวาย แค่ยกขึ้นมาเล็ง แล้วกดชัตเตอร์ถ่ายภาพได้เลย มีทั้งแบบเลื่อนฟิล์มอัตโนมัติ และต้องโยกก้านเลื่อนฟิล์มเอง   

กล้องแบบ Range Finder 

มีฟังก์ชั่นการทำงานที่ซับซ้อนกว่ากล้องแบบแรก ผู้ใช้จะต้องปรับโฟกัส และปรับตั้งค่ากล้องบางอย่างด้วยตนเอง บางรุ่นออกแบบให้เปิดรับแสงอัตโนมัติทั้งหมด บางรุ่นสามารถปรับรูรับแสง หรือความเร็วชัตเตอร์ได้ และเป็นแบบปรับโฟกัสเอง โดยจะมีแถบสีเหลืองในช่องมองภาพจะเหลื่อมกัน ถ้าหากยังโฟกัสไม่ได้ และทับซ้อนกันสนิท เมื่อโฟกัสจุดที่ต้องการได้แล้ว    

กล้อง Single Lens Reflex หรือกล้อง SLR 

เป็นกล้องที่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ และมีทั้งรุ่นที่ออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายๆ ไปจนถึงระดับมืออาชีพ ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานที่ซับซ้อนมากมาย มือใหม่ที่ต้องการต่อยอดการเรียนรู้ของตัวเอง ก็อาจจะเริ่มจากกล้องที่เป็นรุ่นเริ่มต้น ซึ่งมีระบบออโต้ให้เลือกใช้ เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น ก็เลือกใช้โหมดถ่ายภาพที่ปรับตั้งด้วยตนเอง หรือเปลี่ยนไปใช้กล้องในระดับที่สูงขึ้นก็ได้เช่นกัน

กล้อง SLR ยังมีทั้งที่เป็นแบบกลไกล้วนๆ ต้องหมุนโฟกัสเองด้วยมือ ทำงานได้โดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ สำหรับแบตเตอรี่ใส่เอาไว้ให้เครื่องวัดแสงของกล้องเท่านั้นเอง อีกแบบหนึ่งคือแบบกึ่งกลไก ต้องใส่แบตเตอรี่กล้องถึงจะทำงาน และสุดท้ายคือแบบอัตโนมัติทั้งการทำงานของตัวกล้องและการโฟกัส ซึ่งเป็นกล้องในยุคก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตอล 

เลือกฟิล์มแบบไหนดี

กล้องฟิล์มต้องบันทึกภาพลงบนม้วนฟิล์ม ดังนั้นการเลือกฟิล์มสำหรับมือใหม่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ฟิล์มถ่ายภาพมีหลายชนิดและหลายความไวแสง (ISO) ซึ่งมีผลต่อความสว่างและความคมชัดของภาพ สำหรับมือใหม่ควรเริ่มตันด้วย ฟิล์มถ่ายภาพสี (Color Negative Film) ซึ่งเป็นฟิล์มที่ใช้งานง่ายที่สุด และมีราคาไม่สูงมาก และเลือกความไวแสงปานกลาง เช่น Kodak Gold 200, Kodak ColorPlus 200, Fujifilm Superia 400 หรือ Kodak Portra 400 เป็นต้น ตัวเลขที่กำกับอยู่ด้านหลังคือความไวแสงฟิล์ม ฟิล์มถ่ายภาพสีจะมีแล็ปที่รับล้างอยู่มากมาย มีราคาไม่แพงและรอไฟล์รูปไม่นาน

ฟิล์มขาวดำ (Black and White Film) สำหรับมือใหม่ที่ชอบความคลาสสิกรวมทั้งต้องการเพิ่มและพัฒนาทักษะการถ่ายภาพของตัวเอง ฟิล์มขาวดำสำหรับมือใหม่มีให้เลือกตั้งแต่ยี่ห้อที่ราคาไม่สูงมาก เช่น Fomapan, Kentmere ส่วนรุ่นยอดนิยมที่ให้คอนทราสต์และโทนภาพที่ดี เช่น Ilford HP5+ 400 หรือ Kodak Tri-X 400 เป็นต้น

ฟิล์มหนัง (Motion Film) เป็นฟิล์มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากฟิล์มถ่ายภาพปกติ ทั้งฟิล์มสีและฟิล์มขาวดำ มีราคาที่สูงมาก ฟิล์มหนังเลยเป็นตัวเลือกด้วยราคาที่ไม่แพงมาก มีให้เลือกทั้งแบบปกติ ต้องล้างด้วยน้ำยาล้างฟิล์มหนังเฉพาะ และแบบลอกชั้นคาร์บอน สามารถล้างในเครื่องล้างฟิล์มสีด้วยน้ำยาตัวเดียวกันได้เลย  

เริ่มต้นถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม

เมื่อเลือกกล้องและฟิล์มตามที่ต้องการแล้ว ก็เช็กดูว่ากล้องมีแบตเตอรี่หรือไม่ ถ้ามีก็เปิดฝาหลังกล้องออกมา จากนั้นใส่ฟิล์มลงไปในกล้อง ซึ่งปกติแล้ว ช่องกลักฟิล์มจะอยู่ทางด้านซ้าย และแกนหมุนเลื่อนฟิล์มจะอยู่ด้านขวาของตัวกล้อง ใส่หางฟิล์มเข้าไปในแกนหมุนฟิล์ม และโยกก้านชัตเตอร์ ซึ่งจะเป็นการขึ้นชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ และหมุนเลื่อนฟิล์มไปด้วย ต้องแน่ใจว่าหางฟิล์ม เข้าไปในแกนหมุนฟิล์มแล้ว (สังเกตได้จากก้านกรอฟิล์มจะหมุนตาม เวลาโยกก้านเลื่อนฟิล์ม และกล้องระบบอัตโนมัติ จะมีตัวเพลทและเดือยหนามเตยที่ช่วยให้การใส่ฟิล์มง่ายกว่ากล้องแบบแมนนวล) จากนั้นก็ปิดฝาหลังกล้อง  และเลื่อนฟิล์มไปอีกซักหนึ่งหรือสองครั้ง หรือให้เลขนับฟิล์มมาอยู่ที่เลข 1 สิ่งที่ห้ามลืมเลยคือ จะต้องตั้งค่าความไวแสงของฟิล์มที่ตัวกล้องด้วย เพื่อให้กล้องวัดแสงได้อย่างถูกต้อง ถ้าหากว่าเป็นกล้องระบบอัตโนมัติ กล้องจะอ่านค่ารหัส DX ที่ข้างกลักฟิล์มเอง แต่ถ้าหากว่าเป็นฟิล์มหนัง หรือฟิล์มที่ผู้ขายบางเจ้า โหลดใส่กลักเอง จะต้องตั้งค่าความไวแสงตามที่ผู้ขายแจ้งไว้ และอย่าลืมแจ้งแลปที่ล้างฟิล์มด้วยเช่นกัน

การปรับตั้งกล้อง จะขึ้นอยู่กับประเภทกล้องที่ใช้ถ้าเป็นกล้องแมนนวลทั้งหมด จะต้องโยกก้านเลื่อนฟิล์มเอง ปรับโฟกัสเอง ปรับค่าความไวแสง และรูรับแสงเอง แต่ถ้าหากว่าเป็นกล้องระบบอัตโนมัติ กล้องจะเลื่อนฟิล์ม รวมทั้งปรับโฟกัสอัตโนมัติให้ด้วย ส่วนผู้ใช้จะปรับความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงเอง หรือจะให้กล้องปรับให้ทั้งหมดก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับรุ่นกล้องที่ใช้เป็นหลัก 

หลังจากที่ถ่ายภาพไปจนหมดม้วน (24 หรือ 36 ภาพ) ก็จะต้องกรอฟิล์มกลับเข้าไปในกลักทั้งหมด เพื่อส่งแลปล้าง วิธีสังเกตว่าฟิล์มหมดม้วนแล้วคือ ดูที่หน้าต่างนับเลขฟิล์ม โดยฟิล์มแต่ละม้วน อาจจะถ่ายได้มากกว่าที่แจ้งไว้ข้างกลักฟิล์มประมาณ 1 หรือ 2 ภาพ หลังจากนั้น เมื่อโยกก้านเลื่อนฟิล์มจะรู้สึกตึงๆ มือ หรือโยกไม่ไป และไม่ควรฝืนออกแรงโยกต่อ อาจจะทำให้ฟิล์มขาดได้

การกรอฟิล์ม ให้กดปุ่มปลดล๊อกแกนม้วนฟิล์ม (กล้องแมนนวล ส่วนใหญ่จะอยู่ด้านล่างตัวกล้อง) จากนั้นใช้ก้านกรอฟิล์มหมุนตามเข็มนาฬิกา ซึ่งแรกๆ จะรู้สึกตึงมือเล็กน้อย แต่พอฟิล์มเข้าไปในกลักทั้งหมด จะรู้สึกเบาๆ มือ ก็ให้เปิดฝาหลังเอาฟิล์มออกไปส่งล้างได้เลย สำหรับกล้องอัตโนมัติ พอถ่ายหมดม้วน กล้องจะกรอฟิล์มเข้าไปในกลักให้และจะหยุดเอง เมื่อกรอฟิล์มเข้าไปทั้งหมดแล้ว    

เมื่อได้เรียนรู้กาารถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มแล้ว สามารถต่อยอดการพัฒนาไปสู่การล้างฟิล์มและอัด-ขยายภาพด้วยตนเองได้

สนุกกับการเรียนรู้ การทดลอง และพัฒนาการถ่ายภาพไปพร้อมๆ กัน

การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มมีความสนุกที่ไม่เหมือนใคร เพราะจะได้เห็นภาพที่แท้จริงหลัง ก็ต่อเมื่อส่งร้านล้างและสแกนออกมาเป็นไฟล์ภาพแล้ว สำหรับผู้ที่ต้องการจริงจังกับระบบฟิล์มมากขึ้น ก็สามารถต่อยอดไปสู่การล้างฟิล์มเอง หรืออัดขยายภาพด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังสามารถทดลองถ่ายและล้างกับฟิล์มประเภทต่างๆ รวมทั้งเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ภาพออกมาตามที่ต้องการให้มากที่สุดนั่นเอง

ถ่ายด้วยกล้อง Konica Auto S II ฟิล์ม SVENA Tacma 200

ถ่ายด้วยกล้อง Olympus OM 2 เลนส์ Olympus OM 24mm F2 ฟิล์ม Kodak ProImage 100

ถ่ายด้วยกล้อง Pentax ME Super เลนส์ Cosina 50mm F2 ฟิล์ม Fomapam 100

การเริ่มต้นถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มอาจจะดูยุ่งยากในตอนแรก แต่เมื่อเริ่มเข้าใจและรู้จักกับการใช้งาน เราจะพบว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและความท้าทาย ให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้และก้าวเข้าสู่โลกของฟิล์ม รับรองว่ามือใหม่จะตกหลุมรักได้ไม่ยากครับ

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video