ในสมัยที่ผมเริ่มถ่ายภาพใหม่ๆ ความรู้เรื่องเบสิคการถ่ายภาพก็มักจะเน้นไปในเรื่องของความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ความไวแสง การวัดแสง การปรับชดเชยแสง และเรื่องของฟิล์มที่เลือกใช้ กล้องถ่ายภาพเองก็ไม่ได้มีฟังก์ชั่นพิเศษๆ อะไรมากมายนัก กล้องยอดฮิตสำหรับนักเรียนในยุคนั้น เป็น Nikon FM2 ตอนหลังปรับปรุงมาเป็น FM2N เป็นกล้องที่เป็นระบบกลไกทั้งหมด แบตเตอรี่ใช้สำหรับเครื่องวัดแสงในตัวกล้องเท่านั้น แบตหมดก็ยังถ่ายภาพได้ปกติ แค่วัดแสงไม่ได้เท่านั้นเอง ถ้าต้องถ่ายภาพในตอนกลางวัน ก็ใช้ฟิล์มเดย์ไลท์ ถ่ายภาพในห้อง หรือในโรงแรมที่มีไฟเหลืองเยอะๆ ก็เลือกใช้ฟิล์มทังสเตนเพื่อให้สีสันถูกต้อง หรือถ้าต้องการแสงเหลืองๆ ก็ใช้ฟิล์มเดย์ไลท์เท่านั้นเองครับ ไม่ได้มีการจัดการเรื่องสีสันอื่นใดอีก ระบบล้างฟิล์มก็ค่อนข้างมาตรฐาน ซึ่งไม่มีส่วนที่จะทำให้สีสันของภาพเพี้ยนไปเท่าใดนัก
โดยที่ผมถ่ายภาพเพื่อประกอบคอลัมน์ในหนังสือมาตั้งแต่สมัยทำงานใหม่ๆ ผมก็แค่เลือกฟิล์มสไลด์ชิ้นที่ตรงตามรูปแบบคอนเซปต์ของคอลัมน์ ตัดส่งให้กับฝ่ายอาร์ต เพื่อเอาไปจัดวางคอลัมน์ ก็เป็นอันจบงานฝ่ายภาพล่ะครับ การจัดการเรื่องสีสัน ตรวจปรู๊ฟ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายอาร์ตที่จะดูว่าปรู๊ฟที่โรงพิมพ์ส่งมาให้ สีตรงหรือเพี้ยนไปจากฟิล์มสไลด์ต้นฉบับหรือเปล่า ถ้าเพี้ยนก็แก้กันไปจนกว่าจะปรับสีได้ตรงล่ะครับ
พอมาสู่ยุคดิจิตอล ที่กล้องดิจิตอลมีการจัดการสีสันของไฟล์ภาพได้หลากหลายรูปแบบ แน่นอนครับ โอกาสที่สีสันจะเกิดผิดเพี้ยนก็มีมากขึ้น ผมก็ต้องมาจัดการเรื่องไฟล์ภาพก่อนที่จะส่งไฟล์ต้นฉลับให้ฝ่ายอาร์ต ที่ยุคหลังจะถูกเรียกรวมเป็นแผนกกราฟฟิกดีไซน์ ซึ่งไฟล์ที่ส่งไปก็ค่อนข้างสร้างปัญหาให้มากทีเดียว เนื่องจากในช่วงแรกๆ ผมยังคงใช้คอมพิวเตอร์ PC เป็นหลัก พอเปิดภาพในจอของผม ปรับจนสีสันตรงตามที่ต้องการแล้ว ส่งไฟให้กราฟฟิกดีไซน์ เปิดมาสีเพี้ยนไปอีก จนต้องแก้ไฟล์กันไปมา ทำให้คุณภาพของไฟล์ลดลงไปด้วย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอด ถึงแม้ช่วงหลังจะเปลี่ยนไปใช้คอมฯ แบบอื่น แต่ปัญหาก็ยังเกิดอยู่เช่นเดิม แม้จะมีการคาลิเบตหน้าจอด้วยอุปกร์คาลิเบทจอแล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องสีผิดเพี้ยนอยู่ ซึ่งตัวปัญหามาจากการใช้จอมอนิเตอร์แบบ sRGB ที่ไม่สามารถแสดงสีได้ครบช่วงนั่นเอง ทำให้งานพิมพ์ยังคงมีสีผิดไปจากความจริง
