BASIC PHOTO TECHNIQUES

รวมอุปกรณ์เสริมราคาประหยัด สำหรับถ่ายภาพมาโคร

รวมอุปกรณ์เสริมราคาประหยัด สำหรับถ่ายภาพมาโคร

เมื่อต้องถ่ายภาพในระยะที่ใกล้มากๆ แบบมาโคร อุปกรณ์ที่สำคัญคือเลนส์มาโคร ซึ่งเป็นเลนส์ที่ออกแบบให้มีกำลังขยายสูงกว่าเลนส์ประเภทอื่นๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว จะให้กำลังขยาย 1:1 หรือให้ภาพที่บันทึกลงบนเซ็นเซอร์ มีขนาดเท่าของจริงนั่นเอง เลนส์มาโครบางรุ่นมีอัตราขยายเพียง 1:2 แต่บางรุ่นอาจจะมีอัตราขยายสูงมากขึ้น เช่น 2:1 ซึ่งให้ภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าของจริงหนึ่งเท่าตัวนั่นเอง

อย่างไรก็ดี เลนส์มาโครก็มักจะมีราคาสูง ซึ่งผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพหลายๆ รูปแบบอาจจะไม่สะดวกที่จะซื้อหามาเก็บไว้ เพราะไม่ได้ใช้งานบ่อยๆ   fotoinfo.online จึงมีอุปกรณ์เสริมสำหรับถ่ายภาพมาโคร ซึ่งอาจจะให้คุณภาพของภาพไม่เทียบเท่าที่ถ่ายจากเลนส์มาโครจริงๆ แต่อุปกรณ์หลายๆ อย่าง ก็มีราคาที่ถูกกว่ามาก และให้คุณภาพที่ดีในระดับที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะเมื่อนำภาพใช้งานสำหรับโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ นั่นเอง ไปดูกันว่า มีอุปกรณ์อะไรบ้าง รวมทั้งอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้ได้ภาพที่ดีขึ้นด้วยครับ

ฟิลเตอร์ Close Up

เป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กและราคาประหยัด ลักษณะเป็นเลนส์นูน ใช้งานโดยการหมุนติดเข้าไปที่หน้าเลนส์ได้เลย มีกำลังขยายให้เลือกได้หลายระดับ เช่น +1, +2 และ +3 จะใช้แบบเดี่ยวๆ หรือใส่ซ้อนกันได้ ซึ่งจะได้กำลังขยายที่มากขึ้น แต่ความคมชัดที่ขอบๆ ภาพจะลดลงพอสมควร  อีกรูปแบบคือฟิลเตอร์โคลสอัพแบบใช้ชิ้นเลนส์ 2 ชิ้น ออกแบบปรับแก้ความคลาดมาดีกว่าจึงได้ความคมชัดสูงกว่าแบบเลนส์ชิ้นเดียวทั้งกลางภาพและขอบภาพ ตัวอย่างเช่น Canon 500D Close up Lens , Nisi Close up NC Lens แต่ราคาจะสูงกว่าฟิลเตอร์โคลสอัพแบบชิ้นเลนส์เดียวหลายเท่า

ข้อดี :  เสียแสงน้อยมากๆ , ราคาประหยัด

ข้อจำกัด :  คุณภาพพอใช้ได้  ใส่แล้วไม่สามารถโฟกัสที่ช่วงปกติได้  ไม่เหมาะกับเลนส์มุมกว้าง

ท่อต่อเลนส์ (Extention Tube)

เป็นท่อกลวงๆ ไม่มีชิ้นเลนส์ใดๆ มีขนาดตามความหนาของท่อ เช่น 12 มม. 16 มม., 20 มม. หรือ 32 มม. สวมเข้ากับท้ายเลนส์แล้วสวมเข้ากับบอดี้กล้อง  ทำหน้าที่เพิ่มระยะทางระหว่างเลนส์กับเซ็นเซอร์ภาพให้มากขึ้นตามความหนาของแต่ละท่อ  ซึ่งจะทำให้กำลังขยายของเลนส์นั้นๆ มีมากขึ้น เข้าใกล้ซับเจกต์ได้มากขึ้น แต่จะปรับโฟกัสในระยะใกล้ๆ ได้เท่านั้น ถ้าจะถ่ายภาพตามระยะปกติ จะต้องถอดท่อต่อเลนส์ออกก่อน คุณภาพอยู่ในระดับดี

ข้อดี :  ได้อัตราขยายสูง  ราคาประหยัด

ข้อจำกัด :  ใช้งานค่อนข้างยุ่งยาก  ฝุ่นอาจเข้าเซ็นเซอร์รับภาพได้ หากถอดเปลี่ยนบ่อยๆ  อัตราขยายค่อนข้างตายตัวปรับได้ไม่มาก

