จัดมุมกล้องยังไง ถ้าต้องถ่ายย้อนแสง??
จัดมุมกล้อง เป็นอีกหนึ่งเรื่องถ่ายภาพที่จะต้องอาศัยการฝึกฝน อาศัยประสบการณ์ในการถ่ายภาพบ่อยๆ เพราะการจัดมุมกล้อง ก็คือการวางองค์ประกอบภาพ ให้ดูสวยงามและน่าสนใจ และไม่มีสิ่งอื่นใด เช่น แสงแฟลร์ เข้ามารบกวนในเฟรมภาพ การถ่ายภาพย้อนแสง มักจะมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ซึ่งถ้าหากว่าช่างภาพไม่มีประสบการณ์มากพอ ไม่มีความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานการถ่ายภาพ ก็อาจจะเจอกับปัญหาที่จะเกิดจากการถ่ายย้อนแสงมากมาย เช่น ภาพมืดเกินไป หรือมีแสงแฟลร์จากแหล่งกำเนิดแสงด้านหลัง ทำให้รบกวนตัวแบบหลัก หรือออพเจคต์ของภาพได้
จัดมุมกล้อง หรือการจัดองค์ประกอบภาพง่ายๆ เมื่อต้องถ่ายย้อนแสงคือ ระวังอย่าให้แสงส่องมาโดนชิ้นเลนส์ ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการใส่ฮูดที่หน้าเลนส์ ช่างภาพมือใหม่หลายๆ คนมักจะปล่อยให้ฮูดติดอยู่กับเลนส์ในตำแหน่งของการเก็บเลนส์ หรือกลับฮูดให้หันเข้ามาด้านในเลนส์ พอเอาเลนส์ออกมาใช้ ก็ไม่หันกลับออกไปด้านนอก ทำให้แสงอาจจะส่องมาโดนชิ้นเลนส์ด้านหน้า หรือถ้าหากใช้ฟิลเตอร์ที่ไม่ใช่แบบ Multi Coating ก็อาจจะทำให้เกิดอาการฟุ้ง หรือแฟลร์มากขึ้นได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ตัวแบบของเรา บังแหล่งกำเนิดแสงไปเลยก็ได้
แสงที่ส่องเข้ามาในเลนส์ จะทำให้ภาพดูฟุ้งกระจาย แต่ก็ให้อารมณ์ภาพที่นุ่มนวลชวนฝันไปอีกแบบ เลือกมุมกล้องหลบจากแหล่งกำเนิดแสงเพียงเล็กน้อย
จัดมุมกล้อง ให้มีแหล่งกำเนิดแสงอยู่ในเฟรมภาพ อาจจะยากสำหรับการหลบเลี่ยงอาการแฟลร์ การใช้เลนส์คุณภาพสูงเกรดโปร อาจจะช่วยลดการฟุ้งหรือแฟลร์ให้น้อยลงได้ แต่ถ้าหากว่าเป็นเลนส์เกรดธรรมดา หรือเลนส์รุ่นเก่าแบบเลนส์มือหมุน ที่เทคโนโลยีการเคลือบผิวเลนส์จะสู้เลนส์รุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ จะต้องขยับมุมกล้อง หรือเลือกจัดองค์ประกอบให้แฟลร์ไม่พาดเข้ามาอยู่ในส่วนสำคัญของใบหน้า หรือไม่รบกวนตัวแบบหลักจนเกินไป รวมทั้งการหรี่รูรับแสงให้แคบลง ก็อาจจะช่วยลดอาการฟุ้งและแฟลร์ให้น้อยลงได้เช่นกัน แต่ภาพบางรูปแบบ การมีแสงฟุ้งขึ้นมา ก็ช่วยให้ภาพดูมีเสน่ห์มากขึ้นได้เช่นกัน
มีแสงส่องเฉียงๆ มาจากด้านหลัง แต่เลือกมุมที่ไม่ได้ย้อนแสงตรงๆ รวมทั้งเลือกฉากหลังที่เป็นโทนสีเรียบ แสงจากด้านหลังจะทำให้เกิด RIM Light ที่ตัวแบบและส่งที่อยู่ใกล้เคียง จะช่วยแยกตัวแบบออกจากฉากหลังได้เด่นชัด และทำให้ภาพดูมีมิติมากขึ้น
จัดมุมกล้อง ให้มีแฟลร์พาดเข้ามาในเฟรมภาพบ้าง สำหรับภาพบางรูปแบบ ก็อาจจะช่วยเสริมเสน่ห์ให้ภาพนั้นๆ ดูน่าสนใจขึ้นได้ ซึ่งก็อยู่ที่มุมมอง และประสบการณ์ของช่างภาพ รวมทั้งการฝึกฝนและการถ่ายภาพบ่อยๆ จะช่วยให้จัดกาารกับปัญหาต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นครับ
ตัวอย่างภาพที่เลือกเล่นสนุกกับแสงแฟลร์ที่เกิดขึ้น
แนวภาพแบบ Silhuette หรือภาพเงาดำมักจะนิยมถ่ายช่วงพระอาทิตย์ขึ้น หรือตก ต้องเลือกมุมมองให้เห็นรูปทรงของตัวแบบหลักให้ชัดเจน
ถ่ายย้อนแสงแดดแรงๆ แบบนี้ ต้องระวังการมองภาพในวิวไฟน์เดอร์ตรงๆ เพราะการรวมแสงของการโฟกัส จะเป็นอันตรายกับดวงตาได้ ต้องมองแบบเหลือบๆ มอง หรือมองผ่านจอมอนิเตอร์ และเล็งกล้องวัดแสงไปยังพื้นที่ข้างๆ ดวงอาทิตย์แทน หรือใช้สูตร Sunny 16 ก็ได้เช่นกัน คุณภาพเลนส์เกรดโปร จะช่วยลดแสงแฟลร์ลงไปได้มากทีเดียว
..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ…
Leave feedback about this