ผมมีโอกาสได้ใช้จอมอนิเตอร์แต่งภาพของ BenQ ที่ออกแบบมาสำหรับการแต่งภาพรุ่น SW Series ซึ่งมีอยู่หลายรุ่นด้วยกัน ตั้งแต่รุ่นเล็ก 24 นิ้ว, ไปจนถึงขนาด 32 นิ้ว แน่นอนล่ะครับ หน้าจอใหญ่ๆ ทำให้ผมมีพื้นที่สำหรับทำงานมากขึ้น ปรับซูมขยายภาพ เพื่อเช็กรายละเอียดของไฟล์ภาพได้สะดวกมากขึ้นด้วยนั่นเอง ซึ่งทุกรุ่นก็จะมีสเปคหลักๆ นั่นคือ แสดงสี AdobeRGB ได้สูงถึง 99% ตรงนี้ถือเป็นจุดที่แตกต่างจากจอมอนิเตอร์แต่งภาพที่ผมเคยใช้งานมาอย่างสิ้นเชิง เพราะก่อนนั้นจะเป็นจอที่แสดงสีแบบ sRGB ซึ่งก็คือจอคอมทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ
จอแสดงผล AdobeRGB 99% จะแสดงสีสันและโทนภาพได้กว้างกว่า sRGB มาก รวมทั้งครอบคลุมการแสดงสีของ 100% sRGB ได้ทั้งหมด ดังนั้นเวลาที่ผมปรับสีสัน ก็จะง่ายและตรงตามที่ต้องการมากขึ้น การปรับเพิ่มหรือลด สี หรือโทนของภาพก็ปรับได้ละเอียดมากกว่า เอาง่ายๆ ก็คือ เมื่อผมเปิดไฟล์ภาพขึ้นมา ก็จะเห็นรายละเอียดในโทนมืดและสว่างตามจริงจากไฟล์ภาพ ซึ่งจอ sRGB แสดงไม่ได้ละเอียดขนาดนี้ เมื่อเวลาที่ต้องปรับแก้ไขไฟล์ภาพ จอ sRGB ปรับเพิ่มความสว่างไปหน่อยเดียว โทนสว่างก็อาจจะสว่างจนรายละเอียดหายไป เนื่องจากมีช่วงการแสดงสีที่แคบกว่านั่นเอง ทำให้ยังได้ภาพที่มืดกว่าความเป็นจริง ส่วนการปรับจากจอ AdobeRGB ผมสามารถปรับเพิ่มความสว่างเพิ่มได้เรื่อยๆ ตามความต้องการ และแน่นอนว่าผมยังสามารถดูได้ว่ารายละเอียดส่วนสว่างยังคงอยู่ครบหรือไม่อีกด้วยครับ
นอกจากจะมีช่วงสีที่กว้างแล้ว ยังแสดงผลได้คมชัดความละเอียดสูง โดยตัวท๊อปของ SW Series บางรุ่นจะสามารถแสดงความละเอียดได้ในระดับ 4K เช่นในรุ่น SW320 และ SW271 จอที่มีความละเอียดสูง ช่วยให้ตรวจสอบรายละเอียดของส่วนต่างๆ ในไฟล์ภาพได้ดีขึ้น และไม่เพียงแค่นั้น แต่ยังช่วยให้การทำงานสะดวกมากกว่า โดยเมื่อปรับซูม 100% จอที่มีความละเอียดต่ำกว่า จะแสดงภาพได้เต็มในส่วนที่ต้องการปรับ แต่ไม่เห็นพื้นที่โดยรวมรอบข้าง อาจจะทำให้ปรับแก้ไขภาพผิดพลาดได้ ส่วนจอที่มีความละเอียดสูงๆ อย่าง 4K เมื่อซูม 100% นอกจากสามารถดูรายละเอียดต่างๆ ได้ชัดเจนแล้ว ยังมีพื้นที่รอบข้างให้สามารถเช็กรายละเอียดของไฟล์โดยรวมได้ด้วย
จอมอนิเตอร์ BenQ SW Series เป็นที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานปรับแต่งภาพถ่าย งานกราฟิก รวมทั้งงานออกแบบต่างๆ และเป็นงานที่ต้องการความเที่ยงตรงของสีสูง ซึ่งนอกจากตัวจอมอนิเตอร์จะสามารถถ่ายทอดสี Adobe RGB ได้ 99% ยังมีค่า Delta Error หรือ Delta E ซึ่งเป็นค่าความแตกต่างของสีที่นำมาอ้างอิง โดยคำนวณจากความแตกต่างของแกนสี 3 แกน หรือ 3 มิติ ได้ค่าออกมาที่ต่ำกว่า 2 และ 14bit 3D Look Up Table (LUT) ให้การผสมสี RGB ที่มีความแม่นยำตามไฟล์ต้นฉบับ และทำให้ปรับแต่งเพิ่มเติมได้อย่างง่ายดาย และบิทสีที่สูงๆ ก็ช่วยให้การไล่โทนของภาพมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น อย่างจอมอนิเตอร์ BenQ SW Series ให้ความลึกสีสูงถึง 10 bit แสดงสีได้ถึง 1000 ล้านสี ดังนั้น เมื่อปรับเพิ่มสีสันของภาพให้สดใสขึ้น การไล่โทนสี ยกตัวอย่าง การไล่โทนสีของกลีบดอกไม้สีแดง ก็ยังคงมีโทนสีที่เนียนสวย ไล่เฉดสีจากแดงสว่างๆ ไปจนถึงแดงเข้มได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เละเป็นปื้นๆ นั่นเองครับ
หน้าจอตัวนี้เป็นพาเนล IPS ทำให้มองเห็นสีสันได้อย่างเที่ยงตรง โดยให้มุมมองกว้างถึง 178 องศา เป็นจอเป็นกระจกแบบด้าน ช่วยลดการสะท้อนแสง ทำให้มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน แทบไม่มีแสงสะท้อนรบกวนภาพ ซึ่งแสงสะท้อนเป็นอีกหนึ่งปัญหาในการใช้งานจอมอนิเตอร์แต่งภาพแบบอื่น ซึ่งเป็นแบบมันวาว ทำให้เกิดเงาสะท้อนมากมายเต็มไปหมด ต้องปรับมุมจอ หรือเอียงหัวไปมา เพื่อหามุมลดเงาสะท้อนบนจอ ซึ่งน่ารำคาญมาก แต่สำหรับจอแต่งภาพ BenQ SW Series ช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงไปอย่างสิ้นเชิงครับ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีหลอดไฟสว่างๆ อยู่ด้านหลังก็ตาม
ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ BenQ SW Series คือออกแบบการควบคุมการทำงานให้สะดวกกับการปรับตั้งในขณะที่ผมกำลังทำงาน อย่างเครื่องมือ Hotkey Puck ซึ่งเป็นแป้นกลมๆ วางตรงฐานขาตั้งจอ สามารถดึงออกมาวางข้างๆแป้นคีย์บอร์ดคล้ายๆ กับเมาส์ได้เช่นกัน โดย Hotkey Puck เป็นตัวคอนโทรลเมนูการทำงานหลายๆ เมนู มีปุ่มหลักๆ 3 ปุ่ม เลือกการ ทำงานได้ 3 รูปแบบคือ ปุ่ม 1 เลือกแสดงโหมดสี Adobe RGB, ปุ่ม 2 เลือกแสดงโหมดสี sRGB และปุ่ม 3 เลือกโหมด B/W และปุ่มย้อนกลับ ส่วนตรงกลางเป็นปุ่ม OK และปุ่มเลือก 4 ทิศทาง ความสะดวกของ Hotkey Puck ที่ผมใช้งานบ่อยๆ คือ เลือกดูการแสดงผลแบบ AdobeRGB, sRGB และ Black and White เมื่อปรับภาพและต้องการเช็กว่าโทนภาพที่ปรับไปนั้นจะเป็นยังไงบ้างในโหมด sRGB และ Black and White โดยที่ผมไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโหมดหรือโทนภาพในไฟล์ต้นฉบับให้ยุ่งยากแต่อย่างใดครับ
สำหรับผู้ที่ใช้งานจอมอนิเตอร์แต่งภาพอยู่เป็นประจำ ก็จะรู้อยู่แล้วว่าเมื่อใช้งานไปซักพัก จอก็จะเกิดความผิดเพี้ยนของสีบ้างไม่มากก็น้อย จำเป็นที่จะต้องปรับคาลิเบตอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อยังคงความถูกต้องของสีสัน ซึ่ง BenQ SW Series ก็เช่นเดียวกัน แต่ที่พิเศษกว่าจอมอนิเตอร์แต่งภาพอื่นๆ คือ มีซอฟท์แวร์สำหรับคาลิเบตของตัวเอง นั่นคือ Palette Master Element ซึ่งทำงานร่วมกับอุปกรณ์สำหรับคาลิเบตหลายยี่ห้อในตลาด