แหวนกลับเลนส์

เป็นวงแหวนที่มีความหนาไม่มากนัก ด้านหนึ่งเป็นเกลียวสำหรับติดเข้าไปที่หน้าเลนส์เหมือนกับฟิลเตอร์ ส่วนอีกด้านจะออกแบบเป็นเขี้ยวเมาท์ของเลนส์ เวลาซื้อจะต้องระบุขนาดฟิลเตอร์ของเลนส์ที่จะใช้ เช่น 55 มม. หรือ 67 มม. เป็นต้น และเมาท์ของกล้องที่จะใช้งาน เวลาใช้งานก็ให้หมุววงแหวนกลับเลนส์ติดเข้าไปที่หน้าเลนส์ จากนั้นก็ใช้ด้านที่เป็นเขี้ยวเมาท์ติดเข้าไปที่ตัวกล้องได้เลย ซึ่งเลนส์ที่เหมาะสม ควรเป็นเลนส์แมนนวลที่สามารถปรับรูรับแสงได้ จะช่วยให้สะดวกกับการวัดแสง เนื่องจากวงแหวนกลับเลนส์ จะไม่มีขั้วเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับตัวกล้องเลย และถ้าหากกลัวว่าชิ้นเลนส์ด้านท้าย ที่จะต้องหันเข้าหาซับเจกต์อาจจะเป็นรอยได้ ก็ให้ใช้ฝาปิดท้ายเลนส์เจาะให้เป็นท่อกลวงๆ สำหรับกันชิ้นเลนส์และเป็นฮูดกันแสงไปด้วยในตัว

ข้อดี :  อัตราขยายสูงมากเมื่อใช้กับเลนส์มุมกว้าง คุณภาพดีพอควร

ข้อจำกัด :  ใช้งานค่อนข้างยาก ด้านท้ายเลนส์หันออกต้องระวังในการใช้งาน

ไฟ LED

สำหรับส่องสว่าง หรือสร้างไฮไลท์ ในกรณีที่อาจจะอยู่ในสถานที่ที่มีแสงน้อย จะช่วยให้ได้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น รวมทั้ง ไม่ต้องปรับไวแสงให้สูงเกินจำเป็นด้วย ไฟ LED มีให้เลือกใช้งานได้หลายแบบ ทั้งไฟหลอดปกติ หรือไฟที่ออกแบบให้เป็นแขนยืดยาว ปรับทิศทางได้ ซึ่งสะดวกกับการใช้งานที่ต้องการเน้นไฮไลท์เฉพาะส่วนได้

ไฟฉาย

ใช้งานเช่นเดียวกับไฟ LED แต่ไฟฉายจะสามารถควบคุมแสงให้เป็นลำๆ ใช้ส่องเฉพาะจุด จะช่วยให้ซับเจกต์โดดเด่นขึ้นจากสภาพแวดล้อมโดยรวมได้ ควรเลือกใช้ไฟฉายขนาดเล็กที่มีความสว่างสูงเพราะจะช่วยให้ได้ความสว่างของแสงเพียงพอโดยไม่ต้องดัน ISO สูงมาก

ขาตั้งกล้องจิ๋ว

สำหรับตั้งไฟ LED ช่วยให้จัดทิศทางของแสงได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องคอยถือให้ยุ่งยากอีกด้วย  แต่ขาตั้งควรเป็นขาตั้งที่สามารถยืดได้สูงประมาณ 50-1.0 เมตร เพื่อควบคุมทิศทางแสงของไฟ LED ได้

กระดาษฟอยด์

สำหรับเปิดเงา ในกรณีที่อาจจะมีคอนทราสต์ของแสงมากจนเกินไป ช่วยให้ส่วนที่เป็นเงา หรือ Shadow มีรายละเอียดมากขึ้นด้วย วิธีใช้ ก็วางแผ่นฟอยด์ในทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางของแสงหลัก หรือสะท้อนแสงไปยังพื้นที่ที่ต้องการให้สว่างขึ้น (ใช้ติดกับกระดาษแข็ง เพื่อให้จับถือใช้งานได้สะดวกขึ้น)

เพลทขาตั้งแบบยาว

สำหรับเลื่อนปรับระยะโฟกัส ซึ่งจะช่วยให้ขยับจุดโฟกัสได้ง่ายขึ้น เมื่อต้องใช้ขาตั้งกล้อง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องขยับขาตั้งทั้งหมด ซึ่งจะต้องเริ่มต้นกันใหม่ ทั้งการโฟกัสและการจัดองค์ประกอบนั่นเอง นอกจากนี้ ยังสะดวกกับการถ่ายภาพ โดยการเปลี่ยนจุดโฟกัสทีละน้อย เพื่อนำมา Stack หรือรวมภาพให้ได้ความชัดลึกมากขึ้นนั่นเอง