Basic Knowledge Photography

จังหวะ ทักษะ และการเรียนรู้ ช่วยให้ได้รูปดีๆ

จังหวะ ทักษะ และการเรียนรู้ ช่วยให้ได้รูปดีๆ

จังหวะ และทักษะ ของตากล้องมือโปรกับมือใหม่ หรือมือสมัครเล่น จะแตกต่างกันอย่างมากมาย เวลาที่ดูรูปถ่ายของมือโปร จะเห็นว่ามีจังหวะของการลั่นชัตเตอร์ที่ดี ทำให้รูปถ่ายนั้นดูสะดุดตา ดูน่าสนใจ บางภาพอาจจะต้องตั้งคำถามว่าถ่ายมาได้ยังไง ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นรูปถ่ายที่ดีๆ นั้น แน่นอนครับ ก็ต้องกลั่นออกมาจากทักษะ และประสบการณ์ที่สะสมกันมานั่นเอง

พื้นฐานความรู้ในเรื่องการถ่ายภาพและตั้งค่ากล้อง จะช่วยให้เลือกความเร็วชัตเตอร์ หรือปรับตั้งกล้องให้เหมาะสมกับภาพที่ต้องการ และกดชัตเตอร์ในจังหวะที่ดี หรือตั้งแบบต่อเนื่อง เพื่อเก็บแอ๊คชั่นทั้งหมดที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า จะต้องรู้จักกับอุปกรณ์ของตัวเองเป็นอย่างดี และปรับใช้ให้ได้ตามที่ต้องการ

จังหวะ คือช่วงเวลาของการลั่นชัตเตอร์ ให้ได้ภาพตามที่ตั้งใจ หรือจินตนาการรูปแบบภาพไว้ก่อนแล้ว จังหวะที่ดี มักจะมาจากประสพการณ์ การฝึกฝน การลงมือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ย่อมทำให้เรามีความชำนาญโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาชีพใดๆ ก็ตาม จนบางครั้งก็เป็นการทำไปด้วยความเคยชินด้วยซ้ำไป

ภาพแรกถ่ายไปตามปกติ และจะสังเกตว่า จะมีฟ้าแลบอยู่ในก้อนเมฆเป็นระยะ ภาพที่สองจึงตั้งความเร็วชัตเตอร์ช้าลงอีกหน่อย เพื่อให้ครอบคลุมจังหวะที่ฟ้าจะแลบมาอีกครั้ง ซึ่งช่วยสร้างความน่าสนใจให้ภาพมากกว่าภาพแรก

ลองสังเกตว่า ในการออกทริปถ่ายภาพบางอย่าง เช่นถ่ายภาพนก ถ้าในทริปเรา มีช่างภาพที่มีประสบการณ์มากๆ เค้าจะเลือกจังหวะในการกดชัตเตอร์ตามที่เค้าคิดไว้แล้ว หรือจังหวะที่คาดหวังว่าจะได้ ไม่ใช่กดชัตเตอร์ไปเรื่อย เช่น จังหวะที่นกหันหน้าเข้าหาแสง จังหวะที่นกจับเหยื่อแล้วเหวี่ยงๆ กับคานที่เกาะ เพื่อให้เหยื่อตาย จังหวะที่โยนเหยื่อเพื่อเปลี่ยนทิศทาง เป็นต้น การเป็นคนช่างสังเกต ก็จะช่วยให้เราเรียนรู้จังหวะดีๆ ของมือโปรได้

การแพนกล้อง ก็เป็นอีกหนึ่งทักษะความเข้าใจในการตั้งค่ากล้อง ในการใช้สปีดชัตเตอร์ต่ำ ซึ่งจะได้ภาพที่รถโกคาร์ทคมชัด แต่ฉากหลังเบลอๆ ให้ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว

ทักษะ คือความรู้ ความเข้าใจในพื้นฐานเรื่องนั้นๆ ไม่แปลกใจว่า ตอนที่ Fotoinfo จัดอบรมถ่ายภาพ ก็มักจะมีคนให้ความสนใจกันมากมาย นั่นก็เพราะ ทุกคนที่มา อยากจะเข้าใจในพื้นฐานความรู้เรื่องถ่ายภาพ อยากจะฝึกทักษะในการควบคุมและปรับตั้งกล้อง เพื่อที่จะนำไปใช้ถ่ายภาพที่ตัวเองชื่นชอบ และทำออกมาให้ได้ดีๆ ให้ได้ภาพที่ถูกใจ และคาดหวังว่าจะได้ภาพตามที่จินตนาการในหัวนั่นเอง   

ตอนเดินลงมาด้านล่าง สังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่กำลังเดินเข้าไปยังจุดชมวิวด้านบน จึงรอจังหวะที่คิดว่าเค้าจะยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายภาพ แล้วก็ได้ภาพตามที่คิด ส่วนประกายแฉกของดวงอาทิตย์นั้น เกิดจากการใช้รูรับแสงแคบๆ นั่นเอง

การเรียนรู้ เป็นการเพิ่มทักษะ เพื่อให้เกิดความชำนาญมากขึ้น ในยุคปัจจุบันที่มีความสะดวกสบายจากระบบอินเตอร์เน็ต ช่วยให้สามารถหาข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปห้องสมุด ไม่จำเป็นต้องไล่สารบัญ เพื่อหาเรื่องราวที่สนใจ อยู่ที่มุมไหนของโลก ก็สามารถหาความรู้ได้ง่ายๆ

นกคัคคูมรกตตัวเมีย จับหนอนได้แล้วก็บินมาเกาะอยู่ที่กิ่งนี้ แรกๆ ก็ไม่ได้หันหน้ามา ผมเล็งกล้องรอจังหวะที่นกหันมารับแสงเช้า จึงลั่นชัตเตอร์

ค่ายผู้ผลิตกล้อง และตัวแทนจำหน่ายเองก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเรื่องกล้องและการถ่ายภาพ มาร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพที่หลากหลายรูปแบบ ได้สัมผัสกับกล้องและเลนส์จริงๆ เอาไปลองถ่ายจริงได้ ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกที่หาไม่ได้เลย ในยุคก่อนนี้

นกกินปลีคอแดง บินนิ่งๆเพื่อหาดอกที่มีน้ำหวาน แต่เป็นการบินนิ่งๆ เพียงแค่แว๊บเดียว ดังนั้นจึงต้องหันกล้องมาลั่นชัตเตอร์ในจังหวะนี้ให้ทัน

กล้องและเลนส์ถ่ายภาพเอง ก็ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ประสิทธิภาพสูงขึ้น จนผู้ใช้มือใหม่หลายๆ คนที่เพิ่งจะซื้อกล้องมา ก็สามารถถ่ายภาพที่คมชัด สีสันถูกต้องได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่อาจจะยังไม่มีความรู้เรื่องถ่ายภาพเลยก็ตาม

ภาพแอ๊คชั่น ภาพกีฬา เป็นจังหวะที่เกิดขึ้นเพียงแค่แว๊บเดียว การปรับตั้งกล้องรอ ประสิทธิภาพของกล้อง และทักษะในการควบคุมกล้อง จึงมีจำเป็นมากทีเดียว

เมื่อเรามีทักษะแล้ว มีการเรียนรู้ที่จะพัฒนาภาพถ่ายของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝน การค้นคว้าหาแนวภาพที่ชอบ การถ่ายภาพอยู่เป็นประจำ การติดตามมืออาชีพออกไปถ่ายภาพ (ถ้ามีโอกาส) จะช่วยให้เรารู้แนวทางการถ่ายภาพได้เร็วขึ้น จับจังหวะสำคัญๆ ที่ช่วยให้ภาพถ่ายของเราโดดเด่นไปจากคนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นด้วยนั่นเองครับ

..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ…

Leave feedback about this

  • Quality
  • Price
  • Service

PROS

+
Add Field

CONS

+
Add Field
Choose Image
Choose Video