ที่เอามาใช้สำหรับวัดค่าสีเท่านั้น ส่วนการจัดการค่าสีต่างๆ นั้น จะเป็นการจัดการด้วย Palette Master Element ทั้งหมด โดยยังมีจุดที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ ตัวไฟล์คาลิเบตนั้น (ICC Profile) สามารถก๊อปปี้ไปวางในคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่นำมาใช้กับจอนี้ได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องคาลิเบตใหม่ทุกๆ ครั้งนั่นเองครับ
ผมชอบการออกแบบอย่างหนึ่งของจอมอนิเตอร์แต่งภาพ BenQ SW Series นั่นคือ มี Port เชื่อมต่อให้ใช้งานได้มากมาย อาทิ USB, HDMI, VGA, Thunder Bolt หรือ Card Reader เป็นต้นครับ ซึ่งช่วยให้ผมใช้งานได้สะดวกมากขึ้น อย่างการเชื่อมเพื่อทำงานปกติ ก่อนนี้ผมใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดิมก็จะต้องต่อผ่าน Thunder Bolt พอผมเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ที่มีช่อง HDMI ผมก็ต่อเชื่อมกับ HDMI ได้โดยตรง ไม่ต้องหาอแดปเตอร์แปลงให้ยุ่งยาก หรือเมื่อผมต้องการโหลดไฟล์จาก SD Card ลงคอม พิวเตอร์ผมก็ใช้ช่อง Card Reader ที่จอได้ด้วยเช่นเดียวกัน และสำหรับรุ่น SW271 ที่มี Port USB type C ก็ช่วยให้ลดการเชื่อมต่อสายเคเบิลหลายๆ สายไปได้อีกด้วยครับ
นอกจากจะออกแบบจอมอนิเตอร์มาให้ลดการสะท้อนแสงแล้ว ยังมีฮูดบังแสงให้มาในกล่องด้วย (ยกเว้น SW240) และที่พิเศษยิ่งขึ้นคือ เป็นชุดฮูดที่ใช้งานได้ทั้งการใช้จอแนวนอน และแนวตั้ง (SW2700PT ต่อฮู้ดแนวนอนได้อย่างเดียว) ซึ่งการประกอบฮูดเข้ากับจอก็ง่ายมาก แค่ประกบตามชิ้นที่เชื่อมต่อกัน แล้วดันให้เข้าล็อกเท่านั้นเอง ด้านข้างของจอก็มีช่องสำหรับเกี่ยวกับเดือยของฮูดอยู่แล้ว การติดฮูดเข้ากับจอคอมแต่งภาพนั้น จะช่วยกันแสงรบกวนจากรอบข้างได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในสภาพแสงแบบไหน ก็ไม่มีผลกับการปรับแก้ไขไฟล์ภาพของผมเลยล่ะครับ และผลพลอยได้อย่างหนึ่งคือ ทำให้ผมมีสมาธิกับการทำงานมากขึ้นด้วย ..แต่อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ ครับ…
อีกประเด็นหนึ่งก็คือจอสามารถปรับเป็นแนวตั้งได้สะดวกมาก ซึ่งจุดนี้ช่างภาพแฟชัน ช่างภาพพอร์ตเทรตน่าจะชอบเพราะภาพบุคคลมักจะถ่ายเป็นแนวตั้ง มันช่วยให้เห็นภาพเต็มพื้นที่จอ จึงสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ง่ายและเร็วโดยไม่ต้องเลื่อนภาพไปมาบ่อยๆ เมื่อต้องการเช็กรายละเอียดในส่วนต่างๆ ของภาพ
