Basic

โหมดถ่ายภาพสำหรับมือใหม่

โหมดถ่ายภาพสำหรับมือใหม่

การเลือกโหมดถ่ายภาพที่เหมาะสม การตั้งค่ากล้องถ่ายภาพที่เหมาะสม จะช่วยให้ได้ภาพที่สวยงามตามที่ต้องการ

 

สำหรับช่างภาพมือใหม่ หรือผู้ที่เริ่มต้นจริงจังกับการถ่ายภาพมากขึ้น จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้คือ พื้นฐานการถ่ายภาพ รวมทั้งการทำงานของกล้องถ่ายภาพ และโหมดถ่ายภาพต่างๆ ซึ่งความรู้ความเข้าใจนี้ จะช่วยให้ช่างภาพ ได้ภาพที่สวยงามตามที่ต้องการนั่นเอง

แต่ก็มีช่างภาพมือใหม่หลายๆ คน ที่เพิ่งจะซื้อกล้องถ่ายภาพมา และละเลยความรู้พื้นฐานนี้ไป เนื่องจากใช้กล้องถ่ายภาพดิจิตอล ที่มีการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงมาก ทำให้ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น ได้ภาพที่มีสีสัน ที่ถูกต้องสวยงามง่ายขึ้น ถ่ายภาพแล้ว ดูภาพได้เลย ถึงแม้ว่าจะถ่ายภาพด้วยโหมดถ่ายภาพแบบอัตโนมัติพียงอย่าง เดียว ซึ่งก็ให้ภาพที่ออกมาดูดี แต่ก็อาจจะมีปัญหาหลายๆ อย่างที่ช่างภาพไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น กล้องวัดแสงผิดพลาดจากการถ่ายภาพย้อนแสง ทำให้ได้ภาพมืดไป เป็นต้น เนื่องจากโหมดถ่ายภาพแบบอัตโนมัติมักจะคงค่าที่กล้องปรับตั้งไว้ตามค่ามาตรฐานของโรงงานผู้ผลิต และไม่ยอมให้ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนค่าการปรับตั้งนั่นเอง

โหมดถ่ายภาพเบสิก คือโหมดโปรแกรมรูปภาพ รวมทั้งเอฟเฟคต์ต่างๆ ด้วย

โหมดถ่ายภาพของกล้องถ่ายภาพจะแบ่งตามรูปแบบการปรับตั้งเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ โหมดถ่ายภาพเบสิก (Basic Zone) และโหมดถ่ายภาพแอดวานซ์ (Advance Zone) โดยโหมดถ่ายภาพเบสิก หรือ Basic Zone ก็คือโหมดถ่ายภาพแบบโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ที่กล้องจะตั้งค่าตามรูปแบบที่เลือกให้อัตโนมัติ ตามค่ามาตรฐานที่ตั้งในขั้นตอนการผลิตกล้องนั่นเอง และรูปแบบของโหมดถ่ายภาพต่างๆ เหล่านั้น อาทิ โหมดถ่ายภาพบุคคล โหมดถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ หรือโหมดถ่ายภาพกีฬา กล้องจะไม่ยอมให้ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนค่าที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง หรือความไวแสงก็ตาม เพื่อลดข้อผิดพลาดจากการถ่ายภาพที่เกิดจากความไม่ชำนาญในการถ่ายภาพของผู้ใช้นั่นเอง

โหมดถ่ายภาพแอดวานซ์ เป็นโหมดที่สามารถปรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ ของกล้องถ่ายภาพได้

โหมดถ่ายภาพแอดวานซ์ หรือ Advance Zone แบ่งย่อยๆ ออกเป็น 4 โหมดถ่ายภาพหลักๆ นั่นคือ โหมดถ่ายภาพโปรแกรม (P), โหมดถ่ายภาพรูรับแสงอัตโนมัติ (S หรือ TV), โหมดถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติ (A หรือ AV) และโหมดถ่ายภาพแมนนวล (M)

โหมดถ่ายภาพโปรแกรม (P)

โหมดถ่ายภาพโปรแกรม (P)

เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ต้องการพัฒนาการถ่ายภาพของตนเองมากที่สุด การทำงานของโหมดถ่ายภาพ P นั่นคือ เมื่อเปิดกล้อง และแตะปุ่มชัตเตอร์ ให้กล้องเริ่มทำงาน กล้องจะปรับตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ และรูรับแสงให้อัตโนมัติ ช่างภาพสามารถปรับชดเชยแสง ตั้งค่าไวท์บาลานซ์ ความไวแสง หรือฟังก์ชั่นการทำงานอื่นๆ ของกล้องได้ทั้งหมด และถ้าหากว่าต้องการปรับเปลี่ยนค่าที่กล้องตั้งให้ ก็สามารถหมุนแป้นควบคุม เพื่อเปลี่ยนรูรับแสงให้แคบลง ซึ่งกล้องก็จะปรับความเร็วชัตเตอร์ใหม่ให้สัมพันธ์กันด้วย ซึ่งเป็นการปรับโหมดถ่ายภาพที่เรียกว่าโปรแกรมชิฟท์นั่นเองครับ เมื่อตั้งค่าความไวแสงแบบออโต้ โหมดถ่ายภาพ P จะสะดวกกับการถ่ายภาพมากที่สุด และได้ภาพที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

โหมดถ่ายภาพ P เป็นโหมดที่ใช้งานได้สะดวก รวดเร็ว ยกกล้องขึ้นเล็ง และกดชัตเตอร์ได้เลย

โหมดถ่ายภาพโปรแกรม (P) สามารถปรับเปลี่ยนค่ารูรับแสงที่กล้องตั้งให้ได้ และกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับค่ารูรับแสงที่ช่างภาพตั้งใหม่โดยอัตโนมัติ ซึ่งเรียกการปรับเปลี่ยนนี้ว่าโปรแกรมชิฟท์ ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ดอกจัน (*) ที่ตัว P

โหมดถ่ายภาพรูรับแสงอัตโนมัติ (S หรือ TV)

โหมดถ่ายภาพรูรับแสงอัตโนมัติ (S หรือ TV)

โหมดนี้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแอ็คชั่น หรือภาพกีฬา หรือภาพที่ต้องการเน้นเอฟเฟคต์ของความเร็วชัตเตอร์เป็นหลัก ช่างภาพจะต้องตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์เองเป็นอันดับแรก จากนั้นกล้องจะปรับรูรับแสงให้สัมพันธ์กันโดยอัตโนมัติ ข้อจำกัดของโหมดถ่ายภาพนี้ก็คือ ช่วงรูรับแสงจากกว้างที่สุดไปถึงแคบที่สุดของเลนส์แต่ละรุ่น จะไม่เยอะมาก ดังนั้น ถ้าหากเผลอตั้งความเร็วชัตเตอร์สูง หรือต่ำจนเกินไป จนกล้องไม่สามารถปรับรูรับแสงให้สัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์ได้ ก็จะทำให้ภาพมืด หรือสว่างจนเกินไปได้เช่นกัน ดังนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการปรับตั้งค่ากล้องอยู่พอสมควร ไม่แนะนำสำหรับมือใหม่ครับ

เป็นโหมดที่ผู้ใช้ต้องการควบคุมความเร็วชัตเตอร์ด้วยตนเอง และกล้องจะปรับรูรับแสงให้อัตโนมัติ

โหมดถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติ (A หรือ AV)

โหมดถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติ (A หรือ AV)

เป็นโหมดถ่ายภาพที่ได้รับความนิยมอยู่พอสมควร โหมดถ่ายภาพนี้ โดยเฉพาะกับการถ่ายภาพบุคคลที่เน้นภาพชัดตื้น โดยช่างภาพจะปรับรูรับแสงด้วยตนเองก่อน จากนั้นกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้อัตโนมัติ ช่วงกว้างของความเร็วชัตเตอร์จากต่ำไปสูงมีค่อนข้างมาก ดังนั้นโอกาสผิดพลาดจึงน้อยกว่าโหมดถ่ายภาพรูรับแสงอัตโนมัติ (S หรือ TV) แต่ช่างภาพจะต้องสังเกตดูว่า ความเร็วชัตเตอร์ต่ำจนเกินกว่าที่จะถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือหรือไม่ ซึ่งจะทำให้กล้องสั่นไหว และได้ภาพเบลอๆ มาแทนนั่นเอง