เมื่อเปิดไฟล์ โดยเฉพาะไฟล์ที่มีความแตกต่างของแสงสูง มีรายละเอียดในส่วนมืด มีการไล่เฉดสีของท้องฟ้าหรือโทนมากๆ หรือ โทนสีเขียวบางเฉด(จอมอนิเตอร์ sRGB ไม่สามารถแสดงได้) จะเห็นความแตกต่างที่จอมอนิเตอร์แต่งภาพ BenQ SW-series ถ่ายทอดออกมาได้ มันสามารถแสดงรายละเอียดที่คุณอาจไม่เคยเห็นมาก่อนจากจอมอนิเตอร์ทั่วไป ทำให้การปรับแต่งภาพไปถูกทาง ทั้งการขุดการดึงรายละเอียดว่าควรทำแค่ไหน การใส่ Salutation เพื่อเพิ่มความอิ่มสีทำได้อย่างมั่นใจว่าสีจะไม่ล้น การไล่เฉดสีที่สามารถตรวจสอบได้ว่าเกิดริ้วเป็นแถบๆ หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากหากต้องการงานคุณภาพสูงระดับมืออาชีพ
สรุป
จากการที่ได้คลุกคลีกับจอแต่งภาพ BenQ SW Series ก็ยอมรับว่าให้ความสะดวกกับการปรับแต่งแก้ไขภาพของผมจากเมื่อก่อนนี้มากมาย แบบหน้ามือเป็นหลังมือเลยล่ะครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่เพียงเปิดไฟล์งานขึ้นมา ก็เห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างจอคอมอื่นๆ ที่แสดงผลแบบ sRGB กับจอ BenQ SW Series ที่แสดงผลแบบ AdobeRGB ที่ทำให้ผมเห็นรายละเอียดจริงๆ ของไฟล์นั้นๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นไฟล์ภาพเก่ามากๆ ที่ผมเองจำบรรยากาศ ณ ตอนนั้นไม่ได้แล้วก็ตาม ทำให้ผมสามารถปรับแต่งไฟล์ภาพนั้นได้อย่างถูกต้อง และได้รายละเอียดส่วนต่างๆ ครบถ้วน ซึ่งถ้าหากว่าเป็นจอ sRGB ก็คงจะสวยแค่จอของผมเองล่ะครับ แต่จะไปผิดเพี้ยนบนจอมอนิเตอร์คุณภาพสูง ซึ่งก็จะผิดเพี้ยนไปจนถึงขั้นตอนการพิมพ์เลยทีเดียว นั่นเป็นเหตุผลที่ช่างภาพมืออาชีพและช่างภาพที่จริงจังกับการถ่ายภาพ รวมทั้งช่างภาพวิดีโอด้วย จำเป็นที่จะต้องมีจอมอนิเตอร์ที่ได้มาตรฐาน แสดงโทนและสีสันของภาพได้ครบถ้วน และมีฟังก์ชั่นที่รองรับการใช้งานที่สะดวก ง่าย ไม่ยุ่งยาก ซึ่งจะช่วยให้ผลงานมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ คงจะไม่ดีนัก ถ้าหากว่าตอนถ่ายภาพออกมาค่อนข้างดี แต่การปรับแต่งแก้ไขทำให้ภาพเหล่านั้นดูด้อยค่าลงจากความผิดเพี้ยนของสี
BenQ SW Series ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยสร้างสรรค์ผลงานของช่างภาพให้ออกมาเที่ยงตรง และเป็นจริงตามธรรมชาติ และมีมาตรฐานของตนเอง ซึ่งก็มีให้เลือกทั้งขนาดจอ 24 นิ้ว ในรุ่น SW240, 27 นิ้ว ในรุ่น SW2700PT และ SW271 และ 31.5 นิ้ว ในรุ่น SW320 ซึ่งรุ่น SW271 มี Port USB type C รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะออกมาในอนาคตอีกด้วยครับ
โดย พีร วงษ์ปัญญา
รู้จักกับจอเแต่งภาพ BenQ SW Series เพิ่มเติมได้ที่
BenQ Website: http://bit.ly/2LtH3a3
BenQ Official Store: https://s.tenmax.io/1jAlX
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
ขอบคุณครับ
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่