เป็นโหมดที่ต้องการควบคุมระยะชัดลึก หรือชัดตื้นตามที่ช่างภาพต้องการ

โหมดถ่ายภาพแมนนวล (M)

โหมดถ่ายภาพ M

เป็นโหมดถ่ายภาพที่ช่างภาพมืออาชีพใช้งานกันมากที่สุด เนื่องจากเมื่อวัดแสงแล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนมุมถ่ายภาพที่แตกต่างออกไปในสภาพแสงนั้นๆ ค่าแสงจะไม่เปลี่ยนแปลงตามมุมภาพที่ต้องการถ่ายภาพ ดังนั้นจึงเป็นการวัดแสงแค่ครั้งเดียว สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้เลย ไม่ต้องคอยปรับชดเชยแสงอยู่ตลอดเวลาที่เปลี่ยนมุมมองเหมือนโหมดถ่ายภาพอื่นๆ

ช่างภาพมือใหม่อาจจะไม่ชอบใช้งานโหมดนี้ เพราะต้องคอยปรับตั้งเองทุกอย่าง ทั้งความเร็วชัตเตอร์ และรูรับแสง ซึ่งรู้สึกยุ่งยาก แต่ถ้าหากได้ลองฝึกใช้งาน ก็จะรู้ได้ว่าเป็นโหมดถ่ายภาพที่ใช้งานได้สะดวกไม่ต่างจากโหมดถ่ายภาพอื่นๆ เลย เพราะช่างภาพจะต้องมีภาพที่คาดหวังอยู่ในใจแล้ว ดังนั้น ก็ให้ปรับตั้งค่าที่เกี่ยวเนื่องกับรูปแบบภาพที่ต้องการก่อนเป็นอันดับแรก เช่นต้องการถ่ายภาพคนให้ตัวแบบชัด ฉากหลังเบลอๆ ก็ให้เลือกปรับรูรับแสง ที่มีผลกับระยะชัดของภาพเป็นค่าแรก จากนั้นก็ปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ได้ค่าแสงที่พอดีเท่านั้นเอง ซึ่งการปรับตั้งก็พอๆ กับโหมดถ่ายภาพอื่นๆ ที่ต้องปรับชดเชยแสง ในกรณีที่สภาพแสงไม่พอดีเช่นเดียวกัน

เหมาะสำหรับถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีความแตกต่างกันมากๆ ซึ่งโหมถ่ายภาพนี้ จะให้ค่าวัดแสงที่คงที่ แม้จะเปลี่ยนมุมมองในการถ่ายภาพที่แตกต่างกันก็ตาม

บทสรุป

สำหรับช่างภาพมือใหม่ที่ไม่ต้องการความยุ่งยากในการถ่ายภาพมากนัก และเป็นการถ่ายภาพท่องเที่ยว บันทึกเหตุการณ์ทั่วๆ ไป โหมดถ่ายภาพ P เป็นโหมดถ่ายภาพที่แนะนำให้ใช้งานมากที่สุด เพราะเมื่อเจอะเจอสถานการใดๆ ข้างหน้า ในสภาพแสงปกติ สามารถเปิดกล้องถ่ายภาพ และกดปุ่มชัตเตอร์ได้เลย โอกาสได้ภาพมีมากกว่า 95% เพียงแต่จะต้องตั้งความไวแสงให้เป็น Auto เพื่อความยืดหยุ่นในการถ่ายภาพในสภาพแสงแบบต่างๆ ไว้ก่อนปิดเครื่องครับ เอาแบบง่ายๆ คือ ตั้งโหมดถ่ายภาพไว้ที่ P ตั้งความไวแสง Auto และตั้งไวท์บาลานซ์ Auto เท่านี้ก็สะดวกกับการถ่ายภาพของมือใหม่แล้วล่ะครับ

ส่วนโหมดถ่ายภาพ M เป็นอีกโหมดถ่ายภาพหนึ่ง ที่อยากจะให้ลองฝึกใช้งาน ซึ่งจะได้เข้าใจในเรื่องของการวัดแสง และการชดเชยแสง เพื่อพัฒนาความชำนาญในการใช้งานกล้อง และโหมดถ่ายภาพแบบต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องของค่าแสง จะใช้โหมดถ่ายภาพแบบไหนก็ได้ทั้งหมดล่ะครับ

 

..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ…